สำรวจด้านมืดในจิตใจคน กับ DELETE ซีรีส์เรื่องแรกของ โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ

ถ้าพูดถึงหนังสยองขวัญ หนึ่งเรื่องที่น่าจะแวบเข้ามาในความคิดของใครหลายคน คงมีภาพยนตร์เรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของ โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ (กำกับและเขียนบทร่วมกับ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล) อยู่ในนั้นด้วย

ครั้งนี้ โอ๋ ภาคภูมิ กลับมาในบทบาทโปรดิวเซอร์ควบตำแหน่งผู้กำกับซีรีส์เรื่องแรกของเขา DELETE ซีรีส์ที่จะตีแผ่เรื่องราวด้านมืดในจิตใจของคนผ่านอุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือที่สามารถทำให้คนหายไปอย่างไร้ร่องรอย โปรเจกต์ร่วมระหว่าง Netflix และ GDH มาพร้อมกับเหล่านักแสดงมากความสามารถอย่าง ฟ้า-ษริกา สารทศิลป์ศุภา, ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์, ณัฏฐ์ กิจจริต รวมด้วย ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม และอีกมากมาย 

“โทรศัพท์ในมือของทุกคน ถ้าวันหนึ่งมันสามารถลบใครสักคนให้หายไปได้ คุณจะเลือกลบมันไหม? การที่จะลบใครสักคนหรือการที่จะลืมใครสักคน มันลบไปได้จริงๆ ใช่ไหม แล้วยิ่งเราอยากจะลบ มันจะทำให้เรายิ่งจำหรือเปล่า”

นี่คือสิ่งที่ โอ๋ ภาคภูมิ ได้ตั้งคำถามเอาไว้ในบทสนทนา

ที่มาที่ไปของโปรเจกต์ซีรีส์เรื่องนี้ 

เริ่มต้นเลยทาง GDH โดยโปรดิวเซอร์ คุณวรรณฤดี (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) เขามาชวนผมว่า บริษัท iSM คิดคอนเซ็ปต์ขึ้นมาอยากทำเป็นซีรีส์ ผมสนใจจะกำกับไหม เป็นเรื่องเกี่ยวกับมือถือที่ลบคนให้หายไปได้ ผมฟังครั้งแรกก็รู้สึก เฮ้ย น่าสนใจ รู้สึกว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่สามารถเอามาตีขยายเป็นเรื่องได้ค่อนข้างหลากหลาย ถ้ามือถือมันไปอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งที่มีความแตกต่างกัน มันจะถูกเอาไปใช้ในทางที่ไม่เหมือนกันเลย เหมือนกลายเป็นยูนิเวิร์สอะไรขึ้นมาได้ และผมชอบตอนจบของซีซันนี้มาก มันทำให้ผมอยากกำกับซีรีส์เรื่องนี้ รู้สึกว่าถ้าเราจะทำซีรีส์เรื่องแรกก็ต้องเป็นอันนี้แหละ

ความท้าทายของโปรเจกต์นี้มีอะไรบ้างที่ทำให้คุณอยากออกไปลุยกับมัน

ผมอยากทำ Thriller มาตลอดแหละครับ บางทีไปทำ Horror ก็ได้ทำ Thriller นิดๆ หน่อยๆ แต่เรื่องนี้มันเปิดโอกาสให้ผมได้ทำ Thriller แบบเต็มๆ ความยาว 8 ตอน ผมรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่เราอยากจะทดลองทำ และมันตอบโจทย์สิ่งที่เราอยากทำ แล้วความท้าทายก็อยู่ตรงที่ว่า เราอยากจะทำให้คอนเซ็ปต์ที่เป็นปรากฏการณ์เหนือจริง เบลนด์เข้ามาอยู่ในโลกของความเป็นจริง ดูน่าเชื่อถือและน่าสนใจ ผมไม่ได้อยากเล่าคอนเซ็ปต์มือถือให้มันเป็นของวิเศษ แต่ผมสนใจมากกว่าว่า คนที่เอาไปใช้ต้องการอะไร แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้นถ้าเขาเลือกใช้มัน อันนี้เป็นมุมมองแรกเลยที่ผมเห็นในซีรีส์เรื่องนี้

พอผมค่อยๆ ทำบทไปเรื่อยๆ ผมพบว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องนี้ทำให้คนหายไปอย่างไร้ร่องรอยโดยไม่มีหลักฐาน ไม่มีเลือด อยู่ๆ คนๆ นั้นก็หายไปเลย เราไม่ต้องรับผิดชอบในความผิดอะไรที่ทำให้คนนั้นหายไป มันคืออำนาจอย่างหนึ่ง ถ้าเรามีอำนาจนี้เราจะใช้มันไหม แล้วเราจะใช้ลบใคร ผมรู้สึกว่ามันตั้งคำถามไปที่คนดู แล้วรู้สึกว่ามันเป็นความท้าทายที่จะทำยังไงให้ดูสนุก ทำยังไงให้เราเชื่อไปกับตัวละครที่มีลมหายใจว่า ถ้าเป็นเราก็จะทำแบบนี้ หรือเป็นเราไม่มีทางทำแบบนี้แน่นอน อยากจะลุ้นต่อไปว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น 

แล้วคุณเคยอยากลบใครให้หายไปจากชีวิตไหม

เยอะแยะเลย (หัวเราะ) คือผมรู้สึกว่าถ้าผมมีอยู่กับตัวนี่ไม่เหลือครับ ต้องใช้มันแน่ๆ

นอกจากเป็นซีรีส์เรื่องแรกแล้ว คุณได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เป็นครั้งแรกในเรื่องนี้อีกบ้าง

อย่างแรก ตั้งแต่วิธีการเขียนบทเลย เหมือนได้ทำอะไรแปลกใหม่ ผมไม่เคยเขียนบทซีรีส์มาก่อน ปกติก็จะเขียนบทเป็นหนังสั้นหรือหนังยาว บทซีรีส์มันก็มีรูปแบบของมัน อย่างผมชอบซีรีส์ที่ทำให้ผมสนุก ตื่นเต้น ทำให้ผมอยากดูตอนต่อไปเรื่อยๆ จนจบ ถ้าวันหนึ่งเราลองทำซีรีส์ เราอยากทำให้คนดูสนุก ดูจบรวดเดียวได้แบบนั้น เราก็เลยพยายามหาวิธีที่จะเขียนยังไงให้ตอนจบตอนของทุกตอนมันทำให้คนดูอยากจะเริ่มตอนใหม่ทันที อันนี้เป็นความรู้สึกท้าทายแล้วก็ได้ทดลองในการเขียน มันเหมือนเราเคยวิ่งในระยะสั้น แต่อันนี้เหมือนการวิ่งมาราธอน จำนวนฟุตเทจมหาศาล ความยาวของตัวละครที่เล่าตั้งแต่ Ep.1 ถึง Ep.8 รายละเอียดของตัวละครที่เราเขียนลึกลงไป มีจำนวนซีนมหาศาลในการที่เราจะเล่าคาแรกเตอร์นี้ให้มีชีวิตขึ้นมา มันจะค่อนข้างต่างจากหนังที่เราจะเลือกส่วนนั้นส่วนนี้ แต่อันนี้เหมือน โอ้โห มันเล่าตัวละครให้สามารถมีชีวิตได้ถึงซีซันต่อไปอะไรแบบนี้ อันนี้คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าท้าทาย 

การทำงานภายใต้ชื่อ Netflix มีผลต่อความรู้สึกและมีผลต่อกระบวนการทำงานของคุณอย่างไรบ้าง

ผมไม่ค่อยรู้สึก คือผมเห็น Netflix เหมือนโอกาสที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ เหมือนโอกาสที่ได้เปิดหน้าต่างออกไปฉายทีเดียวให้คนดู 190 ประเทศ มันจะมีที่ไหนที่ทำสิ่งนี้ได้ ปกติเราทำหนังหรือทำคอนเทนต์ขึ้นมาเราก็จะดูกันแต่ประเทศเราใช่ไหม การที่เราจะกระจายคอนเทนต์เราไปสู่สายตาคนอื่นนี่มันค่อนข้างยากและมีขั้นตอนในการที่เราจะค่อยๆ กระจายไป แต่ว่าการที่เราทำแล้วฉายใน Netflix มันเหมือนการดูพร้อมกันหมด ทำให้เราได้เห็นรีแอ็กชันทันทีจากคนทั้งโลกพร้อมกัน ได้สำรวจว่าความคิด ความเชื่อ ขนบที่เราทำ เขารู้สึกยังไง คอมเมนต์เหล่านั้นมันจะกลับมาช่วยให้คนทำหนังอย่างเราพัฒนาต่อไปได้ยังไง มันทำให้สังคมขนาดย่อมลงมา ได้เห็นทุกความคิดจากทุกๆ คน ได้เห็นว่าคนทั้งโลกมีจุดร่วมและจุดแตกต่างอะไรกัน บางทีทำหนังมันต้องรอในการฉายไปเรื่อยๆ อันนี้เหมือนได้เห็นผลทันที ซึ่งเป็นข้อดี 

คุณหลงใหลอะไรในการทำหนังแนว Horror, Thriller 

ผมว่าผมหลงคนที่อยู่ในบรรยากาศของเรื่องราวเหล่านี้ มันเหมือนได้เห็นคาแรกเตอร์ของคนในมุมมองที่หลากหลาย ได้เห็นทั้งด้านสว่าง ด้านมืด คอนเซ็ปต์ของหนัง Thriller มักกระตุ้นให้คนทำอะไรที่เกินกว่าชีวิตจริง ได้เห็นสีสันที่ชัดเจน น่าตื่นเต้น และมันตั้งคำถามกับคนดู เลยรู้สึกว่าหลงและชอบการทำสิ่งเหล่านี้ สำหรับเราคือเห็นมุมน่าทำเยอะแยะไปหมด

ในขณะเดียวกันคุณก็สนใจประเด็นด้านมืดในจิตใจคนด้วย 

ใช่ครับ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าดาร์กแล้วมันเท่หรือขายได้ ตั้งแต่ทำหนังสั้น ผมถูกสอนว่าอะไรคือสิ่งที่ดี อันนี้คือดีแน่ๆ ดีแท้ๆ พอเวลาผมโตขึ้นมาเรื่อยๆ เหมือนกล้องมันขยับไปอีกด้านหนึ่ง แล้วมันเห็นด้านที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ด้านที่มันไม่สวยงามเหมือนตอนแรกที่เราเห็น ผมประทับใจที่ได้ขยับมุมกล้องไปเรื่อยๆ ผมเคยทำหนังสั้นสมัยเรียนหนังสือเรื่องแรกๆ ผมเคยรู้ว่าพระคือคนดี แต่พอทำหนังสั้นแล้ว จริงๆ แล้วเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มันก็ทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของตัวละคร ก็เลยติดใจแล้วทำต่อมาเรื่อยๆ ส่วนการทำหนังผี ก็ไม่ได้ชื่นชอบความสยองขวัญ แต่เป็นผีที่มันแสดงอะไรบางอย่างของตัวเองออกมา 

หนังแนวลึกลับสยองขวัญเรื่องไหนบ้างที่มีอิทธิพลกับคุณ

จริงๆ มีเยอะมาก แต่ผมชอบหนังของ Woody Allen เรื่อง Match Point (2005) มากเลย ก่อนดูผมคิดว่ามันเป็นหนังดราม่า แต่พอดูไปแล้วผมใจสั่น มันเล่าเรื่องอีกด้านหนึ่งของคน ที่เรารู้สึกว่า โอ้โห มันพาเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง จุดที่เรารู้สึกว่าเราอยู่ฝ่ายเดียวกับฆาตกร เราเชียร์ทุกซีนให้เขาทำสำเร็จ ผมรู้สึกว่ามัน Magic มาก มันทำให้เรารู้สึกว่า การดูหนังมันรู้สึกแบบนี้ มันมีความสุข แนวอื่นก็ดูนะครับ แต่หนังสยองขวัญก็เป็นแนวที่ชื่นชอบ

คุณมีวิธีพัฒนาวิธีคิด มุมมอง ในด้านการทำงานกำกับภาพยนตร์อย่างไร 

เกิดจากการทำทุกวันแหละครับ รู้สึกว่าการที่ผมเป็นผู้กำกับมา 20 ปี ไม่ได้คิดว่าตัวเองทำไปเรื่อยๆ แล้วเราเป็นมาสเตอร์ แต่รู้สึกเป็นนักเรียนตลอด เราเก็บเกี่ยวมัน อันนี้เราชอบ อันนี้เราไม่ชอบ อันนี้เหมาะกับเรา อันนี้ไม่เหมาะกับเรา เราทำอันนี้ได้ เราทำอันนี้ไม่ได้ มันเหมือนเป็นการเรียนรู้ การเข้าใจตัวเองว่า เราทำไปได้อีกประมาณไหน เราชอบแบบไหน เราจะไปในด้านไหนในการเป็น Film Maker ผมไม่เคยรู้สึกมั่นใจแบบว่า โอ้โห แบบนี้มันช่างถนัดเหลือเกิน ผมรู้สึกว่าทุกครั้งมันเป็นการนับหนึ่งใหม่ มันไม่เหมือนอาชีพอื่น ถ้าสมมติผมทำข้าวมันไก่อร่อยมาก ผมก็ตื่นมาทำข้าวมันไก่ทุกวัน แต่การออกกองถ่ายวันที่ 1 มันเหมือนชีวิตเราเริ่มต้นกับเรื่องใหม่ ตัวละครใหม่ มันผสมไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่เราจะต้องเรียนรู้แล้วทำมันไป สุดท้ายไม่รู้ผลลัพธ์จะเป็นยังไง แล้วไอ้การทำหนัง ทำซีรีส์มันก็มีชีวิตของมัน สุดท้ายประสบการณ์ของเรา คนที่เราร่วมงานด้วยตอนนั้น มันก็ออกมาเป็นผลลัพธ์ในช่วงอายุเท่านั้น มันเหมือนเก็บตัวเราตอนนั้นเอาไว้ด้วย ตอนเราเด็กกว่านั้น หรือพอเราขยับอายุขึ้นไป ความเชื่อ ความคิด ทัศนคติ รสนิยม ก็จะไม่เหมือนกัน 

หัวใจสำคัญในการทำหนังตามแนวทางของคุณคืออะไร

ผมว่าความเชื่อ ถ้าเรามีความเชื่อในอะไรสักอย่างที่น่าสนใจสำหรับเรา แล้วเราอยากเล่าความคิดนี้ออกไปจากความจริงใจลึกๆ ของเรา ว่าเราเชื่อแบบนี้ เราพบสิ่งนี้มา เจอสิ่งนี้มา เราอยากเล่าให้คุณฟัง อยากแชร์ให้คุณรู้ ไม่ว่าคุณจะคิดยังไงกับมันก็ตาม อันนี้คือธรรมชาติของการทำหนังที่ผมรู้สึกว่า ผมเป็นคนที่ไม่ใช่คนเก่งหรือพูดมากเล่าอะไรเก่ง แต่ผมรู้สึกว่าเวลาทำหนังเล่าเรื่องให้คนฟัง ผมมีความสุขเวลาได้เห็นรีแอ็กชันของผู้ชม 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