“การเงียบไม่ช่วยอะไร ช่วยกันส่งเสียงสิที่สร้างการเปลี่ยนแปลง” 5 content creators และการ call out

“การเงียบไม่ช่วยอะไร ช่วยกันส่งเสียงสิที่สร้างการเปลี่ยนแปลง” 5 content creators และการ call out

ไม่กี่ปีมานี้ ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ กลายเป็นอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่หลายคน

อาชีพที่มีอิสระ ออกแบบชีวิตของตัวเองได้ เริ่มต้นจากเปลี่ยนความชอบให้กลายเป็นคอนเทนต์ แถมยังสร้างรายได้เร็วกว่าหลายสายงาน ใครบ้างจะไม่อยากทำ แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือนี่เป็นอาชีพที่ต้องรับผิดชอบและแบกรับความคาดหวังของผู้คนตลอดเวลา

หลายครั้งเราจึงเห็นครีเอเตอร์หลายคนใช้พื้นที่ที่ตัวเองมีในการขยายความรู้ความเข้าใจ เผยแพร่และบอกต่อในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะการมีผู้ติดตามที่มากกว่านั่นหมายถึงความสามารถในการกระจายเสียงหรือปัญหาไปในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น

ชวนฟังเสียงสะท้อนจาก 5 ครีเอเตอร์ที่มองว่าการเงียบและลอยตัวจากปัญหาไม่ช่วยอะไร แต่การช่วยกันส่งเสียงบอกถึงปัญหาต่างหากที่สร้างการเปลี่ยนแปลง

ศิระพงศ์ ดิลกธราดล – Noyneung Makeup

สภาพบ้านเมืองตอนนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของคุณยังไงบ้าง

ด้วยสถานการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนักตอนนี้ เราว่ามันส่งผลกระทบกับทุกอาชีพเลย สำหรับเราที่เป็นบิวตี้บล็อกเกอร์และยูทูบเบอร์ก็จะได้รับผลกระทบในแง่ว่างานลูกค้าเริ่มน้อยลง ซึ่งมักจะมาจากกำลังซื้อของคนดูที่น้อยลงด้วย แบรนด์เลยต้องลดงบประมาณตรงนี้ เป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้

ช่วงนี้เราเลยต้องปรับตัว ปรับลักษณะของคอนเทนต์ไป เช่น คอนเทนต์เกี่ยวกับกิน เที่ยว เดินทาง ก็ต้องงด คอนเทนต์ที่ต้องใช้คนมากกว่า 1 คนในการถ่ายทำหรือมีแขกรับเชิญก็ต้องหยุดไป พยายามประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำคอนเทนต์ด้วยการเปลี่ยนมาไลฟ์แทน

จำเป็นแค่ไหนที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องออกมา call out

แต่ละคนก็อาจมีมุมมองที่ต่างกัน แต่สำหรับเราคิดว่าจำเป็น การเงียบมันเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เรามองว่าการ call out มันคือการแสดงความคิดเห็นต่อสังคม ในเมื่อเราทุกคนอยู่ในสังคมเดียวกัน มันก็ควรเป็นสิ่งที่เราทำได้เป็นปกติ เสียงของทุกคนมีความหมาย ยิ่งเป็นครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตาม มีผู้ชมอยู่ในมือ นั่นแปลว่าเสียงเรายิ่งดัง เราอาจเป็นหนึ่งเสียงที่ทำให้เกิดอีกหลายๆ เสียงตามมาก็ได้ และเราเชื่อว่าเสียงที่มากพอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

คิดถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจเข้ามาไหม และทำไมยังเลือกที่จะทำ

คิด แรกๆ ก็คิดว่า เอ๊ะ! เราจะเอาตัวเองไปแขวนอยู่บนเส้นด้ายหรือเปล่า แต่ตอนนี้ทุกคนอยู่บนเส้นด้ายค่ะ! ศึกรอบด้านไม่ไหว ได้รับผลกระทบกันหมด มันต้องพูดได้แล้วค่ะ 

ที่เราเลือกทำเพราะเราคิดว่าการเป็น Noyneung Makeup ได้ทุกวันนี้มันไม่ได้เกิดแค่เพราะเราทำงาน อัดคลิปคนเดียว แต่เราอาศัยการสนับสนุนจากผู้ชมด้วย เราถึงกลายเป็นสื่อ เป็นแชนแนลที่มีคนดูเพิ่มขึ้นอย่างทุกวันนี้ ฉะนั้นถ้าเราจะแสดงความเห็นหรือออกมาเป็นกระบอกเสียงแทนคนดูของเราได้บ้าง เราก็ยินดีทำ ที่สำคัญคือสิ่งที่เราพูดมันล้วนอยู่บนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เห็นๆ กันอยู่แล้วด้วย

ณัฐธีร์ อัครพลธนรักษ์ – บ้านข้างๆ

สภาพบ้านเมืองตอนนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของคุณยังไงบ้าง

แรงบันดาลใจที่เราใช้ทำงานเพลงและทำงานเขียนอยู่ข้างนอกทั้งหมด พอไม่ได้ออกไปเรียนรู้หรือพูดคุยกับคน งานเขียนเราเลยค่อนข้างพังไปพอสมควร เราไม่รู้จะเขียนแคปชั่นอะไร รวมถึงไม่อยากนั่งเทียนปั้นคำขึ้นมาด้วย ด้วยความเป็นนักเล่าเรื่อง ใจหนึ่งเราก็อยากบอกเล่าอะไรที่สวยงาม บรรยากาศยามเช้า ความสดใส ดอกไม้บาน หรือลมหนาว แต่มองออกไปตอนนี้เราเห็นแต่ศพ เห็นแต่ความสิ้นหวัง เห็นแต่ความไม่ยุติธรรมและโครงสร้างที่กดขี่ 

ในฐานะศิลปิน เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบให้เราอยากทำงานเพื่อให้กำลังใจคนมากขึ้น รวมถึงอยากสร้างสรรค์ผลงานที่มีส่วนในการร่วมต่อสู้กับอำนาจที่กดทับสังคมไทยมายาวนาน สภาพจิตใจที่โดนหล่อหลอมจากความหดหู่เหล่านี้ก็นับว่าเป็นส่วนผสมชั้นดีในการสร้างสรรค์ผลงาน

จำเป็นแค่ไหนที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องออกมา call out

ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ครีเอเตอร์นะ แต่ไม่ว่าจะอาชีพไหนการ call out มันเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ของคุณได้ ว่าคุณมองเห็นปัญหา คุณมองเห็นหัวใจและลมหายใจของเพื่อนร่วมโลก มันไม่ใช่การทำเพื่อพิสูจน์กับใครหรือเพื่อหนีจากการโดนล่า แต่คุณต้องทำด้วยใจที่เป็นมนุษย์ที่เห็นใจมนุษย์คนอื่น 

ในเมื่อเราอยู่ภายใต้เผด็จการ การ call out เพื่อแสดงเจตจำนงในการใฝ่หาประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งจำเป็น และการไม่แสดงออกก็คือการจำนนต่อระบอบเผด็จการ นั่นเท่ากับคุณมีส่วนร่วมในอาชญากรรมนี้ ในเมื่อคุณมีสื่อ มีช่องทาง มีผู้ติดตาม มีหัวครีเอทีฟ ก็ได้โปรดใช้หัวเพื่อคนอื่นด้วย 

คิดถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจเข้ามาไหม และทำไมยังเลือกที่จะทำ

เอาจริงมันจะมีผลกระทบเชิงลบอะไรได้มากไปกว่านี้อีก ครอบครัวเราล้มตาย เพื่อนร่วมโลกนอนตายข้างถนนเป็นผักปลา นี่เราดิ่งลงมาอยู่ส่วนที่ลึกของเหวแล้ว และถ้าชีวิตสร้างได้แค่คอนเทนต์เพื่อเรียกหาเงิน หายอดไลก์ ยอดแชร์ไปวันๆ แต่สร้างอะไรเพื่อคนอื่นไม่ได้ ก็นอนตายอยู่ก้นเหวไปนั่นแหละ

call out

วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ – SpokeDark TV

คุณคิดว่าสื่อหรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องเป็นกลางหรือเปล่า

มันไม่มีตรงกลางระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย คนทำคอนเทนต์และสื่อต้องอยู่บนหลักการ ในยุคสมัยนี้คุณอ้างความเป็นกลางไม่ได้ 

เมื่อก่อนเคยกังวลว่าที่เราทำอยู่นี่กลางไหม หรือบางทีมีคนมาคอยบอกเราว่าสื่อต้องเป็นกลาง แต่เราคิดว่าตอนที่ประเทศยังเป็นประชาธิปไตย บรรยากาศก่อนการรัฐประหาร การจะบอกว่าสื่อต้องเป็นกลางยังพอมีน้ำหนัก แต่ 7 ปีใต้ร่มเงาเผด็จการ วันนี้ที่เผด็จการที่จำแลงมาห่อตัวด้วยประชาธิปไตยปลอมๆ เราต้องเลือกว่าจะยืนข้างประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน และหลักการสากล หรืออยู่ข้างเผด็จการ ดังนั้นในฐานะสื่อหรือคนทำคอนเทนต์ เราเลือกอยู่ข้างประชาชน ความเท่าเทียม เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความโปร่งใส ไม่มีเหตุผลอะไรให้เราเลือกข้างเผด็จการ 

ในฐานะที่ทำคอนเทนต์และพูดเรื่องการเมืองมาตลอด เวลาคนพูดว่าคนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์พูดเรื่องการเมืองไม่ได้ คุณคิดเห็นยังไง

วงการบันเทิงและสื่อไทยเราตั้งอยู่บนความเกรงใจ ระบบอุปถัมภ์ ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานการแข่งขันหรือการเป็นสื่อที่ต้องนำเสนอตามจรรยาบรรณ กลายเป็นว่าการรายงานนี้กระทบท่านคนนั้นคนนี้หรือเปล่า กระทบองค์กรอย่างกองทัพหรือเปล่า แล้วถ้ารายการแบบเราไปอยู่ในช่องของเขาก็มีปัญหาแน่ ไม่พูดดีกว่า โดยเฉพาะ 7 ปีที่ผ่านมายิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย คลื่นวิทยุและช่องโทรทัศน์เกี่ยวโยงกับผู้มีอำนาจทั้งนั้น 

ถ้าพูดเรื่องการเมืองแล้วเป็นบวกกับผู้มีอำนาจก็พูดได้ แต่ก็จะมีผู้บริหารบางจำพวกที่ไม่ให้พูดเลย หรืออีกแบบคือให้พูดไปเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุด ผมมีความสุข ผมภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย เหมือนเอาคำพูดสวยหรูมาวางต่อๆ กัน 

แต่ถ้าจะวิพากษ์ระบบโครงสร้าง “ดูสิครับว่าระบบขนส่งมวลชนไทยทำไมถึงได้แค่นี้เอง” ต่อให้เป็นปัญหาที่อยู่ตรงหน้าแค่ไหนก็ห้ามพูด หรือเหตุการณ์กราดยิงที่โคราชเขาจะไม่พูดถึงปัญหาในกองทัพ ไม่ตั้งคำถามว่าเอาปืนออกมาได้ยังไง การโกงและอำนาจกดขี่ที่เกิดขึ้นจะแก้ไขยังไง เขาจะพูดแค่ว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนไทยต้องเจอเรื่องแบบนี้ ไม่พูดถึงปัญหา แต่พูดผิวๆ ให้ตัวเองดูดีว่า นี่ไงจ๊ะ ฉันแคร์นะ ฉันแคร์สิ่งที่เกิดขึ้นนะ แต่เราไปฟังเพลงกันต่อดีกว่า 

ทางหนึ่งผมเลยเข้าใจคนในวงการบันเทิง แต่อีกใจก็ไม่ให้ราคาแล้ว

ในเมื่อคุณก็รู้ว่าการพูดเรื่องการเมืองมีราคาที่ต้องจ่าย ทำไมคุณยังเลือกพูดเรื่องการเมือง

