How to Eat Craft Chocolate คราฟต์ช็อกโกแลตดีๆ จะอร่อยขึ้นอีกเมื่อชิมอย่างถูกวิธี

Highlights

  • a day experience เดือนมีนาคม 2019 พาผู้อ่านไปเวิร์กช็อป 'How to Eat Craft Chocolate' เรียนรู้การชิมคราฟต์ช็อกโกแลตกับ อ้น–นรุตม์ อัมพากร ผู้ก่อตั้งแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตไทย 'Shabar' และนักทำช็อกโกแลตผู้เดินทางไปร่ำเรียนวิชาการชิมช็อกโกแลตจากสถาบัน International Institute of Chocolate & Cacao Tasting
  • สิ่งที่อ้นสอนผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปไม่ใช่แค่การชิมเท่านั้น แต่ตั้งต้นจากการหักและดมกลิ่นเพื่อให้รับรู้ถึงกลิ่นของวัตถุดิบ ถัดมา เขาให้ทุกคนลองดมกลิ่นและชิมวัตถุดิบแต่ละชนิดเพื่อให้รับรสวัตถุดิบเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้นเมื่อชิมช็อกโกแลต
  • นอกจากนี้ อ้นยังสอนวิธีกินช็อกโกแลตให้ได้รสชาติมากที่สุด รวมทั้งยังแนะนำวิธีจับคู่ช็อกโกแลตกับเครื่องดื่ม เช่น ชาเขียว หรือไวน์ เพื่อให้การกินรื่นรมย์ยิ่งขึ้นด้วย

ขณะที่กระแส ‘คราฟต์ช็อกโกแลต’ กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากเรื่องคุณภาพและรสชาติแล้ว วิธีการกินช็อกโกแลตกระแสใหม่นี้ก็เป็นอีกประเด็นที่ถูกขีดเส้นใต้เน้นย้ำความสนใจอยู่เสมอ ด้วยคราฟต์ช็อกโกแลตนั้นเด่นด้วยรสชาติอันสลับซับซ้อนอันเป็นผลลัพธ์จากดินฟ้าอากาศของแหล่งปลูกต้นโกโก้ เรื่อยไปถึงอีกหลายปัจจัยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การเข้าถึงสุนทรียะที่แท้จริงของมันจึงไม่ง่าย

กว่านั้น เมื่อมองเข้าไปในรายละเอียด การกินคราฟต์ช็อกโกแลตนั้นก็มีเรื่องให้ต้องเรียนรู้เพียบ และนั่นเองคือเหตุผลตั้งต้นของงาน How to Eat Craft Chocolate ที่ a day จับมือกับ ชบา ช็อกโกแลต (Shabar chocolate) จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมี อ้น–นรุตม์ อัมพากร นักทำช็อกโกแลตผู้เดินทางไปร่ำเรียนวิชาการชิมช็อกโกแลตจากสถาบัน International Institute of Chocolate & Cacao Tasting เป็นผู้มอบความรู้ให้อย่างเต็มอิ่ม

ก่อนบทเรียนแรกจะเริ่มต้น อ้นก็เปิดบทสนทนากับเราและผู้เข้าร่วมงานกว่า 20 ชีวิตด้วยรอยยิ้ม เล่าถึงเรื่องราวจุดเริ่มต้นของชบา ที่เกิดจากความหลงใหลในรสชาติช็อกโกแลตที่มีมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตและมีโอกาสเดินทางไกล ชายหนุ่มก็พบว่าโลกของช็อกโกแลตนั้นกว้างกว่าที่เขาคิด โดยเฉพาะเมื่อได้พบกับช็อกโกแลตชนิดใหม่ที่จับความสนใจเขาไว้ได้อย่างอยู่หมัด นั่นคือคราฟต์ช็อกโกแลต


จากนั้นไม่นาน ชบา ช็อกโกแลต ก็เกิดขึ้นพร้อมความตั้งใจอยากทำช็อกโกแลตในรสชาติแบบที่ตัวเองชอบ และด้วยเป้าหมายระยะไกลที่เขาอยากเห็นช็อกโกแลตซึ่งทำจากโกโก้ที่ปลูกบนแผ่นดินไทยมีคุณภาพทัดเทียมกับช็อกโกแลตระดับสากล

หลังเกริ่นที่มาที่ไป สิ่งแรกที่อ้นแนะนำให้ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปทดลองก็คือ การหยิบช็อกโกแลตชิ้นจิ๋วที่เขาเตรียมเอาไว้ให้ มาลองหักและดมกลิ่นดูสัก 10 วินาที ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการเข้าถึงคุณภาพของคราฟต์ช็อกโกแลต เนื่องจากช็อกโกแลตที่ดีนั้นต้องหักดัง แกร๊ก! หมายความว่าช็อกโกแลตแท่งนั้นถูกทำขึ้นอย่างใส่ใจทุกขั้นตอน และกลิ่นของช็อกโกแลตแต่ละชิ้นก็อธิบายถึงรายละเอียดของช็อกโกแลตชิ้นนั้นได้ดี ด้วยอาจมีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายดอกไม้ หรือกลิ่นเปรี้ยวจางๆ คล้ายผลไม้ ซึ่งเป็นความหลากหลายที่ทำให้คราฟต์ช็อกโกแลตน่าสนใจ และชวนให้อร่อยขึ้นอีก

แต่ก่อนจะหยิบช็อกโกแลตชิ้นจิ๋วเข้าปาก อ้นก็รั้งพวกเราไว้ด้วยบทเรียนเล็กๆ อีกหนึ่งบท นั่นคือการสร้างประสบการณ์รสชาติด้วยตัวอย่างกลิ่นรสที่เขาเตรียมมาให้ลองชิม เช่น ตัวแทนรสเค็มอย่างน้ำเกลือ ตัวแทนรสเปรี้ยวอย่างครีมทาทาร์ ตัวแทนรสขมปร่าอันเป็นเอกลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ในเมล็ดโกโก้อย่างเทนนิน รวมถึงรสนัวกลมกล่อม นอกจากรสชาติ อ้นยังเตรียมอีกหลายกลิ่นมาให้เราลองเปิดประสบการณ์ ทั้งกลิ่นหอมฉุนของพริกไทย กลิ่นเปรี้ยวสดชื่นของเบอร์รี และอีกมากมายหลายกลิ่นที่ชวนให้ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปตื่นเต้นไปตามๆ กัน โดยการเปิดประสบการณ์กลิ่นรสก่อนกินช็อกโกแลตนั้นก็เพื่อทำให้เราสามารถระลึกได้ว่าช็อกโกแลตชิ้นที่กำลังกินนั้นมีรสชาติเหมือนหรือคล้ายกับวัตถุดิบอะไร ซึ่งจะทำให้เราลิ้มรสมันได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น 

กินอย่างถูกวิธี ช็อกโกแลตดีๆ ก็อร่อยขึ้นอีก


และแล้วช่วงเวลาที่รอคอยก็มาถึง เมื่ออ้นให้พวกเราหยิบช็อกโกแลตชิ้นจิ๋วตรงหน้าใส่ปาก ทว่ามีวงเล็บเล็กน้อยว่า ต้องกลั้นหายใจขณะวางช็อกโกแลตลงบนลิ้น เมื่อช็อกโกแลตเริ่มละลายจึงค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้ประสาทสัมผัสทั้งหมดของเราเปิดรับกลิ่นรสของคราฟต์ช็อกโกแลตได้เต็มอิ่ม สำคัญคือ เมื่อช็อกโกแลตเริ่มละลายในปาก อย่าเพิ่งเคี้ยวหรือรีบกลืน แต่ค่อยๆ ปล่อยให้อุณหภูมิร่างกายเราละลายช็อกโกแลตชิ้นนั้นจนเกลี้ยง ซึ่งช่วงเวลานานนับนาทีที่ช็อกโกแลตค่อยๆ ละลายนั้นเอง ที่กลิ่นรสของมันจะซึมซาบผ่านประสาทสัมผัสของเรา ซึ่งเป็นความรื่นรมย์ที่มีแต่คราฟต์ช็อกโกแลตเท่านั้นจะให้ได้ 

และหากอยากให้การกินช็อกโกแลตมีเสน่ห์โดดเด่นขึ้นอีก อ้นยังแนะนำด้วยว่า เราสามารถจับคราฟต์ช็อกโกแลตเข้าคู่เสิร์ฟกับอีกหลายวัตถุดิบ เช่น ดาร์กช็อกโกแลตรสเข้มขม กินคู่กับน้ำชาอัสสัมร้อนๆ ก็จะยิ่งทำให้อร่อยขึ้นอีก หรือช็อกโกแลตที่มีรสออกโทนเปรี้ยวคล้ายผลไม้ ก็จะเข้ากันดีกับน้ำชาเขียว หรือหากเป็นไวต์ช็อกโกแลตก็อาจเหมาะกับไวน์รสดีที่จะทำให้มื้อนั้นรื่นรมย์ขึ้น


นอกจากการกินคราฟต์ช็อกโกแลตอย่างรู้วิธีแล้ว อีกประเด็นที่อ้นเผื่อแผ่ความรู้ให้เราในเวิร์กช็อปครั้งนี้คือ รายละเอียดในการทำช็อกโกแลตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่ต้องอาศัยทั้งความใส่ใจ และการลงแรงลงใจแบบสุดตัว เริ่มตั้งแต่การบำรุงดูแลต้นโกโก้อย่างเข้าใจ เลือกเก็บเฉพาะผลโกโก้สุกเต็มที่ คัดเอาเมล็ดดีออกมาหมักอย่างพิถีพิถัน ก่อนนำเมล็ดที่หมักแล้วมาตาก คั่ว และบด จนกลายเป็นช็อกโกแลตสีน้ำตาลแก่ที่เราได้ชิมกันเมื่อสักครู่ ซึ่งกระบวนการทำช็อกโกแลตอย่างลงรายละเอียดนี้เองคือเหตุผลว่าทำไมรสชาติที่เราได้ลิ้มลองจึงซับซ้อนและลึกซึ้ง และทำให้โลกของช็อกโกแลตน่าตื่นเต้นขึ้นทุกวัน 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พนิดา มีเดช

กราฟิกดีไซเนอร์นิตยสาร a day ผู้มักตื่นสาย แต่หลงใหลแสงแดดยามเช้า และข้าวสวยร้อนๆ