จะรักชาติหรือเชิดชูเพศสภาพ ความปกติใหม่ของอุดมการณ์ชาตินิยมแบบรักร่วมเพศ (homonationalism)

Highlights

  • คอลัมน์ Life of Pride ประจำเดือนนี้พาไปสำรวจคำจำกัดความของชาตินิยมแบบรักร่วมเพศ (homonationalism) ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ภายหลังวินาศกรรม 9/11
  • พันธมิตรของคนผิวสีกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศระหว่างการขับเคลื่อนของขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ในปี 1955-1968 และเหตุผลการสิ้นสุดความสัมพันธ์ในเวลาต่อมา
  • รวมถึงประเด็นการกดทับเพศสภาพให้เป็นซับเซตที่สำคัญน้อยกว่าชาติพันธุ์ด้วยวาทกรรม 'ไม่ว่าจะเพศไหน ขอเพียงให้เป็นคนดีของสังคม'
  • และบทวิเคราะห์หนังเรื่อง พรางชมพู กะเทยประจัญบาน ของกิตติกร เลียวศิริกุล และ The Business of Fancydancing ของ Sherman Alexie รวมทั้งซีรีส์ Goodness Gracious Me ของช่อง BBC

เชื้อชาติกับเพศสภาพมีความสัมพันธ์เกาะเกี่ยวกันมานาน ในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงระหว่างปี 1955-1968 เกย์และเลสเบี้ยนจำนวนมากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ร่วมเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันของคนผิวสี รับบทบาทหลายระดับตั้งแต่มดงานตัวเล็กไปจนถึงตำแหน่งหัวหน้า

สมการความสัมพันธ์ของคนภายในกลุ่มน่าสนใจมาก ตอนนั้นเป็นยุคก่อน Stonewall riots เกย์และเลสเบี้ยนบางคนเลือกเก็บงำเพศสภาพของตน ไม่เปิดเผยให้เพื่อนร่วมขบวนการทราบ แถมยังคิดลบต่อการเป็นคนรักเพศเดียวกันด้วย ในขณะเดียวกันเกย์และเลสเบี้ยนผิวขาวบางคนเข้าร่วมต่อสู้เพราะเข้าใจอารมณ์ของคนผิวสีที่ถูกกดขี่ มีประสบการณ์ร่วมในฐานะพลเมืองชั้นสองในสังคมเหมือนกัน

แต่ว่าเกย์และเลสเบี้ยนผิวสีที่จอยกรุ๊ปกลับรู้สึกอึดอัด พวกเขาถูกกดขี่ทั้งเรื่องสีผิวและเพศสภาพ โดนเหยียดในเหยียด พอมารวมกลุ่ม ขบวนการต่อสู้เหมือนเรียกร้องความเท่าเทียมของเชื้อชาติเพียงอย่างเดียว แล้วละเลยประเด็นเพศสภาพ เกิดคำถามว่าความเปลี่ยนแปลงควรเกิดขึ้นทีละจุดหรือพร้อมกันทั้งระนาบ

กล่าวได้ว่าการรวมตัวกันในขบวนการสิทธิพลเมืองเป็นปฏิบัติการเฉพาะกิจ รวบรวมชนกลุ่มน้อยให้ได้มากสุดเพื่อช่วงชิงอำนาจการต่อรอง แต่ละกลุ่มมีวาระและวัตถุประสงค์ของการต่อสู้ยิบย่อยต่างกันไป เมื่อพบว่าเรือลำใหญ่ไม่ตอบโจทย์ ชนกลุ่มน้อยก็เริ่มปลดเรือชูชีพแยกย้ายกัน ตอนนั้นเรียกว่า lifeboat politics หนึ่งในกลุ่มที่แยกออกไปคือเกย์และเลสเบี้ยน

เชื้อชาติกับเพศสภาพคือสองสิ่งที่มีความสำคัญเท่ากัน เมื่อเพศสภาพถูกบีบให้เป็นซับเซตรองอยู่ภายใต้เชื้อชาตินานเข้าจึงสร้างความลำบากใจให้เกย์และเลสเบี้ยน เป็นที่มาของการแยกวง ซีรีส์เรื่อง Goodness Gracious Me ที่ออกอากาศทาง BBC ช่วงปี 1998-2001 นำประเด็นนี้มาสร้างเป็นตลกจบในตอนเสียดสีเรื่องชาตินิยม

ซีรีส์มีเนื้อหาเกี่ยวกับปมขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมเอเชียใต้กับบริบทของอังกฤษสมัยใหม่ มีอยู่ตอนหนึ่งที่ลูกชายของครอบครัวชาวอินเดียพาแฟนหนุ่มผิวขาวมาเปิดตัวกับพ่อแม่ ตอนเดินเข้าประตูมาพ่อกับแม่ก็แซวว่าพากันไปจีบหญิงมา ฝั่งลูกชายพยายามบอกใบ้เรื่องความสัมพันธ์เชิงคู่รัก พ่อบอกไม่เห็นแปลก ผู้ชายอยู่บ้านเดียวกันก็เหมือนทหารอยู่ในกองร้อย

พูดอ้อมไปอ้อมมาจนสุดท้ายลูกชายกับแฟนทนไม่ได้ หลุดปากออกไปว่าเป็นเกย์ พ่อแม่ถึงกับเดินหนีด้วยความผิดหวัง ตบหน้าลูกเรียกสติไปคนละหนึ่งฉาด เสียใจที่ลูกเป็นเกย์ก็แค่ส่วนหนึ่ง แต่ที่โกรธกว่าคือทำไมลูกไม่หาแฟนเป็นหนุ่มอินเดีย (You could have found a nice Indian boy!) ไปคว้าผู้ชายผิวขาวเข้าบ้านอย่างนี้รับไม่ได้ แฟนหนุ่มถึงกับเกาหัว ไม่คาดคิดว่าจะเจอปฏิกิริยาตอบโต้เช่นนี้

หนังอีกเรื่องที่แสดงว่าเชื้อชาติสำคัญกว่าเพศสภาพได้แก่ The Business of Fancydancing ของนักเขียนและผู้กำกับ Sherman Alexie ถ่ายทอดเรื่องราวของเกย์เชื้อสายอเมริกันอินเดียน (American Indian) ที่ทิ้งบ้านเกิดไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของคนผิวขาวจนประสบความสำเร็จเป็นนักกวีที่มีชื่อเสียงและมีแฟนเป็นชายผิวขาว

ครั้งหนึ่งเขาตัดสินใจบอกยายว่าเป็นเกย์ ยายนิ่งมาก ไม่แสดงอาการโกรธหรือเสียใจ พร้อมทั้งเล่านิทานเปรียบเทียบว่าครั้งหนึ่งเคยเลี้ยงไก่ แล้วไก่เป็นเกย์ เชิดใส่แม่ไก่ตัวเมีย ป้ออยู่แต่กับไก่ตัวผู้ ยายบอกไม่เห็นเป็นไรเลยว่าจะเป็นไก่แบบไหน ไก่ก็คือไก่ หลานของเธอไม่ว่าจะมีเพศสภาพแบบไหน ขอแค่อย่าลืมพื้นเพความเป็นคนพื้นเมือง

Seymour ขอบคุณที่ยายยอมรับและรักเขาในแบบที่เป็น แต่รู้สึกว่าชีวิตยังไม่สมบูรณ์ โหยหาบางอย่างที่ขาดไป จึงออกผจญภัยในโลกกว้าง ตอนอยู่ในเขตสงวนสำหรับอเมริกันอินเดียนพวกเพื่อนเชิดชูชาติพันธุ์ละเลยเพศสภาพของเขา พอเข้าไปอยู่ในสังคมอเมริกันที่แวดล้อมด้วยคนผิวขาวเขาก็คิดถึงสายใยของอเมริกันอินเดียน หนังแสดงความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์กับเพศสภาพ สองสิ่งอยู่ร่วมกันด้วยความเสมอภาคยากเหลือเกิน

หนังสร้างอุปมาอุปไมยที่ตัดสินใจยาก ไม่ว่าซีย์มัวร์จะเลือกเพื่อนหรือแฟนก็ต้องยอมเสียอีกฝั่งหนึ่งไป เป็นความลังเลใจเดียวกันกับตอนที่เกย์และเลสเบี้ยนแยกตัวออกจากขบวนการสิทธิพลเมืองเพื่อมาริเริ่มการเคลื่อนไหวทางสังคมของตนเองที่เน้นความเสมอภาคทางเพศ ประสบการณ์ก่อนหน้าสอนให้รู้จักวิธีสร้างแรงกระเพื่อม ก่อให้เกิดการตระหนักรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นโยบายการต่อสู้ของกลุ่มถูกกำหนดโดย LGBT ผิวขาวชนชั้นกลาง เพื่อประโยชน์ของ LGBT ผิวขาวชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งปลายปี 1970s เริ่มเกิดความตึงเครียดภายในกลุ่ม ปรากฏการณ์ ‘แหก’ มีให้เห็นอยู่เนืองๆ ครั้งหนึ่ง Audre Lorde กวีเลสเบี้ยนนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง Mary Daly นักคิดเลสเบี้ยนสายสตรีนิยมสุดโต่ง

ในจดหมายฉบับนี้ ลอร์ดกล่าวว่าเลสเบี้ยนผิวขาวอย่างดาลีชอบใช้ผู้หญิงผิวสีเป็น ‘หมากเดินเกม’ เรียกร้องความสนใจ ป่าวประกาศให้สังคมรู้ว่าผู้หญิงผิวสีถูกกระทำย่ำยี สมควรได้รับความช่วยเหลือ พอสปอตไลต์ส่องมาก็ยื่นข้อเสนอต่าง ที่คิดเองเออเอง ไม่เคยถามผู้หญิงผิวสีสักนิดว่าต้องการอะไร ลอร์ดบอกว่าเลสเบี้ยนผิวขาวต้องเลิกพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกแบบนี้ แล้วหันมาคุยและฟังกันอย่างจริงจัง

เพศสภาพและเชื้อชาติผลัดกันช่วงชิงพื้นที่การต่อสู้เรียกร้องในสหรัฐอเมริกานับแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งปี 2000 ที่เกิดวินาศกรรม 9/11 การโจมตีแบบพลีชีพทางอากาศของผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ทำให้กลุ่มชาตินิยมกับผู้มีความหลากหลายทางเพศหันมาญาติดี จับมือร่วมกันต่อต้านการกระทำของผู้ก่อการร้าย

LGBT ถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมสร้างชาติอีกครั้ง ไม่ว่าคุณจะมีเพศสภาพไหนก็ตาม ขอให้มีสำนึกรักชาติเป็นพื้นฐาน จากก่อนหน้าที่ตีกันเองไปมา เมื่อมีศัตรูเป็นผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์เหมือนกัน นักคิดและนักการเมืองผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น Florian Philippot, Pim Fortuyn และ Milo Yiannopoulos ก็หันมาสนับสนุนการเมืองฝ่ายขวาอนุรักษนิยมจัด

การสลับขั้วทางความคิดนี้เป็นความปรกติใหม่ (new normal) ที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงต้นศตวรรษที่ 21 มีชื่อเรียกว่า ‘ชาตินิยมแบบรักร่วมเพศ’ (homonationalism) ในหนังสือเรื่อง Terrorist Assemblages: Homonationalism in Queer Times ของ Jasbir Puar วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ 9/11 สร้างจุดเปลี่ยนผ่านให้กับการเมืองเรื่องเพศ ก่อนหน้านี้ LGBT ถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของความตายตลอดช่วงปี 1980s-1990s ว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด HIV/AIDS

พอเริ่มศตวรรษที่ 21 บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ จะเห็นว่าการเรียกร้องสิทธิสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันและสิทธิการเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวหลากหลายทางเพศล้วนถูกผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงนี้ LGBT สามารถร่วมสร้างชาติให้มั่นคงได้ถ้าหันมาให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวและคำนึงถึงผลประโยชน์ความเป็นปึกแผ่นของชาติให้มาก

จะด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ตามแต่ ประเทศไทยเองก็มีภาพยนตร์เนื้อหาเกี่ยวกับชาตินิยมแบบรักร่วมเพศออกมาในปี 2002 เรื่อง พรางชมพู กะเทยประจัญบาน ของกิตติกร เลียวศิริกุล เป็นเรื่องราวของเกย์และกะเทย 6 คนที่บังเอิญอยู่ในเหตุการณ์ระทึกขวัญเครื่องบินตกบริเวณชายแดนไทย-พม่า โชคดีรอดชีวิตมาได้ แต่ก็พลัดไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลทหารของพม่า

ฉากของหนังส่งเสริมแก่นเรื่องเป็นอย่างดี พื้นที่ชายแดนแสดงความก้ำกึ่งระหว่างไทยกับพม่า เปรียบเหมือนเพศสภาพของเกย์และกะเทย 6 คนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเพศชายและหญิง นอกจากนี้ยังเข้ากันกับสภาพของชนกลุ่มน้อยที่จะมองว่าเป็นพลเมืองของพม่าหรือไม่ก็ได้ ตามทฤษฎีแนววิพากษ์ พื้นที่กึ่งกลางถูกตีความเป็นสิ่งที่ดี มอบอิสรภาพว่าเราสามารถเลือกซ้ายหรือขวาก็ได้

แต่ใน พรางชมพู กะเทยประจัญบาน ผู้กำกับตีความ ‘กึ่งกลาง’ ใหม่ว่าเป็นพื้นที่แห่งสงครามและความไม่สงบ ยิงกันโครมคราม ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้ง 6 คนและชนกลุ่มน้อยในเรื่องไม่ได้อยู่ตรงกลางด้วยความผ่อนคลาย แต่ถูกกดดันให้เลือกข้าง ฉากจบสรุปปมขัดแย้งนี้ได้ดีทีเดียว ทั้งสองฝ่ายอยู่กลางลำน้ำขนาบสองข้างด้วยทหารไทยและพม่ายืนถือปืน ตัวละครกะเทยตะโกนร้องขอทางฝั่งไทยว่าอย่ายิง เธอเป็นคนไทย

สุดท้ายชนกลุ่มน้อยต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนต่อไป แต่กะเทยรอด แถมได้ไปให้สัมภาษณ์ออกรายการทีวี โดยกล่าวว่าพวกเธอดวงซวยที่เกิดมา ‘น้อยกว่าคนอื่น’ ถึงแม้จะโชคร้ายที่เกิดมา ‘ผิดเพศ’ แต่พวกเธอก็โชคดีที่เกิดมา ‘ถูกที่’ ใช้วาทกรรมชาตินิยมกดทับเพศสภาพเต็มที่ การเกิดเป็นเกย์และกะเทยสัญชาติไทยนั้นดีกว่าเป็นชนกลุ่มน้อยรักต่างเพศ ควรภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นคนไทย

ฉากที่หยาวและสมโชคจะสานสัมพันธ์ลึกซึ้งแล้วนั่งคุยกัน มีการเปรียบเทียบว่าสมโชคเป็นกะเทย เลวร้ายสุดอย่างมากก็แค่โดนไล่ออกจากบ้าน ส่วนหยาวโชคร้ายกว่า ตั้งแต่เกิดมาก็ถูกทหารไล่ยิงเลย ต้องใช้ชีวิตเร่รอน หยาวถามสมโชคว่าเป็นกะเทยทำไม สมโชคไม่พอใจว่าเป็นคนชายขอบเหมือนกันมาเหยียดกันเพื่ออะไร มีฟาดใส่กันเล็กน้อย ฉากนี้สะท้อนอคติทางสังคมและความเหลื่อมล้ำระหว่างชาติพันธุ์กับเพศสภาพชัดเจนมาก เป็นบทสนทนาสั้น ที่ทรงพลังพอควรเลย

เกย์และกะเทย 6 คนนี้ก็เหยียดกันเองภายในกลุ่ม เธอจะมาพูดว่าเป็นกะเทยเหมือนกันไม่ได้ ฉันแปลงแล้วและไม่มีลูกกระเดือก สถานภาพทางเพศไม่เท่ากัน ตัวละครสมหญิงติดอยู่กับการจำแนก ‘กล่องเพศ’ ด้วยการตัดสินจากลักษณะทางกายภาพ หนังเสียดสีการแบ่งแยกชนชั้นในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ระหว่างทหารรสนิยมรักต่างเพศเหยียด ชนกลุ่มน้อยของพม่าเหยียด เหยียดกันเองในกลุ่ม LGBT อย่างไหนเจ็บกว่ากัน

ในตอนจบเกย์และกะเทยทั้ง 6 คนสามารถก้าวข้ามอคติทางเพศที่มีแก่กันได้เนื่องจากทั้งหมดต่างรักชาติ ท่ามกลางความแตกต่างทุกคนเป็นคนไทย รักชาติไทยเหมือนกัน สัญลักษณ์ผืนธงชาติไทยปลิวไสวกระแทกตา อุดมการณ์แบบนี้แหละที่จะช่วยพยุงให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปได้ อย่าโฟกัสความแตกต่างหากให้เชื่อมความสัมพันธ์ผ่านความเหมือน อวยชาตินิยมสุด

ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นเพศไหนก็ขอให้เป็นคนดีของสังคมและรักชาติ ดูเหมือนจะเป็นวาทกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานในช่วง 10-20 ปีให้หลัง แต่การครอบงำหยั่งรากลึกเสียเหลือเกิน

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นักรบ มูลมานัส

ผู้เรียกตนเองว่านักวาดภาพประกอบ แต่ไม่ได้วาดภาพขึ้นมาเอง พยายามจะเป็นศิลปินบ้าง นักเขียนบ้าง