ช่างสัก

หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวว่า Art is everywhere หรือศิลปะอยู่ในทุกที่
ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือแม้แต่ตึกรามบ้านช่องที่เราเห็นจนชินตาก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะทั้งสิ้น
แต่จะมีศิลปะรูปแบบไหนที่จะติดตัวเราไปได้ทุกที่ทุกเวลาเหมือน ‘รอยสัก’ บ้าง?

ถึงรอยสักจะเคยเป็นสิ่งที่ใช้ลงโทษและแบ่งชนชั้นในสังคม
แต่เมื่อได้ผ่านการขัดเกลาและพัฒนามานานหลายปี
การสักก็กลายเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่วิจิตรและสะท้อนให้เห็นตัวตนของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
เรามีโอกาสได้ทำความรู้จักกับงานสักอย่างใกล้ชิดผ่านการทำงานของ ช่างมิ้ม-อานนทร์ พีรนันทปัญญา ช่างสักไทยชื่อดังจากร้าน
MIMPTATTOO ที่เคยมีโอกาสได้จัดแสดงผลงานรอยสักใน Musée du quai Branly ที่ประเทศฝรั่งเศส

1. เข็มแรกของช่างสัก

เพราะรอยสักเป็นสิ่งที่แก้ได้ยากและติดตัวเราตลอดไป
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ช่างสักมือใหม่หลายคนจึงมักเริ่มลองสักกับวัสดุอื่นที่มีสัมผัสใกล้เคียงกับผิวหนังคนก่อน
เช่น รองเท้าฟองน้ำ หนังหมู หรือหนังเทียม เมื่อฝึกปรือจนมั่นใจว่าสักลงบนผิวหนังจริงได้แล้ว
ก็ควรเริ่มสักจากลายที่ไม่ซับซ้อนและง่ายต่อการแก้ไขก่อน เช่น รอยสักแบบ Tribal (ชนเผ่า)ที่มีรูปแบบชัดเจน หรือรอยสักแบบ Minimal และรอยสักแบบจุดที่มีรายละเอียดไม่มาก
หากชำนาญแล้วจะลองสักรูปแบบอื่นๆ ตามความสนใจ เช่น Realistic (รอยสักรูปเสมือนจริง) Japanese (รอยสักแบบญี่ปุ่น)
หรือรอยสักลายโอลด์สคูลก็ยังไม่สาย

2. เข็มแห่งตัวตน

เมื่อได้ลองสักหลายๆ รูปแบบแล้ว ช่างสักจะเริ่มค้นพบรอยสักที่เป็นลายเซ็นของตัวเอง
อาจจะผสมรอยสักหลายรูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน หรือสร้างสรรค์รอยสักจากจินตนาการก็ได้
อย่างช่างมิ้มจะถนัดรอยสักแบบญี่ปุ่นที่สอดแทรกความเป็นไทยลงไปด้วย

ลายสักที่เป็นเอกลักษณ์ของช่างสักก็เหมือนลายมือที่ใช่จะเลียนแบบกันได้ง่ายๆ
ถึงจะลงเข็มตามได้ทุกเส้นทุกรอย แต่ความหนักเบา ความรุนแรง
ความอ่อนของงาน ย่อมต่างกันอยู่ดี

3. เข็มที่ขยับตามหัวใจ

ลวดลายสวยๆ จากปลายเข็มที่เราเห็น เกิดจากฝีมือและความรู้สึกของช่างสักซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้รอยสักโลดโผนและสื่อถึงอารมณ์ได้
เมื่อสักลายอะไรก็ตาม ช่างสักมักจะต้องอินและหมกมุ่นไปกับรอยสักนั้นๆ ด้วย บางครั้งความรู้สึกเหล่านี้ก็ยากที่จะสลัดทิ้ง
เหมือนนักแสดงที่เข้าถึงบทบาทจนถอนตัวไม่ขึ้นแม้การถ่ายทำจะจบลง

ครั้งหนึ่ง ช่างมิ้มเคยปฏิเสธรับงานสักรูปพระที่เผาตัวตายเพื่อเรียกร้องสิทธิในเวียดนาม
เขาเข้าใจดีว่าภาพนี้เป็นการเรียกร้องไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่เขาอาจรู้สึกหดหู่ได้หากต้องเข้าถึงรอยสักนี้
การปฏิเสธงานของช่างสักไม่ได้หมายถึงความหยิ่งผยอง แต่ช่างสักก็เป็นศิลปินคนหนึ่งที่ทำตามหัวใจเท่านั้น

4. เข็มสะอาดเพื่อเพื่อนมนุษย์

แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นช่างสักคือการรักษาสุขลักษณะ
เมื่อเจอเลือด เข็ม แผลสดต่างๆ ที่ทำให้ติดเชื้อได้ก็ต้องระมัดระวังให้ดี
ขณะใส่ถุงมือเปื้อนเลือดก็ไม่ควรไปจับสิ่งของอื่นและต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้สักให้ดีทุกครั้ง
ต่อให้ช่างสักจะฝีมือฉมังขนาดไหน แต่ถ้าทำให้เพื่อนมนุษย์ต้องติดโรค
ก็ไม่มีทางเป็นช่างสักที่ดีได้เลย

5. เข็มที่เชื่อมความผูกพัน

ความสัมพันธ์ของช่างสักกับลูกค้าก็เหมือนช่างทำผมกับสาวๆ
ที่มาทำผม คือค่อนข้างใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กันเกือบตลอดเวลา ทำให้ช่างสักต้องเริ่มฝึกสร้างบทสนทนาเพื่อบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
ทั้งช่างสักและลูกค้าเลยได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นความชอบในรอยสัก
รสนิยม หรือประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เมื่อมีลูกค้าใหม่เข้ามา
ช่างสักก็จะถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ที่ได้ยินมาให้ฟังอีกที
เหมือนเป็นการสร้างสังคมเล็กๆ ขึ้นในร้านสักก็ว่าได้

6. เข็มที่ผูกมัดหน้าที่ของช่างสัก

หลายคนเข้าใจว่าช่างสักเป็นอาชีพที่มีอิสระในการเลือกรับงานและจะเข้างานกี่โมงก็ได้
แต่ความจริงแล้ว ช่างสักก็มีหน้าที่ต้องไปทำงานทุกวันตามเวลาเหมือนอาชีพอื่นๆ แถมยังเป็นงานที่ต้องนั่งอยู่ในท่าเดิมๆ
ถ้านั่งไม่ถูกวิธีย่อมมีปัญหากับร่างกายแน่นอน หรือบางทียังต้องกลับไปคิดรอยสักของลูกค้าต่อที่บ้านหรือเอางานสักไปฝึกไปวาดต่อ
เรียกได้ว่าถ้าไม่รักงานสักจริง คงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเหนื่อยแน่

7. เข็มหลากหลายที่สร้างสรรค์ลวดลายอย่างแตกต่าง

งานสักถือเป็นศิลปะเฉพาะกลุ่ม
แต่ละกลุ่มก็มีความชื่นชอบแตกต่างกันไป การจะวางกรอบจำกัดหรือกำหนดทิศทางให้วงการช่างสักจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
ช่างสักแต่ละคนมีสิทธิที่จะแสดงตัวตน ความคิด ฝีไม้ลายสักลงบนผิวหนังในแบบตัวเอง ถึงผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจะต่างกัน
แต่สิ่งที่ช่างสักมีร่วมกันก็คือการสร้างสรรค์ศิลปะที่ติดตัวผู้คนไปทุกที่ให้มีความหมายที่สุด

ภาพ ปวริศา สันติวิริยกาญจน์

AUTHOR