Malama : โปรเจกต์สหกรณ์นักดนตรีจากทีมฟังใจ ที่จะช่วยให้นักดนตรีอยู่ได้และอยู่เป็น

เรามองเห็นอะไรในฟังใจบ้าง.. เรามองเห็นคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างสรรค์สังคมดนตรีในเมืองไทยให้เข้มแข็งซึ่งยังไฟแรงอยู่เรื่อยๆ เพราะแค่ 2 ปีที่ฟังใจก่อตั้งขึ้น พวกเขาเชื่อมศิลปินและคนฟังเข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่น
โปรเจกต์จำนวนมากที่พวกเขาทำก็ถือว่าประสบความสำเร็จแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ฟังเพลงสตรีมมิ่ง คอนเทนต์ออนไลน์ คอนเสิร์ต และงานสัมมนา เรียกได้ว่าพวกเขาสร้างฐานนักดนตรีและแฟนเพลงไว้ได้ไม่น้อย และปีนี้ ฟังใจคลอดโปรเจกต์ใหม่ที่น่าจับตามองอีกครั้ง อย่าง MALAMA (อ่านว่า มา-ละ-มา) สหกรณ์นักดนตรีที่จะช่วยเหลือนักดนตรีไทยเล็กๆ ให้ผลิตผลงานเพลง เผยแพร่ ดูแลประชาสัมพันธ์จนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ก่อนที่จะมีการเปิดตัว Malama พร้อมกับศิลปินเกือบ 10 วงที่ตั้งต้นด้วยกัน เราจึงชวน พายปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี และ กัน กันดิศ ป้านทอง มาเล่าความตั้งใจของโปรเจกต์นี้ให้ฟัง พร้อมแผนการในอนาคต ซึ่งจะช่วยเติมความหวังให้ศิลปินอีกหลายคนแน่นอน

ในวันที่ศิลปินทำเพลง ปล่อยเพลงเองได้ในโลกอินเทอร์เน็ต ทำไมถึงคิดทำโปรเจกต์ Malama อีก

พาย: “จากการสังเกต จะเห็นได้ว่า แนวทางการทำเพลงของศิลปินจะแบ่งออกเป็น 2 ทางใหญ่ๆ คือ การสังกัดค่ายเพลง กับการทำเพลงแบบอิสระ ซึ่งข้อดีของการสังกัดค่ายคือ ค่ายจะมีเงินลงทุนให้กับศิลปินและมีสื่อที่ช่วยโปรโมตศิลปินได้ แต่ศิลปินอาจจะถูกจำกัดด้านความอิสระในการทำเพลง และบางครั้งก็อาจจะมีสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับศิลปินนัก ส่วนการทำเพลงอย่างอิสระ ศิลปินจะมีอิสรภาพในการทำเพลงมาก แต่ก็ต้องเสี่ยงเอง ลงทุนเอง โปรโมตเอง และถึงแม้ว่าทุกวันนี้สถานการณ์การเผยแพร่ดนตรีจะทำได้ง่ายขึ้นเพราะอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย แต่ศิลปินบางคนก็อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการเงินหรือคอนเนกชันกับสื่อ เราจึงคิดว่าน่าจะมีแนวทางที่ตรงกลางระหว่างการอยู่ค่ายกับการทำเพลงแบบอิสระ จึงได้คิดโมเดลของ Malama ขึ้นมา ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสหกรณ์หรือสหภาพนักดนตรีที่มีเงินกองทุนตรงกลางให้ศิลปินที่เป็นสมาชิกได้สามารถหยิบยืมไปใช้ลงทุนเพื่อสร้างผลงานเพลงออกมา และเราหวังว่าจะสามารถบริหารกองทุนนี้ให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนศิลปินที่ต้องการเงินทุนในการทำเพลงได้มากขึ้นในอนาคต”

ถ้ามีศิลปินที่สนใจอยากจะหยิบยืมกองทุนจาก Malama จะต้องทำอย่างไร

พาย: “วิธีการทำงานก็คือมีกองทุนตรงกลางแล้วก็มีผมกับกัน (กันดิศ) ที่ช่วยกันดูแล โดยศิลปินแต่ละวงจะสามารถขอยืมเงินจากกองทุนกลางไปใช้สร้างผลงานได้ ศิลปินจะต้องมานำเสนอสิ่งที่ตัวเองอยากทำโดยเขียนเป็น proposal แล้วมาคุยกันว่าจะเอาเงินนี้ไปทำอะไรบ้าง เช่น จะสร้างผลงานอะไร จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ จะวางแผนการทำงานอย่างไร จะสร้างรายได้กลับมาได้อย่างไรเพื่อที่จะคืนให้แก่กองทุน

“เราตั้งกฎว่า ถ้าศิลปินจ่ายหนี้ของตัวเองจนครบแล้ว ก็อยากให้ช่วยจ่ายเพิ่มเติมให้กองทุนนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย โดยไม่อยากให้มองว่าเป็นการจ่ายดอกเบี้ย แต่เป็นการช่วยให้มีเงินไปใช้จ่ายสำหรับชุมชน Malama ได้มากขึ้น เพราะเงินในกองทุนนี้นอกจากจะให้ศิลปินที่เข้ามาใหม่ได้หยิบยืมเงินไปใช้ได้บ้างแล้ว เรายังจะนำเงินของกองทุนมาใช้จ่ายในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น การซื้ออุปกรณ์ เครื่องเสียง เครื่องใช้ เครื่องดนตรี หรือสร้างห้องซ้อม สร้างสตูดิโอ ที่แต่ละวงสามารถแบ่งกันใช้ได้ หรือจัดเวิร์กช็อปความรู้สอนเรื่องต่างๆ ที่ศิลปินอยากเรียนรู้ หรืออยากให้สมาชิกแต่ละคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับสมาชิกอีกด้วย โดยการทำให้เกิดการจ้างงานระหว่างกัน คือเราจะให้สมาชิกแต่ละคนบอกความรู้ความสามารถที่ตนเองมีนอกจากการเล่นดนตรี เช่น ใครที่สามารถเป็น Sound Engineer หรือ Technician ให้กับวงอื่นได้ ก็ให้วงอื่นๆ จ้างไปออกงาน หรือใครที่ทำการตลาดเป็นหรือ PR ได้ก็รับงานฟรีแลนซ์ให้กับวงอื่นๆ ก็ได้”

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ Malama ไม่เหมือนค่ายเพลงแบบข้างต้นที่คุณพูดถึง

พาย: “ในช่วงแรก Malama ก็ยังมีเงินกองทุนอยู่ไม่มาก และยังไม่มีระบบการบริหารจัดการที่แข็งแรงนัก เราจึงเริ่มด้วยการทำโครงสร้างที่เลียนแบบค่ายเพลงขึ้นก่อน คือมีทีมเบื้องหลังที่คอยช่วยซัพพอร์ตศิลปินในหลายๆ ด้าน เช่น ช่วยหางาน ช่วยทำ PR แล้วก็ช่วยคิดแผนการตลาด แล้วเราจะหักส่วนแบ่งรายได้ของศิลปินส่วนหนึ่งเป็นค่าบริการ อีกส่วนหนึ่งก็หักไว้สำหรับใช้หนี้ของกองทุนที่ศิลปินหยิบยืมไป พอใช้หนี้ครบแล้วก็จะหักส่วนหนึ่งไว้เพื่อเสริมกองทุน ซึ่งแหล่งรายได้ของศิลปินก็จะมีอย่างเช่นการขายซีดี การเล่นสด การขายสินค้า การเป็นพรีเซนเตอร์ หรือทำเพลงโฆษณา แล้วหน้าที่ของเราก็คือทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น ขายงานได้มากขึ้น ในราคาที่ดีขึ้นด้วยและเพราะเรามองว่า Malama ไม่ใช่ค่ายเพลงและไม่ใช่ทั้งสื่อ เราจึงยินดีที่จะร่วมมือกับค่ายเพลงและสื่อต่างๆ ได้ หากมีค่ายเพลงไหนอยากมาพูดคุยเกี่ยวกับการร่วมมือกันก็สามารถติดต่อเรามาได้”

กัน: “เราเป็นเหมือนทีมการตลาดให้ศิลปินด้วย ในช่วงแรกเรามีการทำงานคล้ายๆ ค่ายเพลงอยู่บ้าง อย่างเช่นในเรื่องการโปรโมต เพราะจริงๆ แล้วการโปรโมตในยุคนี้มันก็มีไม่กี่แบบ แต่เราก็ใช้ประสบการณ์ตอนที่ทำฟังใจซีนมาผสมด้วย หาไอเดียใหม่ๆ เพื่อการโปรโมตที่เหมาะสม

ซึ่งศิลปินจะยังมีอิสระอยู่ใช่ไหม

พาย: “เขายังมีอิสรภาพในการทำเพลงในวิถีที่เขาชอบได้เหมือนเดิม แต่จะมีทีมงานที่คอยซัพพอร์ตและให้คำแนะนำเขา เป็นอีกหนึ่งหัวคิดที่จะช่วยตัดสินใจ เพราะนโยบายของเราก็คือการให้อิสระกับศิลปินในการนำเสนอสิ่งที่เขาต้องการ แล้วเราก็จะมาปรึกษาหารือร่วมกัน”

 

ศิลปินแบบไหนที่ Malama จะสนใจ

พาย: “จริงๆ เราไม่ได้จำกัดเลยว่าศิลปินที่มาอยู่ Malama จะต้องเป็นแนวเพลงไหน แต่ศิลปินที่เราอยากทำงานด้วยก็คือเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดี และสามารถทำงานเองได้พอสมควร เพราะทั้งผมและกันเองก็ไม่เคยทำงานในค่ายเพลงมาก่อน จึงเหมือนเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับศิลปินด้วย”

ในอนาคต Malama จะไปในทิศทางไหน

พาย: “เราอยากจะสร้างให้ Malama เป็นชุมชนของคนดนตรีที่มารวมตัวกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เหมือนกับชื่อของมันที่มาจากภาษาฮาวาย ซึ่งแปลว่า ดูแล ปกป้อง รักษา ดังนั้นเราจึงอยากให้ทุกคนในชุมชนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเรามองว่านักดนตรีแต่ละคนมีความสามารถที่นอกเหนือจากการเล่นดนตรีแน่นอน คือบางคนอาจจะทำบัญชีเป็น ทำการตลาดเป็น เป็น Sound Engineer ได้ เราจึงอยากเพิ่มโอกาสทางอาชีพให้คนเหล่านั้นด้วยการแนะนำให้แต่ละวงจ้างงานซึ่งกันและกัน ในตอนแรกการทำงานของ Malama เราอาจต้องดูแลแบบใกล้ชิด แต่ในอนาคต เราหวังว่าบทบาทของพวกเราจะลดลงเรื่อยๆ จน Malama สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราแค่บริหารตัวกองทุน แล้วทุกคนในชุมชนก็ช่วยกันคิด ช่วยกันทำงาน เราหวังว่าโมเดลนี้จะประสบความสำเร็จ แล้วก็อยากให้มีคนมาเลียนแบบเยอะๆ โดยเรายินดีจะให้คำแนะนำด้วย”

ทำไมถึงอยากให้มาเลียนแบบโครงสร้างการทำงานแบบ Malama ล่ะ

พาย: “ลองนึกถึงสมัยก่อนตอนที่ค่ายเบเกอรี่เกิดขึ้นมา เขาเป็นค่ายเพลงอิสระค่ายแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และได้กลายเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้เห็นว่าการทำค่ายเพลงนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด ไม่ต้องกลัวว่าจะสู้ค่ายยักษ์ใหญ่ที่มีอยู่ก่อนแล้วก็ได้ แต่ให้ทำในแบบที่ตัวเองชอบและเชื่อ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากมีค่ายเบเกอรี่ ก็มีค่ายอิสระเล็กๆ เกิดขึ้นมาเป็นร้อยค่าย และทำให้วงการดนตรีไทยคึกคักเป็นอย่างมาก เราจึงมองว่าอยากให้โมเดลของเราประสบความสำเร็จจนมีคนเอาไปเลียนแบบต่อๆ ไป เพราะมันจะช่วยให้คนเห็นว่ามีทางเลือกอีกทางหนึ่งนอกจากการทำค่ายหรือการเป็นศิลปินอิสระ ซึ่งน่าจะช่วยส่งเสริมให้วงการดนตรีคึกคักมากขึ้น”

ทุกวันนี้ก็มีวงดนตรีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย คุณคิดว่าอะไรเป็นเหตุผลให้นักดนตรีหันมาสนใจสหกรณ์อย่าง Malama

พาย: “วงดนตรีเกิดใหม่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้นทุนการผลิตนั้นถูกลงและการเผยแพร่ก็ทำได้ง่ายขึ้น ตลาดเฉพาะกลุ่มก็ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น แต่คิดว่าเรายังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านที่พฤติกรรมของเรายังยึดติดอยู่กับ mass media เพราะเราเติบโตมากับยุคนั้น ทำให้ความยินยอมจ่าย (Willingness to Pay) ของคนทั่วไปยังต่ำอยู่ ทำให้ศิลปินที่เกิดขึ้นมามากมายนี้ยังไม่สามารถมีเม็ดเงินที่มากเพียงพอต่อการดำรงชีพได้”

แล้ว MALAMA จะช่วยเหลือนักดนตรีอย่างไรบ้าง

กัน: นอกจากเรื่องของเงินทุนและการสนับสนุนเรื่องการหางาน การตลาด และการโปรโมตแล้ว เราอยากให้ Malama ช่วยเชื่อมแฟนเพลงกับศิลปินให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้ห่างกัน เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าการเข้าถึงศิลปินมันยากมาก สิ่งที่ผมอยากจะทำก็คือการสร้างกิจกรรมขึ้นมาให้แฟนเพลงเข้าถึงศิลปินได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ Meet & Greet แต่เป็นการแลกเปลี่ยนทัศนคติกัน ศิลปินวงแรกจากการปลูกปั้นของ Malama คือ วง Jelly Rocket ซึ่งเราก็มีการเปิดขายบัตรคอนเสิร์ตแบบออนไลน์ แล้วก็ขายแบบออฟไลน์ที่ร้าน Play Yard เพื่อให้สิ่งศิลปินได้พูดคุยกับแฟนเพลงด้วย นอกจากนี้ยังมีการแจกลายเซ็นที่ร้านน้องท่าพระจันทร์ แฟนเพลงก็ได้พูดคุยกับศิลปิน”

พาย: “เราอยากให้แฟนเพลงได้สนับสนุนศิลปินจริงๆ และคิดว่าการลดระยะห่างระหว่างศิลปินกับแฟนเพลงจะช่วยลดปัญหาการดาวน์โหลดหรือเอาเพลงไปแชร์ผิดลิขสิทธิ์ได้ด้วย เพราะความใกล้ชิดจะช่วยทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจว่าศิลปินนั้นต้องลงทุนลงแรงสร้างผลงานออกมาอย่างไร และการสนับสนุนศิลปินอย่างถูกต้องนั้นควรทำอย่างไร และควรจะสนับสนุนเขาแบบไหนบ้างเพื่อให้เขาสามารถสร้างผลงานเพลงที่แฟนเพลงต้องการเสพได้ต่อไป”

Malama จะช่วยให้ศิลปินอยู่ได้ด้วยการทำงานเพลงเลยใช่ไหม

กัน: “เราสัญญาไม่ได้หรอกว่าเขาจะมีรายได้มากจนอยู่ได้ เพราะมันมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่จะทำให้วงดนตรีวงหนึ่งประสบความสำเร็จ แต่เราก็คาดหวังว่าเราจะสามารถเป็นกลไกชิ้นหนึ่งที่ช่วยให้ศิลปินนักดนตรีกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ เราหวังว่าชุมชนนี้จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านความคิดในการทำงานของศิลปิน และหวังว่าฝ่ายผู้ฟังก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเหมือนกัน เช่น การสนับสนุนศิลปินอย่างถูกลิขสิทธิ์”

พาย: “ถ้าถามว่าเราสิ่งที่เราทำนั้นคือองค์กรการกุศลไหม เราก็จะตอบว่าไม่ใช่ เราเป็นองค์กรแสวงหาผลกำไรนั่นแหละ แต่ด้วยพื้นฐานอาชีพเก่าที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาในบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ในหน่วยงานเกี่ยวกับความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Sustainability and Climate Change) ทำให้ผมเชื่อว่าธุรกิจทุกธุรกิจมีผลต่อสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมมัน ไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบ และเชื่อว่าธุรกิจทุกธุรกิจควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม คือนอกจากจะสร้างผลกำไรแล้ว ก็ควรที่จะดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรมเห็นแก่มนุษยชาติ เห็นแก่สิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการที่มันอยู่ได้ ผมจึงอยากบาลานซ์ธุรกิจกับการ พัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) ตามที่ผมได้เรียนรู้มาในการทำ Malama นี้”

แล้ว Malama จะสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับนักดนตรีอย่างไร

พาย: นโยบายหนึ่งของเราคือการนำเงินในกองทุนมาจ่ายค่าเวิร์กช็อปต่างๆ ให้ศิลปินใน Malama ได้เรียนสิ่งที่อยากจะเรียนเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวิชาการตลาด การบริหาร หรือ Sound Engineering บางทีเราก็มองว่า Malama เป็นเหมือนโรงเรียนนะ คือเราหวังว่าในวันที่เขาเรียนจบออกไปจาก Malama เขาจะสามารถทำงานด้วยตัวเองได้ และสามารถอยู่รอดด้วยตัวเองได้จริงๆ”

Facebook l Malama

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR