‘ซินเธีย หม่อง’ หมอไร้สัญชาติแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ ผู้รักษาคนตามชายแดนไทย-พม่ามากว่า 30 ปี

Highlights

  • ซินเธีย หม่อง คือหมอไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’ สถานพยาบาลขั้นปฐมภูมิในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขึ้นเมื่อปี 1988 หลังจากลี้ภัยสงครามกลางเมืองมาจากประเทศพม่า
  • ‘แม่ตาวคลินิก’ ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้อพยพ คนพลัดถิ่น คนไร้สัญชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนไทย-พม่าที่เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยในปีหนึ่งมีผู้มาใช้บริการที่คลินิกเหยียบแสนคน
  • ซินเธียเคยคิดว่าจะกลับบ้าน แต่ปัจจุบันในวัย 60 ปี เธอมองว่าการกลับพม่าไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป ในเมื่อครอบครัวของเธออยู่ที่นี่ และงานของเธอก็ยังไม่เสร็จดี

01 แม่ตาวคลินิก

ฉันมาถึงสนามบินแม่สอดโดยมีความรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งในพม่าและสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-พม่าเท่าหางอึ่ง

ไม่ใช่แค่ความเชื่อในหลักการที่ว่า ‘ไม่รู้ ก็ต้องทำให้รู้’ ที่ผลักดันให้ฉันเดินทางข้ามประเทศมาเกือบ 500 กิโลเมตรหรอก แต่ยังมีความกระหายที่จะได้พบเจอบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ผสมปนเปในสัดส่วนที่มากกว่า 

ฉันเพิ่งได้ยินชื่อ ‘ซินเธีย หม่อง’ ครั้งแรกก็ตอนที่รุ่นพี่ผู้ทำงานในกาชาดสากลหรือ ICRC เล่าให้ฟังว่าองค์กรของเธอกำลังทำโปรเจกต์ร่วมกับคุณหมอคนนี้ที่ ‘แม่ตาวคลินิก’ สถานพยาบาลขั้นปฐมภูมิที่ให้บริการทางการแพทย์กับแรงงานอพยพและผู้ลี้ภัยชาวพม่าในบริเวณชายแดนไทย-พม่าโดยเฉพาะ

แค่ป้อนชื่อคุณหมอลงในเสิร์ชเอนจิ้น เลือดในตัวฉันก็พลันสูบฉีด รางวัลแม็กไซไซสาขา Community Leadership ที่เธอได้รับเมื่อปี 2002 และรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนอีกจำนวนมากคงเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ฉันตื่นเต้นคือเรื่องราวชีวิตของเธอ จากแพทย์ในคลินิกสูติกรรมแห่งหนึ่งในเขตอิรวดี ซินเธียใช้เวลาเป็นสัปดาห์เดินเท้าข้ามป่าข้ามเขามาถึงชายแดนไทย-พม่า เพื่อเอาชีวิตรอดจากความรุนแรงที่รัฐบาลทหารบังคับใช้ในการสลายการชุมนุมของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 8888 Uprising เมื่อปี 1988    

มีการคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นราว 3,000 ราย ถูกจองจำอีกราว 3,000 ราย และมากกว่า 10,000 คนหลบลี้หนีภัยออกนอกประเทศ 

ซินเธียคือหนึ่งในนั้น

สถานะผู้ลี้ภัยไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณความเป็นแพทย์ของหญิงสาววัย 28 ปีสั่นคลอนแม้สักนิด เมื่อเห็นว่ามีคนบาดเจ็บและล้มป่วยจำนวนมากตามตะเข็บชายแดน เธอและนักเรียนกลุ่มหนึ่งจึงช่วยกันก่อตั้งศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินขึ้นที่นอกเมืองแม่สอด เริ่มแรกศูนย์ที่ว่าเป็นเพียงบ้านไม้ซอมซ่อ อุปกรณ์ก็มีจำกัดเท่าที่คุณหมอซินเธียพอจะหอบหิ้วข้ามฝั่งมาได้ หูฟังแพทย์หนึ่งอัน กรรไกรหนึ่งเล่ม คีมสองอัน เทอร์โมมิเตอร์หนึ่งอัน และอีกสองสามอย่าง ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังเป็นคนเดียวที่จบแพทยศาสตร์ ส่วนคนอื่นๆ มาช่วยด้วยใจเต็มร้อยเท่านั้น

และนั่นเอง คือจุดเริ่มต้นของ ‘แม่ตาวคลินิก’

02

เมื่อรถกระบะคันโตเลี้ยวเข้าอาณาเขตของแม่ตาวคลินิก ฉันถึงเพิ่งจะได้รู้ว่าคำว่า ‘คลินิก’ หลอกให้ฉันเข้าใจผิดไปมากโข เพราะแท้จริงแล้ว ‘คลินิก’ แห่งนี้กว้างขวางถึง 20 ไร่ ประกอบไปด้วยอาคารหลายต่อหลายหลัง ซึ่งแบ่งโดยคร่าวออกเป็นแผนกผู้ป่วยนอกและแผนกผู้ป่วยใน หากเทียบเคียงกับสิ่งที่ฉันคุ้นเคยในชีวิตตัวเอง สถานที่แห่งนี้ใกล้เคียงกับคำว่า ‘โรงพยาบาล’ เสียมากกว่า

ตัวแทนของคลินิกและเจ้าหน้าที่ ICRC ผู้นำทางเรามาที่นี่พาฉันและช่างภาพเดินดูรอบๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ของคลินิกเปิดโล่ง แม้แดดจะแรง แต่ลมพัดผ่านสะดวกช่วยให้คลายร้อน ต้นไม้น้อยใหญ่เรียงรายบังสายตา แยกอาคารแต่ละหลังออกจากกัน 

บนผนังด้านนอกอาคารหลังหนึ่ง ฉันเห็นป้ายสีฟ้าซีดจาง ข้อความบนป้ายอ่านได้ว่า อาคารหลังนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น แม้ไม่เห็นป้ายอื่นๆ อีก แต่ฉันก็พอเดาได้ว่ากระเบื้องแต่ละแผ่น เสาแต่ละต้น ล้วนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน เพราะแม่ตาวคลินิกอยู่มาได้ด้วยเงินบริจาค ก่อนหน้านี้แม่ตาวคลินิกให้บริการฟรีด้วยซ้ำ เพิ่งไม่นานมานี้เองที่เริ่มเก็บค่ารักษาพยาบาล ซึ่งก็ไม่ได้มากมาย เท่าไหร่ก็ได้ที่ผู้ป่วยจ่ายไหว

ขณะเดินเลียบตามโถงทางเดินกลางของแผนกผู้ป่วยนอก ฉันเห็นป้ายภาษาอังกฤษที่พอจะคุ้นตาและภาษาพม่าตัวกลมที่ฉันอ่านไม่ออก รวมๆ แล้วป้ายเหล่านั้นอธิบายว่าแผนกผู้ป่วยนอกถูกแบ่งแผนกย่อยอย่างละเอียด ตั้งแต่แผนกเด็ก แผนกตา แผนกทำฟัน และอื่นๆ อีกมาก แถมในอาคารใกล้ๆ กันนั้นยังมีห้องสำหรับฝังเข็มโดยเฉพาะอีกด้วย ยิ่งตอกย้ำความเข้าใจใหม่ที่ว่า ‘แม่ตาวคลินิก’ คือโรงพยาบาลดีๆ นี่เอง  

วันนั้นแม้จะมีผู้ป่วยไม่มากนัก แต่เสียงพูดคุยเท่าที่ได้ยินบอกฉันว่า แม้จะอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ภาษากลางในที่แห่งนี้คือภาษาพม่าซึ่งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ใช้สื่อสารกัน รองลงมาถึงเป็นภาษาอังกฤษที่เจ้าหน้าที่ใช้สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ด้วยกันหรือคนนอกอย่างฉัน

แวบหนึ่งตรงทางเดินใต้ร่มไม้ระหว่างตึก ฉันเหลือบเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง ผิวสองสี ผมยาวรวบเป็นหางม้าต่ำ เธอกำลังพูดคุยกับคนที่ดูเป็นเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งเครียด ใช่คนที่ฉันตั้งใจมาหาไม่ผิดแน่

03

เจ้าหน้าที่แม่ตาวคลินิกนำทางฉันและช่างภาพไปนั่งรอคุณหมอซินเธียที่ห้องห้องหนึ่ง นอกจากหนังสือที่เรียงรายอยู่บนชั้นไม้ ยังมีโล่และถ้วยรางวัลจำนวนมากโชว์ตัวอยู่ในชั้นกระจกใส แม้ชื่อรางวัลจะหลากหลาย แต่แน่นอนว่าชื่อผู้รับที่สลักอยู่บนโล่และถ้วยเหล่านั้นเป็นชื่อเดียวกัน–Cynthia Muang of Mae Tao Clinic

ไม่นานคนที่รอคอยก็มาถึง คุณหมอซินเธียสวมชุดกระโปรงชนเผ่าสีม่วงสด ใบหน้าเธอไม่ได้แสดงอารมณ์ความรู้สึกมากนัก แต่แววตานั้นเปี่ยมด้วยความอาทรจนสัมผัสได้

หลังจากแนะนำตัวเอง ช่างภาพ และ a day อย่างคร่าวๆ ฉันก็เริ่มถามคำถามที่เตรียมมาทันที

คุณอายุครบ 60 ปีแล้ว มีแผนจะเกษียณไหม

มีสิ แต่เรายังจำเป็นต้องทำงานนี้ต่อ ตอนแรกพวกเราคิดว่าจะได้กลับบ้าน กลับไปยังที่ของเรา แต่หลายคนที่ยังคงอยู่ที่นี่รู้ดีว่าสถานการณ์ตรงหน้านี้ก็สำคัญ เราจึงต้องหาทางฝึกฝนคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน  

นั่นเป็นเหตุผลที่เราเลือกทำงานแบบองค์รวม เราไม่ได้ดูแลแค่เรื่องสาธารณสุข แต่เรายังผลักดันด้านการศึกษาและทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่หลากหลาย เพราะท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงในบริบททางการเมือง ทางสิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนโดยรอบ เรายังคงต้องหาวิธีที่จะทำให้โครงการของเราอยู่รอดอย่างยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนไม่ได้กินความแค่เรื่องการเงิน แต่หมายรวมถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ด้วย

 

แสดงว่าคุณวางตัวคนที่จะมาทำงานต่อจากคุณไว้แล้วใช่ไหม

เราเห็นศักยภาพในหลายๆ คน แต่การเป็นผู้นำในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบเรานั้นค่อนข้างท้าทาย เพราะเราต้องทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก เช่น รัฐบาล NGO ผู้บริจาค องค์กรระดับชุมชน และอื่นๆ 

เราจึงพยายามฝึกฝนคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะในการปรับตัวสูง เพราะการปรับตัวเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานร่วมกับชุมชน ที่สำคัญการจะทำงานนี้ได้คุณต้องมีความเมตตา เชื่อในสิ่งที่ทำ อุทิศตนให้กับสิ่งที่ทำ เราจึงต้องถ่ายทอดประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและความไม่เท่าเทียมในสังคมให้กับคนรุ่นใหม่ด้วย นอกจากนี้การดูแลสตาฟให้มีความสุขก็สำคัญไม่แพ้กัน

หลังจากอุทิศตนทำงานกับชุมชนมานานกว่า 30 ปี คุณวางแผนชีวิตวัยเกษียณไว้ยังไง

ตอนแรกฉันเรียกที่นี่ว่าบ้านหลังที่สอง แต่ตอนนี้มันกลายเป็นบ้านหลังแรกไปแล้ว ฉันมาที่นี่ตอนอายุ 28 ปี และอยู่มากว่า 30 ปี จนตอนนี้ฉันอายุ 60 ปีแล้ว 

ที่นี่กลายเป็นบ้านแม้ว่าฉันจะไม่ใช่ประชาชนไทย ฉันเป็นคนพลัดถิ่นที่ไม่ใช่ทั้งไทยและพม่า ฉันไม่มีสัญชาติ แต่ฉันอยู่ที่นี่ได้ในฐานะผู้อยู่อาศัยชั่วคราว ฉันเลยเข้าใจความยากลำบากของคนพลัดถิ่นและแรงงานอพยพ นั่นเป็นสาเหตุที่เราต้องทำงานด้านนี้ต่อไป

 

แสดงว่าคุณไม่คิดจะกลับไปพม่าแล้ว

การกลับไปไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไปแล้ว เพราะว่างานของฉันอยู่ที่นี่ คนที่ฉันทำงานด้วย เครือข่าย พาร์ตเนอร์ ก็อยู่ที่นี่ อีกทั้งการอยู่ที่นี่ทำให้ฉันได้บอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับงานที่เราทำด้วย

ส่วนตัวแล้วฉันไม่ได้อาศัยในพม่ามานานหลายปีแล้ว และลูกๆ ทั้ง 4 คนของฉันก็อยู่ที่นี่ พวกแกเติบโตที่นี่และมีสัญชาติไทย

 

ลูกๆ เจริญรอยตามคุณโดยการเป็นหมอเหมือนกันหรือเปล่า

ไม่ คนหนึ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตอนนี้กำลังทำงานด้านสาธารณสุข ส่วนอีกคนจบด้านการพัฒนาองค์กรจากฮ่องกง แล้วกลับมาทำงานเป็นสตาฟที่ แม่ตาวคลินิก ส่วนอีกสองคนยังเด็กมาก เรียนอยู่ชั้น ม.3 และ ม.5

อยากให้คุณพาย้อนเวลาไปสักหน่อย ตอนเด็กๆ คุณรู้ได้ยังไงว่าอยากเป็นหมอ

พ่อของฉันเป็นนักสาธารณสุข ท่านทำงานเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ห่างไกล บางครั้งฉันเดินทางไปทำงานกับท่านด้วย จึงมองเห็นความไม่เท่าเทียมในระบบสาธารณสุขมานับแต่นั้น คุณภาพชีวิตของคนในเมืองและคนในชนบทแตกต่างกันเหลือเกิน ชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้เลย หรือต่อให้ในบางพื้นที่มีสถานีอนามัย แต่ที่สถานีกลับไม่มีนักสาธารณสุขประจำการอยู่ และยิ่งไปกว่าการไม่มีนักสาธารณสุขคือ ลำพังแค่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างน้ำประปา ไฟฟ้า หรือโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนน พวกเขาก็ไม่มีแล้ว

แม้กระทั่งในเมืองก็มีคนจนอยู่ พวกเขาแร้นแค้นมากจนไม่สามารถส่งลูกๆ ไปโรงเรียนหรือไปโรงพยาบาลได้ บางครั้งกว่าจะตัดสินใจพาไปโรงพยาบาลก็สายไปเสียแล้ว พ่อแม่บางคนทิ้งลูกไว้ที่โรงพยาบาลเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ยังไม่นับปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลอีก

การได้เห็นความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข ความลำบากของคนในชุมชน และการที่บริการทางการแพทย์ถูกควบคุมโดยรัฐส่วนกลาง ไม่มีการกระจายอำนาจมายังท้องถิ่น ทำให้ฉันสนใจด้านนี้ ฉันอยากพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขให้กับทุกคน

 

พอได้เรียนแพทย์ขึ้นมาจริงๆ คุณเห็นภาพตัวเองเป็นหมอแบบไหน

ฉันไม่ได้คิดว่าจะเรียนเฉพาะทาง เพราะฉันรู้ว่าฉันจะไปทำงานที่คลินิกสูติกรรมของญาติในเขตอิรวดี บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี การทำงานที่นั่นเรียกร้องทักษะทั้งด้านการรักษาพยาบาลและการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่ใช่แค่รักษาเป็น แต่ยังต้องรู้จักหาเครือข่ายและเงินทุนสนับสนุน ทั้งยังต้องทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรม พูดกันหลากหลายภาษา พวกเขาเหล่านั้นไม่มีความมั่นคง ไม่มีแหล่งพำนักถาวร ฉันทำงานที่นั่นอยู่ราวสองปีก่อนจะหนีมาที่นี่ในปี 1988 

คุณอยู่ที่ไหนตอนที่การก่อการเดินขบวนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มต้น

ที่อิรวดีนั่นแหละ การประท้วงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของพม่า ไม่ใช่แค่ในย่างกุ้ง

 

สถานการณ์ทางการเมืองช่วงนั้นเป็นยังไง ผู้คนตื่นตัวทางการเมืองกันแค่ไหน

ส่วนใหญ่คนที่เข้าใจภาพรวมทั้งหมดคือพวกนักเรียน-นักศึกษา แต่ชาวบ้านในชนบทที่ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องแบบวันต่อวันอาจไม่ได้เข้าใจภาพรวมขนาดนั้น ซึ่งไม่แปลก เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ พวกเขาต้องทำงานตั้งแต่ตีห้าถึงหนึ่งทุ่ม แต่ก็ยังไม่เคยมีเงินพอจะลืมตาอ้าปาก แถมบางคนยังถูกบังคับให้ไปทำงานในค่ายทหารแถวนั้นโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ พอเข้าใจไหมว่าพวกเราจ่ายภาษีต่างกัน บางภาษีก็ไม่เป็นทางการ ดังนั้นมันเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะตื่นตัวทางการเมืองเท่านักเรียน-นักศึกษา

 

แสดงว่าคนส่วนใหญ่ที่ลุกขึ้นมาร่วมประท้วงคือคนที่มีโอกาสทางการศึกษา

นอกจากนักเรียน-นักศึกษา ที่เห็นมากก็มีพยาบาล หมอ หรือกระทั่งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

แล้วสถานการณ์ในเขตที่คุณอยู่เป็นยังไง

ส่วนใหญ่คนจะไปรวมตัวกันตามสถานที่ราชการ เช่น สำนักงานเขต สำนักงานจังหวัด แม้จะเป็นต่างจังหวัด แต่ก็มีคนมาร่วมเดินประท้วงเยอะมาก ในบางจังหวัดมีการชุมนุมขนาดใหญ่ และเกิดความรุนแรงขึ้นด้วย

 

คุณรู้ได้ยังไงว่าถึงเวลาที่ต้องหนีแล้ว

ตอนที่ทหารพม่าประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 19 กันยายน 1988 ก่อนหน้านั้นมีผู้คนถูกสังหารจำนวนมาก หากพวกเขาไม่ตายบนถนน ก็ตายเพราะขาดอากาศหายใจในรถบรรทุกที่ถูกบังคับให้อัดกันเข้าไป แต่ถึงอย่างนั้นผู้คนก็ยังคงประท้วงต่อ จนทหารประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 19 กันยายน แล้วเริ่มไล่จับผู้คนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหล่าผู้นำการต่อต้าน เราเริ่มเห็นเพื่อนร่วมงานหายตัวไปทีละคนๆ โดยไม่รู้เลยว่าพวกเขาหายไปไหน ผู้คนเลยเริ่มหนีมาตามชายแดน  

ตัวฉันเองอยู่ค่อนข้างใกล้กับฝั่งตะวันออกของพม่า ก็เลยเลือกที่จะหนีมาชายแดนไทย ตอนนั้นเราต้องเดินป่ากันนานถึง 7 วัน แต่เดี๋ยวนี้การเดินทางจากอิรวดีมาแม่สอดด้วยรถยนต์ใช้เวลาแค่หลักชั่วโมงเท่านั้น

คุณข้ามชายแดนมาพร้อมกับกลุ่มเพื่อนใช่ไหม

อันที่จริงตอนแรกพวกเรายังอยู่ในฝั่งพม่า เราไปอาศัยในพื้นที่ใต้การปกครองของ KNU (The Karen National Union–สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) ผู้นำ KNU ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยขึ้นมา 3 แห่งตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีสองค่ายที่อยู่ตรงข้ามแม่สอดพอดี พวกเราเริ่มต้นทำงานในโรงพยาบาลในพื้นที่ KNU แต่เราเห็นว่ามีประชาชนหลายคนลี้ภัยข้ามไปฝั่งไทยแล้ว พวกเขาไม่มีอาหาร เข้าไม่ถึงหมอหรือยา เราเลยตั้งหน่วยแพทย์ขึ้นมา แล้ว KNU ก็ช่วยเชื่อมเราเข้ากับ NGO และคนไทยที่อยากช่วยเหลือ รวมทั้งช่วยจัดการเรื่องเอกสารในการเดินทางข้ามชายแดนให้กับพวกเรา จากนั้นเราจึงข้ามมาทำงานที่แม่สอด 

ในช่วงแรกเราไม่ได้เปิดคลินิกในทันที แต่เราตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ โดยเราส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล และให้ที่พักพิงชั่วคราวกับผู้ป่วยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล ตอนแรกเราเดินทางไป-กลับ แต่ในที่สุดก็ปักหลักที่แม่สอด เพราะนักเรียน-นักศึกษาพม่าจำนวนมากลี้ภัยมาที่นี่ และที่นี่มีโรงพยาบาลแม่สอด นับเป็นที่ที่เหมาะสำหรับการทำงาน

 

มันไม่ง่ายกว่าเหรอถ้าคุณจะลี้ภัยต่อไปยังประเทศที่สาม

ก็จริง นั่นเป็นสาเหตุที่พอผ่านไป 6 เดือน พวกเราบางคนก็ยื่นเรื่องต่อ UNHCR แล้วเดินทางต่อไปยังประเทศอื่น บางคนก็ได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่นั่นที่นี่ พวกเราหลายคนโยกย้ายอีกครั้ง 

แต่ตัวฉันเองไม่เคยคิดว่าจะไปไหนต่อ เคยคิดว่าอาจจะเดินทางกลับ แต่ว่ายังมีผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมาก และพอเวลาผ่านไปผู้คนก็หลงลืมสถานการณ์บริเวณชายแดน หลายคนคิดว่าบริเวณชายแดนไม่มีปัญหาอะไรแล้ว แต่นั่นไม่จริงเลย เรายังคงต้องช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มคนที่เปราะบาง การอพยพยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ในฝั่งไทยมีแรงงานอพยพราว 200,000 คน โดยในจำนวนนั้นมีเด็กและผู้หญิงที่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนอยู่ด้วย 

 

คุณไม่คิดถึงครอบครัวที่พม่าเหรอ

พวกเขาสามารถเดินทางมาเยี่ยมฉันที่นี่ได้ 

นอกจากเห็นว่ายังมีคนต้องการความช่วยเหลืออีกมาก มีเหตุผลอื่นอีกไหมที่ทำให้คุณตัดสินใจอยู่ต่อ

งานในช่วงแรกของเรามุ่งเป้าไปที่คนพลัดถิ่น จากนั้นจึงขยายมาถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP–Internally Displaced People) พวกเขาไม่มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตเพราะว่าในหลายพื้นที่ยังคงมีความขัดแย้ง ยังคงมีกับระเบิด ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

เราเห็นคนพม่าจากพื้นที่เหล่านั้นหลั่งไหลมายังฝั่งไทยด้วย แม้ส่วนใหญ่คนจะบอกว่านี่คือการอพยพด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่อันที่จริงแล้วมันมีเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะที่ดินทำกินของพวกเขาถูกยึด หลายคนสูญเสียครอบครัว สูญเสียบ้าน จึงต้องมาที่นี่ 

การอพยพ (migration) และการพลัดถิ่น (displacement) นั้นไม่เหมือนกัน การอพยพหมายถึงการที่คุณเต็มใจที่จะย้ายถิ่นฐาน แต่การพลัดถิ่นคือการที่คุณถูกบังคับ หรือกระทั่งต่อให้คุณยินยอมที่จะมา แต่คุณไม่สามารถกลับบ้านได้ หรือไม่มีบ้านให้กลับ นั่นก็นับเป็นการพลัดถิ่นเหมือนกัน แม้หลายคนจะถูกเรียกว่าผู้อพยพ แต่แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นคนพลัดถิ่น 

เวลาพูดถึงปัญหาชายแดน แม้กระทั่งระดับรัฐบาลยังพูดถึงแค่ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วมันมีแง่มุมทางความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในพื้นที่ชายแดน มีทั้งชนกลุ่มน้อย คนไร้สัญชาติ คนที่ถูกยึดที่ดิน มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนเยอะมาก โดยที่แทบไม่มีใครลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนแถวนี้เลย

ถ้าเราอยากสร้างชุมชนที่สงบสุขและยั่งยืนจริงๆ เราต้องพยายามต่อสู้ให้มนุษย์ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สำหรับพวกเราที่แม่ตาวคลินิก แม้เราจะขับเคลื่อนเรื่องบริการทางการแพทย์เป็นหลัก ไม่เหมือนนักสิทธิมนุษยชนเต็มตัว แต่ในขณะที่เราทำงาน ให้การรักษา หรือไปเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน เราก็มีโอกาสในการเรียนรู้ชีวิตของพวกเขา รวมทั้งมีโอกาสในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน เสริมสร้างพลังอำนาจให้พวกเขา และปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาไปพร้อมกัน

ตามที่เข้าใจ ภารกิจของแม่ตาวคลินิกไม่ใช่แค่การให้บริการทางการแพทย์

เรามีการอบรมนักสาธารณสุขด้วย ในปี 1995 เราริเริ่มคลินิกสูติกรรมขึ้น เพราะมีผู้หญิงจำนวนมากคลอดลูกเองที่บ้าน โดยหมอตำแยที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝน หมอตำแยเหล่านี้มักเป็นผู้หญิงแก่ ที่ไม่ได้เรียนเรื่องนี้มาโดยตรง เพราะพวกเธอเองก็หนีจากพม่ามาไทยเหมือนกัน เราจึงเริ่มต้นอบรมนักสาธารณสุขรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังมีการอบรมนักสาธารณสุขอยู่ โดยไม่จำกัดแค่เรื่องสูติกรรมอีกต่อไป ทุกๆ ปีเราจะมีนักสาธารณสุขราว 150-200 คนที่สำเร็จการอบรมจากแม่ตาวคลินิก แล้วเดินทางกลับไปทำงานในชุมชนของตัวเอง

นอกจากนี้เรายังมีโปรแกรมลงพื้นที่ชุมชน เราทำงานกับผู้นำชุมชน เพื่อให้ความรู้เรื่องสุขภาพกับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในประเทศ รวมถึงให้ความรู้เรื่องสุขภาพกับเด็กๆ ผ่านโครงการของโรงเรียน อีกทั้งเรายังมีโครงการป้องกันความรุนแรงทางเพศ และโครงการคุ้มครองเด็ก เพราะในพื้นที่นี้กลุ่มคนเปราะบางส่วนใหญ่คือเด็ก เด็กหลายคนเดินทางมาคนเดียว บ้างก็หนีการต่อสู้มา บ้างก็มาหางานทำในไทย ปัญหาการใช้แรงงานเด็กจึงมีมาก 

สำหรับเด็กแรกเกิด หนึ่งในงานที่เราทำคือการช่วยให้พวกเขาเข้าถึงการจดทะเบียนเกิด เพราะก่อนหน้าปี 2008 เด็กที่เกิดในไทยโดยที่พ่อแม่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนจะไม่มีสิทธิแจ้งเกิด แต่ว่าตอนนี้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย ไม่ว่าจะที่คลินิกของเราหรือที่ไหน ต่อให้พ่อแม่ไม่มีเอกสารใดๆ ก็สามารถแจ้งเกิดได้

จะเห็นว่าเราทำงานแบบองค์รวม ให้บริการทางการแพทย์เบื้องต้น อบรมนักสาธารณสุข และทำโครงการด้านการศึกษาและการคุ้มครอง

ปกติแล้วคนมาที่คลินิกเยอะมากแค่ไหน

ฉันยังไม่ได้ข้อมูลปี 2019 มา แต่ว่าในปี 2018 เราให้คำปรึกษาไปราว 98,000 ราย และรับเข้าแผนกผู้ป่วยใน 8,000 ราย ในจำนวนนี้มี 1,700 เคสที่เป็นการคลอดลูก คือมีเด็กเกิดที่นี่ 1,700 คน

 

คนไข้ส่วนมากมาหาคุณด้วยสาเหตุอะไร

มันเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา

ในช่วงทศวรรษแรก มาลาเรียเป็นโรคที่พบเจอบ่อยที่สุด รองลงมาคืออาการบาดเจ็บจากสงคราม เพราะว่ายังคงมีความขัดแย้งและมีการสู้รบอยู่เนืองๆ สาเหตุของการบาดเจ็บที่เจอบ่อยคือการเหยียบกับระเบิดและการถูกยิง 

จากนั้นในทศวรรษที่สอง เราได้เห็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเด็ก เช่น ภาวะทุพโภชนาการ โรคขาดสารอาหารเฉียบพลันรุนแรง รวมถึงโรคอื่นๆ อย่างเอชไอวีหรือวัณโรค นอกจากนี้เรายังเผชิญกับการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เราจึงพยายามให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว อีกทั้งต้องพัฒนาตัวเองให้พร้อมรับเคสที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น 

ส่วนในทศวรรษที่สาม ว่าอย่างเจาะจงหน่อยคือ 4-5 ปีมานี้ เราต้องรับมือกับโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น เช่น เบาหวาน อีกสิ่งที่พบมากขึ้นก็คืออุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน 

กระนั้นจวบจนปัจจุบันนี้เราก็ยังพบโรคเอชไอวี วัณโรค รวมทั้งการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และการทำแท้งไม่ปลอดภัยอยู่ ยกเว้นมาลาเรียที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีโครงการป้องกันมาลาเรียในพื้นที่ชายแดนเพิ่มขึ้นมาก

 

แสดงว่าแม่ตาวคลินิกก็ต้องปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ 

ใช่ อันที่จริงเราพยายามเน้นที่การรักษาพยาบาลขั้นปฐมภูมิ แล้วค่อยส่งเคสต่อให้โรงพยาบาล ซึ่งการส่งเคสต่อนี้มีค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว คนไข้ไม่มีกำลังจ่าย เพราะที่พม่าไม่ได้มีระบบประกันสุขภาพ และคนไข้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพ มีทั้งเด็กและผู้หญิง พวกเขาไม่มีประกันสุขภาพเช่นกัน นอกเหนือจากนั้นก็มีคนไข้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ห่างไกลในพม่า พวกเขายากจนมาก แต่เราเองก็จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลทุกๆ เคสให้กับโรงพยาบาลไม่ไหวจริงๆ ดังนั้นเราจึงพยายามพัฒนาการรักษาพยาบาลขั้นปฐมภูมิ รวมถึงให้ความรู้เรื่องการรักษาสุขภาพ การป้องกันโรค 

ฉันเพิ่งคุยกับผู้ป่วยคนหนึ่งข้างนอก เขาบอกว่าเขาจ่ายเงินแค่ 50 บาท ในแง่การเงินแม่ตาวคลินิกอยู่ได้ยังไง

งบประมาณของเรามาจากเงินทุน ก่อนปี 2017 เงินทุนราว 95% ของเรามาจากรัฐบาลประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แต่สัดส่วนก็ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันเงินทุนจากรัฐบาลมีสัดส่วนน้อยกว่า 20% ของทั้งหมด แต่เราก็ยังได้เงินทุนจากสถานทูตต่างๆ ในประเทศไทยอยู่บ้าง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป สถานทูตลักเซมเบิร์ก 

เราเริ่มมีรายได้จากการเก็บค่าบริการคนไข้ด้วย เมื่อก่อนเราให้บริการฟรี แต่ตอนนี้เราทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เราจึงขอให้ผู้ป่วยช่วยจ่าย 20-25% ของค่ารักษาพยาบาล หรือเท่าไหร่ก็ได้ที่พวกเขาจ่ายไหว เพราะเราไม่อยากให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ามาที่นี่ไม่ได้หากไม่มีเงิน บางคนไม่จ่ายก็ไม่เป็นไร บางครั้งเรายังต้องช่วยสนับสนุนค่าเดินทางกลับบ้านให้พวกเขาด้วยซ้ำ

การหาเงินทุนอย่างยั่งยืนเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับเรา เมื่อก่อนเราเคยได้เงินทุนจากรัฐบาลต่างๆ มากกว่านี้ ตอนนี้เราจึงต้องมองหาหลายๆ หนทางในการหาเงินทุน หรือหากใครพร้อมช่วยในมิติไหน เราก็ยินดี อย่างเช่นที่ ICRC มาช่วยสร้างอ่างล้างหน้าให้กับเรา รวมทั้งเรายังต้องพยายามบริหารจัดการเงินทุนที่น้อยลงให้ได้ดีที่สุด

หลังจากทำงานมากว่า 30 ปี มีอะไรที่คุณคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ 

ที่ผ่านมาเราลงทุนลงแรงส่วนใหญ่ไปกับการอบรมนักสาธารณสุขรุ่นใหม่ แต่เราไม่เคยฝึกให้ใครเป็นนักการเมืองหรือผู้นำชุมชน นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราฝึกได้ มันเป็นอีกศาสตร์หนึ่งโดยสิ้นเชิง ทั้งที่จริงแล้วการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำในภาคประชาสังคมก็เป็นส่วนสำคัญของความยั่งยืนเช่นกัน

 

แล้วหลังจากทำงานมากว่า 30 ปี คุณภูมิใจในอะไรมากที่สุด

บริการของเราเข้าถึงคนจำนวนมาก เราได้ช่วยชีวิตหลายคนเอาไว้ และเรายังช่วยชีวิตผู้คนผ่านมิติอื่นๆ อีก เช่น การศึกษา การให้ความคุ้มครอง ตอนนี้การลี้ภัยทำได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ผู้ลี้ภัยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับที่นี่มากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น จนถึงจุดที่บางคนลุกขึ้นมามีส่วนร่วม ทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือกันและกัน นับเป็นความสำเร็จในภาคประชาสังคมที่ดีมากๆ แม้การจะทำให้มันยั่งยืนยังคงเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงิน การเมือง หรือชุมชน

 

แล้วโล่และถ้วยรางวัลมากมายที่เราเห็นในห้องนี้ล่ะ คุณภูมิใจกับมันไหม

มันเป็นผลงานของภาคประชาสังคม ฉันทำทั้งหมดนี้คนเดียวไม่ไหวหรอก ฉันได้รับการสนับสนุนมากมาย จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประชาชนคนทั่วไป ผู้นำทางการเมือง หรือผู้นำชุมชน พวกเขาไม่ได้มาช่วยในฐานะนักการเมืองหรือนักธุรกิจ แต่มาช่วยในฐานะคนที่เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน

อะไรคือบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่คุณได้เรียนรู้ตลอดหลายปีที่ทำงานช่วยเหลือคนอื่น

บทเรียนที่ฉันได้เรียนรู้คือ ในการทำงานเกี่ยวกับคน เกี่ยวกับมนุษยธรรม เราจะมองแยกส่วน มองในระดับปัจเจก คือมองแค่ในสโคปงานขององค์กรตัวเองไม่ได้ การทำอย่างนั้นจะทำให้เรามองไม่เห็นอีกหลายๆ คน สมมติคุณเห็นเด็กชายอายุ 5 ขวบ คุณต้องคิดต่อว่า อีก 5 ปีต่อจากนี้ เด็กคนนี้จะเป็นยังไง คุณจะต้องทำอะไรบ้าง หรือคุณเห็นเด็กชายอายุ 5 ขวบ คุณต้องคิดต่อว่า แล้วพ่อแม่เขาล่ะ ย่ายายที่ดูแลเขายังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า นั่นคือชีวิตทั้งหมดทั้งมวลที่คุณต้องมองให้เห็น จากการมองเห็นแค่คนคนเดียว การมองภาพรวมสำคัญตรงที่ คุณจะได้ทำงานแบบองค์รวม เราหยุดอยู่ที่การรักษาเด็กไม่ได้ เราต้องไปต่อยังเรื่องอื่นๆ เช่น การศึกษาของเขา  

 

คุณมองอนาคตของแม่ตาวคลินิกไว้ยังไง

ฉันอยากเห็นที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่อพยพมาจากพม่า หรือนักศึกษาแพทย์จากประเทศอื่นๆ ที่มาศึกษาดูงาน ที่นี่พวกเขาจะได้เรียนรู้สิ่งที่ต้องการ เช่น การจัดการสาธารณสุขบริเวณชายแดน การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือกระทั่งประวัติศาสตร์ 

ที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าคนอื่นจะมาเรียนรู้จากเราเพียงฝ่ายเดียวหรอก เราเองก็จะได้เรียนรู้จากพวกเขาเช่นกัน


หมายเหตุ

การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นช่วงกลางเดือนมกราคม 2563 ขณะนั้นยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย 

ล่าสุดในเดือนเมษายน ผู้เขียนได้สอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ แม่ตาวคลินิก ซึ่งคงเป็นหนึ่งในด่านหน้าในการรับมือหากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบริเวณชายแดนไทย-พม่า ได้ความว่า ปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาที่แม่ตาวคลินิก ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามร่วมกันของหลายฝ่ายในการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในพื้นที่ของคลินิก และทางคลินิกเองก็เตรียมมาตรการรับมือ เช่น จัดโซนปลอดเชื้อสำหรับแม่และเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะ 

ทั้งนี้ กาชาดสากล หรือ ICRC ได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการจัดสร้างห้องคัดแยกผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้กับทางแม่ตาวคลินิก และขยายความช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ตามแนวชายแดนไทย-พม่าโดย ICRC รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของคนไข้แรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ได้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพของไทยที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเหล่านั้น

 

อ้างอิง

maetaoclinic.org

npr.org/2013/08/08/209919791/as-myanmar-opens-up-a-look-back-on-a-1988-uprising

rmaward.asia/awardees/maung-cynthia 

time.com/5360637/myanmar-8888-uprising-30-anniversary-democracy

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย