Teenage Wasteland : โลกสามใบที่ซ้อนทับด้วยความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และการหายไปของใครบางคน

กำกับการแสดงและเขียนบทละคร: ธนพนธ์ อัคควทัญญ, ธงชัย พิมาพันธ์ุศรี
สถานที่: Creative Industries, M Theatre

ขออภัยที่เราไม่สามารถใส่ชื่อเต็มๆ ของละครเรื่องนี้ที่ว่า Teenage Wasteland : Summer, star and the (lost) Chysanthemum ไว้ให้หัวเรื่องได้ครบถ้วน

และดูเหมือนว่าความยาวของชื่อเรื่องนี้จะยังแปรผันตรงกับความยาวของละคร, 140 นาทีคือระยะเวลาที่เรา-ผู้ชม-ถูกพาหลุดเข้าไปในโลกใบใหญ่ที่ ธนพนธ์ อัคควทัญญู ผู้กำกับและคนเขียนบท หนึ่งในสมาชิกกลุ่มละครรุ่นใหม่ Splashing Theatre สร้างขึ้นไว้ ครั้งนี้เขาชวน ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี อีกหนึ่งสมาชิกในกลุ่มโยกย้ายจากบทบาทนักแสดงมาลงมือกำกับร่วมกันเป็นครั้งแรก

นอกเหนือจากคำอธิบายสั้นๆ ในเพจว่า ‘ละครไซไฟไบโอกราฟฟี่ที่มีหุ่นยนต์’ และโปสเตอร์ที่ปรากฏภาพนักแสดงรุ่นเล็กรุ่นใหญ่รวมทั้งสิ้น 14 คน ที่เดาเนื้อเรื่องได้ยากแล้ว กว่าเราจะรู้เรื่องราวของการแสดงชิ้นนี้ก็ตอนที่นั่งลงบนเก้าอี้ในโรงละคร Creative Industries ที่ถูกใช้พื้นที่อย่างเต็มพิกัด และปล่อยให้นักแสดงแต่ละคนผลัดกันเข้าฉากเปลี่ยนบทบาทกันไปมาสักพัก เราถึงจับความได้ว่า Teenage Wasteland กำลังจะพาเราเข้าไปสู่โลกแฟนตาซีสามใบพร้อมๆ กันแบบไม่ให้เราพักหยุดหายใจกันเลย

โลกที่ 1: โลกในดินแดนรกร้างที่มีเกม 8-bit เป็นกิจกรรมหลักของกลุ่มเด็ก 5 คน พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้งหลังจากเพื่อนที่ตายไปกลับมาอยู่ในร่างใหม่ของใครที่พวกเขาไม่รู้จัก ซ้ำยังสลับเพศจากชายเป็นหญิง โลกของ จิตร วิทย์ เบน พิมพ์ และภูมิ (ที่กลับมาอยู่ในร่างของดาว)

โลกที่ 2: โลกของผู้กำกับหนุ่มมาดกวนนามว่า มิค ที่กำลังรวบรวมข้อมูลและสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ เพื่อจะทำภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ และอาณาจักรแห่งเงา

โลกที่ 3: โลกที่เดินรุดหน้าไปไกลถึงจักรวาลของชาวอัลแตร์ โลกที่มีหุ่นยนต์กันดั้มต่อสู้กัน โลกที่มนุษย์ถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยความสามารถพิเศษบางอย่าง

ข้อมูลในสูจิบัตรบอกเราว่า ธนพนธ์ หยิบแรงบันดาลใจและดัดแปลงละครเรื่องนี้จากหลายสิ่ง ทั้งนวนิยายและเรื่องสั้นของสตีเฟน ฮอว์คิง อนิเมะญี่ปุ่นอย่าง Mobile Suit Gundum (1979) และ Neon Genesis Evangelion (1995) รวมถึงชีวิต บทเพลง และกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ถูกเรียบเรียงและเชื่อมโยงเข้ากันเป็นหนึ่ง ผ่านประเด็นที่เรามักเห็นกันในงานของ Splashing Theatre อย่างความเยาว์ โง่เขลา การต่อต้านอำนาจผู้ใหญ่ และการหวนแก้ไขสิ่งที่เคยผิดพลาด

สารภาพตามตรง เรากลับไปคิดหนักว่าจะเขียนบทวิจารณ์นี้อย่างไรให้กระทบเนื้อหาละครน้อยที่สุด เพื่อให้ทุกอย่างที่คนอ่านจะได้ชมยังสดใหม่และน่าตื่นเต้นพอๆ กับที่เราได้สัมผัส สิ่งที่พอจะสรุปได้สั้นๆ อย่างไม่เกินจริงนัก อาจเป็นประโยคที่ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งผลงานของ Splashing Theatre ที่พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาคือวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยพลัง (ไม่ว่าจะเป็นทีมงานเบื้องหลังหรือนักแสดงที่เฟ้นหาแต่หัวกะทิมาปะทะกัน) แถมยังพาคนดูอย่างเรา ‘ขึ้นสุด’ และ ‘ลงสุด’ ด้วยบทสนทนา อารมณ์ และภาพที่ปรากฏตรงหน้า ที่ทั้งน่าตื่นเต้นและน่าสะพรึงกลัว

ไม่ได้อยากเปรียบเทียบกับเรื่องก่อนหรือยกเอาตัวเองเป็นมาตรฐาน แต่สำหรับเรา Teenage Wasteland เป็นงานที่เราพอจะบอกคนอื่นได้ว่า ‘ไม่ได้ดูยากเกินกว่าจะเข้าใจ’ (หลังจากโดนเรื่องก่อนอย่าง Thou Shalt Sing ปราบไปเมื่อต้นปี) เรื่องราวของโลกทั้ง 3 ถูกเล่าสลับกันทีละบทโดยไม่เรียงลำดับเวลา แต่ก็ไม่มีไวยากรณ์การเล่าที่ยากไปกว่านั้น ซึ่งเมื่อจับทางได้แล้ว เรายิ่งสนุกกับการเฝ้าดูความลับของตัวละครในโลกแต่ละใบที่ค่อยๆ ถูกเปิดเผยเรื่องราว ความทรงจำ และความผิดพลาดของพวกเขาออกทีละนิด จนเมื่อจบครบถ้วนสมบูรณ์ เราก็พบว่าทั้งหมดนั้นคล้ายถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน เหมือนความต่างทางยุคสมัย ช่วงเวลา และประวัติศาสตร์ ถูกทำลายลง

มองอย่างคนที่รู้ข้อมูลภูมิหลังที่ละครใช้อ้างอิงน้อยมาก (เราไม่เคยอ่านงานของฮอว์คิง คุ้นเคยกับกันดั้มเพียงน้อยนิด และรู้จักจิตรแค่จากหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย) ก็ยังน่าสนใจที่เรามีช่วงเบื่อน้อยมากๆ ใน 140 นาที แถมยังไม่ตะขิดตะขวงใจตัวเองที่ไม่เข้าใจเนื้อหาที่ตัวละครพูดถึงบ้างด้วยซ้ำ (เรียกอาการนี้ว่า ‘ปล่อยเบลอ’) ถ้าให้เดาเราคิดว่าเป็นผลมาจากการควบคุมไดนามิคของเรื่องให้น่าสนใจและน่าติดตาม แต่ละฉากไม่ได้ยาวหรือยืดเยื้อจนถูกทำให้ลืมโลกที่เหลือ และที่เก่งมากคือการใช้สื่อหลายๆ ประเภทนอกเหนือจากการแสดง ทั้งเพลง ดนตรีประกอบ วิดีโอประกอบฉาก การเต้น การเคลื่อนไหวท่าทาง เช่นฉากการต่อสู้ของกันดั้ม ทั้งหมดทำให้เงื่อนไขเรื่องความยาวของละครไม่ได้เป็นอุปสรรคขนาดนั้น

หากจะมีอะไรเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง บทสนทนาที่เต็มไปด้วยภาษาคมคายที่ถูกคิดและเขียนขึ้นมาอย่างละเอียด คำพูดที่เต็มไปด้วยศัพท์แปลกๆ คล้ายจะมีสัญญะเสมอ คำพูดยืดยาวที่นักแสดงพูดออกมาในบางจังหวะอาจทำให้ใครหลายคนชัตดาวน์ตัวเองจากการรับรู้ไป สิ่งนี้เป็นจุดที่เราเห็นเสมอในงานของกลุ่ม Splashing Theatre หากสิ่งที่ช่วยมันไว้ได้ตลอดเช่นกันก็คือทักษะของนักแสดงและการฝึกซ้อมอย่างที่รู้เลยว่าหนักมากๆ ทำให้การพูดบทสนทนาเหล่านั้นเลยจากจุดที่เป็นการท่องจำ เข้าสู่เส้นที่เราเชื่อได้ว่านักแสดงกำลัง ‘เป็น’ และ ‘พูด’ สิ่งนั้นจริงๆ

นอกจาก เมืองไทย จิรวงศ์นิรันดร ที่สวมบท มิค ได้อย่างเป็นธรรมชาติ (และน่าหมั่นไส้ชะมัด) อีกคนที่แบกรับบทศูนย์กลางของเรื่องตามที่เราเข้าใจคือ รัฐกร พันธรักษ์ ผู้รับบทเป็น จิตร ในโลกของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ไม่เพียงจะมีใบหน้าคล้ายคลึงกับ จิตร ตัวจริงมากๆ แล้ว เขายังควบคุมอากัปกิริยาที่แสนนิ่งสงบ เยือกเย็น ออกมาได้อย่างน่าสนใจตลอดทั้งเรื่อง จนทำให้เราต้องติดตามดูเขาเป็นหลักแม้ว่าจะมีสัดส่วนการปรากฏตัวพอๆ กับนักแสดงคนอื่นๆ ซึ่งในฉากสำคัญท้ายเรื่องที่เขาปะทะกับ เมืองไทย ก็เป็นอีกภาพที่เราจับจ้องแทบไม่กะพริบตา

มองในภาพใหญ่ เรื่องราวของโลกทั้งสามที่ทับซ้อนกัน กำลังพูดถึงการหายไปของใครคนหนึ่ง และการพยายามทำให้สิ่งนั้นหวนคืนมา ผ่านการฉายซ้ำ รื้อฟื้นความทรงจำด้วยคำพูดเก่าก่อน ทำสิ่งน้ันใหม่ บันทึกมันไว้อีกครั้ง ถ่ายภาพไว้ กำกับให้เป็นภาพยนตร์ หรือแม้แต่เอาคืนมาแค่เพียงจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะอย่างไร การทำสิ่งนั้นย่อมมีผลต่อเจ้าของเรื่องราว และสัมพันธ์ไปถึงคนที่กำลังเรียกมันคืนมา

เราอยู่ในพื้นที่รกร้างที่เต็มไปด้วยเรื่องราว อุดมการณ์ ประวัติศาสตร์ของคนในอดีต ที่จะถูกหยิบมาเล่าซ้ำอีกครั้งและอีกครั้ง

ถ้าเราพร้อมจะแลกมันด้วยอะไรบางอย่างในตัวของเราไป

ภาพ Xie Ren Jay

AUTHOR