จีน อิตาลี อเมริกา เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ทำยังไง เมื่อต้องควบคุมไวรัส COVID-19

Highlights

  • ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกกำลังทะยานสู่ 400,000 คนแล้ว เชื้อกระจายไปกว่า 180 ประเทศทั่วโลก หลังจากเริ่มแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน
  • ตอนนี้จีนประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงแล้ว ทำให้เริ่มมีแผนการเปิดเมืองอู่ฮั่นให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
  • ส่วนอิตาลีอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนัก ยอดผู้เสียชีวิตแซงหน้าจีน มาตรการหลายอย่างเกิดจากการที่รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีการประกาศเคอร์ฟิว 6 โมงเย็น และสั่งปิดร้านอาหาร โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ
  • ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ มีวิธีการแก้ปัญหาคล้ายกันและตื่นตัวต่อการควบคุมโรคอย่างเด่นชัด ทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อไม่สูงเท่าไหร่นัก

ถึงนาทีนี้ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีตัวเลขใกล้แตะถึง 400,000 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่าหมื่นคนทั่วโลก

จากจุดเริ่มต้นที่ประเทศจีน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันวิกฤตนี้แพร่กระจายไปทั่วโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทำให้ทุกภาคส่วนหยุดชะงัก จากหนึ่ง เป็นสอง เป็นสาม จนปัจจุบันความเสียหายของไวรัสเจ้าปัญหานี้เกิดขึ้นในกว่า 180 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เอง แต่ละประเทศล้วนมีมาตรการวิกฤตนี้แตกต่างกันไป แม้บางประเทศมีมาตรการเหมือนกันและยังควบคุมไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ความพยายาม การตัดสินใจ และวิธีการของฝ่ายบริหาร ก็ทำให้ผลลัพธ์ตรงหน้าเปลี่ยนไป บ้างดีขึ้น บ้างทรงตัว บ้างชะลออาการ และบ้างก็แย่ลง

ที่ผ่านมาและปัจจุบัน แต่ละประเทศมีมาตรการหรือไอเดียอะไรที่น่าสนใจในการยับยั้ง ป้องกัน และลดทอนปัญหาที่เกิดขึ้นบ้าง เรารวบรวมมาให้แล้ว โดยเริ่มจาก 3 ประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก และประเทศที่มีสัญญาณที่ดีในการควบคุมโรคได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เห็นปัจจัย บริบททางการเมือง และวิธีคิดแก้ปัญหาของแต่ละประเทศในช่วงเวลานี้

A delivery driver pickes up takeaway food that is handed through the window of a restaurant in Beijing as the country is hit by an outbreak of the novel coronavirus, China, March 3, 2020. REUTERS

 

จีน

ผู้ติดเชื้อ 80,967 คน
ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 71,150 คน
ผู้เสียชีวิต 3,248 คน

หลังการเกิดขึ้นของเชื้อและการแพร่กระจายอย่างยาวนาน เมื่อไม่กี่วันก่อนประเทศจีนเพิ่งประกาศว่านี่เป็นครั้งแรกที่พบว่าไม่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประเทศแล้ว แต่ยังมีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศที่เข้ามาจีนอยู่ 

มาตรการทางการแพทย์อะไรที่ทำให้จีนแก้ปัญหากว่า 2 เดือนหลังการแพร่ระบาดที่เริ่มจากเมืองอู่ฮั่นได้ เว็บไซต์ Business Insider รวบรวบ 12 มาตรการสุดเข้มข้นและองค์ประกอบที่เป็นประโยชน์ที่จีนใช้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก โดยรายละเอียดแต่ละข้อมีดังต่อไปนี้

  1. ในช่วงที่การระบาดเพิ่มขึ้นอย่างใหญ่หลวง รัฐออกคำสั่งให้ขนส่งมวลชนหลักของประเทศอย่างรถไฟงดจอดรับผู้โดยสารที่เมืองอู่ฮั่นทันที เพราะมองว่าระบบขนส่งสาธารณะทำให้เกิดการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อโรคได้
  2. จีนรับมือกับการระบาดช่วงแรกได้ดีเพราะวิกฤตโรคซาร์สที่เกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อน ทำให้พวกเขามีอุปกรณ์และคลินิกตรวจอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากกว่าหลายประเทศ การตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 จึงเกิดขึ้นและมีการยืนยันผลอย่างรวดเร็ว
  3. แม้สุดท้ายหลังจากนั้นไม่นานการระบาดจะเริ่มควบคุมไม่ได้ แต่รัฐบาลจีนและเกาหลีใต้ก็รวมกันพัฒนาชุดตรวจไวรัส COVID-19 ให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ชุดตรวจนี้ช่วยประหยัดเวลาของคนที่เริ่มมีอาการป่วยจนมาโรงพยาบาลจากโดยเฉลี่ย 15 วัน เหลือแค่ 2 วัน
  4. เมื่อการระบาดเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง รัฐบาลจีนได้สร้างโรงพยาบาลขนาด 1,300 เตียง เสร็จภายใน 15 วัน เพื่อรองรับผู้ป่วย ที่สำคัญคือสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะเมื่อเกิดวิกฤตโรคซาร์สในอดีตพวกเขาก็เคยทำแบบนี้มาแล้ว โดยอาศัยคนงานในการก่อสร้างกว่า 4,000 คนทำงานทั้งวันทั้งคืน
  5. นอกจากการสร้างโรงพยาบาลใหม่ หลายสิ่งที่คนไม่รู้คือมาตรการสำหรับโรงพยาบาลที่มีอยู่ก่อนแล้ว สาธารณสุขจีนให้ก่อสร้างส่วนกักกันสำหรับผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว มีการแบ่งส่วนชัดเจนเพื่อรักษาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด
  6. นอกจากสถานที่แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่วิกฤตโรคซาร์สได้ฝากไว้ให้จีนคือระบบติดตามผู้ป่วย พวกเขาสามารถสืบค้นว่าคนที่ตรวจพบเชื้อไปสัมผัสกับใครมาก่อนหน้าได้อย่างรวดเร็ว ต่างกับอีกหลายประเทศที่จากคำกล่าวอ้างของ WHO บอกว่าไม่ตั้งใจและไม่ใส่ใจขั้นตอนนี้ ทั้งๆ ที่เป็นขั้นตอนขั้นต้นที่สำคัญมาก
  7. เนื่องจากการมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเอง อย่าง Weibo, WeChat และ Tencent หรือระบบการจ่ายเงินของตัวเองอย่าง Alipay รัฐบาลจีนจึงสามารถควบคุมการสื่อสารและการแพร่กระจายของข่าวสารได้ง่าย พวกเขาใช้ประโยชน์จากจุดนี้ทั้งในแง่การติดตามผู้ป่วยและการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามจนเกินไป
  8. สำหรับโรคอื่นๆ ที่ต้องรักษา จีนเลือกที่จะไม่ทิ้งตรงนี้เช่นกัน สาธารณสุขพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ทำได้ คือการให้แพทย์ในแผนกโรคอื่นๆ ทำงานออนไลน์ ทั้งในแง่ของการปรึกษาและการรายงานอาการของโรค พวกเขาพยายามลดทรัพยากรทางการแพทย์ด้านอื่นให้มากที่สุดเพื่อมาทุ่มกับการแก้ปัญหาใหญ่ที่อยู่ตรงหน้า
  9. นอกเหนือจากการจัดการทางสาธารณสุขแล้ว สิ่งที่ประชาชนชาวจีนต้องเจอคือการกักตัวอยู่ในบ้านเป็นระยะเวลานาน ในเวลาเหล่านั้นพวกเขาตัดสินใจแก้ปัญหาความต้องการพื้นฐานอย่างอาหารด้วยการสั่งออนไลน์แทน รัฐมีหน้าที่เพียงแค่ทำให้ขั้นตอนเหล่านี้ปลอดภัย จนสุดท้ายมีรายงานว่าในช่วงเวลากักตัวนั้นประชาชนชาวจีนสั่งอาหารกว่า 15 ล้านคนทั่วประเทศในเวลาเดียวกัน
  10. ในวิกฤตที่เกิดขึ้น อีกสิ่งนอกจากรัฐที่ทำให้จีนค่อยๆ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าคืออาสาสมัครที่เป็นประชาชนธรรมดาทั่วไป แม้เราจะเห็นข่าวประชาชนบางคนที่อาจสร้างปัญหาในการทำงานอยู่บ้าง แต่ในอีกด้านหนึ่งจีนก็มีอาสาสมัครทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้คนมากมายเช่นกัน
  11. เรื่องการกักตัว จีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำหน้าที่นี้ได้อย่างเข้มข้น ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการนี้เป็นอย่างดีจนเกิดเป็น social distancing ที่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าว่ากันตามจริงส่วนนี้อาจเกิดขึ้นได้เพราะการคุมเข้มอย่างจริงจังและการควบคุมสื่อของรัฐบาลด้วย
  12. สำหรับทุกข้อที่ผ่านมา อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้สื่อหลายประเทศลงความเห็นว่ามาตรการทั้งหมดนี้อาจมีเพียงจีนเท่านั้นที่ทำได้คือความเด็ดขาดของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐและระบบยุติธรรมของจีนพร้อมลงโทษคนที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้วยบทลงโทษที่เด็ดขาด โดยไม่มีการปรานีใดๆ ทั้งสิ้น

แม้ในแง่หนึ่ง นี่อาจเป็นเพียงข้อเท็จจริงผสมความเห็นจากเว็บไซต์ Business Insider แต่สื่อต่างประเทศหลายเจ้า เช่น เว็บไซต์ Science Magazine ก็พูดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับจีนในทิศทางเดียวกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนเคลื่อนได้เร็วและแรงคือความเด็ดขาดทางการเมืองที่ไม่ใช่ทุกประเทศจะทำตามได้ แต่พวกเขาก็แนะนำเช่นกันว่าภายใต้มาตรการเหล่านี้ยังมีบางอย่างที่หลายประเทศอาจนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน

A worker sanitises the Rialto Bridge as a measure against the coronavirus disease (COVID-19) in Venice, Italy March 13, 2020. REUTERS

 

อิตาลี

ผู้ติดเชื้อ 63,927 คน
ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 7,432 คน
ผู้เสียชีวิต 6,077 คน

นับว่าอิตาลีเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่อาทิตย์ จนหลายคนยกให้สถานการณ์เทียบเท่าจีนแต่เป็นสาขายุโรป เพราะตอนนี้มียอดผู้เสียชีวิต 800 กว่าคนต่อวัน แซงจีนไปเป็นที่เรียบร้อย

เกิดอะไรขึ้นในอิตาลีตั้งแต่แรกและรัฐบาลมีมาตรการอะไรในการจัดการกับวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ เราลองไปสำรวจกัน

  1. ก่อนวันตรวจพบเชื้อจากประชากรในประเทศ อิตาลีเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ประกาศยกเลิกไฟลต์บินขาเข้าและขาออกของจีน แต่ถึงอย่างนั้นผู้เชี่ยวชาญก็มองว่าไวรัสน่าจะระบาดมาก่อนหน้านี้แล้ว
  2. วันที่ 20 กุมภาพันธ์คือวันที่ชายวัย 38 ปี ผู้พักอาศัยในแคว้นลอมบาร์ดี ทางตอนเหนือของอิตาลี ตรวจพบเชื้อคนแรกของประเทศ ผ่านไปไม่ถึงอาทิตย์ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มสูงขึ้น และมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งหมด 12 คน
  3. ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดรัฐบาลอิตาลีสั่งปิด 12 เมืองที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นงาน Venice Carnival ที่ถูกยกเลิก ผู้คนจำนวนกว่า 50,000 คนถูกสั่งกักตัว งานแฟชั่นโชว์ของ Giorgio Armani ใน Milan Fashion Week ไม่มีคนเข้าร่วมงาน
  4. แม้ปิดเมืองไปบางส่วนแล้ว แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะยานถึง 9,000 คน และผู้เสียชีวิต 460 ราย รัฐบาลอิตาลีจึงประกาศให้กักตัวทั่วประเทศ ห้ามออกจากบ้านหลัง 6 โมงเย็น กิจกรรมต่างๆ ทั้งในโรงเรียน สถานที่สาธารณะ โรงละคร โรงภาพยนตร์ ยิม ถูกสั่งปิดทั้งหมด ใครฝ่าฝืนกฎหมายกักตัวจะถูกลงโทษจำคุก 3 เดือนขึ้นไป หรือปรับ 7,000 กว่าบาท 
  5. เขตที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือลอมบาร์ดี จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นจนถึงขั้นที่แพทย์ต้องเลือกว่าผู้ป่วยคนไหนจะได้รักษาต่อ (ซึ่งส่วนใหญ่ต้องยอมยกเลิกการรักษาผู้สูงวัย) ทั้งยังไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วย แม้กระทรวงสาธารณสุขจะพยายามเพิ่มจำนวนอุปกรณ์การแพทย์และเตียงให้โรงพยาบาลแล้ว
  6. Attilio Fontana ผู้ว่าการแคว้นลอมบาร์ดี ขอร้องทางมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาที่เรียนจบแพทย์และพยาบาลสำเร็จการศึกษาก่อนกำหนด เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
  7. จากเหตุการณ์นี้เองทำให้บริการสาธารณสุขอิตาลีได้รับการท้าทายและตั้งคำถามจากหลายภาคส่วน เพราะมีรายงานว่าแม้ประชาชนจะได้รับบริการดูแลสุขภาพฟรี แต่อิตาลีลงทุนด้านสุขภาพของประชาชนประมาณ 6.8 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศ ซึ่งอยู่ในอัตราที่น้อยกว่าชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน
  8. รัฐบาลอิตาลีระงับการเก็บภาษีและจัดทุนสนับสนุนประมาณ 8.5 พันล้านดอลลาร์ฯ สำหรับครอบครัวและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ (แต่ในระยะยาวผู้เชี่ยวชาญก็เป็นห่วงเพราะก่อนหน้านี้อิตาลีมีหนี้สาธารณะ 134 เปอร์เซ็นต์ของ GDP) 

แต่ด้วยจำนวนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะสูงต่อไปเรื่อยๆ หลายสื่อวิเคราะห์ว่านี่อาจเป็นเพราะอิตาลีเป็นสังคมผู้สูงอายุอันดับ 2 ของโลก ทำให้ 58 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตมีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป 

หลายสื่อมองว่าการให้ข้อมูลของรัฐบาลอิตาลีไม่ชัดเจนทำให้คนไม่รู้สึกว่าเป็นโรคร้ายแรงเท่าไหร่นัก แถมยังมี Nicola Zingaretti หัวหน้าพรรคการเมือง ออกมาสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงที่ตัวเลขพุ่งทะยานมากๆ ว่า “จะไม่ปรับพฤติกรรม เศรษฐกิจสำคัญกว่าความกลัว ออกไปข้างนอก ไปจิบกาแฟ กินพิซซ่ากัน” ท้ายสุดเขาพบว่าตัวเองติดเชื้อไวรัส

อีกทั้งก่อนประกาศกักตัวทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ ข้อมูลนี้กลับรั่วไหลไปถึงสื่ออิตาลีก่อน ทำให้ผู้ที่อยู่ทางตอนเหนือซึ่งเป็นเขตควบคุมการระบาดอพยพไปอยู่ทางตอนใต้ การแพร่กระจายของเชื้อก็ดูจะลุกลามต่อไปเรื่อยๆ ตอนนี้หลายฝ่ายเฝ้าติดตามว่าอิตาลีจะสามารถควบคุมการระบาดไปในทิศทางใดบ้าง

 

สหรัฐอเมริกา

ผู้ติดเชื้อ 41,569 คน
ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 187 คน
ผู้เสียชีวิต 504 คน

นับตั้งแต่การตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 21 มกราคม ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นจนทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่ติดเชื้ออันดับ 3 ของโลก ตอนนี้ผู้ติดเชื้อกระจายไปยังนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และรัฐอื่นๆ ทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ WHO ยังเตือนว่าสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นศูนย์กลางของการระบาดแทน

มาตรการอะไรบ้างที่สหรัฐอเมริกากำลังทำเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดนี้ เราลองรวบรวมมาจากหลากหลายสำนักข่าวตามรายละเอียดนี้

  1. ต้นเดือนมีนาคม รัฐบาลประกาศระงับการเดินทางจากยุโรปเป็นเวลา 1 เดือน ยกเว้นพลเมืองอเมริกันและผู้ที่เดินทางมาจากอังกฤษ 
  2. Donald Trump ประกาศภาวะฉุกเฉินรับมือวิกฤตการระบาด พร้อมจัดสรรงบประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข 
  3. มีการสั่งปิดโรงเรียน ห้ามการชุมนุม โดยในวันที่ 16 มีนาคมทรัมป์ประกาศแนวทางกระตุ้นให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางและการพบปะสังสรรค์เกินกว่า 10 คน 
  4. ส.ส.พรรคเดโมแครตเรียกร้องในสภาให้ประชาชนตรวจเชื้อไวรัสได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  5. หลายแล็บในสหรัฐอเมริกาพยายามคิดค้นและผลิตวัคซีนต้านไวรัส
  6. ล่าสุดทรัมป์ออกมาทวีตให้กำลังใจประชาชนชาวอเมริกันว่า “ผู้คนอยากกลับไปทำงานตามเดิม พวกเขากำลังฝึกที่จะทำ social distancing และอื่นๆ ส่วนผู้สูงวัยจะได้รับการดูแลอย่างดีด้วยความรัก การรักษาไม่ได้เลวร้ายไปกว่านี้ สภาคองเกรสต้องทำอะไรสักอย่าง แล้วเราจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง!”

 

เกาหลีใต้

ผู้ติดเชื้อ 8,961 คน
ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 3,166 คน
ผู้เสียชีวิต 111 คน

ในขณะที่เรากำลังรวบรวมข้อมูลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ได้ออกมาบอกว่า ประเทศได้พ้นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 แล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ภาวะวิกฤตช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งทำให้เกาหลีใต้ทะยานขึ้นไปเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดอันดับ 2 รองจากจีน 

จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้เกิดจากการพบผู้ติดเชื้อเคสที่ 31 (ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อบ้างแล้ว) เมื่อสอบถามประวัติการเดินทางพบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้เข้าร่วมพิธีทางศาสนาของกลุ่มชินชอนจีในเมืองแทกู ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 500 คน ตั้งแต่นั้นมาเกาหลีใต้เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด ภายใน 12 วันทางการประกาศว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 2,900 เคส

แล้วมาตรการอะไรที่ทำให้เกาหลีใต้เริ่มควบคุมการแพร่ระบาดได้ทั้งที่ไม่ได้ปิดทั้งประเทศ สั่งหยุดโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือร้านค้าต่างๆ (แต่ปิดเมืองแทกูที่เป็นต้นกำเนิดของการแพร่กระจาย)

  1. การนำคนในกลุ่มเสี่ยงมาตรวจเชื้อไวรัสให้เร็วที่สุด โดยก่อนหน้านี้เกาหลีใต้ได้พัฒนาชุดตรวจเชื้อแบบง่ายๆ ไว้ตั้งแต่จีนประกาศพบผู้ติดเชื้อช่วงเดือนมกราคมแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเจ้าหน้าที่สามารถตรวจกลุ่มเสี่ยงได้ถึงวันละ 10,000 คน Business Insider รายงานว่า เฉพาะวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ตรวจกลุ่มเสี่ยงไปแล้ว 274,504 คน ทำให้รู้ว่าใครอยู่ในกลุ่มที่จะต้องกักตัว
  2. ที่สำคัญคือเมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้วทางการจะจัดทำระบบติดตามรอยเท้าเดิมของผู้ป่วยว่าเคยทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง, ติดตามจีพีเอสในโทรศัพท์ หากผู้ที่ต้องกักตัวออกข้างนอกก็จะมีระบบแจ้งเตือน, ดูบันทึกบัตรเครดิต และดูกล้องวงจรปิดจากสถานที่ที่ผู้ป่วยไปมาก่อนหน้านี้ 
  3. ข้อมูลทั้งหมดรัฐบาลจะส่งต่อไปยังประชาชนคนอื่นๆ ผ่านเอสเอ็มเอส โทรศัพท์ หรือเว็บไซต์ทางการ (โดยไม่ระบุชื่อผู้ป่วย) เพื่อให้ประชาชนติดตามข้อมูลว่าตัวเองเคยไปที่เดียวกันกับผู้ป่วยหรือไม่ ถ้าใครเคยก็เข้าไปตรวจได้ และให้ประชาชนไม่ต้องเสี่ยงไปในที่ที่ผู้ป่วยเคยไปมาด้วย
  4. ผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีไข้ปานกลางจะมีการจัดพื้นที่กักตัวซึ่งมีบริการทางการแพทย์ดูแลและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ใครที่มีไข้อ่อนกว่านั้นและดูแลตัวเองได้ ทางการจะให้กักตัวในบ้านและห่างจากญาติประมาณ 2 อาทิตย์พร้อมกันนั้นรัฐบาลจะจัดส่งกล่องยังชีพให้ด้วย และหากใครไม่กักตัวจะเสียค่าปรับประมาณ 78,000 บาท 
  5. นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังใช้หุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการทำงาน โดยมีหุ่นยนต์ 3 แบบด้วยกันคือ หนึ่ง ช่วยตรวจสอบอุณหภูมิของผู้เข้ารับการรักษา สอง ใช้ฆ่าเชื้อห้องแรงดันลบ และสาม ขนส่งเสื้อผ้าและของใช้ใช้แล้วของแพทย์และผู้ป่วยไปยังสถานที่กำจัด เทคโนโลยีเหล่านี้พัฒนาโดย Korea Institute For Robot Industry Advancement และบริษัทเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนด้านเทคโนโลยี

นี่เป็นวิธีการที่นักวิชาการหลายคนเห็นด้วยว่าจะควบคุมการระบาดได้ หลายประเทศทั่วโลกยกย่องมาตรการการดูแลของเกาหลีใต้ ตอนนี้พวกเขากำลังพัฒนาวัคซีนและชุดเครื่องตรวจที่สามารถตรวจได้ที่บ้าน และต้องยอมรับว่าเกาหลีใต้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ทำให้ค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว จากยอดติดเชื้ออันดับ 2 กลายเป็นอันดับ 8 ของโลก 

A devotee gets his temperature measured and hands sanitized to protect himself from the coronavirus (COVID-19), before entering Lungshan Temple in Taipei, Taiwan, March 12, 2020. REUTERS/Ann Wang

 

ไต้หวัน

ผู้ติดเชื้อ 195 คน
ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 28 คน
ผู้เสียชีวิต 2 คน

แม้จะมีอาณาเขตใกล้กับจีน รวมถึงในช่วงเดือนมกราคมซึ่งเริ่มมีข่าวคราวการกระจายของเชื้อ ยังคงมีเที่ยวบินอู่ฮั่น-ไต้หวันวันละ 12 เที่ยวอยู่ แถม WHO ก็ไม่ได้รับไต้หวันเป็นสมาชิกเพราะสถานะทางการเมือง แต่ไต้หวันก็พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถควบคุมอัตราการติดเชื้อได้อย่างน่าสนใจ

ส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ไต้หวันมีตัวเลขแทบจะคงที่ได้ในระยะเวลาที่หลายประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดคือ การเตรียมตัวและการวางแผนเป็นอย่างดี ผสมผสานกับเทคโนโลยีและความโปร่งใสในการให้ข้อมูลของรัฐบาล

  1. แน่นอนว่าการจัดการครั้งนี้ได้บทเรียนจากการควบคุมโรคซาร์สในปี 2003 ทำให้ไต้หวันสร้าง The National Health Command Center (NHCC) เพื่อประสานงานกับรัฐบาลและจัดการวิกฤตการณ์โรคระบาดในอนาคต
  2. ดังนั้นช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนการเผยแพร่ข้อมูลว่าไวรัสสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ทางการไต้หวันได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปจีนเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่เมื่อพบว่ามีข้อมูลหลายอย่างที่จีนไม่ต้องการให้รู้ เจ้าหน้าที่ไต้หวันจึงเริ่มเข้าสั่งการ NHCC โดยวางมาตรการควบคุมการระบาดหลายอย่าง เช่น การตรวจคนเข้าเมืองอย่างเข้มข้น การสั่งการให้คนที่เคยเดินทางไปฮ่องกง มาเก๊า จีน จะต้องกักตัว และต่อมาก็เป็นประเทศแรกที่ประกาศยกเลิกเที่ยวบินจากอู่ฮั่น
  3. มีมาตรการแบ่งสันปันส่วนหน้ากากอนามัยให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลน การกักตุนสินค้า และการซื้อ-ขายเกินราคา ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาไทเปผลิตหน้ากากได้ 6.5 ล้านชิ้น เจลล้างมือ 84,000 ลิตร และเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย 25,000 ชิ้น 
  4. การนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยของไต้หวัน ทำให้รัฐบาลส่งต่อข้อมูลได้อย่างเชื่อมั่นและโปร่งใส พวกเขาใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง National Health Insurance Administration, National Immigration Agency และกรมศุลกากร เพื่อระบุพิกัดของผู้ติดเชื้อ ส่งต่อข้อมูลการเดินทางและประวัติทางการแพทย์ของผู้ติดเชื้อผ่านทางโทรศัพท์ให้ประชาชน นอกจากนี้ยังมีการใช้ฮอตไลน์เพื่อให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่กังวลว่าจะติดเชื้อไวรัส ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีคิวอาร์โค้ดให้สแกนเพื่อรายงานประวัติการเดินทางตลอด 14 วันที่ผ่านมาและอาการป่วยด้วย
  5. บริการด้านสาธารณสุขของไต้หวันยังทำให้ประชาชนสบายใจที่จะเข้ารับการตรวจเชื้อโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากมีความเสี่ยงและต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน รัฐจะจัดสวัสดิการอาหารและยาให้
  6. สื่อต่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไต้หวันพิสูจน์ให้เห็นว่าการเตรียมแผนอย่างรวดเร็วและการกระจายการป้องกันถึงประชาชนทุกคนช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้

Passengers in protective suits arrive at Hong Kong International Airport, following the novel coronavirus disease (COVID-19) outbreak, Hong Kong, China March 19, 2020. Picture taken March 19, 2020. REUTERS/Tyrone Siu

 

ฮ่องกง

ผู้ติดเชื้อ 356 คน
ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 100 คน
ผู้เสียชีวิต 4 คน

ฮ่องกงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในเขตปกครองของจีน ในรอบปีที่ผ่านมาประชาชนต่างลุกฮือประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแพร่หลาย เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นจึงมีความกังวลจากหลายฝ่ายว่าฮ่องกงจะพบเชื้ออย่างกว้างขวางเพราะมีพื้นที่ไม่ห่างจากจีนเท่าไหร่ด้วย

แต่การคาดการณ์เหล่านี้ผิดถนัด เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อของฮ่องกงอยู่ในจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้

เราลองไปดูมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อของฮ่องกงซึ่งมีวิธีการคล้ายๆ ไต้หวัน อย่างการทำแผนที่แสดงให้เห็นว่าผู้ติดเชื้อเดินทางไปไหนมาบ้าง, มาตรการ social distancing, การรณรงค์ให้ประชาชนล้างมืออย่างถูกต้อง, การใส่แมสก์ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน

แต่สิ่งสำคัญคือทั้งรัฐและประชาชนชาวฮ่องกงตื่นตัวต่อการแพร่ระบาดของไวรัสตั้งแต่มีข่าวที่จีน เพราะพวกเขาเริ่มมองหาแมสก์มาสวมใส่ มีการสั่งปิดโรงเรียนและสวนสาธารณะ และก่อนที่หลายประเทศจะเริ่มมาตรการ social distancing และ work from home ฮ่องกงก็ได้นำมาตรการเหล่านี้มาใช้เกือบ 2 อาทิตย์ก่อนเข้าสู่เดือนมีนาคมแล้ว 

หลังจากนั้นมา แม้จะมีเคสเพิ่มขึ้นแต่ทั้งหมดมาจากชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในฮ่องกงและชาวฮ่องกงที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

รัฐจึงออกมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยจะได้รับสายรัดข้อมือในการติดตามการกักตัว 14 วัน หากใครฝ่าฝืนจะดำเนินคดีอาญา ซึ่งตำรวจได้จับคนที่ตัดสายรัดข้อมือไปแล้ว 5 คน

ตอนนี้ Carrie Lam ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง จึงออกมาตรการใหม่โดยประกาศว่าจะไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาในฮ่องกงแล้ว ซึ่งจะเริ่มมาตรการนี้ในวันพุธที่ 25 มีนาคม


หมายเหตุ : ข้อมูลสถิติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563
จาก

Aljazeera.com
Aljazeera.com
Brookings.edu
BusinessInsider.com
BusinessInsider.com
cnn.com
cnn.com
Koreaherald.com
NYtimes.com 
npr.org
prachachat.net
Sciencemag.org
Time.com
Time.com
theguardian.com
worldmeters.info

AUTHOR