Copenn. เมื่อนักออกแบบลุกขึ้นมาปรุงกลิ่นหอมแนวใหม่ จนขยายเป็น design concept store

หากเดินเท้าสำรวจย่านสร้างสรรค์อย่างเจริญกรุง นอกจากจะเห็นตึกรามบ้านช่องที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน เรายังจะพบกับแหล่งแฮงเอาต์ใหม่ๆ ที่เข้ามาเติมแต่งย่านนี้ให้มีชีวิตชีวาขึ้น ทั้งคาเฟ่ สถานที่จัดนิทรรศการ ไปจนถึงดีไซน์คอนเซปต์สโตร์ที่มีเครื่องหอมเป็นจุดเด่นอย่าง ‘Copenn.’

ร้านสีดำเรียบเก๋บนหัวมุมถนนเจริญกรุง 82 แห่งนี้คือหน้าร้านของแบรนด์ดีไซน์น้องใหม่ ที่ตั้งใจว่าจะใช้การออกแบบเข้ามาจับกับทุกสิ่งและมีกลิ่นเป็นตัวชูโรง

copenn.

เพียงผลักประตูเข้ามาในร้าน สิ่งแรกที่จะได้สัมผัสเป็นกลิ่นไหม้ที่มีชื่อว่า ‘Burning Cabinet’ อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งเบลนด์มาให้เข้ากับบรรยากาศเท่ๆ จากการใช้วัสดุแบบ raw material ตกแต่งภายใน ร่วมด้วยกับงาน installation art ที่ตั้งใจทำมาให้ล้อไปกับธีมหลัก ที่จะแสดงให้คนเห็นถึงที่มาของกลิ่นตั้งแต่กระบวนการแรกอย่างการเพาะปลูก  

เพราะความตั้งใจของหุ้นส่วนทั้ง 4 คน คือการสร้างแบรนด์ให้คนจดจำที่คุณภาพของสินค้ามากกว่าจะจำตัวเจ้าของหรือภาพลักษณ์ใดๆ ของ Copenn. (ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต) ชายหนุ่มผู้ทำหน้าที่เป็นทั้งหุ้นส่วน คนเบลนด์กลิ่น และพนักงานแนะนำสินค้า จึงอาสาพาทัวร์ร้านแบบไม่เปิดเผยชื่อเสียงเรียงนาม 

เตรียมประสาทรับกลิ่นและจินตนาการของคุณให้พร้อม แล้วตามไปฟังเรื่องราวที่มาของแบรนด์ การปรุงกลิ่น และสิ่งที่แบรนด์มุ่งหวังจะเป็น จากคำบอกเล่าของเขากัน

copenn
copenn

Copenn. = design concept store 

ย้อนกลับไปในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ และใครๆ ต่างก็เวิร์กฟรอมโฮม ตอนนั้นเองที่เจ้าของร้านหนุ่มได้ใช้เวลาอยู่บ้านกับเครื่องหอมที่ตัวเองชอบมากขึ้น ทั้งการสร้างบรรยากาศให้ห้องต่างๆ ตามอารมณ์ในแต่ละวัน หรือบางครั้งก็นำน้ำมันหอมระเหยที่สะสมไว้มาผสมเป็นกลิ่นที่ชอบ ตั้งชื่อ และสร้างสตอรี พร้อมเปิดขายให้กลุ่มเพื่อนในจำนวนน้อยๆ

จนเมื่อเห็นทางไป เขาจึงจับมือกับกลุ่มเพื่อนที่มีความชอบด้านเครื่องหอมและดีไซน์ เปิดเป็นดีไซน์คอนเซปต์สโตร์ในย่านเจริญกรุงอย่างทุกวันนี้ 

“เรา 4 คนทำงานเกี่ยวข้องกับดีไซน์อยู่แล้ว มีทั้งสมาชิกที่ชำนาญเรื่องการทำโปรดักต์ ออกแบบแฟชั่น เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และผมเองที่เคยทำงานด้านออกแบบภายในมาก่อน เรียกว่าครบทุกด้านของการออกแบบ เลยชวนกันว่างั้นมาทำอะไรเกี่ยวกับดีไซน์กันดีกว่า

“ด้วยความที่เราอยู่แถวนี้อยู่แล้ว พอมีโควิด-19 เห็นว่าย่านนี้มันซบเซาไปมาก จากที่ปกติมีนักท่องเที่ยวเยอะทั้งจีนและเกาหลี กลายเป็นว่าตอนนี้ห้องแถวส่วนใหญ่ถูกปล่อยเช่าหรือไม่ก็ปล่อยร้างกันหมดเราจึงหวังว่าถ้าเราทำให้ย่านนี้มันกลายเป็นที่ฮอปปิ้งแห่งใหม่ได้ก็น่าจะดี” 

พอมีรุ่นพี่ที่เปิดคาเฟ่ในละแวกนี้แนะนำว่ามีพื้นที่ตรงนี้เปิดให้เช่าอยู่ เขาจึงวางแผนทำร้านขึ้นมาจริงๆ

copenn.

แม้ Copenn. จะเริ่มต้นจากเครื่องหอมและโดดเด่นที่กลิ่นอโรมา แต่ปณิธานที่แท้จริงของเขาคือการสร้างร้านขายสินค้าประเภทต่างๆ ที่มีดีไซน์เป็นหัวใจสำคัญ 

“เรามองที่นี่เป็นดีไซน์คอนเซปต์สโตร์ที่ใช้ดีไซน์มาเป็นพื้นฐานในการตั้งต้นทุกสิ่ง ตั้งแต่การพัฒนาสินค้าไปจนถึงการตกแต่งร้าน สินค้าในร้านไม่ได้มีแค่เครื่องหอม แต่มีอุปกรณ์เกี่ยวกับกลิ่น เช่น เตาละลายเทียน ที่กระจายกลิ่น หรือกระทั่งฐานรอง เราก็จะใส่วัสดุหรือคุณค่าบางอย่างลงไปเพิ่มเติม ให้คนรู้สึกว่าของชิ้นนั้นมีคุณค่าและมูลค่ามากขึ้น

“ร้านเครื่องหอมในต่างประเทศเขาจะดีไซน์จัดมาก ไปกี่ครั้งก็เปลี่ยนธีมใหม่ตลอด ทำให้เรารู้สึกสนุก เทียบกับร้านเครื่องหอมในไทยที่ส่วนใหญ่จะจัดหน้าร้านเหมือนกันแทบทุกร้าน ของในตลาดไทยก็มีความกลางๆ ไม่ได้มีตัวตนชัดเจนแบบที่เราชอบ เราเลยกันคิดว่างั้นลองสู้เลยดีกว่า อยากทำอะไรที่มีดีไซน์เยอะๆ ออกมาขายในตลาด” หุ้นส่วนหนุ่มบอกถึงความตั้งใจ 

copenn.

เครื่องหอมที่เป็นสินค้าชูโรงประจำร้านจึงไม่เพียงเข้มงวดในการออกแบบกลิ่น แต่ยังมีกระบวนการออกแบบทั้งตัวผลิตภัณฑ์และแพ็กเกจจิ้งมาข้องเกี่ยว

หนึ่งในสินค้าที่น่าสนใจก็คือ ‘กำยาน’ ที่แบรนด์เครื่องหอมอื่นๆ ยังไม่ลงมาทำตลาด Copenn. จึงได้โอกาสจับมาเป็นหนึ่งในสินค้าหลัก 

“เรามองว่าคนไทยยังไม่ค่อยชินกับการใช้กำยาน เพราะหลายๆ คนกลัวเรื่องควัน กลัวว่าจะใช้ในคอนโดไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วควันของกำยานไม่ได้มากขนาดนั้น เราเลยตัดสินใจทำ และเพิ่มมูลค่าให้มันด้วยส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติและดีไซน์ฐานรองเข้ามาเพิ่ม” เขาว่าพลางยกตัวอย่างต่อไปถึงแพ็กเกจจิ้ง ที่ก็ได้มาจากการนำของหลุด QC จากฝีมือช่างในย่านเจริญกรุงมาเพิ่มมูลค่าใหม่เช่นเดียวกัน

“เราเจอกล่องพวกนี้วางกองทิ้งไว้หน้าร้านในชุมชนละแวกนี้ พอจะติดต่อขอซื้อมาทำเป็นแพ็กเกจเขาก็บอกว่าใช้ไม่ได้หรอก กล่องมันเบี้ยว แต่เรามองว่าความเบี้ยวมันไม่ได้สำคัญเลย ในเมื่อฝาปิดก็ยังใช้งานได้”

โชคดีที่ลูกค้าที่ร้านเองก็ชอบสินค้าและดีไซน์ในทิศทางคล้ายๆ กัน 

เขาบอกว่าสินค้าส่วนใหญ่ของแบรนด์จะมีความคราฟต์ ใช้แรงงานคนเข้าไปอยู่ในทุกจุดของกระบวนการผลิต บางครั้งความผิดพลาดเล็กน้อยจากการผลิตจึงนับเป็นเสน่ห์ 

“อย่างช่วงแรกๆ เราผลิตเตาออกมาแต่มันมีตำหนิที่เกิดจากโรงงาน มีรอยเยอะ เราก็กลัวว่าลูกค้าจะไม่เข้าใจ แต่กลายเป็นว่าลูกค้ากลับยิ่งชอบตัวที่มีรอยเยอะ บอกว่าเอาอันนี้แหละ ไม่เหมือนใครดี” 

Copenn

Copenn. = แบรนด์ดีไซน์ที่จริงจังเรื่องกลิ่น

ในส่วนของโปรดักต์ เขาเริ่มต้นจากการเบลนด์กลิ่นที่คิดว่าจะเข้ากับความชอบหลายๆ แบบของลูกค้า ทั้งโทนเบสิกอย่าง woody, fruity, floral และ fresh โดยมี Burning Cabinet เป็นกลิ่นซิกเนเจอร์ของที่นี่ 

“กลิ่น Burning Cabinet มาจากการจินตนาการว่าตอนเอาไม้มาเผา มันมีกลิ่นอะไรออกมาบ้าง อาจจะไม่ได้มีแค่กลิ่นไม้อย่างเดียว แต่จะได้กลิ่นความชื้นของน้ำที่อยู่ในไม้ก่อนมันจะไหม้ด้วย กลิ่นนี้จึงมีกลิ่นที่เฟรชผสมผสานกับกลิ่นไหม้ตอนท้าย”

เขาอธิบายว่ากลิ่นแต่ละกลิ่นนั้นมีที่มาจากจินตนาการของเขาและเพื่อนๆ โดยเริ่มจากการวาดภาพบรรยากาศก่อน แล้วจึงใส่เรื่องราวลงไปให้กลิ่นนั้น 

“อย่างกลิ่น ‘Last Volcano’ เรานึกถึงการระเบิดของภูเขาไฟ แล้วมาสร้างสตอรีว่ามันเหมือนการที่เราเฝ้ารอให้ภูเขาไฟระเบิด เพื่อที่เราจะได้เห็นความสวยงามตอนที่ดินและไฟปะทุขึ้นมา กลิ่นนี้เลยจะมีทั้งมีความสดชื่น มีความหวานของกลิ่นมะกรูด มีกลิ่นชา และกลิ่นของพริกไทยดำมาผสมกันเป็นตัวแทนของการระเบิด”

ขณะที่บางกลิ่นอาจเกิดจากการตามหากลิ่นที่หลงเหลือในความทรงจำ 

“หรือกลิ่น ‘Gastric Acid’ แปลแบบตรงตัวคือกรดในกระเพาะ มันมาจากการที่เราคิดถึงช่วงเด็กๆ ที่เราบีบมดแล้วมันจะมีกลิ่นเปรี้ยวๆ ออกมา ก็คิดว่าจะทำยังไงให้ได้กลิ่นอย่างนี้ เราเลยไปดูว่ามดมันทำอะไรบ้างเพื่อผสมกลิ่นออกมา ดังนั้นกลิ่นนี้จึงเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณสัตว์ตัวเล็กๆ ที่อยู่กับป่า จะมีการใช้กลิ่นเปรี้ยวๆ ผสมกับกลิ่นต้นสน ให้รู้สึกถึงความเขียวของก้านไม้”

กว่าจะได้แต่ละกลิ่นออกมาวางขายจึงใช้เวลายาวนาน ผลิตภัณฑ์บางตัวก็พัฒนากันมากว่าปีเพื่อให้ถูกใจสมาชิกทั้ง 4 คน จากนั้นจึงค่อยเบลนด์ให้กลิ่นออกมาดีและเหมาะกับโปรดักต์แต่ละประเภทมากที่สุด

สำหรับใครที่กำลังจินตนาการถึงแต่ละกลิ่นข้างต้น สิ่งหนึ่งที่อาจต้องทำความเข้าใจก็คือกลิ่นเหล่านี้อาจไม่ได้แหลมชัดมากอย่างที่หลายคนคิด นั่นเพราะทั้งหมดคือกลิ่นที่สกัดจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ 

ส่วนโทนเบสิกต่างๆ นั้นแม้จะมีครบ แต่ก็จะเป็นกลิ่นที่เบลนด์ขึ้นใหม่ในคาแร็กเตอร์ของแบรนด์ ไม่ให้ซ้ำกับโทนเดียวกันที่เราเคยดมจากที่ไหน อย่างกลิ่นฟลอรัลของที่นี่ก็จะไม่ได้หวานจ๋า แต่จะมีความเขียวของธรรมชาติและทิ้งกลิ่นสดชื่นปิดท้ายที่ปลายกลิ่น ให้ความรู้สึกที่ซับซ้อนและแปลกใหม่

หุ้นส่วนทั้งสี่จึงตั้งใจอยากให้ลูกค้ามารับประสบการณ์ที่หน้าร้านเองโดยตรง เพราะนอกจากจะได้ทดลองดมกลิ่นอันซับซ้อนและฟังคำแนะนำจากผู้สร้างกลิ่นตัวจริงแล้ว ที่นี่ยังมีของหลากหลายที่รอให้คนเข้ามาสำรวจอาณาจักรความหอม ทั้งเทียนที่ทำเลียนแบบทรงหิน แฮนด์ครีม ไปจนถึงไม้หอมไว้จุดสร้างกลิ่น สร้างบรรยากาศให้พื้นที่

Copenn. = แบรนด์ดีไซน์ที่ไม่หยุดนิ่ง

เพราะมองว่ากลิ่นคือความลื่นไหล กับร้านนี้เองเขาก็มองว่ามันคือนิทรรศการที่จะหมุนเปลี่ยนไปตามธีม เพื่อให้คนที่มาได้รับประสบการณ์ต่างกันออกไป

“ปรัชญาของเรา คือ art and imagination เรามองว่ากลิ่นเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว มันลื่นไหลไปตามสเปซและความรู้สึกของคนดมได้ มันคือการใช้ความรู้สึกเข้ามาผสมกับจินตนาการ” 

ด้วยเหตุนี้เขาจึงวางเป้าหมายของแบรนด์ออกมาเป็น chapter โดย chapter แรกเปิดตัวมาในธีม cultivation หรือการเพาะปลูก

“เราไม่ได้มองว่าการเกิดกลิ่นที่ดีจะมาจากการสกัดอย่างเดียว แต่เรามองไปถึงระบบนิเวศก่อนปลูกเลยด้วยซ้ำ หิน ดิน ทราย อุณหภูมิ และภูมิอากาศที่ดี อาจทำให้กลิ่นมันดีด้วยก็ได้ เลยเอาเรื่องวัฏจักรการปลูกขึ้นมาเป็นภาพในการทำสิ่งต่างๆ ในร้าน ทั้งการออกแบบกลิ่นของสินค้า ไปจนถึงการตกแต่งภายในร้าน”

หากสังเกตจะพบว่าทั่วทั้งร้านมีการจำลองภาพของทั้งก้อนหิน ดิน เหล็ก และไม้ จัดวางโดยใช้สีเอิร์ทโทนและ raw material เพื่อให้คนที่เข้ามาสัมผัสได้ถึงธีมที่ว่า

เจ้าของร้านหนุ่มชี้ไปตามชั้นวาง ก่อนจะอธิบายให้เห็นว่าสีดำหรือคราบเขม่าควันต่างๆ ที่ติดอยู่ตามตู้ก็เกิดจากการเผาไฟจริงๆ

“installation art จากผักตบชวาพวกนี้มันก็เหมือนว่าเป็นการเก็บเกี่ยวจากรอบที่แล้ว ก่อนจะเริ่มลงปลูกใหม่ มันเอื้อไปกับสตอรีที่เราตั้งใจให้เห็นเป็นวัฏจักร

“ใน chapter ต่อไปมันอาจยังเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกอยู่ แต่เป็นในพาร์ตของการแตกดอก การเก็บเกี่ยว และการสกัด เราอยากให้หน้าร้านแห่งนี้เป็นซีนหนึ่งที่เราสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ไปได้เรื่อยๆ วันหนึ่งเราอาจจะตกแต่งด้วยโทนสีหรือเรื่องราวอื่นๆ ไม่อยากให้คนจดจำภาพเราเป็นภาพเดียว แต่อยากให้คนเฝ้ารอว่าพวกเราจะทำอะไรต่อไป”

เขามองว่านี่คือหนึ่งในความท้าทายที่แบรนด์จะต้องเผชิญต่อไปว่าจะทำยังไงให้คนยังจดจำตัวตนของพวกเขาได้แม้ในวันที่คาแร็กเตอร์ของร้านเปลี่ยนแปลงไปสู่ฉากใหม่ หรือพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่ที่ไม่ใช่แค่การขายเครื่องหอมที่หน้าร้าน

“ผมอยากให้ Copenn. เป็นแบรนด์ที่ไปจับ ไปคอลแล็บกับอะไรก็ได้ เป็นแบรนด์ดีไซน์ที่มีกลิ่นมาเกี่ยวข้อง เราอาจไปคอลแล็บกับศิลปิน คอลแล็บกับพิพิธภัณฑ์ เพื่อมอบประสบการณ์ด้านกลิ่นและดีไซน์ เรามองว่านี่คือตัวตนของเรา และเราเชื่อว่าดีไซน์สามารถผสมกับทุกอย่างได้จริงๆ” เขาทิ้งท้าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย