ชาติ สุชาติ : ศิลปินหนุ่มเสียงนุ่ม เจ้าของเพลงฮิต ‘การเดินทาง’

เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก
ชาติ-สุชาติ แซ่เห้ง เป็นครั้งแรกจากเวที The Voice Season 3 เพลง ตัดใจ
ที่เขาร้องบนเวทีนั้นในรอบ Blind Audition น่าประทับใจทั้งเสียงร้อง
และวิธีถ่ายทอดอารมณ์ที่คลอเคล้าไปกับเสียงกีตาร์โปร่ง ขณะที่ การเดินทาง และ
แหงน
สองเพลงที่เขาได้แต่งและร้องขณะเป็นศิลปินของค่าย What The Duck ทำให้เราได้เห็นความสามารถทางด้านดนตรีอีกด้านหนึ่งของเขา
นั่นคือการแต่งเพลงที่ไพเราะ ฟังง่าย แต่มีความหมายบางอย่างให้เราได้คิด

หากย้อนมองเบื้องหลัง
เส้นทางดนตรีของชาติเริ่มต้นมานานแล้ว และเมื่อมองไปข้างหน้า เราคาดว่ามันคงทอดยาวไปอีกไกล
ระหว่างการเดินทางนี้ เราเลยอยากชวนนักดนตรีคุณภาพอย่างเขาแวะพัก เพื่อนั่งพูดคุยถึงการเดินทางและการเรียนรู้บนเส้นทางดนตรีของเขา

เล่นดนตรีไม่ใช่แค่เรื่องความเท่
“ผมเริ่มเล่นดนตรีประมาณ ป.6 – ม.1 ตอนนั้นรู้สึกว่าการเล่นกีตาร์ให้เพื่อนหรือสาวๆ
ดูมันเท่ดี ซึ่งถ้าวันนั้นเราเริ่มด้วยความเท่แล้วเลิก
มันก็คือเลิก แต่ถ้าเราเล่นต่อ เริ่มอยากรู้ดีเทลของสิ่งที่เราทำ มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องความเท่แล้ว
แต่เราอยากเล่นให้เพราะ อยากเล่นให้ดี แต่เป็นเรื่องการเล่นให้เพราะที่สุดเท่าที่จะทำได้
ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่รู้นะว่าตัวเองให้เวลากับดนตรีเยอะมั้ย
แต่ผมเล่นตลอด เล่นไม่หยุด เล่นด้วยความสุขมาตลอดเลย นึกขึ้นได้ก็คือเปิดหนังสือเพลง”

ร้องด้วยเสียงจริงของเราดีที่สุด
สมัยหัดเล่นดนตรี
ผมรู้สึกว่าตัวเองก๊อปปี้เสียงร้องของคนอื่นได้เหมือนมาก นั่นคือสิ่งที่เรามองว่าสุดยอดแล้ว
ซึ่งมันก็อาจจะดี เพียงแต่ตอนนั้นเรามองเห็นข้อดีของการก๊อปปี้ผิดไป เรามองว่าการก๊อปปี้เหมือนคือเก่ง
แต่ที่จริงการก๊อปปี้ดีต่อระยะยาวต่างหาก เพราะในวันที่เราเข้าใจแล้วว่าควรเป็นอะไร
พอมองย้อนกลับไปจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คืออาจารย์หมดเลย

“ตอนนั้นผมฟังเพลงของ เจมส์ เรืองศักดิ์, ดัง
พันกร แนวป๊อปฟังง่ายหมดเลย หลังจากนั้นก็เริ่มมาฟังเบเกอรี่ เริ่มได้เห็นมุมการเขียน
เห็นมุมการทำดนตรีที่ไม่เคยเห็นจากศิลปินคนอื่นในยุคนั้น ผมได้ยินอาร์แอนด์บีครั้งแรก
ผมได้ยินพี่ เบน ชลาทิศ, พี่นภ พรชำนิ, พี่น้อย วงพรู, พี่คิว วงฟลัว ซึ่งข้ามไปอีกชั้นเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็อยู่ในกระบวนการก๊อปปี้แต่เป็นขั้นที่สูงกว่าเดิม
เพราะพอโตขึ้นปุ๊บเราไม่ได้ต้องการให้เสียงเหมือนแล้ว เราต้องการก๊อปปี้ลึกซึ้งไปถึงการหายใจ
ว่าเขาร้องยังไง เก็บเสียงยังไง ตอนนั้นเราต้องการวิธีการ ซึ่งสุดท้ายผมก็พบว่าการร้องด้วยเสียงที่แท้จริงของเราดีที่สุด”

ความกลัวเป็นเรื่องธรรมดา
สุดท้ายแล้วมันต้องผ่านไป
“ตอนขึ้นเวทีครั้งแรกผมรู้สึกเกร็งมาก
กลัว แต่พอเริ่มประกวดเยอะขึ้นก็เริ่มทะนงหน่อย ประมาณว่า กูมาหลายปีแล้ว
กูเริ่มไม่อายแล้ว ต่อมาพอมีโอกาสไปเล่นดนตรีในผับ เข้าผับครั้งแรกก็กลัวอีกเพราะในผับคือคนฟังอีกกลุ่ม
ตอนนั้นผมก็เล่นไปจนเริ่มมั่นใจ จนมาเปิดร้านของตัวเอง เล่นที่ร้านตัวเอง นั่นคือจุดที่ไม่กลัวเวทีแล้ว พอหลังจากประกวด
The Voice ผมก็เริ่มกลับมากลัวอีก บางครั้งก่อนขึ้นเวทีผมจะอ้วกเลยนะ เครียด เพราะเราให้ความสำคัญกับแรงคาดหวังเยอะเกินไป
พอเราคือคนที่ทำเพลง การเดินทาง ขึ้นมา มีคนฟัง มีคนซื้อบัตรไปดูมันจะเกิดแรงคาดหวัง
ผมจะทำยังไงให้เขามีความประทับใจกลับบ้านไปได้มากที่สุด

“เวลาที่ผมต้องรับมือกับความกลัว บางครั้งก็ไม่ได้ทำอะไรเลยนะ
ก็กลัวอยู่อย่างนั้น ถึงแม้เราจะมีวิธีการคิดไม่ให้กลัว แต่บางทีก่อนขึ้นเวทีก็ทำไม่ได้
พอเราขึ้นเวทีไปเล่นสักเพลงสองเพลงแล้ว ได้ไปเหยียบเวทีจริงๆ
ได้เห็นแววตาคนดูจริงๆ ก็จะรู้สึกดีขึ้น เราถึงจะเริ่มมั่นใจขึ้น ผมว่าความกลัวเป็นเรื่องธรรมดานะ เป็นเรื่องของการเสียความมั่นใจในช่วงนั้นไป
คือต้องมีก่อน แต่สุดท้ายแล้วมันต้องผ่านไปอยู่ดี”

บางเรื่องไม่ใช่เรื่อง
แต่ก็ต้องทำ
เมื่อก่อนผมไม่ชอบเล่นในผับ เพราะไม่ชอบที่ต้องมีลิสต์เพลง
ห้ามมีเดดแอร์ผมชอบเล่นดนตรีในร้านชิลๆ มากกว่า ชอบที่คนฟังไม่ต้องคอยสนใจเราตลอดเวลา
ถ้ารู้สึกว่าเพลงไหนเพราะค่อยหันมาสนใจแต่งานทุกวันนี้ต้องเล่นในผับเยอะ ผมไม่เคยเขียนลิสต์เพลงมาก่อนในชีวิต
แต่ตอนนี้ต้องมานั่งเขียนลิสต์ ทำการบ้านเรื่องโชว์
เราจะเดินเพลงแรกไปถึงเพลงสุดท้ายยังไง โห เรื่องยากมาก บางเรื่องไม่ใช่เรื่อง
แต่ก็ต้องทำ เพราะพอมันเป็นโชว์ที่มีคนจ้าง มีคนซื้อบัตรมาดู ความรู้สึกมันต่าง
เป็นอะไรที่ทำเล่นๆ ไม่ได้แล้ว จะมาถามกันบนเวทีไม่ได้แล้วว่าเล่นเพลงอะไรดี
ถ้าต้องการฟีลดิบๆ มองว่าเป็นตัวเองก็ใช่ แต่ผมรู้สึกว่ามันเห็นแก่ตัวเกินไป

“ผมเคยอยู่ในจุดที่มองศิลปินคนอื่นแล้วสงสัยว่าทำไมอยู่ดีๆ
เขาต้องทำเพลงให้ง่ายขึ้น ทำไมดูแล้วไม่ธรรมชาติวะ ทำไมเสียงเขาตอนไปอัดรายการแย่กว่าในเทปวะ
แต่พอเรามาอยู่จุดนี้ ทุกอย่างเป็นไปได้หมดเลย รู้เลยว่ามันไม่ง่ายนะ บางทีก็คิดว่ากูไปด่าเขาได้ไงวะ ที่ผ่านมาที่เราเคยไปดูคอนเสิร์ตคนอื่นแล้วไม่ชอบ
ที่จริงเขาเก่งนะ ต่อเพลงเก่ง เชื่อมแต่ละช่วงเก่ง ทำให้เห็นว่า เออ เราต่างหากที่ไม่มีประสบการณ์อะไรแบบนี้มาก่อน”

ทำงานกับค่ายคือการทดลอง
ก่อนผมตัดสินใจเซ็นสัญญากับค่ายWhat the Duck ก็คิดนะว่าจะกลับไปอยู่บ้านทำเพลงเอง
ปล่อยเองดีไหม แต่สุดท้ายก็เลือกทำงานกับค่ายเพราะคิดว่ามันคือการทดลอง ถ้าผมไม่ชอบจริงๆ
มันก็แค่ 3 ปี ถึงตอนนั้นค่อยทำเองก็ได้ ซึ่งจริงๆ ถ้าวันนั้นไม่ได้เจอ พี่บอล-ต่อพงศ์
จันทบุบผา และพี่ฟั่น-โกมล บุญเพียรผล ผมก็คงไม่ได้เซ็นกับใครนะ เพราะสิ่งที่ผมอยากได้ที่สุดจากค่ายเพลงคือผมต้องการเขียนเพลงเอง
มีแค่เงื่อนไขเดียว แล้วพี่ๆ เขาก็ให้ความสำคัญกับการทำเพลงเอง เราเลยชอบ

“การได้ทำงานในห้องอัดแบบจริงจัง ได้เจอโปรดิวเซอร์ที่เก่งๆ
ได้เห็นว่า โห ห้องอัดจริงๆ เขาเป็นอย่างนี้ ขั้นตอนในการอัดโคตรลำบากขนาดนี้ การร้องเพี้ยนที่เราเคยมองว่าไม่เห็นเป็นอะไร
พอไปอยู่ในห้องอัด โห นิดเดียวไม่ได้นะ อันนั้นคือสิ่งที่ดีครับ ส่วนข้อเสียพอเข้ามาอยู่จริงๆ
ก็ไม่มีเลย ไม่มีการบีบให้เราต้องเป็นแบบไหนเลย”

ผมจะสนุกเวลาได้เล่าเรื่องที่อยากเล่า
เพลงที่ผมแต่งมักได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวที่เจอ ซึ่งไม่ต้องเจอกับตัวเองก็ได้
เรื่องที่เราฟังมา หนังที่เราดูแล้วอิน ไปคุยกับใครคนนึงมาแล้วเราได้ยินวรรคนึงที่แม่งโคตรดีก็จะ
เออ กูลืมได้ยังไงว่าชีวิตมีเรื่องนี้ด้วย ผมก็เอาวรรคนั้นมาขยายให้เป็นเพลงหนึ่งเพลง
ถ้าเขียนเป็นเพลงขึ้นมาแล้วเราร้องมันบ่อยๆ จะได้เตือนตัวเองอยู่ตลอด
เราจะไม่ลืมมัน

“ตอนเด็กเวลาแต่งเพลงผมจะคิดว่า
เขียนยังไงก็ได้ให้สวย ให้เท่ การใช้คำหรือพล็อตเรื่องต้องแตกต่างจากคนอื่น
แต่ตอนนี้ผมมองว่าเพลงที่ดีคือเพลงที่บอกเล่าเรื่องที่มีประโยชน์ด้วย
หรือบางทีเราอาจเล่าเรื่องที่ไม่ได้มีประโยชน์มาก เป็นเรื่องความรักธรรมดาทั่วๆ ไป
แต่มีวิธีการเขียน วิธีการเล่าเรื่องที่สวย นั่นก็คือเพลงที่ดีเหมือนกัน ช่วงนี้ผมอยากเล่าเรื่องโลก
เรื่องสังคม ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราอาจมองสังคมในแง่ลบ
เราก็จะได้เพลงที่เป็นแนวเสียดสีสังคมเยอะ แต่ตอนนี้พอเราเริ่มมองเป็นเรื่องธรรมดา
เลยไม่มีการเสียดสี แต่อาจมีอารมณ์ที่ให้คนฟังได้คิดเอง ในเรื่องที่ลึกจริงๆ
ไม่ได้ไปด่าสิ่งที่มันอยู่ตื้นๆ ผมอยากเขียนเพลงอย่างนั้นมากกว่า

“จากตอนแรกที่ผมเริ่มเล่นดนตรีเพราะความเท่
ตอนนี้ความสุขของผมมาจากความไพเราะที่เราซึมซับมัน ผมจะสนุกเวลาได้เล่าเรื่องที่อยากเล่า
แล้วจะยิ่งสนุกมากขึ้นถ้าคนฟังเข้าใจด้วย เวลาที่เขาฟังสดๆ จากเราแล้วเข้าใจว่าสิ่งที่เราเล่าให้เขาฟังมันเป็นยังไง
นี่คือความสุขอย่างหนึ่ง”

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ


AUTHOR