‘หัวเราะทั้งน้ำตา’ ปรัชญาการทำหนังของ บอล-วิทยา ทองอยู่ยง ผู้กำกับ น้อง.พี่.ที่รัก

เช่นเดียวกับหนังประเภทอื่นๆ หนังตลกก็สามารถแตกแขนงแยกย่อยออกเป็นแบบต่างๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังตลกร้าย ตลกหน้าตาย ตลกสร้างสรรค์ ตลกแบบเอาฮาอย่างเดียว ตลกเสียดสีสังคม หรือหนังตลกสไตล์อบอุ่นก็ยังมี

ในบรรดาหนังตลกที่เราเคยผ่านตา หนังของ
บอล-วิทยา ทองอยู่ยง ทั้ง แฟนฉัน (ร่วมกำกับกับเพื่อนๆ), เก๋า..เก๋า, บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) (ร่วมกำกับกับเมษ ธราธร) คือหนังที่โดดเด่นออกมาจากหนังตลกอื่นๆ ในท้องตลาด เพราะนอกจากความฮาที่มีไม่จำกัด หนังของเขายังอบอวลไปด้วยเรื่องราวอุ่นๆ ของความสัมพันธ์ใกล้ตัวอย่างครอบครัวและแก๊งเพื่อนแสบๆ ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่หนังเรื่องใหม่อย่าง น้อง.พี่.ที่รัก ที่แม้จะโปรโมตมาด้วยโปสเตอร์ที่เกรียนสุดขั้ว แต่เขากลับบอกว่านี่คือหนังที่คนที่มีพี่น้องน่าจะซึ้งได้ไม่ยาก

“เราเป็นพวกชอบความรู้สึกหัวเราะทั้งน้ำตา” บอลว่าไว้อย่างนั้น ส่วนอะไรคือเหตุผลที่ทำให้บอลเลือกใส่ส่วนผสมทั้งซึ้งทั้งตลกลงไปในหนังเรื่องเดียวกัน เราคิดว่าให้บอลเป็นคนเล่าเองคงสนุก (และซึ้ง) กว่าแน่ๆ

คุณได้ไอเดียเรื่อง น้อง.พี่.ที่รัก มาจากไหน
เรื่องนี้มันเริ่มจากเราสนใจความสัมพันธ์พี่น้อง ยังไม่ได้มีที่รักเข้ามาเกี่ยวเลย ก่อนหน้าที่จะทำหนังเรื่องนี้ เราเคยทำหนังเรื่อง บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) ซึ่งเล่าเรื่องความสัมพันธ์แบบพ่อลูก มีแฉลบไปโดนเรื่องพี่น้องนิดหน่อย ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าความสัมพันธ์พี่น้องน่าสนใจ

ถึงจะเป็นเรื่องที่ฟังดูใกล้ตัว แต่เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์พี่น้องเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษ เพราะมีคู่พี่น้องประเภทที่รู้เรื่องกันและกันทุกเรื่อง นิสัยเหมือนกัน พี่ที่เป็นไอดอลของน้องแล้วน้องพยายามจะเลียนแบบ พี่น้องที่ไม่พูดกันเลย หรือพี่น้องที่บางทีก็รัก บางทีก็ไม่รัก ทะเลาะกันง่ายๆ แล้วก็ดีกันง่ายแบบไม่ต้องเคลียร์ แล้วหนังไทยก็ไม่ค่อยมีใครหยิบมาเล่าเป็นประเด็นหลักของหนังเท่าไหร่ เราจะมีเรื่องพี่น้องที่เป็นลูกพี่ลูกน้องซึ่งตอนท้ายลงเอยด้วยความรักมากกว่า

แล้วตัวละคร ‘ที่รัก’ ถูกใส่เข้ามาตอนไหน
พอจะเล่าประเด็นพี่น้อง แค่ในหนังเราเต็มไปด้วยดีเทลความสัมพันธ์พี่น้องก็เป็นหนังได้แล้ว เหมือนแฟนฉันที่รวมกิจกรรมวัยเด็กเอาไว้ แต่ถ้าทำอย่างนั้น เรื่องนี้มันคงจะเหมือนกันเกินไป เราก็เลยต้องสร้างพล็อตหน่อย ด้วยการใส่อะไรที่ทำให้ไอ้พี่น้องมันขัดแย้งกัน ง่ายๆ ก็เรื่องความรักนั่นแหละ มันก็เลยเกิดตัวละครที่สามขึ้นมา ก็คือคนรักของพี่ไม่ก็คนรักของน้อง สุดท้ายก็มาลงเอยที่คนรักของน้องเพราะน่าจะดูสนุกกว่า

ได้ยินมาว่าคุณกับทีมเขียนบทใช้เวลาเขียนเรื่องนี้อยู่ถึงสี่ปี ทำไมเรื่องพี่น้องที่ดูจะใกล้ตัวทุกคนถึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลากับมันนานขนาดนี้
เพราะมันใกล้ตัวเกินไปนั่นแหละ เรารู้สึกว่าพอมันเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้วเราก็ต้องมาคิดว่าเราจะเล่าแบบไหนให้น่าสนใจหรือ relate กับคนดู เราใช้เวลาสำรวจและเลือกว่าเราจะเซ็ตอัพตัวละครพี่น้องแบบไหน เพราะมันมีพี่น้องหลายแบบ พอเราเลือกคู่พี่น้องแบบหนึ่งเราก็ต้องเขียนบทไปจนถึงปลายทาง ดูว่ามันเวิร์กไหม แล้วก็สำรวจเส้นทางอื่นต่อมันเลยนาน จนกระทั่งเราก็พบว่าเราสนใจความสัมพันธ์พี่น้องต่างเพศ ที่คาแรกเตอร์ไม่เหมือนกันมากที่สุด

อะไรทำให้คุณมั่นใจว่าพี่น้องอย่าง ‘ชัช’ กับ ‘เจน’ คือตัวละครที่มาถูกทางแล้ว
ณ จุดหนึ่งของการทำบท เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเรา relate กับเรื่องพี่น้องด้วยความรู้สึกมากกว่า ไม่ใช่ด้วยนิสัยหรือพฤติกรรมของพี่หรือน้องเราหรอก อย่างตอนที่เอาหนังไปฉายเทสต์ ฟีดแบ็กส่วนใหญ่จะบอกว่าดูแล้วนึกถึงพี่น้องของตัวเอง หรืออยากกลับบ้านไปหาพี่น้อง ถามว่าชีวิตคนเหล่านั้นเหมือนในหนังมั้ย ก็ไม่ได้เหมือนเป๊ะ แต่ว่ามันคงเป็นความรู้สึกที่คนเข้าถึงได้มากกว่า

นั่นทำให้เราพบว่าจริงๆ คาแร็กเตอร์แบบที่เราเลือก ถึงจะไม่ได้เหมือนคนวงกว้าง แต่หลังจากที่เราสำรวจทุกแง่มุมของความเป็นพี่น้องเราก็พบว่าความรู้สึกของการมีพี่น้องมันเหมือนกัน ถ้าเราเล่าได้ถึง มีนักแสดงที่พิเศษที่เข้าใจและอินมัน คนดูก็จะรู้สึก relate ได้เอง

ดูคุณจะชอบทำหนังที่ว่าด้วยเรื่องใกล้ตัวนะ
ใช่ หนังสามสี่เรื่องที่เราทำช่วงหลังๆ นี้มันเริ่มจากเรื่องของตัวเองทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อนคนแรก เรื่องพ่อ เรื่องพี่น้อง อาจจะเป็นเพราะเราสนใจเรื่องความสัมพันธ์ใกล้ตัวมั้ง หรือจริงๆ จะเรียกว่าเราสนใจการทำหนังประเภทที่คนดูมีความรู้สึกร่วมก็ได้ เราชอบเวลาคนดูพูดว่าเหมือนตัวเองเลย จะรู้สึกฟิน แต่หมดแล้วแหละ ไม่รู้จะทำเรื่องอะไรแล้ว (หัวเราะ)

นอกจากเรื่องใกล้ตัว เราว่าหนังของคุณยังมีส่วนผสมของความตลกอยู่ไม่น้อย มุกตลกเหล่านี้มันเป็นความชอบส่วนตัวของคุณหรือเปล่า
เราชอบดูตลกคาเฟ่ หรืออย่างสมัยเด็กๆ มันจะมีเทปคาสเซตต์ตลกคาเฟ่ ไม่ใช่วิดีโอนะ เราก็จะฟังเรื่อยๆ แล้วเอามาเล่นกับเพื่อนบ้าง เล่นคนเดียวบ้าง (หัวเราะ) ส่วนเมษ (เมษ ธราธร) ที่ทำเรื่อง บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) ด้วยกัน เขาก็เป็นคนอีกเจนเนอเรชั่นหนึ่งคือเริ่มดูตลกคาเฟ่ยุคที่มีวิดีโอแล้ว บางทีมาเจอกันก่อนจะทำหนัง เวลาปล่อยมุกเราสามารถพูดดักกันได้ว่ามุกนั้นมาจากจี้เส้นคอนเสิร์ตม้วนอะไร

จะเป็นคนทำหนังตลก ต้องเป็นคนตลกมั้ย
ไม่ต้องเป็นคนตลกขนาดนั้นก็ได้ สมมติเวลาอยู่ในวงเราก็ไม่ได้เป็นคนที่พูดแล้วคนอื่นขำตลอด บางทีเราก็ฟัง บางทีก็เป็นคนหัวเราะ จริงๆ เราว่าเหมือนคนทำหนังผีนั่นแหละ คือคนที่จะทำหนังผีได้น่ากลัวต้องเป็นคนกลัวผีเพราะว่าเขาจะรู้ว่า เฮ้ย แบบนี้มันน่ากลัวว่ะ เหมือนกันกับการทำหนังตลก คือคุณไม่ต้องเป็นคนตลกก็ได้ แต่ต้องเป็นคนหัวเราะกับเรื่องตลก พูดง่ายๆ คือเป็นคนหัวเราะง่าย น่าจะเป็นคนที่ทำหนังตลกได้ดี

จากมุกตลกคาเฟ่ที่คุณชอบ คุณหยิบมาผสมกับประเด็นต่างๆ ในหนังของคุณยังไง
คือมันก็มีความตลกหลายแบบนะ จะเอาตลกแบบไหน ตลกแบบยิ้มๆ ตลกหึหึ ตลกหัวเราะก๊าก แล้วแต่ว่าเรื่องนั้นเข้ากับความตลกดีกรีไหนมากกว่ากัน หรือเราอาจทำให้บางคาแร็กเตอร์ตลกโดยที่ไม่ต้องเป็นตัวละครที่เป็นคนตลกก็ได้ เพราะย้อนกลับมาดูชีวิตจริง เราก็ไม่ได้หัวเราะคนที่ตลกมากๆ คนเดียวเสมอ ไอ้คนที่จืดๆ ชืดๆ บางทีมันก็ทำอะไรให้เราหัวเราะหรือพูดอะไรแล้วเราขำมากกว่าเจ้าแห่งความตลกอีก เราก็จะรู้ว่า อ๋อ บทนี้ต้องตลกแบบตลกซื่อๆ ถ้าจะตลกแพรวพราวต้องเป็นคนนี้ คนนี้เป็นตัวที่ตลกแบบน่ารักๆ โก๊ะๆ

เวลาที่นักแสดงจะต้องเล่นมันออกมาจริงๆ เรารู้ว่าหนังดราม่าสามารถบิลด์อารมณ์ หรือสร้างบรรยากาศเพื่อช่วยนักแสดงได้ แล้วกับหนังตลกเราทำแบบเดียวกันได้มั้ย
สำหรับเราหนังตลกต้องไม่ตั้งใจ คือหนังดราม่าตั้งใจได้ หนังแอคชั่นตั้งใจได้ แต่ว่าหนังตลกต้องไม่พยายาม เช่น นักแสดงอ่านสคริปต์มาแล้วเขาไฮไลท์ ทำดอกจันทร์เอาไว้ว่าเขาจะเล่นแบบไหน เราก็จะบอกว่าไม่ต้องตั้งใจ ต้องทำให้เขารู้สึกไม่คาดหวังผลของมุก แต่ว่ามันก็แล้วแต่นักแสดงอีกนั่นแหละ นักแสดงบางคนเน้นได้ บางคนต้องปล่อยให้เล่นแบบไม่ตั้งใจ ทำให้เราต้องรู้ธรรมชาติของนักแสดง ซึ่งจะรู้ได้ก็เพราะได้เวิร์กช็อปกัน

เวิร์กช็อปนักแสดงของเรามันไม่ใช่การซ้อมบทแต่คือการสวมบทบาทเป็นตัวละคร ได้พูดคุยแบบตัวละครในสถานการณ์อื่นที่ไม่อยู่ในบท เราเรียกว่าเป็นการหาเคมีกันของนักแสดง ที่ไม่ซ้อมบทเพราะเราเชื่อในความรู้สึกจริง เพราะฉะนั้นซ้อมเยอะๆ มันก็ถูกปลดปล่อยออกมาตอนซ้อม ไม่ได้ปลดปล่อยออกมาตอนถ่าย เพราะฉะนั้นต่อบทนิดหน่อย ทำท่าจะได้แล้วเราก็ผ่าน เราก็ปล่อย แล้วโยนสถานการณ์อื่นให้ดีกว่า ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ นักแสดงหลักสามคนของเราเขามาเจอกันวันแรกแล้วเคมีเข้ากันดีมาก เราเลยเพลินมากเวลาเวิร์กช็อป จะโยนอะไรลงไปก็สนุกหมดเลย บางอันที่ใส่เพิ่มในบทได้เราก็ช็อปปิ้งไป มันอยู่ด้วยกันแล้วมีชีวิต

