ปุ้ม ทำให้เรานึกถึงคำว่า American Dream
จากนักเรียนแลกเปลี่ยนจากเมืองไทยสอบเข้าเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยที่อเมริกา เธอฝึกงานในบริษัทออกแบบจนได้งานประจำ เลื่อนขั้นจนได้ตำแหน่งสูง เมื่อบริษัทปิดตัว ปุ้มกับสามีออกมาเปิดบริษัทออกแบบ Design Army ที่ทำงานให้ลูกค้าอย่าง Disney, Pepsi, Adobe และ The Ritz-Carlton
Forbes Magazine เคยสัมภาษณ์ผู้หญิงเก่งคนนี้ แถมปีที่แล้วเธอยังได้รับเชิญให้เล่นโฆษณา H&M ‘She’s a Lady’ ที่ฉายกลางไทม์สแควร์ นิวยอร์ก
การได้ใช้ชีวิตในประเทศโลกที่หนึ่ง ทำงานหนัก ประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียง น่าจะเป็นความฝันของคนนับล้าน เมื่อพบปุ้มที่งาน ADFEST 2017 ในฐานะสปีกเกอร์เรื่องเคล็ดลับในวงการโฆษณา เราจึงไม่ได้คุยกับเธอแค่เรื่องในวงการ แต่พูดถึงชีวิตและการลงมือทำฝันให้เป็นจริง
คุณเริ่มต้นที่อเมริกาอย่างไร
เราชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ เราเคยเดินสยามแล้วเจอแคมเปญของ Benetton มีโฆษณาอันนึง เป็นรูปหัวใจ 3 ดวงเหมือนกัน เขียนว่า Black, White, Yellow. United colors of Benetton เป็นโฆษณาเสื้อผ้าแต่ไม่เห็นเสื้อผ้า เราชอบมาก อยากทำอะไรแบบนี้
พอไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่อเมริกาปีนึง ก็อยากเรียนอาร์ตที่นั่น และอยากใช้ชีวิตที่อเมริกาต่อ คือมันมีอิสระ คุณภาพชีวิตก็ดี อากาศดี เราขยัน ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยตั้งแต่ปี 2 เพื่อให้มีผลงานมากพอจะได้ที่ฝึกงาน ถ้าเราจะอยู่ต่อมันต้องมี sponsorship ต้องมีวีซ่า เราเลยต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ
หลายคนทำงานหนักเหมือนกัน แต่บางคนก็ล้มเหลว
เราไม่เชื่อเรื่องล้มเหลว ถ้าขยัน ไม่มีการล้มเหลวเด็ดขาด ถ้าขยันแต่ท้อแท้ คุณจะล้มเหลว ดังนั้นต้องโฟกัสและมุ่งมั่นกับจุดมุ่งหมาย คนอื่นไม่รู้นะ แต่เรามีวิธีคิดอย่างนี้ ถ้าคุณเอาจุดมุ่งหมายไปไว้ไกลมาก แล้วต้องฝันต้องปีนขึ้นไป มันก็ไม่ถึงสักที ความลับของเราคือเอาจุดหมายอันนี้มาเป็นจุดตั้งต้นแล้วนั่งทับไว้เลย ให้มันเป็นรากฐาน แล้วสร้างขึ้นมาจากรากนั้น ล้มก็ลุกขึ้นมาใหม่ แล้วก็ทำ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเก่งขึ้น
เราตั้งใจว่าจะอยู่อเมริกา จะทำงานที่นี่ให้ได้ จะต้องได้งานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ดังนั้นต้องทำยังไงถึงดูเป็นมืออาชีพ ต้องทำพอร์ตฯ ดีๆ หัดพูดภาษาอังกฤษให้คล่องๆ รู้จัก social life เรียนรู้ด้วยตัวเองเยอะๆ
หลังจากเรียนจบคุณทำงานอะไร
เราทำงานที่ Supon Design Group ที่วอชิงตัน ดี.ซี. 6 ปี เริ่มจากเป็น intern ธรรมดา เป็น designer, senior designer, art director พอก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ เรากับแฟนที่เป็นครีเอทีฟมาด้วยกัน (Jake Lefebure) ก็ได้เรียนเรื่องธุรกิจไปในตัวว่าจะทำธุรกิจเอเจนซี่ยังไง พอได้โอกาสก็อยากมีบริษัทเป็นของตัวเอง เลยลองเปิดดู คิดว่าถ้ามันไม่เวิร์กค่อยไปหางานใหม่ ปรากฏว่าเปิดปุ๊บงานเพียบจนต้องจ้างคนเพิ่ม เพราะเรามีชื่อเสียงในวอชิงตัน ลูกค้าก็ตามมา
Design Army เป็นบริษัทออกแบบแบบไหน
เมื่อก่อนเราก็เป็นบริษัท graphic design ธรรมดา เมื่อสิบปีที่แล้วก็ทำโบรชัวร์ ทำโลโก้ หรือโปสเตอร์ แล้วเราก็สร้าง relationship กับลูกค้า เมื่อ 2 ปีที่แล้วลูกค้าบอกว่ามีโปรเจกต์หนึ่งค่อนข้างยาก ไม่รู้จะหาใครทำ คือทุกโรงแรมในเครือเขาจะมีการแสดง อย่างบาหลีก็รำแบบบาหลี ญี่ปุ่นก็ต้องทำโชว์แบบญี่ปุ่น ไปแอฟริกาก็อีกแบบ เขาอยากให้ทำคู่มือการออกแบบโชว์ทุกที่ เราเลยต้องไปโรงแรม 20 กว่าแห่งทั่วโลกเพื่อออกแบบงานแสดงให้เหมาะกับวัฒนธรรม อย่างอื่นก็ทำ เช่น ออกแบบชุดว่ายน้ำ หนังโฆษณาแว่นตาก็เราเขียนสคริปต์เอง
ตอนนี้เราเลยดีไซน์ประสบการณ์ สมมติว่ามีสายการบินใหม่เป็นลูกค้า จะให้ออกแบบโลโก้ โบรชัวร์ เมนู เราจะบอกลูกค้าว่าถ้าจ้างแค่ 3 อย่างนี้เราคงไม่เหมาะ เพราะเราต้องออกแบบทุกอย่าง ตั้งแต่ยูนิฟอร์มไปจนถึงถาดอาหาร เดี๋ยวนี้เราเลยเขียนว่าเป็น design agency ทำทุกอย่าง ไม่ใช่แค่กราฟิก
จากบริษัทกราฟิกข้ามสายไปออกแบบทุกอย่างได้ยังไง
เราก็ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ทุกวันนี้เราบอกตัวเองทุกวันว่าเป็นนักเรียน เวลาอยู่กับลูกค้า เราก็จะฟังเขาอย่างเดียว มีเวลา 40 นาที ต้องหัดฟัง หัดจด หัดจำ แล้วไม่ต้องไปลิมิตตัวเองว่าฉันเป็น กราฟิกดีไซเนอร์นะ ไม่ได้เรียนอินทีเรียร์มา ก็เลยทำไม่เป็น ไม่ได้เรียนก็ไม่ต้องไปบอกเขา ลูกค้าต้องเลือกเรา เพราะเราต้องการงานนั้นมากกว่าอินทีเรียร์ดีไซเนอร์อีก เราแชร์ความสำเร็จร่วมกับลูกค้า ใครจะไม่อยากได้คนที่ hungry มาอยู่ในทีม
หลักการทำงานของคุณเป็นยังไง
อย่างแรกคือหาข้อมูลทั้งหมด ผู้บริโภคคือใคร คู่แข่งคือใคร เราจะไม่ข้ามไปดีไซน์เลย ต้องดีไซน์ให้เข้ากับข้อมูล และเราไม่ชอบเบรนสตอร์ม เพราะเวลาหลับ เราฝันคนเดียว ไม่ได้ฝันเป็นกลุ่ม งานดีไซน์มันต่างจากงานครีเอทีฟเพราะมันมาจากความเป็นส่วนตัว เราเอาหัวใจและจิตวิญญาณออกมาให้ลูกค้า เราจะให้งานดีไซเนอร์ไป แล้วดูว่าฝันของใครดีที่สุด เข้ากับผู้บริโภคและลูกค้ามากที่สุด ก็เลือกแล้วส่งให้ลูกค้าดู เราจะชอบแบบบ้าๆ เสี่ยงๆ หน่อย ไม่ชอบงานโหลๆ
หัวใจของคำว่าดีไซน์สำหรับคุณคืออะไร
ดีไซน์ที่ดีคือธุรกิจที่ฉลาด อย่าง Apple เขาให้ความสำคัญกับดีไซน์เป็นอย่างแรกมันเลยโดดเด่น เราคิดว่าดีไซน์ควรตอบโจทย์ form, beauty, และ function ดีไซน์ที่ดีจะแก้ปัญหาธุรกิจได้ อย่าง Chanel หรือ Louis Vuitton จะมีมาตรฐานการดีไซน์ของเขา ไม่ว่าคุณไปที่ไหนในโลกก็มีมาตรฐานเดียวกันหมด สินค้า ยูนิฟอร์มพนักงาน
วิธีพูดของพนักงานเป็นการดีไซน์ทั้งหมด มันมากกว่าแค่เรื่องความสวยงาม
หรือมีร้านเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่งในอเมริกา ไปซื้อตึกเก่ามากมาทำความสะอาดทั้งตึก แล้วทำเป็น experimental design เดินเข้าไปนั่ง ก็จะมีคนมาถามว่าสั่งอะไรทานมั้ย แล้วเราก็นั่งทานไปคุยไป ได้สัมผัสทุกอย่างจริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นประสบการณ์ตรงนั้น สามารถซื้อได้ทุกอย่างเลย ทั้งโต๊ะ ทั้งโซฟา ทั้งพรม ไม่ใช่แค่โฆษณาแบบ storytelling เราคิดว่าในอนาคตดีไซน์จะส่งผลต่อการโฆษณามากขึ้นเรื่อยๆ
ตอนนี้เทคโนโลยีก็สำคัญมาก บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆ ที่เราทำงานด้วย เมื่อก่อนจะสร้างอะไรขึ้นมาก็ต้องทำโมเดลสามมิติ แต่ตอนนี้คือใส่ VR มองในนั้นได้เลยว่าเป็นยังไง
การเป็นผู้หญิงเอเชียส่งผลต่อการทำงานรึเปล่า
ก็ทำให้เราต้องใช้เวลาพิสูจน์ เราไม่ได้ไปเกิดที่โน่น เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดภาษาอังกฤษก็ยังมี accent ไทยอยู่ ตอนแรกๆ เราก็กลัว ไม่กล้าพรีเซนต์งาน ให้แฟนไปเพราะเขาเป็นผู้ชายและเป็นอเมริกัน แต่บางทีเราก็ไปกับเขา
พอเราพูดลูกค้าก็ฟัง เพราะว่าเรารักงานของเรา เราอธิบายจนลูกค้าเข้าใจได้ เราบอกตัวเองไว้ว่า ‘ถึงฉันพูดแล้วมี accent แต่เวลาคิด ฉันไม่มี accent นะ เวลาคิดฉันเคลียร์มาก’ แล้วเลยกล้าพูด
ถ้าเรามีความคิดเห็นเป็นของตัวเองก็ทำงานได้ และต้องมั่นใจพอสมควร เราไม่เสียเวลาทำตัวเป็นผู้ชายหรือไปสู้กับผู้ชาย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งโลกคือผู้หญิง ฉันมีข้อมูลเพราะฉันเป็นผู้หญิง สมมติทำแบรนด์เครื่องสำอาง ผู้ชายทำก็ไม่รู้เท่าเพราะเราใช้ทุกวัน เราต้องทำงานให้ถูกกับความถนัด
คุณทำยังไงให้บริษัทมีลูกค้าเสมอ
ก็มีปุ้มแค่คนเดียวในวงการไง ถ้าเขาชอบงานเราก็ต้องจ้างเรา งานดีไซน์มันเป็นงานส่วนตัว สมมติเราชอบสีแดงแจ๋มากกว่าสีเบอร์กันดี มันก็ subjective ถ้าลูกค้าเขาชอบสีแดงแจ๋เขาก็จะมาหาเรา ลูกค้าที่ชอบสีเบอร์กันดีก็ต้องไปหาคนอื่น
คุณคุยกับลูกค้ายังไง
ฟังเขา ทำให้เขารู้สึกว่าอยากจ้างเรา ขายตัวเองให้เป็น ส่วนมากเราจะคุยเรื่องทั่วไปมากกว่า เราดูเคมีของเรากับลูกค้าว่าเข้ากันได้มั้ย ไม่มานั่งคุยเรื่องสีในการประชุมครั้งแรก เราต้องการเรียนรู้ว่าปัญหาธุรกิจคืออะไร จะให้ฉันช่วยทางไหน บางทีลูกค้าบอกว่าต้องการโฆษณา แต่เราฟังแล้วปัญหานี้ไม่เห็นต้องมีโฆษณาเลย เราทำสินค้าใหม่ดีกว่า ถ้าอยากให้ขายดี โฆษณาไม่ใช่คำตอบเดียว
อย่างช็อกโกแลตที่เราทำแบรนดิ้ง ช่วงคริสต์มาสถึงวาเลนไทน์ก็ขายดี แต่หลังจากนั้นก็ยอดตกเพราะช่วงซัมเมอร์ อากาศร้อน ลูกค้าบอกว่าต้องปล่อยโฆษณา ต้องทำโซเชียลมีเดีย เราฟังแล้วก็ไม่รู้ว่ามันจะช่วยรึเปล่า
เพราะสินค้าเพิ่งปล่อยปลายปี จะโปรโมตยังไงก็เป็นของเก่า เราก็เสนอไปว่าแทนที่จะมานั่งทำโฆษณา ฉันมีไอเดียเรื่อง political series เพราะว่าเดือนมิถุนายนที่วอชิงตัน ทุกคนไม่สนใจอะไรนอกจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว
ทีนี้เราก็มาคิดชื่อกับรสชาติกัน Left Wing ก็ full of nuts ใส่ถั่ว, Red State ก็ Republican ใส่พวกเบอร์รี่สีแดง, Tea party ใส่ชาเอิร์ลเกรย์, Flipflopper คือพวกเปลี่ยนใจง่าย บางวันทรัมป์ บางวันฮิลลารี่ ในแท่งเดียวเลยมี 2 รส หวานกับเค็ม, หรือ Taxation without representation หมายถึงคนวอชิงตันจ่ายภาษีแต่ไม่มีตัวแทนในสภาคองเกรส ก็เลย bitter ขมมาก ปรากฏว่าขายดีเพราะมันเป็น Brand Awareness ว่าแบรนด์ช็อกโกแลตนี้เท่ ทันสมัย
ดีไซน์มันไม่ใช่แค่ surface ไม่ใช่แค่การตกแต่ง อย่างงั้นมันกระจอก มันต้อง Think deep and be smart about design solution.
เป้าหมายต่อไปของ Design Army คืออะไร
“Do the best work for our clients that we want to work for” (หัวเราะ) ชีวิตมันสั้นนะ เคมีระหว่างเรากับลูกค้าสำคัญมาก ในธุรกิจออกแบบ คุณต้องทำให้ลูกค้าเป็น partner และเราไม่ใช่ supplier ไม่งั้นลูกค้าก็ไม่เคารพคุณ
Facebook | Design Army
Instagram | Design Army, Pum Lefebure
Website | Design Army
ภาพ Design Army และ ทศพร ทีปพงศ์