‘COFFEENITURE’ จิบกาแฟ ชิมขนม ชมนิทรรศการที่ซ่อนตัวอยู่ในร้านเฟอร์นิเจอร์ย่านเอกมัย

Highlights

  • COFFEENITURE คือนิทรรศการชื่อน่ารักจาก Flo ที่รวมเอาทั้ง coffee และ furniture มาผนวกรวมเข้าด้วยกัน
  • เพราะการทำธุรกิจร้านกาแฟเติบโตอย่างรวดเร็ว เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์อย่าง นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ จึงจัดนิทรรศการที่ว่านี้ด้วยการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ขึ้นใหม่เพื่อเทรนด์นี้โดยเฉพาะ
  • เฟอร์นิเจอร์เพื่อร้านกาแฟในสไตล์ของ Flo จะเป็นยังไง 1-9 กุมภาพันธ์นี้ไปร่วมงาน Bangkok Design Week 2020 กันที่ย่านทองเอก (ทองหล่อ-เอกมัย) ปักหมุดที่เอกมัย ซอย 15 แล้วเลี้ยวเข้าโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ ไปชมนิทรรศการจาก Flo กันเลย
 

หากมองจากบรรยากาศรอบนอก คงไม่มีใครเชื่อว่าเพียงแค่เดินเข้ามาในโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ย่านเอกมัยอย่าง Flo จะมีนิทรรศการที่เจ้าของแบรนด์อย่าง นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ โยกย้ายของในโชว์รูมกว่าครึ่งออกไป แล้วปรับเปลี่ยนใหม่เป็นห้องม่านหลากสีสันที่ประดับประดาด้วยแสงไฟและเฟอร์นิเจอร์ที่ดีไซเนอร์หน้าใหม่ออกแบบขึ้นโดยมี Flo เป็นผู้สนับสนุน

ก่อนที่ Bangkok Design Week 2020 จะจบลง ชวนปักหมุดไปยังย่านใหม่ประจำปีนี้อย่าง Thong-Ek Creative Neighborhood เลี้ยวเข้าโชว์รูม Flo ย่านเอกมัย เดินเข้าห้องม่านที่ตกแต่งไว้หลากรสหลากสไตล์ได้เลย

เฟอร์นิเจอร์ที่คิดขึ้นเพื่อร้านกาแฟ

“โชว์รูมของเราอยู่รวมกับพี่ต๊ะ (อนุพล อยู่ยืน) Mobella พอพี่ต๊ะมีไอเดียเรื่อง Thong-Ek Creative Neighborhood ชวนคนนู้นคนนี้ทั้งแวดวงสถาปนิก คนทำงานดีไซน์ ร้านกาแฟ ร้านอาหารในพื้นที่นี้ มาร่วมกันและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week 2020 ผมเลยคิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ เราน่าจะทำนิทรรศการของตัวเองขึ้นมาด้วยเลย” นรุตม์เล่าถึงที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ให้ฟังขณะพาเราเดินชมงาน 

“เพราะเฟอร์นิเจอร์เป็นระบบอุตสาหกรรมที่ต้องผลิตออกมาเป็นจำนวนมากจึงจะคุ้มทุน ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปดีไซเนอร์เลยเน้นทำเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ได้ในหลายโอกาส อาจจะวางในบ้านคนได้ด้วย วางในร้านอาหารได้ด้วย แต่เฟอร์นิเจอร์ที่เราเอามาจัดแสดงในงานนี้จัดทำขึ้นใต้แนวคิดเฟอร์นิเจอร์เพื่อร้านกาแฟโดยเฉพาะ มีฟังก์ชั่นบางอย่างที่ยืดขึ้นมาเพิ่มเพื่อให้ตอบโจทย์กับการนำไปวางในร้านได้ เป็นเหมือนวิวัฒนาการเพื่อเอาตัวรอดซึ่งเป็นธีมของ Bangkok Design Week ปีนี้ 

“นอกจากลูกค้าส่วนใหญ่ของ Flo จะเป็นร้านกาแฟแล้ว ช่วงหลังๆ มานี้ผมว่าธุรกิจประเภทนี้ก็เกิดขึ้นเยอะด้วย และแต่ละร้านก็ต้องทำให้ตัวเองยูนีค ไม่ใช่แค่ว่าซื้อเฟอร์นิเจอร์มาให้สีแมตช์กันกับร้านแล้วจบ แต่การตกแต่งต้องมาเป็นแพ็กเกจเลย เพลงก็ต้องเลือกมาให้เข้ากันกับตัวร้าน อาหารที่จะเสิร์ฟก็ต้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมันแปลกใหม่มาก เป็นคัลเจอร์ที่กำลังนิยม 

“นิทรรศการของเราเลยพยายามจำลองพื้นที่นั้นขึ้นมา พยายามผลักให้ลักษณะของวิชวลมีผลต่อเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น โดยการทำเหมือนโฟโต้บูท วางเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาให้เห็นชัดๆ เซตอัพแสงให้เป็นสตูดิโอถ่ายรูป พร้อมกับเสิร์ฟเครื่องดื่มสูตรพิเศษจาก Cold Brew Boy และขนมจาก La Lim ทำเพลย์ลิสต์ที่เหมาะกับแต่ละห้องขึ้นมา”

ห้องม่านหลากสีสันตามสไตล์เฟอร์นิเจอร์

พื้นที่ส่วนหน้าของโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์แห่งนี้จึงถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน จัดแต่งเป็นห้องม่านหลากสีสัน ซึ่งประดับประดาด้วยไฟตกแต่งตามธีมของเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบขึ้นใหม่เพื่อร้านกาแฟโดยเฉพาะ 4 รูปแบบ เรียบหรู สงบ จัดจ้าน และสดใส 

Gifgif Stool – Kittiphon Sodata

“อย่างงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากยีราฟ” นรุตม์ที่หยุดยืนอยู่ด้านหน้าห้องม่านสีชมพูพาสเทลชี้ไปยังเก้าอี้สีสันสดใสที่มีรูปร่างคล้ายยีราฟจริงๆ ด้วยรอยยิ้มขบขัน ก่อนเล่าแนวคิดที่ดีไซเนอร์ซุกซ่อนไว้ให้ฟัง อย่างจุดเด่นที่อยากจะให้โต๊ะและเก้าอี้เป็นชิ้นเดียวกันเพื่อประหยัดพื้นที่ “คาแร็กเตอร์ของเฟอร์นิเจอร์มันดูน่ารักดี ผมเลยจับให้เข้ากันกับอินทีเรียร์ที่มีความซอฟต์ ความพาสเทล แบบนี้” 

Spaghettool – Kittiphon Sodata

“งานส่วนใหญ่จะคำนึงถึงความประหยัดพื้นที่เป็นหลัก อย่างงานชิ้นนี้ก็ออกแบบมาด้วยแนวคิดที่ว่าอยากจะให้โต๊ะกับเก้าอี้ซ้อนกันได้” นรุตม์ที่เดินนำไปก่อนหน้า หันกลับมาอธิบายให้ฟังอีกครั้งเมื่อเห็นเราหยุดยืนมองเฟอร์นิเจอร์ในห้องม่านสีแดงที่อยู่ใกล้กัน

“ส่วนขาของเฟอร์นิเจอร์ทั้งสองตัวมีลักษณะเหมือนกัน แตกต่างกันที่ท็อปด้านบนที่ตัวหนึ่งเป็นแบบเรียบ อีกตัวหนึ่งบุเบาะ เวลาเก็บร้านก็จะสามารถซ้อนทับเป็นอันเดียวกันได้เลย หรือถ้าร้านกาแฟจัดอีเวนต์ก็สามารถยกเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดนั้นตั้งขึ้นซ้อนกันได้อย่างสะดวกและไม่เปลืองเนื้อที่” 

Palin Collection – Chalongchai Chansrivilai , Thorntan Na Phattalung

Klear Collection – Kanin Chuenmeechow

นิทรรศการที่เบื้องหลังคือการพัฒนาสินค้าและคน

“เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาไม่ได้เจาะจงหรอกว่าจะต้องอยู่กับห้องสไตล์นี้เท่านั้น แต่การที่เราออกแบบแต่ละห้องให้แตกต่างกันอย่างนี้ ในแง่หนึ่งก็เพื่อเป็นตัวแทนบอกให้รู้ว่าร้านกาแฟในปัจจุบันมีหลายสไตล์มาก และอีกแง่คือมันก็เหมือนเป็นการทำให้คนรู้ด้วยว่า Flo ไม่ได้ทำได้แค่สไตล์เดิมๆ เราทำอย่างอื่นได้ด้วย สีแดงที่เราไม่ค่อยทำก็มีอยู่ในเฟอร์นิเจอร์ชุดนี้ หรืออย่างอะคริลิกก็เป็น material ที่ดีไซเนอร์เขาไปเลือก ไปเวิร์กกับโรงงานอะคริลิก แล้วเอามาแมตช์กับของเรา มันคล้ายๆ เป็นการ R&D ไปในตัว เป็นการ R&D แบบเปิดเผยหน่อยๆ

“เหมือนได้ลองพัฒนาโปรดักต์บางอย่างที่ไม่ได้อยู่ในกรอบเดิมที่เราทำขึ้นมา ได้ลองจัดแสดงดูว่าวิธีนี้เวิร์กไหม คนจะรีแอกต์กับของเหล่านี้ยังไง เพราะมันเป็นของที่เกิดจากผลงานในรั้วมหาวิทยาลัยด้วย

“คนจะชอบบอกว่าเด็กที่จบมหาวิทยาลัยมักจะไม่ได้เอางานที่ตัวเองทำหรือความรู้ที่เรียนมาประกอบอาชีพจริงๆ เราก็เลยอยากให้โอกาสเด็กที่มีความสามารถ มีแววพัฒนาได้ มาลองทำดู ให้นิทรรศการนี้เป็นพื้นที่ที่จะได้ก้าวเข้ามาทำงาน สินค้าที่เขาออกแบบก็ซื้อ-ขายกันได้เลยจริงๆ”

“ถ้างานแฟร์ปกติเป็นงานที่เน้นยอดขาย ตั้งเป้าแล้วต้องทำให้ได้ งานครั้งนี้ก็จะเป็นงานที่เราไม่ได้หวังว่าจะต้องขายได้ด้วยซ้ำ เพราะถึงแม้ว่ามันอาจจะขายไม่ได้เลย แต่อย่างน้อยเราได้ฟีดแบ็ก ได้ลอง การที่เราไม่ออกจากเซฟโซนเดิมๆ เลยมันก็ทำให้เราพลาดโอกาสไป

“คนที่มางานจะแค่มานั่งกินกาแฟ กินขนมเมนูพิเศษที่ทำขึ้นมาเพื่อนิทรรศการชุดนี้ หรือจะมานั่งถ่ายรูปกันก็ได้ มันคืองานที่เต็มไปด้วยการลองผิดลองถูก และผมว่าสนุกดี”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก