นิว-อิทธิศักดิ์ เอื้อสุนทรวัฒนา : ผู้กำกับหนังมิสเตอร์เฮิร์ท ที่ทำเรื่องเฮิร์ทๆ ให้กลายเป็นหนังฮาๆ

ถ้าพูดถึงหนังไทยกระแสแรงที่หลายคนกำลังจับตามอง ชื่อที่ติดหูกันบ่อยๆ ในช่วงนี้ คงเป็นหนังเรื่อง มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ ที่ได้ดาราแม่เหล็กอย่าง ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ มารับบทนำเป็นนักเทนนิสอกหัก และ เผือก-พงศธร จงวิลาส มารับบทร็อคเกอร์มาดกวน ซึ่งต่อกรเสียดสีกันไปมาอย่างสนุกสนาน ผมว่าทุกคนรู้จักพวกเขากันดีอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนยังไม่เคยรู้จักคนรับหน้าที่หนักอย่าง นิว-อิทธิศักดิ์ เอื้อสุนทรวัฒนา ผู้กำกับหนุ่มหน้าใหม่วัย 37 ปี ที่นั่งแท่นผู้กำกับ คอยดูแลการสร้างสรรค์ทุกกระบวนการ จนหนังเรื่องนี้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง

นิวจบด้านโฆษณาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จากนั้นเรียนทำหนังต่อที่ New York Film Academy เริ่มชีวิตการทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณากับโปรดักชันเฮาส์ชื่อ Good Boy ซึ่งสมัยก่อนเป็นบริษัทลูกของ Film Factory ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 2 ปี ก่อนผันตัวเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของ ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค นานถึง 8 ปี จนล่าสุดก้าวเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานเรื่อง มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ อย่างเต็มตัว

เย็นวันหนึ่ง ผมนัดคุยกับผู้กำกับหนุ่มคนนี้ในห้องที่เงียบสงัด เหมาะสำหรับการตั้งใจฟังทุกประโยคที่เขาสื่อสาร วันนั้นนิวนั่งเล่าเรื่องชีวิต และเบื้องหลังการทำหนังเรื่องแรกอย่างเป็นกันเอง บทสนทนาต่อจากนี้ถือเป็นการแนะนำตัว เป็นการเปิดประตูบานแรกให้เข้าไปทำความรู้จักหน้าค่าตา ความคิด และความสามารถที่เขามีให้มากขึ้น

จุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณหันมาสนใจศาสตร์ภาพยนตร์คือจุดไหน
เราสนใจหนังมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนมัธยมฯ เราเช่าวิดีโอที่ร้านใกล้บ้านมาดู ชอบดูหนังฝรั่ง blockbuster เมื่อก่อนชอบหนังเด็กอย่าง Home Alone แล้วพอเดินทางไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ เราวางแผนเรียนด้านบริหาร ตอนใกล้จะเปิดเทอม เตรียมเงินไปเข้ามหาวิทยาลัยอย่างดี แต่กลับเจอวิกฤติไอเอ็มเอฟ ค่าเงินปอนด์ขึ้นจากปอนด์ละ 40 เป็น 90 จะซื้ออะไรลำบากมาก เลยตัดสินใจกลับดีกว่า ช่วงที่รอกลับไทย เราว่าง 2 เดือน พอดีไปเจอร้านวิดีโออยู่ใกล้ๆ ที่พัก มีมุมหนังรางวัล หนังญี่ปุ่น หนังฝรั่งเศส และหนังต่างประเทศแปลกๆ พอเจอเลยรู้ว่าเจ๋งว่ะ เหมือนกุญแจไขเปิดโลกใหม่ของเรา รู้สึกแปลกดี อยากลองทำหนังบ้าง กลับมาเลยเลือกเรียนโฆษณา ที่คณะนิเทศศาสตร์ เอแบค ด้วยสาเหตุง่ายๆ ว่าช่วงนั้นพี่เป็นเอก รัตนเรือง กำลังดังมาก เขาเป็นผู้กำกับโฆษณาก่อนไปทำหนัง เราเห็นว่าเขากำกับหนังได้นี่ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ล่ะ

เท่าที่ผ่านมา ข้อดีของชีวิตการทำงานด้านภาพยนตร์คืออะไร
ข้อดีของชีวิตการทำงานหนัง คือระหว่างที่เราทำ เราได้เรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากผู้กำกับที่ร่วมงานด้วย แล้วนำมาใช้กับตัวเอง ถือเป็นความโชคดีที่ได้ร่วมงานกับคนเก่งระดับประเทศ ตอนทำงานที่ Good Boy ก็เรียนรู้จาก พี่หมง-อรรณพ ชั้นไพบูลย์ แล้วตอนทำหนังช่วยพี่ต้อม ยุทธเลิศ เราก็ได้วิธีการทำงานแบบมืออาชีพจากเขา สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากพี่ต้อม ทำให้เราเห็นว่าการเป็นผู้กำกับหนังไทยทำเป็นอาชีพหลักได้ พี่เขาบอกว่าทำได้ ถ้าจัดการชีวิตดี และทำออกมาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เราจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแรง ซึ่งที่ผ่านมา ทำให้ผมเรียนรู้ว่าควรซึมซับสิ่งดีๆ จากคนรอบข้างไว้เสมอ แล้วจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้เรื่อยๆ

สิ่งที่คุณซึมซับมา สอนอะไรคุณบ้าง
สอนเรื่องการทำหนัง ทำให้เราเป็นมนุษย์มีระบบ มีการบริหารจัดการที่ตรงเป๊ะที่สุด สมัยเป็นนักศึกษาเรียนฟิล์ม ไม่ค่อยจัดการชีวิตเท่าไหร่ พอถ่ายทำหนังแต่ละทีก็บริหารงานได้ไม่ดี ทำให้เละเทะหมด การเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ทำให้เรียนรู้การจัดการจริง เพื่อให้ทำสิ่งต่างๆ ได้ดี อีกอย่างคือเรื่องการสื่อสารกับคนในกองถ่าย เราว่าผู้กำกับบางคนเก่งให้ตาย แต่ถ้าสื่อสารไม่ได้มันเป็นอุปสรรคใหญ่เลยนะ เพราะคนในกองมีจำนวนมาก เหมือนกลุ่มเสือสิงห์กระทิงแรด ร้อยพ่อพันแม่ เฮดแต่ฝ่ายจะมีไอเดีย ถ้าคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ผู้กำกับใหม่หลายคนโดนลองของกันมานักต่อนักแล้ว

แพสชันของการทำอาชีพนี้คืออะไร
เราอยู่ตรงนี้มา 10 ปี ความแน่วแน่ และตั้งใจจริงเท่านั้น ถึงจะอยู่ได้ คนที่ไม่แน่วแน่ ไม่ได้รักหนัง แค่โดนกดดัน เขาจะทนไม่ไหว จนต้องเดินออกไปจากทางสายนี้ เราเห็นหลายคนแล้วนะ ฉะนั้นเราต้องรักมันจริงๆ ถึงจะอยู่กับมันได้ดี ไม่ใช่แค่อาชีพนี้ กับอาชีพอื่นก็จะทำให้คุณทำมันได้อย่างมีความสุขด้วย

แล้วเหตุการณ์ไหนที่ทำให้คุณก้าวเข้ามาเป็นผู้กำกับอย่างเต็มตัว
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พี่ปัญจพงศ์ คงคาน้อย รุ่นพี่สมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้กำกับเรื่อง ชัมบาลา โทรมาบอกว่าอยากทำโปรเจกต์หนังผีแบ่งเป็นเรื่องย่อยๆ เลยให้โจทย์เราว่าให้ไปคิดหนังมาหนึ่งเรื่อง แล้วตัวเราชอบหนังรัก เลยตั้งใจทำเป็นหนังผีแนวโรแมนติก จากนั้นก็เขียนส่งบทไป และได้ทำในที่สุด อันนี้เป็นงานทำตามโจทย์ เป็นการทดลองตัวเราเองด้วย หลังจากนั้น ช่วงที่ว่างเมื่อพี่ต้อมปิดโปรเจกต์ เราเลยลองนั่งคิดงานส่วนตัวอย่างจริงจัง เขียนเรื่องที่คิดขึ้นมาจนเสร็จ แล้วลองส่งบริษัท Transformation Films ไปเข้ารับพิจารณา ปรากฏว่าผ่าน เลยได้เข้าไปคุยโปรเจกต์ แล้วเริ่มต้นลงมือทำเลย

คุณบอกว่าคุณรักหนัง แล้วความรักนี้ทำให้คุณเจออะไรที่โหดร้ายบ้างมั้ย
ความโหดร้ายมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือเรื่องโปรดักชัน เรามีความกดดันสูงมาก บางทีความต้องการเราเกินงบประมาณ ต้องควบคุมให้ทำได้จริง พอขึ้นเป็นผู้กำกับเราต้องรับผิดชอบลูกทีม แต่ละส่วนมีปัญหาหลายจุด ออกกองต้องเหนื่อยที่สุด ต้องออกไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต่อให้เราพร้อมยังไง ก็ยังมีอะไรให้แก้ไขเสมอ แล้วยิ่งถ้าไม่พร้อม ปัญหาจะยิ่งหนักหน่วง นอกจากนี้ การคุยกับนายทุนก็ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นศักยภาพ เพราะหนังเรื่อง มิสเตอร์เฮิร์ทฯ เป็นหนังเรื่องแรก หลังจาก Transformation Films หยุดทำหนังไป 2 ปี เขาไม่ปล่อยหนัง เพื่อเซ็ตระบบการทำงานใหม่หมด เลยคาดหวังกับหนังเรื่องนี้มาก พอเราเริ่มทำโปรดักชัน บริษัทสกรีนเยอะมาก แทบทุกขั้นตอนเลย คุณทำยังไง ทำถึงไหนแล้ว เรากดดันนะ การแบกรับเงินของเขามาทำหนังหลายๆ ล้าน เราต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุนมากที่สุด

มิสเตอร์เฮิร์ทฯ พูดถึงเรื่องคนอกหัก ไอเดียตรงนี้มาจากไหน
เราอยากทำหนังโรแมนติกคอเมดี้ เกี่ยวกับความรัก ชีวิตเราผ่านเรื่องความรักมามาก ทำให้มีวัตถุดิบจากเรื่องส่วนตัว เราอยากเล่าเรื่องใกล้ตัวพวกนี้ อย่างเรื่องคนอกหักทัชใจคนจำนวนมากได้อยู่แล้ว เราว่าคนอกหักมีเยอะกว่าคนสมหวัง สมมติเคยมีแฟนมา 5 คน แสดงว่าเคยไม่สมหวังมา 4 ครั้งแล้ว เราคิดว่าคนส่วนมากเคยอกหักแล้ว 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ เคยทิ้งคนอื่น ขณะเดียวกันก็เคยถูกคนอื่นทิ้ง เห็นไหม เรื่องแบบนี้มีอยู่จริง มันเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตมาก แถมน่านำมาเล่าต่อด้วย ซึ่งคาแรกเตอร์ของตัวละครหลายตัวในเรื่องนี้ เราหยิบมาจากข่าวของคนที่มีตัวตนจริง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว คุณอาจชินกับอะไรแบบนี้ แต่เราเห็นว่าเป็นวัตถุดิบที่พิเศษมาก

ที่บอกว่าหยิบคาแรกเตอร์ตัวละครมาจากคนจริงๆ คุณเอามาปรับกับการเขียนบทยังไง
อย่างข่าวของ จอห์น แม็กเอนโร นักเทนนิสอาชีพ เขาชอบทะเลาะกับกรรมการ หรือ ราฟาเอล นาดาล เขาเป็นนักเทนนิสไอดอลที่เท่มาก สองคนนี้เราเอามาวางคาแรกเตอร์ซันนี่ เราซื้อหนังสือมาอ่านว่านาดาลใช้ชีวิตยังไง มีทีมงานดูแลกี่คน เวลาไปแข่งเป็นยังไง ชีวิตส่วนตัวเป็นยังไง อันนี้ทำการบ้านละเอียดหมด ซึ่งเราคิดว่าถ้าทำหนังที่เกี่ยวกับนักเทนนิสแล้วไม่มีข้อมูล เดี๋ยวจะเล่ามั่ว ถึงแม้ว่าสุดท้ายพอเอามาใช้ในหนังจริงๆ จะใช้ได้ไม่เยอะ แต่ต้องลงรายละเอียดสุดๆ เวลาเขียนบทจะได้ดิ้นได้ อย่างคาแรกเตอร์จิมมี่ ของเผือก ถือเป็นคาแรกเตอร์ที่คนเราคุ้นเคยในชีวิต เพราะเป็นส่วนผสมของนักดนตรีร็อคหลายคน

ทำไมเลือกเล่าเรื่องเฮิร์ทๆ ด้วยความตลก
เราไม่อยากเล่าเรื่องเฮิร์ทให้ดูร้องไห้ น่าเสียใจ เพราะคนเราเลือกมองในมุมที่ตลกได้ เรามาคิดว่าจะดีกว่าไหม ถ้าเรามองเรื่องร้ายๆ ให้น่าสนุก เพราะวันหนึ่งเหตุการณ์ทุกอย่างจะผ่านไป ถึงวันนั้นเราจะมองความเฮิร์ทต่างๆ เป็นเรื่องตลกด้วยซ้ำ เหมือนเป็นประสบการณ์แบบหนึ่ง เหมือนหลักธรรมะว่าสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ ถ้ามองมุมที่เป็นประโยชน์มันก็จะเป็นเรื่องที่ทำให้เราแกร่ง และเข้าใจชีวิตมากขึ้น

คุณทำหนังอกหักยังไงให้มันฮา
เรามีทีมโจ๊ะมุก (คิดมุก) เขาจะเข้ามาดูว่าซีนไหนใส่มุกตลกได้บ้าง ไดอะล็อกหลายๆ อันมาจากชีวิตจริงของเรา เราเล่าให้ซันนี่ฟังด้วยว่าอันไหนมาจากชีวิตจริงบ้าง แล้วสิ่งที่มาจากชีวิตจะโคตรอิมแพกต์ บางประโยคที่ตัวละครพูดอย่าง “คนเราถ้าคบกันแล้วมันดี เราไม่มีคนอื่นหรอก” เราก็เคยเจอมากับตัว ซันนี่ยังบอกว่าผู้หญิงแม่งเก่งเนอะ คิดประโยคอะไรแบบนี้ได้ด้วย

ซันนี่เป็นนักแสดงที่มีไอเดียให้ผู้กำกับเสมอ เขาหยิบยื่นอะไรที่น่าสนใจให้คุณบ้าง
สมมติเขามีบทของตัวเอง บางทีเขาจะบอกว่าพูดอย่างนี้ดีกว่ามั้ยนะ ซึ่งหลายครั้งผลลัพธ์เวิร์กกว่าจริงๆ หรือเล่นแบบนี้ผมว่ามันไม่น่าดี ซันนี่จะคอยแลกเปลี่ยนตลอด เขามีมุมมองอะไรที่เวิร์กๆ อยู่เยอะ แล้วเรื่องนี้คาแรกเตอร์ของซันนี้จะไม่ซ้ำกับเรื่องอื่นเลย เวลาเล่นคาแรกเตอร์ไหน เขาจะเป็นคนนั้นจริงๆ เหมือนตอนเล่น ฟรีแลนซ์ฯ นี่เป็นคนละคนเลย แล้วการที่เขาเป็นรุ่นน้องคณะ ทำให้เราสนิทกัน เราเลยพูดคุยกันง่าย คุยกันได้ทุกเรื่อง ของแถมคือเวลาไปออกกอง รู้สึกอุ่นใจเหมือนมีเพื่อนอยู่ด้วยเลย

การลองก้าวแรกมักให้ประสบการณ์ใหญ่หลวงเสมอ แล้วหนังเรื่องแรกให้อะไรแบบนั้นกับคุณบ้าง
มิสเตอร์เฮิร์ทฯ คือประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นความฝันของเราที่ผ่านเวลามาร่วมสิบปี กว่าเราจะได้ทำหนังของตัวเอง การทำหนังเรื่องนี้สอนเราหลายอย่าง ทั้งวิธีคิด วิธีจัดการระบบการทำหนัง หรือว่าวิธีการที่เราจะสื่อสารกับคนดู และนายทุน ต้องคิดตลอดว่าทำยังไงให้ตอบโจทย์ทุกฝ่าย ผลลัพธ์ที่สำเร็จออกมาขึ้นอยู่กับส่วนผสมหลายอย่าง ตอนนี้เราขึ้นมารับผิดชอบอีกบทบาท คนละแบบกับตอนเป็นผู้ช่วยผู้กำกับเลย สมัยเป็นผู้ช่วย ถ้าเราตอบคำถามคนอื่นไม่ได้ ยังไปถามผู้กำกับได้ แต่ตอนนี้เราเป็นผู้กำกับเต็มตัว ถึงเวลาของเราที่ต้องลุกขึ้นมาแสดงตัวตนแล้ว

คาดหวังอะไรกับหนังเรื่องนี้
เราอยู่กับหนังเรื่องนี้มา 2 ปี เหมือนหนังเป็นลูกรักของเรา คนเรามีลูกก็ต้องคาดหวัง ว่าเขาจะเป็นคนดี ประสบความสำเร็จ และมีชีวิตที่ดี ทำออกมาแล้วคนดู เราอยากให้คนดูชอบ มาดูเยอะๆ แล้วมีอารมณ์ร่วมไปกับมัน แรกๆ ตอนหนังยังไม่เสร็จ เรากดดันมาก แต่พอเสร็จตามเป้าหมาย รู้สึกภูมิใจแล้วล่ะ ส่วนที่เหลือถ้าประสบความสำเร็จ ถือว่าเป็นโบนัสก็แล้วกัน

Facebook l มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR