นิรัติศัย บุญจันทร์ : ผู้ช่วยบรรณาธิการหนุ่มแห่ง The Paperless เว็บวรรณกรรมที่โดดเด่นมากตอนนี้

The Paperless คือสื่อวรรณกรรมออนไลน์หัวใจใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปของ นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ อดีตบรรณาธิการเซกชันจุดประกายวรรณกรรมของ กรุงเทพธุรกิจ ผู้ผันตัวจากบรรณาธิการบนหน้ากระดาษมาสู่โลกออนไลน์ เราได้ไปนั่งพูดคุยถึงความเคลื่อนไหวที่แสนจะน่าจับตานี้กับบรรณาธิการรุ่นใหญ่ และถ่ายทอดเป็นบทสัมภาษณ์ให้อ่านกันเต็มอิ่มใน a day 196 ฉบับแม่ฟ้าหลวง

แต่นอกจากนั้น เรายังได้สนทนากับ บุ๊ค-นิรัติศัย บุญจันทร์ ทายาทคนเดียวของนิรันศักดิ์ เด็กหนุ่มวัย 24 ปีคนนี้มีความสามารถหลายอย่าง เขาเคยได้รับรางวัลดีเด่นระดับเยาวชนอย่าง Young Thai Artist Award สาขาวรรณกรรม เมื่อปี 2557 จากผลงานเรื่อง ‘ร้านสะดวกซื้อ’ และตอนนี้กลายมาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการเลือดใหม่ไฟแรงให้ผู้เป็นพ่อ รับบทบาทผู้ผลิตเนื้อหาและร่วมดูแลเว็บไซต์

เมื่อ The Paperless คือการยกพื้นที่วรรณกรรมขึ้นสู่โลกออนไลน์ เราจึงขอร่วมสนุกด้วยการยกบทสัมภาษณ์ในส่วนของบุ๊คขึ้นเว็บไซต์ ใครอ่านเรื่องราวของ The Paperless ในฟอร์แมตหน้ากระดาษแล้ว ขอเชิญมาอ่านเรื่องของสื่อวรรณกรรมออนไลน์นี้ในมุมมองของบุ๊กผ่านรูปแบบออนไลน์ รับรองว่าเข้มข้น น่าสนใจไม่แพ้กัน

ชีวิตคุณเปลี่ยนไปมั้ย
เมื่อได้รางวัลดีเด่นจากเวที
Young Thai
Artist Award สาขาวรรณกรรม ปี 2557

ถึงแม้ว่าผมจะได้รางวัล แต่ผมยังเป็นคนเดิม สิ่งที่ได้รับคือแง่จิตใจ
ผมรู้สึกดีที่งานเขียนได้รับการตอบรับทำให้มีกำลังใจ ตอนแรกไม่ได้คาดหวังมาก ด้วยแนวการเขียนที่ส่งเป็นงานไซ-ไฟ
แถมภาษาที่ใช้ในช่วงนั้นยังได้รับการฝึกฝนมาน้อย แต่หลังจากได้รางวัล ตัวผมไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองให้ไปยังจุดที่ต้องการ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดในชีวิต ถึงแม้ไม่ได้รางวัลตอบแทน แต่ตัวเราต้องเก่ง และดีขึ้นเสมอ

ในฐานะคนเขียนงาน
คุณค่าของงานเขียนคืออะไร

งานเขียนทุกชนิด มีคุณค่าเพราะมีคนอ่าน
ถ้าไม่มีคนอ่านคงเป็นไฟล์ขยะที่ถูกทิ้ง แต่หากมีคนอ่านจะเกิดคุณค่าในตัวเอง ผมดีใจเมื่อรู้ว่าสิ่งที่ทำมาเสมอมีประโยชน์
และเวลาที่ผ่านไปไม่เสียเปล่า

คุณมาทำเว็บไซต์
The Paperless ได้ยังไง
เช้าวันหนึ่งพ่อตื่นขึ้นมาบอกผมว่าต้องการทำเว็บไซต์วรรณกรรม
ต่อจากนั้นไฟก็ลามมาจนตอนนี้ พ่อเป็นคนวางคอนเซปต์ไว้ทุกอย่าง ส่วนผมนำมาพัฒนาต่อ
เหมือนพ่อเปิดประตูไว้ก่อน แล้วผมเดินเข้าไปลุยต่อ

 

การทำเว็บไซต์ง่ายขนาดที่ลุกขึ้นมาทำภายในวันเดียวได้เลยเหรอ
ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมเองนับหนึ่งเรื่องการทำเว็บไซต์ใหม่หมด
เพราะส่วนตัวเรียนดนตรีแจ๊สมาเป็นสิบปี
ผมต้องพยายามปะติดปะต่อขั้นตอนการทำในกูเกิล หาไปเรื่อยๆ เหมือนจิ๊กซอว์เอามาแปะ
อ่านข้อมูลจากหลายที่มาก แล้วย่อยออกมาโดยให้ภาพลักษณ์ของเว็บไซต์ดีที่สุด และที่จริงก็มีอุปสรรครออยู่ไม่น้อย เราลงมือทำโดยไม่ได้เงินด้วยซ้ำ ผมแค่อยากให้คนได้อ่านเนื้อหาที่หลากหลาย
ยังอยากให้คนซื้อหนังสือเป็นเล่มมากขึ้น เพราะท้ายที่สุดเราพยายามนำเสนอเนื้อหาสร้างมูลค่าให้หนังสือ
เชียร์ให้คนออกไปซื้อ และสร้างความศรัทธาให้หลายคนที่ยังไม่ชอบอ่าน เขาอาจไม่รู้ตัวว่าชอบอ่าน
จุดนี้เราทำด้วยใจอยากให้คนอ่านจริงๆ

 

ที่มาของชื่อและโลโก้
The Paperless คืออะไร
ผมค้นคว้าเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากสื่อเก่ามาสู่สื่อใหม่มีความเป็นมายังไง
แล้วเริ่มหาคำจำกัดความต่างๆ จนค้นพบงานวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่อง Paperless Period ที่พูดถึงยุคของการทำงานที่ไม่ใช้กระดาษอีกต่อไป
มันเกิดขึ้นจากออฟฟิศที่พนักงานไม่ต้องเข้าไปทำงานในบริษัท แต่เลือกทำงานที่ไหนก็ได้
ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ The Paperless
ส่วนโลโก้คือกระดาษที่เราไม่ต้องการใช้แล้วถูกขยำ
ทางด้านเนื้อหาวางไว้ว่านอกจากมีวรรณกรรม ก็ยังมีคอนเทนต์วาไรตี้มาแทรกตลอด
เพราะฉะนั้นคำจำกัดความรวมๆ ของเราคือ liturature, art and culture

อะไรคือความโดดเด่นของ The Paperless ที่จะทำให้คนสละเวลามาติดตาม
เราตั้งใจให้ The
Paperless ทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น
ในช่วงที่สื่อวรรณกรรมบนหน้ากระดาษของประเทศไทยกำลังหาย
นี่เป็นทางเลือกใหม่ที่ผู้บริโภคจะได้อ่านกันฟรีๆ

สำหรับนักเขียน The
Paperless คือสนามใหม่ของนิตยสารวรรณกรรม
วันนี้พื้นที่หน้ากระดาษน้อยลง เราอาจเป็นจุดศูนย์กลางเล็กๆ ของคนกลุ่มนี้ จุดสำคัญคือเรามีระบบที่หล่อหลอมมาจากประสบการณ์ที่ยาวนานและระบบบรรณาธิการที่มีคุณภาพ ผมมีคอลัมน์นำเสนอเรื่องที่บางคนยังไม่รู้
เราลุกขึ้นมาเป็นผู้สื่อข่าวเฉพาะทางของวงการวรรณกรรม
ซึ่งข่าวหาอ่านจากบางที่ไม่ได้แน่ เราพยายามสร้างเนื้อหาใหม่
และสร้างจุดเชื่อมโยงระหว่างคนที่ติดตามอ่านเซกชันจุดประกายวรรณกรรมของพ่อซึ่งปิดไป
และคนรุ่นใหม่อย่างผม แต่มันจะดีมั้ย คนอ่านต้องตัดสิน เหมือนมีเก้าอี้ตัวหนึ่งในห้องเก็บของที่ถูกลืม
เราไม่มีทางรู้ว่ามีเก้าอี้ในนั้น ถ้าเราไม่เปิดห้องแล้วปัดฝุ่นเก้าอี้มาใช้
เราบอกไม่ได้ว่ามันทำหน้าที่ได้ดีหรือเปล่า
ฉะนั้นวรรณกรรมที่เรานำเสนอต้องมีชั้นเชิง และมีลูกเล่นเป็นสากล ส่วนข่าวคราวต่างๆ
ต้องคมคายและสดใหม่

เนื้อหาต้องสดใหม่ประมาณไหน
ในเมื่อยุคนี้ใครผลิตสื่ออะไรมาก็ซ้ำกันไปหมด

เดี๋ยวนี้เนื้อหาของสื่อมีแนวทางซ้ำกันมาก ดังนั้นหน้าที่ของเราคือต้องไปเสาะหาสิ่งใหม่ให้อ่าน
ถึงไม่มีอะไรใหม่ให้หาแล้ว ถ้าให้เปรียบจะให้ผมไปดาวอังคารก็ยังได้ อยากไปเหมือนกัน
เผื่อมีคอนเทนต์แปลกๆ มาเขียนต่อด้วย (หัวเราะ)
แต่ตอนนี้จะนำเสนอสิ่งที่คิดว่าไม่ซ้ำทางใครให้มากที่สุด

 

คุณทำเว็บให้ใครอ่าน
ให้ทุกคน แต่จากสถิติผู้เข้าชมของเพจบนเฟซบุ๊กและสถิติของเว็บไซต์ The Paperless ชี้ให้เห็นว่าคนอ่านมีช่วงอายุประมาณ
40 – 50 ปี เพศหญิงอ่านเยอะกว่าชาย แต่ถ้าวัดยอดการถูกใจในเฟซบุ๊กยังไม่แพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงาน
ถ้าวันหนึ่งเนื้อหาแพร่หลายต่อคนกลุ่มอายุ 20 – 30 ปี เราก็พร้อมอ้าแขนรับเขามากๆ เพราะมีคอนเทนต์ที่เขาน่าจะอยากรู้อยู่
เช่น บทสัมภาษณ์เจาะลึกกระบวนการทำหนังสือเป็นซีรีส์ตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะทำเนื้อหาให้เหมือนต้นไม้ที่ผลิดอกออกผลมาให้ทุกคนกินเรื่อยๆ

 

คิดยังไงกับสื่อกระดาษที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปเป็นสื่อออนไลน์
ผมคิดว่าวินาทีนี้อินเทอร์เน็ตสำคัญต่อการขับเคลื่อนโลก
เราต้องยอมรับว่าหนังสือสร้างแรงกระเพื่อมได้ไม่มากเท่าเมื่อก่อน ด้วยยุคสมัย รูปแบบหนังสือ
ตัวนักเขียน และสภาพสังคม ถ้าวันหนึ่งไม่มีหนังสือ คนจะยังมีชีวิตอยู่ได้
แต่ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต จะเกิดการเดินขบวนประท้วง ผมเองจะอยู่ในขบวนนั้นด้วย
เพราะงานผมต้องใช้อินเทอร์เน็ต เราปฏิเสธไม่ได้ ในเมื่อคนยังเสพเรื่องราวต่างๆ
อยู่ เราต้องทำหน้าที่นำเนื้อหาสาระที่ดีโยกย้ายมาบนพื้นที่ออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพที่สุด

ทำไม The Paperless ต้องการเชื่อมนักอ่านยุคกระดาษกับนักอ่านยุคออนไลน์ เข้าด้วยกัน
เราอยากให้ The Paperless
ขยายในวงกว้าง เพื่อให้เรายืนอยู่ได้ ถ้าเราขยายเนื้อหาเว็บไซต์ได้จริง คนอ่านก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย
ผมอยากทำให้วงการวรรณกรรมดีขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงยุคสมัยเข้าด้วยกัน
เพราะว่าตอนนี้เหมือนน้ำกับน้ำมัน ปนกันไม่ได้เลย ยุคเก่าก็ยุคเก่า ยุคใหม่ก็ยุคใหม่ไปเลย
แต่เราจะเป็นกามเทพให้คนทุกวัยรักกันให้ได้ มันเสียโอกาสมากนะถ้าเราแยกกัน เพราะคนรุ่นใหม่จะไม่รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวงการ
ส่วนคนรุ่นเก่าเองก็ไม่รู้ว่าโลกเขาดำเนินไปถึงไหนแล้ว

 

คุณเข้ามาเป็นผู้ช่วยพ่อคิดเนื้อหาและทำเว็บไซต์
แล้วพ่อได้ช่วยอะไรคุณบ้าง

พ่อดูแลส่วนวรรณกรรมเป็นหลัก ช่วยเรื่องการติดต่อ
และคอนเนกชัน เพราะทำงานในวงการจนเชี่ยวชาญ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก สมมติเด็กอย่างผมทำคนเดียวอาจแย่
แต่พ่อมีค่าการตลาดที่ดี การเจริญเติบโตมีโอกาสสูง ถ้ามองเชิงธุรกิจมันไปได้อีก
ผมถึงตัดสินใจทำ ก็ทำและพัฒนาไปด้วยกันเรื่อยๆ ถึงยังไงพ่อก็มีประสบการณ์มาก ผมเป็นเด็กบางครั้งอาจพลาดสิ่งสำคัญไป
เขาจะคอยแนะนำ ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะส่วนผสมของผมกับพ่อทำให้ภาพลักษณ์ของ The Paperless มีทั้งความคลาสสิกและความทันสมัย

ในโลกนักเขียนประเด็นอะไรที่คุณสนใจเป็นพิเศษ
ผมสนใจเรื่องนักเขียนใหม่ ไม่ใช่แค่ลงผลงานให้เขาอย่างเดียว
ต้องทำสกู๊ปหรือบทสัมภาษณ์ใหญ่ ผมจะสัมภาษณ์ทั้งสายป่าน ตั้งแต่นักเขียนว่าทำงานรู้สึกยังไง
บางคนเขียนหนังสือมานาน แต่ไม่ได้ตีพิมพ์เลยทั้งชีวิต ลองไปสัมภาษณ์บรรณาธิการว่าทำไมนักเขียนคนนี้งานไม่ผ่าน
แล้วไปสัมภาษณ์บอร์ดบริหารต่อว่าทำไมถึงไม่ตีพิมพ์ ต้องสัมภาษณ์ทุกฝ่าย เพื่อให้เห็นภาพใหญ่
เหมือนยิงปืนปังหนึ่งแล้วรู้เลยว่าทำไมนักเขียนหน้าใหม่ไม่เกิด
ถ้านักเขียนบ้านเรารุ่นล่าสุดที่คนจำชื่อได้มีแค่ ปราบดา หยุ่น, อุทิศ เหมะมูล และ นิวัฒน์ พุทธประสาท
ผ่านมากี่สิบปีแล้ว ทำไมไม่มีนักเขียนยุคใหม่อายุ 20 กว่าปี หรือรางวัลให้คนรุ่นนี้อย่าง
Akutagawa ของญี่ปุ่น ที่คนได้รับแล้วก็ไปโลดแล่นในเวทีนักเขียนโลก

 

เด็กรุ่นใหม่อย่างคุณ
ทำไมถึงอยากให้คนไทยอ่านหนังสือให้มากขึ้น

ถ้าคนบ้านเราอ่านหนังสือกันมาก คนจะมีความเข้าใจลึกซึ้ง
จนตระหนักได้ว่า โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นสีดำหรือสีขาว โลกนี้เป็นสีเทาๆ วรรณกรรมอย่าง
The Godfather และ Momo หรืออะไรก็ตาม
ล้วนนำเสนอให้เห็นความคลุมเครือของระบบทางสังคม ถ้าเราเข้าใจ จะรู้เหตุผลของการกระทำ
จนยอมรับได้ แต่บ้านเราแยกสีดำและขาวชัดเจนไป ไม่งั้นความคิดของผู้คนคงไม่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ
เหมือนตอนนี้หรอก

บ้านเมืองเรารากฐานการอ่านไม่แข็งแรง แทบไม่มีรากฐานอยู่จริง
เชื่อไหม เราโยนทิ้งของเก่าได้ทันที จากหนังสือไปหาทีวี จากทีวีไปหาอินเทอร์เน็ต
จากคอมพิวเตอร์ไปหาสมาร์ทโฟน ต่อไปอาจทิ้งสมาร์ทโฟนไปหาเทคโนโลยีตัวใหม่ คนบ้านเราไม่จงรักภักดีต่อหนังสือเท่าไหร่
เอาจริงๆ คนส่วนใหญ่ไม่ลองชิมด้วยซ้ำ แต่อันนี้หมายถึงภาพรวมนะ คนอ่านจริงๆ ก็มีอยู่เช่นกัน

สิ่งที่คนทำหนังสือในยุคนี้ต้องปรับตัวคืออะไร
การออกแบบศิลปกรรมของรูปเล่ม เพราะว่าบริบทของหนังสือเปลี่ยนแล้ว
ไม่เพียงแต่ให้ความรู้คู่ความคิด แต่ยังมีหน้าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับตกแต่ง
พูดง่ายๆ ไม่ใช่แค่เนื้อหาสาระดี
แต่ดีไซน์ที่ดีของรูปเล่มแสดงให้เห็นถึงรสนิยมของคนอ่านด้วย เช่น กรณีการทำปกใหม่ของหนังสือ
สิทธารถะ
โดยสำนักพิมพ์ openbooks เราเห็นได้ชัดเลยว่ารูปเล่มสวย
และเต็มไปด้วยคอนเซปต์จนใครๆ ต่างต้องการหาซื้อมาครอบครอง

ถ้าวันหนึ่งคุณพบว่าสิ่งที่คิดและทำมาทั้งหมด
มันผิดหมดเลยจะทำยังไง

เรื่องธรรมดา คนเกิดมาพร้อมกับความผิดพลาดเสมอ สมมติวันหนึ่งผมพบว่าสิ่งที่ตัวเองทำ
มันผิดหมดเลยก็ต้องเรียนรู้ว่าคราวหน้าต้องทำยังไงให้ดีกว่าครั้งก่อน

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR