Cooking Hand & Prop เพจทำพร็อพจากของกินที่ปั้นลูกสนิชด้วยสาคู และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควในชามแกง

Highlights

  • Cooking Hand & Prop คือเพจของ รงศุภธนิศร์ ฐิตะชัยสิทธิ์ นักทำพร็อพอิสระผู้อยู่เบื้องหลังละครเวทีหลายเรื่อง รงหลงใหลการทำของเล่นมาตั้งแต่เด็ก พัฒนาฝีมือการทำพร็อพตั้งแต่ช่วงมหาวิทยาลัย และอยู่ในวงการทำพร็อพมากว่า 20 ปี
  • รงทำเพจนี้ในช่วงเวลาว่างระหว่างล็อกดาวน์ โดยใช้สกิลที่เขาถนัดอย่างการทำพร็อพมาผนวกกับการทำอาหารที่เขาไม่ถนัด โดยหยิบคาแร็กเตอร์ในหนังที่เขาชอบ งานศิลปะระดับโลก และสถานที่ท่องเที่ยวดังมารังสรรค์แต่ละเมนู

กับคนที่เคยโดนดุว่า “อย่าเล่นของกิน!” ตั้งแต่เด็ก การดูเพจ Cooking Hand & Prop ทำให้เด็กซนในตัวเราคันไม้คันมือ

ข้าวผัดอเมริกันรวมสัตว์ประหลาดจาก Godzilla: King of The Monsters, สาคูลูกสนิชจาก Harry Potter, ไข่เจียวรูปยานมิลเลนเนียมฟาลคอนจาก Star Wars, ฝอยทองที่ทำเป็นผมโมนาลิซ่า, แกงป่าปลาช่อนที่ยกสะพานแม่น้ำแควมาอยู่บนชาม 

เมนูบนเพจนี้ต่างทำให้เราทึ่งในความหาทำ แถมยังเกิดอาการน้ำลายสอและอยากเข้าครัวตามในเวลาเดียวกัน ทั้งหมดคือความคิดสร้างสรรค์ของ รงศุภธนิศร์ ฐิตะชัยสิทธิ์ นักทำพร็อพอิสระผู้อยู่เบื้องหลังละครเวทีหลายค่าย ที่อยู่ๆ ก็มีเวลาว่างจากการระบาดของโควิด-19 เพราะโรงละครปิด รงจึงลุกขึ้นมาทำเพจซึ่งเป็นส่วนผสมของสิ่งที่เขาถนัดอย่างการทำพร็อพ กับอีกสิ่งที่ไม่ถนัดเลยอย่างการทำอาหาร 

Godzilla King of The Monsters Cooking Hand & Prop

พร็อพประกอบฉาก

เมื่อเราถามว่าทำไมจึงรักการทำพร็อพนัก รงตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “ได้จินตนาการ”

“ผู้กำกับละครเวทีที่เราเคยทำงานด้วยเคยบอกเราว่าสายอาชีพของเราอยากเหาะก็ได้เหาะ อยากไปนอกโลกก็ทำได้ การทำพร็อพละครเวทีสนุกตรงที่เมื่อละครเวทีจบแล้วเราไปทำงานเรื่องใหม่ เราก็เหมือนเปลี่ยนไปเป็นอีกคนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่”

ย้อนกลับไปตอนยังเด็ก รงเติบโตขึ้นมาในจังหวัดราชบุรี “ตอนเด็กๆ เราชอบอยู่บ้าน เป็นเด็กที่อยากได้ของเล่นแต่ไม่เคยได้เราก็เลยทำของเล่นขึ้นเอง และเป็นเด็กที่ชอบดูหนัง พอชอบหนังเรื่องอะไรเราก็พยายามทำฉาก ทำตัวละครขึ้นมาตามภาพที่ฝังอยู่ในหัว หรือไปเที่ยวที่ไหนแล้วชอบก็กลับมาทำ”

รง Cooking Hand & Prop

เมื่อนั้นกระดาษและกาวคืออุปกรณ์หลักในการสร้างสรรค์ แต่เมื่อโตจนเข้าชั้นมัธยม ความชอบในการประดิษฐ์ของเขาหายไปช่วงใหญ่ๆ เพราะสนุกกับชีวิตวัยรุ่น จนกระทั่งช่วงมหาวิทยาลัยปี 2 รงถึงได้กลับมาจับงานทำพร็อพอีกครั้งในชมรมละครเวทีและไม่เคยปล่อยมือจากการทำพร็อพอีกเลยต่อจากนั้น

20 ปีคือระยะเวลาที่เขาทำอาชีพคนทำพร็อพอิสระ รงเคยรับจ้างทำทั้งพร็อพละครเวทีและละครทีวีซึ่งเขาบอกว่าความรู้สึกแตกต่างกันลิบลับ ละครทีวีเน้นความสมจริง พร็อพจึงเป็นสิ่งของต่างๆ ที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ส่วนละครเวทีมีเนื้อที่จำกัด พร็อพจึงถูกแบ่งเป็นหลายประเภท ทั้ง ‘พร็อพเซต’ ที่ใช้วางประกอบฉากเฉยๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ตู้เย็น โต๊ะ และ ‘แฮนด์พร็อพ’ ที่นักแสดงต้องจับ ต้องใช้ บางครั้งก็เป็นพร็อพที่มีเทคนิคพิเศษ ซึ่งพร็อพประเภทหลังนี่แหละที่รงชอบทำที่สุด

รงค์ชอบทำแฮนด์พร็อพถึงขนาดใช้คำนี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อเฟซบุ๊กและอีเมล ‘แฮนด์’ และ ‘พร็อพ’ จึงกลายเป็นศัพท์ติดตัวเขาไปแทบทุกที่รวมทั้งเพจ Cooking Hand and Prop ด้วย

Monalisa Cooking Hand and Prop

พร็อพประกอบจาน

รงบอกความลับก่อนเปิดเพจให้เราฟัง ได้ฟังแล้วเราก็ประหลาดใจหลายข้อ 

หนึ่ง เขาไม่ใช่สายกิน สอง เขาทำอาหารไม่เป็น และสาม เขาไม่รู้วิธีเล่นเฟซบุ๊ก

ก่อนหน้านี้ รงเคยมีเพื่อนในเฟซบุ๊กหลัก 60 คนเท่านั้น และความข้องเกี่ยวอย่างเดียวระหว่างเขากับอาหารคือแม่เคยเปิดร้านขายกับข้าวและพี่สาวชอบทำขนม 

แต่คงเหมือนกับใครหลายคน สิ่งที่ทำให้เขาได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำคือการระบาดของโควิด-19 ในปีนี้

“ช่วงเดือนกุมภาพันธ์คณะละครปิด เราเลยคิดว่าจะทำอะไรดี พอดีไปเจอว่าในห้องมีตำราอาหารก็เอามาลองทำ ก่อนหน้านี้เราทำอาหารไม่เป็นเลย ใช้คำว่าไม่เป็นนะ แต่เราผ่านการทำพร็อพมาแล้วซึ่งพร็อพสามารถเป็นอะไรก็ได้ ตอนทำพร็อพเราบอกตัวเองว่า ‘ทุกอย่างบนโลกนี้เราทำได้หมดแค่รู้วิธี’ ก็เอาคอนเซปต์นั้นมาใช้กับอาหารด้วย

“ปรากฏว่าลองทำแล้วอร่อย ชวนเพื่อนมาชิมเพื่อนก็ชอบกัน เราเลยคิดภารกิจทำอาหาร 31 เมนู 31 วันโพสต์ลงเฟซบุ๊กเพื่อให้คนทั่วไปรู้ว่าเราทำอาหารได้ แล้วในอนาคตข้างหน้าเราจะทำอาหารขาย” 

Harry Potter Cooking Hand & Prop

แต่จะทำยังไงล่ะในเมื่อเพื่อนในเฟซบุ๊กของรงมีอยู่แค่หยิบมือแถมเขายังไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับเฟซบุ๊ก คืนก่อนลงคอนเทนต์แรกรงจึงไล่แอดเฟรนด์ทั้งคนรู้จักและไม่รู้จักมาหลายร้อย แล้วเขาก็เริ่มลงมือโพสต์เมนูอย่างผัดไทไล่ไปจนแกงมัสมั่นไก่ ภาพอาหารชวนน้ำลายไหลบวกคำบรรยายของพ่อครัวมือใหม่ทำให้ได้ผลตอบรับที่ดีจากเพื่อนอย่างที่คาด

31 วันผ่านไปจนจบภารกิจ แต่รงยังรู้สึกสนุก อยากทำต่อ เพื่อนในเฟซบุ๊กที่คอยติดตามคอนเทนต์อาหารของเขาคนหนึ่งแนะนำให้เขาเปิดเพจ ตอนนั้นเองที่เขาปิ๊งไอเดียใหม่ที่ฉีกกรอบจากการโพสต์ภาพอาหารและคำบรรยายธรรมดาๆ ให้กลายเป็นสิ่งใหม่

