Curse of the Naga : เมื่อ 2 ผู้กำกับหนังผีไทยไปออกแบบบ้านผีสิงที่สิงคโปร์

ต่อให้ไม่ใช่คนชอบดูหนังผี เราก็เชื่อว่าคุณต้องรู้จักหนังผีไทยของค่าย GTH และ GDH แน่ๆๆ่นนแ่แ่แ น ๆน สาปนาคา

ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, แฝด, บอดี้..ศพ#19, สี่แพร่ง, ห้าแพร่ง และ พี่มาก..พระโขนง คือตัวอย่างเพียงจำนวนหนึ่งของหนังเหล่านั้น

นอกจากความหลอนระดับต้องนอนเปิดไฟไปหลายวัน หนังผีจากค่ายนี้ยังมีดีที่พล็อตแปลกใหม่ เนื้อเรื่องน่าติดตาม แถมบางเรื่องยังแฝงประเด็นทางสังคมไว้ให้ขบคิดจนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่หลายครั้ง หลายเรื่องทำรายได้ทะลุร้อยล้านบาทและประสบความสำเร็จไปถึงต่างประเทศ ทำให้หนังผีไทยเป็นที่ยอมรับไปทั่วเอเชีย

เพราะอย่างนี้ เมื่อรู้ว่าสองผู้กำกับหนังผีค่าย GDH อย่าง โอ๋–ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ และ กอล์ฟ–กัญจน์ ภูริจิตปัญญา จับมือกันทำบ้านผีสิง ‘Curse of the Naga’ หรือ ‘สาปนาคา’ สุดอลังการในเทศกาล ‘Halloween Horror Nights ครั้งที่ 9’ ของ Universal Studios Singapore เราจึงไม่รอช้านัดพวกเขามาคุยกันอย่างรวดเร็ว

สาปนาคา

ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผลงานกำกับของทั้งคู่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับผีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ชัตเตอร์ฯ และ แฝด ของโอ๋ และ บอดี้..ศพ#19 ของกอล์ฟ รวมไปถึง สี่แพร่ง และ ห้าแพร่ง ที่ทั้งคู่ลงมือกำกับกันคนละตอน

แต่ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้คือ นอกจากหนัง ทั้งคู่ยังเชี่ยวชาญเรื่องบ้านผีสิงด้วย เริ่มจากการช่วยกันดัดแปลง ชัตเตอร์ฯ ให้เป็นบ้านผีสิงในงาน Grammy Wonderland เมื่อ 7 ปีก่อน, นำหนังผีไทยของ GTH ไปทำบ้านผีสิงที่เกาะเซนโตซา ประเทศสิงคโปร์ หรือครั้งที่กอล์ฟนำหนังเรื่อง ชัตเตอร์ฯ, พี่มาก..พระโขนง และ Countdown ไปทำบ้านผีสิงสุดหลอนที่เซี่ยงไฮ้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ถึงจะมีประสบการณ์กับผีมาอย่างโชกโชน แต่โอ๋และกอล์ฟออกปากว่า Curse of the Naga คือบ้านผีสิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พวกเขาเคยสร้าง ตั้งแต่ดีกรีการเป็นบ้านผีสิงหลังใหญ่ที่สุดในเทศกาลปีนี้ การต้องคิดเรื่องราวขึ้นมาใหม่แทนการใช้พลอตหนังผีที่มีอยู่แล้ว ไหนจะได้ร่วมงานกับบริษัทที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกอย่าง Universal Studios อีก

ใครกลัวผี เราขอสปอยล์ไว้ตรงนี้ว่าไม่ต้องหวาดหวั่นไป เพราะเรื่องราวการสร้างบ้านผีสิงแห่งนี้ไม่ได้ขนหัวลุก แต่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ เรื่องสนุกๆ และความฝันของโอ๋และกอล์ฟที่บ่มเพาะมาเกือบสิบปี

ถ้าพร้อมแล้ว เชิญก้าวเข้ามาในบ้านผีสิงของพวกเขาไปพร้อมๆ กัน

สาปนาคา

เปิดประตูบ้านผีสิง (คโปร์)

โอ๋ : จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่โปรเจกต์บ้านผีสิงที่สิงคโปร์ครั้งแรกของเรา เพราะ 6-7 ปีก่อน เราเคยไปทำบ้านผีสิง Spooktacular ที่เกาะเซนโตซา ประเทศสิงคโปร์ โดยแปลงจากหนัง GTH (เช่น เด็กหอ, ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, บอดี้..ศพ#19 ฯลฯ) ทำกับเขาอยู่ประมาณ 2-3 ปี 

ช่วงนั้น ผมได้รู้จัก Halloween Horror Nights ของสวนสนุก Universal Studios Singapore ซึ่งเขาแปลงสวนสนุกให้กลายเป็นบ้านผีสิงทั้งสวนเลย ไปแล้วผมประทับใจมากเพราะได้เล่นเครื่องเล่นด้วย ได้เล่นบ้านผีสิงด้วย ระหว่างทางในสวนสนุกก็มีของตกแต่งที่ทำให้เรากลัวและตกใจได้ตลอดทาง เช่น เดินๆ อยู่แล้วก็มีผีโผล่มาในความมืด ซึ่งเขาทำสำเร็จ คือเราเป็นผู้กำกับหนังผี เราจะด้านชา ไม่กลัวอะไรง่ายๆ (หัวเราะ) แต่ว่าด้วยจังหวะ ด้วยความตั้งใจของนักแสดง ผมเผลอร้องออกมาเสียงดังหลายหนมาก จนรู้สึกว่างานนี้เป็นต้นแบบของบ้านผีสิง เราเคยคุยกันเล่นๆ เหมือนกันนะว่าอยากทำบ้านผีสิงกับที่นี่ แต่มันจะเป็นไปได้ยังไง

สาปนาคา
สาปนาคา

กอล์ฟ : พอโอ๋มาเล่าให้ฟังว่ามันสนุกมาก หลังจากนั้นเราก็ไปงานนี้ทุกปี บินไปคืนหนึ่งแล้วก็กลับ ซึ่งนอกจากความสนุก สิ่งที่เราชอบคืองานโปรดักชั่น คือเข้าไปแล้วรู้สึกว่าบ้านผีสิงเปิดให้เล่นแค่เดือนเดียว เขาทำกันขนาดนี้เลยเหรอวะ เช่น ปีแรกที่เราไปกับโอ๋ มีบ้านผีสิงชื่อ Adrift ที่มีคอนเซปต์เป็นเรือไททานิกใต้ทะเล เดินเข้าไปห้องแรกก็เข่าอ่อนแล้วว่าเขาทำขนาดนี้เลยเหรอ (หัวเราะ) มันเหมือนเราอยู่ในเรือไททานิกจริงๆ เลย มีหน้าปัด มีเข็มไฮโดรลิก มีน้ำยิงปุ้งปั้งๆ ชาวบ้านเขาจะเดินหลบๆ กลัวๆ กัน พวกผมจะเดินไปเคาะผนังแล้วคุยกันว่า โห เขาทำผนังดีว่ะ (หัวเราะ)

แต่ละปีบ้านผีสิงเขาก็ต่างกันออกไป มีผีอินโดนีเซีย ผีมาเลเซีย เดี๋ยวก็มีผีญี่ปุ่น เราก็คุยกันว่าทำไมไม่มีผีไทยบ้างนะ หนังผีไทยก็ดังในสิงคโปร์ด้วย

แต่อยู่ดีๆ เมื่อต้นปี Universal Studios Singapore ก็ติดต่อผ่าน GDH มาว่าอยากให้เราไปทำบ้านผีสิง ตอนแรกเขาอยากให้โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล) ทำกับโอ๋ เพราะสองคนนี้กำกับ ชัตเตอร์ฯ ด้วยกัน แล้วพอดีโต้งไม่ว่างก็เลยออกมาเป็นเรากับโอ๋

โอ๋ : จริงๆ ผมว่าเราก็เป็นคู่ที่ถูกต้องนะ เพราะว่าเราทำบ้านผีสิงด้วยกันมา เริ่มต้นกันมาสองคน ทุกงานที่เกี่ยวกับประสบการณ์ผีๆ เราก็ทำด้วยกันมาตลอด

ออกแบบแปลนบ้านด้วยเรื่องราว

เมื่อได้คู่หูที่ลงตัว โอ๋และกอล์ฟจึงเริ่มลงมือสร้างบ้าน ด้วยกระบวนการที่พวกเขาบอกว่าไม่ต่างอะไรกับการทำหนังใหม่สักเรื่อง

กอล์ฟ : จริงๆ กระบวนการคิดบ้านผีสิง Curse of the Naga มันยากเหมือนกันนะ เพราะที่ผ่านมาเราทำบ้านผีสิงจากคอนเทนต์คือหนัง คนที่มาเล่นบ้านผีสิงเหล่านั้นเขารู้เรื่องราวเบื้องหลังอยู่แล้ว แต่งานนี้เราต้องสร้างเรื่องราวใหม่ นั่นแปลว่ามันยากกว่าเดิมเยอะ

สุดท้ายมันก็มาจบที่แนวคิดว่าเราทำบ้านผีสิงเหมือนการทำหนังดีกว่า คือทำสคริปต์ วางโครงเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมา เพราะจากที่ทำบ้านผีสิงและเล่นบ้านผีสิงมา เราค้นพบว่าบ้านไหนมีธีม มีเรื่องราว เราจะสนุกกับมัน ส่วนบ้านไหนมีแต่ห้องและผีโผล่มาหลอกๆ มันจะได้แค่ความตกใจ

โอ๋ : ตอนแรกเราแยกกันไปคิด เราก็พยายามคิดว่าอะไรคือสถานที่ที่จะรวมความเป็นไทยไว้ได้เยอะๆ ก็เลยคิดถึงพิพิธภัณฑ์ของโบราณ พอเอามาบอกกอล์ฟ กอล์ฟบอกว่า ‘ไม่น่าดีนะ’ (หัวเราะ) ผมเข้าใจเขานะ เพราะความเป็นมิวเซียมมันซับซ้อน แต่บ้านผีสิงมันควรเป็นอะไรที่เรียบง่าย คนเข้าไปแล้วรู้เรื่องได้เลย ก็มาสรุปว่าเรื่องราวจะเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องสากลที่สุดแล้ว

สาปนาคา
Curse of the Naga

กอล์ฟ : พอได้เรื่อง เราก็คิดถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวว่ามาถึงเมืองไทยแล้วเขาต้องไปที่ไหนกัน เราก็คิดถึงถนนข้าวสาร คิดถึงเรื่องสตรีทฟู้ด เรารู้สึกว่า เฮ้ย เรื่องนี้กำลังมาเลย

โอ๋ : ตอนนั้น เราไปเสิร์ชเจอว่าคนต่างชาติชอบทำอะไรที่ exotic แปลกๆ ประหลาดๆ เช่น กินยาดอง กินเลือดงู มาเมืองไทยแล้วต้องลองของ เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันเจ๋งดีนะ มันเป็นเรื่องที่ที่อื่นไม่ค่อยมี

กอล์ฟ : เราทำงานเหมือนเขียนบทภาพยนตร์ คือใส่เรื่องว่าคนเดินเข้าไปแล้วเขาจะรับรู้อะไร แล้วค่อยๆ ไล่กราฟอารมณ์ขึ้นไป อย่างเรื่องนี้เราตีความว่างูที่ถูกจับเอามากรีดเลือดเป็นงูต้องคำสาป พอนักท่องเที่ยวดื่มเลือดงูเข้าไปก็เกิดอาการมึนเมา สลบ ตื่นมาอีกทีไปอยู่ในหมู่บ้านลับแลกลางป่า และต้องผจญภัยในนั้น

Curse of the Naga

ตกแต่งภายในด้วยรูป รส กลิ่น เสียง และเครื่องเล่นพิเศษ

เมื่อได้เรื่องราวแล้ว (ซึ่งขออุบไว้เป็นความลับ) สองผู้กำกับจึงส่งพล็อตทั้งหมดให้ทาง Universal ซึ่งเปิดไฟเขียวอย่างรวดเร็ว ขั้นต่อมา พวกเขาจึงบินไปประชุมใหญ่ถึงสิงคโปร์เพื่อตีความตัวอักษรบนหน้ากระดาษให้ออกมาเป็นองค์ประกอบในโลกแห่งความเป็นจริง

กอล์ฟ : สิ่งที่การทำบ้านผีสิงไม่เหมือนการทำหนังคือการตีความเรื่องออกมาเป็นประสบการณ์จริงๆ อย่างบ้าน Curse of the Naga หรือ สาปนาคา เวลาเดินเข้าไป เราก็ออกแบบให้มีพิธีกรรมดื่มเลือดงูก่อน เป็นน้ำที่มีสีเพื่อให้คนอินจริงๆ หรือที่ในบทเขียนว่านักท่องเที่ยวมึนงงและสลบไป เราก็ต้องออกแบบว่าเครื่องเล่นที่จะทำให้คนรู้สึกมึนงงจะเป็นเครื่องเล่นอะไร ซึ่งเราก็ใช้ประสบการณ์จากที่เคยทำบ้านผีสิงมานั่นแหละเลือกเครื่องเล่นและเอฟเฟกต์ต่างๆ แต่บางอย่าง Universal ก็เสนอกลับมา เช่น เทคนิคโปรเจกชั่นแมปปิ้ง เผอิญเขาไปเห็นผมทำ KAAN Show ที่พัทยาแล้วใช้เทคนิคนั้น เขาก็บอกว่าไอเห็นของยูทำ เอาอันนี้มาได้ไหม เราก็บอกว่าเอาเลยๆ

สาปนาคา

โอ๋ : สิ่งที่เราชอบเวลาทำงานคือเขาไม่เคยปฏิเสธเราเวลาเอาไอเดียไปขาย พอเขาคิดหรือดีไซน์อะไรกลับมามันต่อยอดงานออกไปเยอะมาก เหมือนทำงานภาษาเดียวกันแล้วเราต่อยอดกันได้ ก็เลยทำให้การทำงานยิ่งสนุกมาก ที่ผ่านมาบ้านผีสิงที่เราทำเองมันจะมีความ DIY ดิบๆ บ้านๆ นิดหนึ่ง (หัวเราะ) เราต้องเข้าไปทำเอง ลงมือเอง สาดสีเอง ทำฉากเอง แต่พอมีคนระดับมืออาชีพมาซัพพอร์ตมันต่อยอดไปได้ดีขึ้น

เขาถามถึงขั้นว่างูต้องเป็นประเภทไหน ชนิดไหน หน้าตาเป็นยังไง เขาจะได้ไปเลือกชนิดของผ้า ชนิดของผนัง ว่าหนังงูจะต้องเป็นแบบนี้นะ จับแล้วจะต้องรู้สึกว่าเป็นเกล็ดงู เขาเอามาให้ลองหมดเลย ไม่ทิ้งดีเทลเล็กๆ น้อยๆ

กอล์ฟ : นอกจากเซตติ้ง เราต้องออกแบบอย่างอื่นด้วย ทั้งจุดที่ผีจะโผล่ออกมา ทางเดินหลังบ้านที่เป็นทางเชื่อมให้ผีวิ่งได้ ออกแบบซาวนด์ ซึ่งสำคัญไม่แพ้เซตเลยเพราะบรรยากาศรอบข้างคือสิ่งที่ทำให้คนจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้น ลองคิดว่าเดินเข้าไปแล้วไม่มีเสียง หรือเปิดเพลงจัสติน บีเบอร์ มันก็ไม่ได้ (หัวเราะ) 

โอ๋ : การทำบ้านผีสิงมีความเป็น 3 มิติมากกว่าการทำหนัง เช่น ในโรงหนังไม่มีกลิ่น แต่ในบ้านผีสิงมีกลิ่นธูป มีประสบการณ์เหมือนเราเข้าไปในสถานที่นั้นจริงๆ ซึ่งหนังทำแบบนี้ไม่ได้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่น ผนังจับไปเป็นงู มีกลิ่นธูป มีนักแสดงที่โผล่มาใกล้เราจริงๆ เป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ให้เราไม่ได้ขนาดนั้น

กอล์ฟ : กลิ่นก็เป็นเรื่องสำคัญ สมัยก่อนเวลาทำบ้านผีสิง กลิ่นยอดฮิตเลยคือพวกกลิ่นแอลกอฮอล์ กลิ่นไฮเตอร์​ สำหรับพวกโรงพยาบาลผี ส่วนตอนออกแบบงานนี้ เขาจะคิดมาว่าห้องนี้กลิ่นจะเป็นแบบนี้นะ เช่น กลิ่นไม้หอม บางทีเราก็จะบอกว่าตรงนี้มีศาลพระภูมิ แน่นอนว่าต้องมีกลิ่นธูป

