Cedric Hernandez : นักวิ่งผู้ก่อตั้งกลุ่ม NYC BridgeRunners ที่เชื้อชวนให้ทุกคนอยากวิ่งไปแตะขอบฟ้า

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
เรามีโอกาสได้พบกับ Cedric
Hernandez
กัปตันทีมวิ่ง NYC BridgeRunners ที่งานเปิดตัว NRC Open House เราสนใจกลุ่มวิ่ง BridgeRunners
เป็นพิเศษ
เพราะถือเป็นกลุ่มวิ่งจากมหานครนิวยอร์กที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ปี 2005 ก่อนการวิ่งจะฮิตติดลมบนแบบทุกวันนี้ซะอีก

เซดริกเกิดและโตที่นิวยอร์ก
ดังนั้นเขาจึงรู้จักเมืองนี้เป็นอย่างดี เมื่อเขาเข้ามาเป็นกัปตันนำทีมวิ่ง
เขาจึงออกแบบเส้นทางการวิ่งที่แสนพิเศษได้ เพราะหนึ่งในหัวใจหลักของทีมวิ่ง The Bridge คือการนำเสนอนิวยอร์กในมุมใหม่ให้นักวิ่งท้องถิ่นรู้จักซอกซอยของเมืองตัวเองมากขึ้น
และนำเสนอนิวยอร์กในมุมโลคอลให้นักวิ่งต่างถิ่นได้รู้จักและรักมัน
แต่สิ่งที่ทำให้กลุ่มวิ่ง The Bridge ต่างจากกลุ่มวิ่งอื่นๆ คือเป้าหมายของการวิ่งในทีมนี้ไม่ได้เพื่อวิ่งให้เก่งขึ้น
วิ่งให้เร็วขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการวิ่งที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่
และกลายเป็นแรงบันดาลใจฉุดให้หลายคนลุกขึ้นมาวิ่งได้จริงๆ

การวิ่งของกลุ่มนี้เป็นแบบไหน
เลื่อนลงไปอ่านกันเลย

การวิ่งในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก
คุณจัดเส้นทางวิ่งอย่างไร
การจัดเส้นทางวิ่งในนิวยอร์กนั้นเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับผม
เพราะเราวิ่งในเมืองมากว่า 13
ปีแล้ว ดังนั้นทุกวันนี้ที่เราออกไปวิ่ง
เราไม่ได้จัดเส้นทางการวิ่งอย่างจริงจังหรือมีแผนที่การวิ่งที่ชัดเจน
แต่ผมจะเลือกเส้นทางวิ่งก่อนที่จะออกวิ่งเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น โดยเลือกว่าใครมาร่วมวิ่งกับเราในวันนั้นบ้าง เช่น ถ้ามีเพื่อนมาเที่ยวนิวยอร์กเป็นครั้งแรก
ผมก็จะจัดเส้นทางวิ่งเพื่อเพื่อนคนนั้นเลย เป็นเส้นทางวิ่งที่ทำให้เขารู้จักเมือง

แต่ใช่ว่าการวิ่งในนิวยอร์กจะเป็นเรื่องง่าย
เพราะมันมีหลายฤดู ช่วงอากาศร้อนก็ร้อนมาก ช่วงหน้าหนาวก็หนาวและวิ่งยากมาก
เราจึงคำนึงเรื่องอากาศในวันที่วิ่งควบคู่กันไปด้วย ฝนตกก็อาจจะต้องหาอุโมงค์ยาวๆ
เพื่อวิ่ง หรือถ้าลมแรง เราจะไม่วิ่งขึ้นสะพานเพราะจะมีลมต้านเยอะ
ถ้าอากาศดีก็จะขึ้นอยู่กับคนที่วิ่งมากกว่า เช่นว่ามีคนจะซ้อมวิ่งมาราธอน
หรือสำรวจเส้นทางการวิ่งมาราธอนที่ต้องลงแข่ง แต่ไม่ว่าอากาศจะเป็นแบบไหน
กลุ่มเราก็ไม่เคยหยุดวิ่งในวันพุธเลย ฝนตกก็จะวิ่ง หิมะตกหนักก็จะวิ่ง
อย่างน้อยก็จะมีคนมา 20 คนเป็นอย่างต่ำ ถ้าอากาศปกติก็จะมีคนมาร่วมวิ่งกันประมาณ 70 คน

การวิ่งกันเป็นกลุ่มแบบ
BridgeRunners นั้นดีอย่างไร
สำหรับบางคน
เขาอาจจะชอบวิ่งกับเพื่อนหรือเป็นกลุ่มมากกว่า ผมเลยรู้สึกว่า BridgeRunners ทำหน้าที่มากกว่าแค่การเป็นกลุ่มวิ่ง
หลายคนบอกผมว่า ถ้าไม่มีกลุ่ม BridgeRunners เขาคงไม่ได้ออกมาวิ่งและคงเลือกนอนอยู่บนโซฟามากกว่า
ผมรู้สึกว่ากลุ่มของเรานั้น กระตุ้นให้คนออกมาวิ่งได้จริงๆ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ผมมีเส้นทางการวิ่งในนิวยอร์กกว่า 200 เส้นทาง
กลุ่มเราไม่ได้วิ่งแค่ในสวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว เราวิ่งไปในเส้นทางใหม่ๆ
เห็นวิวใหม่ๆ แล้วอีกอย่าง การวิ่งในกลุ่มนี้ก็เป็นการได้พบปะเพื่อนฝูง
ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ได้วิ่งท่ามกลางกลุ่มคนที่คุณจะอุ่นใจแน่ๆ
ว่าจะมีคนคอยซัพพอร์ตระหว่างที่วิ่ง บางคนวิ่งไม่ไหว อยากจะเดิน
ก็มีเพื่อนที่คอยเดินเป็นเพื่อนคุณ หรือดูแลคุณไปตลอดทาง หลังจากวิ่งเสร็จ
กลุ่มเราก็มานั่งกินข้าวเย็นด้วยกัน ดื่มเบียร์หรือปาร์ตี้กัน บางคนบอกว่า “วันที่เขาชอบที่สุดในสัปดาห์คือวันพุธ” (เป็นวันวิ่งของ
BridgeRunners) เพราะมันสนุก

สำหรับนักวิ่งที่อยากไปลองวิ่งที่นิวยอร์ก
คุณคิดว่าเส้นทางวิ่งไหนดีที่สุด
วิ่งบนสะพานเลย
ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สวยงามของการไปบนสะพานคือ คุณจะได้ใช้เวลานิ่งๆ
ชั่วขณะหนึ่งกับเมืองนั้นอย่างแท้จริง
คุณจะได้รับประสบการณ์ชมวิวของเมืองที่ยอดเยี่ยมมาก ทั้งตึก Empire State เทพีเสรีภาพ คุณจะเห็นแม่น้ำที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา
เห็นวิวและเส้นขอบฟ้าของเมืองๆ นั้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเลย

คุณคิดว่าการวิ่งอาจเป็นการเดินทางที่ดีที่สุดในการมองเห็นเมืองในมุมใหม่หรือเปล่า
ใช่เลย
ถ้าคุณมีคนที่ใช่ มีคนที่รู้จักเมืองนั้นจริงๆ
มาช่วยจัดเส้นทางการวิ่งที่จะนำเสนอเมืองนั้นๆ ได้ ซึ่งคนในกลุ่ม The Bridge นั้นกระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลก
บางครั้งเวลาที่ผมไปเที่ยวที่ไหนก็จะบอกเพื่อนในกลุ่มไว้ แล้วเพื่อนๆ
ในประเทศนั้นก็จะหาเส้นทางวิ่งที่ดีที่สุดให้ผมได้รู้จักกับเมืองๆ
นั้นผ่านการวิ่งได้จริงๆ เพราะผมไม่อยากเป็นคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในรถบัส
และทัวร์เมืองเหมือนกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ผมอยากจะวิ่งผ่านเมือง วิ่งตามซอกซอย แล้ววันที่
2 – 3 หลังจากนั้นผมก็สามารถใช้ชีวิตแบบคนพื้นที่ได้แล้ว
ที่สำคัญ การวิ่งเป็นการเดินทางที่ทำให้เราไม่ต้องเจอรถติด หรือไม่ต้องรอรถแท็กซี่
ไม่ต้องรอเปลี่ยนสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินให้หงุดหงิดใจ

นอกเหนือจากการวิ่งเพื่อท่องเที่ยวแล้ว
คุณคิดว่าการวิ่งแบบ
city run นั้นให้อะไรกับเราได้อีกบ้าง
หลายเส้นทางการวิ่งของกลุ่มเรานั้นเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรม
ประวัติศาสตร์ของเมืองนั้นได้ เช่น เราพาทีมไปวิ่งแถวบ้านของ David Bowie ฮีโร่ของใครหลายๆ คนที่เพิ่งเสียชีวิตไป เพราะเราอยากให้ทุกคนรู้จักชายคนนี้
ได้เรียนเรื่องประวัติศาสตร์ผ่านการวิ่ง
ซึ่งคุณอาจจะเจอสิ่งที่คุณไม่เคยเห็นเลยในชีวิตนี้ก็ได้
แม้มันจะเป็นพื้นที่แถวบ้านของคุณเองด้วยซ้ำ เพราะยิ่งใกล้ตัว
คุณยิ่งไม่เคยสนใจหรือสังเกตเห็นหรอก

คนอื่นสามารถเข้าไปร่วมวิ่งกับกลุ่ม
BridgeRunners ได้มั้ย
เราไม่ได้ประชาสัมพันธ์เปิดรับให้ทุกคนเข้ามาวิ่งด้วยกัน
ส่วนใหญ่จะบอกต่อแบบปากต่อปากมากกว่า
แต่ผมเชื่อว่ากลุ่มของเราสามารถชวนคนอื่นให้ลุกขึ้นมาวิ่งได้
เพราะเราอยากให้ผู้คนได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เราทำ
แล้วก็สร้างกลุ่มวิ่งแบบนี้ในประเทศของตัวเองบ้าง ดังนั้นยิ่งคนวิ่งเยอะ
เราก็สามารถกระตุ้นให้คนอื่นเห็นมากขึ้น แล้วก็อยากจะลุกขึ้นมาวิ่งมากขึ้น
ยิ่งถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เป็น influencer ได้ หรือเป็นคนที่มีคนติดตามอยู่บ้าง
คนที่เห็นคุณวิ่งอาจจะลุกขึ้นมาลองวิ่งบ้าง
อาจจะตั้งต้นด้วยความคิดว่าอยากจะเท่เหมือนคุณก็พอแล้ว

หลายๆ
ประเทศที่คุณวิ่งนั้นมีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง
พอวิ่งหลายๆ
ประเทศ คุณจะรู้เลยว่าบางเมืองนั้นมีมลพิษอยู่เยอะ อย่างเกาหลีใต้
ผมจะรู้สึกหายใจลำบากหรือเจ็บหน้าอก แต่นอกนั้น เกาหลีใต้ก็เป็นเมืองที่สวยมาก
หรืออย่างกรุงเทพฯ ก็มีวัฒนธรรมการวิ่งที่แตกต่างจากนิวยอร์ก คือไม่มีใครวิ่งริมถนนเลย
ทุกคนวิ่งในสวนสาธารณะกันหมด ช่วงที่มากรุงเทพฯ ผมไปวิ่งที่สวนลุมฯ มา ตอน 6 โมงเย็นทุกคนหยุดยืนนิ่งกันหมดเพื่อเคารพธงชาติ
ผมคิดว่ามันโคตรเจ๋งเลย ผมเรียนรู้เรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมจากการวิ่งได้
รู้จักบ้านเมือง รู้กฎหมาย หรือรู้จักเพื่อนใหม่ๆ จากกลุ่มวิ่งในแต่ละประเทศ เช่น
บางคนอยากไปเที่ยวเกาหลีใต้เพราะอยากวิ่งกับกลุ่ม PRC หรืออยากไปนิวยอร์กเพราะอยากจะไปวิ่งกับกลุ่ม
Bridge The Gap

ประสบการณ์การวิ่งในเมืองไทยของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
มันยากสำหรับผมเหมือนกันนะ
เพราะเลนถนนเราไม่เหมือนกัน ผมมีโอกาสวิ่งไปสะพานพระราม 8 เป็นสะพานที่สวยมาก ได้มองเห็นวิวแม่น้ำ วิวของเมือง ซึ่งสำหรับผมเอง
ผมคิดว่ามันไม่ยากเลยที่จะจัดเส้นทางวิ่งไปที่สะพานพระราม 8 ผมอาจจะวิ่งผ่านชุมชน
วิ่งข้ามสะพานและลอดใต้สะพานเพื่อทำระยะทางให้ได้ตามต้องการ และอีกที่หนึ่งที่ผมไปวิ่งมาคือภูเขาทอง
ผมรู้สึกว่ามันเป็นสถานที่ที่คุณสามารถจัดเส้นทางวิ่งไปบนนั้นได้ เมื่อถึงจุดหมาย
เราก็สามารถถ่ายรูปเมือง ถ่ายรูปแสงไฟต่างๆ แค่เห็นวิวสวยๆ ก็มีความสุขแล้ว
ซึ่งคุณอาจจะเริ่มต้นนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไปเริ่มวิ่งที่นอกเมือง
หรือวิ่งออกไปจากกลางใจเมืองแล้วค่อยนั่งรถไฟกลับเข้ามาก็ได้

คุณคิดอย่างไรกับวัฒนธรรมการวิ่งทั่วโลกในตอนนี้
เมื่อก่อนคนที่ออกมาวิ่งมักจะเป็นคนที่ใส่สายรัดหัว
ใส่ถุงเท้าสูงๆ คือเป็นคนธรรมดาที่ออกกำลังกายเท่านั้นเอง
แต่ผมรู้สึกว่าตอนนี้มุมมองมันเปลี่ยนไปแล้ว คนที่ออกมาวิ่งเป็นคนเท่ๆ เช่น
นักร้อง ดารา เจ้าของร้านเก๋ๆ นักออกแบบ ดีเจ แร๊พเปอร์ ซึ่งคนเหล่านี้เป็น influencer คนหนึ่งในสังคม
เป็นคนที่เมื่อคนอื่นเห็นแล้วจะอยากทำตาม อยากออกมาวิ่งบ้าง
เพราะวิ่งมันเท่แล้ว
สุดท้ายแล้วเขาอาจจะไม่ชอบวิ่งก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ได้ออกมาลองขยับร่างกายดู
เพราะการวิ่งไม่ใช่ของสำหรับทุกคน เหมือนที่ซูชิก็ไม่ใช่ของอร่อยสำหรับทุกคน
อย่างน้อยคุณก็ได้ลอง ได้หากีฬาที่ตัวเองชอบในที่สุด

แล้วทำไมคุณถึงชอบวิ่งล่ะ
ผมวิ่งอาทิตย์ละ 5 วัน วันละ 5 กิโลเมตรก็จริง แต่ทุกวันนี้ผมไม่ใด้วิ่งเพื่อตัวเองอีกแล้ว ผมไม่วิ่งมาราธอน ผมไม่วิ่งเพื่อทำเวลาที่ดีที่สุดวิ่งอีกแล้ว แต่เป็นการวิ่งเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นลุกขึ้นมาวิ่งบ้าง รายการวิ่งมาราธอนทั้งหลาย ถ้าไม่ได้วิ่งเพื่อการกุศลผมก็ไม่วิ่ง ผมจะนำทีมเชียร์คนอื่นในงานมาราธอนมากกว่า ผมอยากสนับสนุนคนวิ่งเหล่านี้ให้เข้าเส้นชัย ให้เอาชนะใจตัวเองให้ได้ ผมรู้สึกว่าผมไม่น่าจะให้แรงบันดาลใจใครได้ด้วยการวิ่งมาราธอนอีกแล้ว เราวิ่งเพื่อให้คนอื่น ถ้าคุณอยากวิ่งไมล์เดียว เราจะวิ่งไมล์เดียวเพื่อคุณ ถ้าคุณวิ่งแล้วอยากเดิน เราจะเดินเพื่อคุณ ผมถึงคิดว่าอยากจะทำกลุ่มวิ่ง BridgeRunners ไปตลอดชีวิต อย่างน้อยก็วิ่งให้บางคนเห็นและลุกขึ้นมาวิ่ง ก็เปลี่ยนโลกได้บ้างแล้ว

instagram.com/bridgerunners

ภาพ
ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์ และ instagram
@cedrichernandez

AUTHOR