ความแก่เฒ่าจะพราก ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ไปจากพวกเราไหม?

Highlights

  • ก่อนหน้านี้เราเชื่อกันว่า ความแก่ชราคือศัตรูฉกาจของสมอง จากองค์ความรู้ที่ส่งต่อกันมาว่าพอถึงช่วงอายุต้นๆ 40 ปี สมองจะเริ่มสูญเสียศักยภาพในการรับรู้สิ่งใหม่ๆ
  • แต่ในระยะหลังเมื่อเรามีวิทยาการแพทย์ที่รุดหน้าขึ้น นักประสาทวิทยาค้นพบว่ากระบวนการแก่ชรา ไม่ได้เป็นอุปสรรคการเรียนรู้ทักษะใหม่
  • การกินอาหารที่ดี และมีกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างสม่ำเสมอได้รับการยืนยันแล้วว่า มีส่วนช่วยด้านพัฒนาการสมองในทุกกลุ่มอายุ

คุณกลัวความแก่เฒ่าไหม จินตนาการถึงตัวเองไว้อย่างไรหากล่วงเข้าสู่วัยสูงอายุ

ยิ่งเราเติบโตขึ้น เซลล์ร่างกายก็จะแบ่งตัว เรื่อยๆ จนความยาวของทีโลเมียร์ (telomere) หดสั้นลงจุ๊ดจู๋ ถึงขั้นเสื่อมสภาพ และเซลล์นั้นก็ตายไป นี่จึงเท่ากับร่างกายของเราเดินทางสู่ความเสื่อมอันยากจะหวนกลับ เมื่อเราหยุดความแก่ไม่ได้ พวกเราจึงปล่อยให้อายุกลืนกิน ปิดกั้นผัสสะรอบกายจากประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วก็บ่นอุบว่า ฉันแก่แล้ว จะให้ไปทำอะไรได้อีกแหละ

อย่าเพิ่งถอดใจเช่นนั้น ความคิดสร้างสรรค์ยังถูกจุดติดขึ้นได้เสมอ แม้มนุษย์จะอยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เพราะงานวิจัยด้านประสาทวิทยาปัจจุบันพิสูจน์ว่า ยิ่งสมองคุณแก่ ความสร้างสรรค์ของคุณยิ่งเฉียบคม เหมือนมีดที่ถูกลับคมอยู่เสมอ

 

แม้มีดบิ่นไปบ้างตามกาลเวลา แต่มันไม่เคยสูญเสียคม

ผมรู้จักกับหญิงคนหนึ่งที่ตลอดชีวิตการทำงานของเธอ คือการอยู่ในตำแหน่งหนึ่งของระบบราชการไทยที่เธอไม่เคยเบนไปทำอะไรอย่างอื่นนอกจากงานที่ตัวเองรับผิดชอบ งานอดิเรกก็ไม่มี ใช้ชีวิตในรูปแบบซ้ำๆ มานานหลายปี จนกระทั่งวันหนึ่งผู้หญิงคนนี้มีโอกาสไปนั่งลองเล่นเปียโนในห้องอาหารของโรงแรม เธอกดไม่กี่คีย์ก็รู้สึกว่าชอบเสียงนุ่มๆ ของเปียโน

แม้ตลอดชีวิตเธอเคยได้ยินเสียงเปียโนที่คนอื่นเล่นมานับไม่ถ้วน แต่ครั้งนี้เธอเพิ่งได้ยินเสียงโน้ตที่กดแป้นคีย์ด้วยตัวเอง วินาทีนั้นเองที่เธอได้แรงบันดาลใจครั้งสำคัญ

หลังจากนั้นเธอสนใจเล่นเปียโนอย่างจริงจัง ขนาดไปเรียนเป็นเรื่องเป็นราว ครูฝึกสอนยังตกใจเมื่อนักเรียนดนตรีมือใหม่มีอายุถึง 67 ปี

ใครๆ ต่างก็เรียกเธอว่า ‘พี่ประภา’ หลังจากเกษียณจากราชการแล้ว เธอแบ่งเวลาฝึกฝนทักษะด้านดนตรี จนปัจจุบันพี่ประภาเล่นเปียโนได้ดี และยังคงไปเล่นเปียโนตามโรงพยาบาล โรงแรม โดยได้ค่าจ้างนิดๆ หน่อยๆ พอให้หัวใจเริงร่า

 

พี่ประภาเพิ่งมาค้นพบพรสวรรค์ของตัวเองในวัย 67 ปี หรือจริงๆ แล้วเราทุกคนมีพรสวรรค์ที่ซุกซ่อนอยู่

ก่อนหน้านี้เราเชื่อกันว่า ความแก่ชราคือศัตรูตัวฉกาจของสมอง จากองค์ความรู้ที่ส่งต่อกันมาว่า สมองมนุษย์ทำงานในจุดพีคสุดราวช่วงอายุ 30 ปี พอถึงช่วงต้นๆ 40 ปี กิจกรรมสมองเริ่มลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุ 70 ปี สมองจะสูญเสียศักยภาพในการรับรู้สิ่งใหม่ๆ ทำข้อมูลตกหล่น หรืออีกนัยหนึ่งคือขุนไม่ขึ้น เข็นไม่ไป หรือวลีที่คนไทยติดปากว่าไม้แก่ดัดยากอะไรประมาณนั้น

แนวความคิดนี้ฝังรากลึกในกระบวนทัศน์ของพวกเรา ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากเลือกที่จะหยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะกลัวว่าตัวเองจะเป็นอุปสรรค ใช้ขีดจำกัดทางชีวภาพเพื่อบ่ายเบี่ยง

แต่ในระยะหลังเมื่อเรามีวิทยาการแพทย์ที่รุดหน้าขึ้น บรรดานักประสาทวิทยากลับพบว่า แม้ว่าคุณจะเลยอายุ 30 ปีหรือปาไป 60 ปี สมองกลับมีความยืดหยุ่นกว่าที่เราเคยปรามาสไว้ สมองไม่ได้สูญเสียศักยภาพ และยังหิวกระหายการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ดี

แม้ในแง่หนึ่งของมิติด้านความทรงจำ ผู้สูงอายุอาจมีความทรงจำระยะสั้น (short-term memory) ที่แม่นยำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหนุ่มสาว ต้องใช้เวลาในการนึกคิดสักครู่ แต่สมองพร้อมเปิดรับข้อมูลและมี cognitive function รับ-ส่งจากผัสสะต่างๆ ที่ตัวเลขอายุไม่ได้เป็นอุปสรรค

ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นคือ หากผู้สูงอายุเรียนรู้ทักษะใหม่ พวกเขาจะถอดใจน้อยกว่าหนุ่มสาว เพราะความยืดหยุ่นต่อการลองผิดลองถูกมีอุปนิสัยที่พัฒนาจนนิ่งระดับหนึ่ง (temperament) เหมาะสมต่อการเรียนรู้ เวลาทำอะไรแล้วผิดพลาดจะรู้สึกรำคาญตัวเองน้อยกว่า ทำให้ลองผิดลองถูกไปได้เรื่อยๆ เช่นเดียวกับกรณีของพี่ประภานักเปียโนสูงอายุ เธอยอมรับเองว่าในช่วงเรียนเปียโนแรกๆ เธอเรียนรู้ค่อนข้างช้ากว่าเด็ก 10 วบ แต่ด้วยมีความตั้งใจอย่างสม่ำเสมอ และไม่รู้สึกรำคาญตัวเองระหว่างกดคีย์ผิด ทำให้เธอค่อยๆ เล่นจนจบเพลงได้

สิ่งนี้เองที่ตรงกับนักประสาทวิทยาค้นพบว่า กระบวนการแก่ชรา (aging process) ไม่ได้เป็นอุปสรรคการเรียนรู้ทักษะใหม่ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถกลับไปเรียนรู้แบบเด็กได้ สมองของเด็กช่วงปฐมวัยอยู่ในภาวะพร้อมเติบโตเต็มที่ ใช้พลังงานสูงเพื่อเตรียมรับ input ที่ถาโถมเข้าทุกผัสสะแบบล้นทะลัก ทำให้สมองจำเป็นต้องประมวลผลเร็ว การเรียนรู้ที่รวดเร็วจึงตามมา แต่ในกรณีสมองผู้สูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระ กิจกรรมที่เซลล์ใช้พลังงานหนักๆ ลดลง ดังนั้นการเรียนรู้ของผู้สูงอายุจึงอาศัยความต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไป วินาทีต่อวินาที ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ราวกับสมองมีกาวที่เชื่อมประสานไว้ด้วยกัน

 

‘กาว’ ในที่นี้คือ ‘เซลล์เกลีย’ (glial cell) ที่เป็นเครือข่ายช่วยเกื้อหนุนค้ำจุนเซลล์ประสาทไว้ (คำว่า glia มาจากรากศัพท์ภาษากรีกที่แปลว่า glue หรือกาว) นิยามโดยนักกายวิภาคชาวเยอรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เซลล์เกลียนี้ยังมีหน้าที่เป็นแหล่งอาหาร รักษาภาวะ homeostasis สร้างเยื่อไมอีลินห่อหุ้มแอ็กซ็อน (axon) และถ่ายทอดสัญญาณประสาท เราคงได้ยินชื่อ ‘ปลอกไมอีลิน’ (myelin sheath) บ่อยๆ ในเรื่องพัฒนาการเด็ก แต่ในผู้ใหญ่เองปลอกไมอีลินก็ยังมีความสำคัญไม่น้อย

มีงานวิจัยที่เกี่ยวพันกับการศึกษาปลอกไมอีลินด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) พบว่า ผู้สูงอายุ 50-60 ปี ที่สุขภาพดี มีกิจกรรมทำสม่ำเสมอ ยังมีปลอกไมอีลินที่หนาแน่นบริเวณสมองกลีบหน้า (frontal lobe) ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ซึ่งแตกต่างจากคนที่แอ็กทีฟน้อย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางสมองที่ปลอกไมอีลินบางลง แม้จะมีอายุเพียง 45-50 ปีเท่านั้น

การกินอาหารที่ดี และมีกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างสม่ำเสมอ ช่วยส่งเสริมให้ปลอกไมอีลินหนาขึ้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาสะสมทุกวัน มันอาจไม่ได้เป็นภาวะ Eureka ที่อยู่ๆ วันหนึ่งคุณก็ตะโกนออกมาว่าฉันค้นพบทักษะใหม่ที่ซุกซ่อนแบบปุบปับ เพราะในความเป็นจริงแล้วการค้นพบทักษะใหม่เสมือนการเติบโตของรากไม้ที่ค่อยๆ ชอนไชจากส่วนหนึ่งไปยังส่วนหนึ่ง

 

กิจกรรมที่สร้างสรรค์หลายรูปแบบที่ได้รับการยืนยันแล้วว่ามีส่วนช่วยด้านพัฒนาการสมองในทุกกลุ่มอายุคือ การเล่นดนตรี การสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะ และทักษะการอ่านหรือเขียนภาษาที่ 2 ขึ้นไป โดยทีมวิจัยพบว่า ผู้ที่เรียนรู้ภาษาใหม่ๆ อยู่เสมอ ลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ได้ถึง 4 ปี กว่าคนที่พูดแค่ภาษาเดียว

ความสร้างสรรค์ที่ต่อยอดในช่วงสูงวัยยังนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว กระตุ้นให้กระหายออกไปสำรวจขอบเขตของศักยภาพตัวเองได้อีก เพราะวิวัฒนาการของมนุษย์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการขยายเผ่าพันธุ์แล้วตายไป เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้คุณจะไม่ประสบความสำเร็จเลยในสายตาของคนอื่น แต่ทุกการพยายามทิ้งร่องรอยไว้ในกระบวนการที่สมองได้ประมวลผลที่อาจนำไปปรับใช้ในมิติอื่นๆ

ความสร้างสรรค์จึงเป็นกระบวนการที่เป็นสามัญและธรรมชาติที่สุดของมนุษย์

เรามักกล่าว ‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ เป็นของธรรมดา แต่ผมอยากเพิ่ม ‘ความคิดสร้างสรรค์’ เข้าไปด้วยอีกอัน เพราะมนุษย์นั้นไม่สามารถหยุดสร้างสรรค์ได้

 

อ้างอิง

Conscientiousness, Dementia Related Pathology, and Trajectories of Cognitive Aging

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน