Dietz แพลตฟอร์มแพทย์ทางไกล ผู้อยู่เบื้องหลังช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19 ในช่วงเวลาวิกฤตที่สุด

Dietz

โควิด-19 ทำให้เราเห็นปัญหาด้านสาธารณสุขชัดเจนขึ้น ในการระบาดระลอก 4 มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1 ล้านคน  ทุกโรงพยาบาลมีเตียงจำกัด ทำให้การจองเตียงสำหรับใครสักคนที่เป็นสมาชิกในครอบครัว คนที่เรารัก เพื่อนพี่น้อง เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก บางรายก็สายเกินไป  

สถานการณ์ที่ว่าทำให้เกิดแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหา นั่นคือการกักตัวอยู่บ้าน หรือ Home Isolation และถูกยกระดับเป็นสถานกักตัวชุมชน หรือ Community Isolation โดยมีกลุ่มคนตัวเล็กๆ ผู้อยู่เบื้องหลังอาสายืนหยัดสู้ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการระบาด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์จากที่ใดเวลาใดก็ได้บนโลกใบนี้ ซึ่งมีความจำเป็นในการรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที  

Dietz หนึ่งใน Startup ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการด้านสุขภาพและการแพทย์ออนไลน์ จากเดิมให้บริการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs : Non-communicable diseases) พัฒนามาสู่แพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) สำหรับโรงพยาบาล และองค์กร ได้อาสาเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในยามวิกฤต ร่วมกับพันธมิตรด้านสุขภาพ เช่น ไทยรอด  

แม้สถานการณ์ดูเหมือนจะเริ่มคลี่คลาย แต่งานด้านสาธารณสุขยังไม่จบดี มีอีกหลายเทคโนโลยีในช่วงโควิดที่สมควรถูกพูดถึงมากขึ้น เราจึงติดต่อคุยกับ พงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการบริษัท พรีซีชั่น ไดเอทซ์ จำกัด ผู้ก่อตั้ง Dietz เพื่อพูดถึงเบื้องหลังการทำงานที่ผ่านมา และการผลักดัน Telemedicine ให้เป็นเรื่อง New normal ที่จะช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น

Dietz

จุดเริ่มต้นจากการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน สู่จุดเปลี่ยนในการสู้กับ COVID-19 

“เริ่มแรกไดเอทซ์เปิดดำเนินการกับเพื่อนสองคนที่เป็น co-founder เพื่อให้บริการระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานผ่านการแพทย์ทางไกล รวมถึงระบบจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของพนักงานในองค์กร ซึ่งได้จัดทำต้นแบบระบบและทดลองตลาดอยู่ช่วงหนึ่ง 

“ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้จัดตั้งบริษัท พรีซีชั่น ไดเอทซ์ จำกัด โดยได้รับการลงทุนจาก Angel Investor 2 ท่าน คือ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ และ คุณประกาศิต ทิตาราม ในช่วงนั้นการทำตลาดเข้าองค์กรทำได้ยากมาก เพราะเป็นช่วงโควิดระบาดในไทยมาสักพัก องค์กรหลายแห่งตัดลดงบประมาณ ประกอบกับระบบที่พัฒนาเป็นระบบใหม่ที่ยังไม่เป็นที่คุ้นเคย 

“จึงได้ลองปรับโมเดลทางธุรกิจใหม่ เพิ่มความสามารถของระบบให้รองรับการให้บริการแพทย์ทางไกลผ่านระบบแชตและวิดีโอคอล และปรับเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้บริการในโรงพยาบาล เน้นการดูแลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ (NCDs Telemonitoring) โดยแห่งแรกที่เริ่มเปิดดำเนินการคือการจัดสร้างศูนย์บริการการแพทย์ทางไกล (Telehealth Center) ที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เป็นการจัดสร้างห้องบริการทางการแพทย์ทางไกลและจัดทำซอฟต์แวร์แล้วเสร็จและเปิดทดลองบริการประมาณเดือนเมษายน

Dietz

“จุดที่ทำให้เกิดการใช้งานไดเอทซ์อย่างก้าวกระโดดคือในช่วงการระบาดของโควิดระลอกเดือนมิถุนายน ที่มีจำนวนผู้ป่วยวันละสองพันกว่ารายกระโดดเป็นเกือบห้าพันราย ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้ออกเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณในการดำเนินการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ขึ้นเมื่อปลายเดือนมิถุนายน และต้นเดือนกรกฎาคม ทางโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาก็ได้ปรับระบบการแพทย์ทางไกลที่ไดเอทซ์พัฒนาขึ้น ให้รองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้าน นับเป็นแห่งแรกของโรงพยาบาลรัฐที่ใช้ระบบนี้ ทำให้โรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ตื่นตัวและติดต่อเข้ามาเพื่อขอให้ไดเอทซ์เปิดใช้งานระบบให้โรงพยาบาลของตนเป็นจำนวนมาก

“นอกจากนี้ เมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มจากวันละห้าพันกว่าคนเป็นวันละสองหมื่นคนในระยะเวลาเดือนกว่าๆ ทำให้โรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอรักษาคนป่วย โรงพยาบาลสนามและการดูแลในชุมชน (Community Isolation) ก็มีไม่เพียงพอ ดังนั้นการสำรองเตียงในโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนัก และให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยรักษาตัวที่บ้าน จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในเวลานั้น 

“ทีมงานไดเอทซ์มีเพียง 6 คน ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อเปิดให้บริการกับโรงพยาบาลที่ติดต่อเข้ามาทุกวัน บางวันทีมงานต้องรับสายอาจารย์แพทย์ หรือผู้บริหารโรงพยาบาลที่ติดต่อและสอบถามข้อมูลจนถึงเที่ยงคืนติดต่อกันเป็นสัปดาห์ เนื่องจากการดูแลที่บ้านที่รองรับการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นเรื่องใหม่มาก ทำให้ทางทีมงานไดเอทซ์ช่วยให้คำแนะนำที่เป็นกรณีศึกษาของโรงพยาบาลต้นแบบ ให้โรงพยาบาลแห่งอื่นนำไปขยายผล เช่น ระบบการรองรับการ step down ผู้ป่วยที่อาการคงที่หรือไม่มีอาการจากโรงพยาบาลไปรักษาตัวต่อที่บ้านเมื่อรักษาไปแล้ว 8-10 วันเพื่อสำรองเตียงให้โรงพยาบาล หรือการรองรับการ step up สำหรับผู้ที่รักษาตัวที่บ้านเมื่อมีอาการแย่ลง ระบบการจัดเตรียมเอกสารประกอบการเบิกจ่าย สปสช. และประกันเอกชน การใช้งานระบบบันทึกข้อมูลและการแชตหรือวิดีโอคอลกับแพทย์ เป็นต้น

Dietz

ผู้เล่นตัวกลางเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ 

“บริการของไดเอทซ์มี 2 ส่วน ส่วนแรกสำหรับโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก มี 2 แพลตฟอร์ม คือ แพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกล (Telemedicine Platform) เพื่อให้สถานพยาบาลดูแลผู้ป่วยได้ แม้ว่าแพทย์และผู้ป่วยอยู่คนละที่กัน รองรับขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิ์ การเบิกจ่ายผ่านประกันสุขภาพเอกชน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิข้าราชการ และชำระเงินเอง การพบแพทย์ผ่านวิดีโอคอล การจัดส่งยา

“แพลตฟอร์มอีกระบบคือ การดูแลโรคเรื้อรังแบบต่อเนื่อง (NCDs Telemonitoring) ซึ่งไดเอทซ์เป็นเจ้าแรกๆ ในไทยที่นำระบบนี้มาใช้ในการดูแลคนไข้โรคเรื้อรัง โดยการดูแลแบบสหวิชาชีพไม่เพียงแต่แพทย์ แต่รวมถึงพยาบาล นักกำหนดอาหาร เภสัชกร นักกายภาพบำบัด วิชาชีพต่างๆ จะเห็นข้อมูลของผู้ป่วยและสามารถติดตามอาการผู้ป่วยได้ทุกๆ วัน แม้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านและให้คำแนะนำผ่านแชตและวิดีโอคอลตามความเชี่ยวชาญของตนเอง เช่น แพทย์ดูแลคนไข้ ให้คำแนะนำ วางแผนการรักษาและสั่งยา พยาบาลแนะนำวิธีการดูแลตนเอง การฉีดยา การดูแลสุขภาพ เภสัชกรให้คำแนะนำเรื่องการใช้ยา ติดตามการใช้ยาเพื่อป้องกันผลกระทบของการใช้ยา นักกำหนดอาหารให้คำแนะนำในด้านการรับประทานอาหารเพื่อการดูแลรักษาโรค นักกายภาพบำบัดดูแลการฟื้นฟูร่างกาย เป็นต้น โดยข้อมูลถูกจัดเก็บเป็นระบบด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถเชื่อมโยงข้อมูลไป-กลับ กับระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) ได้

“ส่วนที่สอง สำหรับองค์กรทั่วไปที่เป็นบริษัท หรือโรงงานอุตสาหกรรม ปกติบริษัทจะประสบปัญหาการดูแลสุขภาพพนักงาน พนักงานต้องหยุดงานไปโรงพยาบาลทำให้ขาดรายได้ ไดเอทซ์มีบริการการแพทย์ทางไกลให้บริการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ทั้งพนักงานและสถานประกอบการด้วย นอกจากนี้ ระบบจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของพนักงานในองค์กร ช่วยให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) บริหารจัดการข้อมูลพนักงานที่ทำงานตามปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการจัดการข้อมูลการตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน การตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจตามปัจจัยเสี่ยง ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดภาระงาน”

เป้าหมายเพื่อส่วนรวม ยกระดับคุณภาพชีวิตคนทั้งประเทศ 

“เราไม่ได้ต้องการมาแทนที่สถานพยาบาล จะเห็นได้ว่าไดเอทซ์เป็นเทเลเมดิซีนเจ้าเดียวที่ไม่ได้ดำเนินการเปิดให้ตนเองเป็นสถานพยาบาลเพื่อมาทดแทนสถานพยาบาลรูปแบบเดิม เพราะไดเอทซ์ต้องการเป็นแพลตฟอร์มกลางให้สถานพยาบาลทุกขนาด ทุกประเภททั้งรัฐและเอกชน มาใช้บริการเพื่อยกระดับการบริการผู้ป่วยให้ดีมากยิ่งขึ้น เข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น ติดตามอาการผู้ป่วยได้สะดวกขึ้น ลดภาระแพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถมีข้อมูลสุขภาพประจำตัวเอง และแลกเปลี่ยนระหว่างสถานพยาบาลได้

“นอกจากนี้ ไดเอทซ์ยังเป็นแพลตฟอร์มคนไทย 100% ที่พร้อมเชื่อมต่อกับสตาร์ทอัพไทยและต่างชาติในการให้บริการทั้งไทยและในภูมิภาคอาเซียน ไดเอทซ์ไม่ได้สังกัดโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง และยังทำงานร่วมกับผู้พัฒนาระบบ Hospital Information System จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่ได้เป็น confict of interest หรือ ความขัดแย้งของผลประโยชน์ สามารถใช้งานได้ทุกเครือโรงพยาบาล

“ไดเอทซ์เป็นสตาร์ทอัพด้านสุขภาพที่ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพอื่นๆในการช่วยเหลือสังคม ในช่วงโควิด-19 เช่น สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย สมาคมไทยสตาร์ทอัพ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อนำเทคโนโลยีที่ตนเองมีไปช่วยเหลือโรงพยาบาลและผู้ป่วยให้เข้าถึงแพทย์ได้ดีขึ้น 

“จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยในระบบมากกว่า 50,000 คนจาก 200 โรงพยาบาลที่มีการให้บริการ Home Isolation หรือ Community Isolation ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ระบบการดูแลโรคเรื้อรังแบบต่อเนื่อง (NCDs Telemonitoring) ซึ่งไดเอทซ์เป็นเจ้าแรกๆ ในไทย มีผู้ใช้งานเกือบ 100 แห่ง ผู้ใช้งานรวม 7,000 คน ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ได้ติดตามอาการได้ดีขึ้นแม้ว่าไม่ได้เดินทางมาโรงพยาบาล”

Dietz

อนาคตของการแพทย์ทางไกล 

“ไดเอทซ์กำลังขยายทีมงาน และเปิดระดมทุนรอบ Pre-Serie A เพื่อให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลโรคซับซ้อนเฉพาะทาง รวมถึงการขยายเข้าสู่คลินิก โดยมีจุดเด่นคือรองรับการเบิกจ่ายหลากหลายรูปแบบทั้งประกันสุขภาพ ประกันภัย สปสช. กรมบัญชีกลาง ประกันสังคม เป็นต้น การเชื่อมต่อกับพันธมิตรเพื่อให้บริการประเภทต่างๆ เช่น จัดส่งยาด้วยพนักงานจัดส่ง (Rider Management) ระบบเวรเปล ระบบ AI อ่านภาพจากเอ็กซเรย์ปอด 

“การขยายบริการ Dietz Health Pods หรือ ห้องให้บริการการแพทย์ทางไกลในสถานประกอบการ ทั้งการรักษาและป้องกันโรค โดยร่วมกับพันธมิตรจัดทำบริการครบวงจร ทั้งการพบแพทย์ออนไลน์ การรับยาที่ตู้จ่ายยาพร้อมคำแนะนำจากเภสัชกร การจัดหาวิตามินส่งเสริมสุขภาพ การจัดหาสินค้าบริโภคที่รองรับการชำระเงินด้วยตนเองแบบไร้พนักงานขาย เป็นต้น โดยคาดว่าปีหน้าจะมีสถานพยาบาลและองค์กรใช้งานกว่า 1,500 แห่ง รองรับผู้ใช้งานกว่า 300,000 ราย โดยความร่วมมือจากพันธมิตร เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในโครงการสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น

“ระบบ Dietz Telemedicine ได้เปิดให้ทางโรงพยาบาลรัฐใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนโรงพยาบาลเอกชนจะคิดเฉพาะค่าบริการในการติดตั้งระบบตามจำนวนผู้ป่วย  ซึ่งทางบริษัทสามารถนำรายได้จากการให้บริการซอฟต์แวร์เอกชน มาใช้อุดหนุนการให้บริการฟรีกับทางโรงพยาบาลภาครัฐ  ซึ่งโรงพยาบาลเพียงแค่จัดหาคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ก กล้อง ไมโครโฟน และติดตั้งระบบภายในระยะเวลา 1-2 วันจากทีมงานของไดเอทซ์สามารถใช้งานได้ทันที  ซึ่งมีโรงพยาบาลกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ทำการรักษาผู้ป่วยในระบบกว่า 50,000 คน” 

AUTHOR