นนทวัฒน์ นำเบญจพล : จากผืนฟ้า แผ่นดิน สายน้ำ สู่ชีวิตวัยรุ่นในกรุงเทพฯ

ทำไม…ชายหนุ่มคนหนึ่งจึงเลือกก้าวเข้ามาในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง

เสี่ยงที่หนึ่ง: เขาเลือกเล่นกับสื่อที่ไม่มีทางคาดคะเนเรื่องราวได้อย่างสารคคี

เสี่ยงที่สอง: หนังสารคดีไม่ได้รับความนิยมในเมืองไทยเอาเสียเลย

และเสี่ยงที่สาม: ประเด็นที่เขาพูดถึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากเหลือเกิน

“เพราะเป็นเรื่องสำคัญ” เขาบอกกับเราเรียบๆ ตรงข้ามกับสายตาคมกริบ ที่สะท้อนว่าเขาเชื่อ เชื่อว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่ามากจริงๆ

เขาคือ เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับหนังสารคดีหนุ่มวัย 34 ปี

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเจอเขา หลังได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาตั้งแต่ช่วงที่ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง สารคดีเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเกือบถูกแบนในปี 2556 กว่าจะผ่านกองเซนเซอร์มาได้ วลี ‘หนักเอาการ’ คือคำบรรยายความยากลำบากก่อนหนังลงโรงฉาย ต่อด้วย สายน้ำติดเชื้อ ปี 2557 สารคดีเล่าชีวิตชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีแหล่งน้ำเป็นพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม

เขากำลังมีผลงาน #BKKY สารคดีเรื่องใหม่ที่พูดเรื่องวัยรุ่นในกรุงเทพฯ ผลงานของเขาจะเล่าแตกต่างไปจากคนอื่นได้ยังไงในวันที่หนังวัยรุ่นเกลื่อนโรง ใจผมมีคำถามพร้อมโยนให้เขาหลายข้อ ไม่ใช่แค่นั้น ผมยังชวนคนในวงการหนังสารคดีมาร่วมตั้งคำถามที่น่าสนใจให้เขาไปพร้อมๆ กันด้วย

ทำไมคนทำสารคดีเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและสิ่งแวดล้อมอย่างคุณ ถึงข้ามพรมแดนมาทำสารคดีวัยรุ่นอย่าง #BKKY ได้
“เราเคยไปทำงานเขียนบทซีรีส์ HORMONES กับพี่ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ และแก๊งซีรีส์ HORMONES แล้วเราชอบซีรีส์ชุดนี้มาก #BKKY ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องนี้เยอะเหมือนกัน เป็นส่วนผสมของพี่ย้งบวกกับงานแบบพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ (หัวเราะ) การพูดคุยกับเด็กวัยรุ่นแล้วสร้างฟิคชันมาประกบมันคือโครงสร้างแบบพี่เจ้ย เพียงแต่ว่ามันมีหีบห่อแบบพี่ย้ง ผสมกันจนกลายเป็นมุมมองเรา

“เรื่อง #BKKY เกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นในเมือง เป็นกลุ่มคนที่ไม่มาดูหนังเราเลย เขาไม่ค่อยสนใจ เราเลยอยากทำประเด็นทางสังคมแบบเดิม ลองดูสิว่าจะทำยังไงให้เด็กกลุ่มนี้เข้ามาดู ถ้าเป็นสารคดีเรื่องก่อนๆ เราจะไม่ใช้การสัมภาษณ์เท่าไหร่ เพราะคิดว่ามันเป็น Traditional Documentary เกินไป แต่เรื่องนี้เราใช้ทั้งเรื่อง เพราะอยากลองหาวิธีการที่ตัวเองไม่เคยทำดูบ้าง”

จุดเริ่มต้นของ #BKKY มีความน่าสนใจยังไงบ้าง
“เราเริ่มทุกอย่างจากการคิดว่าทำยังไงให้หนังสารคดีสนุก เลยคิดว่าจะสัมภาษณ์วัยรุ่นที่อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 100 คน อีกอย่างเราเติบโตในกรุงเทพฯ เราอยากกลับมาสำรวจวัยรุ่นในพื้นที่ที่คุ้นเคยตรงนี้

“เราจะเปิดพื้นที่สารคดีไปสู่หนทางใหม่ๆ จากเดิมที่หนังเราเข้าแบบจำกัดโรงฉาย แล้วส่วนใหญ่คนที่สนใจก็เป็นผู้ใหญ่ เราอยากให้เด็กๆ เข้ามาดูหนังบ้าง เลยทำให้ดูง่ายเป็นเหมือนวิชาพื้นฐาน 101 แล้วหวังว่าในอนาคตเด็กไทยจะเปิดรับหนังสารคดีมากขึ้นด้วย”

คุณสนใจอะไรในตัววัยรุ่น ทำไมถึงอยากให้พวกเขามีส่วนร่วมในหนังมากขนาดนี้
“เราอยากรู้ว่าเด็กวัยรุ่นสมัยนี้เป็นยังไงบ้าง เหมือนหรือแตกต่างกับเราเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุยกันด้วยคำถาม เกี่ยวกับเรื่องการเรียน ความรัก ความฝันและครอบครัว จำนวน 4 – 5 ข้อ แล้วเลือกเอาบทสัมภาษณ์เหล่านี้มาร้อยเรียงต่อกันให้เป็นเรื่องราว แล้วเขียนเป็นบทเพื่อเอามาถ่ายอินเสิร์ทเป็นฟิคชัน”

บอกได้ไหม คุณมีวิธีการเลือกเด็กจำนวน 100 คนเหล่านี้ยังไง
“แคสติ้งหาเด็กๆ ตามพื้นที่ต่างๆ เลือกมาจากความหลากหลาย ทั้งเด็กสยาม เด็กชานเมือง เด็กสุขุมวิทและอื่นๆ ในกรุงเทพฯ เราเห็นชัดเลยว่าแต่ละพื้นที่ที่เด็กเติบโตมีผลกระทบที่จะ shape ความคิดและทัศนคติของเขา เราสัมภาษณ์คนละครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง พอรวม 100 คน มันก็เกือบ 100 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยากที่สุดคือการตัดต่อ เราต้องจัดกรุ๊ปฟุตเทจไปเรื่อยๆ เหมือนจัดหมวดหมู่หนังสือเข้าห้องสมุดให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ มองหาประเด็นที่เด็กๆ พูดซ้ำกัน แล้วหยิบเอาสิ่งนั้นมา โดยเลือกคำพูดของคนที่น่าสนใจที่สุดมาใช้ ซึ่งยากมาก เราตัดต่อจนแทบจะเป็นบ้า”

แล้วถ้าเป็นคนวัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัยรุ่นมาดู เขาจะอินกับหนังได้หรือเปล่า
“เราว่ามนุษย์จะผ่านมากี่สิบปีก็ยังมีความเป็นมนุษย์แบบเดียวกัน ความรักและความใฝ่ฝัน ทุกคนมีเหมือนกันหมด วัยรุ่นสมัยเราไม่กล้าแสดงออกและไม่กล้าเปิดเผยตัวเท่าเด็กยุคนี้

“เราโตขึ้นมาในโลกที่ถูกจับป้อนข้อมูลจากทีวี จากปากพ่อแม่และคุณครู โลกมันมีอยู่แค่นี้ เราก็รับรู้กันมาแบบทื่อๆ หนังสือในห้องสมุดก็มีจำกัด แถมหนังสือเรียนก็เป็นหนังสือที่เขาตั้ง mindset มาให้อยู่แล้ว แต่ว่าเด็กยุคนี้ โตมากับการแชร์สเตตัส การเซลฟี่ การอยู่หน้ากล้องและสื่อจึงไม่ใช่เรื่องยากของเด็กๆ

เขามีอินเทอร์เน็ต สามารถใช้มันได้เท่าที่ต้องการ มีชีวิตที่เลือกได้ว่าจะฝันอะไร เป็นตัวของตัวเองแบบไหน และมีความหลากหลายทางความคิดสูงมาก”

จากการสัมภาษณ์ร่วม 100 ชั่วโมง มีประเด็นไหนที่น่าสนใจที่สุด
“สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเรา คือเรื่องความหลากหลายทางความรัก และเรื่อง gender เด็กๆ เพศเดียวกันเป็นแฟนกันหรือกิ๊กกันได้ แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็มีแฟนเป็นเพื่อนต่างเพศ หรือเพื่อนผู้ชายด้วยกัน มันมีความ bromance มีซับเซตของความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนขึ้น เราว่าตรงนี้ถือเป็นประเด็นหลักของ #BKKY เลย”

ปกติแล้ว หนังของคุณจะมีเรื่องการเมืองสอดแทรกอยู่ด้วยเสมอ แล้วเรื่อง #BKKY ล่ะ ยังคงเอกลักษณ์แบบนี้ไว้หรือเปล่า
“ยังคงมีนะ มันจะมาในรูปแบบสัญญะ มี subtext อยู่ลึกๆ แอบๆ เอาไว้ ไม่ใช่แค่เรื่องรัฐอย่างเดียวแต่เป็น symbolic บางอย่างของครอบครัว พ่อแม่ การศึกษา และความเจ็บปวดของคนที่ได้รับผลกระทบจากการเมือง ถ้าคนดูแบบปกติ ในหนังมันจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่กับเด็ก แต่เราพยายามใส่สัญญะไว้และหวังว่าคนดูบางกลุ่มที่ดูแล้ว เขาจะสามารถรีเลทไปถึงสภาพสังคมในเชิงโครงสร้างที่มันใหญ่หรือเชิงการเมืองและรัฐได้ แต่ถ้าคนดูไม่ได้คิดอะไรมาก #BKKY เป็นหนังวัยรุ่นน่ารักๆ ตะมุตะมิชิมุชิมิเลยแหละ (หัวเราะ)

กล้าพูดว่าน่ารักเลยเหรอ!
“น่าร้ากกกก (หัวเราะ)”

ได้ข่าวว่าคุณปรับหนัง #BKKY ให้ป๊อปและสื่อสารต่อคนดูง่ายขึ้นด้วยใช่ไหม
“ว่าอย่างนั้นก็ได้ เรียกว่าเรา please คนดูมากๆ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ please เขาเท่าไหร่ พอเราหันมาพูดด้วยวิธีที่จะทำให้คนเข้าใจมันมากขึ้น มันมีความเป็นประชาธิปไตย แล้วประชาธิปไตยเป็นเรื่องแมสอยู่แล้ว อย่างการที่ให้เด็กๆ ทุกคนออกมาแสดงความคิดเห็น เราตั้งใจจะเปิดกว้างทางความคิดกันจริงๆ”

พอเอาไปฉายเมืองนอกแล้วเขาเข้าใจวัฒนธรรมของวัยรุ่นไทยหรือเปล่า
“เทศกาลหนังปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ คัดเลือก #BKKY ไปฉาย คนที่มาดูเป็นวัยรุ่นเกาหลีทั้งนั้นเลย แล้วประเด็นเรื่อง gender ที่สังคมเกาหลีไม่ได้เปิดกว้าง ไม่มีความหลากหลายทางเพศ คนดูเขารู้สึกประหลาดใจและตื่นเต้นมาก ไม่เชื่อว่าคนไทยจะมีความหลากหลายทางเพศได้ขนาดนี้ แถมเด็กๆ บ้านเรายังมีมุมมองที่กล้าพูดกล้าแสดงออกมากจนเขาเซอร์ไพรซ์ ส่วนตอนไปฉายที่ยุโรป เขาคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นการให้เด็กๆ ได้มาแชร์ทัศนคติมุมมองหลายๆ อย่าง เขาบอกผมว่าหนังเรื่องนี้เป็นแสงสว่างของความหวัง และเป็นอนาคตของเด็กวัยรุ่นอย่างแท้จริง”

#BKKY ทำให้คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง
“เราได้เรียนรู้ว่าตอนเด็กๆ ในขณะที่เรามีปัญหา แล้วรู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีทางออก จนกระทั่งปัญหากลายเป็นเรื่องใหญ่มาก พอเราได้คุยกับน้องๆ ทุกคน เรารู้สึกว่าปัญหามันเล็กลง เราทุกคนเจอปัญหาตอนยังเด็กเหมือนกันทั้งนั้น อยากให้วัยรุ่นมาดูหนังเรื่องนี้ มันจะทำให้เด็กที่ได้ดู ออกมาใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่โหดร้ายใบนี้ได้ง่ายขึ้น”

คุณมีวิธีการเริ่มต้นทำสารคดีแต่ละเรื่องยังไงบ้าง
“ทุกครั้งที่เราทำหนังสารคดี เราเลือกทำสิ่งที่ยังไม่เคยทำ ทั้งโครงเรื่องและประเด็น เราพยายามแก้ไขสิ่งที่เคยทำใน ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เรื่องความ bias ของประเด็นทางการเมือง ซึ่งทำให้สารที่เราสื่อไปสู่คนที่มีทัศนคติทางการเมืองตรงข้ามกับเรา เขาไม่ยอมรับข้อมูล เพราะฉะนั้นใน สายน้ำติดเชื้อ เราเลยเลือกทำประเด็นคล้ายเดิม คือเรื่องของส่วนกลางที่ส่งผลกระทบต่อชายแดน แต่ลองขยับมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมดูบ้าง”

ดูเหมือนว่าที่ผ่านมา คุณเป็นคนทำสารคดีที่สวมแว่นตาความเป็นคนเมืองเพื่อมองสังคม มุมมองแบบนี้มันดีต่อการเป็นผู้กำกับหรือเปล่า
“ตอนทำ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เรามีความเป็นเด็กเมืองมากพอสมควร เห็นอะไรก็มีสายตาแบบ exotic ว้าวกับทุกสิ่งที่เห็น แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ สายตาอย่างนั้นมันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มัน romanticize ว่าเราต้องช่วยเหลือคนที่ลำบาก อู้ย เขาน่าสงสารจังเลย ตอนแรกเรามีความคิดอย่างนั้น แต่พอนานเข้า เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้ต้องการความสงสารจากคุณหรอก หลังจากนั้นสายตาแบบคนกรุงเทพฯ ของเราก็หายไปเองโดยปริยาย แล้วเราพยายาม delete ตัวเองออกให้หมด ใน สายน้ำติดเชื้อ เราเลยเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ พอเรามีสกิลล์ด้านนี้ เราก็มองสังคมได้ง่ายและเป็นกลางมากขึ้น”

ความเจ็บปวดของคนทำสารคดีไทยคืออะไร
“คนทำสารคดีถูกทรีตเป็นพลเมืองชั้นสองหรือชั้นสาม พอเป็นหนังสารคดีไทยมันก็มีพื้นที่จัดจำหน่ายค่อนข้างแคบ เราเข้าใจนะสารคดียังไม่ถูกพิสูจน์ว่ามันเรียกคนดูได้ ถึงประเทศไทยมีประเด็นน่าสนใจมากมาย และพร้อมให้เราหยิบมาทำหนังได้เต็มไปหมด แต่ว่าในหลายประเด็นที่น่าสนใจสุดๆ ไม่สามารถทำและพูดออกมาได้ตรงๆ อาจเพราะสภาพทางการเมืองบางอย่างที่ไม่แฟร์ ตัวอย่างเช่นคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่หน่อย พอมีคนไปวิจารณ์นิดนึงก็โมโหแล้ว จุดนี้ทำให้คนสร้างไม่กล้าลุกขึ้นมาทำงาน มันน่าอึดอัดที่ต้องอ้อม จะพูดอะไรตรงๆ ก็ทำไม่ได้เลย”

ถ้าพูดว่าสารคดีเน้นความจริง แต่สุดท้ายหนังก็มีมุมมองของคนทำ ต้องทำยังไงคนทำสื่ออย่างคุณถึงจะยังมีจรรยาบรรณต่อสังคมอยู่
“เวลาคนพูดว่าสารคดีเป็นการบอกเล่าความจริง ผมไม่สามารถพูดกับใครได้เต็มปาก เพราะชุดข้อมูลมีหลายชุด ต้องถามว่ามันคือความจริงของใคร ถ้าเราเอาคน 5 คน มาถ่ายทอดเหตุการณ์เดียวกัน เราก็ได้ความจริงมา 5 ชุด อย่างเราไปถ่ายสารคดี แล้วเราสนิทกับเขามากๆ บางอย่างเราอาจอยาก criticize เขา แต่จรรยาบรรณหรือมิตรภาพอันดี อาจจะทำให้เราไม่กล้า criticize เขาตรงๆ ก็ได้”

เรามองว่าการทำสารคดีมีความเสี่ยงเรื่องผลกำไรในการทำเงิน คุณจัดการยังไงกับความเสี่ยงนี้
“เราไม่ได้คิดถึงความเสี่ยงหรือคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นการลงทุน เราแค่เอนจอยที่จะได้ทำต่อไปเรื่อยๆ ทำแล้วทำอีก สนุกกับมันจนมาถึงวันนี้ เรียกว่าหันมามองตัวเองอีกทีเราก็มาอยู่ในจุดนี้แล้ว แทบไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ (หัวเราะ)”

หน้าที่ของสารคดีสำหรับตัวคุณคืออะไร
“มันคือการหาคำตอบสิ่งที่เราสงสัย เป็นเรื่องที่เราสนใจ เราใช้สารคดีเป็นเครื่องมือค้นหา แล้วหวังว่าคนอื่นจะได้คำตอบที่เราได้รับด้วย เราชอบการ twist โครงสร้างของสารคดี ให้เป็นแบบที่เรายังไม่เคยทำ แล้วเราก็ทำต่อไปเรื่อยๆ กับหนังเรื่องใหม่ เราพยายามเอารูปแบบหนึ่งมาผสมกับอีกแบบ เราคิดว่านี่เป็นพื้นที่การทดลองที่ไม่มีวันสิ้นสุด”

สังเกตว่าหนังสารคดีทั้ง 3 เรื่องของคุณ พยายามทำหน้าที่ให้คนฟังเสียงของกันและกันมากขึ้น ทำไมต้องเน้นเรื่องนี้ด้วย
“เราเชื่อเรื่องการได้ออกความเห็น มีคำศัพท์ว่า Liminal space ซึ่งคือพื้นที่ที่มีการถกเถียง ตอนเราทำ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง แล้วเกิดการปะทะทางความคิดเยอะมาก แต่เราชอบคำนี้เพราะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาปะทะกันตลอดเวลา พอเราโตเป็นผู้ใหญ่ เรายังคงปะทะกัน แต่ก็นิ่มนวลและละมุนขึ้นเรื่อยๆ เราเน้นเรื่องนี้มาก เพราะอยากบอกว่าพื้นที่แบบนี้ดีต่อการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เมื่อมีการถกเถียง มีการวิจารณ์ มันจะทำให้เกิดการแก้ไขและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ”

ทำไมคุณถึงคิดแบบนั้นล่ะ
“เพราะเราไม่เชื่อในโลกที่คนคนเดียวขึ้นมาอยู่เหนือคนอื่น แล้วกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง เราเชื่อว่าสิ่งนั้นจะทำให้เกิดความด้อยพัฒนา คนที่ขึ้นไปเป็นใหญ่ต้องยอมรับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนา เราน่ะ ไม่เครียดเรื่องการถกเถียงกันเลย เพราะสุดท้ายมันทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคมบางอย่างได้”

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา a day เลือกคุณมาเป็นแบบปกนิตยสารเล่มที่ 203 ฉบับภาพยนตร์สารคดี รู้มาว่านี่เป็นการลงปกนิตยสารในประเทศไทยครั้งแรก คนรู้จักคุณมีความคิดเห็นยังไงบ้าง
“พอเห็นเล่มนี้ คนรู้จักเราตื่นเต้นกันมาก แล้วแม่เราไปเหมามาแจกเพื่อนหมดเลย (หัวเราะ) วันนั้นเขาใช้เราไปซื้อ 10 เล่ม ตอนเดินเข้าไปในร้านหนังสือก็รู้สึกเขินแปลกๆ เพราะหน้าปกเป็นรูปตัวเอง ทีนี้เลยต้องถอดแว่นเข้าไปซื้อ คนขายจะได้จำเราไม่ได้”


Appendix: Surrounding Questions

01 โบ๊ต-สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ผู้กำกับหนังสารคดีเรื่อง Railway Sleepers

Q: อยากถามเบิ้ลว่าภายในเวลาไม่กี่ปีนี้คุณมีงานออกมาเยอะมาก เบิ้ลจัดการเวลาและวางแผนชีวิตยังไงบ้าง

A: สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเดดไลน์ครับ ต้องหาเดดไลน์ให้กับตัวเอง เหมือนการเล่นเกม FarmVille แล้วเราหยอดเมล็ดพันธ์ุไว้เต็มไปหมด มาถึงวันนึงแล้วเราหยอดเยอะไปหน่อย ช่วงนี้มันดันผลิดอกออกผลขึ้นมาพร้อมๆ กัน เลยเก็บผลผลิตไม่ทัน (หัวเราะ) ถ้าถามว่าจัดการยังไงเราอยากให้พี่โบ๊ตไปเล่นเกมฟาร์มวิลล์ มันต้องปลูกผัก ปลูกเมือง ต้องจัดการกับเวลา สมมติเราปลูกผักเอาไว้ อีก 6 ชั่วโมงต้องมาเก็บ ตรงนี้เป็นพื้นฐานเหมือนวิธีการจัดการงานของเรา เราต้องทำให้ทันเพื่อจะเก็บผลของมันให้ได้ อย่าง DOI BOY โปรเจกต์ใหม่ของเราเดดไลน์คือการส่งหนังไปยังที่ต่างๆ ให้ตรงกำหนด เราก็ปั้นมันมาตลอด เรียกว่าทำไปเรื่อยๆ นะครับพี่โบ๊ต

.

02 ยิ่ง-ยิ่งศิวัช ยมลยง ผู้กำกับ/ผู้ช่วยผู้กำกับ

Q: รายได้ของผู้กำกับสารคดีมันพอเลี้ยงตัวเองไหมเบิ้ล

A: รายได้ก็พออยู่ได้ครับยิ่ง ที่ผ่านมาเราขอทุนทำสารคดี กองถ่ายมันไม่ได้ใหญ่อะไร เราก็แบ่งส่วนหนึ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายให้ตัวเอง เราใช้จ่ายส่วนนั้น แล้วถ่ายไปทำไป ถ้าหนังเสร็จออกมาไปฉายเมืองนอกเราก็เก็บค่า screening fee แล้วรายได้อีกส่วนคือมีคนเชิญไปพูดตามมหา’ลัยต่างๆ ระหว่างนั้นเราก็ปั้นโปรเจกต์ใหม่ออกมาเรื่อยๆ ขอทุนแล้วเอามาพัฒนาบท ทำให้เราอยู่ได้ แต่มันต้อง active นิดนึง

แต่เอาจริงๆ อยากรวยกว่านี้นะครับ อยากซื้อคอนโดเหมือนกัน แล้วก็อยากซ่อมบ้านให้แม่ด้วย ถ้าเป็นไปได้อยากซื้อประกันสุขภาพครับ แต่ว่ามันยังไม่ได้มีเงินขนาดนั้น ก็พอผ่อนรถหรือเช่าห้องอยู่ได้ กินอาหารญี่ปุ่น ดูหนังได้ โชคดีเราเป็นคนในครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่ลำบาก มีบ้านอยู่แล้ว กลับไปอยู่บ้านก็ได้ เลี้ยงข้าวแม่ ซื้ออาหารให้หมาและแมวได้ แค่นี้ก็โอเคแล้วครับผม

03 เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้สร้างสรรค์สื่อแห่ง Eyedropper Fill

Q: พี่เบิ้ลรู้ได้ยังไงว่าวัตถุดิบแบบไหนควรทำเป็นสารคดี และแบบไหนควรทำเป็นฟิคชัน

A: เรื่องบางเรื่องมันบอบบางเกินกว่าจะนำมาทำเป็นสารคดี ถ้าเราอยากทำจริงๆ เราจะเอาสิ่งที่รีเสิร์ชมาเขียนบทเป็นฟิคชันแทน ซึ่งความน่าสนใจก็คือพอทำบทออกมาแล้ว คนมาอ่านเขาบอกว่ามันเหมือนสารคดีมากกว่าฟิคชัน นั่นอาจเป็นเพราะเราบันทึกมันผ่านการเขียนเป็นบท แล้วนำมาถ่ายทอดใหม่เท่านั้นเอง

.

04 ลูกตาล-ศุภมาศ พะหุโล และ อ๊อป-อรรคพล สุทัศน์ ณ อยุธยา แห่ง BANGKOK CITYCITY GALLERY

Q: เราเห็นเบิ้ลเล่นสเก็ตบอร์ดมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ชุมชนสเก็ตบอร์ดสำหรับคุณคืออะไร

A: เป็นพื้นฐานทางความคิดตั้งแต่เด็กๆ เราโตมากับแก๊งสเก็ต มันหล่อหลอมวิถีชีวิตเราหลายอย่าง เช่น การต่อต้านสังคมเพราะมีอิสระมาก มันแตกต่างจากกีฬาอย่างอื่นตรงที่มีเอกลักษณ์สูง มีความ individual มียูนิฟอร์มในการแข่งขัน เล่นและสนุกคนเดียวได้ แถมมิกซ์สไตล์ได้หลากหลาย เช่น เล่นบนถนนได้หลายพื้นที่และหลากพื้นผิว

วิธีการเล่นสเก็ตบอร์ดมันส่งผลมาถึงการทำหนังสารคดีของเราด้วย เพราะเราชอบการผสมผสาน การบิดโครงสร้างให้แปลกใหม่ เหมือนการวิ่งออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ ความคิดพวกนี้มีรากฐานมาจากโลกของสเก็ตบอร์ด มันเป็นสังคมแรกๆ ที่เราอยู่ แล้วก็บันดาลใจเราจริงๆ

05 ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Bioscope และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

Q: คุณได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์เกือบถูกแบนหนังเรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

A: เรารู้สึกว่าสิ่งที่ลงทุนทำไปคุ้มค่าแล้ว สุดท้ายหนังเราได้ฉาย มีคนพูดถึงฉากที่เราต้องลบออก แน่นอนมันคือบาดแผล แต่บาดแผลบางอย่างก็สวยงาม มันถูกบันทึกและถูกระลึกถึง เราเก็บมันมาเป็นประสบการณ์เพื่อแก้ไขตัวเองในผลงานต่อๆ ไป และไม่ได้คิดว่าผลงานของตัวเองเป็นสิ่งที่อยู่เหนือหัว ห้ามแตะต้อง ถ้าผลงานที่เราคิดและทำในโครงสร้างสังคม แล้วหนังของเราออกมาเป็นแบบนั้น แม้ว่าไม่ควรยอมก็ตาม แต่เราต้องเข้าใจจุดที่เรายืนอยู่ สุดท้ายมันจะถูกบันทึกว่าโลกก็เป็นแบบนี้ สังคมเราก็เป็นแบบนี้นั่นแหละ

.

Q: ความทะเยอะทะยานสูงสุดของการทำสารคดีของคุณคืออะไร

A: ความทะเยอะทะยานสูงสุดในโลกสารคดี คือเราอยากทำสารคดีสัตว์โลกและสารคดีสัตว์ป่าเหมือน Lonely Planet เพราะเราเป็นคนรักสัตว์ พี่ธิดารู้อยู่แล้วว่าเราเป็นคนชอบเล่นกับหมาและแมว

เวลาเราดู Lonely Planet มันสนุกอ่ะ ล่าสุดมันมีตัว Reptile วิ่งหนีงู เออ อยากทำบ้าง (หัวเราะ) แต่มันต้องใช้อุปกรณ์ที่มีราคาแพงมาก ต้องใช้ทีมงาน ต้องใช้เวลาเพื่อขลุกอยู่กับมัน รวมๆ คือต้องใช้เงินมหาศาล แต่ถ้ามีโอกาสได้ทำจริงๆ เราอยากทำหนังสารคดีสัตว์โลกให้ดราม่าสุดๆ ไปเลย ก็คือมีสตอรี่ มีคาแรกเตอร์ชัดเป็นเรื่องเป็นราว อารมณ์แบบดูหนังการ์ตูน (หัวเราะ)

.

Q: แล้วความทะเยอทะยานสูงสุดในแง่ชีวิตส่วนตัวล่ะ

A: อยากมีเงินไปพักผ่อน นอนอยู่เฉยๆ หายใจทิ้ง ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้นครับ

facebook | #BKKY

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ และ นนทวัฒน์ นำเบญจพล

AUTHOR