หากคุณขอพรให้ ‘คนไร้บ้าน’ ได้ 1 ข้อ คุณจะขออะไรให้แก่พวกเขา?
ชายหนุ่มมากความสามารถพร้อมด้วยบุคลิกที่ดูน่าเชื่อถือเกินอายุ
เดินตรงดิ่งเข้ามาในร้านกาแฟด้วยท่าทีเป็นห่วงว่าจะทำให้พวกเรารอนานเกินไป
เขาสวมเสื้อเชิ้ตสีดำแขนสั้น
ปาดเหงื่อพร้อมถอนหายใจหนึ่งเฮือกแล้วกล่าวว่า “พร้อมแล้ว สัมภาษณ์เลย”
แต่ก่อนการพูดคุยจะเริ่มขึ้น ช่างภาพตัดสินใจชวนชายหนุ่มออกไปเดินเล่นถ่ายภาพก่อนที่แสงยามเย็นจะหมดลง
ราวกับนักสำรวจ เราสามคน นักเขียน ช่างภาพ และชายหนุ่ม
กำลังเดินบนถนนสายเดียวกันท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
คือชายหนุ่มอายุ 32 ปี ผู้กำลังสวมหมวกอย่างน้อย 3 ใบ ทั้งอาจารย์พิเศษ
ผู้จัดการแผนงานวิชาการเกี่ยวกับคนไร้บ้าน และบรรณาธิการสำนักพิมพ์
ในวันที่เจอกัน อนรรฆดูกระฉับกระเฉงเต็มไปด้วยพลังเช่นเคย
ชายหนุ่มยืนกอดอกด้วยความมั่นใจแถมท้ายด้วยการชวนพวกเราขึ้นไปเก็บภาพบนดาดฟ้า
เผื่อว่าจะได้มุมมองที่ต่างออกไป พอถึงเวลาอันสมควร
กำแพงน้ำแข็งที่ก่อตัวเริ่มละลาย เราก็พร้อมที่จะทำความรู้จักกับ ‘ตัวตน’
ของชายคนนี้
อุปนิสัยกล้าคิดกล้าทำแสดงผ่านน้ำเสียงที่ดังฟังชัด
แววตาที่สู้ไม่ถอย
เหมาะกับการเป็นหัวโจกหรือหัวหน้าขบวนการอะไรบางอย่างที่ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของคนหมู่มาก
อนรรฆเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีวาทศิลป์แถมยังมีอารมณ์ขัน แต่ในขณะเดียวกัน
เขาก็จริงจังและจริงใจกับสิ่งที่ทำอยู่เสมอ
เขาเริ่มต้นเล่าเรื่องจิปาถะและวกกลับมาตอบคำถามที่เราถามไปว่า การทำงานเพื่อสังคมทำให้ตัวตนของคุณเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่
“ประเด็นของคนทำงานสังคมส่วนใหญ่
ต้องตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบ รีเช็กตัวเองตลอดว่าเราทำเรื่องนี้ไปเพื่ออะไร
สังคมจะได้ประโยชน์อะไรจากงานของเรา และ ‘ทิศทาง’ ที่เราเดินไปข้างหน้า
เรามาถูกทางหรือเปล่า”
คำตอบของอนรรฆระหว่างการพูดคุยที่เราจำขึ้นใจ
เนื่องจากเขาพูดถึงความสำคัญของการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านด้วยเหตุผลที่ว่า
คนไร้บ้านเปรียบได้กับตัวชี้วัด (indicator) ปัญหาสังคมในหลากหลายแง่มุม
ทั้งยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
“ถ้าประเทศไหน
เมืองไหนมีจำนวนคนไร้บ้านสูง ส่วนหนึ่งแสดงว่าสวัสดิการในประเทศเริ่มมีปัญหา เริ่มมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ถามว่าทำไมเราต้องมาสนใจความเหลื่อมล้ำ
ก็เพราะว่าความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
แสดงถึงช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตต่อไปไม่ได้ในระยะยาว
กำลังซื้อและการใช้จ่ายจะน้อยลง
เพราะแค่เอาตัวรอดในชีวิตก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก ดังนั้น
มันจึงเป็นเรื่องของทุกคน”
เราตั้งคำถามถึงต้นทางที่ทำให้อนรรฆหันมาสนใจประเด็น
‘คนไร้บ้าน’ ชายหนุ่มนั่งคิด
ทอดสายตามองลอดแว่นกรอบดำไปที่ผนังฝั่งตรงข้าม
เล่าย้อนกลับไปสมัยยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี คณะโบราณคดี ภาควิชามานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยนิสัยรักการอ่าน ทำให้เขาได้พบกับหนังสือ โลกของคนไร้บ้าน เขียนโดย ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา นับเป็นประสบการณ์แรก ๆ ที่อนรรฆเริ่มสนใจเสียงเล็ก ๆ ของคนชายขอบ
จากนั้นหลังจบปริญญาโท
คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อนรรฆได้รับการชักชวนให้ร่วมงานกับกลุ่มเครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม
ทำให้เขาเริ่มขยายขอบเขตความสนใจและองค์ความรู้ไปในภาคประชาสังคม
ประกอบกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เห็นความสำคัญของประเด็นคนไร้บ้านและต้องการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านเพื่อสร้างฐานข้อมูลพื้นฐาน
(Baseline Data) ในการวางแผนขับเคลื่อนและการทำงานในอนาคต
อนรรฆจึงได้เข้ามาร่วมในส่วนนี้
ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่แผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านในเวลาต่อมา
การทำงานพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับคนไร้บ้าน
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.
ทำให้อนรรฆซึ่งเป็นผู้จัดการแผนงานฯ ได้พบปะและใกล้ชิดกับผู้คนที่มีความหลากหลาย
รวมถึงรับรู้ความเชื่อมโยงของปัญหาสังคมที่สังเกตจากเสียงเล็ก ๆ
ของคนไร้บ้านมากขึ้น
คนไร้บ้านคือใคร
“เราค้นพบว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่คือผู้ชายวัยกลางคน
ที่มีหน้าที่การงานไม่มั่นคง ตรงนี้เป็น ‘โจทย์ใหญ่’
ในการเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นในสังคมได้”
“อย่างกลุ่มคนงานที่มีอายุช่วง
40 – 50 ปี จะเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการจ้างงาน รวมถึงปัญหาสุขภาพ
ทำให้เหล่านายจ้างเริ่มบีบให้ลาออกด้วยหลายปัจจัย
กลุ่มชายวัยกลางคนเหล่านี้จะมีปัญหาชีวิต ทั้งความเครียดและความกดดัน
ทำให้ท้ายที่สุดพวกเขาไม่มีทางเลือก และพวกเขาส่วนหนึ่งต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ กลายเป็น ‘คนไร้บ้าน’
อย่างเลือกไม่ได้”
“อย่างกรณีหนึ่ง
มีชายวัยกลางคนที่ทำงานรับเหมาก่อสร้าง แต่เกิดประสบอุบัติเหตุ
ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ปกติทำงาน 7 วัน ในช่วงที่ร่างกายไม่สมบูรณ์
เขาอาจทำงานได้แค่ 3 วัน คนกลุ่มนี้มีเงินเก็บ แต่พอหยุดงาน
รักษาตัวอยู่ในห้อง เงินเก็บเริ่มร่อยหรอ จากที่เคยเช่าห้องดี ๆ
กลายมาเป็นห้องเช่าราคาถูก และสุดท้ายกลายมาเป็นคนไร้บ้าน
เพราะจ่ายค่าเช่าห้องไม่ไหว ประกอบกับคนกลุ่มนี้ย้ายมาจากต่างจังหวัด
ไม่มีญาติอยู่ในเมืองหลวง สิ่งนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ
เราต้องตอบสังคมให้ได้ เพราะการที่สังคมมีคนไร้บ้านเป็น ‘สัญญาณเตือน’
อะไรบางอย่าง เราต้องหันมามองเรื่องการจัดระบบสวัสดิการสังคม (social welfare) หรือหลักประกันสังคม (social security)
ที่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้
ท้ายที่สุดคนในสังคมควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีมาตรฐาน เป้าหมายเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น และยังไงโลกนี้ก้อยังมีคนไร้บ้านแต่จะทำยังไงให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมเข้าสู่ระบบเดิมได้เร็วที่สุดด้วยกลไกการช่วยเหลือของรัฐ”
สิ่งที่น่าคิดต่อไปคือ ทำอย่างไรให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาหรือสร้างความเข้าใจกับคนไร้บ้าน
อนรรฆพูดกับเราด้วยประโยคภาษาอังกฤษที่พอเข้าใจความหมายได้ว่า
มันคือการสร้าง ‘สะพาน’ เพื่อข้ามช่องว่างทางสังคม ทำให้หนุ่มสาวออฟฟิศ
ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นนำในสังคม สามารถเข้ามามีส่วนร่วม เข้าใจ
หยิบยื่นโอกาสและความเท่าเทียมให้กับคนไร้บ้าน
พื้นที่หรือบทสนทนาในสังคมเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างการปะทะสังสรรค์
หรือการพูดคุยเพื่อสื่อสารถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
สุดท้ายนี้…หากคุณขอพรให้ ‘คนไร้บ้าน’ ได้ 1 ข้อ คุณจะขออะไรให้แก่พวกเขา
“เราคงขอให้ประเทศไทยมีสวัสดิการที่เพียงพอสำหรับพวกเขา
ความจริงอาจจะไม่ใช่เพียงคนไร้บ้าน แต่เป็นคนทุกกลุ่ม
ให้มีสวัสดิการที่เพียงพอ
ขอให้เขามีสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการได้อย่างครบถ้วน”
อนรรฆทิ้งท้ายว่า
“ชีวิตเราต้องเจอปัญหา ถึงเราควบคุมมันไม่ได้ แต่เราจะมีทางออก
เราจะมีวิธีการบางอย่างที่เป็นไปได้
ช่วงที่ผ่านมาเราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งแล้วค่อนข้างชอบคำพูดหนึ่ง…”
ชายหนุ่มก้มหน้ากดมือถือ
สักพักในกล่องข้อความเฟซบุ๊กของผู้เขียนก็เด้งตัวอักษรภาษาอังกฤษขึ้นมา
นี่คือสิ่งที่อนรรฆมอบให้นักอ่านทุกท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้
“Time
is like a river that carries us forward into encounters with reality
that require us to make decisions. We can’ t stop our movement down this
river and we can’ t avoid those encounters. We can only approach them
in the best possible way.”
Ray Dalio
หวังว่าเรื่องราวเกี่ยวกับ
‘คนไร้บ้าน’ จะทำให้ผู้อ่านฉุกคิดและมองสังคมในมุมมองที่เปลี่ยนไป
ลองเริ่มต้นจากเข้าเว็บไซต์ penguinhomeless.com
เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของคนไร้บ้าน
มีกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนความคิดของคนทำงานในหลายแขนงที่มารวมตัวกันเพื่อผลักดันประเด็นนี้สู่ความสนใจและตระหนักรู้ของสังคม
ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