สำรวจงานรับปริญญาในต่างประเทศผ่านมุมมองนักเรียนไทยในต่างแดน

งานรับปริญญาถือเป็นพิธีสำคัญของชีวิตนักศึกษา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ในการจบการศึกษาพร้อมความรู้แล้ว ยังเป็นพิธีที่บ่งบอกถึงการจบเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เข้าสู่ชีวิตการทำงานเต็มรูปแบบ 

ในประเทศไทย งานรับปริญญาคือวันสำคัญของบัณฑิต หลายคนลงทุนให้งานออกมาดี ฉลองกับความสำเร็จร่วมกับเพื่อนและครอบครัว แม้ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายและความเหนื่อยล้า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โซเชียลมีเดียทำให้เราได้เห็นภาพงานรับปริญญาของนักศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างไปจากที่เราเคยเห็นและเข้าใจ ชวนให้สงสัยว่างานรับปริญญาในต่างประเทศมีรายละเอียดแตกต่างกับบ้านเราอย่างไร นักศึกษาแต่ละชาติมีมุมมองต่องานนี้อย่างไร

บทความนี้เราอยากชวนทุกคนไปรู้จักพิธีรับปริญญาใน 4 ประเทศ ผ่านมุมมองของนักศึกษาไทยที่เรียนจบและเคยเข้าร่วมพิธีดังกล่าว ได้แก่พิธีที่เรียบง่ายแบบเกาหลีใต้ พิธีที่เป็นเหมือนงานเลี้ยงแบบไต้หวัน พิธีที่ทำให้อาจารย์และลูกศิษย์ได้เข้าใจกันมากขึ้นแบบอังกฤษ หรือพิธีที่เป็นเหมือนวันรวมญาติแบบอิตาลี

ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร มีเพียงความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจและน่าทำความรู้จัก

การฉลองความสำเร็จแบบเกาหลีใต้

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเรียนมากประเทศหนึ่ง แต่พิธีการรับปริญญากลับเรียบง่ายมากกว่าที่คิด เริ่มตั้งแต่การรับชุดครุยกับมหาวิทยาลัย ภายในชุดครุยสามารถสวมใส่ชุดไปรเวทได้ จากนั้นทุกคนจะเข้าไปที่ฮอลล์ใหญ่ ให้ตัวแทนของแต่ละคณะขึ้นไปรับปริญญา จุดนี้คนนอกสามารถเข้าไปชมพิธีได้ หลังจากนั้นจึงแยกย้ายออกมาไปตามคณะของตัวเอง เพื่อรับปริญญากับครูผู้สอน หลังจากนั้นคือช่วงเวลาที่ได้ถ่ายรูปกับครอบครัวและเพื่อนๆ ก่อนแยกย้ายกันไป

ศิรส มหาวัฒนอังกูร หรือ เจ YouTuber จากช่อง Jaysbabyfood เคยศึกษาปริญญาโท สาขาการสอนภาษาเกาหลีเพื่อชาวต่างชาติ มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (ทุนรัฐบาลเกาหลี) ศิรสเล่าว่า “ที่เกาหลีเครียดเรื่องการเรียนมาก สิ่งสำคัญกว่าการรับปริญญาอยู่ที่ว่าสอบติดไหม เพราะการสอบเอนทรานซ์ยากมาก คนเริ่มเตรียมตัวเรียนพิเศษตั้งแต่ประถมหรือมัธยมต้น อยู่โรงเรียนตั้งแต่ 08.00 – 22.00 น. เลิกเรียนในห้องก็มีชั่วโมงให้อ่านหนังสืออีก เขาทุ่มสุดชีวิตเพื่อสอบให้ติด แต่การมีงานรับปริญญาที่เรียบง่ายไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะถ้าไม่มีใบปริญญาก็แทบจะสมัครงานไม่ได้เลยนอกจากงานพาร์ตไทม์”

สำหรับคนเกาหลี จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของชีวิตคือการบรรลุนิติภาวะ 

“การบรรลุนิติภาวะเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า คนเกาหลีถ้าอายุ 20 ปีสามารถดื่มเหล้าเข้าผับได้ ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่คนเกาหลีต่างจากคนไทยคือ ในการเรียน 4 ปีเขาสามารถดร็อปเรียน เพื่อไปเรียนภาษาต่างประเทศหรือฝึกงานได้ คนส่วนใหญ่จึงไม่จบใน 4 ปี พอเรียนจบจะได้มี Resume มีประวัติฝึกงานครบ เขาก็จะได้งานที่ดี เพราะในเกาหลีหางานยากมาก คนไม่ได้เรียนจบก่อนแล้วค่อยทำงาน เขาเตรียมตัวตั้งแต่เข้ารั้วมหาวิทยาลัย ทุกคนวางแผนว่าต้องทำยังไงที่จะได้งานทำหลังเรียนจบ”

ด้วยเหตุนี้งานรับปริญญาของคนเกาหลี ในแง่ความหมายของการเปลี่ยนผ่าน จึงมีความสำคัญน้อยกว่า และถูกจัดอย่างเรียบง่าย แต่ก็เต็มไปด้วยความประทับใจที่ได้ใช้เวลาพูดคุยร่วมกันกับเพื่อน อาจารย์ และครอบครัว 

“เราได้คุยกับเพื่อนที่เรียนกับเราว่าผ่านอะไรมาบ้าง พอจบก็ได้ไปกินข้าวกับครอบครัว มันเหมือนอยู่ในความทรงจำเรามากกว่า ที่เกาหลีพอเรารับปริญญาจะได้เจออาจารย์มาแสดงความยินดี  เรารู้สึกดีใจที่ได้เจอทุกคนซึ่งอยู่ในความทรงจำร่วมกับเรา อาจจะไม่ใช่งานใหญ่โต แต่เราว่ามันก็เป็น quality time ในแบบของมัน” เจเล่า

งานเลี้ยงในธีม ‘ชุดครุย’ แบบไต้หวัน

สำหรับไต้หวัน สิ่งที่เห็นชัดที่สุดในงานรับปริญญา คือมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการวางแผนล่วงหน้าของนักศึกษา ทุกมหาวิทยาลัยจะจัดงานรับปริญญาก่อนสอบเสร็จ 1 เดือน ประมาณช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อให้นักศึกษาหลายคนที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถกลับบ้านได้เลยหลังจากเรียนจบ

พิธีรับปริญญาไม่แตกต่างจากเกาหลีมากนัก โดยจะมีตัวแทนขึ้นไปรับ จากนั้นอาจารย์จะเป็นคนปัดพู่ซึ่งห้อยอยู่บนหมวกจากขวาไปซ้าย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าจบการศึกษาแล้ว บรรยากาศค่อนข้างเรียบง่ายและอบอุ่น

โบโบ-กรรณิการ์ พิริยะกิจไพบูลย์ อินฟลูเอนเซอร์และครูสอนภาษาจีนจากเพจ โบโบ กวนจีน (波波真幸福) เคยเรียนปริญญาโท คณะ Teaching Chinese as a Second Language ที่ National Taiwan University อธิบายถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ไต้หวันว่า “คนไต้หวันให้ความสำคัญกับการศึกษามาก ที่สัมผัสได้คือ ค่าเทอมเขาถูก เพราะอยากให้ทุกคนสามารถเรียนได้ เช่น เด็กต่างชาติไปเรียนปริญญาโท ค่าเทอมประมาณ 50,000 บาทต่อเทอม ซึ่งถือว่าถูกมาก นอกจากนี้ยังมี facility อย่างหอสมุดที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง, Study Room ที่ใหญ่มาก มีห้องประชุมในทุกคณะ เพื่อให้เราสามารถนั่งอ่านหนังสือกับเพื่อนได้ ทำให้พื้นฐานของคนไต้หวันชอบอ่านหนังสือและชอบเขียน

“ส่วนงานรับปริญญาเขาก็ให้ความสำคัญในแง่ของการฉลองเพื่อตัวเองและคนใกล้ตัว เช่น ครอบครัว เพื่อน และอาจารย์ที่สอนมา ในพิธีจึงค่อนข้างสบายๆ การแต่งตัวเหมือนวันปกติ ปั่นจักรยานเข้ามหา’ลัยไปเข้าหอประชุม แล้วก็เอาชุดครุยมาใส่เลย แม้แต่คนที่คิดว่าจะจบช้ากว่าเพื่อน แต่ถ้าเพื่อนเราจบปีนี้ เราสามารถลงทะเบียนไปร่วมงานปีนี้ก็ได้ มันเหมือนลงทะเบียนไปงานเลี้ยง ตามความพอใจว่าเราอยากจะเข้าไหม เพราะใบปริญญาจะมาทีหลังอยู่แล้ว มันเหมือนเป็นงานสังสรรค์ที่เป็นธีมงานเรียนจบ

“เรารู้สึกว่าไม่ใช่เขาไม่ให้ความสำคัญนะ บางคณะเขาจะมีงานรับปริญญาแยกด้วยกับอาจารย์และภาคตัวเอง มันดูเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับคนใกล้ชิด เช่น เพื่อน อาจารย์ พ่อแม่ ก็มาแสดงความยินดีและถ่ายรูปด้วยกัน หลังเสร็จงานก็ข้ามถนนมากินข้าวกับเพื่อน ซึ่งมันก็คือร้านที่เรากินเวลาเลิกเรียนนั่นแหละ ถ้าเพื่อนเราอยู่มหาวิทยาลัยละแวกเดียวกัน ก็เดินไปถ่ายรูปกับเขาได้เลย ทุกมหาวิทยาลัยจัดวันเดียวกัน ที่ไต้หวันเดินทางค่อนข้างง่าย แค่เดินไปนั่งรถเมล์ไปไม่นานก็ถึงแล้ว”

บรรยากาศวันรับปริญญาในไต้หวัน โบโบใช้คำว่า ‘ร่าเริงมากกว่าปกติ’ เนื่องจากในวันดังกล่าวจะมีคนเยอะขึ้น ส่วนใหญ่เข้ามาเดินเล่นใน NTU ซึ่งเป็นเหมือนสวนสาธารณะสำหรับคนนอก นอกจากนี้ยังมีการจัดซุ้มรอบๆ ในช่วงที่เราสัมภาษณ์ ใกล้เวลาที่โบโบต้องกลับประเทศไทย ทุกที่ในมหาวิทยาลัยจึงเต็มไปด้วยความทรงจำ ความลำบาก และความสนุก

“วันรับปริญญาคือการได้ฉลองกับเพื่อน หลายๆ สิ่งมันเกิดขึ้นในมหา’ลัย เป็นวันที่เราได้ฉลอง ขอบคุณอาจารย์ และขอบคุณพ่อแม่ที่ส่งเราเรียน มันเป็นวันที่เราบอกว่า เราทำสำเร็จแล้ว ยิ่ง ปริญญาโทจะยิ่งรู้สึกภูมิใจ เพราะเป็นสิ่งที่เราเลือกเองทั้งหมดเลย วันนั้นมันมีความหมายกับเรามาก เหมือนบอกว่าเรากำลังจะจบด้านการเรียนแล้วนะ หลังจากนี้เป็นชีวิตเราที่แท้จริง”

เข้าใจอาจารย์ในวันจบการศึกษาแบบอังกฤษ

อังกฤษมีมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในหลายประเทศ พวกเขาให้ความสำคัญกับการศึกษาไม่แพ้กัน พิธีรับปริญญาถูกจัดขึ้นด้วยบรรยากาศสบายๆ แต่ก็ยังคงความเป็นแบบแผนฉบับอังกฤษ

เทม-ธันยพร เสนาฤทธิ์ นักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร (UK) เรียนปริญญาตรีที่ Swansea University ประเทศเวลส์ และปริญญาโทสาขา Biomedical Engineering ที่ University of Surrey ประเทศอังกฤษ เธอเล่าบรรยากาศการรับปริญญาช่วงปริญญาตรีว่าภายในงานมีความเป็นกันเองค่อนข้างสูง แต่ก็ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีอยู่ 

มหาวิทยาลัยจะแบ่งการรับปริญญาของแต่ละคณะเป็นรอบๆ ใช้เวลารวมทั้งหมด 2 อาทิตย์ ด้วยระยะเวลาที่ไม่รวบรัด จึงทำให้ในงานมีเวลาเหลือเพียงพอให้อาจารย์พูดคุยกับบัณฑิตทุกคนบนเวที 

