หายใจให้เต็มปอดใน ‘หลุมหลบภัยทางอากาศ’ พื้นที่อากาศดีท่ามกลางฝุ่นควันของเมือง

Highlights

  • หลุมหลบภัยทางอากาศหรือ Bangkok #Safezone Shelter คือพื้นที่สาธารณะในงาน Bangkok Design Week 2020 ที่ทดลองแก้ปัญหาฝุ่นและมลภาวะทางอากาศอื่นๆ ด้วยการผสมงานออกแบบ หลักการทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และต้นไม้นานาพันธุ์ไว้ด้วยกัน
  • ผู้ที่อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์คือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่อยากแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตด้วยงานออกแบบ ร่วมกับบริษัทภูมิสถาปนิก ฉมา และอาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • เพราะเป็นโปรเจกต์ทดลอง ทีมงานจึงเน้นเก็บฟีดแบ็กจากผู้มาเยี่ยมชมอย่างจริงจังเพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปพัฒนาและปรับใช้กับพื้นที่อื่นต่อไป

หลุมหลบภัยทางอากาศ

ในฤดูฝุ่นที่ค่า PM2.5 ในเมืองบางวันสูงแตะระดับ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถ้ามีพื้นที่สักแห่งที่ผู้ประสบภัยฝุ่นอย่างเรากล้าถอดหน้ากากอนามัยแล้วสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอดก็คงดี

ฟังดูเหมือนฝันที่ไม่กล้าฝัน แต่ใครจะรู้ว่าพื้นที่แบบที่ว่าจะมีอยู่จริง แถมยังตั้งอยู่กลางเมืองเสียด้วย

หลุมหลบภัยทางอากาศ

ใครแวะไปเดินดูงานดีไซน์ใน Bangkok Design Week 2020 มาแล้วคงได้เห็นโครงสร้างเหล็กสีขาวสะอาดห่อหุ้มด้วยผ้าสีเดียวกันด้านหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ที่นี่คือ ‘หลุมหลบภัยทางอากาศ’ หรือ Bangkok #Safezone Shelter พื้นที่สาธารณะที่บรรจุต้นไม้ชุ่มชื้น แสงแดดรำไร สายลมหมุนเวียน อุณหภูมิเย็นสบาย และอากาศที่สะอาดกว่าภายนอกหลายเท่า

พูดให้เป็นทางการขึ้นอีกหน่อย หลุมหลบภัยที่เห็นคือพื้นที่ทดลองแก้ปัญหาฝุ่นและมลภาวะทางอากาศอื่นๆ ที่เรื้อรังในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่หลายแห่งมายาวนาน ด้วยการผสมงานออกแบบ หลักการทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และต้นไม้นานาพันธุ์ไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

หลุมหลบภัยทางอากาศ

หลุมหลบภัยทางอากาศ

เบื้องหลังของงานนี้คือการรวมพลังกันของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency: CEA), บริษัทภูมิสถาปนิก ฉมา และ ผศ. ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ก่อนจะสิ้นหวังกับปัญหาฝุ่น เราจึงขอมาคุยกับ แนท–ณัฏฐวีร์ แตงน้อย Senior Creative City Development Officer ประจำ CEA, ยศ–ยศพล บุญสม แห่งฉมา และ ผศ. ดร.ประพัทธ์ ถึงหลุมหลบภัยที่เป็นความหวังของเมืองและของเราทุกคน

หลุมหลบภัยทางอากาศ

 

ผู้ประสบภัยฝุ่น

ย้อนกลับไป 2-3 ปีก่อน ฝุ่น PM2.5 เริ่มกลายเป็นปัญหาที่คนไทยตระหนักมากขึ้น ภาพคนใส่หน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่นกลายเป็นภาพปกติยามค่าฝุ่นพุ่งทะยาน เครื่องฟอกอากาศกลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ และมีการถกกันหลายครั้งถึงนโยบายที่จะแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน แต่จนแล้วจนรอดฝุ่นก็ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ดี

แต่นอกจากฝุ่นแล้ว ผศ.​ ดร.ประพัทธ์เล่าว่าในเมืองใหญ่ที่เรียกว่า megacity เช่น กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ภัยทางอากาศยังมีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโอโซนซึ่งเป็นก๊าซพิษ หรือสารอินทรีย์ระเหยคือสารมลพิษที่ออกมาจากไอเสีย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ทั้งสิ้น

ถึงอย่างนั้นมลพิษทางอากาศก็ไม่ใช่ที่มาเพียงอย่างเดียวของโปรเจกต์หลุมหลบภัย

หลุมหลบภัยทางอากาศ

“ทุกวันนี้รัฐบาลไทยส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์และใช้การพัฒนาเมืองในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนเมืองด้วย ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็คือ CEA ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเมืองนั่นเอง” แนทอธิบาย

“เดือนตุลาคมที่ผ่านมากรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ CEA จึงอยากทดลองทำโครงการที่ใช้งานออกแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต เรามองย้อนกลับไปว่าคุณภาพชีวิตนั้นมีหลายด้าน หลายมิติ เช่น ด้านอาหาร การศึกษา ระบบขนส่งสาธารณะ อากาศ​ ซึ่งเรามองว่าอากาศนี่แหละคือสิ่งสำคัญ เพราะเราใช้อากาศในการหายใจทุกๆ วินาที”

เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า นานมาแล้วมนุษย์สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้โดยไม่ต้องซื้อ แต่มาวันนี้น้ำสะอาดกลับกลายเป็นสิ่งที่มีราคาและไม่สามารถหาได้ง่ายๆ อีกต่อไป และหากเรายังใช้ชีวิตกันแบบนี้ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะต้องซื้ออากาศดีๆ ไว้หายใจ และนั่นคือเหตุผลที่คุณภาพอากาศกลายเป็นเรื่องแรกที่ทีม CEA เลือกพัฒนา

“ในเมื่อเราไม่ใช่หน่วยงานที่ทำงานด้านการออกมาตรการหรือกฎหมายใดๆ เราทำงานในฐานะนักออกแบบ เราจึงใช้งานออกแบบนี่แหละในการพัฒนาคุณภาพอากาศ”

 

ก่อสร้างหลุมหลบภัย

พูดถึงสิ่งแวดล้อม ภาพแรกที่เรามักเชื่อมโยงโดยอัตโนมัติคงหนีไม่พ้นต้นไม้ ทีม CEA จึงชักชวนฉมา บริษัทภูมิสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบพื้นที่สีเขียว มาออกแบบพื้นที่นี้ด้วยกัน โดยมีโจทย์กว้างๆ คือการใช้พื้นที่สีเขียวกรองฝุ่นและอากาศ และชักชวน ผศ. ดร.ประพัทธ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมลภาวะทางอากาศและเคยออกแบบพื้นที่ปิดให้มีอากาศบริสุทธิ์ มาเป็นที่ปรึกษา

“ตอนนั้นทีม CEA ทำรีเสิร์ชเรื่องพืชดักฝุ่นมาแล้วประมาณหนึ่งและให้โจทย์กับเราว่าอยากทำพื้นที่ที่ใช้ต้นไม้ช่วยกรองอากาศ เราจึงคิดว่าจะใช้ต้นไม้เลียนแบบกลไกของเครื่องกรองอากาศ โดยทำต้นไม้เป็นแผง เรียงเป็นเลเยอร์ แต่อาจารย์ประพัทธ์แนะนำว่าการทำพื้นที่เปิดนั้นยากเกินไปที่จะควบคุมคุณภาพอากาศ สุดท้ายเราเลยตัดสินใจทำพื้นที่ปิด และมีตัวกรองอากาศ เลยเกิดเป็นพื้นที่ที่เรียกว่าหลุมหลบภัยขึ้นมา” ยศย้อนความถึงจุดเริ่มต้น

“เราไม่อยากให้เรื่องฝุ่นดูเป็นเรื่องน่ากลัวหรือไกลตัว หลุมหลบภัยควรอยู่กับเมืองและอยู่ในชีวิตประจำวันได้ เราจึงออกแบบพื้นที่ให้คนอยากเข้าไปนั่ง ถ้าดูรูปทรงข้างนอกมันจะเหมือนก้อนเมฆ ดูนุ่มสบาย ผ่อนคลาย ตัดกับความแข็งของตึก พอเข้าไปจะเจอบรรยากาศของธรรมชาติที่มีพรรณไม้หลากชนิด”

หลุมหลบภัยทางอากาศ

หลุมหลบภัยทางอากาศ

แม้จะพูดว่าพื้นที่ด้านในจำลองมาจากธรรมชาติที่มีไม้นานาพันธุ์ปะปน แต่ที่จริงหลุมหลบภัยคือผลลัพธ์ของการผสมผสานระหว่างธรรมชาติ งานออกแบบ และหลักการทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ออกมาเป็น 3 หัวใจที่ยศใช้ออกแบบผลงานคือ ‘ปกป้อง ดักกรอง และสงบสบาย’ 

“หลักการแรกคือปกป้อง หลุมหลบภัยต้องการชั้นบรรยากาศที่ปกป้องพื้นที่ด้านในจากมลภาวะ เช่น ฝุ่นหรือแสงแดดจ้า หลักการที่สองคือดักกรอง เลเยอร์แรกคือกลุ่มต้นไม้ที่จับฝุ่น เหมือนเป็นการกรองฝุ่น เลเยอร์ที่สองเป็นน้ำหยดลงมาเพื่อให้ความชื้น เลเยอร์ที่สามเป็นพัดลมที่ดูดลมด้วยความแรงที่อาจารย์ประพัทธ์คำนวณมาว่าเหมาะสม และผ่านต้นไม้ที่ดูดซับสารพิษได้อีกเลเยอร์

“องค์ประกอบที่สามคือภาวะนั่งสบาย เราออกแบบจากองค์ประกอบที่อาจารย์ให้ เช่น ความชื้นที่เหมาะสม ลมเย็นสบาย แสงไม่จ้าเกินไป และนอกจากคุณภาพอากาศแล้วเรายังคำนึงถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วย เช่น กลิ่น เราก็ใช้พรรณไม้ที่มีกลิ่นหอมมาผสม หรือเรื่องสัมผัส เราก็ออกแบบพื้นที่ให้มีหน้าตานุ่มนวล เข้าไปแล้วอยากนั่งนานๆ มีเสียงเพลงและเสียงจำลองธรรมชาติลดทอนเสียงจอแจของรถ เป็นการผสานวิทยาศาสตร์และศิลปะให้กลมกล่อม ทำให้คนสามารถอยู่กับภัยได้อย่างไม่รู้สึกว่ามันเป็นภัย”

หลังจากออกแบบและส่งให้ ผศ. ดร.ประพัทธ์ประเมินความสามารถในการสร้างคุณภาพอากาศที่ดีอยู่หลายรอบ หลุมหลบภัยทางอากาศจึงเกิดขึ้นพร้อมให้เราเข้าชมในวันนี้

 

การทดลองที่ไม่สิ้นสุด

นอกจากเข้าไปนั่งผ่อนคลายหรือพักเหนื่อยจากการเดินดูผลงานใน Bangkok Design Week 2020 อีกองค์ประกอบของหลุมหลบภัยยังเป็นหน้าจอที่แสดงผลเปรียบเทียบฝุ่น PM2.5, ฝุ่น PM10, อุณหภูมิ และความชื้นของภายในและภายนอกหลุมหลบภัย ซึ่งผลที่หน้าจอก็แสดงว่าอากาศภายในมีคุณภาพที่ดีกว่าจริงๆ

ถึงอย่างนั้นทีมก็เน้นย้ำว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ทดลองสร้างคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดมลภาวะร้อยเปอร์เซ็นต์

“เราอาจเรียกได้ว่าเราพยายามสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่นี้ ไม่ใช่แค่การลดฝุ่นอย่างเดียว เราไม่อยากให้คนเข้าใจผิดว่าปลูกต้นไม้แล้วจะลดฝุ่นได้เยอะ” ผศ. ดร.ประพัทธ์อธิบาย ก่อนยศจะเสริมว่า

“เราคิดว่ามันน่าจะต่อยอดได้ เราไม่ได้พูดถึงสเกลการจัดการทั้งเมือง แต่มันอาจจะเป็นสเกลที่ทำได้ในชุมชน ในโรงเรียน หรือวันก่อนผมคุยกับผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เขาก็มองว่ามันพัฒนาร่วมกับโครงการบ้านพัก ที่อยู่อาศัย หรือสวนสาธารณะได้”

“ในพื้นที่นี้เราจะให้คนมาเสนอความคิดเห็น แปะสติกเกอร์ เป็นการเทสต์ในเชิงจิตวิทยา เพราะสิ่งที่เราวัดเป็นเชิงกายภาพ แต่ว่าบางทีกายภาพที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกของคนก็ไม่เหมือนกัน อาจารย์ชอบให้คำปรึกษาอยู่บ่อยๆ ว่า บางทีเราอยู่ในอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส แต่ถ้ามันมีความเร็วลมประมาณหนึ่งอยู่ๆ คนก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าอุณหภูมิต่ำลงไปสัก 2 องศาฯ เป็นต้น เราจะลองเทสต์ด้วยว่าด้วยสภาพอากาศและสภาพลมที่เราออกแบบคนจะรู้สึกยังไง” แนทเล่าต่อ

“เราพยายามย้ำว่าโปรเจกต์นี้คือการทดลองซึ่งจะมีการประเมินผล ถ้าสมมติว่าผลออกมาดีเราก็จะคุยกับทาง กทม.เรื่องการนำไปปรับใช้ เช่น ปรับเป็นป้ายรถเมล์ที่เป็น shelter มีต้นไม้หรือวิธีการกรองฝุ่น หรือทำพื้นที่สาธารณะ เช่น ใต้ทางด่วนที่เป็นพื้นที่กึ่งปิด ทำให้กลายเป็นสวนหย่อมเล็กๆ หรือแม้กระทั่งทางเดินสกายวอล์กเราก็อาจปรับได้ ขึ้นอยู่กับหลายๆ ผู้เกี่ยวข้องว่าจะร่วมมือทำด้วยกันไหม เพราะจริงๆ แล้วเรื่องของเมือง เรื่องของอากาศ คือเรื่องของทุกคน”

“ทุกวันนี้รัฐบาลไทยส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์และใช้การพัฒนาเมืองในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนเมืองด้วย ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็คือ CEA ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเมืองนั่นเอง” แนทอธิบาย “เดือนตุลาคมที่ผ่านมากรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ CEA จึงอยากทดลองทำโครงการที่ใช้งานออกแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต
เรามองย้อนกลับไปว่าคุณภาพชีวิตนั้นมีหลายด้าน หลายมิติ เช่น ด้านอาหาร การศึกษา ระบบขนส่งสาธารณะ อากาศ​ ซึ่งเรามองว่าอากาศนี่แหละคือสิ่งสำคัญ เพราะเราใช้อากาศในการหายใจทุกๆ วินาที” เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า นานมาแล้วมนุษย์สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้โดยไม่ต้องซื้อ แต่มาวันนี้น้ำสะอาดกลับกลายเป็นสิ่งที่มีราคาและไม่สามารถหาได้ง่ายๆ อีกต่อไป และหากเรายังใช้ชีวิตกันแบบนี้ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะต้องซื้ออากาศดีๆ ไว้หายใจ และนั่นคือเหตุผลที่คุณภาพอากาศกลายเป็นเรื่องแรกที่ทีม CEA เลือกพัฒนา “ในเมื่อเราไม่ใช่หน่วยงานที่ทำงานด้านการออกมาตรการหรือกฎหมายใดๆ เราทำงานในฐานะนักออกแบบ เราจึงใช้งานออกแบบนี่แหละในการพัฒนาคุณภาพอากาศ” พวกเขาเล่า

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

ณัฎฐณิชา สะอิ

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่รักในการแต่งตัว และหลงใหลการท่องเที่ยวผจญภัยและกล้องฟิล์ม