ถ้าไม่นับเรื่องการดีไซน์ สิ่งที่เราต้องออกแบบยังมีเรื่องความปลอดภัยด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก วัสดุที่เราใช้ แสงเงาที่เราดีไซน์ มันต้องมืดแต่คนเดินต้องมองเห็น อุปกรณ์ก็ห้ามบาดคนนะ ระบบอากาศด้านในต้องทำให้หายใจสะดวก เหมือนการออกแบบบ้านที่เราอยู่ต้องมีการดีไซน์ฟังก์ชั่น บ้านผีสิงก็เหมือนกัน

ความเป็นไทยคือหัวใจของบ้าน

สำหรับคนที่โลดแล่นในวงการบ้านผีสิงมานานอย่างโอ๋และกอล์ฟ และมีเป้าหมายคือการได้ออกแบบบ้านผีสิงให้ Univeresal Studios Singapore การได้โอกาสทำงานครั้งนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการติดทีมชาติ ที่ต้องพาความเป็นไทยและผีแบบไทยๆ ไปเฉิดฉายในเวทีโลกให้สมศักดิ์ศรี

โอ๋ : ผมว่าอันนี้มันเป็นงานระดับชาติ (หัวเราะ) เพราะงานมีสเกลใหญ่กว่าบ้านผีสิงทุกๆ บ้านที่เราเคยทำมา การดีไซน์ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่เราเคยดีไซน์มา ถ้าเป็นฟุตบอลก็เป็นเหมือนทีมชาติไทยที่ได้เข้ามาทำงานที่ Universal

กอล์ฟ : เพราะเป็นบ้านผีสิงของไทย มันเหมือนเรายกประเทศไทยย่อมๆ ไปไว้ตรงนั้นเลย ตั้งแต่สตรีทฟู้ด ตลาด เลือดงู ในป่าเราก็ดีไซน์ให้มีหมู่บ้านแบบไทยๆ มีศาลพระภูมิ มีอะไรที่ exotic ที่ฝรั่งเห็นแล้วรู้ว่านี่คือประเทศไทย แต่ก็ปรับบางอย่างให้ดูน่ากลัวขึ้น

สาปนาคา

โอ๋ : เราทำการบ้าน จับเกร็ดความน่ากลัวแบบไทยๆ จากหนังมาใช้เหมือนกันนะ เช่น ซาวนด์เอฟเฟกต์ เสียงไม้เดินเอี๊ยดอ๊าดในหนังผีไทย มันไม่มีในบ้านผีที่อื่นเพราะมันเป็นปูนหมด แต่บ้านผีไทยมันเป็นไม้ เสียงหมาหอนแบบไทยๆ เสียงจิ้งหรีด อะไรที่มันเป็นไทย เสียงแวดล้อมแบบไทยๆ

เพลงประกอบก็จะเป็นของไทยล้วนๆ เลย เราแต่งขึ้นมาใหม่หมด บางเพลงก็ดัดแปลงมาจากเพลงสวดโบราณ อย่างเช่นการสวดภาณยักษ์ เราไปนั่งฟังแล้วรู้สึกว่ามันน่ากลัวเหมือนกันนะ เราก็ดัดแปลงฟีลลิ่งของการสวดภาณยักษ์เอามาใช้ในบ้านผีด้วย

ทีม Universal เขาก็จริงจังมากกับการสร้างความเป็นไทย เขามีทริปมาหาพร็อพในเมืองไทยด้วยนะ มาซื้อผ้าแดง ผ้าเขียว กระถางธูป องค์ประกอบไทยๆ ซื้อแล้วเขาก็จะส่งมาเช็กว่าถูกต้องไหม สิ่งนี้คนไทยกลัวหรือเปล่า หรือคนไทยนับถือหรือลบหลู่ไหม เพื่อความถูกต้อง ไม่ให้เกิดความขัดแย้งในแง่วัฒนธรรม และทำให้คนที่เข้าไปรู้สึกว่าเป็นบ้านผีสิงไทยจริงๆ เป็นคนไทยทำ ไม่ใช่คนชาติอื่นทำ ทั้งฉาก เสียง เพลง ทุกอย่างมันไทยจริงๆ เพราะมันมาจากคนไทยคือพวกเรา

กอล์ฟ : ที่สำคัญบางอย่างที่เป็นความเชื่อหรือเราอาจจะไปลบหลู่เราก็ต้องระวังและเอาแค่รากเหง้าความเป็นไทยมาบิดเป็นอย่างอื่น เช่น ชุดนางรำ บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นของมีครู เราก็เอาแค่ฟอร์มโจงกระเบนมาดัดแปลง ต่อยอดจากรากเหง้า เพราะถ้าเอาออริจินอลมา เรามั่นใจว่าจะมีบางคนที่ซีเรียส

โอ๋ : แต่ผมว่าบิดแล้วมันยิ่งกลายเป็นดีนะ เหมือนเราได้คิดของใหม่ คิดสิ่งที่น่าสนใจกว่า ดีกว่าเราไปก๊อปของไทยแบบเป๊ะๆ เพราะเวลาเราทำหนังผี เราจะอิงกับตรรกะ อิงความเป็นไปได้ ความน่ากลัว แต่พอไปอยู่ใน Universal มันเป็นสวนสนุก เราค้นพบว่ามันมีความแฟนตาซี ความเวอร์วังอะไรบางอย่างอยู่ที่ต้องเพิ่มเข้าไป เพราะถ้ามันสมจริงเสียเกินไปผมว่ามันก็อาจจะไม่สนุก มันน่าจะมีอะไรที่เวอร์ๆ หน่อย

บ้านผีสิงไทยที่ต้อนรับคนทั้งโลก

ถึงจะเป็นบ้านผีสิงไทย แต่เมื่อไปปรากฏที่ Universal Studios Singapore พวกเขาต้องออกแบบให้คนต่างชาติต่างภาษาเข้าถึงความน่ากลัวแบบไทยๆ ได้ ซึ่งทั้งคู่บอกว่าไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อผีไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอยู่แล้ว

กอล์ฟ : เวลาเราไปเทศกาลหนังต่างประเทศ เราจะเช็กฟีดแบ็กจากคนดูว่าทำไมเขาถึงรู้สึกเชื่อมโยงกับหนังของเรา ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าความน่ากลัวของผีไทยคือประเทศเราเชื่อเรื่องเวรกรรม ถ้าทำผิดคือเวรกรรมตามมาแน่นอน ถ้าเป็นในมุมเรื่องผี เวลาคุณทำผิดแล้วไม่มีใครรู้ แต่วิญญาณรู้ อย่างวิญญาณผีเมืองนอกมันเป็นซาตาน เป็นเรื่องการบูชายัญ มันไม่ใช่เรื่องมนุษย์ แต่ผีไทยมันคือความเป็นมนุษย์จริงๆ เหมือนเราทำอะไรไม่ดีเราก็ไม่สบายใจกับตัวเองแล้ว ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับคนทั้งโลก

โอ๋ : ผมว่าความน่ากลัวของผีไทยเป็นที่เลื่องลือของคนในภูมิภาคอยู่แล้ว ในเมื่อเราเอาความเป็นผีไทยมาใช้ขนาดนี้คนน่าจะเข้าถึงได้

กอล์ฟ : อีกอย่าง บ้านผีสิงหลายที่มันน่ากลัวเกินไป เช่น พวกที่เขาเอาบ้านร้าง หรือโรงพยาบาลร้างมาทำ แต่กับงานนี้ หลังจากที่โอ๋พาไปปีแรกผมก็ไปงานนี้ทุกปี เพราะเรารู้สึกว่ามันพิเศษ หาไม่ได้จากที่ไหน และการเล่นบ้านผีสิงแบบนี้มันต่างจากการเล่นที่อื่น เพราะเราเข้าไปกับเพื่อน เราไปเสพอาร์ต เสพโปรดักชั่นสนุกสนาน และทุกครั้งที่ผีออกมาหลอกเรา หลังการหลอกเราจะหัวเราะทันที เพราะเรารู้ว่าคนที่ออกมาหลอกเรามันก็คนนั่นแหละ พอเราตกใจเราก็จะหัวเราะ นั่นก็แปลว่าถ้าไปกับเพื่อน กับแฟน มันก็สนุกแน่นอน มันจะเป็น scary fun วิ่งออกมาจากบ้านผีแล้วจะหัวเราะแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์


Halloween Horror Nights ครั้งที่ 9 จัดขึ้นที่ Universal Studios Singapore ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 31 ตุลาคม 2562 (16 คืนเท่านั้น)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]