เราอัดอั้นตันใจด้วย เราอยากรู้ว่านี่เราคิดเรื่องนี้อยู่คนเดียวเหรอวะ มีเราไม่โอเคกับปัญหาในประเทศนี้คนเดียวหรือเปล่า ผสมกับการที่เราอยากเข้าถึงคนดูที่มากกว่าโทรทัศน์ช่องหลักเพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่ามีคนคิดเหมือนเรา คนที่คิดว่าประเทศนี้มีปัญหาที่ต้องแก้และไม่ได้ดีที่สุดอย่างที่เขาพยายามบอกต่อกันมา ประเทศที่ดีที่สุดต้องไม่ใช่แบบนี้สิ ตอนทำรายการเราได้ไปถ่ายทำที่ต่างประเทศ มีโอกาสได้ไปหลายที่ เราเห็นว่าประเทศที่เจริญแล้วเขาเป็นแบบไหน เราก็สงสัยว่าแล้วทำไมประเทศเรายังได้แค่นี้ 

แต่ขณะเดียวกันเรากลับพร่ำสอนว่าประเทศเราดีมาก เราเชิดชูว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว ในน้ำมีปลาแต่ในน้ำก็มีแรงงานทาสที่ถูกกดขี่อยู่กลางทะเล ในนามีข้าวแต่คุณภาพชีวิตเกษตรกรในนากลับลำบาก นั่นจึงเป็นอีกส่วนที่ผลักให้เราออกมาทำคอนเทนต์ ออกมาพูดเรื่องการเมือง เพราะอยากรู้ว่าเราไม่ได้เดียวดายใช่ไหม 

การทำคอนเทนต์การเมืองแล้วได้เห็นคอมเมนต์ เห็นคนแชร์เป็นพันเป็นหมื่น เราไม่ได้ประสบความสำเร็จแค่ในแง่จำนวนคนดู แต่มันหล่อเลี้ยงให้จิตใจเรามีความหวัง ในแง่ที่เราอยากเห็นประเทศดีกว่านี้ และอยากให้คนอื่นเห็นว่าประเทศนี้ดีกว่านี้ได้เหมือนกัน 

call out

สัณหณัฐ ทิราชีพ – บ้านกูเอง

สภาพบ้านเมืองตอนนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของคุณยังไงบ้าง

ข้อบังคับของสังคมตอนนี้ทำให้ผมทำงานยากขึ้น แค่ต้องใส่แมสก์ก็ฉิบหายแล้วนะ เพราะผมเล่าเรื่องเป็นภาพ พอเห็นสีหน้าไม่ได้มันก็เล่าไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ หรือเรื่องโลเคชั่น สมมติว่าผมอยากเขียนเนื้อเรื่องให้ไปกินข้าวที่ร้านแห่งหนึ่ง ผมก็เขียนไม่ได้แล้วเพราะเขาไม่ให้นั่ง ข้อบังคับมันตีกรอบเราไปหมด แล้วเนื้อหามันต้องวนอยู่แต่ในบ้านซึ่งเราเล่นทุกซอกทุกมุมในบ้านแล้ว การเขียนเนื้อเรื่องให้รักษามาตรฐานเดิมหรือเขียนให้สร้างสรรค์เหมือนเดิมมันก็ยาก

อีกอย่างคือสภาพจิตใจของผู้คน สมมติเราคิดมุกที่ขำมากได้แต่คนอ่านก็ไม่พร้อมรับหรือไม่อยากแชร์อยู่ดี เพราะมันสวนกระแสบ้านเมือง คนไม่อยากส่งต่อเรื่องสนุกสนานกันในเวลานี้

จำเป็นแค่ไหนที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องออกมา call out

ผมคิดว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทุกคนน่าจะรู้สึกเหมือนกัน สิ่งที่ขาดคือการร่วมมือกันเฉยๆ ถ้าอยากให้ประเทศมันกลับมาดีเหมือนเดิม เราจำเป็นต้องพูดอะไรบ้าง อยู่แบบนี้ต่อไปเราก็มีแต่เสีย มีแต่บอกตัวเองว่าเรายังไหว เรายังประคองไปได้อยู่ แต่เราก็ทำได้แค่ประคองกันไปเรื่อยๆ ไม่เดินหน้าไปไหน ถ้าอยากไปต่อได้เราต้องเริ่มมองปัญหาบ้างแล้ว

คิดถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจเข้ามาไหม และทำไมยังเลือกที่จะทำ

ยุคนี้ทุกคนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ทุกคนเข้าใจเราหมด คนยุคเก่าอาจจะมองว่าถ้าพูดเรื่องการเมืองแล้วมันจะส่งผลต่อหน้าที่การงาน แต่ในยุคนี้ถ้าไม่พูดต่างหากที่จะส่งผลต่อหน้าที่การงาน บางคนอาจจะรู้สึกกลัวว่าแบรนด์ต่างๆ จะไม่จ้าง แต่มันก็เป็นแค่สิ่งที่คาดเดากันไปเองทั้งนั้น คุณพูดไปแล้วอาจจะมีโอกาสได้งาน 50-50 แต่ถ้าคุณไม่พูดทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่ามันกำลังแย่ โอกาสที่คนจะไม่ติดตามคุณอาจจะร้อยเปอร์เซ็นต์

call out

ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ – มนุษย์กรุงเทพฯ

สภาพบ้านเมืองตอนนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของคุณยังไงบ้าง

วิธีการเก็บข้อมูลของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ คือการสัมภาษณ์ หลายปีที่ผ่านมาบทสัมภาษณ์แทบทั้งหมดเป็นการคุยแบบเจอตัว สำหรับผมสิ่งนี้สำคัญมาก สีหน้า ท่าทาง จังหวะหยุดคิด ถอนหายใจ หรือน้ำตาคลอ มีผลต่อการพูดคุยพอสมควร 

พอโควิดแพร่ระบาด ต่างคนต่างกลัวกัน บางชิ้นเลยต้องเปลี่ยนมาโทรคุยหรือวิดีโอคอล ซึ่งทั้งสองแบบทดแทนการคุยแบบเจอตัวไม่ได้เลย เราได้ประเด็นมาเขียนก็จริง แต่เนื้อหาก็ขาดชีวิตชีวา เรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับผมมากๆ แต่คนทำงานสื่อก็เจอข้อจำกัดนี้ทั้งนั้น ผมเลยคุยกับตัวเองและจบลงที่การทำใจ ถ้าจังหวะได้ก็หาโอกาสคุยแบบเจอตัวบ้าง แต่ถ้าจังหวะไม่เอื้อก็ทำเท่าที่ทำได้ แล้วรอคอยให้สถานการณ์ดีขึ้น 

ผมไม่ใช่คนที่ติดตามการเมืองมากนัก รู้แค่คร่าวๆ มาโดยตลอด แต่ช่วง 1-2 ปีมานี้ผมรู้สึกร่วมกับเรื่องการเมืองในประเทศค่อนข้างมาก อาจเห็นต่างในวิธีการเคลื่อนไหวบ้าง แต่ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเพราะมันส่งผลมากๆ ต่อการมองสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม 

เมื่อก่อนผมมองเรื่องต่างๆ ในชีวิตเป็นการเมืองอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เห็นชัดกว่าเดิมมากๆ เวลาทำบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ ผมจะลองหาจุดเชื่อมไปเรื่องนโยบายของรัฐ การจัดการที่มีปัญหา ค่านิยมต่างๆ ที่กดทับคนเล็กคนน้อย แล้วพบว่าทุกเรื่องทำแบบนั้นได้เสมอ มันส่งผลต่ออาชีพที่ทำค่อนข้างมาก ทำให้ผมตระหนักว่ามีอีกสารพัดเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้รอบด้าน อย่ามองอะไรแบนๆ ตื้นๆ   

จำเป็นแค่ไหนที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องออกมา call out

คำตอบนี้อาจทำให้หลายคนไม่พอใจ ผมเองมองว่าไม่มีอาชีพไหนที่ควรถูกคาดหวังเป็นพิเศษ ทั้งดารา นักวิชาการ ข้าราชการ หรือแม้แต่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องพูดถึงปัญหาในสังคมเพียงเพราะตัวเองเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ก็ได้ แต่หากถอดหมวกของอาชีพออกแล้ว ทุกคนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ทุกคนเป็นประชาชนที่สังกัดในสังคมหนึ่ง ถ้าคุณรู้ว่าอะไรคือปัญหา รู้ว่าทักษะและบทบาทที่ตัวเองมีช่วยให้ปัญหานั้นดีขึ้นได้ เราก็ควรทำอะไรบางอย่างในฐานะมนุษย์คนหนึ่งมากกว่า

สำหรับอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ถ้างานของคุณช่วยให้คนรับรู้ ตระหนัก และเข้าใจปัญหาหนึ่งๆ มากขึ้น รวมไปถึงสามารถทำให้กลายเป็นวาระทางสังคมจนเกิดการแก้ไขจากผู้ที่รับผิดชอบ มันตรงไปตรงมามากๆ ว่าเราควรทำสิ่งนั้น ไม่ต้องพูดเรื่องใหญ่โตอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ หรือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ได้ ถ้าคุณทำคอนเทนต์เรื่องอาหาร การตั้งคำถามถึงการผูกขาดของร้านสะดวกซื้อบางเจ้าก็ทำให้คนติดตามเห็นปัญหาที่ไม่เคยคิด ถ้าคุณทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวธรรมชาติ การอธิบายให้เห็นปัญหาของการปลูกป่าที่กลายเป็นพิธีกรรมของภาคธุรกิจไปแล้ว ก็ทำให้คนติดตามเข้าใจการทำเพื่อธรรมชาติที่แท้จริงมากขึ้น หรืออย่างผมทำเพจเล่าเรื่องคน สิ่งที่ผมทำมาโดยตลอดคือการเล่าเรื่องคนธรรมดา โดยใช้เรื่องราวของพวกเขามาค่อยๆ คลี่ให้เห็นปัญหาบางอย่าง

แต่ว่ากันตามตรง สิ่งที่สำคัญกว่าการสื่อสารสิ่งเหล่านั้น คือคุณต้องเข้าใจปัญหาต่างๆ มากกว่าแค่ความถูก-ผิดแบบขาว-ดำก่อน ปัญหาในสังคมเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง ผมว่าสิ่งที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ควรทำคือการเปิดหูเปิดตารับข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ เราอาจเก่งในบางเรื่อง แต่สิ่งที่ต้องตระหนักให้มากคือมีคนที่เก่งกว่าเราอีกหลายต่อหลายเรื่องแน่นอน 

คิดถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจเข้ามาไหม และทำไมยังเลือกที่จะทำ

เพจมนุษย์กรุงเทพฯ ทำบทสัมภาษณ์ตามความสนใจของผม การเมืองเป็นเพียงเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องที่ลงเพจ ภายใต้รัฐบาลนี้ (ที่ผ่านการเลือกตั้งแบบปลอมๆ มา) เพจของผมยังไม่โดนคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ได้อยากโดนนะ เต็มที่ก็เจอ IO ตรรกะแปลกๆ มาป่วนเป็นระยะ รำคาญ น่าเบื่อ แต่มองเป็นการฝึกความอดทนไป

แม้จะลงเรื่องการเมืองนานๆ ครั้ง แต่แพตเทิร์นที่เห็นได้ชัดคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองส่งผลต่อยอดคนติดตามพอสมควร หลังจากลงเรื่องการเมืองในเพจ เส้นกราฟที่ดูจากหลังบ้านตกแบบกระตุกลงมา เรื่องนี้เคยมีผลต่อผมในช่วงแรกๆ ที่ทำเพจ แต่หลายปีหลังแทบไม่มีผลอะไรเลย ถ้าผมมองว่าเรื่องนั้นควรสื่อสาร การที่บางคนจะเลิกติดตามก็คงห้ามไม่ได้จริงๆ 

ถ้ามีเรื่องไหนที่น่าจะเป็นปัญหาก็คงเป็นช่วงหนึ่งที่เพจลงเรื่องการเมืองบ่อยๆ เพจของผมที่มีรายได้จากสปอนเซอร์เป็นหลักโดนปฏิเสธการจ้างงานจากลูกค้าบางเจ้าด้วยเหตุผลการเมือง ตอนนั้นก็ถามตัวเองว่าควรทำยังไงกับเรื่องนี้ สุดท้ายได้คำตอบว่า ทำๆ ไปเถอะ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่พูดกันตามตรง ผมยังสูญเสียอะไรน้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่แสดงออกชัดๆ ตรงๆ ผมเลยรู้สึกเฉยๆ กับรายได้ที่หายไป

AUTHOR