Studio Persona พื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนที่อยากใช้ศิลปะมาคุยกัน

Highlights

  • ปัท–ปรัชญพร วรนันท์ นักศิลปะบำบัดที่เพิ่งเปิด Studio Persona สตูดิโอศิลปะสำหรับทุกคนที่เปิดใจพร้อมคลี่คลายสิ่งที่อยู่ภายในออกมา อนุญาตให้ตัวเองเศร้าได้ โกรธได้ แล้วหาวิธีการจัดการกับความรู้สึกทั้งหลายของตัวเอง ผ่าน creative process
  • Studio Persona เต็มไปด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปศิลปะไม่จำกัดรูปแบบ ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ จะรอกิจกรรมประจำเดือนที่ตรงใจ หรือติดต่อไปขอจัดกิจกรรมกลุ่มเองก็ได้
  • พื้นที่อันกว้างขวางโปร่งสบายของ Studio Persona ถูกออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลาย ไม่สงวนไว้เป็นพื้นที่ personal แต่ยังมองไปไกลถึงการแชร์พื้นที่อันแสนสงบท่ามกลางย่าน CBD แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่สำหรับการทำงานศิลปะสำหรับใครก็ตามที่มีฝัน แต่ยังติดขัดเรื่องสถานที่อีกด้วย

ในวันที่เหนื่อยล้า ท้อแท้ หมดหวัง บางคนอาจต้องการคนรับฟัง บางคนอาจต้องการเพียงพื้นที่เงียบๆ สำหรับสงบจิตใจ ให้เราได้จัดระเบียบความคิดที่สับสนวุ่นวายให้เข้าที่เข้าทางก่อนที่จะก้าวไปต่ออีกครั้ง หรือพื้นที่ที่ได้เป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะตัดสินความคิดในแง่ลบที่กัดกินหัวใจของเราอยู่ หลายคนอาจมีพื้นที่นั้นแล้วหลายแห่ง แต่สำหรับบางคนที่กำลังตามหาอย่างใจจดจ่อ เราอยากให้ตั้งใจอ่านบรรทัดต่อไป

ปัท–ปรัชญพร วรนันท์ ฝันถึงพื้นที่อย่างที่เล่ามาข้างบน ตั้งแต่เธอมีอายุได้ 8 ขวบ และเพิ่งสร้างให้เกิดขึ้นจริงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ในนามของ Studio Persona สตูดิโอศิลปะสำหรับทุกคนที่เปิดใจพร้อมให้ศิลปะเป็นช่องทางที่ช่วยคลี่คลายสิ่งที่อยู่ภายในของแต่ละคนออกมา

persona เป็นศัพท์ในทางจิตวิทยา หมายถึง ตัวตนของเราที่แตกต่างกันออกไปเมื่ออยู่ในบริบทที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวตนในโซเชียลมีเดีย ตัวตนเมื่ออยู่กับครอบครัว ตัวตนเมื่ออยู่กับคนรัก ตัวตนในที่ทำงาน หรือตัวตนเมื่ออยู่กับตัวเอง ล้วนแต่มีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน โดย persona จะมาคู่กับ shadow ซึ่งเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ข้างในใจ เป็นความเปราะบาง ความรู้สึกอ่อนแอ เกลียดตัวเอง แต่ก็เป็นขุมพลังมหาศาลที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ตามมาได้อีกมากมาย

“คำถามสำคัญคือ เราจะรักษาสมดุลของสองสิ่งนี้ได้อย่างไร บาลานซ์ในแต่ละช่วงชีวิตของเราคืออะไร ปัทเชื่อว่าตัวเราเปลี่ยนแปลงตลอด ปัทเมื่อปีที่แล้วไม่เหมือนปัทในตอนนี้ และเชื่อว่าในอีกสองสัปดาห์จะเปลี่ยนไปเหมือนกัน ทุกคนกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ มันอาจจะเป็นขุมพลังที่ดีที่สุดที่เราต้องเผชิญหน้า แล้วก็ทั้งอ่อนไหวไปกับมัน ยอมรับมัน เปราะบางบ้าง อยู่กับมันบ้าง แล้วก็ปล่อยให้ตัวเองเปลี่ยนผ่านไปกับมัน”

เครื่องมือที่ปัทเลือกใช้เพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในชีวิตก็คือ ‘ศิลปะ’

“ด้วยความที่เป็นลูกคนเดียว เราใช้เวลาในวัยเด็กไปกับการวาดรูปและอ่านหนังสือเงียบๆ คนเดียวมาตลอด เราอยากมีใครสักคนให้แชร์ให้แบ่งปัน เรามีเรื่องราวที่พบเจอมาแต่ไม่มีโอกาสได้ express เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา เราเกิดคำถามเยอะ แต่ว่าคำถามเหล่านั้นไม่เคยมีใครให้คำตอบเรา ไม่รู้ว่าเราจะไปหาใคร จำได้เลยว่าวันหนึ่งตอน 8 ขวบเราได้มีโอกาสไปเรียนศิลปะ พอเดินออกมาแล้วเราก็คิดในใจว่า วันหนึ่งเราอยากมีพื้นที่ที่ทุกคนได้เป็นตัวเอง มีความสุข คิดแค่นั้นเลย

“หลังจากนั้นเราก็ใช้ชีวิตของเราไปเรื่อยๆ ในขณะที่ภาพนั้นมันยังอยู่ ปัทก็ไม่ได้คิดว่าต้องหน้าตาแบบนี้ ดีไซน์แบบนี้ ชื่อแบบนี้ แต่มันเป็นแค่เพียงภาพที่เราเห็นว่า ทุกคนเป็นตัวเองได้ในนั้น ส่วนตัวปัทเชื่อในเรื่องของพลังจินตนาการมาก แน่นอนในชีวิตเราทุกคนมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน หรืออะไรก็ตามที่เป็นปัจจัยที่ทำให้บางทีไม่ถึงฝัน แต่ลึกๆ ปัทรู้สึกว่า ถ้าเราเชื่อมโยงกับมันอยู่ บางที ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่นะ มันอาจจะเกิดขึ้นได้จริงๆ ปัทเชื่ออย่างนั้น”

คำตอบอยู่ในคำถาม

“เราเป็นเด็กที่ไม่ค่อยถามคำถามตั้งแต่เด็กจนโต หลังจากเรียนจบจากครุศาสตร์ ศิลปศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราไปเรียนต่อศิลปะบำบัดที่ประเทศอังกฤษ ก็เริ่มสังเกตว่าเราไม่ค่อยมีคำถามเหมือนเพื่อน ไม่ค่อยเห็นแย้งไม่ค่อยเห็นต่าง กลัวที่จะเห็นต่าง กลัวที่จะแตกต่าง ก็เลยเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เรามองว่าโครงสร้างทางสังคม ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบการปกครองในบ้านเรามันมีกรอบเยอะ เราอยู่ในกรอบแล้วครอบด้วยอะไรมากมายอีกที แล้วบางทีมันส่งผลต่อเราโดยไม่รู้ตัว”

ปัทตั้งคำถามกับระบบการศึกษาของเมืองไทยถึงการให้ความสำคัญต่อวิชาศิลปะ ซึ่งเรียนเพียงหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว วิชาศิลปะ ดนตรี หรือพลศึกษา ช่วยเรื่องพัฒนาการเด็กได้อย่างมาก

แม้จะไม่ได้ตั้งใจจะโตขึ้นเป็นครูสอนศิลปะตั้งแต่แรก แต่ทุกวันนี้ปัทย้ำว่าตัวเองรักการเป็นครู และเป็นอาชีพที่เธอภูมิใจมากที่สุด “ครูเป็นอาชีพที่น้อยคนจะให้คุณค่า แต่ปัทมองว่าครูเป็นอาชีพที่เพิ่มคุณค่าให้แก่คนคนหนึ่งได้มากๆ เพราะเราได้ใกล้ชิดเขาในช่วงเวลาที่เขากำลังเติบโต ซึ่งสำคัญมากในการที่เขากลายเป็นใครสักคน ความแตกต่างกันระหว่างเป็นครูศิลปะกับการทำงานศิลปะบำบัดก็คือ ศิลปะบำบัดเป็นกระบวนการหนึ่งที่เยียวยาคนที่อยู่ในสภาวะไม่สมดุล ซึมเศร้า คนที่มีสภาวะที่ติดขัด มีช่วงชีวิตที่ยากลำบาก ทำงานได้กับหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มผู้สูงอายุ ย้อนกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตว่าเขาเติบโตหรือทำงานกับภาวะที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างไร แต่การสอนศิลปะคือการทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เติบโต ทำความเข้าใจ การสอนคือการตั้งคำถามด้วยการให้เขามีคำถามของเขาเอง ซึ่งจริงๆ มันก็มีความเชื่อมโยงกันอยู่เยอะ เพราะในกระบวนการศิลปะบำบัดเราก็ต้องการการถาม เพื่อเดินทางไปสู่ศิลปะเหมือนกัน”

พูดคุยกันผ่านศิลปะ

“ศิลปะเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของความเป็นมนุษย์นะ ในวัยเด็ก ทั้งจินตนาการ ทั้งการเล่น ทั้งการ expression ทุกอย่างเป็นส่วนผสมของความเป็นมนุษย์ที่มีความสุข เป็นมนุษย์ที่อนุญาตให้ตัวเองเศร้าก็ได้ โกรธก็ได้ แล้วก็รู้วิธีการจัดการกับตัวเอง เพราะบางทีคนเราไม่ได้ถูกฝึกมาให้รู้ว่าเราสามารถแสดงความรู้สึกตัวเองได้สักเท่าไหร่ เลยอยากทำพื้นที่ตรงนี้ ส่วนตัวปัทมีแพสชั่นกับการทำกิจกรรมกับกลุ่มคนที่เป็นผู้ใหญ่มาก เพราะรู้สึกว่าเราเคยเป็นเด็กมาก่อน และบางทีก็ยังมีเด็กคนหนึ่งอยู่ในตัวเราเสมอ เป็นเด็กที่ผ่านประสบการณ์มามากมาย ปัทรู้สึกว่าถ้าเรามีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้มีโอกาสได้แชร์ ได้เรียนรู้ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ creative process น่าจะดี ปัทไม่ต้องการคนวาดรูปเป็น แค่ชอบ สนใจ รู้สึกมีส่วนร่วม อยากลอง อยากมีประสบการณ์ อะไรก็ได้ นั่นคือพร้อมแล้ว”

ด้วยความตั้งใจนี้ Studio Persona จึงมีกิจกรรมเวิร์กช็อปศิลปะไม่จำกัดรูปแบบ ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ที่ผ่านมามีทั้งกิจกรรมศิลปะที่ฝึกประสาทสัมผัสสำหรับเด็ก หรือกิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่อย่างการค้นลึกลงไปยังภายใน มีทั้งการค้นหาตัวตนผ่านการวาดภาพสีน้ำ การนำดอกไม้มาจัดเรียงเย็บเล่มเป็นสมุด หรือ Expressive Arts Group ที่เปิดโอกาสให้คนจำนวนหนึ่งมาแชร์ความรู้สึกต่อกัน แล้วต่างคนต่างค่อยๆ เปลี่ยนความรู้สึกเหล่านั้นให้กลายเป็นงานศิลปะ โดยไม่จำกัดว่าแต่ละครั้งจะต้องใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

“เมื่อเราทำงานกันหลาย medium จะมีการ shift เกิดขึ้น เช่น มีหนึ่งเลเยอร์ของเราที่ยังทำงานกับเรื่องเดิม แต่ว่าเรา transform มันด้วยการเขียน ทำงานในเชิงลึกมากขึ้น จากเขียนเราก็ transform มันอีกครั้ง เราได้ transform มัน เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของมัน มีเพื่อนมองเห็นเราทำ แล้วเขาซัพพอร์ตเราอยู่ ประสบการณ์นี้ ไม่ว่าแต่ละคนจะนำอะไรกลับไป เราหวังว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาได้นำไปใช้ในชีวิตจริงได้”

 

วงกลมที่โอบรับทุกคนไว้

เมื่อก้าวเข้ามาใน Studio Persona สายตาของเราจะได้พบปะกับภาพเขียนหลากหลายแนวที่เรียงรายอยู่บนผนัง ทุกเส้นสีแสงให้ความรู้สึกสงบ เบาสบาย ผ่อนคลาย การออกแบบพื้นที่ทำกิจกรรมเป็นห้องกระจก 3 ห้องเชื่อมต่อกันเป็นทรงโค้ง เว้นตรงกลางไว้เป็นวงกลมเปิดโล่ง

“วงกลมเป็น complete shape เราพยายามจะเอาเซนส์ของวงกลมเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานศิลปะร่วมกับทุกคนด้วย เวลานั่งรวมกันก็จะนั่งเป็นวงกลม ทั้งในการเริ่มต้น การแชร์ การจบ เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้มันสร้างความรู้สึกถึงความปลอดภัย แล้ววงกลมก็เป็นสัญลักษณ์ของการซัพพอร์ตกัน มีโมเมนต์ที่เราต้องทำงานอยู่กับตัวเราคนเดียว แต่เมื่อเรามองไปข้างๆ ก็มีเพื่อนซัพพอร์ตเราอยู่ใกล้ๆ”

สตูดิโอห้องซ้ายสุดชื่อห้อง The Moon มีหน้าต่างบานโตเป็นรูปวงกลมเช่นเดียวกัน เป็นห้องที่จะได้เห็นพระอาทิตย์ตก และพระจันทร์ขึ้นในตอนหัวค่ำ ห้องถัดมาชื่อว่า The Sun เพราะแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นทางนี้ แม้ตอนนี้ตึกรอบข้างจะบดบังไปหมดแล้วก็ตาม ส่วนห้องใหญ่ที่สุดตั้งชื่อว่า Universe ที่สื่อถึงความกว้างขวางของจักรวาลจริงๆ และจักรวาลภายในตัวเราอันไม่มีที่สิ้นสุดด้วย ด้วยเพดานที่สูงโปร่งและบานหน้าต่างที่เปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาได้อย่างเต็มที่ ทำให้แม้จะแวดล้อมไปด้วยคอนโดมิเนียมสูงเบียดเสียดกันอยู่รายรอบ แต่ที่นี่ก็กลับทำให้ทุกคนที่เข้ามารู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในโอเอซิสอันชุ่มฉ่ำท่ามกลางเมืองแนวตั้งภายนอก

