เสียงของ เบน ชลาทิศ ในฐานะทูต UNAIDS คนแรกของเมืองไทย

เหมือนนัดเจอนักกีฬาที่สนาม เราพบ เบน-ชลาทิศ ตันติวุฒิ
ที่สตูดิโอในตอนเย็น

เมื่อรายล้อมด้วยเครื่องดนตรี นักร้องที่โลดแล่นในวงการมาสิบกว่าปีคนนี้ดูผ่อนคลาย ระยะหลังๆ นอกจากฟังเสียงของเขาในวิทยุ เรายังเจอเขาในจอทีวีหรือจอหนัง
รับบทบาทสนุกสนานที่ทำให้คนดูอมยิ้ม ปีที่ผ่านมา
เบนยังตกลงรับหมวกอีกใบจาก UN ในฐานะทูตพิเศษของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ
(UNAIDS) ประจำประเทศไทย

ก่อนนักร้องหนุ่มจะซ้อมร้องเพลง เราใช้เวลาคุยกับเขาเรื่องชายรักชาย
โรคร้าย ชีวิตและความตาย แง่มุมเหล่านี้แตกต่างจากภาพสดใสที่เรารู้จัก
แต่เบนไม่ได้พูดเรื่องนี้ด้วยความเศร้า เขาแบ่งปันมันด้วยความจริงใจ

คุณมาเป็นทูตของ UNAIDS ได้ยังไง
มันก็ไม่มีที่มาที่ไปใดๆ เลย
วันนึงอยู่ดีๆ เราก็ได้รับการติดต่อจาก UNAIDS ว่าเราสนใจเป็นทูตพิเศษหรือเปล่า

เหตุผลที่คุณได้รับเลือกคืออะไร
ต้องย้อนไปถึงแคมเปญของ UNAIDS ตอนนี้คือการหยุดการตีตราของผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ แล้วปัจจัยที่มันแพร่กระจายอยู่ในปัจจุบัน
หลายๆ คนก็รู้ว่ามันมาจากสังคมกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เขาก็น่าจะอยากได้คนที่น่าจะเรียกได้ว่ามีเสียงดังในกลุ่มคนประเภทนี้ มีหน้าที่การงานที่มีสปอตไลต์จับด้วยงานเพลงหรืองานละครหลังๆ ที่เราทำ
น่าจะเป็นตัวแปรหรือจุดสนใจสำหรับคนส่วนใหญ่ได้

ก่อนที่คุณจะมารับตำแหน่งนี้ คุณมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ยังไงบ้าง
ต้องย้อนไปถึงตั้งแต่ที่เราไม่รู้อะไรเลย
ในประเทศไทยหรือโลกนี้รู้จักเอดส์มาประมาณสามสิบกว่าปี แล้วมันก็ถูกโปรโมต ถูกประโคม ว่ามันน่ากลัวขนาดไหน
ทุกคนจะจำสโลแกนว่า เป็นเอดส์รักษาไม่ได้ ตายอย่างเดียว
แล้วก็จะเห็นภาพคนป่วยนอนแห้งๆ อยู่ที่โรงพยาบาล ไปถ่ายวัดพระบาทน้ำพุที่น่ากลัวๆ
ตัวปรุๆ อะไรอย่างนี้ สมัย 20 – 30 ปีก่อน
คนยังพูดถึงเรื่องแบบนี้ แล้วเราก็เป็นหนึ่งในคนที่กลัวและไม่รู้อะไรเลย

จนกระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนบ้านเราก็เป็น
แล้วทุกคนก็กลัวกันหมดเลย ทุกคนในหมู่บ้านแตกฮือ ผู้ชายคนนี้เป็นผู้ชายที่เล่นกล้าม
ตัวใหญ่ แข็งแรง มีภรรยาสวย ไม่กี่เดือนที่เป็นเอดส์ ผู้ชายคนนี้ก็เสียชีวิต ตอนนั้นเราอยู่ประมาณประถมปลายๆ
ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปี
แต่ว่าสิ่งที่ทำให้เราเริ่มรับรู้วิวัฒนาการการรักษาโรคเอดส์คือภรรยาเขาก็ติดเชื้อมาด้วย
แต่ว่าภรรยาเขารักษาสุขภาพร่างกายอย่างดี เราเลยรู้สึกว่า อ้าว มันก็ไม่ได้น่ากลัว
สามีเขาตายเพราะไม่ยอมไปหาหมอ แต่ภรรยาไม่เป็นไร ปัจจุบันเขาก็ยังอยู่บ้านเดิม ใช้ชีวิตปกติ
เขายังเป็นผู้หญิงที่สวยอยู่ นั่นก็เป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้ใกล้ชิดโรคเอดส์

จนกระทั่งเริ่มเข้าวัยทำงาน เราเจอเพื่อนมากมาย
แต่ก่อนนี้บ้านเราเป็นบ้านปาร์ตี้ มีเพื่อนที่มาอาศัยอยู่ด้วยชั่วคราวเยอะ มีเพื่อนคนหนึ่งที่มีเพศสัมพันธ์กับชายแล้วติดเชื้อ
HIV
แต่กลัวการรักษา กลัวแม้กระทั่งการไปตรวจ กลัวแม้กระทั่งการบอกคนอื่นว่าเขาเป็น นอกจากคนใกล้ตัวจริงๆ
จะไม่มีใครรู้เลย แล้วทุกครั้งที่พาเขาไปโรงพยาบาล เขาจะมีท่าทีไม่อยากไป เขาไม่อยากให้ใครมาเกี่ยวข้องกับเรื่องของเขา
เนื่องจากเขากลัวว่าคนอื่นจะมองเขาแบบไหน คนจะมากีดกันเขายังไง แล้วสุดท้ายเขาก็ทรุด

พอเขาทรุดเราก็พาเข้ากระบวนการรักษา
แต่ในตัวจิตใจของผู้ป่วยเอง เขารู้สึกว่าถ้ามีใครรู้แล้วเขาจะโดนกีดกัน
โดนตีตราจากสังคม พอเขาเริ่มหายก็เริ่มกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ไปหาหมออีก
สุดท้ายเขาก็เสียชีวิต นั่นก็เป็นคนใกล้ตัวมากๆ ที่มาอาศัยในบ้านเราเอง เราได้เห็นโรคนี้
รวมถึงวิวัฒนาการการรักษา ทำให้เรารู้สึกค่อนข้างใกล้ชิด ผูกพันกับผู้ป่วย HIV และผู้ป่วยเอดส์พอสมควร

ในวงสังคมของคุณมีความเข้าใจเรื่องนี้มากแค่ไหน
ก็เหมือนทั่วไปที่เขาโปรโมตกัน ทุกคนรู้ว่าโรคเอดส์คืออะไร
HIV คืออะไร การรักษา การติดเชื้อ มันมาจากวิธีไหนบ้าง
คือการถ่ายเลือด การสัมผัสกันโดยเลือด แล้วอีกวิธีหนึ่งคือการติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การเปลี่ยนถ่ายทางสารคัดหลั่ง วิธีการง่ายๆ คือ ไม่ใช้เข็มร่วมกัน
แล้วก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

การติดเชื้อแล้วต่างหากคือปัญหา
เมื่อติดแล้วรักษายังไง มีคลินิกรักษาที่ไหน ทุกวันนี้คนรู้ขนาดไหนว่าโรคเอดส์มันรักษาได้
ถึงหลายๆ คนรู้ เขาก็ยังกลัวที่จะให้คนอื่นรู้ หรือพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกระบวนการรักษา
แม้กระทั่งในโรงพยาบาลเอง ยังมีผู้ให้บริการ พยาบาล หมอ
รวมถึงคนที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจจริงๆ ที่กีดกันและตีตราผู้ป่วยอยู่

พอโดนตีตรา
เราก็ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้คนไม่รู้ว่าฉันเป็น แม้กระทั่งไปรักษา
เพราะคนจะรู้ว่าฉันไปรับยาต้านไวรัส สมมติเดินไปบอกหัวหน้าที่ทำงานว่า
‘หนูเป็นผู้ติดเชื้อ HIV ค่ะ’
สามารถโดนไล่ออกได้นะ เพราะหัวหน้าไม่รู้ว่าจะทำตัวยังไง
เขายังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ จะไปบอกหัวหน้าว่า ‘หนูเป็นนะ แต่หนูรับยาต้านแล้วหัวหน้าก็ไม่ติดหนูด้วย’
ยากนะที่จะทำให้คนเราเปลี่ยนความเชื่อที่ฝังหัวมา 30
ปี ทั้งที่จริงๆ
แล้วสัมผัสกันไม่เป็นไร กินข้าวด้วยกันไม่เป็นไร จูบแลกน้ำลายกันยังไม่เป็นไรเลย
เพราะว่าเชื้อโรคมันไม่สามารถอยู่ในน้ำลายได้ แต่ว่าคนไม่รู้ก็จะกลัว

ก่อนหน้านี้คุณไปทำบุญที่บ้านคามิลเลียน ไปเจออะไรที่นั่น
ต้องพูดถึงความผูกพันกับมูลนิธิคามิลเลียน คือเราเป็นศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ศรีราชา รู้จักมูลนิธิคามิลเลียนอยู่แล้ว
นอกจากโรงพยาบาลคามิลเลียนที่ทองหล่อ จะมีบ้านต่างๆ ที่ดูแลผู้ป่วยโรค HIV ผู้ป่วยเอดส์
ผู้ติดเชื้อจากแม่สู่ลูก เด็กกำพร้า อะไรอย่างนี้

ล่าสุดเราไปที่ระยอง มีผู้ป่วยหลายกลุ่ม
ตั้งแต่เด็ก 4 – 5 ขวบ
โตมากับโรคนี้ ที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นก็มี เข้าสู่วัยทำงานก็มี มูลนิธิก็จะพยายามส่งเสริมว่าเราจะกระจายเด็กๆ พวกนี้เข้าสู่สังคมยังไง
ให้เขาไปใช้ชีวิตปกติยังไง แล้วเด็กก็ต้องเข้ามารับยาอย่างต่อเนื่องนะ แล้วก็มีทั้งผู้ป่วยที่บ้านเอาไปฝากไว้เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่กับผู้ป่วยยังไง
กะว่าเอาไปปล่อยให้ตายอยู่ที่ศูนย์เลยละกัน บางคนเป็นโรคแทรกซ้อนมากๆ คือเป็นภาวะเอดส์แล้ว แต่หลายๆ คนก็หายแล้วก็ใช้ชีวิตได้ปกติ

พอรับรู้ว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่คุณอยากบอกคืออะไร
สิ่งที่เราทำได้อย่างแรกคือเป็นกระบอกเสียงได้ว่าโรคเอดส์มันไม่ได้น่ากลัวแล้วนะ โรคเอดส์มันรักษาได้ มียาต้านมานานแล้ว
แถมไม่ได้ต้องกินเป็นกำๆ ปัจจุบันกินเม็ดเดียว หรือมียา
PrEP ที่เมื่อทานอย่างต่อเนื่อง สามารถป้องกันโรค HIV ได้ หรือคนที่ไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ
HIV รึเปล่า แต่ก่อนต้องรอ 3 – 5 เดือนถึงจะตรวจได้ แต่ปัจจุบัน รอแค่ 5 วันก็เช็กได้ แล้วยิ่งเจอเร็ว
ใครที่ได้รับยาเร็วก็สามารถจะหายขาดได้เลย

นี่คือสิ่งที่คนยังไม่รู้ ทั้งที่รายงานการแพทย์หรือข่าวต่างๆ
มันก็มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตเต็มไปหมดเลย ซึ่งเราก็ไม่เคยเข้าไปอ่านกันเอง
พอวันนึงเราลองโพสต์ว่า โรคเอดส์รักษาได้แล้วนะ คนก็จะมาโพสต์ว่า ไหนล่ะรายงานการแพทย์
มึงก็กูเกิลสิ (หัวเราะ) คือ พอทุกคนไม่เคยสนใจโรคนี้ มันก็ไม่เคยถูกโปรโมตเลย
ลองกูเกิลว่าโรคเอดส์รักษาได้สิ มันจะขึ้นมาเป็นร้อยอันเลย

กลับมาที่เรื่องของคุณ การเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ส่งผลยังไงกับคุณบ้าง
ไม่รู้ ถ้าถามว่าเรารู้สึกยังไง เราไม่ได้รู้สึกแปลกอะไรจากเดิม
เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่ถ้าถามว่าคนอื่นรู้สึกยังไง เราไม่รู้ คุณรู้สึกยังไงกับเราล่ะ

ปกติ
นั่นแหละ
ก็ปกติ

แล้วบทบาทที่คุณได้รับหลังจากนั้นเป็นยังไง
เพราะตอนนี้คุณไม่ได้ร้องเพลงอย่างเดียว ยังรับงานอื่นๆ ด้วย
เรียกว่ามีความคาดหวังจากสังคม พอคนรับรู้ว่าเราเป็นอย่างนี้
หรือติดภาพเราจากละครที่เราเล่น เขาคาดหวังว่าจะเจอ เบน ชลาทิศ แบบใน มิ้นต์กับมิว
ซึ่งจริงๆ แล้วเบน ชลาทิศ ไม่ได้เป็น มิ้นต์กับมิว แต่เวลาที่เราไปขึ้นคอนเสิร์ต
เรามีหน้าที่มอบสิ่งที่คนดูต้องการ เราก็เลยต้องแรดมากกว่าเดิม 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้คนดูเข้าถึงจุดที่เขาคาดหวังไว้
ถ้าเกิดว่าเราเป็น เบน ชลาทิศ เหมือน 10
ปีที่แล้ว มันก็จะไม่สนุกสำหรับเขา
ชีวิตจริงเราไม่ใช่แบบนั้น แต่ก็สามารถใส่ในโชว์ได้ เพราะเป็นการแสดงอย่างหนึ่ง

แม้เราจะเล่นละครจบแล้ว เราคิดว่าเราไม่ได้เล่นมันอีกแล้ว
เปล่า คนก็ยังติดภาพเราในนั้นอยู่ ติดภาพเราในหนัง ป้าแฮปปี้ She ท่าเยอะ อยู่ อยากจะเห็นเราเต้น
โบกๆๆ อะไรแบบนี้ ซึ่งในชีวิตจริงกูแทบไม่ออกไปห้องออกกำลังกายเลย (หัวเราะ) อะไรแบบนี้
ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ การโชว์ใน business คือการโชว์สิ่งที่คนอยากจะได้
หลังๆ เราก็ไม่ได้อยากจะไปบอกว่า เฮ้ย กูไม่ได้แรดขนาดนั้นเว้ย
มันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะคนเขามีความสุขกับทุกอย่างที่เราแสดง

ส่วนใหญ่คุณเลยต้องแสดงว่าร่าเริง
ใช่ แต่นักแสดงทั่วไปก็เหมือนกัน เขาไม่แสดงเป็นตุ๊ด
แต่เมื่ออยู่บนเวที มันก็ต้องมีพลังงานมากกว่าอยู่นอกเวที ถูกไหม
เป็นเรื่องปกติ เหมือนเวลาเราอยู่ข้างนอก เราจะพูดเนือยขนาดไหนก็ได้
แต่ว่าเวลาขึ้นเวที เราพูดเนือยบนเวทีมันก็ไม่ถูกหรือเปล่า คนก็คาดหวังว่าจะมีพลังงานสนุกสนานในคอนเสิร์ต

แล้วในฐานะที่เป็นทูต UN คุณต้องแสดงออกยังไง
เราก็ยังไม่รู้ เราคิดว่าเขาคัดเลือกเรามาจากสิ่งที่เราเป็น
เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีอะไรที่เราต้องเปลี่ยนแปลง เราแค่มีอีกหน้าที่หนึ่งที่ช่วยบอกคนว่าโรคนี้มันเป็นยังไง
ลดการตีตรากันเถอะ คนจะได้ไปรักษากัน แคมเปญหลักๆ ของ UNAIDS ปัจจุบันคือการช่วยลดการตีตราให้เท่ากับศูนย์ คือมันพลิกหน้ามือเป็นหลังมือไม่ได้ทันที
แต่ต้องให้เขาค่อยๆ ซึมซาบ เข้าใจกระบวนการรักษาที่มีจริง มีตัวเลขชัดเจนว่ารักษาได้จริงๆ

ช่วงนี้เรากำลังวุ่นกับการทำคอนเสิร์ต และกำลังคุยเรื่องเพลงว่าช่วงปีนี้กับปีหน้า
เพลงใหม่ๆ ของเราก็จะพ่วงแคมเปญ UNAIDS นี้ไปด้วย
ไม่ใช่เพลงรณรงค์นะ ก็เป็นเพลงทั่วไปที่เราอยากทำนั่นแหละ
แต่ว่าก็ทำภายใต้โครงการนี้

คุณจริงจังกับการโปรโมตเรื่องนี้มาก
ก็เต็มที่ แล้วเราก็อยากทำจริงๆ เมื่อวันที่เขาติดต่อมา เรามีความรู้สึกว่าอยากทำ
คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาเลยคือเราอยากทำจริงหรือเปล่า ไม่ใช่เหมือนมีมงแล้วฉันจะมาเดินเชิด
เรานึกย้อนไปถึงเพื่อนเราคนที่เสียชีวิต แล้วรู้สึกว่าถ้าเกิดเขามีความรู้ความเข้าใจมากกว่านี้
ถ้าเขาไปหาหมอ แค่กินยาทุกวัน ก็ไม่ตายแล้ว นั่นแหละ เราก็เลยพร้อมจะเป็นกระบอกเสียง

ภาพ ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

AUTHOR