Goldilocks Conditions ว่าด้วยสภาวะอันพอเหมาะพอดีต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตในจักรวาล

Highlights

  • คอลัมน์ in other words ขอแนะนำให้รู้จักคำว่า Goldilocks เป็นคำที่พบได้บ่อยเมื่อศึกษาเกี่ยวกับดาราศาสตร์หรือภาวะที่โลกมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาได้
  • Goldilocks Conditions แปลว่า เงื่อนไขอันพอดีอันเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้น คำนี้ถูกใช้เปรียบเปรยทั้งในทางจิตวิทยา ชีววิทยา เศรษฐศาสตร์ และวิศวกรรม 
  • Goldilocks ได้ถูกนำมาใช้เปรียบเปรยถึงสภาวะและเงื่อนไขอันเหมาะสมพอดีในหลากหลายสาขา รวมถึงใช้เพื่อสื่อถึงการอธิบายความพอเหมาะของดาวโลกสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตด้วย 

มองดูดาวพริบพราวบนฟ้าล้วนแต่ไร้สิ่งมีชีวิต มนุษย์ช่างโดดเดี่ยวในห้วงจักรวาลแสนไกล ไร้วี่แววมิตรสหายอื่นร่วมจักรวาล ช่างน่ามหัศจรรย์ที่โลกเรานั้นคืออุบัติเหตุหนึ่งในความเป็นไปได้มากมาย

ตอนเด็กๆ คุณอาจเคยได้ยินนิทาน ‘หนูน้อยโกลดิล็อกส์กับหมีสามตัว’ (Goldilocks and the Three Bears) หากไม่เคย เรื่องมีอยู่ว่าหนูน้อยคนหนึ่งแอบย่องเข้าไปในบ้านที่ไม่มีใครอยู่ ในบ้านหลังนี้ เธอพบว่ามีซุปสามชามวางอยู่บนโต๊ะ ซุปชามใหญ่นั้นร้อนเกินไป ซุปชามกลางนั้นเย็นชืดเกินไป ในขณะที่ชามเล็กนั้นอุ่นกำลังพอดี หลังจากกินซุปจนอิ่ม เธอเจอเก้าอี้สามตัว ตัวใหญ่สุดนั้นแข็งเกินไปจนนั่งไม่สบาย ตัวกลางนั้นนุ่มเกินไป ส่วนตัวเล็กตัวสุดท้าย เมื่อเธอนั่งลงแล้วก็หักไปทันที จากนั้นเธอก็เข้าไปนอนหลับบนเตียงเล็กสุดที่นุ่มกำลังพอดีหลังจากลองนอนบนเตียงที่แข็งเกินไปและนุ่มเกินไป แต่บ้านหลังนี้เป็นของพ่อหมี แม่หมี และลูกหมี ซึ่งทั้งสามได้กลับมาเจอเธอนอนหลับปุ๋ยบนเตียง นิทานเรื่องนี้สอนเด็กๆ ให้รู้จักสถานะและลักษณะอันพอดีของสิ่งต่างๆ และสอนให้ไม่ใช้ของผู้อื่นโดยพลการ

จากนิทานเรื่องนี้ นามของน้องหนู Goldilocks ได้ถูกนำมาใช้เปรียบเปรยถึงสภาวะและเงื่อนไขอันเหมาะสมพอดีในหลากหลายสาขา รวมถึงใช้เพื่ออธิบายถึงความพอเหมาะของดาวโลกในการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตด้วย

สัปดาห์นี้เลยขอแนะนำให้รู้จักคำว่า Goldilocks และมาสำรวจสภาวะอันพอเหมาะพอดีที่แตกขยายไปหลายสาขากัน

 

Goldilocks Conditions สภาวะอันพอดีและน่าพึงประสงค์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย

Goldilocks Conditions แปลว่า เงื่อนไขอันพอดีอันเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้น คำนี้ถูกใช้เปรียบเปรยทั้งในทางจิตวิทยา ชีววิทยา เศรษฐศาสตร์ และวิศวกรรม

ตัวอย่างและบริบทการใช้คำนี้ เช่น

  • Stephen Hawking นักวิทยาศาสตร์ผู้ล่วงลับ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เฉกเช่นโกลดิล็อกส์ พัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอันทรงปัญญานั้นต้องการอุณหภูมิดาวเคราะห์ที่พอเหมาะ” อนึ่งโลกที่เหมาะสมเหมือนซุปถ้วยอุ่นกำลังดีที่ไม่ร้อนและไม่เย็นจนเกินไปที่น้องโกลดิล็อกส์ได้เลือกกิน
  • ด้านพัฒนาการเด็ก ทารกนั้นต้องการตัวกระตุ้นทางสายตาหรือภาพที่ไม่ซับซ้อนและไม่เรียบง่ายจนเกินไป จึงจะเกิดความสนใจให้จดจ้องมองดูและเกิดการเรียนรู้ได้ เสมือนว่าใดๆ ในโลกล้วนต้องการความพอดีอันน่าพึงประสงค์ที่เอื้อให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้น แม้กระทั่งสิ่งมีชีวิต คำนี้เลยเป็นคำที่ใช้เมื่อเราต้องการความพอดี ทางสายกลาง ความพอเหมาะแบบ just right!
  • ในด้านความสร้างสรรค์ ทฤษฎีนี้คือการแสวงหาความพอดีไม่ให้มากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ เพื่อให้แพร่หลายและประสบความสำเร็จ คือการที่ผู้ประดิษฐ์นวัตกรรมต้องเรียนรู้ที่จะผสมสิ่งใหม่กับสิ่งที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว การก้าวกระโดดไวไปอาจนำมาซึ่งความไม่เข้าใจและต่อต้าน ความคิดอุดมคติอันสุดโต่งหลายๆ อย่างก็เช่นกัน ถ้าอยากทำสิ่งที่คนจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน การผสมผสานสิ่งใหม่กับสิ่งที่คนคุ้นเคยให้ลงตัวคือศาสตร์สำคัญ

หากใครสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ของจักรวาล คำนี้ก็มักจะโผล่มาให้ได้เห็นเสมอ เมื่อเราแหงนดูท้องฟ้าคงอดสงสัยไม่ได้ว่าเราคือสิ่งมีชีวิตอันทรงปัญญาที่เดียวดายในจักรวาลนี้หรือเปล่า คำว่า Goldilocks จึงถูกใช้บ่อยครั้งในบริบทของดาราศาสตร์ในการระบุสภาพดาวเคราะห์ที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย (Habitable Planets)

กฎเกณฑ์ Goldilocks ที่สรุปไว้สามข้อที่ทำให้โลกเหมาะสมกับการดำรงชีวิต คือ

  • ปริมาณพลังงานที่พอดี หากมีพลังงานมากมาย เช่น ดาวฤกษ์ ก็คงจะร้อนแรงเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้
  • ความหลากหลายทางเคมี ชวนให้เกิดความซับซ้อนทางชีวภาพที่ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิต
  • ของเหลวบนพื้นพิภพ ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ เกิดการปะทะของโมเลกุลจนเกิดสารใหม่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต

มีหลายทฤษฎีและหลากวิธีคิดคำนวณให้ได้มาซึ่งดาวเคราะห์ที่อาจเหมือนโลก เรามักได้ยินข่าวเวลาเจอดาวเคราะห์ที่ใกล้เคียงกับโลก ชวนให้เราโยกย้ายถิ่นฐานไปดาวใหม่ที่เหมาะสมกับมนุษย์ การมองหาดาวที่คล้ายคลึงโลกอาจกลายเป็นที่อยู่อาศัยใหม่หากโลกจบสิ้นลงหรือไม่เหมาะสมกับการอาศัยอยู่อีกต่อไป

 

สำรวจดาวเคราะห์ที่อยู่ในเขตระยะห่างดวงอาทิตย์ที่พอจะอยู่อาศัยได้ (Habitable Zone) และสำรวจดวงดาวที่คล้ายโลก (Earth Similarity)

Project – Goldilocks credit: tulpinteractive.com

 

TULP interactive สร้าง Interactive Website จำลองโมเดล Goldilocks สำรวจจำนวนดาวเคราะห์มากมายที่พอดีและมีเงื่อนไขคล้ายกับโลกและอำนวยต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น ทำให้เห็นการกระจายตัวและความเป็นไปได้ของดาวเคราะห์มากมายทั้งในมิติของ Habitable Zone, ความคล้ายคลึงกับโลก, ชั้นบรรยากาศ, ขนาด, อุณหภูมิ, มวลของดาว ฯลฯ จะเห็นได้ว่าโลกเป็นเพียงจุดหนึ่งเท่านั้นในความเป็นไปได้อันมากมายของจักรวาลนี้

นอกจากเข้าใจคอนเซปต์นี้ เราสามารถรู้สึกถึงความงดงามของ Goldilocks Conditions ที่ชวนให้เราย้อนมองดูประวัติศาสตร์ขนาดมหึมา หรือ Big History ซึ่งดำเนินมาไกล ยิ่งใหญ่กว่าแค่ตัวเราและมนุษยชาติ ชี้ให้เรามองลึกลงไปในระยะเวลาอันยาวนานที่เกิดจากเงื่อนไขอันพอดีและความบังเอิญทางกายภาพที่สวยงาม

 

จักรวาลมิได้ดำรงอยู่เพื่อมีเราเป็นผู้มองดู ความพอดีอันพิเศษไม่ควรทำให้เราหยิ่งผยอง

เราล้วนวิวัฒนาการมาจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ส่งต่อสายพันธุกรรม คัดลอก และปรับปรุงจนเป็นมนุษย์ที่สามารถส่งต่อความรู้และเทคโนโลยีให้แพร่หลายต่อไปได้

แต่ต้องระวัง เพราะจุดบอดของแนวคิด Goldilocks Conditions คือแนวคิดนี้อาจมอบความพิเศษให้กับโลกและมนุษย์ ราวกับจักรวาลตั้งใจอำนวยให้เรามีอยู่โดยคาดการณ์ มีแผน เป็นมุมมองแบบ Anthropic Principle คือแนวคิดที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เผลอคิดว่าโลกและจักรวาลถูกออกแบบมาเพื่อเรา หรือการที่บางคนมองว่าข้อมูลของจักรวาลที่เราเก็บได้นั้นคงไร้ความหมายหากไม่มีมนุษย์ซึ่งมีสติปัญญามาเป็นผู้สังเกต จัดประเภท มองดู ครุ่นคิด บ้างเผลอทึกทักว่ามนุษย์คือส่วนหนึ่งของ ‘แผนการ’ อันยิ่งใหญ่ของจักรวาล แนวคิดนี้อาจทำให้เราหลงในความพิเศษของการมีอยู่ของมนุษยชาติเหนือกว่าส่วนอื่นๆ ของจักรวาลที่ดูเรียบเฉย

David P. Barash นักชีววิทยาวิวัฒนาการ เสนอว่าแนวคิดแบบนี้เป็น ‘ความหยิ่งผยองของมนุษย์’ (Anthropic Arrogance) เขายกตัวอย่างในหนังสือนิยายไซ-ไฟชื่อดัง The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy (1979) ซึ่งผู้เขียน Douglas Adams ได้นำเสนอความเป็นไปได้แบบสนุกๆ ว่า หรือจริงๆ แล้ว ‘หนู’ ต่างหากคือพระเอกของดาวโลก หนูคือสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดล้ำและเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างทะลุมิติ และคือผู้สร้างโลกมิใช่มนุษย์ มนุษย์เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น

อย่าลืมว่าโลกและจักรวาลนั้นไม่ยินดียินร้ายกับการมีอยู่และดับไปของมนุษย์ โลกเราได้ผ่านการล้มหายตายจากและเกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมาแล้วหลายคราว จักรวาลไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเรา หรือเพื่ออำนวยความสะดวกให้เราต้องมีอยู่

เมื่อมองดู Goldilocks Conditions เงื่อนไขอันพิเศษที่ทำให้เกิดมนุษย์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกก็พิเศษไม่แพ้กัน อย่าลืมว่าสภาพอันพอดีของโลกไม่ได้เกิดมาเพื่อสนองใครหรือแค่สปีชีส์ใดสปีชีส์หนึ่ง เราต่างกำลังตกอยู่ในสภาวะอันเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศเปราะบาง การสูญเสียสมดุลทางธรรมชาติโดยเกิดจากการตัดสินใจของมนุษย์

หากเราไม่มองเงื่อนไขความพิเศษของโลกให้ไกลกว่าการมีอยู่ของมนุษย์ มุ่งแต่มองหาดาวดวงใหม่ที่เหมาะสมใกล้เคียงเพื่อย้ายไปอาศัย หากมนุษย์ไม่คิดเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ กฎเกณฑ์ Goldilocks Conditions อันแสนพิเศษก็คงไม่อาจช่วยเราได้จากวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมด

 

อ้างอิง

Are We Alone? Ch. 3: Life Outside the Goldilocks Zone | Genius by Stephen Hawking
pbslearningmedia.org

Goldilocks – Tulpinteractive
tulpinteractive.com

Anthropic arrogance
aeon.co

AUTHOR

ILLUSTRATOR

erdy

นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะรวย จะรวย จะรวย