คงพอกล่าวได้ว่า a day ฉบับรวมเรื่องสั้น ‘สถาน ณ กาลไม่ปกติ’ อยู่ในสถานะไม่ปกติ
ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก การจัดหน้า โครงสร้างเนื้อหา แน่นอนว่ามันคือหนังสือรวมเรื่องสั้นอย่างไม่ต้องสงสัย เนื้อหาด้านในไม่มีสิ่งใดใกล้เคียงวิธีคิดในการทำนิตยสารแบบดั้งเดิมที่พวกเราคุ้นชิน แต่ด้วยวาระการวางจำหน่าย ชื่อนิตยสารบนปก หรือแม้กระทั่งราคาที่ตั้ง มันก็ชวนคิดได้ว่านี่คือนิตยสารเล่มหนึ่งที่ขนาดและรูปเล่มเปลี่ยนแปลงไปจากสถานะปกติ
ความไม่ปกติบางอย่างสังเกตได้ง่าย ในขณะที่ความไม่ปกติบางอย่างสังเกตได้ยาก
ยิ่งหากใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเคยชิน–ไม่เฉลียวใจตั้งคำถาม
แม้ยังไม่หมดปี แต่เราก็อาจกล่าวได้ว่าปี 2020 เป็นปีหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติมากที่สุดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราต่างเผชิญข่าวร้ายรายสัปดาห์และเรื่องเศร้ารายวัน
ไล่ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย สัตว์ป่าเสียชีวิตไปกว่าพันล้านตัวจากวิกฤตครั้งนี้ ต่อมาสหรัฐอเมริกาสั่งการสังหารผู้นำกองกำลังอิหร่านจนเสี่ยงที่จะเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 นอกจากนั้นยังมีภัยธรรมชาติครั้งรุนแรงในบางประเทศทั้งภูเขาไฟปะทุและน้ำท่วมฉับพลัน ยังไม่นับเหตุการณ์ในประเทศที่สั่นสะเทือนความรู้สึกและสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเหตุการณ์ปล้นทองที่ลพบุรีและเหตุการณ์ปล้นปืนก่อนกราดยิงที่โคราช
จนกระทั่งการมาถึงของวิกฤตโรคระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ข่าวร้ายต่างๆ ถูกถมกลบด้วยผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลังจากวันที่ 11 มีนาคม 2020 องค์การอนามัยโลกประกาศยกระดับให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ที่กระจายวงกว้างไปทั่วโลก (pandemic)
ผลของการระบาดอย่างมิอาจหยุดยั้งกระเทือนชีวิตมนุษย์ในหลายมิติ คำว่า ‘new normal’ ถูกใช้อย่างแพร่หลายและฟุ่มเฟือย แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของเราต่างไม่เหมือนเดิมและไม่มีทางเหมือนเดิม ไม่ว่าจะโหยหาและคิดถึงเพียงใด
ช่วงเวลานั้นเองที่พวกเราชาว a day ซึ่งกำลังตกอยู่ในสถานะการทำงานแบบไม่ปกติอย่างการเวิร์กฟรอมโฮม ต่างเห็นตรงกันว่าน่าจะทำอะไรบางอย่างเพื่อบันทึกช่วงเวลานี้เอาไว้ โดยไม่จำกัดเพียงเรื่องโควิด-19 เท่านั้น
นั่นคือที่มาของ ‘สถาน ณ กาลไม่ปกติ’ สิ่งพิมพ์สถานะไม่ปกติเล่มนี้ ที่เราชวนนักเขียน 15 ชีวิต มาร่วมกันเขียนเรื่องสั้นภายใต้โจทย์เดียวกัน คือร่วมกันบันทึกสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลาไม่ปกติที่ทุกคนเผชิญวิกฤตโรคระบาด
ทำไมต้องเรื่องสั้น–หลายคนอาจสงสัย
ด้วยความที่สื่อที่พวกเราทำรายเดือนคือสิ่งพิมพ์ ใช้ตัวอักษรและภาพเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร และสิ่งที่เราตั้งใจบันทึกมีทั้งความไม่ปกติที่สังเกตเห็นได้ง่าย มองด้วยตาเปล่าหรืออ่านข่าวก็เห็น และความไม่ปกติที่สังเกตเห็นได้ยาก ต้องพิจารณาชีวิตอย่างประณีตและตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวอย่างแหลมคมเท่านั้นจึงจะมองเห็น ซึ่งนอกจากวรรณกรรมขนาดยาวแล้ว เราคิดว่าเรื่องสั้นน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการรับใช้สิ่งที่นักเขียนแต่ละคนต้องการบันทึกและสื่อสาร
ขณะก้มหน้าก้มตาอ่านต้นฉบับจากนักเขียนที่ทยอยส่งมาทีละเรื่อง มันค่อยๆ ตอกย้ำว่าเราต่างกำลังยืนย่ำอยู่ในห้วงยามผิดปกติ
ขณะเงยหน้าขึ้นมามองดูสถานการณ์บ้านเมือง ณ ปัจจุบัน มันยิ่งยืนยันว่าเราต่างกำลังเผชิญช่วงเวลาอันมืดหม่น
คนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นตั้งคำถามกับความไม่ปกติของการเมืองการปกครองด้วยเหตุและผล กลับต้องเผชิญหน้ากับการไล่ล่าและได้รับผลกระทบในทางลบต่อชีวิต
แต่จะมีช่วงเวลาไหนเหมาะกับการร่วมกันสร้างแสงสว่างเท่ากับช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุด
จะมีช่วงเวลาใดเหมาะกับการถามหาความปกติ-ธรรมดาเท่ากับช่วงเวลาเช่นนี้
ไม่มีช่วงเวลาใดอีกแล้วที่เหมาะกับการหยิบยกเรื่องผิดปกติทั้งหลายมาบอกเล่าและพูดคุยกันในที่แจ้งอย่างที่อารยชนพึงกระทำเพื่อเดินหน้าไปสู่โลกที่ดีกว่าเดิม โลกที่มองมนุษย์เท่ากัน
อย่างที่ว่าไว้ ความไม่ปกติบางอย่างสังเกตได้ง่าย ในขณะที่ความไม่ปกติบางอย่างสังเกตได้ยาก
ยิ่งหากใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเคยชิน–ไม่เฉลียวใจตั้งคำถาม
เรื่องสั้นทั้ง 15 เรื่องใน ‘สถาน ณ กาลไม่ปกติ’ และบ้านเมืองในสถานการณ์ไม่ปกติ ได้ช่วยฉายภาพความไม่ปกติทั้งที่สังเกตได้ง่ายและยากให้เราได้เห็นแล้ว
อยู่ที่เราเองว่าจะเลือกอยู่อาศัยในสถาน ณ กาลไม่ปกติ หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้กลับมาเป็นปกติในยุคสมัยของพวกเรา