มือตบ นกหวีด หมุดจำลอง และสารพัดสิ่งของการเมืองภาคประชาชนใน ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’

Highlights

  • มือตบ ตีนตบ นกหวีด หรือป้ายในม็อบ เป็นสิ่งที่เราเห็นได้จากการชุมนุมตลอด 14 ปีที่ผ่านมา
  • แต่ใช่ว่าสิ่งของเหล่านี้จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ใช้ร่วมกันในแต่ละกลุ่มการเมือง แต่ยังมีเรื่องเล่าทางการเมืองอยู่ในของแต่ละชิ้นด้วย
  • ด้วยเหตุนี้เอง แว่น–อานนท์ ชวาลาวัณย์ จึงก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนเพื่อรวบรวมสิ่งของจากการชุมนุมทางการเมือง โดยมีทั้งการชุมนุมในประเด็นเชิงโครงสร้างไปจนถึงประเด็นนโยบายสาธารณะ เช่น การคัดค้านเหมือง เขื่อน รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ เช่น การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งการทำร้ายร่างกายและการอุ้มหาย

พิพิธภัณฑ์สามัญชน
ว่ากันตามเนื้อผ้าและไทม์ไลน์ที่ผ่านมา เราคงไม่ปฏิเสธว่ากลิ่นอายการเมืองหลังรัฐประหารปี 2549 ยังคงอบอวลอยู่ในมวลอากาศ 

แม้วาระหรือบริบทจะทำให้เรื่องเล่าบางอย่างเปลี่ยนไป แต่ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาเจอกับความขัดแย้ง การประท้วง วิกฤตทางการเมืองซึ่งเราไม่มีทางเข้าใจได้ในตอนนั้น ทำให้ใครหลายคนอยากขวนขวายกลับไปทำความเข้าใจอดีตอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าจากปากของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ข้อเขียนทางวิชาการ ข่าวสารเก่าๆ ที่หาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ต หรือร่องรอยทางโซเชียลมีเดียที่ใครหลายคนแสดงความคิดเห็นไว้ ล้วนเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจได้ แต่ยังมีอีกแหล่งข้อมูลที่จะช่วยให้เราเข้าใจการเมืองภาคประชาชนได้ชัดขึ้นอีก

‘ของ’ ในม็อบอย่างมือตบ ตีนตบ ผ้าโพกหัว นกหวีด หรือสารพัดสิ่งอย่างที่ผู้ชุมนุมใช้เป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน ล้วนเป็นสิ่งของที่เล่ารายละเอียดการเมืองได้น่าสนใจ และเพราะเห็นความสำคัญตรงนี้ ทำให้ แว่น–อานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนขึ้นมา

พิพิธภัณฑ์สามัญชน

พิพิธภัณฑ์สามัญชน
เขารวบรวมของจากพื้นที่ชุมนุมตั้งแต่ช่วงปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ทั้งการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. หรือการชุมนุมประเด็นสิ่งแวดล้อม การเมืองในต่างจังหวัด รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ เช่น การเลือกตั้ง การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยจัดแสดงในโซเชียลมีเดียเป็นหลัก และแวะเวียนไปจัดตามคำเชิญในสถานที่ต่างๆ บ้าง

ครั้งนี้เราเลยชวนเขามาจัดแสดงสิ่งของในบทความเราบ้าง พร้อมเล่าถึงที่มาที่ไปและการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในบ้านเรา

พิพิธภัณฑ์สามัญชน

การเมืองภาคประชาชนในพิพิธภัณฑ์สามัญชน 

แว่นได้ไอเดียของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี เขาเคยร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ใน International Institute of Social History จากประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งเป็นหอจดหมายเหตุรวบรวมสิ่งของในการเคลื่อนไหวภาคประชาชนทั่วโลก 

พิพิธภัณฑ์สามัญชน
“เขามาเก็บของในช่วงการชุมนุมของพันธมิตรและการคัดค้านเขื่อนต่างๆ แล้วผมได้มีโอกาสเข้าไปช่วยงาน แต่ตอนนั้นยังไม่คิดว่าจะออกมาเก็บของอะไร เพียงแต่ได้เห็นแล้วว่ามันมีไอเดียแบบนี้” 

ผ่านมาจนถึงปี 2561 ด้วยหน้าที่การงานทำให้เขาได้เข้าร่วมงาน ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ จากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งทำให้แว่นเริ่มหันมาสนใจเก็บของจากการชุมนุมของผู้คนตามท้องถนนอย่างจริงจัง

“สิ่งที่ทำให้ผมฉุกคิดได้ในงาน We Walk คือจะมีกิจกรรมหนึ่งที่เขาจะเอาผ้าสีขาวที่มีรูปวาดบางส่วนมาปูที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น แล้วให้คนเอาเท้าจุ่มสีมาเหยียบเป็นสัญลักษณ์ว่ามาถึงขอนแก่นแล้ว เสร็จแล้วเอาไปถ่ายรูป มาจนถึงตอนนี้ก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ไหน มันเลยเป็นไอเดียว่าภาคประชาสังคมมีการทำของที่ใช้รณรงค์น่าสนใจหลายอัน แต่ว่ามันไม่มีการเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบ เพราะบางคนมองว่าเป็นของที่ใช้ในม็อบแล้วจบ”

พิพิธภัณฑ์สามัญชน

ในฐานะที่เคยศึกษาร่ำเรียนประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปริญญาตรีและติดตามการเมืองมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา เขาจึงเห็นว่าสิ่งของเหล่านี้เป็นมากกว่าสัญลักษณ์ที่ใช้ในการเรียกร้องในที่ชุมนุม แต่ยังเป็นเรื่องเล่าระหว่างบรรทัดที่ช่วยเติมเต็มความเข้าใจการเมืองไทยนอกจากในหนังสือเรียน ข้อเขียนทางวิชาการ หรือข่าวได้

“ถ้าไม่มีการพูดเรื่องการเมืองบนท้องถนน เราก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ารัฐประหารปี 2549 หรือ 2557 มันมายังไง เราก็จะเห็นแต่การเมืองในสภาและการเมืองภาพใหญ่ พอเก็บรวบรวมจริงจังเราจึงต้องเล่าออกมาด้วยว่าของชิ้นนี้มันสำคัญยังไง มีที่มาที่ไปยังไง”

นับจากนั้นพิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงเริ่มต้นขึ้น โดยรวบรวมของจากกิจกรรมที่แว่นได้ไปเข้าร่วมบ้าง หรือเปิดรับบริจาคจากผู้ที่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองบ้าง

พิพิธภัณฑ์สามัญชน

“ผมไม่แน่ใจว่าช่วงแรกๆ เก็บอะไร แต่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นของเก่า เช่น เวลาไปตามคดีที่ศาลจะเจอกับป้าๆ เสื้อแดง พอรู้ว่าเราทำอะไรเขาก็ขนเสื้อยืดมาให้ ขนของต่างๆ มาให้ แล้วหลังจากนั้นเวลาไปม็อบผมเจอป้ายอันไหนก็จะเก็บไว้ แต่ว่าจะไม่ขอระหว่างที่เขาใช้ เพราะป้ายเหล่านั้นมันยังมีหน้าที่อยู่ เมื่อการชุมนุมจบลง ถ้าเขาไม่ใช้ต่อแล้วเราจึงขอมา หรือของบางอย่างถ้าต้องออกเงินซื้อเองบ้างก็จะซื้อ อย่างไม่นานมานี้ผมเพิ่งได้หนังสือการ์ตูนคุณสุเทพมา” แว่นเล่าพร้อมรอยยิ้มให้กับของชิ้นที่เขาว่า

แม้จะมีความเชื่อทางการเมืองที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง แต่แว่นรู้ดีว่าการวางตัวเป็นพิพิธภัณฑ์จะต้องเปิดกว้างให้ทุกความคิดเห็น มีพื้นที่ให้กับทุกฝ่าย เพราะเขาต้องการให้คนได้เห็นภาพการเมืองบนท้องถนนได้อย่างครบถ้วน แว่นจึงพยายามตามหาของจากทุกม็อบเท่าที่เป็นไปได้

“ตอนนี้มีของเสื้อเหลืองหรือ กปปส.น้อย ไม่ใช่ว่าผมไม่อยากเก็บ ผมมองว่ามันมีคุณค่า ทุกขบวนการทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของมันและควรได้รับการบันทึก แต่ต้องยอมรับว่าผมไม่มีคอนเนกชั่นกับทางนั้น หรือบางทีหมายงานเราไม่ได้ไปในม็อบตรงนั้น เราก็ไม่ได้มีโอกาสเก็บ มันเลยค่อนข้างยาก”

นอกจากของในม็อบใหญ่ๆ เขายังเก็บของม็อบคัดค้านประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างเหมือง เขื่อน หรือสิ่งของในเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมือง เพื่อให้ครอบคลุมกับคำว่า ‘สามัญชน’ ตามชื่อพิพิธภัณฑ์มากที่สุด

“ผมมองว่าสามัญชนคือคนธรรมดาที่มีส่วนร่วมกับการเมือง ซึ่งรวมถึงนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่แค่การเมืองในรัฐสภา ไม่ใช่แค่การเมืองที่ว่าใครเป็นรัฐบาลใครเป็นฝ่ายค้าน ไม่ใช่การเมืองเรื่องต่อต้านรัฐประหาร”

 

สำรวจการเมืองผ่านสิ่งของในพิพิธภัณฑ์สามัญชน

แม้จะพยักหน้าเห็นด้วยกับแว่นว่าสิ่งของเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่เราสงสัยคือ สิ่งที่เขารวบรวมมาแตกต่างยังไงกับการเสิร์ชรูปภาพดูในอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถค้นหาได้ง่ายในยุคนี้

“ผมมีโอกาสไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยบูรพาครั้งหนึ่ง น้องเขาตื่นเต้นที่ได้เห็นเสื้อหลายๆ ตัว แล้วก็ไปเขียนลงทวิตเตอร์” เขาเล่าด้วยรอยยิ้ม

“ผมว่านี่คือบทบาทของพิพิธภัณฑ์ เราทำให้คนไม่ต้องจินตนาการแต่ทำให้เขาได้เห็นของจริงเลย คนมาดูได้เห็นและสัมผัสมัน แล้วมองเห็นเรื่องราวระหว่างบรรทัดของประวัติศาสตร์ เช่น สมัยเสื้อแดงมีวิวัฒนาการในการทำเสื้อยังไง มีลายอะไรบ้าง ซึ่งลายเสื้อเหล่านั้นจะบ่งบอกถึงวิธีคิดภายในม็อบ มีรูป เสธ.แดง เสื้อรูปสามเกลอ ต่อมาพอมีการคิดค้นคำว่าไพร่ขึ้นมาก็มีการทำเสื้อ พอนำมาวางเรียงกันก็เห็นอีกว่ามีแดงหลายเฉดในขบวนเดียว แล้วก็จะเห็นว่าเอาเข้าจริงเสื้อแดงก็มีความหลากหลาย ไม่ใช่ว่าแดงคือทักษิณ แดงไปไกลกว่าทักษิณแล้วก็มี”

“อย่างของ กปปส. เริ่มแรกมาจากสี่เหลี่ยมคัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม ไปสู่ Shutdown Bangkok แล้วก็มาถึงปฏิรูปการเลือกตั้ง”  

“พอมาถึงม็อบยุคนี้ที่เป็นรุ่นใหม่ ตอนนั้นผมไปม็อบที่พระจอมเกล้าฯ มีคนเอาไก่โอ๊กมาแจก หรืออีกม็อบเขาเอาแฮมทาโร่มาถือด้วย โอเค มันเป็นกิมมิกตลกๆ แต่ก็สะท้อนบางอย่าง คนที่เขาหยิบของสิ่งนี้มาใช้ประท้วงอยู่ในวัฒนธรรมแบบไหน ช่วงอายุประมาณเท่าไหร่ ถ้าคนไม่รู้บริบทอาจไม่เข้าใจว่าทำไมเขาหยิบของพวกนี้มาประท้วง มันเลยเป็นของที่ดูไม่การเมืองแต่เป็นการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งของคนละแบบกับยุคก่อน ที่คุณจะเห็นของที่เขาทำเฉพาะเจาะจงขึ้นมาเลย เช่น มือตบ ตีนตบ หรือนกหวีด”

นอกจากการทำให้คนเห็นเรื่องเล่าการชุมนุมผ่านของจริงแล้ว เขายังรวบรวมของในเหตุการณ์สำคัญๆ และออกแบบให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับของชิ้นนั้นจริงๆ ด้วย

“ผมไปได้ไอเดียมาจากพิพิธภัณฑ์หนึ่งในประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง แล้วเคยมีเผด็จการทหารสังหารบาทหลวงฝ่ายซ้าย คือ Óscar Romero ในนั้นจะมีเสื้อเปื้อนเลือดซึ่งเป็นเสื้อที่บิชอปใส่ในวันที่ถูกยิง พอเกิดเหตุการณ์จ่านิวก็คิดว่าเสื้อมันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้

“เริ่มแรกน้องที่ออฟฟิศไปหาเสื้อนักศึกษาเก่ามาตัวหนึ่งแล้วเอาสีแดงละเลงกลายเป็นเสื้อจำลองก่อน ทีนี้ผมทำงานแล้วรู้จักกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเขาได้เสื้อตัวจริงของจ่านิวมาจัดแสดงงาน ผมเลยขอเก็บไว้หลังจากงานนั้น”

“แล้วคณะลานยิ้มการละครขอให้ผมส่งเสื้อไปจัดแสดงในนิทรรศการ ผมเลยส่งเสื้อจ่านิวไปให้ทั้งของจริงและแบบจำลอง แล้วผมได้ไปอบรมเรื่อง storytelling ที่มิวเซียมสยาม เลยออกแบบให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับเสื้อ โดยจำลองว่าผมเป็นจ่านิวในวันนั้น กำลังจะนั่งรถไปสถานฑูตเพื่อทำเอกสารเรียนต่อที่อินเดียแล้วก็ถูกทุบ วันนั้นจ่านิวคิดยังไง ผมอัดเสียงตัวเองทำเป็นคิวอาร์โค้ดแล้วไปแปะให้คนที่มาได้ลองสวมเสื้อจำลองแล้วฟังเสียง”

เขาเล่าด้วยว่าการรวบรวมของเพื่อเล่าเรื่องการทำร้ายจ่านิวไม่ได้มีเพียงแค่เสื้อ แต่ยังมีหนังสือพิมพ์พร้อมโปสเตอร์รณรงค์ปิดสวิตช์ สว. ซึ่งแว่นเชื่อว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้จ่านิวโดนทำร้าย 

“ถ้าเอาของทั้งหมดนี้มาวางด้วยกันเราจะเข้าใจเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้น” เขายังอธิบายอีกว่าในหลายๆ เหตุการณ์เขารวบรวมสิ่งของหลายอย่างไว้ด้วยกันเพื่อให้คนสามารถเข้าใจเรื่องเล่าและบริบทได้ชัดเจน

“ดังนั้นผมจึงต้องเก็บหนังสือพิมพ์ด้วย ตอนนี้มีคอลเลกชั่นของพรรคไทยรักษาชาติ ตั้งแต่ตอนเสนอชื่อนายกฯ จนถึงวันยุบพรรค หรืออย่างตอนชุมนุมที่ปัตตานี ผมเก็บใบประกาศจากเจ้าหน้าที่เรื่องห้ามชุมนุม จริงๆ มันเป็น พ.ร.ก.ที่หาจากเว็บแล้วปรินต์ได้ แต่ที่ผมเก็บเพราะมันแจกในการชุมนุม มันเป็นบริบทที่เล่าเรื่องได้” 

หากเปรียบเป็นสำนวนคงบอกได้ว่าแว่นเก็บของตั้งแต่สากกะเบือยืนเรือรบ แล้วมีอะไรบ้างในคลังสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ที่เก็บมาแล้วหายไม่ได้เลย เราถาม

“โห จริงๆ มีหลายอย่างนะ” เขาตอบกลับมาก่อนจะนิ่งคิดนาน 

“อันแรกน่าจะเป็นหมุดทองเหลืองจำลองจากไซส์จริง ผู้ไม่ประสงค์ออกนามบริจาคมาให้ ตั้งแต่หมุดคณะราษฎรหาย ผมว่ามันเป็นการโต้กลับทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีคนทำเสื้อ ประชาไทยทำร่ม สติกเกอร์เรืองแสง หมุดกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ มีอันหนึ่งผมฮามากเลย คือร้านโตเกียวทำเป็นรูปหมุด ผมเลยเซฟรูปไปอัดเก็บไว้” เขาหัวเราะ

แว่นยังรวบรวมหมุดในเวอร์ชั่นต่างๆ ไปจัดแสดงในนิทรรศการ 2475 ที่ร้านหนังสือ Abdul Book ขอนแก่นและร้านหนังสือ Being in the Book เชียงใหม่ พร้อมหนังสือและวารสารที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรในปี 2475 

“อันที่สองคือเสื้อจ่านิว แล้วก็มีหมวกพร้อมลายเซ็นของคุณสุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งเป็นอีกหลักฐานของความรุนแรงและการอุ้มหาย”

ของอีกชุดที่เขารู้สึกภูมิใจที่ได้เก็บไว้ไม่น้อยคือป้ายตามหาคนหายที่ออกแบบโดยกลุ่ม Spring Movement 

“ผมว่ามันเป็นของที่มีพลังที่สุดในยุคนี้แล้ว ตอนผมเก็บไม่คิดว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ เพราะเป็นเรื่องยากนะที่ของชิ้นเดียวกันจะไปปรากฏในหลายๆ ม็อบทั่วประเทศ เช่น ที่สามจังหวัดมีคนเอาโปสเตอร์ไปโปรยตรงมัสยิดกรือเซะซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่เกิดความรุนแรง เด็กหลายๆ จังหวัดเอาโปสเตอร์คนหายไปถือในโรงเรียน มันมีพลังมาก” 

ประวัติศาสตร์ที่ประชาชนจะเป็นคนบันทึกเอง

ในระยะเวลา 2 ปีนับตั้งแต่เขาเริ่มเปิดพิพิธภัณฑ์สามัญชนผ่านเพจเฟซบุ๊กให้คนได้เข้ามาเยี่ยมชม และเมื่อไม่นานมานี้แว่นเพิ่งเปิดเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ ชื่อว่า commonmuze.com เขายังคงแวะเวียนเอาของไปจัดแสดงตามคำเชิญของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ บ้าง ทำให้คนรู้จักกับพิพิธภัณฑ์นี้ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็อยากนำเรื่องราวของสามัญชนไปให้ถึงโรงเรียนมากขึ้น

“ผมอยากทำงานกับคุณครูที่สอนวิชาสังคมกับประวัติศาสตร์นะ ผมอยากทำพื้นที่เพื่อให้เขาเห็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยนอกตำราเรียน คือโอเค เขาอาจจะเห็นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต บางคนถ้ามาชุมนุมอาจเห็นป้าเสื้อแดงตัวเป็นๆ ได้ฟังเรื่องเล่า แต่ผมก็คิดว่าถ้าเขาได้มีโอกาสมาเห็นเสื้อต่างๆ ที่ผมรวบรวมไว้ด้วย มันจะเป็นการผสมผสานระหว่างอดีตกับอนาคต เขาจะเห็นอดีตในมิติที่เป็นของจับต้องได้ และอาจจะช่วยให้เขาไปทำอะไรต่อได้ในอนาคต”

แต่ตอนนี้ด้วยกำลังคนที่มีเพียงเขาคนเดียวในการจัดการพิพิธภัณฑ์ ทำให้การนำเสนอเนื้อหาเป็นไปได้เพียงรูปแบบออนไลน์เป็นหลัก แต่เขาก็หวังว่าในอนาคตจะสามารถขอทุนและชวนคนที่สนใจมาช่วยกันสร้างพิพิธภัณฑ์สามัญชนให้เป็นรูปร่างที่ทำงานกันอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นเรื่อยๆ

“เพราะผมคิดว่าเราควรต้องมีที่ทางของเราเอง ในฐานะประชาชนธรรมดา การเมืองไม่ควรเป็นแค่เรื่องในสภา พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ไม่ควรมีแค่กระแสหลัก แต่ควรต้องมีอีกหลายๆ กระแส รัฐไม่มีทางบันทึกสิ่งเหล่านี้ให้เราแน่ๆ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน เพราะฉะนั้นเราต้องทำเอง”


พิพิธภัณฑ์สามัญชนเปิดรับบริจาคสิ่งของในพื้นที่การชุมนุมทุกรูปแบบไม่ว่าจะมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบไหน หรือจะเป็นการชุมนุมในนโยบายสาธารณะใด สามารถร่วมบริจาคได้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เพจพิพิธภัณฑ์สามัญชน

ขอบคุณภาพจาก พิพิธภัณฑ์สามัญชน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!