หลังจากที่เดินขึ้นไปรับใบปริญญาทีละคน นักศึกษาจะถูกพาไปที่ Lecture Hall เพื่อถ่ายรูปรวม ก่อนแยกย้ายไปถ่ายรูปตามสถานที่สำคัญ โดยเฉพาะ University of Surrey ซึ่งอยู่ริมทะเลจึงกลายเป็นจุดยอดนิยมที่คนมักไปเก็บภาพบรรยากาศในวันสำคัญนี้

“ตอนอยู่ในพิธีเรารู้สึกขลัง เพราะมีเสียงออร์แกนเหมือนเราเข้าโบสถ์ แล้วก็มีคนถือคฑา บัณฑิตที่จบไปแล้วจะขึ้นมาพูดและร้องเพลง  พิธีการรับค่อนข้างเร็ว เราเดินต่อแถวขึ้นไปจับมือกับอาจารย์และอาจารย์จะคุยกับเราบนเวทีสั้นๆ เช่น ‘ยินดีด้วยนะ’ ‘จบแล้วจะทำไรต่อ’ ถ้าใครแฟนคลับเยอะ ก็จะโห่ร้องให้ อย่างของเราแม่ก็กรี๊ดสุดเสียง” เทมเล่าบรรยากาศภายในงาน

สังคมในมหาวิทยาลัยเทมบอกว่าค่อนข้างเป็นมิตรทั้งเพื่อนและอาจารย์ ทำให้บรรยากาศในงานค่อนข้างอบอุ่น พ่อแม่แต่ละครอบครัวได้คุยกันเป็นครั้งแรก เพื่อนเธอบางคนก็ตัดชุดครุยให้สุนัขด้วย เหมือนทุกคนมา hang out กันในชุดครุยมากกว่า 

เทมมองเห็นความหมายของงานรับปริญญาที่อังกฤษ จากการฟังสุนทรพจน์ในพิธี เนื้อหาว่านี่เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ยังมีอีกหลายๆ ช่วงเวลาที่เราต้องข้ามผ่านรออยู่ในวันข้างหน้า 

“เวลาคนขึ้นมาพูดในงานรับปริญญา ไม่ได้มีใครมาพูดว่าจงภูมิใจ แต่เขาจะบอกว่ามันเป็น checkpoint ในชีวิตมากกว่า บ้านเทมก็ภูมิใจเพราะเขาส่งเรามาเรียน แต่ก็มองว่าเหมือนสนามซ้อมที่จบแล้วต้องเริ่มทำงาน เริ่มหาตัวเองด้วยเหมือนกัน เรารู้สึกภูมิใจวันที่เกรดออกมากกว่าวันที่รับปริญญา คนอังกฤษมองว่าการรับปริญญาเป็นการก้าวจากนักศึกษาไปเป็นคนทำงานในสังคม 

โมเมนต์ที่ประทับใจสำหรับเรามีอาจารย์ประจำ thesis ที่ไม่ค่อยชอบเท่าไรเพราะว่าเข้ากันไม่ได้ แต่ในวันรับปริญญามีโอกาสได้พูดคุยกัน ทำให้ได้เห็นอาจารย์ในอีกมุมหนึ่ง วันนั้นได้คุยเยอะกว่าตอนเรียน เขาให้คำแนะนำและอธิบายว่าเขาต้องดุเพราะมันเป็นหน้าที่ เราก็ได้มาเข้าใจทีหลัง แต่จบมาก็ไปนั่งกินเบียร์กับอาจารย์ ไม่ได้มีระยะห่างกันเท่าไร ทุกวันนี้ก็ยังคุยกันอยู่เลย

สิ่งที่สำคัญในงานรับปริญญาคือมันอาจเป็น last conversetion ระหว่างเรากับอาจารย์ เวลาคุยเขาก็จะมองตาเรา เรารู้สึกว่าเขาให้ความสำคัญกับทุกคำพูดที่มีต่อเด็กทุกคนซึ่งอยู่ด้วยกันมา3 ปี ได้ถ่ายรูปสวยๆ ข้างใน และก็มีกองเชียร์เหมือนเชียร์บอล สนุกมาก เพื่อนที่เป็นคนแอฟริกาก็เอากลองเข้าไปด้วยเทมเล่า

งานที่ทุกคนได้มาสนุกด้วยกันแบบอิตาลี

อิตาลีเป็นประเทศที่ผู้คนรักงานสังสรรค์ บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน หลายมหาวิทยาลัยไม่มีชุดครุย แต่จะสวมมงกุฎCorona d’alloro’ หรือมงกุฎดอกไม้ตลอดทั้งวันเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเรียนจบ

เบนเบน-ณัฐธิดา นันทสันติ นักเรียนไทยที่เคยศึกษาปริญญาโท ในอิตาลี สาขา Fashion Styling, Photography and Film ที่ Istituto Marangoni เธอเล่าว่า การรับปริญญามีความหมายกับคนอิตาลีมากไม่ต่างจากไทย เพราะเป็นวันที่ครอบครัวจะได้มาร่วมแสดงความยินดีและถ่ายรูปร่วมกันเพื่อเป็นความทรงจำ นักศึกษาจึงสวมชุดที่มั่นใจที่สุด เน้นแต่งตัวให้ดูดีในวันสำคัญ เช่น ผู้ชายมักใส่สูท ผู้หญิงมักใส่เดรส ยกเว้นบางคนที่เรียนสายธุรกิจอาจจะมีชุดครุยสีดำ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน 

“บัณฑิตหลายคนจะสวมใส่ใส่มงกุฎ Corona d’alloro ทั้งวัน แล้วไปถ่ายรูปตามสถานที่สำคัญ เช่นในมหาวิทยาลัย หรือถ้าอยู่มิลานก็จะถ่ายที่มหาวิหาร Duomo di Milano ตั้งอยู่จัตุรัสกลางเมืองมิลาน ระหว่างนั้นคนอิตาลีที่เดินผ่านไปมาเขาก็จะตะโกนใส่เราแสดงความยินดี เพราะคนอิตาลีส่วนใหญ่ใจดี ชอบการปาร์ตี้ และชอบคุยกับคนแปลกหน้า เราเลยรู้สึกเหมือนคนทั้งเมืองแสดงความยินดีกับเราไปด้วย

“ในพิธีรับปริญญา คนอิตาลีอยากไปเจอเพื่อนและญาติมากกว่า เพราะบางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด แต่เขาไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องมา คนอิตาลีชอบปาร์ตี้ เขาเลยจะนัดมางานปาร์ตี้แทนมากกว่า ส่วนมากวันรับปริญญาก็จะเป็นวันสบายๆ

“งานนี้มีความหมายกับคนอิตาลีในความรู้สึกว่าเรียนทั้งหมดตลอด 3 ปี วันนี้เป็นวันที่จบแล้ว เขาจะดีใจมาก แต่ไม่ได้ซีเรียสกับพิธีการ อย่างเพื่อนเราแค่อยากขึ้นไปรับบนเวทีให้แม่ดู เพราะคนอิตาลีผู้ชายจะติดแม่มาก พวกเขาจะอยากขึ้นไปรับปริญญาให้แม่เห็นว่าส่งเขาเรียนจบแล้ว บางคนครอบครัวก็ไม่ซีเรียส เขาก็ไปเพราะเป็นวันสุดท้ายที่ได้เจอเพื่อน หรืออาจารย์

“อิตาลีเป็นประเทศที่อยากให้ทุกคนสนุก เอนจอย คนค่อนข้างใจดี รักการพูดคุย การพบปะ บรรยากาศค่อนข้างสนุกและคึกคัก เราจะเห็นคนตะโกน ร้องเพลงมหา’ลัย เขาก็ชอบนะที่ทุกคนไปหาเขา เพราะเหมือนเป็นวันของเขา ส่วนมากก็ทำเพื่อให้ตัวเองมีความสุขมากกว่า” เบนเบนเล่า

แม้แต่ละประเทศจะมีรายละเอียดในงานรับปริญญาที่แตกต่างกัน แต่ในภาพรวมงานรับปริญญาต่างมีไว้เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของเหล่าบัณฑิตที่กำลังก้าวสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว มีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ เป็นเหมือนอีกหนึ่งจุดสำคัญ ก่อนก้าวไปสู่โลกของการทำงานต่อไป

AUTHOR