Joie ถ้วยอนามัยที่ช่วยเราลดขยะได้ถึง 240 ชิ้นต่อปี และอยากให้ทุกคนมีอิสระในร่างกาย

เท่าที่จำความได้ ประจำเดือนกับเราเป็นทั้งเพื่อนสนิทและศัตรูcups of joie

‘เพื่อนสนิท’ ในฐานะที่เราพบเจอกันทุกเดือน เดือนละ 7 วัน และ ‘ศัตรู’ ในฐานะที่ทำให้เราปวดท้องเจียนสิ้นลม ไหนจะทำให้รู้สึกเฉอะแฉะและอับชื้นจนแสบคันน้องสาว บางครั้งก็มาไม่บอกไม่กล่าว ทำเอาทริปเที่ยวทะเลกับเพื่อนล่มไม่เป็นท่า

นี่ยังไม่นับรวมอีกสารพัดปัญหาที่เมื่อประจำเดือนมา เท่ากับอิสระของเรานั้นหมดไป

แต่เมื่อได้รู้จักกับถ้วยอนามัยแบรนด์ไทยนาม Joie ของหญิงสาวผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่าง อิ๊ง–ธาริษา พงษ์เสฐียร เราก็แทบลืมไปเลยว่ากำลังอยู่ในช่วงวันนั้นของเดือน เพราะเจ้าถ้วยน้อยๆ ถ้วยนี้รองรับประจำเดือนได้มากเท่าผ้าอนามัยแบบกลางวัน 4-5 ชิ้น ใส่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง แถมถ้วยอนามัย 1 ชิ้นยังมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปี จึงช่วยลดขยะผ้าอนามัยไปได้กว่า 2,400 ชิ้นตลอดอายุการใช้งาน 

แค่ฟังก็รู้สึกว้าวแล้วใช่ไหม? แต่เบื้องหลังความว้าวนี้ยังมีเรื่องน่าประทับใจอีกมาก อย่างการดีไซน์ที่อิ๊งลงมือออกแบบเองทุกขั้นตอนเพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้และเป็นมิตรต่อโลกมากที่สุด ถึงแม้ว่า Joie จะไม่ใช่ถ้วยอนามัยสัญชาติไทยแบรนด์แรก แต่เราก็มั่นใจได้ว่านี่คือถ้วยอนามัยที่เกิดขึ้นจากความใส่ใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมและสรีระของผู้หญิงในทุกอณู

แล้วความพิเศษของถ้วยอนามัยแบรนด์นี้ที่เราอยากให้เหล่าผู้มีมดลูกได้ลองใช้สักครั้งเป็นยังไง บทสนทนาระหว่างเราและอิ๊งเบื้องล่างนี้มีคำตอบ

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยสี่

สำหรับผู้ใช้ถ้วยอนามัยส่วนใหญ่ (รวมถึงเรา) การตัดสินใจลองซื้อถ้วยอนามัยครั้งแรกนั้นอาจเกิดขึ้นเพราะอาการแพ้ผ้าอนามัย หรือเพราะอยากทำกิจกรรมได้คล่องตัว แต่สำหรับอิ๊ง การเปลี่ยนมาใช้ถ้วยอนามัยนั้นเกิดจากการที่เธอสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม 

“โลกใบนี้เกิดมาตั้งกี่พันล้านปี เราเป็นแค่สัตว์โลกชนิดหนึ่งที่อยู่อาศัยได้ไม่นานแต่กลับทำร้ายสิ่งแวดล้อมและสัตว์อื่นๆ ไปมาก เราเลยพยายามลดการสร้างขยะและมลพิษให้ได้มากที่สุด” อิ๊งเล่าถึงเหุตผลที่เธอหันมาสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้เธอได้รู้จักถ้วยอนามัยและได้ลองสั่งถ้วยอนามัยแบรนด์ต่างประเทศมาใช้

“ครั้งแรกที่ลองใส่ก็ใส่ได้เลย แต่ถ้าถามถึงตอนที่เราใส่ได้คล่องจริงๆ ก็ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน พอคล่องแล้วก็รู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก เพราะเราไม่ต้องคอยเปลี่ยนบ่อยๆ แถมยังทำกิจกรรมต่างๆ ได้ปกติ ทำให้เวลาเราเจอใครก็อยากแนะนำให้คนนั้นรู้จักและลองใช้ถ้วยอนามัยดูบ้าง” 

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่อิ๊งตกหลุมรักถ้วยอนามัย เธอก็ได้เผชิญกับสภาวะเบิร์นเอาต์จากการทำงาน เมื่อตัดสินใจลาออกเพื่อค้นหาแนวทางใหม่ในชีวิต เธอจึงปิ๊งไอเดียการทำแบรนด์สิ่งแวดล้อมขึ้น และสุดท้ายจึงตกตะกอนเป็นการทำแบรนด์ถ้วยอนามัย

“ช่วงที่ไปรษณีย์ไทยให้บริจาคของไปต่างจังหวัดได้ฟรี เราได้ยินพนักงานคุยกันว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งมาบริจาคผ้าอนามัยหลายกล่องไปยังพื้นที่ห่างไกล ทันทีที่รู้ เราก็คิดว่าทั้งที่เราก็เป็นผู้มีมดลูกที่เข้าใจความลำบากนั้นดี แต่ทำไมจึงไม่เคยคิดเลยว่าผ้าอนามัยก็ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ปัจจัยสี่ และจากตรงนั้นเราก็พยายามคิดต่อว่าถ้าผ้าอนามัยที่ผู้หญิงคนนั้นบริจาคไปมันถูกใช้จนหมด แล้วคนเหล่านั้นจะทำยังไงต่อ มันมีอะไรที่ยั่งยืนกว่านี้บ้างไหม” 

ด้วยคนรู้จักของเธอมีโรงงานผลิตพลาสติกอยู่แล้ว อิ๊งจึงปรึกษาว่าการทำถ้วยอนามัยนั้นยากหรือไม่ เมื่อได้คำตอบว่าไม่ยากจนเกินไป เธอจึงลงมือทันที

“เราก็กังวลนะเพราะคนไทยยังไม่รู้จักถ้วยอนามัยมากเท่าไหร่ แต่ตอนนั้นก็คิดว่าถ้าทำออกมาแล้วขายไม่ได้ก็เอาไปบริจาคแทนก็ได้” อิ๊งเล่าพลางหัวเราะถึงเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ถ้วยอนามัยที่เป็นมิตรกับคนไทย

เมื่อตั้งมั่นว่าแบรนด์ถ้วยอนามัยของเธอจะต้องเกิดขึ้นให้ได้ อิ๊งจึงตั้งต้นจากการลิสต์ข้อดีและข้อเสียของถ้วยอนามัยแบรนด์ต่างประเทศ 4-5 แบรนด์ที่เธอเคยลองใช้ แล้วนำมาออกแบบเป็นถ้วยอนามัยในฝันที่คำนึงถึงความกังวลของหญิงไทย ขณะเดียวกันเธอก็พยายามออกแบบให้ถ้วยออกมากลางๆ ที่สุด เพราะสรีระของผู้หญิงนั้นแตกต่างกัน จึงไม่มีถ้วยอนามัยรูปแบบไหนที่เหมาะกับภายในของผู้หญิงทุกคน 

“คนไทยส่วนใหญ่น่าจะยังไม่รู้จักถ้วยอนามัยด้วยซ้ำ ถ้วยอนามัยทรงกรวยที่ปากถ้วยจะใหญ่มากจึงอาจน่ากลัวเกินกว่าจะเป็นถ้วยอนามัยถ้วยแรกของคนไทย เราเลยออกแบบถ้วยให้เป็นทรงระฆังที่ปากถ้วยเล็กแต่ก้นถ้วยกว้าง ทำให้รองรับประจำเดือนได้มากโดยที่ถ้วยไม่ใหญ่และยาวเกินไป” อิ๊งเล่าถึงรูปแบบที่เธอพอใจ

นอกจากจะทำให้ปากถ้วยไม่ใหญ่เกินไปแล้ว ก้านถ้วยก็เป็นอีกส่วนที่เธอให้ความสำคัญ คือแทนที่จะเลือกให้ก้านถ้วยสำหรับดึงถ้วยออกจากช่องคลอดเป็นก้านตรงๆ ยาวๆ อย่างแบรนด์ส่วนใหญ่ ซึ่งถึงแม้จะใช้ซิลิโคนที่นิ่มแค่ไหนแต่ก็อาจทำให้เจ็บอยู่บ้าง เธอจึงเปลี่ยนก้านนั้นให้เป็นห่วงกลมมนเช่นแบรนด์ที่เธอประทับใจ เพราะนอกจากจะดึงออกได้ง่ายกว่าแล้วยังไม่ทิ่มเนื้อเยื่อภายในอีกด้วย 

สำหรับคนที่กังวลว่าถ้วยอนามัยนั้นจะแข็งเกินไปหรือไม่ อิ๊งขยายความให้ฟังกันใหม่ว่าจริงๆ แล้วถ้วยที่นิ่มนั้นอาจไม่เหมาะกับสรีระภายในเพราะจะทำให้ถ้วยกางออกยากและถูกผนังช่องคลอดบีบจนไม่เกิดสุญญากาศ แต่ถ้วยที่แข็งเกินไปก็จะพับและใส่ได้ยาก เธอจึงเลือกใช้ซิลิโคนที่มีความนิ่มกลางๆ ออกไปทางแข็งตามคอนเซปต์ที่ว่า ‘ออกแบบให้กลางเข้าไว้’

แต่กว่าจะได้รูปทรงเหล่านี้ออกมา อิ๊งต้องออกแบบ สั่งผลิต และปรับแก้อยู่หลายครั้ง แม้จะต้องเสียเงินค่าแท่นพิมพ์ที่แพงแสนแพงไปมาก แต่เธอก็ได้รูปแบบที่พึงพอใจโดยมีรูปทรงเดียวแต่มี 2 ไซส์ คือไซส์ s ที่จุได้ 22 มิลลิลิตร ซึ่งแทนผ้าอนามัยแบบกลางวันได้ 4-5 ชิ้น และไซส์ m ที่จุได้ 30 มิลลิลิตร ซึ่งแทนผ้าอนามัยแบบกลางวันได้ 5-6 ชิ้น

การเลือกไซส์ถ้วยนั้นก็ไม่ยาก หากเป็นคนที่ประจำเดือนมาน้อยให้เลือกไซส์ s แต่ถ้ามามากก็เลือกไซส์ m และหากใจกล้าอีกสักนิด อิ๊งอยากให้ลองศึกษาวิธีวัดความสูงของปากมดลูกที่เธอสอนไว้ในเพจ เพราะหากเป็นคนปากมดลูกก็ใส่ได้ทั้งสองไซส์แต่ถ้าปากมดลูกต่ำไซส์ s จะตอบโจทย์กว่ามาก 

เป็นมิตรกับโลกในทุกกระบวนการ

เพราะอิ๊งเริ่มต้นทำแบรนด์จากความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งที่สำคัญไม่แพ้รูปทรงของถ้วยคือ แพ็กเกจจิ้งและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะออกมาในอนาคตภายใต้ชื่อแบรนด์เดียวกันจะต้องเป็นมิตรต่อโลกมากที่สุด วัสดุที่นำมาทำเป็นสิ่งต่างๆ ในชื่อ Joie จึงต้องไม่ใช่อะไรก็ได้แต่ต้องเป็นวัสดุที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 3 ข้อที่เธอตั้งไว้

หนึ่ง–เธอให้ความสำคัญกับการนำวัสดุที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จากไอเดียนี้อิ๊งจึงได้เป็นถุงผ้าใส่ถ้วยอนามัยที่เย็บจากเสื้อผ้ามือสอง ด้วยสองมือของป้าๆ น้าๆ ในสังกัด Second Chance Bangkok มูลนิธิที่นำเสื้อผ้ามือสองมาขายให้ชาวบ้านในราคาถูก ทั้งยังนำเสื้อผ้าบางส่วนมาอัพไซเคิลเป็นสิ่งของกระจุกกระจิกเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน

สอง–หากวัสดุที่มีอยู่แล้วไม่ตอบโจทย์ก็หันมาใช้วัสดุรีไซเคิลแทน อย่างกล่องบรรจุภัณฑ์และกล่องพัสดุสำหรับส่งสินค้าก็ทำจากกระดาษรีไซเคิลทั้งสิ้น แถมอิ๊งยังเลือกใช้หมึกถั่วเหลืองราคาสูงมาพิมพ์กล่องแทนหมึกทั่วไปที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียมซึ่งส่งผลกระทบกับโลกตั้งแต่กระบวนการขุดเจาะน้ำมัน ทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

สาม–หากใช้วัสดุรีไซเคิลไม่ได้ เธอจะเลือกใช้วัสดุที่นำไปรีไซเคิลต่อได้ อย่างขวดพลาสติกบรรจุน้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น เธอก็เลือกใช้พลาสติกประเภทที่ส่งไปรีไซเคิลได้ทันทีที่ใช้หมด

นอกจากบรรจุภัณฑ์จะใส่ใจสิ่งแวดล้อมสุดๆ แล้ว การเลือกโรงงานผลิตสินค้าในไลน์ self-care ของอิ๊งยังเป็นมิตรกับโลกไม่แพ้กัน เพราะเป็นโรงงานที่เลือกใช้หลอดไฟ LED และใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ นอกจากนั้นยังออกแบบช่องลมระบายความร้อนในโรงงานจนประหยัดพลังงานได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และเป็นโรงงานแรกที่ได้รับรางวัลเหรียญทองของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) หรือรางวัลระดับนานาชาติที่มอบให้อาคารที่สร้างขึ้นอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม

“ในเมื่อเราบอกว่าตัวเองเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เราก็ควรใส่ใจทุกกระบวนการจริงๆ” อิ๊งอธิบายถึงความยากที่เธอเลือกเดิน

ถึงตรงนี้ หากหลายคนยังมองไม่ค่อยออกว่าการใช้ถ้วยอนามัยจะช่วยโลกได้ยังไงบ้าง ขอสรุปให้ฟังคร่าวๆ ว่าถ้วยอนามัย 1 ถ้วยนั้นใส่ได้ยาวนาน 12 ชั่วโมง เท่ากับว่าใน 1 วันเราจะถอดถ้วยอนามัยออกมาเทและใส่กลับเข้าไปใหม่ 1 ครั้งเท่านั้น และเพราะถ้วยอนามัย 1 ถ้วยใช้ได้นานถึง 10 ปี หากเรามีประจำเดือน 5 วัน ใช้ผ้าอนามัยเฉลี่ยวันละ 4 แผ่น เราจะลดขยะผ้าอนามัยที่เป็นขยะติดเชื้อได้มากถึง 2,400 แผ่นในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งช่วยให้มลพิษในการเผาขยะติดเชื้อลดลงไปได้มาก

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะถ้วยอนามัยสามารถใช้ซ้ำโดยปราศจากพลาสติกห่อและบรรจุภัณฑ์ภายนอก แถมยังไม่ต้องใช้กระดาษห่อให้สิ้นเปลือง ขยะที่เกิดจากการใช้ถ้วยอนามัยจึงมีน้อยจนน่าประทับใจ

เป็นมิตรกับมนุษย์เมนส์ทุกคน

นอกจากอิ๊งจะใส่ใจสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ เธอยังตั้งใจให้แบรนด์ถ้วยอนามัยใส่ใจมนุษย์เมนส์ด้วย เพื่อให้ถ้วยอนามัยมีประโยชน์ต่อทุกคนอย่างแท้จริง

ข้อแรก–จากการได้ยินพนักงานไปรษณีย์พูดเรื่องการบริจาคผ้าอนามัยในวันนั้น อิ๊งจึงตั้งใจให้ทุกการซื้อถ้วยอนามัย 1 ชิ้นของลูกค้าได้บริจาคถ้วยอนามัยอีก 1 ชิ้นให้ผู้ที่ขาดแคลน แต่เพราะการใช้ถ้วยอนามัยนั้นต้องมาพร้อมความรู้ด้านสุขอนามัยและการใช้งาน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ดำเนินอยู่อย่างไม่รู้จบ อิ๊งจึงต้องรอวันที่เธอจะได้ลงพื้นที่ไปสอนผู้มีมดลูกทุกคนด้วยตัวเอง

ข้อสอง–ด้วยเพราะอิ๊งเข้าใจดีว่าสรีระของคนเรานั้นแตกต่างกัน ถ้วยอนามัย 1 ชิ้นไม่ได้เข้ากับสรีระของผู้มีมดลูกทุกคน และการใช้งานให้คล่องมือนั้นก็ต้องใช้เวลา อิ๊งจึงเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ลองใช้ถ้วยอนามัยนานกว่า 4 เดือนหรือ 120 วัน หากไม่พอใจเพราะรู้สึกว่านี่ไม่ใช่แนวทาง หรือหากรู้สึกว่าไซส์ที่ซื้อมานั้นไม่เหมาะสม กระทั่งผู้ที่คิดว่า Joie นั้นไม่เหมาะกับสรีระของตัวเอง เธอก็ยินดีคืนเงินและรับเปลี่ยนไซส์

“การรับประกันแบบนี้จะทำให้ลูกค้ากล้าลองมากขึ้น ถ้าเขาลองแล้วไม่โอเคก็ปรับไปเรื่อยๆ เราจะคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด แต่ถ้าสรีระเขาไม่เหมาะกับแบบของเราจริงๆ เราจะคืนเงินให้ เขาจะได้ไปซื้อแบรนด์อื่นมาลอง เพราะจุดประสงค์ของเราคือไม่อยากให้เขากลับไปใช้ผ้าอนามัยแต่ใช้ถ้วยอนามัยต่อไป ที่สำคัญจะได้ไม่สิ้นเปลืองเงินเขาและสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์” อิ๊งอธิบายความตั้งใจเมื่อเราถามว่าเธอเอาความกล้าตรงนี้มาจากไหนกัน

ทางเลือกที่ทำให้ผู้มีมดลูกหลงรักตัวเองขึ้นกว่าเก่า 

ในแง่สิ่งแวดล้อม หลายคนคงเข้าใจข้อดีของถ้วยอนามัยได้ไม่อยากนัก แต่กับร่างกายของตัวเอง เชื่อว่าหลายๆ คนคงเกิดคำถามมากมายว่าเจ้าถ้วยน้อยๆ ถ้วยนี้จะมีประโยชน์ต่างจากผ้าอนามัยแบบสอดยังไง? แล้วนอกจากจะดีต่อโลก ถ้วยอนามัยจะดีต่อเราได้ยังไงบ้าง? 

จากคำถามแรก อิ๊งผู้เคยใช้ผ้าอนามัยแบบสอดมาก่อนและพบปัญหามากมายจึงตอบได้ไม่ยากเลยว่า หากเราใช้ผ้าอนามัยแบบสอดนานเกิน 8 ชั่วโมง ผ้าอนามัยแบบสอดซึ่งทำจากฝ้ายที่มีคุณสมบัติซึมซับของเหลวได้จะทำให้ช่องคลอดแห้งและติดเชื้อง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยอีกว่าผ้าอนามัยแบบสอดที่มีผิวขรุขระเล็กน้อยอาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนภายในได้ด้วย 

แต่ถ้วยอนามัยนั้นแตกต่างเพราะหากเลือกใช้ถ้วยอนามัยที่ผลิตจากซิลิโคนเกรดการแพทย์ซึ่งไม่มีรูพรุน แบคทีเรียและเชื้อโรคจะไม่เข้ามาย่างกรายได้เลย สิ่งสำคัญคือเราต้องแน่ใจว่าถ้วยอนามัยที่ซื้อมาจากแบรนด์ต่างๆ นั้นทำขึ้นจากซิลิโคนที่ได้มาตรฐาน และก่อนใส่ถ้วยอนามัยเข้าไปเราจะต้องตัดเล็บและทำความสะอาดมือให้ดี 

กับคำถามที่สอง อิ๊งบอกว่าถ้วยอนามัยทำให้ผู้มีมดลูกทุกคนได้มีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะใส่แล้วจะทำกิจกรรมโลดโผนแค่ไหนก็ไม่รู้สึกไม่สบายตัว ที่สำคัญเธอและลูกค้าหลายคนยังเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประจำเดือนและร่างกายตัวเองไปเลย 

“เราได้เข้าใจประจำเดือนและร่างกายในอีกแง่มุมว่า หนึ่ง–จริงๆ แล้วประจำเดือนไม่ได้เหม็นและไม่ได้มีสีน่ากลัว แต่ที่มันคล้ำและมีกลิ่นตอนใส่ผ้าอนามัยก็เพราะมันทำปฏิกิริยากับผ้าอนามัยและอากาศ

“สอง–ประจำเดือนไม่ได้มาเยอะอย่างที่คิด ที่ตอนใส่ผ้าอนามัยนั้นดูเหมือนเรามามากเพราะผ้าอนามัยมีสาร SAP ที่ทำให้มันพอง ทั้งที่โดยเฉลี่ยคนเรามีประจำเดือนเพียง 30-60 มิลลิลิตรต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งถ้วยอนามัยไซส์ s ของเราก็รองรับประจำเดือนต่อวันได้สบายๆ  

“สาม–สังคมไทยมีค่านิยมว่าเราไม่ควรพูดเรื่องเพศ เราเลยไม่เคยสำรวจและไม่เคยคิดที่จะมองมันจนทำให้เราห่างเหินกับร่างกายของตัวเอง การใช้ถ้วยอนามัยที่บังคับให้เราต้องเห็นประจำเดือนที่ออกมาและต้องสำรวจภายในช่องคลอดจึงทำให้เราได้รู้จักร่างกายตัวเองมากขึ้น

“เช่น จริงๆ แล้วช่องคลอดไม่ได้เป็นช่องตรงๆ นะ แต่มันจะเอียง 45 องศาไปทางก้นกบ หรือปลายสุดของช่องคลอดคือปากมดลูกซึ่งมีขนาดเล็กกว่าถ้วยอนามัยหลายสิบเท่า ไม่มีทางที่มันจะหลุดเข้าไปในมดลูกเราได้เลย” อิ๊งบอกถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการใช้และการทำแบรนด์ถ้วยอนามัยของตัวเอง

มากกว่าขายถ้วยอนามัยคือสร้างอิสระในเรือนร่างให้คนไทย

“ชื่อแบรนด์นั้นมาจากคำว่า ‘joy’ แต่เราสะกดเป็น ‘joie’ แบบภาษาฝรั่งเศสเพราะอยากให้มีกิมมิก” อิ๊งอธิบายถึงที่มาของชื่อซึ่งเธอสารภาพอย่างขำๆ ว่าทำให้คนอ่านชื่อผิดไม่น้อย

“จากความหมายของชื่อนี้ เราอยากให้ Joie ทลายข้อจำกัดของผู้มีมดลูกออกไปเพื่อที่เขาจะได้มีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น และอยากให้สังคมไทยกล้าพูดเรื่องเพศและประจำเดือนมากกว่านี้ เพราะการทำให้มันเป็นเรื่องน่าอายและเรื่องต้องห้ามทำให้ทุกคนไม่เข้าใจและไม่สามารถดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองได้ดีพอ”

เพราะความตั้งใจนั้นเอง อิ๊งจึงออกแคมเปญเกี่ยวกับประจำเดือนอยู่ตลอด เช่น แคมเปญ ‘Let’s Normalize Periods ประจำเดือนพูดได้ไม่ต้องแอบ’ ที่ทำร่วมกับเพจเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศอย่าง THAT MAD WOMAN เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทั้งผู้ที่มีและไม่มีมดลูกได้ทำความเข้าใจว่าประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

A post shared by Joie Period Care ถ้วยอนามัยจอย (@cupsofjoie)

หรืออย่างล่าสุด อิ๊งยังจัดแคมเปญ ‘PCOS Awareness’ ร่วมกับ Yesmom Fertility แบรนด์ชุดตรวจภาวะการเจริญพันธุ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายไม่น้อย

“Joie จึงไม่ได้เป็นแบรนด์ขายถ้วยอนามัยเท่านั้น เพราะในอนาคตเรายังมีแพลนที่จะทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกายของผู้มีมดลูกออกมาอีก

“เพราะเมื่อเราได้ศึกษาเกี่ยวกับร่างกายของผู้มีมดลูกอย่างลงลึก เราพบว่ายังมีอีกหลายประเด็นมากที่ถ้าทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ก็อาจช่วยให้ผู้มีมดลูกเข้าใจและใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและดียิ่งขึ้น” อิ๊งทิ้งท้ายความตั้งใจต่อแบรนด์ถ้วยอนามัยที่มากกว่าการขายถ้วยของเธอ


ขอบคุณภาพจาก Meeratchata Rujinarong

AUTHOR