“ปัทตั้งใจจะทำพื้นที่ให้ใช้ได้หลายรูปแบบได้มากที่สุด ห้องนี้เลยมีกระจก มีผ้าม่านเพราะอยากให้คนทำละครเวทีมาใช้ได้ ตั้งใจไม่ให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของตัวเองคนเดียว เพราะปัทมองว่าตัวเองช่างโชคดีที่มีโอกาส ปัทยอมรับโอกาสที่ปัทได้รับในชีวิตมากๆ และคิดว่าหากเราแชร์อะไรได้เราจะแชร์ทั้งหมดที่เรามี ใครที่มองหาพื้นที่สำหรับการทำงานศิลปะ อยากทำอะไรที่ฝันไว้แต่ยังติดขัดเรื่องสถานที่ก็สามารถมาพูดคุยกันได้ สำหรับปัท อะไรก็ตามที่เป็นข้อจำกัด แล้วเราจัดการกับมันได้ เราจะทำ เช่น พื้นที่ตรงนี้เราทำให้เป็นพื้นปูนเปลือย เพื่อให้ทำความสะอาดง่าย บางคนรีบมาขอโทษที่ทำเลอะ เพราะว่าเราถูกโครงสร้างการศึกษาบังคับเรามาแบบนั้น ไม่ให้เราระบายสีนอกเส้น หรือไปติวโรงเรียนศิลปะก็จะเลอะไม่ได้ แต่เราว่าศิลปะที่ดีมันคือการที่คุณทำอะไรก็ได้ แค่มีเวลาที่ดีกับมันนั่นคือที่สุดแล้ว ศิลปะควรจะเป็นแบบนั้นไม่ใช่เหรอ เพราะฉะนั้นเลอะไปเลย เราดีใจมากที่เห็นคนระบายสีบนผนังเป็นครั้งแรก นี่คือสิ่งที่เราต้องการจริงๆ”

แบ่งเบาก่อนก้าวต่อไป

สิ่งที่ Studio Persona มอบให้จึงไม่ใช่การทำศิลปะเพื่อแก้ปมปัญหาภายในใจของเราได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ความรู้สึกภายในได้ทำงานอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้แสดงออกสิ่งที่อยู่ในใจผ่านวิธีการทางศิลปะที่ไม่มีผิดถูก

“ทุกคนจะมีประเด็นบางอย่าง เหมือนเป็นเรื่องราวในชีวิตที่เราหยิบใส่กระเป๋าแล้วก็เดินมา เวลาเรามาทำศิลปะบำบัดก็คือเอากระเป๋าออกมาเท แล้วก็มาดูว่าเกิดอะไรกันขึ้น แบกอะไรมาตั้งหลายปี มีหินก้อนเบ้อเริ่มเลย บางทีอาจจะอยากแบกต่อนะ แต่เรา transform หินให้กลายเป็นนุ่นที่เบาขึ้นได้ไหม หรือหินก้อนไหนไม่จำเป็นแล้วเอาออกจากกระเป๋ากันดีไหม ปัทรู้สึกว่าเราทุกคนมีอะไรบางอย่างในกระเป๋า แล้วก็ช่วงชีวิตหนึ่งได้ลองมาจัดการ ดูแลทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับเราผ่านกระบวนการทางศิลปะ แล้วพอมันเบาขึ้น เราก็สบายขึ้น เดินได้เร็วขึ้น เดินได้มั่นใจขึ้น ใจเราเปลี่ยน ท่าทางของร่างกายเราก็เปลี่ยนไปด้วย”

กระบวนการทางศิลปะอาจไม่มีคำตอบสำเร็จรูปมอบให้สำหรับทุกคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจระหว่างที่ได้ปาดฝีแปรงลงบนกระดาษ โปรยกากเพชรวิบวับลงบนผืนผ้า หรือฉีกกระชากกรอบที่เคยกักขังตัวเองไว้ จะทำให้เรามองเห็นแนวทางใหม่ๆ หรืออาจจะเป็นแนวทางเดิมที่ดีขึ้น สำหรับเผชิญหน้ากับปัญหาที่เข้ามาในชีวิตประจำวันอันสับสนยุ่งเหยิง

วิธีการที่เราได้เรียนรู้ความเป็นไปได้จากศิลปะนี่แหละที่จะคอยช่วยให้เราประคับประคองชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าจะเจอกับความปกติสุขหรือปกติทุกข์ก็ตาม

 


สนใจกิจกรรมของ Studio Persona ติดตามได้ที่ facebook.com/studiopersonabkk

และ instagram.com/studiopersona.bkk

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน