MoMA ศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะร่วมสมัย และแพชชันของกรุงนิวยอร์ก

ศิลปะในแต่ละยุคสมัยสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนั้น 

ในสมัยกรีกโรมัน ศิลปะถูกอุทิศให้กับความเชื่อเรื่องเทพเจ้า พอมาถึงสมัยเรเนซองส์ ทุกองค์ประกอบทางศิลปะ ทั้งโทนสีจนถึงแสงเงา ต่างก็แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและเฟื่องฟูในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ศิลปะ วัฒนธรรม ไปจนถึงวิทยาการ

ส่วนยุคกลาง ความงามทางศิลปะและสถาปัตยกรรมสร้างขึ้นมาจากศรัทธาในพระเจ้าภายใต้ภาวะสงครามและความขัดแย้ง

ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ศิลปะเริ่มแพร่ขยายออกไปสู่ผู้คนในวงกว้าง ภาพของรถไฟและเครื่องจักรไอน้ำ กลายเป็นหัวข้อใหม่ที่ปรากฏในงานศิลป์

แล้วในปัจจุบันศิลปะต้องการแสดงออกถึงสิ่งใด?

Museum of Modern Art กับศิลปะสมัยใหม่

‘ศิลปะสมัยใหม่’ เป็นการพูดถึงงานศิลปะที่สร้างขึ้นในระหว่างปี 1860 ถึงปี 1970 ซึ่งถ่ายทอดผลงานออกมาด้วยมุมมองใหม่ โดยแทบไม่มีอิทธิพลของศิลปะยุคก่อนๆ หลงเหลือเลย หัวข้อหลักของศิลปะยุคเก่ามักมาจากความเชื่อหรือเรื่องราวทางด้านศาสนา แต่ศิลปะสมัยใหม่เป็นการสำรวจเรื่องราวหรือเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานศิลป์ที่แตกต่างจากที่ผ่านมา 

แล้วพิพิธภัณฑ์ MoMA (Museum of Modern Art) ก็ก่อตั้งขึ้นเพื่อศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในปัจจุบันโดยเฉพาะ

แม้ว่า ‘ศิลปะ’ จะมีความหมายและสร้างให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เหมือนกันตามแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยแห่งความแตกต่างอย่างในปัจจุบัน แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า MoMA เป็นศูนย์กลางของศิลปะสมัยใหม่ที่โดดเด่นที่สุดของยุค

MoMA ตั้งอยู่ระหว่าง Fifth และ Sixth Avenue ใน Manhattan ย่านที่แพงที่สุดของกรุงนิวยอร์ก สถาปัตยกรรมและอาคารจำนวนมากในบริเวณนั้น สร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นศตวรรษที่ 19 ในสไตล์ Art Deco ซึ่งเป็นตัวแทนความรุ่งเรืองและหรูหราของสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ในช่วงอดีต

ตรงกันข้ามกับสถาปัตยกรรมในย่านแมนฮัตตัน ซึ่งแฝงไว้ด้วยปริบททางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ MoMA สร้างขึ้นในปี 1939 ด้วยแนวคิดสถาปัตยกรรมยุคใหม่ที่มีแบบแผนและโครงสร้างเรียบง่ายและขรึม โดยได้รีโนเวตครั้งใหญ่ในปี 2004 โดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นชื่อ Taniguchi Yoshio ซึ่งให้ความสำคัญกับความมินิมอลที่เป็นสื่อกลางของงานศิลปะสมัยใหม่ โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคารพิพิธภัณฑ์ MoMA ที่สร้างขึ้นในตอนแรกไว้

ปัจจุบัน MoMA ให้นิยามตนเองว่าเป็น ‘สถานที่ซึ่งจุดพลังสร้างสรรค์ กระตุ้นความคิด และเป็นบ่อเกิดของแรงบันดาลใจ’ แล้ว MoMA ก็ทำได้เช่นนั้นจริงๆ 

ศิลปะสมัยใหม่ งานอาร์ตร่วมสมัย และกรุงนิวยอร์ก

MoMA มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอผลงานอาร์ตจากศิลปินสมัยใหม่ในระดับมาสเตอร์พีซ จึงไม่แปลกที่เราจะพบเห็นภาพวาด The Starry Night ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดของ Vincent Van Gogh ภาพเพนต์ติงแนว Cubism ของ ​Picasso ภาพวาดดอกบัว Waterlillies ที่เล่นกับสีสันของแสงอย่างมีชั้นเชิงของ Claude Monet ภาพวาดแนว Abstract ที่ไม่ต้องการการตีความของ Rothko ภาพ Composition in Red, Blue, and Yellow ซึ่งเป็นตำนานของการใช้องค์ประกอบศิลป์โดย Piet Mondrian คอลเลกชันภาพชุด Campbell’s Soup Cans ที่โด่งดังของ Andy Warhol และผลงานของศิลปินร่วมสมัยที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดสร้างสรรค์ผลงาน

