สุภาพบุรุษคืออะไร? ประวัติศาสตร์ความเป็นชาย จากไม่อ่อนไหว จนถึงเจ็บได้ ร้องไห้เป็น

สุภาพบุรุษ หรือ gentleman ในภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งคำที่มีการตีความหลากหลาย แม้แต่ที่มาและคำจำกัดความก็ยังต่างไปตามยุคสมัยและค่านิยม ในมุมหนึ่ง เชื่อว่าคำว่า gentleman เกิดจากการรวมคำว่า gentle หมายถึง ผู้กำเนิดในตระกูลดี (well-born) เข้ากับคำว่า man ที่แปลว่าผู้ชาย ดังนั้น gentleman จึงหมายถึงผู้ชายที่เกิดในตระกูลสูง (คำว่า gentle อยู่ในตระกูลเดียวกับคำว่า ‘genteel’ และ ‘gentry’ ซึ่งเป็นคำเก่าในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์มาจากคำว่า gentilis ในภาษาละติน หมายถึงเผ่าพันธุ์หรือครอบครัว)

ในภาษาฝรั่งเศสคำว่า gentleman มีคำเรียกใกล้เคียงกันคือ gentilhomme คำนี้ระบุความหมายชัดยิ่งกว่าเพราะหมายถึงสายเลือดตระกูลขุนนาง gentilhomme เป็นมาแต่กำเนิด สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น การใช้คำนี้เคร่งครัดขนาดขุนนางที่ถูกแต่งตั้งใหม่โดยกษัตริย์แม้จะมีฐานันดรสูงศักดิ์เป็นถึงดยุก แต่ถ้าไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางก็จะไม่สามารถแทนตัวเองว่าเป็น gentilhomme ได้ (ระบบขุนนางในยุโรปเรียงจากสูงไปต่ำคือดยุก / ดัชเชส, มาร์ควิส / มาร์เชอเนส, เอิร์ล / เคาน์เตส, ไวเคานต์ / ไวเคาน์เตส และบารอน / บารอเนส)

สุภาพบุรุษ
Image : gentlemansgazette.com

James A. Doyle นักวิชาการตะวันตกได้วิเคราะห์และแบ่งความเป็นชายในอุดมคติของตะวันตกใน 5 ยุคไว้ว่า 

  1. Epic Male : ความเป็นชายในยุคกรีก-โรมัน เน้นการมีรูปกายสวยงาม มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ มีความกล้าหาญ เป็นนักรบ
  2. Spiritual Male : ความเป็นชายใต้อิทธิพลของคริสต์ศาสนา เน้นการเสียสละ ไม่มักมาก มีเพศสัมพันธ์เพื่อการให้กำเนิดบุตร ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด
  3. Chivalric Male : ความเป็นชายในยุคอัศวิน เน้นความกล้าหาญ จงรักภักดี รักกับหญิงสูงศักดิ์ 
  4. Renaissance Male : ความเป็นชายในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เน้นความมีเหตุผล เป็นผู้รอบรู้ สุภาพอ่อนโยน 
  5. Bourgeois Male : ความเป็นชายในแบบกระฎุมพี หมายถึงกลุ่มคนที่สร้างตัวจากการทำงาน พิสูจน์ความสามารถด้วยการเป็นนายทุน เน้นความสำเร็จในโลกธุรกิจ มีอำนาจทางเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่าความคาดหวังของผู้ชายในแต่ละยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท นำมาซึ่งการให้ความหมายคำว่า ‘สุภาพบุรุษ’ ด้วย คำคำนี้ในยุคต่างๆ จึงไม่ได้ถูกจำกัดคุณค่าอยู่ที่ชาติกำเนิดเพียงอย่างเดียว

Portrait of the Marquis and Marchioness of Miramon and their children / © Musée d’Orsay, dist. RMN-Grand Palais / Patrice Schmidt

Grand Tour กับค่านิยมสุภาพบุรุษผู้ตระหนักรู้ของอังกฤษ 

สังคมอังกฤษในศตวรรษที่ 17-18 มีค่านิยมการเป็นสุภาพบุรุษที่น่าสนใจ โดยนอกจากจะต้องจบการศึกษาจากสถาบันอันทรงเกียรติ สุภาพบุรุษยังต้องผ่านบทเรียนชีวิตที่เรียกว่า ‘Grand Tour’ 

นานแสนนานก่อนโลกจะรู้จักโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา หรือก่อนที่โครงการ work and travel จะกลายมาเป็นที่นิยม ลูกหลานผู้ดีอังกฤษมักใช้เวลาหลังจบการศึกษาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตด้วยการท่องเที่ยวในทวีปยุโรปราว 2-4 ปี จุดประสงค์ตรงๆ ของทริปนี้คือการฝึกภาษา เรียนรู้ศิลปะ และทักษะการเข้าสังคม ส่วนจุดประสงค์อ้อมๆ คือการให้โอกาสวัยรุ่นไฟแรงใช้ชีวิตเสรีในแดนไกลก่อนกลับมาทำหน้าที่ตามที่ถูกคาดหวัง หลายคนมองว่าการส่งวัยรุ่นเลือดร้อนไปปล่อยผีจะทำให้หนุ่มพวกนี้กลับมาแบบเป็นโล้เป็นพาย กลายเป็นสุภาพบุรุษ (ส่วนปัญหาที่สร้างไว้ในต่างประเทศก็ถือว่าไม่เกี่ยวกันเพราะไม่ได้เกิดในอังกฤษเสียหน่อย)

Grand Tour มักเริ่มต้นที่ปารีส เหตุผลแรกเพราะไปง่าย ถนนหนทางพัฒนากว่าเพื่อนบ้าน เหตุผลต่อมาเพราะภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่นิยมกันในหมู่ชนชั้นสูง คนส่วนใหญ่ใช้เวลาในปารีส 2 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น ระหว่างนี้ถ้าใครเส้นใหญ่อาจโชคดีมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่พระราชวังแวร์ซาย ส่วนใครที่เส้นไม่ใหญ่พอแต่ทรัพย์หนาอาจลองพิจารณาตัวเลือกรองๆ อย่างคลับชั้นสูงหรือสถานท่องเที่ยวอื่นๆ ตามกำลังทรัพย์ 

สุภาพบุรุษ

หลังกิจกรรมสันทนาการในปารีส เหล่าว่าที่สุภาพบุรุษจะเดินทางข้ามเทือกเขาแอลป์ไปยังอิตาลีเพื่อชื่นชมและดื่มด่ำกับสุดยอดศิลปกรรมแห่งยุคเรอเนซองซ์ เยี่ยมชมสถานที่ยอดนิยมในยุคนั้น เริ่มที่โรมไปจนถึงเมืองเฮอร์คิวเลเนียมและปอมเปอี เพราะลูกผู้ดีถูกคาดหวังว่าจะต้องเรียนภาษา มารยาท และการเต้นรำอย่างคนฝรั่งเศส และต้องมีความรู้เรื่องงานศิลปะแบบคนอิตาลี การซื้อหางานศิลป์ตั้งแต่ภาพวาดไปจนถึงงานแกะสลักเป็นกิจกรรม a must ของคนส่วนใหญ่ บางส่วนยังตัดสินใจบันทึกความทรงจำด้วยการจ้างศิลปินชื่อดังมาวาดภาพเหมือนสีน้ำมันของตัวเอง อาจคล้ายที่คนยุคปัจจุบันใช้การเซลฟี่

นอกจากสองประเทศนี้ ผู้ดีอังกฤษยังอาจเพิ่มทริปด้วยการเดินทางต่อไปยังสเปน โปรตุเกส เยอรมนี หรือประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ แล้วแต่กำลังทรัพย์และความศรัทธา

Grand Tour ไม่เชิงว่าเป็นกิจกรรมที่จำกัดไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ด้วยปัจจัยสำคัญคือเงินและเวลา ในยุคที่การเดินทางยังไม่เปิดกว้าง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางข้ามจากเกาะอังกฤษไปแผ่นดินใหญ่มีต้นทุนมากแถมยังใช้เวลาหลายปี การสำเร็จหลักสูตรสุภาพบุรุษจึงมักถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มลูกขุนนางหรือลูกเศรษฐี

หากเทียบกับค่านิยมความเป็นชายของเจมส์ เอ. ดอยล์ สุภาพบุรุษในยุคนี้ดูจะสอดคล้องกับอุดมคติแบบ Renaissance Male เพราะมีเงื่อนไขสำคัญคือการเรียนรู้ เข้าใจแตกฉานทั้งศาสตร์และศิลป์นั่นเอง

สุภาพบุรุษ
Lord George Byron contemplating the Colosseum in Rome by Arthur Willmore or James Tibbets Willmore / © Erich Lessing Culture and Fine Arts Archive

Victorian Gentleman เมื่อความเป็นชายควบคุมไกลถึงเรื่องศีลธรรม

ยุควิกตอเรียดูจะเป็นช่วงเวลาที่ความเป็นสุภาพบุรุษถูกหยิบมาพูดถึงเป็นอย่างมากจนกลายเป็นต้นแบบให้ผู้ชายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สุภาพบุรุษในยุคนี้ หากวัดกันตามหน้าที่ในสังคม พวกเขาเป็นชนชั้นพิเศษที่เลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องทำงาน ส่วนมากร่ำรวยจากเงินมรดกก้อนใหญ่หรือมีที่ดินไว้สำหรับเก็บค่าที่ ความเป็นสุภาพบุรุษในยุคนี้ซับซ้อนมากโดยมีนิยามว่า ‘เป็นบุคคลที่ไม่สร้างความเจ็บปวดให้ผู้ใด’ นั่นคือเขาจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ และต้องมีรสนิยมดี รู้จักการแต่งตัว

Image : gentlemansgazette.com

หนังสือชื่อดังอย่าง The Gentlemen’s Book of Etiquette and Manual of Politeness ตีพิมพ์ปี 1860 ได้กล่าวถึงกฎเหล็กหลายอย่างของการเป็นสุภาพบุรุษที่ดี ยกตัวอย่างเช่น

‘หากคุณกำลังจะเดินผ่านประตูและมีคุณสุภาพสตรีอยู่ตรงนั้น ต้องหลีกทางให้สุภาพสตรีเดินก่อนเสมอ หากประตูปิดอยู่ สุภาพบุรุษจะต้องเดินนำหน้า กล่าวว่า “ขออนุญาตนะครับ” ก่อนเปิดประตูให้สุภาพสตรีเดินไปก่อน และต้องถือประตูอยู่อย่างนั้นจนกว่าเธอจะเดินผ่านไป’

‘ถ้าคุณนั่งอยู่บนเก้าอี้แล้วมีสุภาพสตรี คนป่วย หรือผู้สูงอายุเดินผ่าน จงลุกขึ้นและเสนอที่นั่งให้บุคคลเหล่านั้น แม้ว่าคุณจะไม่รู้จักกันก็ตาม สุภาพบุรุษที่แท้ไม่ต้องมีบทสนทนาก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้’

‘สุภาพบุรุษที่แท้ไม่ชอบเรื่องตลกไร้สาระ และเกลียดการล้อเลียนผู้ที่อ่อนแอกว่า เขาจะไม่แสดงทีท่าเห็นด้วยหรือยิ้มต่อคำพูดเย้ยหยัน สุภาพบุรุษปฏิบัติต่อคนผู้หยาบคายที่สุดด้วยความสุภาพ พวกเขาจะไม่แสดงให้เห็นว่าตัวเขามองเห็นข้อบกพร่องของผู้อื่น’

‘สุภาพบุรุษต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญทั้งภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของสถานที่ที่กำลังจะเดินทางไป คุณไม่สามารถชื่นชมภูเขาหรืออนุสาวรีย์ได้โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของมัน’

ความเป็นชายในอุดมคติแบบสุภาพบุรุษยุควิกตอเรียนนั้น นอกจากจะต้องรอบรู้ สุภาพอ่อนโยนแบบสุภาพบุรุษเรอเนซองซ์ (Renaissance Male) ยังต้องรู้จักเสียสละ ปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่าแบบสุภาพบุรุษอัศวิน (Chivalric Male) อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือความเป็นชายในยุควิกตอเรียนนั้นต้องไม่หมกมุ่นเรื่องเพศ การมีเพศสัมพันธ์จะต้องเป็นไปเพื่อผลิตทายาทเท่านั้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขของความเป็นชายแบบคริสต์ศาสนา (Spiritual Male) กฎหมายในยุควิกตอเรียนระบุชัดว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศแบบชาย-ชาย หรือชาย-หญิง ล้วนมีความผิดทางกฎหมาย เพราะถือเป็นการร่วมเพศที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อผลิตทายาท มีโทษหนักทั้งปรับและจำคุก 

ด้วยส่วนประกอบทั้งหมด สุภาพบุรุษอุดมคติในยุคนี้จึงเป็นส่วนประกอบที่ค่อนข้างฝืนธรรมชาติ ทั้งห้ามแสดงความรักกับภรรยามากเกินไป (เพราะจะดูเป็นคนมักมาก) ต้องเสียสละเพื่อคนที่อ่อนแอกว่า (ซึ่งมีนัยการยกตนขึ้นสูง) และต้องรู้มาก ศึกษาเรียนรู้ที่จะควบคุมทุกอย่างอยู่เสมอ โดยต้องไม่แสดงทีท่าตื่นเต้นเวลาอยู่ต่างที่ด้วย

สุภาพบุรุษ

Victorian Gentleman แบบอย่างความเป็นชายในต่างประเทศ

ในยุควิกตอเรียนที่อังกฤษเป็นประเทศมหาอำนาจ ความเป็นสุภาพบุรุษกลายเป็นอุดมคติที่หลายชาติพยายามทำตามเพราะถือเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นชาติอารยะ ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการออกแบบอาคารตะวันตกหลังแรกๆ เพื่อเป็นพื้นที่รองรับชาวต่างชาติและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกของวงสังคมชั้นสูง อาคารนี้มีชื่อว่า Rokumeikan (鹿鳴館) สร้างแล้วเสร็จในปี 1883 ในรัชกาลของจักรพรรดิเมจิ ภายในอาคารถูกแบ่งการใช้งานหลากหลาย มีทั้งร้านอาหารตะวันตกที่ใช้เมนูอาหารเป็นภาษาฝรั่งเศส (ตามแบบนิยมของสังคมวิกตอเรีย) คอนเสิร์ตฮอลล์ คลับเฮาส์ โรงเรียนสอนเต้นรำ ฯลฯ

สุภาพบุรุษ
Image : en.wikipedia.org
Image : commons.wikimedia.org

ในวันที่ 3 พฤศจิกายนของทุกปี Rokumeikan จะจัดงานเต้นรำยิ่งใหญ่เพื่อฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของจักรพรรดิเมจิ ซึ่งแม้พระองค์จะไม่เคยเสด็จด้วยพระองค์เองแต่ก็มักมอบหมายให้สมาชิกคนสำคัญในราชวงศ์มาเป็นประธานในพิธี

ที่น่าสนใจคือผู้เข้าร่วมงานจะต้องแต่งกายเต็มยศแบบตะวันตก (อนุโลมให้สวมกิโมโนแบบเป็นทางการได้สำหรับสุภาพสตรี) ชาวญี่ปุ่นจะแสดงความเป็นสุภาพบุรุษด้วยการเชิญสุภาพสตรีมาร่วมงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดในวัฒนธรรมซามูไรที่ไม่เคยยอมให้สตรีมีส่วนร่วมและมีหน้ามีตาในงานสังคมแบบนี้มาก่อน

เสียงตอบรับจากแขกที่มาเยือน Rokumeikan ค่อนข้างหลากหลาย ชาวต่างชาติหลายคนมองว่าเป็นความพยายามที่เกินงาม และภาพชาวญี่ปุ่นในชุดตะวันตกก็ดูงุ่มง่ามเหมือนละครลิง ​​Pierre Loti กวีชาวฝรั่งเศสบรรยายว่า Rokumeikan เป็นได้อย่างดีก็แค่คาสิโนกลางๆ ในปารีส ในขณะที่ Georges Bigot นักวาดการ์ตูนอีกคนก็เคยวาดภาพชาวญี่ปุ่นสวมชุดตะวันตกกำลังมองตัวเองในกระจกที่ฉายภาพสะท้อนของลิงตลกๆ

Rokumeikan ดำเนินกิจการไปจนถึงปี 1890 ก่อนรัฐบาลญี่ปุ่นจะตัดสินใจขายตึกดังกล่าวให้เป็นคลับส่วนตัวของชนชั้นสูงหรือที่รู้จักกันในนาม Peers Club (Kazoku Kaikan) ต่อมาตึกที่ว่าถูกทุบทิ้งไปในปี 1941 เพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นอาคารแบบอื่น

ข้ามฝั่งมาทางอเมริกา ความเป็นสุภาพบุรุษของชายในโลกใหม่ไม่ได้จำกัดที่มรดกสมบัติ แต่ค่านิยมความเป็นชายของอเมริกันมักชื่นชมคนทำงาน สร้างตัวด้วยความสามารถ และแบ่งการเป็นสุภาพบุรุษที่การศึกษา การแต่งกาย และมารยาทที่ดี สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ชายเป็นสุภาพบุรุษได้แม้อาชีพของเขาจะดูธรรมดา เช่น เป็นหมอ ทนายความ หรือพนักงานบริษัท

The Americanization of Benjamin Franklin หนังสือชีวประวัติของเบนจามิน แฟรงคลิน หนึ่งในบิดาผู้สร้างชาติสหรัฐอเมริกาของนักเขียนชื่อดัง Gordon S. Wood ได้อุทิศบทหนึ่งของหนังสือเพื่อกล่าวถึงความพยายามของแฟรงคลินผู้เกิดในตระกูลช่างตีเหล็ก ที่ต้องการเปลี่ยนตัวเองจากชนชั้นพ่อค้าให้กลายมาเป็นสุภาพบุรุษ ในสหรัฐฯ แม้แต่ลูกนอกสมรสอย่างอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ก็ยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบิดาผู้สร้างชาติสหรัฐอเมริกา

สุภาพบุรุษในอุดมคติของประเทศโลกใหม่ไม่ได้ให้คุณค่ากับมรดกหรือสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด แต่เป็นความพยายามส่วนบุคคล

อะไรคือความเป็นสุภาพบุรุษในศตวรรษที่ 21?

เจมส์ เอ.ดอยล์ นักวิชาการผู้วิเคราะห์และแบ่งความเป็นชายในอุดมคติออกเป็นยุคต่างๆ เคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ ดังนี้

“ความเป็นสุภาพบุรุษในปัจจุบันไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน ผู้ชายในยุคคุณปู่หรือคุณพ่ออาจมีต้นแบบความเป็นชายที่ชัดเจนกว่า เช่น ผู้ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า ความเป็นชายแบบอำนาจนำ (hegemonic masculinity) เป็นโมเดลที่ชายทุกคนโหยหา ความเป็นชายแบบนี้ออกจะล้าสมัยในปัจจุบัน เพราะสังคมเปิดพื้นที่ให้ความเป็นชายในแบบอื่นๆ แล้ว” 

ดอยล์ยกตัวอย่างความเป็นชายแบบ sensitive men ซึ่งในยุคก่อนถูกมองว่าอ่อนแอหรือมีภาพลักษณ์เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ความเป็นชายแบบนี้ขัดกับภาพลักษณ์สุภาพบุรุษที่ต้องเป็นผู้นำ ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า หากแต่ทุกวันนี้ sensitive men กลายเป็นที่ยอมรับและได้รับการสนับสนุน แถมสุภาพบุรุษก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งขรึม รู้ทุกอย่าง หรือต้องควบคุมอารมณ์และสถานการณ์ได้ตลอดไป

สุภาพบุรุษ
Image : gentlemansgazette.com

Hugo Jacomet คอลัมนิสต์ นักเขียนบท และเจ้าของนิตยสาร Men’s Style Magazine ชาวฝรั่งเศส กล่าวถึงคำว่าสุภาพบุรุษในยุคนี้ว่า “มีความหมายหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมองในมุมภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่การตลาด คำว่า ‘สุภาพบุรุษ’ ถูกใช้มากในวงการแฟชั่น แบรนด์สินค้ามักบอกว่าการแต่งตัวดีจะทำให้คุณเป็นสุภาพบุรุษ แต่ผมไม่คิดแบบนั้น สำหรับผมการเป็นสุภาพบุรุษมีกฎเพียงอย่างเดียว คือคุณต้องให้เกียรติและสนับสนุนผู้คนรอบตัวให้เป็นตัวของตัวเอง”

เจโคเมต์ทิ้งท้ายโดยยกเอาคำกล่าวในภาษาฝรั่งเศสที่เขาชอบมากขึ้นมาใช้

“การเกิดเป็นเด็กผู้ชายเป็นเรื่องของโชคชะตา การโตเป็นชายหนุ่มเป็นเรื่องของเวลา ส่วนการเป็นสุภาพบุรุษเป็นทางเลือกของคุณเอง”

อ้างอิง

สหะโรจน์ กิตติมหาเจริญ. สยาม เยนเติลแมน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2563.

etymonline.com

fiveminutehistory.com

historynewsnetwork.org

medicinenet.com

newworldencyclopedia.org

regencyhistory.net 

thoughtco.com 

victorian-era.org

youtube.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที