Saturday School : พาเด็กพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับชุมชน

พอพูดคำว่าโรงเรียนแล้วมักนึกถึงอะไร

ยอมรับกันตามตรง เรามักนึกภาพห้องเรียนสี่เหลี่ยม มีกระดาน มีคุณครูยืนสอน นักเรียนนั่งเรียนวิชาการความรู้แน่นๆ

แต่เมื่อได้มาทำความรู้จักกับ Saturday School ภาพจำห้องเรียนสี่เหลี่ยมก็ค่อยๆ ลบออกไป เพราะที่นี่เป็น ‘โรงเรียนวันเสาร์’ ที่เปิดสอนรายวิชาที่แตกต่างจากวิชากระแสหลักในห้อง เมื่อลองดูชื่อวิชาเหล่านั้น เราก็ได้แต่อิจฉาน้องๆ เพราะมันประกอบไปด้วยวิชาอย่างการถ่ายภาพ การออกแบบบอร์ดเกม มัคคุเทศก์ หรือแม้กระทั่งวิชามวยไทย

โครงการนี้เริ่มต้นจากไอเดียของ ยีราฟ–สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้งโครงการ Saturday School เขาได้มีโอกาสเป็นคุณครูสอนในโรงเรียนขยายโอกาสกรุงเทพฯ แล้วพบว่าเด็กหลายคนมีความสามารถแต่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้เขาเริ่มชวนผู้สนใจมาเป็นครูอาสาเปิดสอนวิชานอกห้องเรียนในวันเสาร์

ตลอด 3 ปี Saturday School ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นด้วยแรงขับเคลื่อนของเหล่าทีมงาน ครูอาสา และน้องๆ ทำให้โครงการขยายพื้นที่จนเกิดเป็นซีซั่นย่อยที่ชื่อว่า Community Project  พาเด็กๆ ลงพื้นที่พัฒนาชุมชนรอบโรงเรียน เพื่อให้น้องๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนมากขึ้น

ในฐานะนักเรียนไทยที่เรียนแต่ในห้องเรียนมาตลอด 12 ปี เราจึงอยากลองมาศึกษาวิชาพัฒนาชุมชนไปพร้อมๆ กับยีราฟ ผู้ก่อตั้งโครงการนี้ และ นัท–ยุทธกฤต เฉลิมไทย Project Manager รวมทั้งเหล่าครูอาสา และน้องๆ ในโครงการ Saturday School Season 6.5 Community Project ดูสักครั้ง

ถ้าคุณอยากลองเรียนไปด้วยกัน ก็เตรียมตัวให้พร้อม แล้วไปเริ่มต้นบทเรียนวิชาพัฒนาชุมชนกันได้เลย

 

บทที่ 1 : การศึกษาที่มีประสิทธิภาพต้องพัฒนาควบคู่กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก

เราเริ่มต้นบทเรียนกันด้วยการพูดคุยถึงที่มาที่ไปของ Community Project กับคุณครูยีราฟ

ยีราฟ : “โครงการ Saturday School มีเป้าหมายคือพัฒนาการศึกษาของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่คำว่าการศึกษามันมีความยากอย่างหนึ่งคือ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กมีผลหมด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ โรงเรียน เพื่อน เศรษฐกิจ ครอบครัว คนรอบข้าง แล้วก็ชุมชน เราเลยทำ Community Project เพราะเชื่อว่าชุมชนมีผลต่อเด็กค่อนข้างสูง”

นัท :มองง่ายๆ ชุมชนคือสิ่งแวดล้อมเด็ก เด็กหนึ่งคนสิ่งที่อยู่รอบข้างคือชุมชน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เด็กใช้เวลากี่ชั่วโมงที่ต้องอยู่ตรงนั้น คราวนี้มันหล่อหลอมเด็กคนหนึ่งให้เป็นตามสิ่งที่เขาอยู่ด้วย ผมทำงานด้านเด็กก็เห็นว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตได้ดีหรือไม่ดี สิ่งแวดล้อมคือสิ่งสำคัญ ดังนั้น เป้าหมายของ Community Project คือ ชุมชนเอื้อต่อการเรียนรู้และการเติบโตของเด็ก ทำยังไงให้ชุมชนเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ

“เด็กในโรงเรียนขยายโอกาสกรุงเทพฯ เขาเลือกไม่ได้ เขาอยู่ในชุมชนแออัด บางคนก็ต้องทำงาน ต้องช่วยเหลือที่บ้าน การที่ให้เขาพัฒนาชุมชนมันก็เลยเป็นกุญแจสำคัญว่า จะให้อนาคตของเขาดีขึ้นยังไง เปิดโอกาสให้เขามีสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องความปลอดภัย ไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องยาเสพติด คือให้เป็นพื้นที่ของเขาที่สามารถไปทำ creativity ได้”

ยีราฟ : “เราอยากเปลี่ยน mindset ของเด็กที่มีต่อชุมชนตัวเองด้วยว่า พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถพัฒนาชุมชนตัวเองได้นะ ถ้าเด็กโตขึ้น เขาอาจจะประสบความสำเร็จ การย้อนกลับมาแล้วได้พัฒนาชุมชนตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

จากตรงนี้เอง Community Project จึงเกิดขึ้นในโรงเรียนวันเสาร์ โดยพวกเขาใช้พื้นที่โรงเรียนเดิมจากซีซั่นหลัก แล้วเปิดรับสมัครครูอาสามาช่วยดูแล ครูยีราฟบอกกับเราว่า เหตุผลที่เลือกพัฒนาชุมชนรอบโรงเรียนเดิมที่เคยเปิดสอนโครงการ Saturday School ไปแล้ว เพราะเขาอยากให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ

ยีราฟ : “เราจะดูพื้นที่เดิมที่เคยจัด Saturday School ซีซั่นหลักก่อนว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมจะทำ Community Project อย่างบางพื้นที่เด็กที่มาเรียนไม่ได้มาจากละแวกชุมชนรอบโรงเรียน ก็อาจจะยากหน่อยที่จะทำโปรเจกต์ แต่สิ่งที่เราจะเลือกเป็นพื้นที่แรกๆ คือ การให้ความร่วมมือของคนในชุมชน เพราะเราอยากจะพัฒนาให้ยั่งยืนมากที่สุด”

นัท : “ซีซั่นนี้ก็จะมีชุมชนวัดปทุมวนาราม ชุมชนวัดเกาะ โรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ โรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ และชุมชนเทพลีลา ซึ่งในแต่ละที่ก็จะมีความแตกต่างกัน เช่น โรงเรียนวัดปทุมวนาราม เด็กเลือกแก้ปัญหาขยะ ครูอาสาก็ให้น้องเขาคิดวิธีการแก้ปัญหากันได้อย่างอิสระ เพราะน้องเป็นเด็กโต แต่ในชุมชนเทพลีลา ซึ่งมีปัญหาขยะเหมือนกัน ด้วยความที่เด็กร่วมกิจกรรมเป็นน้องเล็ก ครูอาสาก็ต้องมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างด้วยการเลือกทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดู เช่น พกกระบอกน้ำมาเองแทนการใช้ขวดพลาสติก เปลี่ยนมาใช้กระเป๋าผ้าแทนถุงพลาสติก”  

บทที่ 2 : เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ พัฒนาชุมชนด้วยตนเอง

เมื่อพูดถึงวิชาการพัฒนาชุมชน การเรียนการสอนจึงมีวิธีการแตกต่างจาก Saturday School ซีซั่นหลักที่ครูอาสามีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน แต่ Community Project ครูอาสาที่เข้ามาไม่ใช่คนในพื้นที่โดยตรง ทำให้ไม่มีข้อมูลมากเท่ากับเด็กๆ ในพื้นที่ ครูอาสาจึงต้องพัฒนาและเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย โดยเปิดพื้นที่ให้น้องๆ ตัดสินใจคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาด้วยตัวเองได้อย่างเต็มที่

ยีราฟ : “เราเน้นเปิดพื้นที่ให้เด็กได้พัฒนาชุมชนจริงๆ สิ่งที่อยากพัฒนามาจากตัวเด็กล้วนๆ อาสาสมัครที่เข้าไปจะไม่ได้เป็นคนสร้างกรอบว่าทำตรงไหนแล้วดี พัฒนาตรงไหนถึงจะเวิร์ก แต่ถ้าเด็กต้องการให้ครูอาสาช่วยจริงๆ ครูอาสาก็อาจจะเติมบ้าง แต่โดยกระบวนการที่ทำ เราอยากจะให้เด็กเป็นคนนำ เพราะเด็กจะรู้ดีที่สุด มันเป็นพื้นที่ของเขาเอง พอครูอาสาเป็นคนข้างนอกเข้าไปรู้ไม่ได้ดีเท่าเด็กแน่นอน เพราะฉะนั้นเด็กจะรู้ในแต่ละจุดของชุมชน

“ซึ่งก่อนลงพื้นที่สอนจริง Saturday School  จะจัดอบรมให้กับครูอาสาซึ่งมีกระบวนการหลายอย่างที่ต้องทำให้ครูอาสาเข้าใจตัวเองก่อน แล้วถึงเข้าใจคนอื่นเพื่อให้มีเทคนิคบางอย่างที่จะมาช่วยทำให้เข้าใจวิธีการในการทำงานกับชุมชนมากขึ้น เครื่องมือที่เราใช้เป็น Design Thinking มันเป็นเครื่องมือในการสำรวจชุมชน ตามกระบวนการมี 7 อย่างซึ่งเราก็เลือกมาบางเครื่องมือ เช่น ทำแผนที่เดินดิน ทำแผนผังเครือญาติ ทำปฏิทินตลอดปีว่าในชุมชนทำอะไรบ้าง ทำเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ  สิ่งที่เราเลือกมาส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งง่ายๆ อย่างการคุยกับคนในพื้นที่ มันก็ทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้น เช่น สมมติเด็กสนใจในบางจุดที่คนในพื้นที่พูดขึ้นมา ครูอาสาก็จะไปดูในส่วนนั้นต่อ ซึ่งกระบวนการในแต่ละพื้นที่ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว”

ในบทที่ 2 ครูยีราฟพาเราไปดูตัวอย่างกระบวนการเรียนวิชาพัฒนาชุมชนในห้องเรียนจริงของน้องๆ โรงเรียนวัดปทุมวนาราม ซึ่งเด็กๆ ได้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาชุมชนเรียบร้อยแล้ว และกำลังกระตือรือร้นเสนอวิธีการแก้ปัญหาขยะชุมชนในคลาสเรียนกันอย่างสนุกสนาน ในที่สุดพวกเขาก็เลือกวิธีการแก้ปัญหาด้วยการทำคลิปเพื่อสื่อสารเรื่องขยะกับคนในชุมชน

“ส่วนตัวคิดว่าถ้าเกิดทำเป็นโปสเตอร์หรือแผ่นพับ คนจะไม่ค่อยสนใจ สุดท้ายมันจะกลายเป็นขยะอยู่ดี ผมไม่อยากให้สิ่งที่ทำลงเอยเป็นต้นเหตุครับ เลยคิดว่าทำคลิปดีที่สุด”

โต้ง–ปริวรรษ แก้วพันนัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดปทุมวนารามในพระราชูปถัมภ์ฯ บอกกับเรา โต้งและเพื่อนๆ ได้ออกไอเดียและลงมือทำคลิปกันอย่างสนุกสนาน หลายคนได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยได้ทำมาก่อน หวาน–มณีรัตน์ ศุภเสถียร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดปทุมวนารามในพระราชูปถัมภ์ฯ ก็เป็นอีกคนที่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เช่นกัน

“พอพวกเราเลือกทำเป็นคลิป แต่หนูไม่เคยตัดต่อคลิปมาก่อนเลยค่ะ ไม่เคยแตะอะไรแบบนี้เลย เพิ่งได้มาทำครั้งนี้แหละ เพื่อนสอนตัดต่อ สอนทำซับไตเติล เป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก ได้ร่วมกิจกรรมแล้วสนุกมาก”

 

บทที่ 3 : learning space ของทุกคน

ด้วยกิจกรรม Saturday School ตลอด 10 สัปดาห์ทั้งครูอาสาและเด็กต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน หลายครั้งก็มีปัญหาแวะเวียนมาให้พวกเขาได้ช่วยกันขบคิดแก้กันเสมอ เช่น บางปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นเรื่องที่เด็กแก้ไขได้ยาก แต่ทีมงานทุกคนก็เชื่อว่านี่คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้ทุกคนได้ขบคิดแก้ไขปัญหา และลงมือลองผิดลองถูก

นัท : “ผมบอกตั้งแต่แรกแล้วว่า Saturday School เป็น learning space ของทุกคน เปิดพื้นที่ให้กับความผิดพลาด เปิดพื้นที่ให้กับการพัฒนาตัวเอง ใครอยากพัฒนาตัวเองด้านไหน เข้ามาช่วย ถ้าผิดพลาดตรงไหนเราให้อภัยกัน เราพูดอย่างนี้ตั้งแต่เทรนนิ่งวันแรกๆ ฉะนั้นการสร้างความรู้สึกแบบนี้ในการทำงานมันไม่โทษใคร ไม่มีใครว่าตรงนี้มันผิด แล้วสิ่งที่ครูอาสาต้องทำคือเปิดใจ จุดประสงค์หลักคือครูอาสาไม่ได้เป็นครูนะ แต่เป็นโค้ชหรือเป็น fasinalator ที่จะเข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับน้อง  ดังนั้นครูอาสาจะได้เรียนรู้ตลอดเวลา มากกว่าแค่เราไปให้อย่างเดียว ครูอาสาก็จะได้รับด้วย”

การสร้าง learning space ทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นัทเล่าว่าการจัดกิจกรรมทุกอย่างได้ความช่วยเหลือจากครูอาสาเป็นอย่างดี เขาเห็นความกระตือรือร้นที่อยากจะพัฒนาชุมชนของครูอาสาและน้องๆ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ และการให้อภัยซึ่งกันและกันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมาย mindset ของครูอาสาที่จะเข้าไปช่วยเด็กพัฒนาชุมชนได้

เราได้คำยืนยันจากครูอาสาในพื้นที่โรงเรียนแก่นทองอุปถัมป์อย่าง ฟลุ๊ค–ณัฏฐ์ชัญญา อนันตรังสี นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่เข้าร่วมโครงการ Community Project ครั้งนี้

“ปกติฟลุ๊คจะเป็นคนค่อนข้างขี้อาย เก็บตัว ไม่ค่อยได้กล้าแสดงออกเท่าไหร่ พอมาถึงวันนี้ เราเป็นพี่ๆ ดูแลน้อง บางอย่างที่น้องเขากลัวหรือขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก เราก็ต้องพยายามเข้าไปคุย มันก็ได้พัฒนาให้ตัวเองมีความเป็นผู้นำมากขึ้น กล้าตัดสินใจมากขึ้นด้วย

จริงๆ เรามองว่าในสังคมไทย โอกาสที่เราจะทำในสิ่งที่เราอยากทำ ลองผิดลองถูก มันมีน้อยมาก อย่างตอนที่เรานั่งเรียนในห้อง มีคุณครูพูดหน้ากระดาน เด็กเปิดหนังสือตามครู ถ้าเกิดอยากรู้อะไรเราก็ไม่กล้ายกมือถาม เวลาที่มีใครถามหรือแสดงความคิดเห็น เราก็จะไม่กล้ายกมือเพราะไม่อยากทำตัวเด่น แต่พอเราเข้ามหาวิทยาลัย เราก็รู้ว่ามันต้องกล้าแสดงออกมากนะ เพราะสังคมเวลาโตขึ้นมามันจะรอให้คนมาถามเราอย่างเดียวไม่ได้ เราไม่สามารถรอรับโอกาสอย่างเดียว เราต้องออกไปหาโอกาส ไขว่คว้าโอกาสด้วยตัวเองด้วย

“พอได้มาทำกิจกรรมนี้ก็เห็นน้องหลายคนที่เป็นเหมือนเรา มีน้องขี้อาย บางคนจะกล้าพูดก็ต่อเมื่ออยู่กับเพื่อน มีไอเดียอะไรที่อยากจะบอกก็จะไม่บอก แต่พอผ่านไปวีคหลังๆ เห็นได้ชัดว่าน้องกล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น เราก็มีความสุขมากที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้”

บทที่ 4 : สุดท้ายแล้ว กระบวนการเรียนรู้คือโปรดักต์ที่สำคัญ

ก่อนจะปิดคอร์สวิชาพัฒนาชุมชน เหล่านักเรียนและครูอาสาต่างขะมักเขม้นทำงานกันอย่างตั้งอกตั้งใจ เพื่อรวบรวมผลงานและกระบวนการเรียนรู้ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนในวิชาพัฒนาชุมชนมาจัดแสดงให้ทุกคนได้ชมกันในวันสุดท้ายของการเรียนการสอน หรือที่ทุกคนเรียกวันนี้ว่า วัน Big Day

ทั่วงานเต็มไปด้วยรอยยิ้มของนักเรียนและครูอาสา กิจกรรมดนตรี การแสดง และผลงานการเรียนรู้ของน้องๆ ถูกกระจายเต็มพื้นที่ Siam Innovation District – เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (สยามสแควร์วัน) สิ่งเหล่านี้เชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาเดินชมทั่วงาน

นัท : “มีอาทิตย์นึงที่ผมลงพื้นที่ ก็เพิ่งมาฉุกคิดเหมือนกันว่ามีน้องคนหนึ่งเขาเรียนทั้งซีซั่นหลักและซีซั่น community project ผมถามน้องว่ามันแตกต่างกันยังไง เขาบอกว่าซีซั่นใหญ่มันทำให้เขาได้เรียนรู้ในวิชาที่เขาอยากจะเรียน แต่สิ่งที่เขาได้จาก Community Project คือ เขาได้ความสามัคคี เพราะว่าเขาก็อยู่ในโรงเรียนเดียวกัน มีพี่หลายรุ่น มีคนเรียนหลายระดับ ไม่เคยได้ทำงานร่วมกัน แต่พอได้มาทำ Community Project มันสร้างความสามัคคี มันทำให้เขาได้รู้จักกันมากขึ้น ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นมากขึ้น

สิ่งที่เด็กจะได้อีกอย่างก็คือมีความกล้าแสดงออก อย่างวันงาน Big Day ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการร่วมกิจกรรม เราจะจัดแสดงผลงานการเรียนรู้ของทุกชุมชนเพื่อให้คนทั่วไปได้เข้ามาดู แล้วน้องๆ เขาอยากจะแสดงดนตรีและคัฟเวอร์แดนซ์ คือเราไม่ได้ขอ แต่เด็กๆ บอกอยากจะโชว์ เราจัดงานที่สยามนะ น้องจะกล้าเหรอ ก็ไม่มีใครอาย เราเลยรู้สึกว่าเด็กมีความกล้าแสดงออก เหมือนมีพื้นที่ที่ทำให้เขาอุ่นใจ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา แล้วเขาอยากแสดงออก มันไม่มีใครมาตัดสินเขาตรงนี้

“ผมบอกตั้งแต่เริ่มต้นซีซั่น Community Project เลยว่า เราไม่ได้มองผลของการเรียนรู้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่เราโฟกัสคือกระบวนการเรียนรู้ เราไม่ได้มองที่ end product

“ส่วนการจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นมันอาจจะไม่ได้เห็นในรุ่นนี้ รุ่นนี้เป็นรุ่นฉุกคิดถึงปัญหา การแก้ปัญหาต่างๆ พอหลายคนเห็นปัญหาแล้วก็เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอาจจะเห็นในยุครุ่นลูกหลานเขา เราก็มองมันในระยะยาวด้วย”

ยีราฟ : “ชุมชนเปลี่ยนเราก็ดีใจครับ แต่ว่าด้วยการทำงานกับชุมชนมันอาจจะต้องใช้เวลา ในท้ายที่สุดเรามองที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ บางชุมชนก็น่าสนใจ อย่างครั้งที่แล้วชุมชนสายไหม ก็มีนักการเมืองในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ตอนนั้นเป็นเรื่องของการกำจัดยุง เด็กก็คิดว่ามันมีหลายสาเหตุเหมือนกันว่าทำไมถึงมียุง สิ่งหนึ่งเลยคือมันมีที่รกร้างแล้วขยะเยอะ ในวันคลีนนิ่งที่ชาวบ้านมาช่วยกันทำแล้วประสานกับบริษัทยากันยุงมาแจกชาวบ้าน มันก็เป็นสิ่งที่เริ่มเห็นว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนมันก็เป็นไปได้ แล้วก็การพัฒนาที่มาจากตัวเด็กๆ มันก็เริ่มค่อยๆ เห็นมากขึ้น

“จริงๆ แล้วสิ่งที่เราคาดหวังมากที่สุดในการทำ Saturday School แต่ละพื้นที่คือ วันหนึ่งเราสามารถออกมาได้โดยพื้นที่สามารถเติบโตไปได้ด้วยดีด้วยตัวเอง”

ใครสนใจกิจกรรมของ Saturday School หรืออยากสมัครเป็นครูอาสาก็ติดตามข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/SaturdaySchoolThailand/  

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พชรธร อุบลจิตต์

เป็นช่างภาพที่เรียนการเมืองแต่ชอบเดินทางเป็นอาชีพแถมยังชอบทำขนมเป็นงานอดิเรก กำลังเก็บเงินไปเอเวอเรสต์และซื้อตู้เย็น