LGBT สูงวัยไม่โอเค เมื่อต้องปกปิดตัวตนและรักษาระยะห่างทางสังคม

Highlights

  • สำรวจจำนวนประชากร LGBT ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในประเทศสหรัฐอเมริกา และพิจารณาแรงจูงใจที่ทำให้ LGBT ยุคเบบี้บูมเมอร์เหล่านี้ตัดสินใจปกปิดอัตลักษณ์ทางเพศของตนอีกเมื่อแก่ตัวลง
  • เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนผู้หญิงจากหนัง Thelma & Louise (1991) กับหญิงรักร่วมเพศสองคนในภาพยนตร์เรื่อง Cloudburst (2011) เพื่อศึกษาแนวทางการเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคมของผู้หญิงทั้งในอดีตและปัจจุบันว่าเหมือนหรือต่างกันยังไง
  • วิเคราะห์ปัจจัยด้านสังคม ศาสนา และเศรษฐกิจ ที่บีบบังคับให้คู่รักเกย์ในภาพยนตร์เรื่อง Love Is Strange (2014) แยกจากกัน และความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาระยะห่างทางสังคม
  • การประยุกต์ใช้การมองแบบเควียร์ (queer gaze) เพิ่มมุมมองทางเลือกกับการตีความตัวบททางสังคม

หัวข้อหนึ่งที่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตกให้ความสนใจ คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ข้อมูลจาก American Psychological Association บ่งชี้ว่า ปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกามีประชากรที่มีอายุ 65 ปีหรือแก่กว่าจำนวน 52 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2.4 ล้านคนแสดงตัวว่าเป็น LGBT ตัวเลขนี้ยังไม่รวมคนที่ไม่สะดวกเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2060 จำนวน LGBT ผู้สูงวัยในอเมริกาจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคน และถ้านับรวมผู้ที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนทางเพศชัดเจน ตัวเลขอาจสูงถึง 20 ล้านคน ประชากรเหล่านี้เป็น LGBT ยุคเบบี้บูมเมอร์ผู้ถูกละเลย ไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบระเบียบเกี่ยวกับพฤติกรรมความต้องการของพวกเขาที่อาจแตกต่างออกไปยามแก่เฒ่า

แต่มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่แจกแบบสอบถามให้ LGBT อายุ 50-95 ปี จำนวน 2,560 คนจากทั่วประเทศ ผลการวิจัยปรากฏว่าคนเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา สูงกว่าคนรักต่างเพศที่อายุไล่เลี่ยกัน LGBT สูงวัยมีความเครียดมากกว่า กลัวถูกเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นตามสถานพยาบาลหรือบ้านพักคนชราเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ

คนที่มีความสัมพันธ์รักต่างเพศอาจหวังพึ่งลูกหลานเมื่อยามแก่เฒ่า แต่ LGBT ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนหรือคู่ชีวิตรุ่นราวคราวเดียวกัน พอต่างคนต่างแก่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็เกิดความกังวลว่าใครจะดูแล กลัวถูกทอดทิ้ง บ้านพักคนชราจึงเป็นทางออกที่ดี 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ LGBT ผู้สูงวัยในอเมริกาเลือกปกปิดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเมื่อพิจารณาหาบ้านพักคนชรา เนื่องจากกลัวไปสารพัดอย่าง ทั้งการปฏิเสธหรือการเลือกปฏิบัติ

การปกปิดตัวตนของ LGBT สูงวัยเพราะไม่อยากเป็นเป้าความสนใจส่งผลกระทบต่อเนื่อง พวกเขาต้องเผชิญกับบทสนทนาชวนกระอักกระอ่วนใจ เช่น การชวนคุยเรื่องสามีหรือภรรยา บุตรหลาน เหล่านี้เป็นหัวข้อชวนอึดอัด ไม่ต่างจากบริบทสังคมไทยที่พอรวมญาติกันแล้ว LGBT เจอคำถามว่าเมื่อไหร่จะแต่งงาน บ้านพักคนชราในอเมริกาหันมาเอาใจใส่ประเด็นที่สร้างความอ่อนไหวเช่นนี้มากขึ้น

ที่น่าเศร้าคือ LGBT ยุคเบบี้บูมเมอร์ใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศพึงได้รับอย่างเท่าเทียม อยู่มาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่การจลาจล Stonewall riots จนถึงการเรียกร้องสิทธิการแต่งงานของเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมายในทั้ง 50 รัฐทั่วอเมริกา กลุ่มนี้เป็น LGBT รุ่นบุกเบิกของทุกสิ่งทุกอย่าง บั้นปลายชีวิตนึกว่าจะสบาย กลับกลายเป็นต้องมาต่อสู้เรื่องการเลือกปฏิบัติต่อ LGBT ผู้สูงอายุอีก

มีภาพยนตร์ 2 เรื่องที่เสนอประสบการณ์ของ LGBT ผู้สูงอายุอย่างน่าสนใจ ได้แก่ Cloudburst ของผู้กำกับ Thom Fitzgerald ที่ดัดแปลงจากบทละครของเขาเอง หนังสัญชาติแคนาดาอเมริกันเรื่องนี้ออกฉายในปี 2011 อีกเรื่องหนึ่งชื่อ Love Is Strange หนังสัญชาติฝรั่งเศสอเมริกันของผู้กำกับ Ira Sachs เผยแพร่ในปี 2014 ทั้งสองเรื่องเป็นภาพยนตร์แนวโรแมนติก-ดราม่า

Cloudburst ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ของหญิงรักร่วมเพศสองคนชื่อ Stella กับ Dotty ที่ใช้ชีวิตร่วมกันมา 31 ปี สเตลลาพูดในตอนหนึ่งว่า อยู่กับดอตตี้ตั้งแต่เธอตัวผอม จนบัดนี้ตัวอ้วนกลมและตาเริ่มมองไม่เห็น ในวัย 70 กว่าสเตลลาเองก็เริ่มหูหนัก แต่ร่างกายยังคล่องแคล่ว ทั้งสองอยู่ด้วยกันที่บ้านของดอตตี้ในรัฐเมน

หลานสาวของดอตตี้เป็นห่วงยาย จึงหลอกล่อให้ดอตตี้เซ็นเอกสารมอบสิทธิโดยชอบธรรมให้เธอตัดสินใจแทน แล้วก็พาดอตตี้ไปไว้ที่บ้านพักคนชรา ไม่ฟังเสียงคัดค้านจากดอตตี้และสเตลลา เพราะคิดว่านี่เป็นทางออกที่ดีที่สุด สเตลลาแอบย่องพาดอตตี้หนี แล้วขับรถข้ามชายแดนไปแคนาดาเพื่อจดทะเบียนสมรส หวังครอบครองสิทธิในการดูแลดอตตี้  หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นก่อนศาลสูงสุดของอเมริกาจะมีคำตัดสินเห็นชอบให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ในเดือนมิถุนายนปี 2015

ความพิเศษของ Cloudburst คือการเลียนแบบโครงเรื่องของภาพยนตร์คลาสสิกจากยุค 90s เรื่อง Thelma & Louise ที่ผู้หญิงไม่ได้รับความยุติธรรมทางสังคม ถูกผู้ชายกดขี่ ทำให้ตัวละคร Thelma กับ Louise หลบไปผ่อนคลายความตึงเครียดช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ จัดโร้ดทริปเพื่อนหญิงพลังหญิง จนเป็นเหตุให้เข้าไปพัวพันกับการก่ออาชญากรรมหลายคดี

ทอม ฟิตซ์เจอรัลด์ ผู้กำกับ สอดแทรกความแตกต่างระหว่างคู่เทลมา-ลุยส์ และสเตลลา-ดอตตี้ ไว้หลายจุดเพื่อเสียดสีสังคมอย่างเจ็บแสบ เทลมากับลุยส์เป็นหญิงสาวในวัยที่แรงปรารถนาลุก

โชติช่วง พร้อมเดินหน้าบวกกับปัญหาทุกอย่าง ไม่เกรงกลัว ในทางกลับกันสเตลลากับดอตตี้เป็นคุณยายที่ควรได้นั่งชิลล์ มีความสุขกับชีวิต แต่มีเหตุให้ยักแย่ยักยันพากันออกโร้ดทริปทั้งที่สภาพร่างกายไม่เอื้อ

รถยนต์เป็นสัญลักษณ์แทนสังขารของตัวละครในหนังทั้งสองเรื่อง เทลมากับลุยส์ขับรถเปิดประทุนคันใหญ่โฉบเฉี่ยว สเตลลากับดอตตี้ขับรถกระบะบุโรทั่งสภาพพร้อมพัง Cloudburst เหมือนจะสื่อว่าวันเวลาผ่านไป 20 ปี แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีขึ้น ผู้หญิงยังต้องเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมจากสังคมเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือสภาพร่างกายที่โรยรา

Thelma & Louise กับ Cloudburst ยังคล้ายคลึงกันอีกอย่าง มีตัวละครชายหนึ่งเดียวโบกรถขอร่วมโร้ดทริป ในเรื่อง Thelma & Louise ตัวละคร J.D. บริหารเสน่ห์ของเพศชาย อ่อยขอติดรถไปด้วย แสร้งว่าสุภาพ แท้จริงแล้วรอโอกาสที่สองสาวอ่อนแอหวังปอกลอกขโมยเงิน เป็นผู้ชายที่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ (Thelma & Louise ถูกวิจารณ์ว่าเสนอภาพแทนความเป็นชายในแง่ลบเกินไป อันนี้แล้วแต่มุมมอง)

ใน Cloudburst ทั้งสเตลลาและดอตตี้ก็เจอชายหนุ่มชื่อ Prentice โบกรถขออาศัยติดไปแคนาดาด้วย เริ่มแรกเขาขยับกางเกงลงต่ำโชว์กล้ามท้อง Apollo’s belt คิดว่าป้าๆ ต้องตาลุกแน่ จนสเตลลาบอกว่า เก็บเถอะ อ่อยผิดคนแล้ว ส่วนดอตตี้มองอะไรไม่ค่อยเห็น หักมุมไปอีก ล้อเลียนว่าเสน่ห์ความเป็นชายกล้ามแน่นไม่ใช่ว่าจะส่งผลสำเร็จ สร้างความพึงพอใจในทุกโอกาส

ทั้งสามคนนั่งยัดกันเข้าไปในตอนหน้าของรถกระบะ ทำให้พื้นที่แออัดมากกว่าในเรื่อง Thelma & Louise ตัวละครไม่มีพื้นที่ส่วนตัว เพรนทิซเองก็ต่างจาก J.D. ในแง่ที่ว่าเขากำลังตามหาความฝันและยังอ่อนต่อโลกมาก เพรนทิซเป็นฝ่ายถูกสเตลลาแกล้ง สร้างเสียงหัวเราะหลายครั้งในหนัง เขาเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ ซึมซับบทเรียนชีวิตที่สำคัญมากมายจากสเตลลาและดอตตี้ ในขณะเดียวกันก็เป็นกาวใจช่วยประสานระหว่างเธอทั้งสอง เปิดมุมมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับเลสเบียนไม่จำเป็นต้องขมชื่น เห็นแก่ตัว ชอบตัดสินเสมอไป

Love Is Strange เล่าเรื่องราวความรักของชายรักร่วมเพศ Ben กับ George ที่ใช้ชีวิตผ่านทุกข์และสุขด้วยกันมานาน 39 ปีในมหานครนิวยอร์ก ตอนเปิดเรื่องทั้งสองคนตัดสินใจแต่งงานกัน ส่งผลให้จอร์จถูกเชิญออกจากงานสอนดนตรีในโรงเรียนคาทอลิกแห่งหนึ่ง ก่อนหน้าทุกคนรวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียนทราบดีว่าเขาเป็นเกย์ แต่ไม่มีใครพูดถึง พิธีแต่งงานคือการยืนยันอย่างเป็นทางการ เปิดเผยต่อสาธารณะ โรงเรียนทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้ แสดงให้เห็นข้อจำกัดของการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมอเมริกันว่ายังมีเงื่อนไข

พอสูญเสียหลักประกันความมั่นคงด้านการงาน เบ็นและจอร์จประสบวิกฤตทางการเงิน ตัดสินใจขายที่พักกลางกรุงนิวยอร์กเพื่อเอาเงินมาหมุน ทำทุกทางให้ความสัมพันธ์ไปต่อได้ และหาทางลดค่าใช้จ่ายด้วยการแยกกันอยู่ เบ็นไปอาศัยอยู่กับครอบครัวของหลานชายและภรรยาย่านบรุกลิน โดยแชร์ห้องนอนกับเด็กวัยรุ่น ลูกของหลานชายชื่อ Joey ส่วนจอร์จย้ายไปอยู่กับเพื่อนคู่รักเกย์ที่เป็นตำรวจ ทำงานไม่เป็นเวลา แถมยังชอบเปิดตี้เมื่อมีเวลาว่าง ทั้งสองคนตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทว่าก็ต้องยอมอดทน

จุดเด่นในการดำเนินเรื่องของ Love Is Strange คือการล้อเลียนเสียดสี (irony) พอมีระยะห่างกัน เบ็นกับจอร์จเหมือนต้องกลับมาเดตกันใหม่ โทรหากัน แอบคุยกันยามว่าง หาเวลาไปกินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง ตามที่ต่าง กลางกรุงนิวยอร์ก เดินมาส่งอีกฝ่ายที่หน้าบ้าน แลกจูบลาก่อนแยกย้ายกันไป

ที่เล่ามาอาจฟังดูโรแมนติกถ้ามันเกิดขึ้นกับคู่รักที่กำลังทำความรู้จักและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่สำหรับคู่ที่อยู่ด้วยกันมานานเกือบ 40 ปี แล้วต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในความสัมพันธ์ช่างเป็นอะไรที่น่าเศร้า หลายครั้งเบ็นและจอร์จรู้สึกเวทนาชะตากรรมของตัวเอง น้อยใจว่าที่ต่อสู้ร่วมกันมาหลายสิบปีสุดท้ายแทบไม่มีความหมายอะไรเลย ไม่การันตีความมั่นคงในชีวิต ไม่สร้างเสริมการยอมรับทั้งจากสังคมและศาสนา

ผู้กำกับขยี้ย้ำความย้อนแย้งนี้ด้วยการใช้มหานครนิวยอร์กเป็นฉากของหนัง ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของเมืองใหญ่ ผู้คนพลุกพล่าน แต่ชีวิตของเบ็นและจอร์จผ่านไปอย่างเชื่องช้า นั่งดูนาฬิกานับเวลาเป็นวินาทีกัน เบ็นเกาะติดหลานสะใภ้และเพื่อนของโจอี้ หลานสะใภ้ยุ่งด้วยเรื่องร้อยแปดพันเก้า แอบเหวี่ยงใส่เบ็นว่าว่างนักเหรอชอบมาชวนเธอคุย ส่วนโจอี้ก็หงุดหงิดที่เบ็นมาแย่งเวลาของเขากับเพื่อนไป

ฉากหนึ่งของหนัง Love Is Strange ที่สะเทือนอารมณ์มากคือตอนที่จอร์จนั่งนิ่งอยู่คนเดียวกลางปาร์ตี้ที่จัดขึ้นในห้องพักของคู่รักตำรวจ มีคนแปลกหน้ามาชวนคุย จอร์จตอบว่าเขาอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยากมีส่วนร่วม แต่ไม่มีที่ไป และทุกคนกำลังนั่งอยู่บนที่นอนของเขา (หมายถึงโซฟาในห้องนั่งเล่น) ความเป็นส่วนตัวของ LGBT สูงวัยถูกช่วงชิงลิดรอนไป ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนเกินของสังคม

นอกจากประเด็นเหล่านี้ ภาพยนตร์เรื่อง Cloudburst และ Love Is Strange ยังเล่าเรื่องผ่านการมองแบบเควียร์ (queer gaze) ได้อย่างลึกซึ้ง Laura Mulvey นักทฤษฎีภาพยนตร์แนวสตรีนิยมผู้มีชื่อเสียงในแวดวงการศึกษาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวไว้ว่าการมองแบบเควียร์เป็นสิ่งจำเป็นเพราะทำให้มนุษย์มองโลกอย่างมีมิติมากขึ้น หลุดจากการมองเป็นคู่แบบขั้วตรงข้าม ไม่จำกัดอยู่แค่มุมมองของผู้ชายหรือผู้หญิง และการมองแบบเควียร์ไม่ควรผูกติดกับการตีความเรื่องแรงปรารถนาทางเพศเสมอไป

อย่างในหนังเกย์ การมองแบบเควียร์ถูกนำมาใช้จับจ้องกล้ามท้องของชายหนุ่มว่ายั่วเพศ แต่ใน Cloudburst กับ Love Is Strange ใช้การมองแบบเควียร์ด้วยท่าทีต่างออกไป ตอนเบ็นขอให้เพื่อนของโจอี้ยืนเป็นแบบให้เขาวาดภาพ เขาเพ่งมองไปที่ร่างกายของเด็กหนุ่มด้วยความชื่นชมว่าวัยเยาว์ช่างงดงาม ไม่ได้สื่อถึงความต้องการอยากสัมผัสหรือความอิจฉาอยากครอบครอง ผู้กำกับจับภาพนิ่งของเด็กหนุ่มแล้วแพนกล้องให้เห็นภาพจากมุมสูงของมหานครนิวยอร์ก เปรียบเทียบความเยาว์วัยว่ามีชีวิตชีวาเหมือนเมืองที่ไม่เคยหลับ

ตอนดอตตี้เพ่งมองดูเพรนทิซเต้นไปกับแสงแดดอ่อนยามเช้า เธอเห็นเพียงแค่เค้าโครงร่างกาย ไม่เห็นรายละเอียด แต่สัมผัสได้ถึงความงดงามอ่อนช้อย การมองแบบเควียร์ของดอตตี้สื่อให้เห็นการชื่นชมวัยเยาว์เช่นกัน เธอผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว จำได้เพียงรางเลือนในปัจจุบัน แต่ตระหนักรู้ได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีและงดงาม ส่วนสเตลลาก็มองเพรนทิซแก้ผ้าวิ่งเล่นกับฝนด้วยความขบขัน การตีความแบบนี้เป็นทางเลือกของการมองแบบเควียร์ทั้งสิ้น เราไม่จำเป็นต้องมองสิ่งเดิมแบบเดิมเสมอไป

ส่วนผู้กำกับหนังทั้งสองเรื่องใช้การมองแบบเควียร์ผลักให้ตัวละครทบทวนและระลึกถึงความหลังที่ไม่มีวันย้อนกลับคืน แสดงช่วงเวลาที่ LGBT มีพลัง แรงปรารถนา ความมุ่งมั่นของวัยหนุ่มสาว ขัดแย้งกับสภาพปัจจุบันที่ LGBT สูงวัยต้องเผชิญ ทั้งความเสื่อมถอยของเรี่ยวแรงและกำลังใจ โทนของหนังเศร้ามาก แต่ตอนจบกลับสร้างความหวังอยู่ในที

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นักรบ มูลมานัส

ผู้เรียกตนเองว่านักวาดภาพประกอบ แต่ไม่ได้วาดภาพขึ้นมาเอง พยายามจะเป็นศิลปินบ้าง นักเขียนบ้าง