เมื่อพูดถึงบอร์ดเกม ความคิดแรกที่หลายคนนึกถึงคือเกมสนุกๆ นับร้อยกล่องในคาเฟ่บอร์ดเกม ก๊วนเพื่อนมาที่เล่นด้วยกัน บทสนทนาเสียงดังลั่นที่เกิดขึ้นระหว่างเล่น และเมื่อเกมจบลง เราค่อยมาสรุปผลว่าใครแพ้ ใครชนะ ก็เป็นอันจบเกมไป
แต่ถ้าเกิดมีบอร์ดเกมที่ไม่ได้จบลงไปพร้อมกับการเล่น แต่เป็นบอร์ดเกมที่เกี่ยวกับสภาพเมือง นโยบาย การลงทุนสาธารณะ และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ให้เราได้เล่นกันล่ะ ได้ยินอย่างนี้หลายคนก็เข้าโหมดซีเรียสกันเลยใช่ไหม
วันนี้เราจึงขอพาไปรู้จักกับ Urban Resilience Board Game ที่ว่านี้ผ่านคำบอกเล่าจากหนึ่งในทีมผู้ออกแบบเกม ผศ. ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าบอร์ดเกมนี้ถูกพัฒนามาจากโครงการวิจัย Coastal Cities at Risk (CCaR) : Building Adaptive Capacity for Managing Climate Change in Coastal Megacities Program ของหน่วยวิจัยอนาคตเมือง (Urban Futures Research Unit) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถ้ามีเกมที่ออกแบบให้เข้าใจง่าย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย แถมยังเป็นเครื่องมือที่ส่งเสียงสะท้อนไปยังการกำหนดนโยบายด้านผังเมืองของบ้านเราได้จริงๆ คนเมืองอย่างเราๆ ได้ยินอย่างนี้เริ่มอยากเล่นขึ้นมาแล้วใช่มั้ยล่ะ
ออกแบบจากความซับซ้อนของชีวิตคนเมืองของจริง
Urban Resilience Board Game ถูกออกแบบโดยทีมวิจัย CCaR ซึ่งถือเป็นความยากและท้าทายมากในการหยิบเรื่องความซับซ้อนของเมือง เรื่องการใช้ที่ดิน เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ และความรู้เชิงวิชาการต่างๆ ใส่ลงไปในเกมให้ผู้เล่นเข้าใจได้ง่าย
ตัวเกมถูกออกแบบให้เหมาะกับผู้เล่นตั้งแต่ 4 – 6 คน และจะมี facilitator ตัวกลางอยู่ 1 คน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเกมให้ดำเนินไปได้จนจบ เป็นผู้ดำเนินการการถกเถียงหรือแสดงความคิดเห็นของผู้เล่น โดย facilitator จะบันทึกความเห็นเหล่านั้นของผู้เล่นที่เกิดขึ้น เพื่อเอาไปใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวกับเมืองต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้เล่นที่มีภูมิหลังความรู้แตกต่างกันมักมีแนวทางการเล่นเกมและการให้ความเห็นที่แตกต่างกันด้วย
มีโจทย์ตั้งต้นเป็นความเสี่ยงของเมืองในรูปแบบต่างๆ
ในการเล่น ผู้เล่นจะได้ลองประเมินความเสี่ยงเชิงสถานการณ์ (scenario-based risk assessment) ในการวางแผนเชิงสถานการณ์ (scenario planning) โดยตัวเกมจะอ้างอิงแนวโน้มเมืองในอนาคตจากแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงระบบเมือง (urban system dynamic model) ในรูปแบบความเสี่ยงต่างๆ จากงานศึกษาวิจัยของทีม CCaR ผู้เล่นจะได้ลองหาทางแก้ปัญหาต่างๆเช่น ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ หรือหาแนวทางการเป็นเมืองแห่งสังคมพลวัตของกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ผู้เล่นแต่ละคนจะถูกเรียกว่า ‘Urban Leader’ สวมบทบาทเป็นผู้จัดการเมืองของตนเองคนละ 1 เมืองจาก 6 เมือง (Urban Future) ที่สุ่มเลือกขึ้นมา เมื่อได้เมืองของตัวเองครบทั้งวงแล้ว ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องแนะนำเมืองที่ตนเองดูแลแก่ผู้เล่นคนอื่นๆ และผู้เล่นจะได้เงินเป็นจำนวน 20,000 ล้านบาทเท่ากันทุกคน โดยผู้เล่นจะต้องหาวิธีรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยนำเงินนั้นไปลงทุนตามดุลยพินิจของแต่ละคน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สร้างที่อยู่อาศัย การใช้ประโยชน์ที่ดิน การดูแลสภาพแวดล้อมและสุขภาพของคน รวมไปถึงการจัดการปัญหาน้ำท่วม โดยจะมีตัวเลือกการลงทุนให้หลายแบบ ทั้งในระยะเวลา 5 ปีและ 10 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน
ขอเสริมอีกนิดว่า เมืองสมมุติเหล่านี้สร้างขึ้นโดยอิงมาจากการวิจัยสภาพพื้นที่จริงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีมิติของวิสัยทัศน์ในด้านต่างๆ รวมอยู่ด้วย เช่น ด้านเศรษฐกิจสังคม การจัดการที่อยู่อาศัย การใช้ที่ดิน การดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน และลักษณะการบริหารจัดการน้ำท่วมที่มีอยู่
นวัตกรรมที่ส่งเสริมการอภิปรายทางสังคม
บอร์ดเกมนี้จะถูกนำไปทดลองเล่นกับคนหลายกลุ่มและหลากหลายวัย เอื้อให้เกิดการพูดคุยระหว่างผู้เล่นที่มาจากกลุ่มคนต่างๆ เช่น นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น คนในชุมชน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ นักผังเมือง และนักศึกษา เป็นต้น ซึ่งผู้เล่นทุกคนจะมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินใจของผู้เล่นคนอื่นๆ ได้ เรียกได้ว่าบอร์ดเกมนี้เป็นเหมือนนวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการปรึกษาหารือทางสังคม (innovation for social deliberation) ซึ่งการปรึกษาหารือที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่นเกมนี้ จะโยงไปสู่การสร้างยุทธศาสตร์และนโยบายที่ส่งเสริมความเป็นพลวัตของเมืองในบริบทของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เกิดจากการตกลงร่วมกันของคนหลากหลายกลุ่มในสังคมด้วย
เกมที่สร้างความเข้าใจต่อปัญหา climate change ในพื้นที่กรุงเทพฯ
นอกจากจะให้ความรู้เรื่องเมืองมากขึ้นแล้ว บอร์ดเกมนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจของผู้เล่นต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งปัญหาหลักที่ถูกใส่เข้ามาในเกมก็คือปัญหาน้ำท่วมนั่นเอง เป้าหมายโดยรวมของการสร้างเกมนี้ขึ้นมาก็เพื่อพัฒนาฐานความรู้ของผู้เล่นว่า เมืองขนาดใหญ่ (mega-city) จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและรับมือต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้อย่างไรบ้าง
อีกอย่างหนึ่งคือการสร้างเกมนี้สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายของ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ UN ได้ปล่อยออกมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต โดยเป้าหมายที่ 11 ได้ว่าไว้ถึงเรื่องของเมืองและการสร้างถิ่นฐานที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต เพื่อทำให้ตัวเมืองปลอดภัยและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สุดท้ายนี้ ขอบอกอีกนิดว่าเกมนี้จะจัดให้เล่นเฉพาะบางอีเวนต์เท่านั้น ซึ่งหากใครต้องการเล่น ต้องติดตามข่าวสารจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดีๆ
ช่องทางการติดต่อและติดตามข่าวสาร
Facebook l Aloud Bangkok
E-mail l [email protected]
ขอบคุณ ผศ. ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
หนังสืออ้างอิง
การสร้างเมืองพลวัตในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จัดทำโดย หน่วยวิจัยอนาคตเมือง (Urban Futures Research Unit) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพ ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์