สิรภัทร เตชะสกุลนภาพร : เด็กปี 3 ผู้อยู่เบื้องหลังงานรวมพลคนรักรองเท้าผ้าใบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เมื่อปลายปี 2559 มีงานรวมพลคนรักรองเท้าผ้าใบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเกิดขึ้น
มีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คน ภายในวันเดียว มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 70 ร้าน มีเงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท มีชาวต่างชาติเจาะจงซื้อตั๋วบินมาเพื่อร่วมงานนี้
ด้วยเหตุผลที่ว่า งานแบบนี้ไม่ค่อยมีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งานนั้นชื่อว่า Sneaker Party Thailand

ยอมรับว่าเรารู้สึกประหลาดใจไม่น้อยเมื่อรู้ว่าผู้จัดงานในย่อหน้าบนเป็นเพียงนักศึกษาชั้นปีที่
3 แต่เมื่อได้พูดคุยกับ นัท-สิรภัทร เตชะสกุลนภาพร และรู้ว่าเด็กหนุ่มคนนี้คลั่งไคล้รองเท้าผ้าใบแค่ไหน
ความประหลาดใจก็หายไป

จากเด็กวัยรุ่นที่คลั่งไคล้ในรองเท้าผ้าใบมาตั้งแต่สมัยมัธยม
จนเริ่มเข้าสู่วงการรองเท้าผ้าใบ ทั้งในฐานะผู้ซื้อและผู้ขาย
เขายอมรับว่าไม่เคยคิดว่าวันนี้จะมาเป็นหนึ่งในผู้ที่ลุกขึ้นมาจัดงาน Sneaker Party Thailand ขับเคลื่อนวงการรองเท้าผ้าใบที่เขารัก

ก่อนงาน Sneaker Party Thailand จะหวนกลับมาจัดเป็นครั้งที่
2 ในวันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ นี้ เราจึงนัดเจอสิรภัทร เจ้าของความคิดในการจัดงาน และเป็นหนึ่งในทีมงานหลักของงานมหกรรมรองเท้าผ้าใบงานนี้
เพื่อคุยกันถึงเรื่องที่ค้างคาใจใครหลายคนเกี่ยวกับปรากฏการณ์รองเท้าผ้าใบในบ้านเรา

คุณยังจำรองเท้าผ้าใบคู่แรกในชีวิตได้ไหม
จำได้ เป็นรุ่น Nike SB Dunk High แล้วแค่ซื้อครั้งแรกก็โดนของปลอม ตอนนั้นอายุ 14
ไม่รู้ว่ามันมีของปลอมด้วยใส่ไปโรงเรียนแล้วเพื่อนทักว่าเป็นของปลอม ก็ผิดหวัง เลยเริ่มศึกษาตั้งแต่ตอนนั้น

วงการรองเท้าผ้าใบในตอนนี้กับเมื่อ
7 – 8 ปีที่คุณเริ่มชอบรองเท้าผ้าใบแตกต่างกันไหม
ต่าง เมื่อก่อนพ่อค้ามีน้อย สวนใหญ่จะเป็นคนทั่วไปที่ซื้อมาใส่เพราะชอบ
ใส่แล้วสวย กับคนที่เล่นรองเท้าจริงๆ แต่ยุคปัจจุบันจะมีพ่อค้าแม่ค้าเพิ่มเข้ามามากขึ้น
ยุคที่ผมเล่นแรกๆ ก็มีการรีเซล แต่จะเป็นประมาณว่าซื้อมาเก็บแล้วราคาขึ้น เวลาขายก็เลยได้กำไรเพิ่ม
มันไม่เหมือนปัจจุบันที่คนตั้งใจซื้อเพื่อเก็งกำไรกันตั้งแต่แรก แต่ผมก็มองว่ามันไม่ได้ผิดอะไร
เป็นวิธีค้าขายทั่วไป

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศไทยเกิดปรากฏการณ์คนมานอนข้ามคืนรอซื้อรองเท้า
เพราะการรีเซลนี่แหละ ก่อนจะถึงยุคเฟซบุ๊กจะมีเว็บบอร์ดที่ซื้อขายประมาณ
2 – 3 บอร์ด ราคาซื้อขายก็บวกได้ไม่มาก เพราะคนเล่นรองเท้าผ้าใบจะรู้อยู่แล้วว่าถ้าคู่นี้ขายไม่ออกเดี๋ยวราคาก็ลง
แต่ปัจจุบันรองเท้าขายง่าย ความต้องการสูง คนจึงหันมาเป็นพ่อค้ากันมาก

คุณรู้ตัวไหมว่าเราต่างกำลังตกอยู่ในเกมการตลาดของแบรนด์รองเท้า
รู้ แต่ผมสนุก มันจะมีคำว่า ‘sneaker game’ อยู่ ซึ่งเริ่มจากรองเท้ารุ่นที่ผลิตจำนวนจำกัดทำให้ความต้องการสูง
อาจจะเริ่มต้นมาจากของมันหาไม่ได้ คนที่อยากได้จริงๆ เขาบวกให้เท่านั้นเท่านี้
แล้วมันก็เกิดการบวกกันไปเรื่อยๆ ตามหลัก
demand supply รุ่นไหนยิ่งจำนวนจำกัดแต่ความต้องการสูง ราคาก็ยิ่งสูงตาม
ทุกอย่างก็ขับเคลื่อนไปตามเกมนี้ เราต้องไขว่คว้าหาเอง ซึ่งผมรู้สึกสนุกกับไปเกม ผมถึงกับยอมมาแคมป์หน้าร้าน
4 – 5 วันเพื่อรอซื้อรองเท้า ซึ่งการมาแคมป์รองเท้ามันไม่ได้มีแค่มานั่งรอนอนรอ
แต่มันเป็นการคุยระหว่างคนที่ชอบรองเท้าด้วยกันทั้งวันทั้งคืน ซึ่งเป็นโอกาสที่หายาก

แล้วอะไรทำให้วันหนึ่งคุณลุกขึ้นมาจัดงาน
Sneaker Party Thailand
เมื่อคนเริ่มหันมาสนใจรองเท้ากันมากขึ้น
ผมเลยอยากจัดงานพบปะระหว่างคนชอบรองเท้าผ้าใบ
พยายามไปถามตามกลุ่มคนชอบรองเท้าผ้าใบในเฟซบุ๊กว่า ถ้าจะจัดงานมีตติ้งใครสนใจจะมาไหม
ตอนนั้นมีคนสนใจอยู่ประมาณ 500 – 600 คน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงคงต้องจัดเป็นฮอลล์
แต่ผมไม่มีความรู้ว่าฮอลล์รองรับคนได้เท่าไหร่และงานปกติขั้นต่ำที่คนควรเข้าคือเท่าไหร่
แล้วทางเซ็นทรัลลาดพร้าวที่เขาอยู่ในกลุ่มอยู่แล้ว
โทรมาชวนผมว่ามีสถานที่ว่าง ตอนนั้นคิดว่าจะเป็นงานเล็กๆ มีร้านไม่กี่ร้าน ใจผมอยากจัดงานที่เป็นงานวัยรุ่นแบบดิบๆ
มันต้องดิบ มันไม่ควรหรู ผมเลยขอสถานที่เป็นลานจอดรถเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ตรง Sky Hall ก็ คนก็สนใจมาเปิดบูท
รอบที่แล้วมีคนสนใจมาจัดราว 70 ร้าน เลยเป็นงานรองเท้าที่ใหญ่ที่สุดในไทย

ตอนคิดว่าจะจัด Sneaker Party มีภาพในหัวไว้ยังไง
ผมมีแรงบันดาลใจมาจากงานระดับโลกอย่าง
Sneaker Con ตอนเด็กๆ ผมเคยฝันว่าอยากไปงานนี้
เพราะในงานจะมีรองเท้าที่เราเคยเห็นแค่ในเว็บไซต์หรือในสื่อแต่ไม่เคยเห็นของจริง แต่งานนี้เราได้จับ
ได้ดู ได้เห็น ร้านต่างประเทศมันจะมีร้านต่างๆ ที่มีรองเท้าอยู่แทบทุกรุ่น แต่ผมไม่มีโอกาสบินไป
การจัดงานเป็นเหมือนกับผมสร้างฝันของตัวเองให้เป็นจริง ผมเคยคิดว่าอยากให้มีงานแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา
คิดว่าเดี๋ยวสักวันจะต้องมีคนจัด แต่ไม่เคยคิดว่าคนนั้นจะเป็นตัวเอง

ปัจจุบันเราซื้อขายออนไลน์ได้ ทำไมยังต้องมีงานซื้อขายแบบ
Sneaker Party
เพราะว่ามันไม่ได้มีแค่พ่อค้าเพิ่มเข้ามา
แต่มีมิจฉาชีพ หรือมีกลุ่มพ่อค้าที่ไม่ได้ศึกษาแล้วโดนหลอกมาอีกที การจัดงานนี้ทำให้ร้านค้าที่มีชื่อและไม่มีชื่อเข้ามาขาย
มันเป็นการสร้างตัวตนให้กับร้าน แล้วการซื้อในเว็บเราไม่เห็นหน้ากัน
การเจอหน้าพูดคุยมันเป็นการสร้าง connection สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนซื้อกับคนขาย
ทำให้เขาสนิทกัน ผมอยากให้กลุ่มรองเท้ามันเคลื่อนต่อไป
ไม่อยากให้เหมือนสมัยก่อนที่บูมขึ้นมาแล้วหาย อยากให้พอกระแสเปลี่ยนรองเท้าผ้าใบอยู่
ให้เขาได้ซึมซับทุกปีๆ จะไม่มีช่วงขาด

งานครั้งที่แล้วมีอะไรตอกย้ำว่ามาถูกทางแล้ว
ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องจำนวนคนที่มางาน
รอบที่แล้วผมตั้งเป้าหมายว่าคนเข้างาน 2,000 คน ผมก็พอใจ แต่คนเข้ามางานสี่พันกว่าคน กลายเป็นงานรองเท้าผ้าใบที่คนเข้างานเยอะที่สุดในประเทศไทย
ครั้งที่แล้วมีร้านมากว่า 70 ร้าน และไม่ได้มีแค่ร้านรองเท้า เราอยากให้งานนี้มันขับเคลื่อนวงการสตรีทแวร์ไปด้วย
ในงานจึงมีเสื้อผ้าแบรนด์ไทยด้วย แล้วก็มีเปิดตัวรองเท้าแบรนด์รองเท้า Kraftka ด้วย สำหรับผมมันเลยเกินเป้าที่ตั้งไว้แต่แรกแล้ว ตอนนี้ผมอยากพัฒนางานให้มันดีขึ้น
ถ้าจัดแล้วยังมีคนมาอยู่เรื่อยๆ มาเท่ากันทุกปีก็ได้ ไม่ต้องคนเยอะขึ้นอะไร ให้มันเคลื่อนต่อไปแต่ละปีก็พอ

คุณคิดว่าการที่มีคนมาเกิน 4,000 คนในครั้งแรก
มันสะท้อนอะไรบ้าง
มันชี้ให้เห็นว่าคนอยากให้มีงานแบบนี้
ทำให้เห็นว่ามีคนสนใจสิ่งนี้มากขึ้น ได้เห็นว่าอย่างน้อยมี 4,000 คนที่ชอบรองเท้า รักรองเท้า
คราวที่แล้วคนที่มาไกลสุดเขามาจากออสเตรเลีย มาเพื่องานนี้แล้วบินกลับทันที
รอบนี้ก็มีร้านจากฟิลิปปินส์มาขายด้วย

เขาบอกไหมว่าทำไมอยากมาขายในงานนี้
เขาบอกว่างานแบบนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่ค่อยมี
แล้วนี่เป็นงานต่างประเทศที่เขารู้จัก

อะไรทำให้งานแบบนี้ไม่ค่อยมีในประเทศไทย
คนอาจจะมองว่ามันไร้สาระ หรือคนชอบอาจจะน้อย
เลยไม่มีใครจัด แล้วพอมีคนจัด คนก็เลยพร้อมใจกันมางาน ประเทศเพื่อนบ้านเรามาเยอะมาก
จัดรอบนี้ก็มีคนลาวซื้อบัตรเข้ามาเยอะเหมือนกัน เขาโอนมาจากประเทศเขาเราเลยรู้
อเมริกาก็มีที่จะบินมา มีคนที่ซื้อบัตรแล้วด้วย เขาบอกว่ากลัวบัตรหน้างานหมดก็เลยโอนมาก่อน

งาน Sneaker Party ต่างจากงานขายรองเท้าทั่วไปยังไง
มีร้านรองเท้าที่มีรองเท้าหายากมารวมกันมากที่สุด
มีรองเท้าที่หาไม่ได้ทั่วไปตามท้องตลาด ตอนนี้มีอยู่ 50 – 60 ร้านแล้ว ที่พิเศษครั้งนี้คงจะเป็นตู้เกม
Sneaker Machine และมีมินิคอนเสิร์ตจาก
Urboy TJ และเดย์ ไทยเทเนี่ยม

ในฐานะคนจัดงาน งานครั้งแรกมีภาพไหนที่กระทบใจบ้างไหม
คงเป็นสองภาพ ภาพแรก ลองนึกภาพ Sky Hall เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
ผมเปิดประตูออกคนยืนรอเลยเข้าไปในตัวห้าง คนอยู่ตรงนั้นประมาณร้อยคนเพื่อรอเข้างาน
ส่วนอีกภาพ คงเป็นจุดที่ผมขึ้นไปอยู่บนเวทีแล้วเห็นคนด้านล่าง ผมขึ้นไปขอบคุณและแจกของรางวัล
ไม่คิดว่าเด็กคนหนึ่งจะขึ้นไปอยู่ในจุดที่มองลงมาแล้วเห็นคนเป็นพันปรากฏในงาน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

สุดท้าย ที่คุณบอกว่าคุณชอบรองเท้าผ้าใบ
คุณชอบมันขนาดไหน
ผมเคยทะเลาะกับที่บ้านเพราะเรื่องนี้
ตอนนั้นยังเด็ก ที่บ้านถามผมว่าชอบอะไร โดยความหมายของที่บ้านก็คืออยากเรียนอะไร
ผมตอบไปว่า ผมชอบรองเท้า ก็เลยโดนด่าเละ ตอนที่จัดงาน Sneaker Party พ่อผมก็ไม่คิดว่างานมันจะใหญ่ขนาดนี้
บ้านผมจะเป็นประเภทว่าตอนแรกเขาจะดูถูกไว้ก่อน อาจจะเพื่อสร้างแรงผลักดันให้เราด้วย
พอมันประสบความสำเร็จพ่อแม่ก็มีความสุขกับรองเท้าผ้าใบ ทุกวันนี้ถึงขนาดที่พ่อเองก็ผลัดรองเท้าใส่กับผม

ติดตามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ Facebook l Sneaker Party Thailand

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR