พรพจน์ Sixtysix Visual : นักเก็บสะสมความรู้สึกลงภาพถ่าย

เราชอบมองภาพถ่าย
แต่ไม่ใช่ทุกภาพที่จะสะกดสายตาให้มองได้นานๆ เมื่อมองรูปถ่ายฝีมือ พรพจน์ กาญจนหัตถกิจ
แห่งสตูดิโอ Sixtysix
Visual อย่างแรกที่เราสัมผัสได้คือความงามอย่างประณีตในภาพ
ถัดจากนั้นจึงรู้สึกถึงความรู้สึกบางอย่างที่ทำให้เราอยากเฝ้ามองภาพนั้นอีกสักชั่วขณะหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นภาพสี ขาวดำ ภาพที่เห็นเพียงแผ่นหลังของใครคนหนึ่ง
หรือภาพมือสองมือที่สัมผัสกันอย่างเงียบเชียบ คล้ายว่าองค์ประกอบในภาพเล่าเรื่องให้เราฟังโดยไม่ต้องมีคำพูดใด

พรพจน์สนุกกับการถ่ายทุกสิ่ง
ทั้งภาพแฟชั่น ภาพพรีเวดดิ้ง ภาพทิวทัศน์ แต่สนุกที่สุดคือการถ่ายภาพบุคคลที่ได้เห็นความรู้สึกอยู่ตรงหน้า
บทสนทนานี้จะเปิดเผยกระบวนการเบื้องหลังกล้องและเบื้องหลังใจของเขา
ในฐานะนักจับกุมความรู้สึกมาเก็บรักษาไว้ในภาพได้ตลอดกาล

แต่เดิมคุณทำงานด้านกราฟิก
อะไรทำให้คุณเบนเข็มมาเส้นทางช่างภาพ

เราเคยเรียนด้าน Visual
Communication เรียนทุกอย่างที่ทำให้เราสื่อสารกับคนผ่านภาพได้ ตอนกลับมาไทยก็ไม่ได้คิดว่าต้องทำงานสายไหน
ตอนนั้นมีบริษัทอังกฤษแห่งหนึ่งที่รู้จักกันติดต่อว่าจะมาเปิดในไทย
อยากให้เราเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้ ตอนนั้นเราได้ทำงานหลายอย่าง ทั้งอีเวนต์
เว็บไซต์ แบรนดิ้ง อะไรที่ต้องใช้รูป แต่บางรูปมันไม่ตรงกับไอเดียเรา
จะหาซื้อรูปก็ไม่มี เลยออกไปถ่ายเอง ถ่ายไปถ่ายมาคนเริ่มทักว่าถ่ายรูปสวยนะ
แต่เราไม่รู้หรอกเพราะเราไม่ได้เรียนมา พอคนทักมากขึ้นเรื่อยๆ เลยลองไปซื้อกล้องมือสองกับเลนส์ห่วยๆ
มาถ่ายเล่น ถ่ายตามแฟชั่นวีก วันธรรมดาเราทำงานบริษัท เสาร์อาทิตย์ถ่ายรูป ไปๆ มาๆ
เงินที่ได้จากการถ่ายรูปมันมากกว่างานออฟฟิศเสียอีก
เราเลยคิดว่ามันน่าจะเป็นแนวของเรานะ เลยลาออกมา

อย่างนี้คุณออกจากเส้นทางเดิมด้วยความรู้สึกแบบไหน

เราสนุกกับมัน
เงินไม่ใช่จุดสำคัญเลย
เรารู้สึกว่าเราเฝ้ารอคอยเสาร์อาทิตย์ที่จะมีเวลาว่างออกไปถ่ายรูปเล่น
ความรู้สึกนี้มันรู้สึกดีกว่า
เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีเครดิต ไม่มีใครรู้จัก
มันสนุกดีเลยอยากใช้เวลามากขึ้นกับการถ่ายรูป

วิธีฝึกฝนตนเองของคุณคืออะไร

เรา
ไม่ได้เรียนอะไรเลย
จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้เรียน ฝึกเอง แต่ก่อนอยากได้อะไร อยากให้รูปออกมาแนวไหน
เราก็จะสร้างสิ่งของขึ้นมาเพราะในตลาดไม่มีสิ่งที่ต้องการ
เมื่อก่อนกล้องเราจะมีถุงน่องฉีกแปะอยู่หน้าเลนส์เพื่อสร้างฟิลเตอร์
มีไฟฉายเลเซอร์ปืนติดไว้ที่หัวกล้องเพื่อที่กลางคืนจะได้โฟกัสได้ง่ายขึ้น
ใช้วิธีอยากได้อะไรก็สร้างเอา อยากได้รูปแนวไหนก็ฝึกถ่ายไปเรื่อยๆ
จนกว่าจะได้

อย่างน้อยก็ต้องมีปรมาจารย์ที่คุณศึกษางานจากเขาบ้างใช่ไหม

เราไม่ดูงานของใครเลยเพราะเราเพิ่งเข้ามาในวงการ
ไม่มีไอดอล ไม่รู้ว่าช่างภาพคนไหนดังไม่ดัง เราแค่อยากได้ภาพแนวเนี้ย เราเอาภาพจากรอบโลกที่เราเห็น
ที่เราท่องเที่ยว ที่เรียนที่อังกฤษ มาแปะในรูปเรา ตอนนั้นคนจะค่อนข้างช็อกว่าทำไมรูปพี่พจน์มี
flare
เยอะ ทำไมมันไม่ชัด ทำไมมีเกรน ทำไมสีเป็นแบบนี้
เขาไม่เก็ตเพราะมันใหม่พอสมควร แต่เราไม่สนใจ ทำไปเรื่อยๆ จนเขายอมรับได้ เราทำมาก่อนจะมีกระแสโลโม่หรืออินสตาแกรม
อาจเพราะแบบนี้ภาพเราเลยโดดเด่นกว่าคนอื่นนิดนึง

ไม่เครียดกับคำวิจารณ์บ้างเหรอ

ไม่สนเลย
เพราะเราเชื่อมั่นในงานของเรา เรารู้แต่แรกว่ามันไม่มีใครเคยทำ เราเลยทำ
สิ่งที่เขาคอมเมนต์คือความสำเร็จของเราแล้ว

การลงมือทำเองไปเลยกลับกลายเป็นข้อดี ไม่ได้ทำให้หลงทาง

ใช่ เราว่าประสบการณ์มันสำคัญกว่าอ่านหนังสือหรือนั่งดูเว็บไซต์
ออกไปทำเลยแล้วเราจะรู้ว่ามันจะทำยังไง มันจะเข้าใจมากกว่า
เหมือนเวลาเราซื้อของใหม่มา ถ้าเราอ่านคู่มือไปโดยไม่มีของอยู่ตรงนั้นมันเปล่าประโยชน์

พอกลายเป็นช่างภาพ
การใช้ชีวิตของคุณเปลี่ยนไปไหม

ออกเดินทางเยอะขึ้น
เสาร์อาทิตย์เมื่อก่อนเราก็จะเดินไปเรื่อยๆ จนถึงย่านเมืองเก่า ภูเขาทอง
แล้วเดินกลับมาบ้าน เพราะตอนนั้นเราเพิ่งกลับมาที่นี่ ยังไม่เห็นว่าเมืองไทยเป็นยังไง
มีอะไรให้ถ่ายบ้าง เลยต้องเดินเอา ไม่รู้ด้วยว่าคนชอบถ่ายรูปที่ไหน
ที่ไหนโดนถ่ายไปเยอะแล้ว ก็ไปมันอย่างนั้นเลยแล้วถ่ายออกมา มุมมองเลยต่างกับคนอื่นนิดนึง
เราเดินแล้วคุยกับคุณป้า คุณลุง สามล้อ คุยหมดเลยว่าทำอะไร เป็นยังไงบ้าง แล้วถ่ายรูปเขา
บันทึกเรื่องราวเล็กๆ เก็บไว้ สนุกดี ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ เพิ่งไปใต้มากับผู้ช่วย 6 – 7 วัน แวะทุกที่ คุยกับทุกคน ถ่ายพอร์เทรตเก็บไว้
เขาก็เชิญเข้าไปกินข้าวในบ้าน (ยิ้ม) ทุกวันนี้ออกเดินทางก็ไม่ค่อยได้เที่ยว
เราตั้งใจไปหาโลเคชันเพื่อถ่ายพรีเวดดิ้ง แวะทุกที่ เก็บโลเคชันเป็นสต็อกเอาไว้

เวลาจะไปไหนนี่เลือกจากอะไร

ไม่เลือก อย่างไปใต้ก็ขับไปเรื่อยๆ
ไม่จองโรงแรม ไม่ทำอะไร ไม่วางแผน เพราะระหว่างทางสำคัญกว่าเป้าหมายจริงๆ นะ
เป้าหมายมีหนึ่ง ระหว่างทางมีเป็นร้อย ยิ่งวางแผนจะยิ่งไม่เห็น เวลาไปหาโลเคชันเราไม่ดูแผนที่เลย
เพราะถ้าเราดูแผนที่ เราจะเห็นสิ่งที่คนเคยเห็นแล้ว พอไปถึง เราจะจอดรถ
เช่ามอเตอร์ไซค์แล้วขับไปเรื่อยๆ ตามซอกตามซอย เมื่อก่อนถึงขนาดเอามอเตอร์ไซค์คันเล็กติดรถไปด้วยเลย
แต่ตอนนี้มันปลดระวางแล้ว กลายเป็นของสะสม

คุณได้อะไรจากการออกเดินทางมากกว่าคนอื่น

ทุกอย่างพิเศษหมด
อย่างแรกเลยคือมันเปิดสมองเรา ถ้าเราอยู่ในที่ที่เดียว
แม้จะรู้เยอะแล้วเกี่ยวกับที่นั้น
มันก็ยังมีส่วนอื่นในสมองที่ยังไม่ได้สัมผัสสิ่งอื่น ตอนเราไปไอซ์แลนด์
ทุกวันที่เที่ยวที่นั่นจะรู้สึกจั๊กจี้ด้านหลังหัวนิดๆ
เพราะมันเปิดเซนส์ใหม่เข้าไปในสมอง ทั้งกลิ่น ภาพ สี แสง เหมือนมันไปเปิดส่วนที่เน่าๆ
อยู่ให้กลับมาทำงาน สมองจะสะสมเซนส์ต่างๆ ขึ้นมาเป็นความทรงจำของเรา
พอเราไปสเปนแล้วเห็นแสงที่สวยมาก เราก็สามารถปรับใช้สร้างเองที่เมืองไทย
คนไม่ได้ไปสเปนแต่เห็นงานเราที่ทำแสงสเปนก็จะบอกว่ามันสวย
ถ่ายยังไงให้ได้แสงแบบนี้ พอเห็นมามากพอเราก็สร้างภาพขึ้นมาใหม่ได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องของคน
เราได้รู้เรื่องราวของเขา ได้เห็นความรู้สึก มันเก็บมาใช้ได้หมด
อย่างความรู้สึกของเขาตอนที่เขาพูดกับเราเกี่ยวกับลูกชายที่เสียไป
มันก็จะรู้ว่าคนที่เขาเศร้าจริงๆ หรือคนที่เขารักกันมีความสุข สีหน้าเขาเป็นแบบนี้นะ
คนรักกันจริงๆ เขาไม่ได้รักกันเหมือนในรูปพรีเวดดิ้งที่ถ่ายกัน มันลึกซึ้งกว่านั้น
ไม่ต้องยิ้มแป้นหรือกอดรัดกัน
มันแค่ความรู้สึกที่หน้าแสดงออกมาได้โดยที่รูปไม่ต้องดูเลี่ยนหรือหวานเกินไป

อยากรู้ว่าเวลาอยู่หลังกล้อง
หลักการทำงานของคุณคืออะไร

ต้องเห็นภาพผลลัพธ์สุดท้ายในหัวก่อน
ต้องรู้ก่อนถ่ายทุกอย่างว่ารูปอย่างนี้ สีประมาณนี้ได้ มีแสงตรงนี้นิดนึงจะสวย
คอนทราสต์เยอะหน่อย เหมือนการระบายสีที่ต้องร่างและเห็นรูปก่อนจะระบายลงไป
เราควรจะรู้ทุกขั้นตอนที่จะทำให้ภาพออกมาเป็นแบบนั้นด้วย เตรียมตัวค่อนข้างเยอะ

แล้ววินาทีที่กดชัตเตอร์คุณใส่ใจอะไรบ้าง

รูปแต่ละแบบก็ต่างกัน
ถ้าถ่ายงานพอร์เทรต พรีเวดดิ้ง หรืออะไรที่เราจัดองค์ประกอบได้ก็ไม่ซีเรียส
แต่ส่วนใหญ่เวลาเราออกไปเดินเล่น มันต้องมีโมเมนต์ของมัน ต้องมีความรู้สึก
เรื่องราว อะไรที่เราเล่าต่อได้ เอามาทำรูปทำสีให้มีความรู้สึกนั้นอยู่ในรูปได้
ก่อนกดชัตเตอร์เราต้องจดจำว่าอากาศเป็นแบบนี้ ความรู้สึกคนนี้เป็นแบบนี้
เก็บเอาไว้ แล้วพอทำรูปเราต้องเอาขึ้นมาให้ได้ว่าคนนี้เขาไม่ค่อยแฮปปี้อยู่นะ
หรือเขารู้สึกดี รูปสวยถ่ายได้ไม่ยาก แต่รูปที่ให้ความรู้สึกเราได้มันมีน้อยกว่า
มันอาจไม่สวย แต่มองแล้วมันรู้สึกได้ถึงความเศร้า ความสนุก เรื่องนี้สำคัญกว่าเยอะ

นอกจากหลักการถ่ายภาพ
ดูคุณต้องใช้ใจในการทำงานมากเลยนะ

ใช่ ต้องพร้อมที่จะรับทุกอย่าง
จำทุกอย่างของคนอื่นมา ถ้าไม่มีใจรักทำไม่ได้ มันจะรู้สึกเหมือนโดนบังคับให้ทำ

คุณเคยบอกว่าตัวเองเป็นช่างภาพ
candid
ทุกวันนี้ยังเป็นอยู่ไหม

เป็น มันสนุกนะ
มันเก็บความรู้สึกจริงๆ ที่ไม่ปรุงแต่ง เราไม่ได้บอก มองกล้องหน่อยคร้าบแล้วเขายิ้ม
เราเก็บช่วงเวลาที่เขาไม่ยิ้ม ช่วงเวลาที่คนไม่ค่อยเห็น มันสนุกกว่า ท้าทายกว่า สำหรับคนอื่นมันก็แปลกตากว่า
เราจะไม่สื่อสารอะไรกับตัวแบบเลย อย่าให้เขารู้ว่าเราถ่ายเขา ให้เขาอยู่ในสภาวะที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด
ส่วนเราก็ต้องคาดการณ์ไว้ก่อนประมาณ 5 สเต็ปว่า เขานั่งอยู่
เดี๋ยวเขาจะยกแก้ว หันไปมองเวที เมื่อไหร่เขาจะกระซิบกับเพื่อนข้างๆ หรือเดี๋ยวเขาจะเดินออกมาแล้วมันย้อนแสงตรงนี้พอดีนะ
ต้องคิดเยอะ

เหมือนอ่านใจคนเลย

จริง ตอนหลังเราอ่านใจคนได้เก่งมาก
เจอครั้งแรกจะรู้ทันทีว่าเขาเป็นคนยังไง บางครั้งไปเจอเพื่อนใหม่
พอแยกกันเราจะทักว่าคนนี้เขามีปัญหาอะไรรึเปล่านะ
เรารู้เพราะเราผ่านความรู้สึกมาหมดแล้ว

เรื่องนี้มีข้อดีที่มากไปกว่าในความหมายของการทำงานไหม

มากกว่าเยอะ
มันทำให้เราเข้าหาคนอย่างระวัง ระวังความรู้สึกของทุกคน
ทำให้เรารู้สึกว่าเข้าใจคนเยอะขึ้น เวลาเราจะไปถ่ายคนที่ไม่เคยเจอหน้ามาก่อน
เราก็จะคุยกับเขาก่อน เราสามารถทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายได้เร็วมาก
เรารู้ว่าเราต้องทำตัวยังไง ถ้าเขาทำหน้าแบบนี้ต้องทำยังไง
แล้วดึงความเป็นตัวตนของเขาให้ออกมาได้มากที่สุด
มันเอามาใช้กับชีวิตประจำวันได้ตลอด

จากที่เห็นคนมาเยอะ
อากัปกิริยาไหนของผู้คนที่ทำให้คุณอยากหยิบกล้องขึ้นมาถ่าย

อารมณ์ที่คนคิด
ชอบถ่ายมาก อารมณ์รักๆ ซึ้งๆ ก็ดี แต่เราถ่ายพรีเวดดิ้งและเวดดิ้งมาเยอะ
ตอนที่เราไม่ได้ถ่ายเขา ตอนที่เขาคุยกันสองคน
จังหวะนั้นแหละที่เราจะเห็นว่าสองคนนี้เขารักกันจริง ในแง่การถ่ายภาพ ตอนเราคิด
หน้าจะอยู่ในสภาวะที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด จะไม่มีความรู้สึกอะไรที่หน้าเลย
หน้ามันนิ่งสุด นิ่งกว่าถ่ายรูปพาสปอร์ตอีก และนั่นคือหน้าที่หาดูยากมาก

คุณเคยบอกว่าอยากยกระดับวงการถ่ายภาพเมืองไทยให้ดีขึ้น
ความรู้สึกพวกนั้นมาจากไหน

เราเห็นเด็กหลายคนเข้ามาในสาขาอาชีพนี้
ดูออกว่าใครมีใจรัก ใครพยายาม เขาจะถามเราเรื่องเทคนิคซึ่งเราก็เล่าให้ฟังหมด
พอเห็นเขาดีขึ้น เราก็ดีใจ แต่คนอื่นจะไม่เข้าใจว่าเขามาจากไหน
ความรักที่เขามีให้การถ่ายรูปมันเยอะเท่าไหน เขาเลยไม่เห็นคุณค่าของงานเด็กพวกนั้น
ทั้งๆ ที่คุณภาพรูปก็ใกล้เคียงกับเรา เขาแค่ไม่มีคอนเนกชันเหมือนเราก็เลยไม่มีโอกาส
พอไม่มีโอกาสจะได้ทำงาน เขาก็ต้องลดราคา พอลดราคา มาตรฐานตัวเองก็ลดตามลงไป เราเห็นแล้วรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม
เราคิดว่าเราควรทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของรูปมากกว่า
เพราะสิ่งที่เหลือในขั้นสุดท้ายจริงๆ มันคือรูป ไม่ว่างานคุณจะมีมูลค่าเท่าไหร่
สิบล้านร้อยล้านสิ่งที่เหลือก็คือรูป คนควรจะชื่นชมและเห็นคุณค่าของรูปถ่ายมากขึ้น

เราอยากให้เด็กทุกคนเห็นคุณค่าของตัวเองก่อน
พอเห็นค่าของตัวเองแล้วก็ตั้งราคาให้เท่ากับค่าของตัวเอง
อยากให้ทุกคนหาจุดที่เป็นตัวเองให้เจอ เราเข้าใจนะว่าแต่ละคนจะมีไอดอลของตัวเองและพยายามทำรูปให้เหมือนไอดอลพวกนั้น
รูปมันสวยจริง แต่มันไม่ใช่ มันจะไม่ทำให้เรารักการถ่ายรูป
มันจะทำให้เราทำซ้ำสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ได้สร้างอะไรใหม่ขึ้นมา

ยกตัวอย่างวงการถ่ายรูปรับปริญญา
ช่างภาพมีเยอะจริงแต่ลูกค้าไม่มีให้เลือกเลยเพราะเกือบทุกคนเหมือนกัน
ช่างภาพ 100 คน มีแค่ 5 คนที่โดดเด่น แต่ถ้าช่างภาพ 100 คนแล้วมี 100
สไตล์ให้เลือก โลกจะน่าดูขึ้นเยอะ
ภาพทุกอย่างจะเด่นขึ้นมา หนังสือเมืองไทย
สื่อและโฆษณาทุกอย่างที่เห็นตามถนนจะสวยขึ้น
ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะทุกคนสื่อสารกันด้วยการมอง
เมืองเราจะมีอะไรน่ามองมากขึ้น
มันไม่ใช่แค่การยกระดับเด็กคนหนึ่ง มันคือมาตรฐานของประเทศ

ทำไมถึงตัดสินใจเข้าร่วมโปรเจกต์ ‘SangSom คนไทย…
ตั้งใจทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก The Inspirers’

เพราะแสงโสมให้เราทำสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว
เรามีกรุ๊ปช่างภาพชื่อ advancer เป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า go
forward เราสร้างกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อจะสร้างเวิร์กช็อปสอนเด็กๆ
ด้วยกัน โปรเจกต์นี้เกิดก่อนแสงโสมจะเข้ามาติดต่อ
พอเล่าโปรเจกต์นี้ให้ฟังเขาก็โอเคเลย สนับสนุนเต็มที่

จากการตั้งโจทย์ให้ส่งรูปถ่ายที่เป็นตัวเองที่สุด
พร้อมแคปชันแรงบันดาลใจที่ทำให้กดชัตเตอร์ คุณอยากเห็นอะไรในตัวคนร่วมกิจกรรม

เราอยากเห็นอะไรใหม่ๆ
อยากเห็นงานที่เป็นตัวเขาเองจริงๆ ปิดสมองส่วนเดิมๆ
ไป แล้วเริ่มใหม่ คิดในหัวเลยว่าเราอยากถ่ายแบบไหน อยากเป็นช่างภาพแนวไหน ไปถ่ายมา
การถ่ายรูปไม่มีถูกไม่มีผิด ถ้ารูปสวยจริง แต่ไม่ให้ความรู้สึกเลยเราก็ตัดทิ้ง
แต่ถ้าเนื้อหาในรูปไม่มีความหมายอะไร เห็นแค่เงาจุดเล็กๆ
แต่เรามองแล้วรู้สึกว่ามันมีอะไร นั่นแหละคือสื่อสารได้ถูกต้อง

เตรียมอะไรไว้ในเวิร์กช็อปบ้าง

จริงๆ
อาจเรียกได้ว่า ‘แคมป์ภาพที่มีชีวิต’
แคมป์ที่จะทำให้คุณเห็นอีกโลกที่คุณไม่เคยเห็น
และการค้นพบตัวตนที่คุณอาจจะคาดไม่ถึง
ซึ่งเราเตรียมวิธีการทำงานทุกสเต็ปให้ว่าจาก
1 – 100 ต้องทำงานยังไง ทำให้ดูหมด ไปถึงโลเคชันต้องทำยังไง
เตรียมตัวยังไง ถ่ายจริงถ่ายยังไง คุยกับนางแบบยังไง
เตรียมพรีเซนเทชันแบบไหน
เราจะไปเวิร์กช็อปนอกสถานที่ที่โลเคชันที่เราเคยถ่ายแล้วแบบเหมือนจริงเลย
จะถ่ายทอดกระบวนการทำงานที่ควรทำให้ฟัง
อยู่ใน work flow นี้แล้วคุณจะสนุก
แต่จะถ่ายยังไงก็แล้วแต่คุณเลย ค้นหาตัวเองให้มากที่สุด
เรายังเตรียมกล้องใช้แล้วทิ้งหมดอายุที่เป็นของสะสมส่วนตัวไว้ด้วย มันเป็นรุ่นพิเศษที่มี optical
zoom ให้เขาได้ใช้ถ่ายกัน หรือพร็อพอย่างเช่น smoke cake
ที่จุดแล้วจะมีควันเยอะมาก แต่ดูสมจริงกว่าเครื่องสร้างควัน
อยากชวนคนรุ่นใหม่ที่มี ‘ความตั้งใจ’
มาแชร์ประสบการณ์ด้วยการส่งภาพถ่ายที่สะท้อนความเป็นตัวเอง
พร้อมคำอธิบายแรงบันดาลใจของภาพ
10 คนเท่านั้นที่เรื่องราวโดนใจ วันที่ 15 – 16 ตุลาคมนี้
เราจะพาคุณไปเวิร์กช็อปกัน ณ เกาะสีชัง ที่ unseen แน่นอน

อะไรทำให้กล้องเป็นอุปกรณ์เล่าเรื่องที่เหมาะกับคุณที่สุด

มันเป็นเครื่องมือที่เรียบง่ายและใกล้ตัวที่สุด
เหมือนที่เขาบอกว่ากล้องที่ดีที่สุดคือกล้องที่ติดตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นกล้องมือถือ
กล้องใช้แล้วทิ้ง กล้องปิ๊กป๊อก ถ้ามันอยู่กับตัวคุณ
มันเป็นไอเท็มที่ดีและง่ายที่สุด วาดรูปเล่าเรื่องอาจจะทำได้เหมือนกัน
แต่น้ำก็ต้องใช้ สีก็ต้องมี พู่กันก็ต้องหิ้ว กล้องคือสิ่งที่เร็วที่สุด
บางช่วงขณะมันไม่สามารถบันทึกไว้ได้ถ้าไม่มีกล้อง กล้องคือสิ่งที่ดีที่สุด
เราว่านะ

เวลากลับไปดูรูปถ่ายเก่าๆ ที่ตัวเองถ่าย
คุณเห็นอะไรใหม่ๆ ในนั้นไหม

เรารู้สึกถึงเวลาของยุคนั้น
เพราะเราเก็บความรู้สึกไว้เยอะในแต่ละรูปของเรา
เราจะรู้ว่ารูปอย่างนี้เป็นยุคสมัยบุกเบิก สีรูปต้องแบบนั้น
ความรู้สึกสมัยนั้นก็ไม่เหมือนกัน โลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนไม่มีโซเชียลมีเดีย
อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก รูปมันไม่จำเป็นต้องพร้อมจะโพสต์ตลอดเวลา
ไม่ต้องเฟรมสี่เหลี่ยม เราอยากเอารูปแต่ก่อนมาให้คนเห็นเหมือนกันว่ามันเป็นยังไง
เรามีรูปเยอะมาก มีฮาร์ดดิสก์ 20 – 30 ตัว ทุกรูปที่เคยถ่ายจะเก็บหมด
ไม่ทิ้งเลย ทุกรูปแม้กระทั่งรูปมือถือโนเกียเครื่องเก่าที่เคยใช้

รูปแบบนั้นเก็บไว้ทำไม

เผื่อวันนึงเราไม่อยู่แล้วไง
เราทิ้งร่องรอยของเราไว้ ถ้าไม่มีรูปก็คือเราไม่เคยมีอยู่นะ
นี่คือร่องรอยที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังดูว่าเราเคยผ่านพวกนี้มาหมดแล้ว เคยรู้จักคนนี้
เคยเป็นแฟนกับคนนี้แต่ตอนนี้ไปแต่งงานกับคนนู้น พอมาดูแล้วมันก็เจ๋งดี

สุดท้ายแล้วรูปถ่ายให้อะไรกับคุณ

มันเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในชีวิตมนุษย์ทุกคน
เพราะฉะนั้นอย่ากลัวว่าถ่ายแล้วเราจะไม่สวย อย่ามาถ่ายเรานะ ให้เขาถ่ายไป
วันหนึ่งทุกคนตายหมด อย่างน้อยลูกหลาน ญาติ เพื่อน ก็ยังมีรูปถ่ายเก็บไว้ดู หน้าแกอาจจะไม่สวย
แต่ฉันจำได้นะว่าแกเป็นคนแบบนั้น มันคือสิ่งเดียวที่เหลืออยู่จริงๆ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รักการถ่ายภาพเพื่อบอกเล่าความรู้สึกสุดพิเศษ
คว้าโอกาสเข้าร่วมเวิร์กช็อป
‘แคมป์ภาพที่มีชีวิต’
ของพรพจน์ในโปรเจกต์ ‘SangSom คนไทย…
ตั้งใจทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก The Inspirers’ ได้เพียงทำตามกติกาส่งภาพถ่ายที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของคุณมากที่สุด
พร้อมแคปชันเล่าแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ คลิกดูรายละเอียดและวิธีการส่งผลงานได้ที่
www.facebook.com/sangsomexperience #SangSomTheInspirers

AUTHOR