หนังแต่ละเรื่องของคุณมักมีมุมซึ้งๆ ด้วย คุณไม่อยากทำหนังตลกแบบตล๊กตลกอย่างเดียวบ้างเหรอ
หนังตลกมันทำยากเหมือนกันนะ ยกตัวอย่างมุกห่านใน เก๋า เก๋า มันไม่ใช่ว่าเราจะคิดมุกแบบนั้นได้ในทุกเรื่อง แล้วสมมติคิดมุกแบบห่านได้ แต่วางมุกแบบนั้นสามสี่มุกติดๆ กัน ก็ไม่ใช่ว่าเราจะหัวเราะหนักหน่วงทั้งสี่มุก บางทีมุกห่านมันทำงานเพราะมันถูกสปริงบอร์ดด้วยมุกรายทาง ขำบ้าง ฝืดบ้างของอาแปะพูดไทยไม่ชัดมาตลอดเรื่อง เราวางไว้ให้มันตลกบ้าง ไม่ตลกบ้าง พูดอะไรวะไม่ได้ยิน พอถึงมุกเด็ดเราถึงหัวเราะได้ขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องตำแหน่งการวางมุกก็สำคัญ เหมือนวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เช่น ถ้าเราผสมมุกนี้กับมุกนี้เราจะได้ปฏิกิริยานี้ เราก็ทดลองไปเรื่อยๆ

อย่างที่บอก ดูมุกตลกอย่างเดียวต่อๆ กันเราไม่มีทางหัวเราะได้ทุกมุก แต่ถ้าเราตลกบ้าง เศร้าบ้าง มีจริงจัง มีโกรธ ดราม่ารุนแรง แล้วหลังจากนั้นเดี๋ยวมาตลกอีกที มุกตลกอาจจะเวิร์กทั้งหมด มันต้องมีกราฟขึ้นๆ ลงๆ ให้ทำหนังตลกอย่างเดียว เดี๋ยวเราก็จะอดไม่ได้ใส่ดราม่าเข้ามาสักนิดหนึ่ง

เราเป็นพวกชอบความรู้สึกหัวเราะทั้งน้ำตา เรารู้สึกว่าถ้าหัวเราะมากๆ เราก็จะตัดเข้าซึ้งเลย หรือถ้าซึ้งมามากๆ จนใกล้จะจั๊กจี๋แล้วเราก็จะปล่อยมุก คือเรารู้สึกว่าอาหารที่คนไทยชอบคือก๋วยเตี๋ยว ต้องปรุงให้รสต่างๆ อยู่ร่วมกันได้ หวานกับเผ็ด เปรี้ยวกับเค็ม เพราะฉะนั้นเวลาคนถามว่าหนังเราเป็นแนวไหน ถ้ามันจะมีคำเดียวเราจะบอกว่าเราทำหนังแนวก๋วยเตี๋ยว คือมันมีทุกรส ไม่ได้มีแต่คอเมดี้อย่างเดียวหรือโรแมนติกอย่างเดียว

หลังจากคลุกคลีกับหนังแนวก๋วยเตี๋ยวเรื่อง น้อง.พี่.ที่รัก มาสี่ปี คุณคาดหวังให้คนดูได้อะไรจากสิ่งนี้
พอทำหนังเสร็จแล้วได้ฉายเทสต์ให้ทีมงานที่ออฟฟิศดู มีน้องผู้ชายที่ดูเสร็จแล้วพูดว่าดูแล้วอยากกลับบ้านไปหาพี่สาวตัวเอง เราก็รู้สึกว่า เออว่ะ จริงๆ มันอาจจะเป็นความรู้สึกแบบนี้ คือไม่ใช่ดูเสร็จแล้วกลับไปรักพี่เราเลย แต่แค่นึกถึงช่วงเวลาดีๆ ในความสัมพันธ์พี่น้อง ตลอดเวลาเขาจะทะเลาะกับพี่เรา น้องเราก็ได้ แต่เขาจะรู้สึกว่ามันดีว่ะ

อย่างเราเอง เราอยู่กับเรื่องพี่น้องมาสามปีจนเรารู้สึกว่าถ้าวันใดที่เรามีโอกาสมีลูก เราจะมีมากกว่าหนึ่งคน เหตุผลเดียวเลยคือเราอยากให้ลูกเรามีพี่น้อง เพราะการมีพี่น้องมันดี การที่เกิดมาแล้วมีคนนามสกุลเดียวกันที่ไม่ใช่พ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ไม่ต้องพูดคุยทุกวัน ไม่ต้องรักกันทุกวัน แต่ว่ามีอยู่ในโลก อันนี้อาจจะเป็นแมสเสจลึกๆ ที่เราได้จากสามสี่ปีที่ผ่านมาและเราอยากให้คนดูรู้สึก

น้อง.พี่.ที่รัก เข้าฉายทุกโรงภาพยนตร์วันที่ 10 พฤษภาคมนี้

facebook | น้อง.พี่.ที่รัก


ภาพ
ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR