“เรากำลังจะไม่ไหว” ความในใจของชาวคราฟต์เบียร์ไทยต่อวิกฤต COVID-19

Highlights

  • ในวิกฤตโควิด-19 เราติดต่อไปยังชาวคราฟต์เบียร์ไทยเพื่อสอบถามว่า พวกเขาต้องเจอปัญหาและแก้ไขยังไงบ้างในสถานการณ์ตอนนี้
  • กว่าสิบคนที่ตอบคำถามเรามา พวกเขายืนยันว่าช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก รายได้ลดลงจนแทบไม่เหลือ แม้จะปรับตัวมาเป็นการขายออนไลน์แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ยิ่งผสมกับการไร้ความช่วยเหลือจากส่วนกลางทำให้ตอนนี้พวกเขาแทบไร้ซึ่งทางออก
  • เหนืออื่นใด พวกเขามองว่าปัญหาทั้งหมดมีทางออกโดยการแก้ที่ระบบ หลังจบวิกฤตนี้น่าจะเป็นวาระที่เหมาะสมในการทบทวนกฎหมายการจำหน่ายและผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องเจอกับช่วงเวลาวิกฤต 

ไม่ว่ามองไปทางไหนแทบไม่มีผู้ประกอบการคนใดไม่ได้รับผลกระทบ แม้กิจการแต่ละภาคส่วนจะได้รับผลไม่เท่ากัน แต่ในภาพรวมพวกเขาต่างตกที่นั่งลำบากในสิ่งที่ตัวเองทำเหมือนกันหมด และหนึ่งในธุรกิจที่กระเทือนมากเป็นลำดับต้นๆ คือธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ตั้งแต่มีมาตรการ social distancing ไปสู่การปิดร้านอาหาร และล่าสุดกับมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางพื้นที่ แทบทุกคนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ต่างกำลังเผชิญกับโจทย์แสนยากและท้าทายมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต สำหรับแบรนด์ใหญ่ ถึงแม้ความเสียหายจะมากพวกเขาก็ยังพอประคองตัวได้จากต้นทุนที่หนาและสายพานการผลิตที่ยาว แต่สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางถึงเล็กอย่างคราฟต์เบียร์ไทย ดูเหมือนว่าความรุนแรงของสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังทำให้พวกเขาล้มจนแทบลุกขึ้นไม่ไหว นั่นเองคือที่มาที่เราติดต่อไปถามไถ่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับคราฟต์เบียร์ไทยถึงความหนักหนาของสถานการณ์ในตอนนี้

พวกเขากำลังเจออะไรบ้าง พวกเขาแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใด และแนวทางแก้ไขไหนที่พวกเขาอยากเสนอ เราถามพวกเขาด้วย 3 คำถามง่ายๆ ที่นำมาซึ่งคำตอบพร้อมกับแววตาวิตกกังวล

เปล่า บทความนี้ที่เต็มไปด้วยตัวอักษรจากปากของพวกเขาไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้คนออกมาเพิ่มความเสี่ยงใดๆ เราไม่ได้ต้องการแบบนั้น แต่เราอยากให้บทความนี้เป็นพื้นที่ให้ชาวคราฟต์เบียร์ไทยได้ออกมาสื่อสารสิ่งที่พวกเขาเจออยู่บ้าง

เผื่อเมื่อวันเวลาเหล่านี้ผ่านไป เราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขายืนขึ้นได้ก็ได้นะ

 

เฉลิมพล เลิศศักดาเดช และ จารุวิชช์ พึ่งสวัสดิ์
Eleventh Fort Brewing

“ผลกระทบที่พวกเราได้รับประการแรกคือเรื่องยอดขาย ยอดขายเราตกลงมากเนื่องจากบาร์เปิดไม่ได้ นั่นทำให้เบียร์แบบถังสด (draft) ขายไม่ได้เลย ส่วนก่อนหน้านี้แบบบรรจุขวดพอขายได้นิดหน่อย แต่ทั้งหมดนี้นำมาสู่ผลกระทบประการที่สอง คือเรื่องรายจ่าย

“ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการเก็บรักษายังเท่าเดิมเพราะเบียร์ต้องเก็บในห้องเย็นตลอด แต่พอเราขายได้ช้าเบียร์ก็เก่า รสก็ชาติเปลี่ยน ต้องขายลดราคาเพื่อเคลียร์ของ เกิดเป็นความเสียหายหลายต่อ ในสภาวะปกติที่เราต้องดิ้นรนต่อสู้อยู่แล้วเรายังพอวางแผนมองหาโอกาสได้ แต่สภาวะแบบนี้หลายโอกาสและทางแก้ก็หายไป แผนงานบางอย่างต้องหยุดชะงักหรือไปต่อไม่ได้ เราคาดเดาไม่ได้เลยว่าตัวเองจะเป็นยังไงในวันที่สถานการณ์ฟื้นฟูกลับมาแล้ว

“ก่อนหน้านี้เราพยายามขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก ด้วยสภาพเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้คนในปัจจุบัน ผู้คนใช้จ่ายน้อยลง อย่างไรก็ตามก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์ของคราฟต์เบียร์ไทยก็ไม่เคยอยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันกับคราฟต์เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ด้วยเหตุผลด้านต้นทุน เพดานราคา และกฎหมาย ที่กดทับคราฟต์เบียร์ไทยหลายๆ อย่าง ทำให้รายได้จากการทำธุรกิจนี้ไม่พอเลี้ยงชีพ แต่ในสถานการณ์ปกติพวกเรายังทำงานอย่างอื่นเป็นหลักเพื่อให้มีรายได้เพียงพอได้ แต่พอเป็นแบบนี้พวกเราเลยลำบากกันเข้าไปใหญ่ ดังนั้นเรามองว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้สถานการณ์เลวร้ายเกิดกับคราฟต์เบียร์ไทยเร็วขึ้น 

“อุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์ไทยไม่อาจพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนหากเรายังอยู่ในข้อจำกัดแบบเดิม วิกฤตครั้งนี้เป็นบททดสอบอย่างดีว่าการทำธุรกิจอยู่ในข้อจำกัดทำให้เราไม่ยั่งยืนขนาดไหน ดังนั้นถ้าทุกอย่างผ่านพ้นไปอยากให้เรื่องนี้ได้รับการแก้ไขสักที”

 

กาญจน์ เสาวพุทธสุเวช
SPACECRAFT

จากที่รัฐบาลประกาศให้ร้านค้าห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยอดขายโดยรวมของทั้งตลาดคราฟต์เบียร์ไทยหายไปแน่นอน ดังนั้นผมว่าผลกระทบเกิดกับทุกเจ้า แต่ที่น่าจะกระทบหนักคือเจ้าที่มีสต็อกเป็นเบียร์สดเพื่อขายที่ Taproom สำหรับดื่มในร้าน

“ผมมองว่าคราฟต์เบียร์คือศิลปะและการสื่อสาร ดังนั้นพอ Taproom ไม่สามารถให้ลูกค้ามานั่งดื่มได้และ beertender ไม่สามารถอธิบายหรือเล่าเรื่องความเป็นมาของเบียร์แต่ละตัวได้ การที่นักดื่มเข้าถึงเบียร์ตัวนั้นจะหมดไป และนั่นแหละคือผลกระทบหลักของ SPACECRAFT

“ลูกค้าส่วนใหญ่ของแบรนด์เราคือกลุ่มลูกค้าร้าน Taproom ดังนั้นทางแบรนด์จึงมีสต็อกเบียร์สดอยู่จำนวนมากก แบบขวดมีอยู่พอสมควร พอเกิดวิกฤตเราจึงขายได้แต่เบียร์แบบขวดเท่านั้น ผลคือกำลังซื้อลดและต่ำลงจนเรียกว่าหายไปเลย ทำให้ทาง SPACECRAFT ต้องหาทางปรับตัวโดยเร่งด่วน

“ก่อนหน้าที่จะมีการงดขายแอลกอฮอล์ เราเปลี่ยนมาทำการตลาดโดยขายเฉพาะเบียร์ขวดออนไลน์อย่างเดียว แต่เราพยายามมองไปให้กว้างกว่านั้นด้วย เราถือโอกาสตรงนี้ทำ CSR เราใช้ต้นทุนที่มีผลิตแอลกอฮอล์แบบพกพาแจกฟรีแก่บุคคลทั่วไปประมาณ 500-600 ขวด เพราะเรามองว่าการทำตลาดในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแบบปัจจุบันต้องมีการเปลี่ยนแผนการตลาดให้ไวและเหมาะกับสถานการณ์ ดังนั้นเราถึงได้ปรับแผนเพื่อรับสถานการณ์อยู่เรื่อยๆ 

“ถ้ามองในภาพรวม ผมคิดว่าสถานการณ์ความอยู่รอดของคราฟต์เบียร์ไทยตอนนี้คนอื่นคงช่วยเรายากแล้ว พวกเรากันเองคงต้องมีความสามัคคีและช่วยเหลือกันเอง และผมยังเชื่อว่าวงการเบียร์ทางเลือกในไทยยังสามารถสู้และผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ไปได้”

 

ศิริวัฒน์ การชัยศรี
Wizard Beer  

“ผลกระทบกับแบรนด์เราเกิดขึ้นเร็วมาก ไล่เรียงตั้งแต่เดือนมกราคมที่ไวรัสเริ่มระบาดที่ประเทศจีน ตอนนั้นเรามีการปรับกลยุทธ์แล้วเพื่อรักษายอดขายให้ได้มากที่สุด สุดท้ายแนวโน้มก็ยังไม่ดีขึ้น จนในที่สุดรัฐบาลสั่งปิดร้านอาหารและสถานบันเทิงทุกแห่ง ยอดขายเราลดลงไป 80 เปอร์เซ็นต์ทันที

“หลังจากนั้นเราพยายามปรับตัวโดยจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ หนึ่งคือเพื่อรักษาลูกค้าไว้ และสองคือช่วยให้ลูกน้องเรายังมีงานทำ แต่ตอนนี้สถานการณ์ก็แย่ลงไปอีก จนเรามีความจำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างพนักงาน 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน และมีมาตรการ leave without pay จนถึงเลิกจ้างพนักงานบางส่วนแล้ว เพื่อรักษาสถานะทางการเงินของเราไว้ให้ได้นานที่สุด เราทำทุกอย่าง จนตอนนี้ทางเลือกเราคงเหลือแค่ทางเดียว คือภาวนาให้สถานการณ์ดีขึ้น เราจะรอจนร้านอาหารเปิดทำการได้ แล้วค่อยมาลุยการตลาดกันใหม่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับตอนนี้

“ส่วนตัวเรามองว่าการปิดร้านอาหารหรือสถานบันเทิงคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราไม่ได้ต่อต้านเรื่องนี้ ยินดีทำด้วยซ้ำถ้าการปิดร้านเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค แต่อยากให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนกว่านี้ ทำไมประเทศที่วิกฤตเขาสามารถเคลียร์ได้ แต่ทำไมประเทศเราที่ตอนแรกควบคุมได้ แต่ต่อมาเราถึงไม่สามารถควบคุมได้ เราอยากให้รัฐไตร่ตรองว่ามันผิดพลาดตรงไหน ใครเป็นคนจัดการ เพราะมันส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน

“ไม่ใช่แค่คราฟต์เบียร์เท่านั้น แต่มันกระทบหมดทั้งเศรษฐกิจ”

 

เจษฎา ชื่นศิริกุล
Triple Pearl Beer และ The Red Taps Bangsaen

“เนื่องจากทางทีม Triple Pearl มีทั้งเบียร์และร้านคราฟต์เบียร์ของตัวเอง ผลกระทบที่ได้รับอันดับแรกจึงเป็นร้านคราฟต์เบียร์ที่ต้องหยุดลง เราไม่สามารถเปิดหน้าร้านได้จากมาตรการของรัฐ นั่นเลยเป็นผลสืบเนื่องทำให้เบียร์ที่เราผลิตและนำเข้าไม่สามารถขายเข้าร้านที่ปิดได้ ยอดขายเกือบกลายเป็นศูนย์ทันที ไม่มีออร์เดอร์เข้ามาเลย

“เราเข้าใจวัตถุประสงค์ของการออกมาตรการต่างๆ และทางเราสนับสนุนให้คนมีระยะห่างจากกัน แต่การดื่มเบียร์ก็สามารถดื่มที่บ้านได้ ไม่ต้องสังสรรค์กันเป็นกลุ่ม หรือให้ลูกค้าโทรสั่งและทางเราจัดส่งไปให้ลูกค้าได้อย่างสะดวก เพื่อสนับสนุนให้คนนั่งดื่มอยู่ที่บ้าน จะปาร์ตี้กันผ่านวิดีโอคอลหรือสื่อออนไลน์ก็ว่ากันไป ดังนั้นพวกเราถึงอยากเสนอให้ขยายเวลาการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลากลางวัน โดยแต่ละแบรนด์ดูแลเรื่องจัดส่งสินค้ากันเอง เราเชื่อว่านี่น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”

 

ราชศักดิ์ นิลศิริ
เบียร์ผีบอก และ Seize The Day

“Seize The Day เป็นคราฟต์เบียร์บาร์ที่ตั้งใจให้เป็นแหล่งนัดพบกันของคนในชุมชน เรามีเบียร์ที่หลากหลายพอจะดึงดูดให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเข้าไปในเมือง ลูกค้าหลายคนรู้จักกันที่นี่และคบเป็นเพื่อนกัน หรือไปต่อยอดทำธุรกิจร่วมกันก็มี แต่ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ลูกค้าไม่สามารถดื่มเบียร์ที่ร้านได้ เราจึงไม่มีรายได้เลย แม้ต่อรองค่าเช่าจากเจ้าของที่ได้ประมาณหนึ่ง แต่ก็เป็นเวลาสั้นๆ ยังมีค่าไฟฟ้า เงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายคงที่ที่ยังต้องแบกรับอยู่ รวมทั้งสินค้าในสต็อกที่ต้องรอการระบายออก

“ในระยะต้น ทางร้านมีบริการส่งเบียร์ถึงบ้านทั้งเบียร์สดและขวด แต่ยอดเทียบกันไม่ได้กับตอนเปิดร้าน ยิ่งกับสถานการณ์ตอนนี้วิธีนี้ก็ไม่ใช่ทางออกในระยะยาว ถ้าระยะยาวร้านคงปรับตัวให้เกิดคอมมิวนิตี้ออนไลน์มากขึ้น เช่น เปลี่ยนรูปแบบแหล่งนัดพบกันให้อยู่ในออนไลน์แทน อาจสร้างเป็นคอมมิวนิตี้ที่ให้ความรู้เรื่องเบียร์ ดนตรี หรือคอนเทนต์บางอย่าง กระนั้นส่วนตัวคิดว่ายังไม่ใช่คำตอบของร้านเบียร์อยู่ดี 

“สภาวะกดดันแบบนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาเพราะระยะยาวประชาชนจะเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่เห็นปลายทาง ไม่มีแม้แสงสว่าง ภาครัฐเองก็ไม่มีมาตรการรองรับอะไรที่ช่วยได้จริงๆ ดังนั้นในความเห็นเราก่อนอื่นเลยภาครัฐควรไล่ตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้นก่อน หลังจากนั้นภาครัฐควรผ่อนคลายและขณะเดียวกันก็คุมเข้มมาตรการบางอย่าง เช่น อนุญาตให้ออกมากิน-ดื่มได้แต่ต้องมีข้อบังคับด้าน social distancing ที่เข้มข้น หรือมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐตระเวนตรวจตราตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้คนเครียดสะสมน้อยลงและภาคธุรกิจพอจะประคองตัวไปได้บ้าง

“สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เราว่าภาครัฐสามารถใช้โอกาสนี้ช่วยพวกเราได้โดยการลดภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนนักดื่ม พวกเราก็สามารถช่วยกันได้โดยซัพพอร์ตโลคอลบาร์ ไม่ต้องเดินทางไกล สามารถสั่งร้านในพื้นที่ได้ถ้าผ่านช่วงนี้ไปแล้ว หรือถ้าต้องการตัวไหนพิเศษ หลายๆ ร้านก็เทรดกันได้ คราฟต์เบียร์ไม่ใช่ร้านเบียร์ แต่คือสังคมของการแบ่งปัน ใกล้ที่ไหนอุดหนุนที่นั่น และเราจะช่วยกันได้จริงๆ”

 

สิทธิกร จันทป
AKKEE Thai Delicacies & Testing Counter

“ทุกวันนี้ร้านเราปิดแล้ว จริงๆ เราคาดการณ์ล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่มีมาตรการให้ปิดร้านด้วยซ้ำ เราปิดร้านก่อนที่มีประกาศและหันมาทำเดลิเวอรีอย่างเต็มตัว เราลงทุนเพิ่มเติมเรื่องบรรจุภัณฑ์ทั้งอาหารและเบียร์ เพราะเรามองว่าร้านไม่ได้มีลูกค้าแค่กลุ่มเบียร์ 

“สำหรับเราปัญหาตอนนี้ไม่มีทางแก้ไขได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อีกต่อไป ที่เราคิดว่าสำคัญต่อจากนี้คือการเยียวยามากกว่า เช่น รายจ่ายด้านการขนส่ง อีกประการของเบียร์คือ ขอเพียงผู้นำเข้าเบียร์ไม่ลงมาขายเองร้านน่าจะพออยู่ได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือจากผู้นำเข้าบางเจ้าแล้ว สุดท้ายเราว่าความช่วยเหลือของคนในท้องถิ่นสำคัญที่สุด อยากให้ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น”

 

ศศรักษ์ สุทธิสุคนธ์ และ​ ณัฐกมล นาคะพรหม
CODE CRAFT

“เนื่องจากเราเป็นร้านขายคราฟต์เบียร์ แค่เศรษฐกิจแย่ยอดขายก็ลดลงแล้ว พอเกิดเหตุการณ์ไวรัสยิ่งกระทบหนักเข้าไปใหญ่ สถานการณ์ตอนนี้คือเราปิดร้านแบบไม่มีกำหนดเปิด เพราะไม่มีความชัดเจนและแน่นอนว่าวิกฤตครั้งนี้จะจบลงเมื่อไหร่ แต่ด้วยการทำธุรกิจที่ยังคงมี fixed cost อยู่พอสมควร รวมถึงภาระหนี้สินที่ยังคงต้องรับผิดชอบ ร้านเราจำเป็นต้องหามาตรการมาดูแลในส่วนนี้ด้วย

“จนถึงวันนี้เราทำไปแล้วหลายอย่าง ตั้งแต่การคุยกับเจ้าของที่เพื่อขอลดค่าเช่า พยายามขายสินค้าออนไลน์ให้มากขึ้นและใช้แพลตฟอร์มอื่นมาช่วย และลดปริมาณการใช้จ่ายหลายๆ ด้านลง ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าไฟ หรือค่าบริหารจัดการ แต่เหนืออื่นใดในวิกฤตแบบนี้สิ่งที่พวกเราตั้งใจทำมากคือการรักษาคอนเนกชั่นกับทั้งลูกค้าและร้านอื่นๆ ไว้ตลอด เราไม่อยากให้ธุรกิจของเราจางหายไป เรายังต้องคงเรื่องเซอร์วิสมายด์ที่ดีไว้ รวมถึงรักษาตัวตนและเอกลักษณ์ของร้านไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งส่วนนี้ต้องขอบคุณลูกค้าและเพื่อนๆ ที่ยังช่วยกันสนับสนุนและอุดหนุนกันอยู่ด้วย 

“ถ้าถามว่าวันนี้เราอยากได้อะไร เราอยากให้มีมาตรการป้องกันการระบาดและการแก้ไขที่ชัดเจน มีการวางแผนที่ดี และคำนึงถึงผลกระทบ ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กๆ รวมไปถึงธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์บ้าง เพราะธุรกิจนี้มักถูกหน่วยงานบริหารตัดออกไปเป็นลำดับแรกโดยไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อให้ประชาชนอย่างเราอยู่รอดในวิกฤตเช่นนี้เลย”

 

นิติพันธุ์ ครุธทิน
Craft Room Sathorn และ Craft Intersect

“ร้านผมยอดขายลดลงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ว่าที่ร้านมีอาหารขาย แต่ยอดขายส่วนมากมาจากคราฟต์เบียร์ เพราะคาแร็กเตอร์ของร้านคือ ‘บาร์’ ที่ผู้บริโภคตั้งใจเข้ามา ‘ดื่ม’ และมีปฏิสัมพันธ์สนทนากับคนในร้าน ดังนั้นการที่ไม่สามารถให้ลูกค้าบริโภคภายในร้านได้ ผลกระทบต่อร้านจึงมีมาก

“แม้ยอดขายจะแทบไม่มีแต่ต้นทุนคงที่ที่ยังต้องชำระนั้นยังอยู่ ในส่วนค่าเช่าร้าน ต้องร้องขอต่อผู้ให้เช่าในการพิจารณาลดค่าเช่า ในส่วนของเงินเดือนพนักงาน เป็นหน้าที่ของเจ้าของกิจการที่ต้องคิดรอบด้าน ถ้ากระแสเงินสดยังไม่ลำบากนัก เรายังสามารถจ่ายให้กับพนักงานได้ถึงแม้จะไม่เต็มจำนวน แต่ถ้ากระแสเงินสดไม่พอเมื่อไหร่เราอาจจะถึงขั้นเลิกจ้าง 

“กับสถานการณ์ตอนนี้เราอยากให้รัฐบาลหาวิธีกระตุ้นและแก้ไขจุดนี้บ้าง เพราะเมื่อคุณหาวิธีห้ามได้แล้ว เราว่าน่าจะต้องมีวิธีกระตุ้นและแก้ไขตามมาด้วย เช่น ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉพาะช่วงเวลาช่วยเหลือก็ได้ แต่เราคิดว่าต้องทำให้คนบริโภคบ้าง เราเชื่อว่าเมื่อมีการบริโภคแล้วโดยรวมจะดีขึ้น ส่วนในวงคราฟต์เบียร์เอง ถ้าซัพพลายเออร์ช่วยเรื่องต้นทุน อนาคตหลังจากเรื่องสงบลงเราคงทำโปรโมชั่นกระตุ้นการขายได้ โดยยังคงเหลือกำไรที่เหมาะสมให้เราอยู่รอดต่อไปได้”

 

กานต์ธิดา สาธุมนัสพันธุ์
น้ำต้นเฮาส์บาร์

“มาตรการของรัฐคือการให้ร้านค้าที่มีใบอนุญาตผับบาร์ปิดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เรายินดีปิดนะ แต่รัฐกลับไม่มีอะไรชดเชยให้เลย ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของเรายังคงเหมือนเดิมแต่เราขาดรายได้ เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่พนักงานต้อง leave without pay ซึ่งทำให้เกิดปัญหาคนว่างงานเป็นห่วงโซ่ต่อไปอีกเรื่อยๆ

“ก่อนหน้าเราก็เหมือนกับทุกร้านที่มีการขายส่งแบบเดลิเวอรี แต่ตอนนี้ต้องหยุดพัก ดังนั้นเราคิดว่ารัฐควรออกมาแก้ไขสถานการณ์เบื้องต้นให้ธุรกิจร้านค้าร้านอาหารได้หาทางระบายสินค้าหรือช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้แล้ว เราอยากให้รัฐบาลมองเห็นปัญหาและใส่ใจมากกว่านี้บ้าง เราเข้าใจนะว่าปัญหาระดับชาติอื่นๆ มีอีกมากมาย แต่ในฐานะของคนที่อยู่ตรงนี้เราอยากให้ช่วยแก้ปัญหาด้านนี้บ้างจริงๆ”

 

เอราวัณ วานิชย์หานนท์
Underdog Micro Brewery

“ก่อนปิดร้านร้านเรามีรายได้จากการขายหน้าร้านร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีการขายออนไลน์หรือเดลิเวอรีเลย ดังนั้นมีการประกาศให้ปิดร้าน ทางร้านก็เริ่มให้บริการแบบ take away ผลที่ออกมาคือรายได้หายไปเยอะมาก แทบไม่มียอดขาย ยิ่งตอนนี้ไม่ต้องพูดถึง

“สำหรับทางแก้ หลังจากที่มาตรการเหล่านี้จบลง ผมอยากให้อนาคตกรมสรรพสามิตอนุญาตให้ brew pub สามารถนำเบียร์บรรจุขายลงขวดหรือกระป๋องอย่างถูกกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้ที่เราทำแบบ take away ต้องกดเบียร์ลงขวดเอง เราไม่สามารถคุมคุณภาพได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการใส่บรรจุภัณฑ์ที่คุมคุณภาพเบียร์ได้เป็นทางออกให้ผู้ประกอบการขายเบียร์แบบเดลิเวอรีที่มีคุณภาพได้ในยามที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ และนี่จะเป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่จำเป็นต้องกักตัวอยู่บ้านเหมือนตอนนี้”

 

Brian Bartusch
ผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์ Beervana Thailand 

“จากการที่ลูกค้าปิดกิจการชั่วคราวเกือบทั้งหมด ยอดขายเราตกหนักมาก ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจเกือบทั้งหมดยังคงต้องจ่ายเท่าเดิม เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าที่ หรือค่าจัดเก็บสินค้า เราจึงปรับกลยุทธ์มาเน้นช่องทางการจำหน่ายสินค้า off-premise และออนไลน์แทน โดยรายได้ส่วนหนึ่งแบ่งให้กับร้านค้าที่ช่วยโปรโมตด้วย เพื่อให้ร้านค้ายังคงสามารถสร้างรายได้ระหว่างช่วงปิดหน้าร้าน รวมถึงบริษัทได้กระแสเงินสดเข้ามาจุนเจือค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ยังคงที่ 

“ทุกวันนี้เรายังพอไปได้ แต่อยากแนะนำให้ภาครัฐมองธุรกิจแอลกอฮอล์เป็นธุรกิจปกติสักที เพราะเราก็จ่ายภาษี เงินที่ได้ไปให้แต่ละหน่วยงานควรใช้ในทางที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่บอกให้คนเลิกหรือปิดร้านและไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรเลย

“แล้วพวกพี่ๆ เอาเงินภาษีพวกผมไปทำอะไรกัน”

 

ณิธีย์ หล่อเลิศวิทย์
ผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์บริษัท Worthy Wort เป็นที่รู้จักในนาม Drinkable

“มาตรการปิดบาร์ ร้านอาหาร และร้านค้า รวมถึงจำกัดการจำหน่ายสุรา ส่งผลให้หน้าร้านจำหน่ายได้น้อยลง ผลที่ตามมาคือคราฟต์เบียร์ ไซเดอร์ และ RTD ของบริษัทเราคงเหลืออยู่ในสต็อกของร้านต่างๆ ทำให้ลูกค้าไม่สามารถสั่งของเพิ่มจากเราได้ สินค้าที่เรามีสต็อกไว้และที่อยู่บนเรือที่กำลังเข้าประเทศจึงขายออกได้ยากขึ้นด้วย

“ถ้าวันตามจริง สินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าราคาสูง ผู้บริโภคมีเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นพอเกิดวิกฤตอัตราการบริโภคจะลดลงอยู่แล้ว สวนทางกับการที่สินค้าเหล่านี้มีต้นทุนการเก็บรักษาสูง คือต้องเก็บเย็นตลอด และส่วนมากมีอายุค่อนข้างสั้น ดังนั้นปัจจุบันจึงถือเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับเรา สินค้าบางส่วนจึงเหมือนถูกแช่แข็งไว้และบางส่วนก็ต้องเสียไปแบบช่วยไม่ได้

“แม้เราเองจะเจอปัญหาแต่เราคำนึงถึงร้านค้าที่เป็นลูกค้าของเราก่อน ตั้งแต่ที่มีการประกาศงดนั่งดื่มและปิดร้าน สิ่งที่เราทำอย่างแรกคือการแจ้งลูกค้าเรื่องการเพิ่มวันเครดิตสำหรับบิลที่ยังค้างชำระทัน เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ร้านค้าหมุนเงินไปชดเชยส่วนอื่นจากการที่รายได้ลดลง พวกเขาจะได้มีเวลาจำหน่ายสินค้าในสต็อกหน้าร้านเพื่อเอาเงินสดเข้าระบบก่อน ทั้งหมดคือการทำเท่าที่เราพอจะทำได้

“ถ้าว่ากันตามตรง เราทำงานเสียภาษีกันเยอะมาก แต่ตอนนี้กลับต้องดูแลกันเอง ซ้ำยังถูกตัดช่องทางการจำหน่ายโดยรัฐที่ล้มเหลวในการรับมือและจัดการกับปัญหาอีก ดังนั้นเราอยากเสนอให้ผู้ใช้อำนาจรัฐมีความเป็นมนุษย์มากกว่านี้ ง่ายๆ เลยคือหลักการใจเขาใจเรา เลิกคิดถึงตัวเองก่อนแล้วจะเห็นว่าควรทำอะไรที่สำคัญก่อน-หลัง ควรฟังใครก่อน-หลัง มาตรการต่างๆ ที่ใช้บริหารจะได้ไม่เชื่องช้า ล้มเหลว และแก้ไม่ตรงจุด เราอยากให้ตั้งใจเพื่อประชาชนมากกว่านี้ครับ ถ้าเข้าใจตรงนี้ผมว่ามาตรการทุกอย่างจะออกมาได้ผลแน่นอน”

 

ประภาวี เหมทัศน์
ตัวแทนจำหน่ายคราฟต์เบียร์ไทย Group B Beer

“Group B เป็นตัวแทนจำหน่ายคราฟต์เบียร์ไทยและเป็นเพียงเจ้าเดียวในตลาดที่จำหน่ายแต่สินค้าของไทยเท่านั้น นอกจากนั้นเรายังช่วยทำการตลาดให้ร้านด้วย แต่เมื่อร้านซึ่งเป็นลูกค้าหลักถูกสั่งปิด ยอดขายของ Group B ก็หายไปด้วยแทบจะ 90 เปอร์เซ็นต์

“ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา Group B เตรียมแผนที่จะพัฒนาบริษัทให้ดูแลลูกค้าและ brewer ให้ดีขึ้น แต่พอมีโควิด-19 กระแสเงินสดที่ควรต้องหมุนเวียนในการทำงานเราต้องนำไปจ่ายให้ซัพพลายเออร์จนอาจทำให้เกิดปัญหาในเร็วๆ นี้ แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นเราว่าคือเรื่องที่ brewer ไทยผลิตเบียร์อย่างต่อเนื่องเพราะพวกเขาคาดการณ์ว่าปีนี้ตลาดคราฟต์เบียร์ไทยกำลังคึกคัก แต่โควิด-19 ทำให้สินค้าใหม่เหล่านั้นต้องคงค้าง ไม่สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ 

“ในช่วงนี้ที่ไม่ได้ยอดจากร้านแน่ๆ เราจึงหันมาดันตลาดออนไลน์เต็มที่ ให้โค้ดลดราคา จัดเซตพร้อมของแถม ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางได้ยอดขายรวมเท่าเดิม เพราะปกติยอดขายออนไลน์เป็นแค่ 5-7 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมดในบริษัท แต่เราก็ต้องดันเพื่อให้ได้กระแสเงินสดมาหมุนก่อน ส่วนสำหรับร้านค้า Group B พยายามจะใช้ facility ที่มีอยู่ช่วยซัพพอร์ต เช่น ให้ลูกค้าประจำแต่ละร้านสั่งคราฟต์เบียร์ไทยผ่านร้าน และเราส่งให้ หรือสำหรับร้านที่สนิทๆ กัน เราตั้งใจให้พวกเขาเอาเบียร์ไปขายก่อนได้เลย ลูกค้ามาซื้อหรือสั่งกลับบ้านแล้วค่อยจ่ายเป็นรายอาทิตย์ เพราะอย่างหนึ่งที่ต้องคิดมากๆ คือเราต้องไม่ทำให้ร้านรู้สึกว่าแย่งลูกค้าโดยการขายออนไลน์ตัดราคาร้าน 

“นอกจากเรื่องการค้าขาย ช่วงนี้ Group B ก็พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส อะไรที่ทำได้เราจะรีบทำ เช่น การเริ่มเขียนคอนเทนต์เกี่ยวกับคราฟต์ไทยเพื่อกระตุ้นตลาด ทำระบบไลน์แอดต่างๆ ให้สามารถวิเคราะห์และจัดเรียงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พยายามมองว่าเวลาที่ได้มาเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ตอนที่ทุกอย่างโอเคขึ้นจะได้พร้อมฟื้นตัว 

“เหล้าเบียร์มักเป็นธุรกิจที่ตกเป็นจำเลยเจ้าแรกๆ อยู่แล้วในทุกสถานการณ์ ดังนั้นในสถานการณ์โควิด-19 นี้เราคงไม่ได้รับการเยียวยา เพราะรัฐบาลไทยไม่รับรู้ถึงการคงอยู่ของธุรกิจนี้อย่างเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว ทั้งที่เราเสียภาษีแพงมาก แพงกว่าประเทศอื่นๆ เยอะมาก แต่เรากลับไม่ได้รับการสนับสนุน คุ้มครอง ช่วยเหลือปกป้องอะไรเลย ดังนั้นถ้าขออะไรได้ เราอยากให้หลังวิกฤตนี้รัฐบาลหรือสักองค์กรลองลงมาศึกษาธุรกิจผลิตและจำหน่ายสุรา เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศอย่างจริงจังบ้าง”

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Miew8

นักวาดภาพประกอบ ทำกราฟิกพอได้ และอยากเกิดเป็นหมา