“จุดเปลี่ยนของเราคือผัดกะเพรา เราอยากทำให้ไม่เหมือนคนอื่นก็เลยทำเป็น ‘ข้าวผัดกะเพราทรงกรวย’ เหมือนข้าวเปล่าทรงกรวยที่เสิร์ฟตามโรงแรม แล้วผลตอบรับดีมาก เรารู้เลยว่าลูกเพจต้องการอะไร นั่นคือเราจะทำอะไรก็ได้บนจานอาหารของเรา” เขายิ้มอย่างเข้าใจ

“ก่อนหน้านี้เรามีข้อจำกัดเรื่องต้องทำตามตำรา พอข้ามจุดนั้นแล้ว เราก็สามารถเอาสิ่งที่เราถนัดอย่างการทำพร็อพมาประยุกต์ได้ หลังจากนั้นเมนูของเราก็หวือหวาไต่ระดับไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็รื้อจานทิ้งหมดเลย” 

จากเมนูอาหารธรรมชาติ รงเริ่มหยิบคาแรกเตอร์ในหนังที่ตัวเองโปรดปรานและคนส่วนมากน่าจะรู้จักมาสร้างสรรค์เป็นเมนูบนหน้าเพจ ไข่เจียว Star Wars, สาคูไส้หมู Golden Snitch (จากแฮร์รี่ พอตเตอร์), ข้าวผัดอเมริกันรวมสัตว์ประหลาดจาก Godzilla: King Of The Monsters คือตัวอย่างเหล่านั้น

“มันกลายเป็นว่าละครทั้งเรื่องมาอยู่บนจานเราได้เลย พอเจอมุมนั้น มันคือความสุขที่แท้จริงเลยนะ” เขาบอก

David

พร็อพประกอบเพจ

การจะทำเมนูใดเมนูหนึ่งของรงเริ่มต้นได้หลายแบบ เขาอาจจะคิดเมนูก่อนคาแร็กเตอร์ หรือบางทีก็คิดคาแร็กเตอร์ก่อนเมนู หากสิ่งสำคัญที่ทุกจานต้องมีเหมือนกันคือความสมจริง

“เราเคยเสิร์ชเล่นๆ ดูว่าในเมืองนอกจะมีคนทำแบบเราไหม อย่างไอรอนแมนก็มีคนทำแบบผิวเผิน ประเภททำแพนเค้กรูปหน้าไอรอนแมน แต่เราวาดเค้าโครงบนกระดาษ ทำรูปร่างขึ้นมา มีไฟด้วย ไม่ได้มีใครจริงจังแบบเรา” 

เมื่อได้ไอเดียเรียบร้อยก็เข้าสู่ขั้นตอนหาวัตถุดิบ รงบอกว่าปกติเวลาทำพร็อพละครเวที เขาต้องหาวัสดุจากแหล่งขายหลายแห่งซึ่งทำให้เหนื่อยและใช้เวลามาก ฉะนั้นการจับจ่ายวัตถุดิบประกอบอาหารในตลาดแห่งเดียวคือความสบาย รงเอนจอยกับการคิด เลือกวัตถุดิบ เรียนรู้เฉดสีของวัตถุดิบแต่ละตัวเพื่อนำมาทำเมนูให้สมจริงที่สุด

Cration of Cooking Hand & Prop

จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนของการลงมือทำ เริ่มจากสเกตช์ภาพและลงสีบนกระดาษ (“เราวาดรูปไม่เป็น แต่ก๊อบปี้ภาพได้” รงบอกก่อนขยายความต่อว่าที่ต้องวาดรูปก่อนเพราะรูปวาดคือส่วนหนึ่งของคอนเทนต์ ทุกๆ เมนูจะโพสต์เป็นอัลบั้ม ซึ่งเขาอยากให้รูปวาดเป็นรูปเปิดอัลบั้ม เพื่อให้คนอ่านจะได้เห็นกระบวนการทำตั้งแต่ต้น ลุ้นไปทีละภาพ จนสุดท้ายคือรูปเมนูที่เสร็จสมบูรณ์) 

วาดเสร็จก็เข้าสู่ขั้นตอนการแกะสลัก ลงสี ปรุงอาหาร จัดแต่งจาน ระหว่างนั้นก็ต้องถ่ายภาพไปเรื่อยๆ ทั้งหมดทั้งมวลต้องใช้เวลาหนึ่งวันเป็นอย่างน้อย

นอกจากตัวละครจากภาพยนตร์ที่รัก รงยังรังสรรค์เมนูจากงานศิลปะที่เขาชอบดู เช่น ขนมขี้หนู ราตรีประดับดาว…The Starry Night, ไส้กรอกอิตาเลียน ‘เดวิด’ รวมไปถึงเมนูที่เขาจำลองสถานที่ท่องเที่ยวดังอย่างแกงป่าปลาเนื้ออ่อนแม่น้ำแคว, ยำส้มโอองค์ปฐมเจดีย์ และอีกมากมาย โดยมีแพลนจะแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวจนครบ 76 จังหวัด

“ที่เราชอบมากที่สุดคือการใช้อาหารไทยพรีเซนต์ผลงานของฝรั่ง และใช้สื่อที่เป็นสากลอย่างเฟซบุ๊กทำให้เขารู้จักอาหารไทย” เขาบอก และบอกด้วยว่าจากที่เคยคิดว่าจะทำเพจเพื่อขายอาหารในอนาคต เขาเห็นแนวทางในการหาเงินจากการทำเพจจริงจัง 

โดยเคล็ดลับในการเรียกสปอนเซอร์ที่ดีที่สุดของเขา รงเชื่อว่า ‘เพจจะทรงพลังก็ต่อเมื่อคอนเทนต์ดี’

พร็อพประกอบชีวิต

“มีลูกเพจคนหนึ่งเคยโทรมาหาเราบอกเราว่าคุณไปอยู่ไหนมา สิ่งที่เราทำคือสิ่งที่เขาตามหา เขาไม่เคยเห็นงานนี้จากที่ไหนเลย เราฟังคอมเมนต์เขาแล้วรู้สึกเหมือนได้ยอดไลก์เป็นพันๆ จากคนคนเดียวเลย” รงเล่าความประทับใจหนึ่งจากการทำเพจมาแล้วหลายเดือน

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าการทำเพจนี้ส่งผลต่อชีวิตเขามากกว่าที่คิดคือหลังจากถ่ายทำจนโพสต์เสร็จเรียบร้อย รงนำส่วนที่กินได้มากินแทบทุกเมนู (“เราให้ความสำคัญกับความอร่อยและความสวยงามเท่ากันนะ” เขาย้ำกับเรา) ส่วนที่กินไม่ได้ เช่น หัวมันหรือแครอตที่สวมบทบาทเป็นคาแรกเตอร์ต่างๆ เขาก็ปฏิบัติราวกับว่ามันเคยมีชีวิตอยู่จริงๆ

“มันเศร้าน่ะ เราสร้างเขาแล้วรู้สึกเหมือนเขามีชีวิตต่อหน้าเรา เขามองตาเรา เหมือนเขาเป็นคาแร็กเตอร์ที่เรารักด้วย ลูกเพจชอบถามว่าของพวกนี้โพสต์เสร็จแล้วทำไง เราตอบว่าเอาไปฝัง เพราะสงสาร”

ในอนาคต เขาอยากทำเมนูใหม่ๆ ที่หยิบจับคาแร็กเตอร์ สถานที่ และงานอาร์ตมาสร้างสรรค์เรื่อยๆ และหากเป็นไปได้รงเผยว่าเขาอยากทำสตูดิโอจริงจัง มีทีมที่ซัพพอร์ตเพื่อขยายขอบเขตการเล่าเรื่องให้กว้างขึ้น

“ไม่อยากทำอย่างอื่นนอกจากงานสามประเภทนี้บ้างเหรอ” เราถามทิ้งท้าย

“เคยมีคนบอกเหมือนกันว่าให้หยิบจับสถานการณ์บ้านเมืองมาพรีเซนต์บ้าง แต่ตอนนี้เราโฟกัสกับความสุข กับงานที่เราชอบ สิ่งที่ทำมันเติมเต็มส่วนในวัยเด็กที่ค้างคาใจเรา เพราะตอนเด็กๆ เราอาจไม่มีฝีมือเท่าตอนนี้ ตอนนี้เหมือนเราต่อยอดสิ่งที่เราไม่เคยทำตอนนั้น

“การได้จินตนาการทำให้หัวใจเรากลับมามีชีวิตชีวานะ” เขาเอ่ยสรุป ยิ้มกว้างให้เรา และก้มหน้าทำสิ่งที่รักต่อไป


ติดตามเพจ Cooking Hand & Prop ได้ ที่นี่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!