จากแหล่งเชื้อราสู่คาเฟ่ฮิป มอง ‘พันจีฮา’ หรือ ‘ชั้นกึ่งใต้ดิน’ ผ่านหนัง ซีรีส์ และวิถีชีวิตคนเกาหลีใต้

Highlights

  • เดิมที ‘พันจีฮา’ หรือ ‘ชั้นกึ่งใต้ดิน’ คือห้องสำหรับติดตั้งหม้อน้ำทำความร้อนและเป็นที่หลบภัย แต่เมื่อเกาหลีใต้ประสบวิกฤติขาดแคลนที่อยู่ ‘พันจีฮา’ จึงถูกปรับเป็นที่พักอาศัยราคาย่อมเยา 
  • ‘พันจีฮา’ ปรากฏกายในภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีเรื่องดังอยู่หลายครั้ง เช่น Parasite, Reply 1988, Stranger โดยมักถูกนำเสนอในแง่ลบ ด้วยลักษณะกายภาพที่มืด เป็นแหล่งเชื้อรา หรือถูกบุกรุกได้ง่าย 
  • ในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของ ‘พันจีฮา’ เปลี่ยนไปมาก ทั้งในป๊อปคัลเจอร์ เช่น ซีรีส์ Record of Youth ที่ฉายภาพห้องกึ่งใต้ดินที่ถูกรีโนเวตให้น่าอยู่ ไปจนถึงในชีวิตจริงที่คาเฟ่ บาร์ หรือร้านรวงในชั้นกึ่งใต้ดินกลายเป็นความนิยมใหม่ จนราคาค่าเช่า ‘พันจีฮา’ ในบางย่านสูงพอๆ กับค่าเช้าห้องบนดินเลยทีเดียว

ชั้นกึ่งใต้ดิน

หากใครได้ชมภาพยนตร์เกาหลีดีกรีรางวัลออสการ์ เรื่อง ชนชั้นปรสิต (Parasite) คงจะจำภาพที่พักของครอบครัวของคีแท็ก (รับบทโดย ซงคังโฮ) ได้เป็นอย่างดี บ้านของคีแท็กอยู่ชั้นกึ่งใต้ดินที่ถึงจะพยายามแหงนมองออกไปนอกหน้าต่างขนาดไหนก็เห็นได้แค่เพียงท่อนขาและเท้าของคนที่เดินผ่านไปมาเท่านั้น ไหนจะยังมีห้องน้ำที่บางคนถึงกับตั้งฉายาไว้ว่า ‘บัลลังก์ส้วม’ ด้วยลักษณะห้องน้ำที่มีบันไดให้ปืนขึ้นไปนั่งบนชักโครกอีกที 

ชั้นกึ่งใต้ดินใน Parasite

คนไทยส่วนใหญ่คงจะเคยเห็นห้องแบบนี้จากภาพยนตร์ แต่นอกโลกภาพยนตร์มีคนเกาหลีอาศัยอยู่ในที่พักแบบนี้จริงๆ ซึ่งในภาษาเกาหลีเรียกว่า ‘พันจีฮา (반지하)’ หมายถึง ‘ชั้นกึ่งใต้ดิน’ 

ชั้นกึ่งใต้ดิน

ในภาพยนตร์ ชนชั้นปรสิต Darcy Paquet ผู้แปลบทบรรยายจากภาษาเกาหลีเป็นภาษาอังกฤษ ได้แปลคำว่า ‘พันจีฮา’ เป็นคำว่า ‘semi basement’ แต่เขามองว่าคำนี้ไม่ได้แทนความหมายของ ‘พันจีฮา’ ได้ครบถ้วนนัก เขาให้เหตุผลว่าถึงแม้ในต่างประเทศจะมีห้องชั้นกึ่งใต้ดิน แต่โดยปกติแล้วในต่างประเทศไม่ได้ทำห้องกึ่งใต้ดินมาเป็นที่พักอาศัยอย่างแพร่หลายเหมือนอย่างประเทศเกาหลีใต้ 

ชั้นกึ่งใต้ดินใน Parasite

ทำไม ‘semi basement’ ถึงแทนที่ความหมายของ ‘พันจีฮา’ ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

จริงอยู่ที่คำว่า ‘semi basement’ สามารถแทนความหมายของชั้นกึ่งใต้ดินได้ แต่ในมุมมองของชาวต่างชาติ (ที่ไม่ใช่ชาวเกาหลี) เราอาจจะไม่มีไอเดียหรือภาพลักษณ์เกี่ยวกับที่พักแบบ ‘semi basement’ เลยว่าจะเป็นในทางบวกหรือลบ และไม่สามารถจินตนาการได้ชัดเจนว่าผู้อยู่อาศัยจะมีความเป็นอยู่ยังไง แต่ถ้าหากพูดถึงคำว่า ‘พันจีฮา’ ชาวเกาหลีหรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีอาจมีมุมมองเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเกี่ยวกับที่พักอาศัยลักษณะนี้ก็เป็นได้ 

ผู้เขียนได้ลองทำแบบสอบถามความคิดเห็นของชาวเกาหลีและชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีจำนวน 30 คน เมื่อพูดถึงคำว่า ‘พันจีฮา’ สามอย่างแรกที่ผู้ตอบแบบสอบถามนึกถึงคือ ‘เชื้อรา’ ‘ความมืด’ และ ‘ภาพยนตร์เรื่องชนชั้นปรสิต’ ส่วนคำตอบเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของ ‘พันจีฮา’ ที่สูงที่สุด คือ ‘มีภาพลักษณ์ในแง่ลบ’ แม้จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามจะยังไม่มากพอที่จะอนุมานถึงชาวเกาหลีและชาวต่างชาติโดยรวมทั้งหมดได้ แต่ผลการสอบถามก็พอจะสะท้อนให้เห็นว่าในสายตาของชาวเกาหลีและชาวต่างประเทศที่มาอาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีนั้น คำว่า ‘พันจีฮา’ ไม่ได้มีแค่ภาพที่พักระดับกึ่งใต้ดินเพียงอย่างเดียว แต่ยังพ่วงภาพลักษณ์ในแง่ลบมาด้วย

ชั้นกึ่งใต้ดินใน Parasite

ขนาดมีภาพลักษณ์ติดลบขนาดนี้ ทำไมถึงยังมีคนอาศัยอยู่ที่ ‘พันจีฮา’ 

ย้อนกลับไปในปี 1970 ‘พันจีฮา’ เป็นห้องสำหรับติดตั้งหม้อน้ำทำความร้อนและเป็นที่หลบภัย ต่อมาในปี 1980 เกิดปัญหาขาดแคลนที่พักอาศัยอย่างหนัก รัฐบาลจึงส่งเสริมให้มีการสร้างที่พักอาศัยแบบหลายครอบครัวในอาคารเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในช่วงนั้นมีสาเหตุมาจากจำนวนบ้านเรือนประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ในโซลต้องถูกรื้อถอนเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตในการครอบครองที่ดิน ส่งผลให้หลายครอบครัวได้รับผลกระทบและต้องหาที่อยู่ใหม่ ‘พันจีฮา’ มีข้อดีตรงที่ราคาถูกกว่าห้องพักชั้นบนดิน ที่พักแบบชั้นกึ่งใต้ดินนี้จึงกลายเป็นตัวเลือกสำคัญสำหรับครอบครัวที่ต้องการหาที่พักในราคาย่อมเยา

แต่ ‘พันจีฮา’ มาพร้อมกับของแถมที่ไม่ต้องการ ของแถมที่ว่าคือปัญหาเรื่องความชื้นเพราะตัวห้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกล้อมไปด้วยดินราวๆ ครึ่งหนึ่งของผนังบ้าน ทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และเมื่อมีความชื้นสูงจึงทำให้เกิดเชื้อราง่าย นอกจากเรื่องเชื้อราแล้วยังมีปัญหาเรื่องความมืดเพราะแสงแดดส่องเข้ามาไม่ถึง ในซีรีส์เรื่อง Reply 1988 ได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของครอบครัวหนึ่งที่อาศัยใน ‘พันจีฮา’ ในยุค 80s จากซีรีส์ดังกล่าวจะเห็นว่าใน ‘พันจีฮา’ นั้นค่อนข้างมืดกว่าที่พักอาศัยชั้นบน 

ชั้นกึ่งใต้ดิน

ชั้นกึ่งใต้ดินใน Reply 1988

ความยากลำบากต่างๆ ของคนที่อาศัยใน ‘พันจีฮา’ ถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านภาพยนตร์เรื่อง ชนชั้นปรสิต ทั้งเรื่องแสงสว่างไม่เพียงพอ และด้วยตำแหน่งของห้องที่ต่ำกว่าพื้นดินปกติ คนที่อยู่นอกตัวบ้านจึงสามารถมองเข้ามาในห้องได้ง่าย อีกทั้งยังมีเรื่องเสียงรบกวนจากภายนอก เช่น เสียงรถยนต์ เสียงคนเดิน ห้องแบบกึ่งใต้ดินมีปัญหาด้านเสียงรบกวนมากกว่าห้องใต้ดินทั้งชั้นเสียอีก แถมยังต้องระวังน้ำท่วมในวันที่ฝนตกหนักอีกต่างหาก 

ชั้นกึ่งใต้ดิน

ชั้นกึ่งใต้ดินใน Parasite

นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย จากฉากหนึ่งในซีรีส์เรื่อง Stranger ซีซั่น 1 และซีรีส์เรื่อง The Uncanny Counter มีฉากที่ตัวละครแอบมองเข้าไปใน ‘พันจีฮา’ และแอบเข้าไปทางหน้าต่าง มองอย่างนี้แล้ว การรุกล้ำเข้าไปในที่พักอาศัยชั้นกึ่งใต้ดินนั้นดูง่ายดายเสียเหลือเกินเมื่อเทียบกับที่พักชั้นบน 

ชั้นกึ่งใต้ดิน

ชั้นกึ่งใต้ดินใน Stranger

อย่างไรก็ตาม ‘พันจีฮา’ ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าเหตุผลหลักที่หลายคนเลือกใช้ชีวิตในห้องชั้นกึ่งใต้ดินคือค่าที่พักย่อมเยากว่าชั้นบน เมื่อลองเทียบขนาดห้องเช่าที่เท่ากัน ค่าเช่ารายเดือนของ ‘พันจีฮา’ ถูกกว่าค่าเช่าห้องชั้นบนดินประมาณ 50,000-100,000 วอน (ประมาณ 1,500-3,000 บาท) และเมื่อลองค้นหาที่พักในละแวกเดียวกัน จะเห็นว่าในราคาห้องเช่าที่เท่ากัน ห้องแบบ ‘พันจีฮา’ มีขนาดห้องกว้างกว่าห้องชั้นบน ดังนั้น ‘พันจีฮา’ จึงตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการห้องกว้างในราคาที่เป็นมิตรกว่า

ชั้นกึ่งใต้ดินใน Stranger

เพราะต้องประหยัดถึงต้องทนอยู่ที่พักอย่าง ‘พันจีฮา’ อย่างนั้นหรือ 

ภาพลักษณ์ของ ‘พันจีฮา’ ใน ชนชั้นปรสิต อาจกลายเป็นภาพจำของใครหลายคนก็จริง แต่ ‘พันจีฮา’ ไม่ได้ดูน่ากลัวแบบนั้นไปเสียทั้งหมด ในปัจจุบันเจ้าของห้องเช่าหลายแห่งได้ปรับโฉม ‘พันจีฮา’ ที่เคยหม่นเศร้าให้สดใสไฉไลกว่าเดิมด้วยการรีโนเวตใหม่ และยกระดับความปลอดภัยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเหล็กดัดหน้าต่าง ติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณทางเข้าบ้าน ประกอบกับราคาที่เอื้อมถึง ‘พันจีฮา’ ที่รีโนเวตแล้วจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น

แม้ซีรีส์หรือภาพยนตร์เกาหลีส่วนใหญ่จะสะท้อนภาพลักษณ์ของ ‘พันจีฮา’ ออกมาในแง่ลบ แต่ก็มีบางเรื่อง อย่างเช่นซีรีส์เรื่อง Record of Youth ซึ่งออกฉายในปี 2020 ได้เสนอนิวลุคของ ‘พันจีฮา’ ออกสู่สายตาผู้ชม ซาฮเยจุน (รับบทโดย พักโบกอม) นักแสดงระดับซูเปอร์สตาร์เลือกที่จะอยู่ ‘พันจีฮา’ ที่รีโนเวตใหม่ ดีไซน์สวยราวกับอยู่คอนโดหรู เมื่อแปลงโฉมแล้ว ‘พันจีฮา’ ก็ไม่ได้น่ากลัวหรือเห็นแล้วต้องเศร้าเสมอไป

ชั้นกึ่งใต้ดินใน Record of Youth

ชั้นกึ่งใต้ดินใน Record of Youth

เดี๋ยวนี้ ‘พันจีฮา’ บางแห่งถูกเนรมิตให้กลายเป็นร้านรวงน่ารักๆ มีร้านกาแฟชั้นกึ่งใต้ดินที่ประสบความสำเร็จในการทลายข้อจำกัดเรื่องแสงสว่างไม่เพียงพอด้วยการทุบผนังออกแล้วขยายขนาดกระจกให้บานใหญ่ขึ้น ให้ลูกค้าที่นั่งในร้านรู้สึกโปร่ง โล่งสบาย ส่วนร้านเบเกอรีชั้นกึ่งใต้ดินนั้นกลับทำให้ลูกค้ารู้สึกอบอุ่นและได้อารมณ์เหมือนอยู่ร้านขนมปังในนิทาน หรือร้านเหล้าในชั้นกึ่งใต้ดินก็ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกถึงอาณาเขตอันลึกลับน่าค้นหามากยิ่งขึ้น 

จากข้อเสียเปรียบด้านฐานที่มั่นเพราะอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นผิวปกติ กลับกลายเป็นจุดเด่นและเสน่ห์สำหรับผู้มาเยือน นักท่องเที่ยวต่างชาติมองว่าร้านค้าสไตล์ ‘พันจีฮา’ น่าสนใจและแสดงให้เห็นถึง ‘ความเป็นเกาหลี’ ได้อย่างดี ร้านค้าในรูปแบบ ‘พันจีฮา’ สไตล์ฮิปๆ ที่รีโนเวตใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในย่านย็อนนัมดง อีแทวอน และคังนัม เมื่อร้านแบบ ‘พันจีฮา’ กลายเป็นที่นิยม ค่าเช่าร้านจึงสูงขึ้นไปด้วย ค่าเช่าร้านชั้นกึ่งใต้ดินบางร้านในแถบนี้จึงมีราคาแทบไม่ต่างจากค่าเช่าร้านชั้นบนดินเลยทีเดียว  

ชั้นกึ่งใต้ดิน

คาเฟ่ที่รีโนเวตจากชั้นกึ่งใต้ดิน ภาพจาก chosun.com

ชั้นกึ่งใต้ดิน

ร้านที่รีโนเวตจากชั้นกึ่งใต้ดิน ภาพจาก chosun.com

‘พันจีฮา’ จะเปลี่ยนไปยังไงในอนาคต 

จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี  (Statistics Korea) ในปี 2010 มีที่พักอาศัยแบบ ‘พันจีฮา’ ทั่วประเทศรวม 518,000 ครัวเรือน ต่อมาในปี 2015 ลดลงเหลือจำนวน 364,000 ครัวเรือน ‘พันจีฮา’ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงโซล (ปี 2015 มีผู้อยู่อาศัยใน ‘พันจีฮา’ ในโซล จำนวน 228,000 ครัวเรือน) จากลักษณะที่พักอาศัยทุกรูปแบบ การอยู่อาศัยแบบ ‘พันจีฮา’ คิดเป็นจำนวน 1.9 เปอร์เซ็นต์จากทุกครัวเรือนในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นที่พักให้เช่ารายเดือนแบบมีค่ามัดจำ ผู้อยู่อาศัยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง อายุเฉลี่ยของผู้พักอาศัยที่มากเป็นอันดับหนึ่ง คือ 50-59 ปี อันดับที่สองคือ 40-49 ปี และอันดับที่สามคือ 30-39 และ 60-69 ปี (มีจำนวนเท่ากัน) 

ในอนาคตมีแนวโน้มว่าที่พักอาศัยแบบชั้นกึ่งใต้ดินกำลังจะหายไป นอกจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังมีข้อสังเกตว่ากลุ่มอาคารใหม่ที่สร้างขึ้นในช่วงหลังนี้แทบไม่มีการสร้างที่พักในชั้นกึ่งใต้ดินแล้ว เพราะห้อง ‘พันจีฮา’ มักได้รับความเสียหายอย่างหนักในช่วงที่มีพายุฝนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ 

‘พันจีฮา’ ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานไปหลายรูปแบบ จากห้องสำหรับติดตั้งหม้อน้ำทำความร้อน ที่หลบภัย ที่พักอาศัย และร้านค้า หากมองว่า ‘พันจีฮา’ คือภาพเล็กๆ ในสังคมเกาหลี ก็นับว่าภาพเล็กๆ นี้ได้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของวิถีชีวิตชาวเกาหลี (กลุ่มหนึ่ง) ในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี


อ้างอิง 

장진범 (2013). 한국 (반)지하 주거의 사회적 표상과 거주자의 정체성 연구. 서울대학교 석사학위논문. 

통계청 (2015). 인구주택총조사 표본집계결과 (여성출산력아동, 주거실태). 

news.joins.com/article/23485510

realty.chosun.com/site/data/html_dir/2020/01/29/2020012903684.html

sisajournal-e.com/news/articleView.html?idxno=185147

 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที