Crip กับ Queer ความสัมพันธ์เชิงซ้อนของความพิการและความหลากหลายทางเพศ

Highlights

  • ทฤษฎีคริพ (Crip theory) เกิดขึ้นในช่วงปี 2000 โดยนักวิชาการชาวอเมริกันชื่อ Robert McRuer เพื่อใช้ศึกษาความพิการควบคู่ไปกับความหลากหลายทางเพศ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างเควียร์กับคริพคือสังคมมองว่าความรักต่างเพศเป็นค่ามาตรฐานและความรักเพศเดียวกันเป็นความเบี่ยงเบน การมีอวัยวะครบ 32 เป็นความสมบูรณ์และความพิการเป็นความบกพร่อง    
  • ทั้ง LGBTQ+ กับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพต่างถูกกีดกันให้เป็นคนชายขอบของสังคมด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม
  • เข้าใจควิพกับเควียร์ผ่านบทวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง The Family Stone ของ Thomas Bezucha และซีรีส์เรื่อง Special ของ Ryan O'Connell ที่ออกอากาศทางเน็ตฟลิกซ์

Crip theory หรือทฤษฎีคริพ ถือกำเนิดขึ้นราวปี 2000 โดย Robert McRuer ศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ‘คริพ’ มาจากการตัดพยางค์แรกของคำว่า cripple ซึ่งซ่อนความหมายเชิงลบ ใช้เรียกบุคคลผู้มีความพิการทางร่างกาย

แม็กครูเออร์พัฒนาทฤษฎีคริพไปพร้อมกับความสนใจในทฤษฎีเควียร์ จึงใช้แนวทางเดียวกันในการตั้งชื่อทฤษฎีที่เขาคิดค้นขึ้นมาใหม่ เควียร์เคยมีความหมายลบอย่างที่ตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่อง Brokeback Mountain พูดว่า “You know I ain’t queer.” หลังจากมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนเพศเดียวกัน พยายามปฏิเสธว่าตัวเองไม่ใช่พวกแปลกประหลาด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเพราะความเหงาชั่วครั้งคราวเท่านั้น

คนที่มีความหลากหลายทางเพศนำคำว่าเควียร์มาใช้โดยสร้างความหมายใหม่ที่เป็นบวก การสร้างคำอื่นมาแทนที่ไม่ได้ช่วยขจัดความคิดลบ ต่อ LGBTQ+ ให้หมดไป วิธีที่ดีกว่าคือการรื้อสร้างคำนี้และร่วมสร้างการตระหนักรู้แก่สังคมว่าเควียร์ก็มีความหมายที่ดีได้ แม็กครูเออร์เลือกใช้คำว่าคริพด้วยเหตุผลเดียวกัน นำคำที่ใช้เหยียดหยามความพิการย้อนกลับมาแจกแจงสร้างความเข้าใจอันดีให้แก่สังคม

แม็กครูเออร์ชี้ว่าผู้พิการและผู้มีความหลากหลายทางเพศมีประสบการณ์คล้ายกัน ถูกกีดกันให้เป็นคนชายขอบในสังคมด้วยกลไกของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าจำนวนมหาศาลให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ความรักต่างเพศมีคุณค่าในระบบนี้เพราะสามารถผลิตแรงงานให้แก่สังคม ส่วน LGBTQ+ ไปตัดตอนการสืบพันธุ์ ทำให้แรงงานลดลง จึงโดนเหยียด

ตัวชี้วัดคุณค่าของบุคคลหนึ่งในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมและทุนนิยมประเมินได้จากศักยภาพในการผลิต ผู้พิการถูกตัดสินว่าไร้ความสามารถก็เพราะวิธีคิดแบบนี้ สังคมมองว่าความรักต่างเพศเป็นค่ามาตรฐานและความรักเพศเดียวกันเป็นความเบี่ยงเบน อีกทั้งคิดว่าการมีอวัยวะครบ 32 เป็นความสมบูรณ์และความพิการเป็นความบกพร่อง นี่คือความสัมพันธ์ที่คริพกับเควียร์มีร่วมกัน

ในบทหนึ่งของหนังสือ Crip Theory: Cultural Signs of Queerness and Disability แม็กครูเออร์อ้างถึงวิธีสอนการเขียนรายงานในมหาวิทยาลัย ผู้สอนมักกำหนดรูปแบบชัดเจนตายตัวว่าต้องมีคำนำ เนื้อหา และบทสรุป การวัดผลก็พิจารณาดูว่าประเด็นต่าง เชื่อมโยงอย่างมีเหตุผล ความคิดหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อนำไปสู่ข้อโต้แย้งหลัก แต่การเขียนไม่ได้เป็นลักษณะนี้เสมอไป การวางกฎเกณฑ์ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นจริง แต่ในทางกลับกันก็ส่งเสริมกระบวนการคิดให้เราเหยียดความแตกต่าง

แม็กครูเออร์ย้ำว่าเราควรศึกษาการทับซ้อนของความหลากหลายทางเพศและความพิการประกอบกัน ในขณะที่ทฤษฎีคริพได้รับความสนใจจากสังคม ฮอลลีวูดก็ปล่อยภาพยนตร์เรื่อง The Family Stone ออกมาในปี 2005 เรื่องนี้เป็นหนังครอบครัวซึ้งปนเศร้า เสนอเรื่องราวของหญิงสาวจากมหานครนิวยอร์กชื่อ Meredith เปิดเรื่องมาช่วงคริสต์มาส เมเรดิทกำลังเดินทางไปพบครอบครัวของแฟนหนุ่มที่เธอจะแต่งงานด้วย

แฟนของเธอมาจากครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องหลายคน เมเรดิทกังวลว่าพวกเขาจะไม่ชอบเธอซึ่งอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ ตอนกินอาหารเย็นก็คุยกันเรื่องน้องชายคนสุดท้องของครอบครัวชื่อ Thad ที่เป็นเกย์และหูหนวก พ่อกับแม่เปรยว่าอยากให้ลูกทุกคนเป็นเหมือนแท็ด เมเรดิทพยายามสร้างความประทับใจโดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนา แต่ผิดคิวพูดทำนองว่าโลกโหดร้ายจะแย่ ไม่น่ามีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็น ‘แบบนี้’ แล้วชี้ไปที่แท็ด

คำพูดของเธอจุดชนวนให้อาหารเย็นมื้อนั้นพังพินาศ ‘แบบนี้’ มีความกำกวมว่าเธอหมายถึงความบกพร่องทางการได้ยินหรือการเป็นคนรักเพศเดียวกัน เมเรดิทรู้ตัวว่าสิ่งที่พูดฟังดูแย่มาก ก็พยายามอธิบายเพิ่มเติมว่าปัญหามันทับซ้อนกันหลายอย่าง เธอแค่สงสัยทำไมพ่อแม่พูดเหมือนอยากให้ลูกไปเผชิญปัญหานานัปการ หากเลือกได้ ‘ความปกติ’ ไม่ดีกว่าเหรอ

ผู้กำกับกำหนดให้สมาชิกของครอบครัวนี้ทุกคนเป็นคนหัวก้าวหน้า รักอิสระ เสรีนิยม แล้วหย่อนตัวละครว่าที่สะใภ้ผู้มีลักษณะสุดโต่งตรงกันข้าม (antithesis) เหยียดเพศ เหยียดความพิการ ครอบครัวของแฟนเธอก็เหยียดเมเรดิทกลับว่ามีความคิดคร่ำครึ ไม่เท่าทันพวกเขา ฉากทะเลาะกันในหนังเรื่องนี้แสดงปมขัดแย้งที่ใหญ่กว่านั้นในสังคม การปะทะกันทางความคิดระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม สุดท้ายหนังจบด้วยการเรียนรู้และการประนีประนอม อารมณ์อบอุ่นตามสไตล์หนังเทศกาลคริสต์มาส

วัฒนธรรมเกย์ให้ความสำคัญกับเรือนกายมาก การศึกษาหลายชิ้นแสดงการเชื่อมโยงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กับการประกอบสร้างเรือนกายของเกย์ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยกตัวอย่างกรณีศึกษาประกอบดังนี้ ตอนวัฒนธรรมฟิตเนสได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาช่วง 1960s นิตยสารเกย์ถ่ายทอดภาพเรือนร่างบึกบึนของผู้ชายที่เกย์พึงมี ช่วง 1970s ผสมกลิ่นอายของฮิปปี้ ไว้ผมยาว บางทีก็มีหนวด จนถึงช่วง 1980s ที่เรียกร้องการยอมรับและสิทธิทางกฎหมาย เกย์หันกลับมาแต่งตัวสะอาดเรียบร้อย

หากดูจากกรอบความคิดเรื่องวัฒนธรรมเรือนกาย ภาพยนตร์ The Family Stone ไม่ได้ก้าวหน้าหลุดกรอบมากมายนักเรื่องการผนวกความสัมพันธ์เชิงซ้อนระหว่างความพิการและความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าตัวละครแท็ดจะมีความบกพร่องทางการได้ยิน แต่ความพิการถูกประกอบสร้างให้ดูเย้ายวนด้วยเรือนร่างของนักแสดงที่ฟิตสมส่วน หน้าตาน่ารัก แต่งกายสะอาดดูดี อยู่ในค่ามาตรฐานของวัฒนธรรมเกย์มาก ในความเป็นจริงผู้พิการไม่ได้มีรูปร่างแบบแท็ดกันทุกคน

ซีรีส์เรื่อง Special ที่เริ่มออกอากาศทางเน็ตฟลิกซ์ในปี 2019 นำเสนอเรื่องราวของเกย์ที่มีความบกพร่องทางร่างกายได้ดีมีชั้นเชิงกว่า ซีรีส์นี้ดัดแปลงมาจากบันทึกความจำเรื่อง I’m Special: And Other Lies We Tell Ourselves ถ่ายทอดชีวิตและประสบการณ์จริงของ Ryan O’Connell นอกจากนี้โอคอนเนลล์ยังผันตัวมานั่งแท่นผู้อำนวยการผลิต มือเขียนบท และนักแสดงนำในซีรีส์เรื่องนี้อีกด้วย

Special เสนอเรื่องราวของเกย์ร่างอวบชื่อไรอัน เขาเกิดมาพร้อมภาวะสมองพิการ หรือ cerebral palsy ไรอันมีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อเกร็ง และข้อต่อยึด เวลาจะก้มผูกเชือกรองเท้าทีก็ทุลักทุเล ไรอันเคยถูกรถชนด้วยข้อจำกัดทางร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่สะดวกแต่ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรมาก จนเมื่อไปฝึกงานที่บริษัทนิตยสาร Eggwoke เขาจึงถือโอกาสโกหกทุกคนว่าร่างกายเป็นแบบนี้เพราะอุบัติเหตุ ไม่ใช่ความพิการแต่กำเนิด

ตอนที่ 7 ของซีซั่นแรกชื่อ ‘นัดบอดใบ้’ โอลิเวีย บรรณาธิการนิตยสารตัวแสบแอบได้ยินว่าไรอันอยากมีแฟน เลยช่วยจัดการนัดบอด (blind date) ให้เขาพบกับเกย์อีกคนที่เธอรู้จักและคิดว่าทั้งคู่เหมาะสมกันมาก เมื่อไปถึงร้านอาหารไรอันค้นพบว่าโอลิเวียนัดให้เขาไปเจอหนุ่มกล้ามแน่นหน้าตาเหมือนนายแบบ Abercrombie & Fitch ชื่อไมเคิล ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน มาเดตพร้อมกับล่ามภาษามือ

ไมเคิลพูดติดตลกว่าเขาเคยเจอแต่นัดใบ้ ไม่เคยมีประสบการณ์นัดบอด เขารู้สึกตื่นเต้น ทำตัวไม่ค่อยถูก ส่วนไรอันโกรธโอลิเวียมาก เหมือนโดนเธอตบหน้าอย่างรุนแรง โอลิเวียคิดว่าเขาสองคน ‘เหมาะสม’ เพียงเพราะพิการเหมือนกันโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น เป็นวิธีคิดที่หยาบหยาม เมื่อไรอันกลับถึงออฟฟิศก็ต่อว่าโอลิเวียยกใหญ่

บทสนทนาของทั้งคู่ตอนนี้น่าสนใจมาก ไรอันปฏิเสธภาวะบกพร่องของร่างกายตนเอง บอกว่าเป็นความผิดปกติที่ไม่รุนแรง แล้วเหวี่ยงใส่โอลิเวียที่กล้านัดเขาให้ไปเจอกับคนที่พิการกว่า “I’m not disabled. I still do better than a deaf guy.” ส่วนโอลิเวียก็แย้งว่า ถึงไมเคิลจะไม่ได้ยินแต่ส่วนอื่นดีมากนะ กล้ามแน่นและจู๋ใหญ่ เป็นตัวท็อปในวงการ ไรอันควรจะดีใจที่ได้รับโอกาสนี้ เลิกโวยวายเหมือนเด็กน้อยได้แล้ว

สองคนแสดงให้เห็นว่าความพิการมีมิติแบ่งแยกชนชั้น ความพิการที่ไม่แสดงหลักฐานทางกายภาพชัดเจนนั้นดีกว่า น่าสังเกตว่าบทบาทของโอลิเวียในซีรีส์ Special คล้ายคลึงกับเมเรดิทจากภาพยนตร์ The Family Stone ทั้งสองเป็นผู้หญิงผิวขาวยุคใหม่ ทำงานเก่ง อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เหมือนหัวก้าวหน้าแต่ความคิดล้าหลัง ผู้กำกับพร้อมใจกันหยิบยื่นบท ‘ศัตรู’ ผู้เสแสร้งแกล้งทำให้ผู้หญิงลักษณะแบบนี้เป็นตัวถ่วงความเจริญของคริพกับเควียร์

ซีรีส์เรื่อง Special สร้างปมขัดแย้งให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ผู้ชมถูกกระตุ้นให้สำรวจว่าระหว่างความพิการกับเพศสภาพสิ่งไหนรบกวนจิตใจไรอันมากกว่ากัน “I was in the closet about being gay, and then I was in the closet about being disabled, and now no more closets.” เขาปกปิดเพศสภาพของตนเอง แล้วก็ต้องมาหลอกคนอื่นเรื่องความพิการทางร่างกาย การเดินทางของตัวละครคือการเรียนรู้ยอมรับตัวตนและอยู่กับสิ่งที่สังคมมองเป็นความเบี่ยงเบนจากมาตรฐานถึงสองอย่างในคราวเดียว

ไรอันเปิดใจยอมรับความพิการได้ยากลำบากกว่าเรื่องเพศสภาพ จุดหนึ่ง ทุกคนรู้ เพื่อนร่วมงานรู้ แฟนคลับรู้ ไรอันเป็นเกย์ ไม่ใช่สิ่งที่น่าละอายสำหรับเขาอีกต่อไป ฉากหนึ่งที่ไรอันมีเพศสัมพันธ์กับชายหนุ่มขายบริการ เขาเคอะเขินตอนถอดเสื้อผ้าเปิดเผยร่างกาย ความเปลือยเปล่าบ่งชี้ความเบี่ยงเบนจากค่ามาตรฐานและแสดงความเปราะบางทางอารมณ์ของตัวละครเป็นอย่างดี เขาไม่อาจหลบซ่อนได้อีกต่อไป

การ come out ไม่ได้โฟกัสที่การเปิดเผยเพศสภาพของไรอัน แต่ไปเน้นการ come out ความพิการเสียมากกว่า เหตุการณ์ที่ผลักดันให้ไรอันประกาศความบกพร่องทางร่างกายให้เพื่อนร่วมงานทราบคือตอนชายหนุ่มที่เขาแอบชอบนั่งลงผูกเชือกรองเท้าให้ หนังจำลองฉากซินเดอเรลลาเบา แต่เป็นเวอร์ชั่นกระอักกระอ่วนไม่ชวนฟินเท่าไหร่ ไรอันรู้สึกว่าเจ้าชายช่วยเหลือเขามากเสียจนรู้สึกผิดที่โป้ปดมาตลอด ผลักเจ้าชายหัวทิ่ม แล้ววิ่งโขยกเขยกหนีไป

การใช้รองเท้ายืนยันตัวตนเป็นอะไรที่คลาสสิก มีมาตั้งแต่เทพนิยายซินเดอเรลลา พ่อมดแห่งออซ จนมาถึงซีรีส์เรื่องนี้ ชายหนุ่มช่วยผูกเชือกรองเท้าทำให้ไรอันตระหนักรู้ว่าผู้อื่นรักเขามากกว่าที่เขารักตัวเอง คนที่มีปัญหากับความพิการมากที่สุดคือตัวเขาเอง ดังนั้นไรอันจึงเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ตัวเองก่อน หากอยากได้ความจริงใจจากผู้คนรอบข้าง เขาต้องซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกนึกคิดของตัวเองก่อนถึงจะยุติธรรมกับทุกฝ่าย

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เพื่อนคู่คิดที่อยู่ข้างกายเกย์ที่มีความบกพร่องทางร่างกายทั้งในภาพยนตร์เรื่อง The Family Stone และซีรีส์ Special เป็นตัวละครผิวสี แท็ดมีหนุ่มผิวสีเป็นคู่สมรส ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาในเมืองบอสตันและวางแผนจะรับอุปการะบุตรร่วมกัน ส่วนไรอันมี ‘คิม’ สาวพลัสไซส์ผิวสีเป็นเพื่อนคู่คิดคอยให้คำปรึกษา สื่อว่าคนที่แปลกแยกในสังคม ไม่ว่าจะด้วยเหตุด้านเชื้อชาติ เพศสภาพ ทุพพลภาพ สามารถเข้าใจกันได้ดี

ความหลากหลายทางเพศไม่ได้ยืนแยกอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไปในปัจจุบัน ความสลับซับซ้อนสร้างความสวยงาม เพิ่มเฉดสี และขับเคลื่อนให้การศึกษาเรื่องนี้พัฒนาก้าวหน้าต่อไปไม่หยุด

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นักรบ มูลมานัส

ผู้เรียกตนเองว่านักวาดภาพประกอบ แต่ไม่ได้วาดภาพขึ้นมาเอง พยายามจะเป็นศิลปินบ้าง นักเขียนบ้าง