วันที่ 24 เมษายน 1980 ชาวเมืองซานฟรานซิสโกชื่อ Ken Horne ถูกส่งตัวไปยังศูนย์ป้องกันโรคติดต่อ เขามีอาการหน้ามืด วิงเวียน ร่างกายอ่อนแรง ผิวหนังมีจุดสีม่วงคล้ำหลายแห่ง ฮอร์นเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ HIV/AIDS ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านั้นเขามีเพศสัมพันธ์กับโสเภณีชายที่อาบอบนวดแห่งหนึ่งในมหานครนิวยอร์ก
เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่าฮอร์นเป็นมะเร็ง 6 เดือนต่อมาก็พบผู้ป่วยอาการแบบเดียวกันเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 41 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นชายรักชายที่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก สร้างความตื่นกลัวแก่สาธารณชน เพราะไม่ทราบสาเหตุของการระบาดและวิธีการป้องกัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV/AIDS จึงถูกละเลยแม้กระทั่งจากคนใกล้ชิด ซ้ำร้ายสถานพยาบาลก็ยังปฏิเสธการรักษา
สิ่งที่อันตรายพอกันกับโรคระบาดคือความกลัวซึ่งเกิดจากความไม่รู้และข้อมูลที่บิดเบือน ตอนแรกโรคระบาดนี้ถูกเรียกว่า GRID ย่อมาจาก gay-related immune deficiency หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เกิดกับเกย์ บางคนก็เรียกว่ามะเร็งเกย์ สังคมประณามเกย์ว่ามั่วเซ็กซ์จนเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด สร้างเหตุผลรองรับความชิงชัง
ก่อนหน้านั้นในปี 1970 นักวิชาการชื่อ Laud Humphreys ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Tearoom Trade: Impersonal Sex in Public Places ซึ่งศึกษาพฤติกรรมของชายที่มีเพศสัมพันธ์ทั้งแบบภายนอกและสอดใส่กับชายด้วยกันในห้องน้ำสาธารณะ ทั้งนี้ตอนเก็บข้อมูล ฮัมฟรีย์สปกปิดตัวตนและเหตุผลของการศึกษา ไม่ได้แจ้งข้อมูลที่จำเป็นให้ ‘ผู้ถูกวิจัย’ รับทราบ
หนังสือถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เพื่อนร่วมงานกว่าครึ่งค่อนภาควิชาลาออกเพราะทนมองหน้ากันต่อไปไม่ได้ หนังสือพิมพ์ The Washington Post สาปนักสังคมศาสตร์อย่างฮัมฟรีย์สว่าทำวิจัยยังไงให้ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
แม้ว่าผู้ถูกวิจัยส่วนใหญ่เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์จำแนกตัวเองว่าไม่ใช่ชายรักชาย พวกเขาตัดสินใจมีความสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวเพียงแค่นึกสนุกและได้ปลดปล่อย แต่หนังสือเล่มนี้ตอกย้ำภาพเหมารวมว่าเกย์มีเซ็กซ์สุดแปลกประหลาดและไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่ครองของตนเอง
งานวิจัยเชิงพฤติกรรมศาสตร์ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคที่ขยายวงกว้างขึ้นสร้างมลทินติดตัว (stigma) ถ้าเป็นเกย์จะถูกตีตราทันทีว่ามั่วเซ็กซ์และมีเชื้อ HIV/AIDS ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีการแก้ข่าวให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อย่างเช่นนายแพทย์ Lawrence Mass ที่เขียนอธิบายในบทความชื่อ Disease Rumors Largely Unfounded ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เกย์ New York Native ฉบับประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 1981 แมส ยืนยันว่ามะเร็งเกย์เป็นข่าวโคมลอย ไม่มีมูล ศูนย์ป้องกันโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกายังไม่ฟันธงว่าโรคระบาดนี้เกิดขึ้นกับเกย์เท่านั้น หนังสือพิมพ์ New York Native ก่อตั้งขึ้นเพื่อประมวลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ HIV/AIDS ระหว่างปี 1980-1997 แต่เมื่อภาพจำเกิดขึ้นแล้วก็แก้ไขลำบาก
Little Britain เป็น sketch comedy เรื่องตลกจบในตอนสั้น ๆ ออกอากาศทางช่อง BBC ใช้ตลกร้ายเสียดสีภาพเหมารวมของเกย์ผ่านตัวละคร Daffyd Thomas ได้เจ็บแสบดี เขาชอบมโนว่าตัวเองเป็นเกย์เพียงคนเดียวในหมู่บ้าน ‘I’m the only gay in the village.’ โทมัสไปขอรับการตรวจ HIV บุคลากรทางการแพทย์ซักประวัติแล้วพบว่าเขาไม่มีความเสี่ยง ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แต่โทมัสก็ยืนยันหนักแน่นว่าเขาอาจมีเชื้อ HIV เพราะเป็นเกย์
ข้ามมาฝั่งสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์เรื่อง Dallas Buyers Club ที่สร้างโดยใช้เค้าโครงจากชีวิตจริงของ Ron Woodroof เขาพบว่าตัวเองติดเชื้อ HIV/AIDS ช่วงปลายปี 1980 ตอนหมอแจ้งผลการตรวจและอธิบายความเป็นไปได้ของการติดเชื้อ วูดรูฟทั้งโกรธทั้งกลัวหมอเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นเกย์ ภาพตัด หูดับ ไม่ฟังคำอธิบายใดๆ
เพื่อนในวงเหล้าก็เชื่อแบบเดียวกัน พอเมาแล้วก็แซววูดรูฟว่าไปมีเซ็กซ์กับผู้ชายมา ที่บ้านเจอมือดีพ่นสีล้อเลียนบนฝาผนัง ตอนหมอแนะนำว่ามีการรวมกลุ่มของผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS เพื่อช่วยเหลือกันและกัน วูดรูฟปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเพราะคิดว่าในกลุ่มต้องมีแต่ชายรักชายแน่ๆ แสดงให้เห็นว่าในเวลานั้นสังคมยังขาดความตระหนักรู้เรื่อง HIV/AIDS
ผู้กำกับเลือกดึงความเป็นผู้ชายจัดในตัวคาวบอยจากรัฐทางตอนใต้ของอเมริกา ชอบปราบพยศวัวกระทิง ทำงานเป็นช่างไฟแมนๆ แล้วภาพสลับมาที่วันหนึ่งชายคนนี้ถูกเพื่อนล้อว่าเป็นตุ๊ด ทำเอาวูดรูฟคลั่งและสั่นคลอนไปต่อไม่ถูกเหมือนกัน เพราะตัวเองรังเกียจกลุ่มชายรักชายมาก รับไม่ได้จนต้องลากตัวเองไปห้องสมุดเพื่อหาข้อมูลมาล้มล้างคำสบประมาท พิสูจน์ว่าตัวเองติดเชื้อ HIV ด้วยสาเหตุอื่น กู้อีโก้กลับคืน
หากมองอีกมุมหนึ่งเกย์ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS คือเหยื่อของการบริหารงานล้มเหลวของรัฐบาล Ronald Reagan เรแกนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1981-1989 รัฐบาลของเขาพยายามซุกปัญหาโรคระบาดไว้ใต้พรม ไม่ศึกษาเพิ่มเติมและเปิดเผยข้อมูลให้กระจ่างแจ้ง ทำให้ผู้ติดเชื้อมากมายใช้ตัวเองเป็นหนูทดลองยาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ลองผิดลองถูกจนเสียชีวิตไปก็มาก
ในหนังเรื่อง Dallas Buyers Club นั้น วูดรูฟกล่าวโทษสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา (FDA) ว่ารับใต้โต๊ะจากบริษัทยา ผูกขาดนำยาต้าน AZT เพียงชนิดเดียวมาทดลองใช้กับผู้ป่วยโดยไม่สนว่าอาจมียาตัวอื่นที่ใช้รักษาโรคนี้ได้ มุ่งแสวงหาผลกำไร ละเลยชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมือง
เมื่อรัฐเอาแต่ได้ วูดรูฟจึงดิ้นรนหาทางรอดด้วยการพึ่งตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ขับรถข้ามชายแดนไปเม็กซิโกเพื่อลองยาชนิดอื่น พอเห็นว่ายาส่งผลดี สุขภาพของเขาฟื้นตัวต่อเนื่อง วูดรูฟก็กลับมาตั้งสมาคมช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS คนอื่น เริ่มแรกก็เป็นการค้าขาย แต่ตอนท้ายของหนังวูดรูฟช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
จุดเปลี่ยนผ่านของหนังเกิดขึ้นเมื่อวูดรูฟพบกับหญิงข้ามเพศชื่อ Rayon ตอนแรกวูดรูฟก็ตั้งป้อมเกลียดเรยอน แต่เมื่อความสัมพันธ์พัฒนาไป เรยอนกลายเป็นผู้ช่วยทางการค้า กระจายยาของวูดรูฟสู่ตลาดเกย์และเพศทางเลือกอย่างกว้างขวาง เมื่อได้รู้ได้เห็นมากขึ้นวูดรูฟจึงคิดได้ว่าตนเองและกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต่างก็เป็นเหยื่อของรัฐบาลพอๆ กัน ความรังเกียจก็ลดน้อยลงจนหมดไปในที่สุด และมองพวกเขาเหล่านั้นเป็นเพื่อนมนุษย์ผู้เผชิญชะตากรรมเดียวกัน
ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่อง Dallas Buyers Club จะแก้ไขความเข้าใจผิดว่าเกย์คือต้นเหตุของการแพร่กระจายเชื้อ HIV/AIDS แต่ฮอลลีวูดก็ยังไม่ละทิ้งการผูกเรื่องแบบเดิม เชิดชูผู้ชายเป็นตัวแทนการต่อสู้กับการกดขี่ของรัฐ ลดทอนหญิงข้ามเพศและตัวละคร LGBT อื่นๆ ให้เป็นเพียงส่วนประกอบให้วูดรูฟโดดเด่นขึ้นเท่านั้น
ภาพยนตร์เรื่อง The Laramie Project สร้างขึ้นจากชีวิตจริงของ Matthew Shepard เป็นหนังที่ถ่ายทอดมุมมองเกี่ยวกับเกย์และ HIV/AIDS ได้ลึกซึ้งน่าสนใจ คืนวันที่ 12 ตุลาคม 1998 เชพเพิร์ดซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 21 ปี เป็นเกย์และเรียนอยู่ที่ University of Wyoming ถูกนักศึกษาร่วมมหาวิทยาลัย 2 คนล่อลวงไปทำร้ายร่างกายจนอาการสาหัส พวกนั้นผูกร่างเขาไว้กับรั้วหนามของฟาร์มเปลี่ยวแห่งหนึ่งนานกว่า 24 ชั่วโมง
วันรุ่งขึ้นตำรวจหญิงมาพบร่างไร้สติจึงรีบเข้าไปช่วยเหลือ แกะเชพเพิร์ดออกจากรั้วหนามและนำเขาส่งโรงพยาบาล ปรากฏว่าเชพเพิร์ดเสียชีวิต ผลแล็บแสดงว่าเขามีเลือดบวก ตำรวจหญิงไม่ทันใส่ถุงมือ โดนลวดหนามบาดเป็นแผล แล้วไปสัมผัสร่างกายเชพเพิร์ดที่เต็มไปด้วยเลือดโดยไม่ป้องกัน มีโอกาสติดเชื้อ HIV
ตำรวจหญิงคนนั้นมีลูก ระหว่างที่เธอรอผลตรวจเลือดว่าติดเชื้อ HIV หรือเปล่า เธอไม่กล้าแม้จะกอดลูกและสมาชิกคนอื่นในครอบครัว เพราะประสาทเสียว่าจะส่งต่อเชื้อให้คนที่เธอรัก ผู้กำกับจงใจปั่นความรู้สึกคนดู ตั้งคำถามว่าระหว่างความสงสารเชพเพิร์ดที่เป็นเหยื่อของความเกลียดชังกับความไม่พอใจที่เขาเป็นเหตุให้แม่ต้องห่างลูก ความรู้สึกไหนรุนแรงมากกว่ากัน หนังตบท้ายว่าตำรวจคนนั้นไม่ติดเชื้อ HIV เธอไม่เสียใจกับสิ่งที่ทำลงไปและไม่ถือโทษเชพเพิร์ด
สิ่งที่ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องข้างต้นมีเหมือนกันคือความพยายามเสนอความสัมพันธ์ระหว่างเกย์กับการระบาดของ HIV/AIDS ด้วยใจที่เป็นธรรม และถอดรหัสการยึดโยงว่าเกย์มีโอกาสติดเชื้อ HIV/AIDS สูงกว่าบุคคลอื่นผ่านบริบทสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ผลพวงการระบาดของ HIV/AIDS ในประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเกิดความกระตือรือร้นสนใจการเมืองมากขึ้น เพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตเขา นับเป็นข้อดีเพียงอย่างเดียวของโรคระบาดที่ช่วยสร้างการตื่นรู้บางอย่างแก่สังคม
Justin Chin กวีและนักแสดงเกย์ชาวอเมริกันเชื้อสายมาเลย์ติดเชื้อ HIV และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2015 ด้วยภาวะแทรกซ้อนของโรคเอดส์ ในปี 2001 จัสตินรวบรวมบทกลอนไว้ในหนังสือเรื่อง Harmless Medicine เล่าประสบการณ์การต่อสู้กับ HIV/AIDS ความหมายของชีวิตเปลี่ยนไปยังไงเมื่อรู้ว่าติดเชื้อ
บทกวีชิ้นหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ชื่อ Undetectable กล่าวถึงร่างกายที่เสื่อมถอย แต่ความรู้สึกรับรู้ภาวะกลับชัดเจนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
I get tired easily. I take more naps. (ฉันเหนื่อยง่าย งีบหลับบ่อย)
I dream less. (ฉันฝันน้อยลง)
I smell like the medicine chest. (กลิ่นตัวเหมือนตู้ยา)
Some days I think I can smell. (บางวันคิดไปเองว่าได้กลิ่น)
Every single cell in me. (เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย)
I can feel every single one (รู้สึกได้ว่าเซลล์ไหน)
that dies. (ตายแล้ว)