เรียกได้ว่าเป็นความตระการตาของงานศิลป์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนโดยไม่ต้องฝืนหรือพยายามใดๆ 

แค่ก้าวเข้าไปในตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์ แรงบันดาลใจก็เปี่ยมล้น จนอยากลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ผลงานบ้าง

และด้วยความที่นิวยอร์กเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของโลก MoMA จึงจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมในรูปแบบที่สนุกสนาน ทันสมัยและแปลกตาเป็นประจำตลอดทั้งปี เช่น กิจกรรมชมพิพิธภัณฑ์ช่วงกลางคืน (Night at the Museum) การฉายภาพยนตร์และการแสดงแนวทดลอง แล้วยังมีการถ่ายทอดแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจของงานอาร์ตโดยภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับคอมมิวนิตีศิลปะ

ร้านหนังสือและ Museum Shop ที่ดีที่สุด

แม้ว่า MoMA จะให้ความสำคัญกับการจัดแสดงงานศิลปะสมัยใหม่เป็นหลัก แต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญของ ‘หนังสือ’ ในเป็นสื่อกลางถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านศิลปะ ร้านหนังสือของพิพิธภัณฑ์ MoMA จึงเป็นแหล่งรวบรวมสิ่งพิมพ์ทางด้านอาร์ตที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก

บนชั้นหนังสือสีดำที่ดูทันสมัยของร้าน จะพบกับหนังสือ Square Circle Triangle โดย Bruno Munari นักออกแบบแถวหน้าของศตวรรษที่ 20 ชาวอิตาเลียน ซึ่งสำรวจและนำเสนอศักยภาพในการประกอบขึ้นเป็นสิ่งต่างๆ ของรูปทรงสี่เหลี่ยม วงกลมและสามเหลี่ยม

เดินไปอีกนิด จะพบกับหนังสือ Dear Data โดย Stefanie Posavec และ Giorgia Lupi สองดีไซเนอร์จากต่างซีกโลก ซึ่งบันทึกข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualization) ลงบนโปสการ์ด เพื่อส่งถึงกันทุกๆ สัปดาห์เป็นเวลา 1 ปีเต็ม

ที่ขาดไม่ได้คือ หนังสือ Wonderwall Case Studies โดย Gestalten สำนักพิมพ์หนังสือทางด้านศิลปะและสุนทรียศาสตร์ระดับคุณภาพจากกรุงเบอร์ลิน หนังสือเล่มนี้รวบรวมกรณีศึกษาจากผลงานการออกแบบและตกแต่งภายในของสตูดิโอระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ‘Wonderwall’ ตั้งแต่การออกแบบร้าน UNIQLO ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น Uniqlo Flagship Store ซึ่งเป็นแลนมาร์กสำคัญของย่าน Ginza ในกรุงโตเกียว การออกแบบศาลเจ้า Homangu Kamado Jinja Juyosho ในเมืองฟุกุโอกะของญี่ปุ่น ด้วยมุมมองแบบมินิมอล และการออกแบบประสบการณ์เท่ๆ และน่าจดจำให้กับ Samsung 837 ในย่าน Meatpacking District ของกรุงนิวยอร์ก

ส่วน Museum Shop ของ MoMA ก็รวบรวมสินค้าดีไซน์และทางด้านศิลปะเอาไว้อย่างตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็โดนใจไปหมด เราถูกใจภาพ Crying Girl ของ Roy Lichtenstein บนเครื่องเขียนชิ้นเล็ก กระดาษโน้ตลายกล่องคำพูดจากหนังสือการ์ตูน (Manga และ Comic) กระเป๋าพับได้ของพิพิธภัณฑ์ MoMA และ Art Object ที่สร้างขึ้นโดยศิลปินร่วมสมัย

กว่าจะรู้ตัว ก็ถือของเต็มตะกร้าไปต่อแถวยาวรอบร้านเพื่อรอจ่ายเงิน โดยปราศจากคำถามในใจใดๆ ทั้งสิ้น!

ขอบคุณรูปภาพจาก  

http://www.moma.org.
https://clios.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

สุชานันท์ นามดี

เด็กเด๋อ ใช้ชีวิตเรื่อยๆ ไปวันๆ แต่อยากถูกรางวัลที่ 1 แค่เดือนละ 2 งวดก็ยังดี