โบ๊ต-สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ : ผู้สังเกตการณ์และสะท้อนชีวิตคนบนรถไฟผ่านหนังสารคดีที่ใช้เวลาถ่ายทำกว่า 8 ปี

8 ปี ยาวนานพอที่เราจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งต่างๆ

8 ปี ยาวนานพอที่ผู้กำกับหนุ่มคนหนึ่งจะทุ่มเทแรงกายแรงใจให้หนังสารคดีขนาดยาวเรื่องแรกของตัวเองที่มีฉากคือรถไฟไทย ดนตรีประกอบคือเสียงฉึกฉัก นักแสดงคือคนที่พบเจอกันโดยบังเอิญ และแผนการคือการไม่มีแผน แค่แบกสัมภาระที่จำเป็น พกเงินพอใช้ กล้อง Mini DV และหัวใจขึ้นรถไฟลุยไปกับ โบ๊ต-สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์

คนส่วนมากรู้จักโบ๊ตจากบทบาทผู้ช่วยผู้กำกับของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แต่ในงานส่วนตัว เขาคือผู้กำกับหนังสั้นในประเด็นน่าจับตามอง และเจ้าของสารคดีรสชาติใหม่ Railway Sleepers ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เข้าประกวดสายภาพยนตร์สารคดีในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2016 และอีกไม่นานจะเดินทางไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ครั้งที่ 47 โชคดีมากที่คนไทยจะได้ดูหนังเรื่องนี้กันก่อนในเทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงเทพ (World Film Festival of Bangkok) ครั้งที่ 14 ที่เปิดฉายให้ชมเพียง 2 รอบ

ผมเปรียบการพูดคุยกับโบ๊ตในช่วงสายของวันนั้นว่าเป็นช่วงเวลาพักก่อนที่เขาจะเดินทางไปยังสถานีถัดไป โอกาสเหมาะเจาะที่โบ๊ตสละเวลาลงจากขบวนรถไฟ แวะมาให้เราได้เลาะไม้หมอนสำรวจความคิดและวิธีการทำงานของเขา บทสนทนาที่กลั่นกรองประสบการณ์ 8 ปี จากชายอายุ 27 จนวันนี้ โบ๊ตในวัย 36 ปี มีสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มากมายจากการเดินทางด้วยรถไฟขบวนนี้มาบอกกันในบรรทัดถัดไป

พอได้ยินว่ามีผู้กำกับคนไทยลุกขึ้นมาทำหนังสารคดีเกี่ยวกับรถไฟไทย เราจินตนาการว่าเขาน่าจะชอบรถไฟ ผมคิดถูกไหม
ผมชอบรถไฟนะ แต่ว่าไม่ได้ผูกพันเป็นพิเศษ ผมนึกถึงรถไฟในฐานะภาพจำของขนส่งมวลชนยุคแรกๆ ที่ทำให้เห็นภาพคนมารวมตัวจำนวนมากแล้วเดินทางไปปลายทางด้วยกัน ทำให้สนใจรถไฟมาตลอด แต่ที่ไม่ผูกพันเพราะไปไหนมาไหนใช้รถส่วนตัว รถตู้ รถทัวร์ หรือรถไฟฟ้า อย่างที่รู้กันคือรถไฟไทยเลทบ่อย คาดเดาเวลาแน่นอนไม่ได้นัก ว่าจะไปถึงจุดหมายทันหรือเปล่า

 

มีภาพจำเกี่ยวกับรถไฟไทยชัดอยู่ในหัวตั้งแต่แรกเลยทำให้ไอเดียทำหนังบันทึกชีวิตบนรถไฟยาวๆ ผุดขึ้นมาตั้งแต่เริ่มเลยหรือเปล่า
มีส่วน โปรเจกต์นี้เริ่มต้นจากทีสิสปริญญาโทที่ California Institute of the Arts ตั้งใจว่าจะกลับมาทำหนังที่เมืองไทย อยู่อเมริกานานๆ พอกลับมาบ้านเรา ผมเริ่มเห็นเมืองไทยอีกมุม มันมีอะไรแปลกๆ รถไฟถือเป็นตัวเลือกที่ชัดเจนมากๆ ในเรื่องนี้เพราะมันพาคนเดินทางไกล ลัดเลาะในซอกหลืบ พวกช่องเขาที่มองไม่เห็นอย่างเวลานั่งรถแบบอื่น เลยอยากทำหนังที่สังเกตสิ่งเหล่านี้ในไทย ผมหวังให้โปรเจกต์นี้บังคับให้ตัวเองได้ออกเดินทาง ได้เห็นอะไรมากมาย ซึ่งคนเราก็เป็นแบบนี้ เคยเห็นบางอย่างจนคุ้นชิน แต่พอไปอยู่ที่อื่นนานๆ กลับมาบ้านกลับรู้สึกว่าน่าค้นหา อยากออกไปค้นชีวิตที่ซ่อนอยู่ให้มากขึ้น

 

แล้วโปรเจกต์นี้ต่างจากทีสิสของเพื่อนร่วมคลาสยังไง
แตกต่างตรงที่ส่วนมากเขาทำหนังสั้นกัน แต่ผมเห็นว่าหนังตัวเองคงเป็นหนังสั้นไม่เวิร์ก เพราะการเดินทางโดยรถไฟต้องใช้เวลามาก เราอยากบันทึกระยะเวลานั้นด้วย อาจารย์ผมก็เห็นว่าหนังมีศักยภาพที่จะขยายให้แข็งแรงได้ ตอนส่งงาน หนังก็ยังไม่เสร็จหรอก ส่งไปแค่ความยาว 1 ชั่วโมง หลังเรียนจบเลยตัดสินใจทำโปรเจกต์นี้ต่อที่ไทย เพราะคิดว่ามันยังทำไม่จบ ต้องทำต่อไป

 

ครั้งแรกที่กลับมาถ่ายสารคดีบนรถไฟไทย ใช้เวลาบันทึกนานเท่าไหร่
ผมตัดสินใจดรอปเรียน 1 ปี เพื่อมาถ่ายทำเต็มตัว ตอนนั้นเราคิดโครงสร้างทั้งเรื่องไม่ออก เลยตัดสินใจถ่ายมาเป็นก้อนๆ เอามาวางต่อๆ กันก่อน ทำให้ต้องไปถ่ายเพิ่มเรื่อยๆ แล้วค่อยมาหาโครงสร้างว่าจะเอาก้อนพวกนี้มาต่อกันยังไง ใช้เวลานานเหมือนกัน บางอันถูกรื้อทิ้งหมดเลย เพราะมันไม่เข้ากับอันอื่น

 

คิดไว้แต่แรกไหมว่าจะใช้เวลาทำหนังเรื่องนี้มากถึง 8 ปี
ไม่คิดเลย คิดว่าอย่างเก่งคงใช้เวลาสัก 2 ปี แต่ 8 ปีก็ไม่ใช่ว่าทำสิ่งนี้ทุกวันนะ ผมยังคงทำงานกับพี่เจ้ย ช่วยทำหนังสั้นและหนังยาว แต่พอว่างเมื่อไหร่ก็กลับมาทำอันนี้ต่อ ที่ใช้เวลานานเพราะกำลังคลำหาโครงสร้างหนัง ออกไปถ่ายเพิ่มส่วนที่ขาด ซึ่งก็ไม่ได้เร่งทำให้เสร็จ ลึกๆ อยากให้เสร็จแต่พอดูแล้วไม่พอใจ ผมก็ไปถ่ายเพิ่มเป็นระยะๆ โดยเฉพาะตอนจบ เราถ่ายแล้วถ่ายอีก ทำไงก็ยังหาตอนจบที่ชอบไม่ได้สักที คิดว่าถ้าเรายังไม่ชอบ ก็ยังไม่อยากปล่อยหนัง

 

แล้วรู้ตัวตอนไหนว่าการทำหนังเรื่องนี้ควรจบลงได้แล้ว
ผมอยากทำให้เสร็จทุกปี 4 ปีก่อนมีแต่คนถามว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ ผมบอกว่าจะเสร็จแล้วล่ะ แต่ 4 ปีต่อมาก็ยังไม่เสร็จอยู่ดี ก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เราแก่ตัวขึ้นเรื่อยๆ ควรจะ move on ไปสู่สิ่งอื่น เลยตัดสินใจขอทุนเพื่อทำ Post Production เป็นขั้นตอนที่ใช้เงินเยอะ ถ้าไม่ได้ทุนก็จะยังไม่เสร็จ จน 2 ปีก่อน ทาง AND (Asian Network Documentary) ที่เกาหลีใต้ตอบรับให้ทุนมา และผมก็มีไอเดียตอนจบผุดขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว เลยค้นหาข้อมูลรองรับ พอถ่ายฉากนั้นนำมาตัดต่อก็โอเค เป็นตอนจบที่เราชอบที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่งให้ AND ที่ปูซาน เขาก็อยากส่งเข้าประกวด Busan International Film Festival เราก็ตัดสินใจว่าเอาเลย ส่งเลย

 

กระแสตอบรับของคนดูที่เทศกาลหนังปูซาน คนดูบอกไหมว่าทำไมเขาถึงชอบหนังเรื่องนี้
คนดูที่นั่นอินและชอบสไตล์ของหนัง สำหรับเขามัน gentle ทำให้เขามีสมาธิในการดู รู้สึกเหมือนเป็นผู้โดยสารที่อยู่บนรถไฟจริง ทำให้บางคนตั้งข้อสังเกตเรื่องเวลา ถือว่าเวลาเป็นพระเอกของหนัง เพราะหนังเราคือการเดินทางสองวันสองคืน จากเช้า กลางวัน เย็น เป็นกลางคืน คล้ายว่าเรา go through time ผ่านตามเวลา ไม่ใช่สารคดีที่มีประเด็นชัดอย่างที่เราคุ้นเคยทั่วไป แต่มันจะให้ประสบการณ์แบบอื่นกับคนดู

 

ที่คุณบอกว่ารถไฟไทยสะท้อนโครงสร้างสังคมของเรา มันสะท้อนยังไงบ้าง
ตั้งแต่ระบบการแบ่งรถไฟเป็น 3 ชั้น มันทำให้เห็นว่าคุณมีเงิน ถึงจะขึ้นชั้นหนึ่งได้ เพราะมันแพงเกือบเท่าเครื่องบินแล้ว แต่ถ้าเทียบกับรถไฟชั้นสาม มันถูกมาก แล้วยังมีรถไฟฟรีอีก ดังนั้นคนที่ขึ้นชั้นสาม ก็จะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ชั้นสอง ที่มีตู้นอนก็เป็นแบบหนึ่ง ลักษณะของคนต่างกันมาก แล้วถ้ารถไฟฟรีจะแออัดมาก คนมีความเหลื่อมล้ำอยู่

 

แล้วรถไฟชั้นไหนมีความน่าสนใจมากที่สุด
ผมว่าชั้นสาม เขาเป็นมิตรกับเรามาก คุยสนุก ส่วนใหญ่ยินดีและช่วยเหลือให้ผมถ่ายทำ เพราะผมต้องขึ้นไปนั่งกับเขาข้ามวันข้ามคืน เราก็ตั้งกล้องไว้ ไม่ถ่ายทันที ให้เขาค่อยๆ คุ้นชินกับเราถึงกดถ่าย บางทีเขาถาม เล่าทั้งเรื่องดีและไม่ดีในชีวิตให้ฟัง รู้สึกสนุกดีที่เราได้ออกมาเจอคน ถ้าผมไม่ทำโปรเจกต์นี้ ไม่ก้าวออกมา ผมจะไม่ได้เห็นอะไรแบบนี้เลย

 

หนังสารคดีมักตั้งตัวนำเสนอด้วยมุมมองบริสุทธิ์ ในฐานะผู้กำกับคุณทำแบบนั้นไหม
ผมว่าสารคดียังไงก็ไม่บริสุทธิ์ ผมไม่อยากยืนยันว่ามันจริง ในหนังเราเอาช็อตมาต่อด้วยช็อตต่างๆ มันคนละขบวนชัดๆ แต่ถูกทำให้รู้สึกว่าอยู่ในขบวนเดียวกัน แต่จริงๆ คือถ่ายคนละปีด้วยซ้ำ บางทีอาจเป็นคนละขบวน สายใต้มาต่อกับขบวนสายเหนือ อย่างเสียงรถไฟ ผมเอาเสียงอีกขบวนมา เพราะว่าแต่ละช็อต ถ้าเอาเสียงรถไฟมาเรียงกัน เสียงมันจะกระชากไม่ต่อเนื่อง เห็นไหมว่านี่คือไม่จริงแล้ว

 

อย่างนี้แปลว่าผู้กำกับเลือกนำเสนอหรือเปล่า
ผมเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการถ่ายทอด ในความเป็นจริงมีอย่างอื่นที่เลือกไม่ถ่ายตั้งเยอะ พอคนไปนั่งรถไฟจริง มันช้าและเหนื่อยกว่านั่งดูหนังเรื่องนี้ เพราะการที่เรานั่งจริงๆ ต้องอยู่กับที่เฉยๆ เราไม่สามารถเคลื่อนไปดูคนนั้นคนนี้เหมือนในหนัง ฉะนั้นเป็นประสบการณ์คล้ายจริง แต่ไม่ได้เป็นความจริง เป็นแค่การประกอบสร้างความจริงจากสิ่งที่มี ยิ่งตอนจบของหนัง มันก็เป็นการสร้างจากสิ่งที่ค้นคว้ารวบรวมมา อิงจากความจริง แต่ขณะเดียวกันมันก็ไม่จริง

 

เวลา 8 ปีในการทำหนังเรื่องนี้มอบประสบการณ์พิเศษอะไรให้คุณบ้าง
ผมได้ตอบโต้กับชีวิตจริงของมนุษย์โดยไม่ได้เพ่งเล็งอะไรเป็นพิเศษ ทุกครั้งที่ขึ้นรถไฟไปถ่ายจะรู้สึกกังวลตลอด เพราะต้องพกกล้องและขาตั้งกล้องขนาดใหญ่ คนจะมองยังไงวะ เขาจะกลัวหรือเปล่า วันนี้จะได้ฟุตเทจรึเปล่า เพราะเราไม่ได้เซ็ตอะไร ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถัดมาคือคนเขาจะว่าเราไหม ทุกคนบนรถไฟต้องมีคำถามอยู่แล้ว ผมไม่อยากละลาบละล้วงหรือทำสิ่งที่ไม่ถูกใจคนที่ไม่อยากให้ถ่าย ประสบการณ์พวกนี้สะท้อนคำพูดที่ว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอนชัดเจนมาก อย่างฉากจบของเรื่อง ถ้าไม่ผ่านประสบการณ์ในเวลา 8 ปีมาก่อน ให้ผมนึกตอนยังหนุ่มยังไงก็นึกตอนจบแบบนี้ไม่ออกหรอก

 

คุณคาดหวังอะไรจากสถานีรถไฟชีวิตข้างหน้า
ผมอยากก้าวต่อไป ผมคิดว่าตัวเรายังไม่เก่งพอ ผมถามตัวเองทุกวันว่ากำลังทำอะไร เลยทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ แง่มุมความคิดผมเติบโตขึ้น ช่วงที่เคยขอทุนทำหนังจากหลายๆ ที่ ผมโดนปฏิเสธเยอะมากแต่รู้สึกว่าจะงอแงทำไม มันเป็นเรื่องปกติ ข้อดีของ 8 ปีที่ผ่านมาคือเราชิน การโดนปฏิเสธบ่อยๆ ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะก้าวต่อไปอย่างแข็งแรง แต่ก่อนผมคิดว่าอายุมากแล้ว ทำไมปัญหายังมาหาเราได้อีก แต่ตอนนี้คิดได้ว่า อ๋อ…ถึงคนเราจะแก่แค่ไหนก็ยังคงมีปัญหาอยู่ แค่เป็นปัญหาคนละชุดกัน ปัจจุบันผมก็ยังมีปัญหา แต่เป็นชุดปัญหาที่เราเข้าใจ และชอบแก้ไขมากขึ้น เพราะมันจะพาเราไปสู่ทางที่เราหวัง มันพาเราเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งเรายินดีแก้ไขปัญหาใหม่ๆ พวกนี้ มากขึ้นกว่าปัญหาชุดที่ผ่านมา

ภาพ ภีม อุมารี

AUTHOR