เก็บน้ำ หิน ดิน ทราย ‘ดิสสกร กุนธร’ ชายผู้สร้างความรอบรู้จากการสะสมทรัพยากรธรรมชาติ

Highlights

  • อ.ดิสสกร กุนธร คือนักสะสมทรัพยากรธรรมชาติวัยเก๋า เขาได้ตามเก็บน้ำ ดิน หิน ไม้ ลาวา และอื่นๆ อีกมากมายจากการเดินทางในไทยและทั่วโลกมานานกว่า 45 ปี
  • ทุกครั้งที่ออกเดินทาง ดิสสกรจะพกขวดพลาสติกเล็กๆ เพื่อเก็บน้ำจากแม่น้ำ และพกถุงพลาสติกเพื่อใส่ทรัพยากรธรรมชาติประเภทอื่น จากการเก็บเขาได้เรียนรู้ว่าทรัพยากรในแต่ละที่นั้นต่างกัน และมันยังบ่งบอกถึงวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นๆ อีกด้วย
  • ดิสสกรบอกเราอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาไม่ได้พิจารณาตัวเองเป็นนักสะสมด้วยซ้ำ เพราะเหตุผลที่แท้จริงในการเก็บคือการส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อ

ดิสสกร กุนธร นานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ

คำถามนี้แวบขึ้นในความคิดฉันทันทีเมื่อมาถึงสถานที่นัดในวันนี้ แปลกดีที่ตอบตัวเองไม่ได้เหมือนกันว่านานแค่ไหนแล้วที่ฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันไปกับการอยู่ในกล่อง เผชิญหน้ากับผนังห้อง สื่อสารกับหน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ส่งเสียงแจ้งเตือนแข่งกันทุกนาที

อาจนานเกินไป เพราะเมื่อได้กลับมาอยู่ใต้เงาต้นไม้ใหญ่ ฟังเสียงน้ำไหล รับแดดอ่อนๆ ที่ส่องผ่านช่องว่างของใบไม้ ฉันต้องใช้เวลาครู่หนึ่งเพื่อซึมซับมันด้วยความรู้สึกโหยหา

เปล่าหรอก ฉันไม่ได้กำลังเดินป่าหรือเที่ยวสวนสาธารณะที่ไหน แต่นี่คือบ้านของ อ.ดิสสกร กุนธร ชายนักสะสมผู้ใช้เวลากว่า 45 ปีในการเก็บทรัพยากรธรรมชาติจากทั่วโลก

ดิสสกร กุนธร

 

-01-

เพียงแค่แรกก้าว ฉันก็รู้สึกสงบ

อาจเพราะสีเขียวที่ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ บวกกับรอยยิ้มเจ้าของบ้านที่เชื้อเชิญให้ฉันเข้าไปนั่งเล่นใน ‘สนามเด็กเล่น’ ของเขา

อ่านไม่ผิดหรอก ดิสสกรมีสนามเด็กเล่นอยู่ภายในบ้านของตัวเอง มันคือสนามเด็กเล่นที่เขาทดลองสร้างเป็นต้นแบบของโปรเจกต์ ‘สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา’ ซึ่งทำร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สนามเด็กเล่นแห่งนี้ไม่ได้ประกอบด้วยเครื่องเล่นพลาสติกเหมือนที่เห็นทั่วไป แต่สร้างขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติในชุมชนนั้นๆ เพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาองค์ความรู้ของเด็กจากการเล่น

โปรเจกต์นี้คือเหตุผลที่ดิสสกรในวัย 70 ปีไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนคนวัยหลังเกษียณทั่วไป แทนที่จะพักผ่อนอยู่บ้าน เขากลับต้องเดินทางทั่วไทยเพื่อไปตรวจงาน ซึ่งตอนนี้มีรายการจ่อคิวถึง 3,000 กว่าแห่ง

“นี่ก็เพิ่งกลับมาจากร้อยเอ็ด” เขาบอก แน่นอนว่าสำหรับคนที่รักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติ มากกว่านั้น ดิสสกรจะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ออกไปที่ใหม่ๆ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสในการทำงานอดิเรกที่เขารักอีกงาน

งานอดิเรกที่ว่าคือการเก็บทรัพยากรธรรมชาติ

 

“ผมเริ่มเก็บเป็นครั้งแรกเมื่อ 45 ปีที่แล้ว จำไม่ได้เหมือนกันว่าคืออะไร มันเกิดจากการที่ผมเป็นคนชอบท่องเที่ยวด้วยตัวเอง เวลาไปเที่ยวที่ไหน ผมก็จะสังเกตว่ามีอะไรในสถานที่นั้น เช่นไปทะเลทราย ผมก็สังเกตว่าในทะเลทรายมีอะไร หินเป็นแบบไหน ทำไมต้องสีส้ม ไปเก็บพวกนั้นกลับบ้านมา และศึกษาต่อว่ามันเป็นยังไง”

กรวด หิน ดิน ทราย น้ำ ไม้ เมล็ดข้าว ฟอสซิล นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดที่ดิสสกรสนใจ

รู้ตัวอีกที วันนี้บ้านของเขาก็เต็มไปด้วยชิ้นส่วนจากธรรมชาติกว่า 500 ชิ้น

-02-

ทุกครั้งที่ได้เดินทาง ดิสสกรจะพกขวดเล็กๆ และถุงพลาสติกติดตัว เผื่อว่าไปเจอสิ่งที่น่าสนใจที่ไหนเข้าก็จะได้เก็บมาเลย

“ผมเก็บทุกอย่างที่น่าสนใจ ขึ้นอยู่กับว่าที่ตรงนั้นมีวัตถุดิบอะไรบ้าง บางที่เป็นสถานที่สำคัญซึ่งคนในท้องที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ เช่น จุดที่แม่น้ำมาบรรจบกัน ผมก็เก็บน้ำและดินตรงนั้น บางทีเป็นสะพานข้ามแม่น้ำลึก ผมก็เอาเชือกผูกแล้วหย่อนลงไปเหมือนตักน้ำสมัยก่อน หรือถ้าเป็นหิน ก็เก็บพวกหินภูเขาไฟ หรือหินแปลกๆ อย่างหินแร่เหล็กซึ่งมีคุณสมบัติดึงดูดเหมือนแม่เหล็ก อันนี้เจอที่เขาทับควาย จังหวัดลพบุรี”

การไปเก็บทรัพยากรธรรมชาติในที่ต่างๆ มันทำให้เขาเรียนรู้อะไรบ้าง ฉันสงสัย

“มันบอกถึงความแตกต่างของภูมิประเทศ อย่างเช่นภาคอีสาน ดินที่เขาใช้ปลูกข้าวเป็นดินเหนียว ดินจะต่างกันกับภาคกลาง หรืออย่างดินแถวขอนแก่นจะเป็นสีแดง ต่างกับดินในจังหวัดอื่นที่มีสีดำ ซึ่งเป็นดินที่มีปุ๋ยเพราะสะสมพวกซากพืชซากสัตว์”

ดิสสกรเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากการนำทรัพยากรธรรมชาติไปปรึกษากับเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ และเขายังได้ศึกษาลึกลงไปถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของสถานที่ เพื่อบันทึกข้อมูลการเก็บพร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ลงบนฉลากติดภาชนะในรูปแบบภาพวาดสีสดใส และเชิญชวนให้เด็กๆ มาเรียนรู้ต่อยอดได้ที่บ้านของเขาเอง

ดิสสกร กุนธร

 

-03-

ต่างจากนักสะสมหลายคนที่ฉันเคยพบ ดิสสกรบอกว่าเหตุผลที่เขาเก็บนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความชอบเพียงอย่างเดียว

“ผมอยากเผยแพร่ความรู้มากกว่า บางทีเด็กไม่ได้ไปศึกษา ไปสถานที่นั้นก็ไปถ่ายรูปอย่างเดียว ไม่ได้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญจริงๆ คืออะไร”

การสะสมของดิสสกรจึงเป็นการส่งต่อความรู้ให้เด็กๆ และผู้สนใจได้รู้จักสังเกต วิเคราะห์ เจาะลึกลงไปว่าอะไรคือเบื้องลึกของทุกเรื่อง “สิ่งนี้คือการเพาะปลูกความรู้ เราจะปลูกความรู้จากของที่เราหยิบขึ้นมา ปัจจุบันเราไม่รู้หรอกว่าเป็นอะไร แต่เราจะรู้ถ้าสนใจ เขาเรียกว่าระบบเชื่อมโยง”

ดิสสกรยกตัวอย่างระบบคิดเชื่อมโยงนี้ให้เราฟังว่า ทรัพยากรธรรมชาติสามารถสอนเด็กทุกคนให้ดูว่ามนุษย์เราแตกต่างกันเพราะอะไร อย่างมนุษย์ที่อยู่โซนเหนืออย่างพวกไวกิง หน้าหนาวไม่มีอะไรกิน เพราะดินตรงนั้นเพาะปลูกอะไรไม่ได้ มันต่อยอดไปว่าเขาต้องไปล่ากวาง ทำให้นิสัยของคนเหล่านี้ไม่เหมือนนิสัยเรา เพราะที่ที่เราอยู่มันต่างกัน

“ผมอยากให้เด็กรุ่นใหม่เป็นนักเรียนที่ฉลาด ถ้าเกิดว่าเก็บหินขึ้นมาก้อนหนึ่ง คุณต้องรู้ว่ามีประโยชน์อะไร มีแร่ธาตุอะไรในหินก้อนนั้น มันมาจากที่ไหน ต้องเอาทุกอย่างมาเชื่อมกันหมด

“ยกตัวอย่าง ดินขาวที่ลำปางที่เรียกว่า kaoling หรือ China clay คือฝุ่นของลาวาตอนภูเขาไฟระเบิด คนไทยไม่รู้ว่ามันมีคุณสมบัติอะไร จนกระทั่งคนจีนมาอยู่ลำปาง แล้วบอกว่าดินแบบนี้เหมือนกับที่เมืองจีนนะ ที่นั่นเขาใช้ปั้นทำถ้วยชาม เป็นดินเบา ก่อตัวเป็นผลึก เมื่อเอาดินนี้ไปตำกับน้ำแล้วหล่อเป็นชาม คุณจะได้ชามตราไก่ นอกจากชาม ถ้าเอาเกาลิงนี้ไปใส่กับกล้วย ปกติ 3 วันกล้วยก็เน่าแล้ว แต่สิ่งนี้จะทำให้กล้วยอยู่ได้ถึง 7 วัน คุณจะสามารถส่งกล้วยไปขายได้ไกลขึ้น” ดิสสกรยกตัวอย่างความเชื่อมโยงทางเศรษฐศาสตร์ให้ฟัง

ดิสสกร กุนธร

 

-04-

หลังจาก 40 ปีที่เขาเก็บและถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์มาตลอด ในวันนี้ความพยายามของเขาเริ่มเห็นผล

“มีลูกศิษย์เก็บหินมาให้ผม เป็นไม้ที่กลายเป็นหิน แสดงว่าเขามองไปที่พื้นดินแล้วรู้ว่าในกองก้อนหินมีอันไหนที่เป็นฟอสซิลบ้าง เขาเริ่มวิเคราะห์ได้ว่ามันไม่ใช่หินธรรมดา” เขาพูดพร้อมรอยยิ้มดีใจ จากนั้นก็เล่าถึงความสำคัญของการเก็บสิ่งต่างๆ ให้เราฟังต่อ

“ทำไมเราจะต้องเก็บด้วย ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างสมิธโซเนียน เขาเก็บทุกอย่างไว้เป็นพันปีโดยที่ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน แต่ในเวลานั้น เขาคิดแค่ว่าเก็บไว้ส่งต่อให้คนยุคต่อไป เขาคิดว่าความรู้ช่วยให้มนุษย์เจริญขึ้นได้”  ดิสสกรทิ้งท้าย

ดิสสกร กุนธร

 


คลาสเรียนประวัติศาสตร์กับลุงดิส

ดิสสกร กุนธร

ภายในสนามเด็กเล่นหลังบ้าน มีเรือโจรสลัดลำใหญ่ที่ด้านในเต็มไปด้วยขุมทรัพย์แห่งความรู้ บนเรือลำนั้นฉันจึงขอทดลองเป็นลูกศิษย์ของ อ.ดิสสกร หนึ่งวัน เพื่อเรียนรู้ที่มาของทรัพยากรธรรมชาติแต่ละชิ้นที่ฉันขอให้อาจารย์เลือกมาให้

ดิสสกร กุนธร

“ขวดนี้คือทรายจากทะเลที่กรีซ ผมเก็บมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ดูดีๆ มีพวกแร่ธาตุ ลาวา ในหินสีดำ เห็นสีนี้แปลว่าอะไร แปลว่าประเทศกรีซเนี่ยเกิดจากภูเขาไฟ เกาะของกรีซทั้งหมดคือซากระเบิดภูเขาไฟครั้งใหญ่หลายๆ ครั้ง ถ้าเอาทะเลออกไป มันจะเป็นปากภูเขาไฟขนาดใหญ่ ด้วยการอยู่เป็นเกาะมานานนม สิ่งที่คนกรีกทำได้ดีที่สุดคือการเดินเรือและการใช้เรือรบ”

ดิสสกร กุนธร

“ทะเลสาบแคสเปียนตั้งอยู่ที่ประเทศอิหร่าน เป็นทะเลสาบที่มีปลาสเตอร์เจียน ที่มาของไข่ปลาคาเวียร์ บริเวณทะเลสาบแคสเปียนคือที่ที่มนุษย์โบราณเมื่อ 5,000-6,000 ปีมารวมกันอยู่ เพราะเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เอาจริงๆ มันไม่ได้จืดซะทีเดียว ชิมแล้วมันมีรสกร่อยๆ มีน้ำเค็มปนอยู่สักประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ทะเลสาบนี้น่าสนใจเพราะปัจจุบันหลายเผ่าที่เคยอยู่ล้อมรอบเป็นต้นกำเนิดของมนุษย์”

ดิสสกร กุนธร

“เมืองเพนียดเป็นเมืองขอมโบราณ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองจันทบุรี เป็นบริเวณที่ใกล้กับที่ที่พระเจ้าตากสินไปสร้างวัด เพราะจะเอากระดูกของทหารที่ตีเมืองจันท์ไปไว้ที่นั่น แล้วท่านก็สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งเพื่อเก็บกระดูกท่านใต้ฐานพระ หินพวกนี้ที่เก็บมาคุณจะเห็นว่าเป็นเหมือนกับศิลาแลง เพราะบริเวณนี้มีแร่ธาตุศิลาแลงกับธาตุเหล็กอยู่ ซึ่งอาณาจักรขอมเขาจะใช้พวกนี้เป็นฐาน เพราะหนึ่ง มันไม่ค่อยผุ สอง มันเป็นตัวนำไฟฟ้า เมื่อฟ้าผ่า ฟ้าจะวิ่งลงไปในหิน”

ดิสสกร กุนธร

“แม่น้ำฮวงโห อันนี้เพิ่งไปมา ที่เห็นว่าน้ำเป็นสีเพราะมันมีแร่ธาตุอยู่เต็มไปหมด ว่ากันว่าแม่น้ำฮวงโหคือแม่น้ำวิปโยคของจีน มีคนตายเป็นล้าน เส้นทางขนาบกับแม่น้ำคือเส้นทางสายไหมซึ่งคนนิยมไปมาก ไปทางปักกิ่ง แล้วขึ้นไปจากอำเภอหลานโจว ไปซานชี เส้นทางนี้มีภาพแกะสลักและพระพุทธรูปโบราณเยอะแยะเลย”

ดิสสกร กุนธร

“ภูเขาเมาต์รัชมอร์ที่อเมริกา ผมเคยไปมาเมื่อหลายสิบปีก่อน ตั้งอยู่ทางเหนือของอเมริกา เป็นถิ่นเก่าของชาวเนทีฟอเมริกัน การแกะสลักภูเขาเมาต์รัชมอร์นั้นมีเป้าหมายในทางประวัติศาสตร์คือ อยากให้เป็นสัญลักษณ์ของอเมริกา ตอนไปเราก็เก็บหินแกรนิตมา หินตัวนี้เหมือนกับหินที่ภูฏาน เป็นหินที่มีแร่อยู่ข้างใน ความน่าสนใจคือ พอโดนแสงแล้วมันจะแวววาวเหมือนกากเพชร”


ขอขอบคุณ ธารริน อดุลยานนท์ ที่เอื้อเฟื้อเรื่องการประสานงาน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com