เค้ง-ณภัทร ศิลปิน Doodle Art ที่เปลี่ยนเวลาว่าง สร้างงานศิลปะ NFT จนขายงานชิ้นแรกได้ตอนอายุ 17

ถ้าเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน เค้ง-ณภัทร อัสสันตชัย อาจถูกจัดว่าเป็นคนที่เจอความชอบตัวเองไวกว่าเพื่อน ความชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาหมกมุ่นกับสิ่งนี้มาตั้งแต่เรียนอนุบาล ใช้มันเป็นเครื่องมือระบายความเครียด ปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการในชีวิตที่เข้ามา ก่อนจะค้นพบความสนุกของการสร้างโลกบนหน้ากระดาษ และต่อยอดจนสามารถสร้างรายได้จากการขายงานบน NFT ให้ตัวเองได้ตอนอายุ 17 ปี

เอกลักษณ์ในงานของเค้งหรือที่คนบนโลก NFT รู้จักในชื่อ Dooword คือความเป็นรู วง และเส้นสายหลายรูปทรงที่พันกันยุ่งเหยิง แต่นั่นกลับกลายเป็นเสน่ห์ในงานของเค้งทุกชิ้น ที่ทำให้หลายคนไม่อาจละสายตาจากงานของเขาได้เลย

นั่นคือเหตุผลที่เรานัดพบกับเขาในงาน BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังกับกรุงเทพฯ เปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์กลาง SIAM SQUARE BLOCK I เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ ใช้วันว่างของตัวเองให้เป็นประโยขน์ งานปีนี้เนรมิตบูทกิจกรรม 6 โซน ที่สร้างขึ้นเพื่อซัพพอร์ตความสนใจอันหลากหลายของเด็ก – เยาวชน เพื่อจุดประกายให้พวกเขาได้ทดลองทำในสิ่งที่ชอบ ทั้งดนตรี อาหาร หนังสือ ภาษาต่างประเทศ การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ไปจนถึงการทำงานพาร์ตไทม์ และการจุดประกายต่างๆ ที่มุ่งมั่นทำให้เด็ก-เยาวชน เดินตามความฝันของตัวเอง

“โซนเหล่านี้สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชน (พวกเขา) สามารถศึกษา ค้นหา ลงมือทำสิ่งที่ชอบ พัฒนาสู่อาชีพในฝันได้จริง” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวในงาน “น้องๆ สามารถหารายได้เสริม หาประสบการณ์ใหม่โดยใช้แค่ ‘วันว่าง’ ไม่ละทิ้งการเรียนหลักและลดเวลาเล่นมือถือ ซึ่ง สสส. จะใช้งานนี้เป็นต้นแบบดำเนินโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ กระจายสู่จังหวัดต่างๆ ต่อไป”

แน่นอนว่าการส่งเสริมให้วัยรุ่นได้ใช้วันว่างให้เป็นประโยชน์ ต้องการแบบอย่างที่ทำให้พวกเขาเห็นภาพจริง และเค้งก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ทาง สสส. ชวนมาทอล์กในงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเจนใหม่ๆ ต่อไป

และหลังจากที่เขาทอล์กบนเวทีจบ เราก็ไม่พลาดที่จะดึงเขามาสนทนาต่อถึงความหลงใหลในศิลปะ การต่อยอดความชอบมาหารายได้จาก NFT รวมถึงมุมมองต่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เติบโตในทางที่ฝันต่อไป

เค้งนิยามแนวทางของงานตัวเองว่าอย่างไร

แนวทางงานของผมเป็นได้ 2 แบบคือ doodle art กับ abstract ซึ่งจะมองยังไงก็ได้ ผมไม่อยากจำกัดรูปแบบหรือความหมายว่าต้องหมายความยังไง อยากให้คนที่ดูงานเขามองได้หมดเลย

แต่ถ้าถามว่าเอกลักษณ์ที่ทำให้ผมต่างจากศิลปินคนอื่นๆ คืออะไร ผมมองว่ามันคือเส้นครับ ผมจะไม่ค่อยใช้สีเท่าไหร่ แต่จะใช้รูปแบบของเส้นที่เยอะมากๆ เยอะจนลายตา หลายคนเคยถามว่าเวลาวาดผมเมาบ้างไหม ผมก็ตอบว่าไม่ครับ ผมชินกับอะไรพวกนี้อยู่แล้ว (ยิ้ม)

ทำไมถึงเน้นการใช้เส้นหลายแบบ

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมมาทำศิลปะคือผมอยากระบายความเครียด ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่อนุบาล 3 ผมชอบวาดอะไรที่ใช้เวลาเยอะๆ วาดนานๆ และมันมีความหมายกับเรา เลยเริ่มจากการวาดเส้นจนต่อยอดเป็นการสร้างโลกของตัวเองขึ้นมาบนกระดาษ จำได้ว่าสมัยนั้นพ่อผมจะซื้อกระดาษแผ่นใหญ่กว่าผมมาให้วาดหลายๆ แผ่น แล้วผมก็ใช้สีเทียนวาดฉากใหญ่ๆ เหมือนในหนัง มีคน ต้นไม้ ภูเขา เมือง แล้วเจาะรายละเอียดเข้าไปเยอะๆ บางทีโลกนั้นก็ดูน่ากลัว บางทีก็ดูน่ารัก

ผมใช้เส้นเยอะและติดมาตั้งแต่ตอนนั้น ก็คิดไม่ได้คิดว่าจะมีคนชอบหรอกเพราะมันลายตา แต่พอรู้ว่ามีคนชอบงานเส้นของเราก็เลยยึดเป็นแนวทางหลักไปเลย

สิ่งที่ทำให้เค้งหลงใหลในงานศิลปะคืออะไร

ผมชอบที่มันไม่มีผิดมีถูก เราไปทางไหนก็ได้ เป็นใครก็ได้บนโลกศิลปะ

แล้วเข้ามาในวงการ NFT ได้อย่างไร 

ช่วงประมาณปี 2021 โควิดเริ่มมีผลกระทบกับทุกคน โรงเรียนต้องปิดและยังไม่มีมาตรการในการเรียนออนไลน์ ผมที่ว่างมากตอนนั้นเลยคิดอยากเอาสิ่งที่เราทำประจำคือการวาดรูปมาทำประโยชน์ จนผมไปเจอกับงานของ Beeple ซึ่งเป็นศิลปิน NFT คนแรกๆ ที่โผล่ขึ้นมาในสื่อ งานเขาเจ๋งและขายได้หลัก 50 ล้าน เราเลยแบบ อุ๊ย NFT คืออะไร มีคนไทยทำหรือยัง ซึ่งตอนนั้นคนไทยก็ทำแต่ส่วนน้อยมาก ผมเลยลองศึกษาดู สุดท้ายก็ลงเงินเปิดบัญชีของ opensea (แพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายงาน NFT) ขึ้นมาแล้วลองไปลงงานขายดูบ้าง

งาน NFT ชิ้นแรกที่ลงคืองานไหน

ผมวาด ethereum สัญลักษณ์ของสกุลเงินคริปโต เพราะรู้สึกว่าถ้าเราจะเข้ามาในโลก NFT ผมก็ต้องวาดอะไรที่เกี่ยวกับโลกใบนี้หน่อย ซึ่งปกติโลโก้ของ Ethereum จะเรียบง่าย แต่ผมให้มันมีไส้ของโลโก้ และปรับให้มันขยับได้ มีเสียง ปรากฏว่าขายได้คืนนั้นเลย

ปัจจัยที่ดึงดูดให้เข้ามาในโลกของ NFT คืออะไร คือรายได้ที่มาจากการขายงานหรือเปล่า

ยอมรับเลยว่า first impression คือรายได้ ในเมื่อการจะขายอะไรพวกนี้ได้ในไทยเคยเป็นเรื่องยาก ความจริงตอนนั้นผมขายงานชิ้นแรกยังไม่รู้เลยว่าอยากทำอาชีพอะไร รู้แค่เราอยากทำศิลปะ แล้วเราจะหารายได้ยังไง ต้องไปทำงานตามสั่งเท่านั้นเหรอ 

ผมเคยมองว่าศิลปะเป็นงานอดิเรก เป็นงานที่เราทำได้หลังจากเราทำงานหลักของเราแล้ว มันเป็นงานรอง ไม่เคยมองว่ามันเป็นงานหลักได้เลยจนกระทั่งมาเจอ NFT สิ่งที่เปลี่ยนความคิดผมได้คือประสบการณ์ในการทำงาน การได้เห็นว่ามันขายงานได้จริงๆ ได้เงินมาทำให้ชีวิตเราดีขึ้นจริงๆ หรือการได้เจอศิลปินรุ่นพี่รุ่นใหญ่ที่ทำ NFT จนซื้อบ้านได้

ในแง่นี้ NFT จึงดึงดูดผมมากเพราะมันเปิดให้เราทำงานศิลปะได้อย่างอิสระและขายได้ด้วย ไม่มีใครมาสั่งให้เราทำหรือบังคับเรา คนที่ซื้อก็เป็นคนที่ชอบงานเราจริงๆ

ในทางกลับกัน ปัจจัยที่ทำให้ลูกค้ากดซื้องานของศิลปินใน NFT คืออะไร 

ปัจจัยอย่างแรกคือความชอบ คือ first impression ที่เห็นปุ๊บ อุ๊ย สวย ปัจจัยต่อมาคือประโยชน์ที่จะได้จากมัน สมมติงานงานหนึ่งสามารถนำไปขายต่อได้ราคาดี เขาก็ยิ่งอยากซื้อเลย ปัจจัยสุดท้ายคือประโยชน์ทางอ้อม เช่นซื้อแล้วได้สิทธิพิเศษอย่างการเข้าร่วมกลุ่ม ได้ไปเจอสังคมใหม่ๆ อันนี้คือปัจจัยหลักๆ ในโลก NFT ครับ 

เค้งว่าความสนุกของการทำ NFT ที่ต่างจากงานศิลปะทั่วไปคืออะไร

รูปแบบครับที่เป็นไปได้หมด มีเสียงได้ ขยับได้ เป็น 3D ได้ อีกเรื่องคือเครือข่ายของคนที่มาเห็นงานของเรา ปกติเราวาดรูปก็จะมีแต่คนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวเห็น แต่ NFT คือการลงงานของเราให้คนทั้งโลกได้เห็น และเราจะได้รู้ว่าในโลกนี้มีคนชอบงานเรากี่คนบ้าง รู้ว่างานเราจะมีคนซื้อไหม มันเปิดกว้างกว่า

แล้วความท้าทายล่ะ

คิดว่าท้าทายกว่างานศิลปะทั่วไปเยอะเหมือนกัน เพราะถ้าเป็นศิลปะที่จัดแสดงในสถานที่หนึ่งเราอาจขายได้กับคนท้องถิ่นหรือคนไทยด้วยกัน แต่ในโลก NFT จะเหมือนโรงงานของศิลปินทั่วโลก พอเราลงงานไปแล้วก็จะมีงานของศิลปินอีกเป็นร้อยคนมาต่อเรา คนที่เข้ามาซื้อจะมีตัวเลือกเยอะมาก การแข่งขันสูง 

ถึงตอนนี้เค้งขายงาน NFT ไปได้กี่ชิ้นแล้ว 

ปีที่ผ่านมาผมขายได้ 26 ชิ้นครับ แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสว่าต้องทำงานแบบไหนถึงจะขายได้ หรือทำงานมหาศาลนะ ผมทำตอนที่อยากทำ เพราะมองว่าถ้าเราทำงานตอนที่อยากทำจริงๆ  จะได้งานที่ดีที่สุดออกมา

แปลว่าเราก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องการแข่งกับคนอื่น

ถ้าเราซีเรียสเรื่องการแข่งขันกับคนอื่น ผมคิดว่าเราจะเครียด การวาดรูปของเราจะไม่มีความสุข ในเมื่อจุดเริ่มต้นของการวาดรูปคือการระบายความเครียดของผมอยู่แล้ว ผมเลยอยากให้เป็นอย่างนั้นต่อไป ไม่อยากให้ศิลปะเป็นสิ่งที่ผมทำแล้วเครียดแทน

แล้วถ้างานเราขายไม่ออก เราจะเปลี่ยนแนวงานของตัวเองให้ขายง่ายขึ้นไหม

ผมไม่เปลี่ยนอยู่แล้วครับ (ตอบทันที) ก็คงจะลงต่อไปเรื่อยๆ เพราะยังไง opensea ก็ไม่เสียค่าลงงานอยู่แล้ว 

ผมมีแนวคิดหนึ่งที่เพื่อนพ่อเคยบอกและผมก็ยึดถือมาตลอด เขาบอกว่า ‘ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง เราต้องทำมันเยอะๆ แล้วคนจะสนใจเอง สุดท้ายแล้วเขาจะสนใจเองว่าทำไมเราถึงรักสิ่งนั้นได้มากขนาดนั้น’ เหมือนศิลปินอย่างปีกัสโซ่ที่ทำเป็นหมื่นๆ ล้านๆ งาน สุดท้ายคนก็สนใจงานของเขาจนนิยามให้งานของเขาเป็นอีกแนวหนึ่งของศิลปะเลย

ผมเชื่อเรื่องแบบนั้นมาก เชื่อว่าถ้าเรารักอะไรจริงๆ มันจะมีความหมายขึ้นมาเอง ซึ่งอาจจะมีความหมายทั้งกับตัวเราและมีความหมายกับคนอื่นด้วย

ถ้าการขายได้ไม่ได้สำคัญที่สุด อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของเค้ง

ผมมองว่าการพัฒนาตัวเองสำคัญกว่า ตั้งแต่ได้ทำ NFT มา มันทำให้ผมพัฒนารูปแบบงานให้หลากหลายมากขึ้น อย่างอนิเมชั่นเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต แต่เพิ่งมาเริ่มฝึกทำตอนลง NFT

NFT ผลักดันให้เรามีไฟ ทำให้เราอยากทำงานศิลปะจริงๆ และมีเป้าหมายในชีวิตว่าอยากทำให้งานของเราไปอยู่ในมือของทุกคนบนโลกได้ มากกว่านั้นคือเป็นงานที่ blend in ไปกับสังคม อย่างไปเดินห้างแล้วเห็นว่ามีงานอยู่บนพื้น บนผนัง ไปอยู่ทุกที่ ผมอยากให้งานของผมเป็นอย่างนั้นสักวันหนึ่ง

หลายคนรู้จักเค้งในฐานะคนที่รู้ตัวเร็วว่าตัวเองชอบอะไร เค้งคิดว่าการรู้ว่าตัวเองชอบอะไรมันสำคัญกับเด็กรุ่นใหม่อย่างไร

ยิ่งเจอทางเราไวแค่ไหน เรายิ่งไปทางที่ถูกมากขึ้น อย่างผมเองรู้ว่าชอบศิลปะตั้งแต่ม.ต้น ผมก็เลือกเรียนสายนี้เลยทันทีเลย แต่บางคนอาจจะเรียนมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัยโดยรู้สึกว่าเขาอยากลองไปเรื่อยๆ ถ้าเหนื่อยก็ออกมาเริ่มใหม่ แต่บางสายงานพอเข้าไปแล้วจะออกมายากมาก มันอาจจะเหนื่อยไปตลอด

ผมว่าการที่เราค้นพบตัวตนหรือความชอบของเราเจอแล้วลงมือทำเลย มันเป็นการลดความยุ่งยากลงไปได้เยอะ แต่ถามว่าจำเป็นไหมที่เราจะต้องเจอตัวเองได้ไวๆ ไม่จำเป็นหรอก เพราะเราค้นหาตัวเองได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือถ้าเราเจอ มันทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นมากกว่า

สิ่งแวดล้อมแบบไหนที่จะส่งเสริมให้วัยรุ่นไทยได้เจอสิ่งที่ชอบ

สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีกรอบ สิ่งแวดล้อมที่เปิดกว้างให้เราทำอะไรก็ได้ ผมโชคดีที่มีสิ่งแวดล้อมแบบนี้อยู่ที่บ้านเพราะพ่อสนับสนุนลูกทุกทาง เคยมีช่วงหนึ่งผมอยากเปิดช่องยูทูบทำแคสต์เกม ช่วงนั้นมุ่งไปทางการตัดต่อวิดีโอ ทำกราฟิก พ่อก็สนับสนุนเต็มที่ แต่พอเราทำจนสุดและไม่อยากทำแล้วพ่อก็ปล่อย เขาทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากลองทำอะไรเราก็ลองได้ทุกอย่าง มันรู้สึกดีนะ

แล้วการศึกษาล่ะ มีผลไหม การศึกษาด้านศิลปะในไทยส่งเสริมให้เด็กเจอตัวเองได้แค่ไหน

ถ้าพูดแบบในมุมที่เคยเห็นมา การศึกษาด้านศิลปะก็ส่งเสริมแต่ไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้นหลักสูตรบางอย่างอาจจะตีกรอบเกินไปและไม่สนับสนุนให้คนมาทดลองกับศิลปะ เช่นถ้าเราแกะสลักไม้ไม่ได้ แรเงาไม่สวย บางคนก็อาจจะมองว่าเราทำศิลปะไม่ได้แล้ว 

แต่สิ่งที่มันควรจะเป็นคือให้เด็กลองวาดดูก่อน ลองดูว่าเด็กศิลปะแนวไหนแล้วค่อยต่อยอดจากตรงนั้น ส่งไปเรียนทำให้เขาได้ฝึกทักษะในแนวทางที่เขาชอบให้ดีขึ้น แบบนั้นน่าจะเป็นการเรียนศิลปะที่มีความสุขที่สุด 

ความเปิดกว้างแบบนี้ดีต่อนักเรียนศิลปะอย่างไร

มันดีตรงที่ว่าถ้าเราคิดงานสักชิ้นขึ้นมา มันจะไม่มีคำว่าเอ๊ะ เอ๊ะมันไม่ดี เอ๊ะมันไม่ถูกนะ อะไรแบบนี้ ถ้าไม่มีคำว่าเอ๊ะพวกนี้เราจะเริ่มทำงานได้ทันทีเลย ผมมองว่าแบบนี้ดีกว่าเยอะ อย่างผมเองโดยปกติแล้วจะไม่ร่างก่อนวาดรูป อันนี้เคยโดนอาจารย์ด่าบ่อยมากว่าทำไมไม่ร่างก่อน (ยิ้ม) แต่ที่ผมไม่ร่างเพราะผมชอบจะให้เส้นในงานมันนำเราไปเอง ซึ่งไม่ผิดอะไรอยู่แล้วที่จะให้เส้นนำเราไป แต่ประเด็นคือนั่นแหละครับ ศิลปะไทยทำให้เรามองว่าการไม่ร่างงานก่อนวาดเป็นเรื่องผิด ผมเลยชอบความเปิดกว้างมากกว่า

วันๆ หนึ่งเด็กนักเรียนไทยมีสิ่งที่ต้องทำมากมาย แต่ถ้าเขาอยากตามหาสิ่งที่ตัวเองชอบเจอด้วย คำแนะนำที่คุณอยากมอบให้เขาคืออะไร 

แนะนำให้เปิดโลกผ่านอินเทอร์เน็ตเยอะๆ มันคือการใช้เวลาน้อยที่สุดในการค้นหาตัวเอง ดูอินเทอร์เน็ต อ่าน ฟัง ลองดูว่าเราชอบดูและสังเกตอะไรมากที่สุด ทำงานอยู่ก็เปิดเพลงเปิดพอดแคสต์ฟัง ผมว่ามันจะทำให้เรา ‘เอ๊ะ’ กับตัวเองได้เร็วขึ้น

แล้วถ้าเราเจอทางที่เป็นของเราและมันสามารถสร้างรายได้ด้วย การเรียนในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ไหม

สำคัญอยู่ครับ ผมมองว่านั่นคือชีวิตจริง พูดอย่างนี้ผมไม่ได้บอกว่าศิลปะไม่ใช่ชีวิตจริงนะ แต่ผมมองว่าสุดท้ายเราก็ต้องอยู่ในสังคม ซึ่งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็คือสังคม 

เราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก ไม่มีทางเป็นแบบนั้นได้อยู่แล้ว เราจะแคร์แต่ศิลปะแต่ไม่แคร์คนอื่นหรือโลกรอบตัวเราไม่ได้ ผมมองว่าการไปเรียนมหาวิทยาลัยทำให้เราได้รู้จักโลกมากขึ้น ได้รู้ว่าคนในสังคมเป็นยังไง ได้เห็นว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน และสุดท้ายมันก็จะกลับมาอินสไปร์ความคิดด้านศิลปะของเราอีกที ทำให้เรามีมุมองหลายแบบ มหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่อาจทำให้เราได้เจอสิ่งเหล่านั้น

รู้สึกอย่างไรที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง

การได้มาอยู่ตรงนี้ มาพูดให้คนฟังที่กลางสยามมันดีมากเลย ภูมิใจด้วย ภูมิใจมาก ผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งที่พูดไปจะเป็นอินสไปร์ให้ใครได้ค้นพบตัวเองได้ไหม แต่ถ้ามันทำแบบนั้นได้มันก็ดีมาก มันทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ทำประโยชน์ให้คนอื่น

เค้งว่าการมีกิจกรรมแบบ BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ดีกับเด็กไทยอย่างไร

จากที่ผมสังเกตคนรอบตัว ผมว่าทุกวันนี้เด็กไทยบางคนยังค้นพบตัวเองไม่เจอ ผมมองว่าการมีงานแบบนี้ซึ่งมีหลายๆ บูททั้งดนตรี ศิลปะ และอื่นๆ มันทำให้เด็กเห็นความหลากหลายที่เขาสามารถเลือกได้ มันเป็นการเริ่มต้นสนับสนุนให้เขาหาตัวเองและเดินไปในทางที่เขาต้องการ เพราะบางทีเด็กบางคนเขาอาจจะไม่รู้จักตัวเองเลยไง เขาอาจจะคิดว่าเรียนๆ ไปให้จบก็พอ แต่การมีงานแบบนี้มันทำให้เขา ‘เอ๊ะ’ ว่าเขาชอบทางนี้หรือเปล่า เขาไปทางนั้นได้หรือเปล่า มันทำให้เขารู้ว่าเขาเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ

ถ้าให้คำแนะนำกับคนที่อยากทำงานศิลปะบน NFT แต่ยังไม่กล้าหรือไม่มีเวลาได้ลงมือทำ เค้งอยากแนะนำเขาว่าอะไร 

แนะนำว่าทำเถอะครับ ทำเถอะ ไม่ใช่แค่ทำ NFT นะ ทำในสิ่งที่ชอบเถอะ ทำไปจนมันสำเร็จ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่