กลุ่มคนรักวาฬไทย : สิ่งที่เราเรียนรู้จากความตายของวาฬ

ภาพศพวาฬตัวหนึ่งถูกแชร์ไปทั่วโลกออนไลน์

หนึ่งในสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า
ศพวาฬบรูด้าความยาว 13.8 เมตร (ยาวกว่ารถ 10 ล้อ) มีร่องรอยถูกกัดโดยฉลามคุกกี้คัตเตอร์
ถูกชนและถูกลากโดยเรือโดยสารสินค้าขนาดยักษ์มาถึงแหลมฉบัง

ท่ามกลางความเสียใจและความรู้สึกสูญเสียหลังวาฬถูกฝังกลบ เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากความตาย
แดง-ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ Director of Photography แห่งโปรดักชันเฮาส์
Film Factory ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thaiwhales.org และหัวหน้าทีมงานวาฬไทย
ให้คำตอบกับเราก่อนคลื่นความสนใจเรื่องวาฬจะเลือนหายไปในโลกไซเบอร์

เสียงคนรักวาฬ

“ทีมงานวาฬไทยที่ผมก่อตั้งช่วยทีม MCRC
(Marine and Coastal Resources Research and Development Center (Upper Gulf of
Thailand)) หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปี
2554 เราเป็นอาสาสมัครประสานงานกับคนที่มีอาชีพนี้อยู่แล้ว
ในที่นี้ก็คือราชการซึ่งต้องการการสนับสนุนและการผลักดัน
สิ่งที่พวกผมทำคือไปเก็บข้อมูลกับเขาเพื่อที่เราจะกลับมาทำเองได้ และส่งมอบข้อมูลประชากรวาฬที่ถูกต้องตามมาตรฐาน
ค้นคว้าโดยวิธีปฏิบัติเดียวกัน”

“เมื่อมีวาฬตายเราก็ออกไปช่วยเก็บข้อมูลแพทย์ ที่นี่ต้องชันสูตรทั้งศพวาฬ
โลมา พะยูน เต่า การชันสูตรศพเหมือน CSI เป็นสิ่งที่เราควรทำทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่
และสัตว์ก็ตายโดยเปล่าประโยชน์”

วาฬบอกความจริง

“ตอนนี้ดราม่าเกิดขึ้นมาก ทุกคนเป็นมือคีย์บอร์ด
ด่ากันเต็มว่าคนแล่นเรือไม่ระวัง วาฬเราตายหมด สูญพันธุ์หมดแล้ว มันไม่จริง
เราก็ไม่ควรปล่อยไปแบบนั้น สิ่งที่เราทำได้คือรวบรวมสติและข้อมูล และค่อยๆ
บอกเล่าออกมา”

“จากข้อมูลเบื้องต้น สันนิษฐานว่า ปลาวาฬตัวนี้ไม่น่าใช่วาฬประจำถิ่น ซากวาฬตัวนี้ติดมากับเรือ น่าจะติดมากับ bow ที่อยู่ใต้น้ำของเรือ วาฬก็น่าจะติดอยู่ตรงนั้นและโดนลากมาเรื่อยๆ เรือลำนี้ทราบว่ามาจากเซี่ยงไฮ้ ผ่านไต้หวัน เวียดนาม จนมาจอดที่ไทย ลักษณะครีบหลังของมันไม่ตรงกับวาฬบรูด้าในไทย และอาหารในกระเพาะของมันคือ เคย (Krill) ไม่เหมือนวาฬบ้านเรามักกินปลาเล็กๆ
เช่น ปลาไส้ตัน ปลาชิงชัง ปลากะตัก เพราะเคยบ้านเราอยู่บริเวณน้ำตื้นเกินไป”

“วาฬอาจจะป่วยหรือมีอาการผิดปกติบางอย่างอยู่แล้ว
ไม่อย่างนั้นก็ต้องเห็นเรือ เหมือนเราปกติคงไม่เดินออกไปให้รถชน หมอตรวจพบร่องรอยบาดแผลและการสมานตัวที่ซี่โครง
แปลว่าก่อนหน้านี้มันอาจจะถูกเรืออีกลำชนมาก่อนจนบาดเจ็บ มันคงป่วยเต็มทีมาสักระยะ
แล้วเรือขนสินค้าลำนี้ก็มาจบชีวิตมัน ดูจากเนื้อเยื่อจุดหนึ่งมีเลือดคั่ง แสดงว่าตอนโดนชนมันน่าจะยังมีชีวิตอยู่
เหมือนเราโดนชนแล้วมีรอยช้ำ เป็นเคสแรกที่เราเจอ แต่มันป่วยอยู่แล้ว สัตว์ป่วยก็ต้องตายด้วยทางใดทางหนึ่ง
วาฬที่ยังเหลือต่างหากที่เจอวิกฤตยิ่งกว่า”

จักรวาฬเมืองไทย

“วาฬไทยส่วนใหญ่คือบรูดุสเวลส์ (Bryde’s whale) ที่คนไทยเรียกว่าวาฬบรูด้า เป็นชื่อตามกงศุลนอร์เวย์ และวาฬโอมูระก็เป็นชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น หน้าตาคล้ายกัน เพียงแต่ขนาดเล็กกว่า ประชากรวาฬบ้านเราแทบจะเป็นประชากรปิด อยู่กันโดดเดี่ยว มีแค่ 40-50 ตัว หรืออาจเหลือไม่ถึงด้วยซ้ำ วาฬที่เราเก็บข้อมูลมา มีวาฬแปลกหน้าแค่ไม่กี่ตัว จากการออกสำรวจเราแทบไม่เจอวาฬใหม่เลย มันน่าจะสืบพันธุ์กันภายในกลุ่ม ซึ่งทำให้ยีนส์มันจะด้อยลง”

“จริงๆ เรามีวาฬขึ้นมาตายทุกปี ปีละ 2 – 3
ตัว น่าจะเป็นวาฬบ้านเราเพราะพบที่อ่าวไทยตอนบน (อ่าว ก.ไก่) และตอนกลาง
บ่อยครั้งจะเกยตื้น หรือพบซากแล้วลากขึ้นมา ปีนี้เป็นปีที่มีวาฬตายเยอะจนน่าเป็นห่วง
มีประมาณ 8 – 9 ตัว และเป็นลูกวาฬถึง 4 ตัว วาฬบ้านเรากำลังอยู่ในสถานะที่อันตรายมาก”

“สาเหตุการตายของวาฬมีหลายสาเหตุ
แต่ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากมนุษย์ ซึ่งเราหากินอยู่ในบริเวณเดียวกัน เรื่องง่ายๆ
อย่างมลพิษ ทะเลปนเปื้อน น้ำเสีย ไมโครพลาสติกและขยะต่างๆ ทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น
ร้อนมากขึ้น ทำให้ห่วงโซ่อาหารแย่ลง อีกอย่างเมื่อประชากรมนุษย์มากขึ้น กินมากขึ้น
อาหารของพวกมันก็น้อยลง อย่างการสำรวจวาฬปีนี้ ผมออกเรือไปยี่สิบกว่าครั้ง เห็นเลยว่าอาหารในปากที่วาฬฮุบเข้าไปมีน้อยลง
ปกติเห็นปลากะตักกระโดดๆ ปีนี้มันหายไปเยอะมาก และปลาก็เล็กลงด้วย ซึ่งปีนี้อาจจะเกิดจากเอลนินโญ่ หวังว่าปีต่อๆ ไปจะดีขึ้น”

“ปัญหาของเราคือเราเข้าถึงซากช้า
อุณหภูมิน้ำทะเลก็สูง ทำให้ซากมักจะเปื่อยยุ่ยมาก การหาหลักฐานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จึงยากมาก บางครั้งเราก็อาจเห็นร่องรอยการรัด การกระแทกจากของแข็ง เช่น เครื่องมือประมง อวนที่ลอยอยู่กลางน้ำ การชันสูตรว่าหัวใจไม่มีเลือด ก็แสดงว่าเกิดการช็อค หรือ ในกระเพาะไม่มีอาหารอาจแปลว่ามันป่วย อาจกินขยะเศษอวนเข้าไปจนไปกระทบระบบย่อยอาหารทำให้อ่อนแรงลงจนกินไม่ได้ แต่ความจงใจจะฆ่าวาฬโดยตรงในไทยนั้นไม่มี”

ร่วมด้วยช่วยวาฬ

“ปัญหาเรื่องวาฬเกิดขึ้นทั่วโลก
หลายประเทศใส่ใจก็จะแก้ไข มีการออกเตือน อย่างในสหรัฐอเมริกา
อลาสก้าเขาใส่ใจเพราะเห็นมันเป็นประชากร
ถ้าเราเห็นมันเป็นประชากรร่วมและสำคัญกับโลกใบนี้ มีคุณค่าเท่ากับเรา ก็อาจหาทางแก้ได้
เช่น มีหน่วยงานที่ศึกษาการอพยพของพวกมันโดยเฉพาะ
อย่างตอนนี้วาฬสีเทากำลังอพยพจากอลาสก้ามาทางเม็กซิโก ก็มีการเตือนให้เรือที่วิ่งอยู่ระมัดระวัง
มีอาสาสมัครคอยช่วยดู สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยหลายอย่าง อย่างน้อยก็ทำให้เยาวชนเห็นความสำคัญของธรรมชาติ
เหมือนเขาใหญ่มีป้ายบอก ทางเดินสัตว์ป่า ระวังช้างข้ามถนน ถึงระวังไม่ได้ทั้งหมดแต่เราก็ตระหนักว่าช้างหรือกวางกำลังจะหมดไป
เราเห็นมันเป็นประชากร ในเมืองไทยผมไม่แน่ใจว่าเราเห็นวาฬเป็นประชากรรึเปล่า ถึงวาฬเป็นสัตว์สงวนที่ถูกคุ้มครอง
ทางทช. จัดการให้มันเป็นสัตว์สงวนได้แล้ว แต่ผมไม่แน่ใจว่าคำว่าสัตว์สงวนมันเข้าไปอยู่ในใจคนสักกี่คน”

“ความที่มันเหมือนปลา แล้วเรากินปลาเป็นอาหาร
เราก็ยิ่งเห็นความสำคัญของมันน้อยลงไปอีก เรื่องเรือชนมันเป็นเรื่องปลีกย่อย
มันเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก ปัญหามันอยู่ที่ความคิดของเรามากกว่าบางคนอาจจะเห็นว่าเขาเป็นสัตว์น่ารักดี
ถ่ายรูปได้ เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ แต่เราไม่ใส่ใจที่จะทำความรู้จักเขา พอเราเพิกเฉยความเป็นจริง
เราก็ไม่พัฒนาเรียนรู้”

“เมืองนอกมีการปรับการวางอวนให้เหมาะสม
พัฒนาอวนให้เป็นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ตากว้างกว่าเดิม วาฬก็เห็นและหลบได้ ชาวประมงก็ยังจับปลาได้ไม่เดือดร้อน
ถ้ามีปัญหาหางวาฬติดอวนเขาก็พัฒนาอบรมเป็นวิชาการเกิดหน่วยงานที่สามารถเข้าไปตัดอวนที่ติดหางวาฬได้โดยมีความเสี่ยงน้อย
เอาวิกฤตมาสร้างเป็นความรู้ที่ถูกต้องซึ่งมันจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราหยุดการศึกษาที่แท้จริงหันไปสู่วิธีที่ง่ายที่สุด
แทนที่จะพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่านี้

“ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ
แต่ถ้าเราเอาจริงมันก็ไม่ตาย”

ชมวาฬ VS ชนวาฬ

“อีกสิ่งที่ต้องพูด
คือเราสนับสนุนการท่องเที่ยวเรื่องวาฬ มันไม่ใช่เรื่องเรือชนวาฬ แต่คนชนวาฬมากกว่า
เราไม่ได้รู้จักเขาดี ไม่สนใจการใช้ชีวิตของเขา แต่เราใช้ประโยชน์จากเขาเต็มที่
เพราะเราหวังว่าจะใช้เขามาฟื้นเศรษฐกิจของเรา ฟังแล้วไม่น่าจะเป็นอะไร เหมือนพาคนไปดูช้างกินโป่ง
แต่วาฬไม่เหมือนช้าง เรารู้จักช้าง รู้ว่าจะรักษาเขายังไง จะต่อขาเทียมยังทำได้ด้วยซ้ำ
แต่กับวาฬ เราช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย ทำได้แค่เพิ่มความเครียดให้เขา”

“ผมก็เป็นมนุษย์ ชาติมนุษย์อาจต้องมาก่อนเสมอ
แต่การใช้ประโยชน์มันน่าจะพอเหมาะ ไม่เดือดร้อนกันทั้งสองฝ่าย ผมไม่ได้บอกว่าการท่องเที่ยวมันไม่ดี
มันเอาเปรียบเขา โลกมันมีการเอาเปรียบกันอยู่แล้ว
แต่ว่าการท่องเที่ยวนี้มันจะยั่งยืนแค่ไหน ในเมื่อเราเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาแย่ลง”

“ถ้าจะให้ไม่รบกวนจริงๆ ก็ต้องไม่ท่องเที่ยวดูวาฬ
เขาใช้ชีวิตของเขา เราก็ใช้ชีวิตของเรา แล้วบังเอิญออกเรือไปเจอก็โชคดีไป แต่ตอนนี้มันช่วยไม่ได้
ถ้าอย่างนั้นทุกภาคส่วนก็ต้องดูแลและให้ความรู้ เช่น เรือที่อยู่จุดเดียวกันไม่ควรมีเกิน 3 ลำ เพราะจะทำให้เขาเครียด ต้องกำชับว่าการดูวาฬควรอยู่ห่างจากวาฬเท่าไหร่
ถ้าเขาเข้ามาใกล้ก็ไม่เป็นไรเพราะเขาก็เป็นสัตว์อยากรู้อยากเห็นเหมือนกัน
หรือไม่ควรจะรบกวนวาฬตัวใดตัวหนึ่งไปตลอด พวกตากล้องอย่างผมเนี่ยแหละน่ากลัว
อยากได้รูป ไม่ได้สักทีก็ไล่ตามไปทั้งวัน ถ้าเป็นปาปารัซซี่ไล่ตามดารา
เขาคงหันมาชกปากแตกไปแล้ว แต่พอเป็นวาฬก็ไม่มีทางตอบโต้ ถ้าเราตามเขาด้วยจิตสำนึก
ตามให้ห่างหน่อย ถ้าเป็นตากล้องมืออาชีพก็ใช้กล้องที่ถ่ายระยะห่างได้หน่อย พักนึงก็พักให้เขาหากินซะ
แล้วค่อยวนกลับไปถ่ายใหม่ เขาก็ไม่รู้สึกว่าเขาไม่มีอิสระ”

“ถ้าการท่องเที่ยวนี้บูม
ยิ่งบ้านเราเป็นพวกชอบแห่ จะมีเรือออกไปเป็นสิบลำ ทีนี้อันตรายแน่ๆ
ต่อให้เรือออกไปดูลำละครึ่งชั่วโมง แต่สิบลำรวมกันก็รุมวาฬตั้ง 5 ชั่วโมงแล้ว แล้วเราจะเอารูปไปทำอะไร
เอาไปอวดในเฟซบุ๊กแค่นั้นเหรอ สิ่งที่น่าห่วงคือการท่องเที่ยวมีแต่เรื่องการกดไลก์ รูปของฉันต้องเจ๋งกว่า ต้องใกล้กว่านี้ ต้องเซลฟี่กับวาฬ
ไปบอกกัปตันให้เข้าไปใกล้ๆ วาฬ เขาจะกินข้าวก็ไม่ปล่อยให้เขากิน โดยเฉพาะวาฬไทยกลุ่มนี้ น่าจะเป็นวาฬเฉพาะถิ่นอ่าวไทยไม่ได้ย้ายที่ไปไหน รวมทั้งมีจำนวนน้อย แค่ประมาณ 50 ตัว มันจึงมีความเสี่ยง และความเครียดมากกว่าวาฬในต่างประเทศที่มีการทำ Whale watching ได้ การโปรโมทเรื่องการท่องเที่ยวดูวาฬบ้านเราจึงควรระวังเป็นพิเศษว่าวาฬของไทยเราไม่เหมือนที่อื่น”

“ถ้าเราเห็นเขาเป็นประชากรเหมือนเรา
ซึ่งเขาเป็น เขาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกัน เป็นสัตว์เลือดอุ่น
หายใจด้วยอากาศ มีหัวใจ ซี่โครง ปอด ตับไตไส้พุงเหมือนเราหมด
เพียงแต่เลือกไปอยู่ในน้ำเท่านั้นเอง ถ้าเราเห็นเขาเป็นแบบนั้น
เราจะรู้เลยว่าเราต้องทำยังไง ผมอยากให้คนรู้จักวาฬเพื่อให้ตระหนักถึงเรื่องนี้”

ติดตามเรื่องวาฬเพิ่มเติมได้ที่
thaiwhales.org

Facebook | ThaiWhales

ภาพ thaiwhales.org และ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR