WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS : คนไร้บ้านในโลกเดียวกับเรา

Highlights

  • ก่อนจะมาเป็นคำว่าคนไร้บ้าน หลายคนในสังคมนิยามพวกเขาว่าเป็นคนจรจัดหรือคนเร่ร่อนมาก่อน ซึ่งนั่นอาจไม่ได้ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด เพราะพวกเขาส่วนหนึ่งก็เป็นคนปกติที่แค่ไม่มีบ้านอยู่ก็เท่านั้นเอง
  • ทุกวันนี้ปัญหาหลักๆ ที่คนไร้บ้านต้องเผชิญคือเรื่องของมายาคติจากคนในสังคมที่มองคนไร้บ้านอย่างกดขี่ รวมถึงปัญหาที่คนไร้บ้านไม่อาจเข้าถึงสิทธิอย่างที่ประชาชนคนหนึ่งพึงได้
  • มีกลุ่มคนและองค์กรที่ลงมือแก้ไขเรื่องเหล่านี้อยู่เช่นกันโดยเน้นการลงไปเข้าใจคนไร้บ้านให้ได้มากที่สุด พวกเราเองก็สามารถช่วยเรื่องนี้ได้โดยมองคนไร้บ้านอย่างไม่เหมารวมและร่วมกันสนับสนุนองค์กรที่ดำเนินงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

เวลา 19:00 ณ สวนสันติชัยปราการ ท่ามกลางบรรยากาศร้อนอบอ้าวพร้อมยุงนับพันที่พร้อมกัดมนุษย์อย่างไม่ปรานี พวกเรากว่าสิบชีวิตหย่อนตัวนั่งลงบนพื้นปูนร่วมกัน ไม่มีพิธีรีตองใดๆ

ไม่มีใครสูงกว่าใคร ทุกคนเท่าเทียม

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

กิจกรรม WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS เป็นกิจกรรมที่นิตยสาร a day จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นของมันไม่มีอะไรซับซ้อน ในวันที่เราสุมหัวคิดเรื่องราวใน a day 220 ฉบับ a night คนไร้บ้านเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงในวงประชุม ครั้งนั้นหลังจากที่พยายามขบคิดหัวแทบแตก เราไม่สามารถหาที่ลงเรื่องนี้ในเล่มได้อย่างลงตัว หัวข้อคนไร้บ้านจึงหลุดออกไป แต่ด้วยความน่าสนใจและความอยากเล่าที่มีอยู่เต็มอก สุดท้ายเราเลยเลือกดัดแปลงคอนเทนต์นี้นำเสนอออกมาในรูปแบบของวงเสวนาแทน และเพื่อให้อินมากขึ้น เราเลยพาคนที่สนใจไปสัมผัสบรรยากาศของคนไร้บ้านจริงๆ

นั่นเองจึงเป็นที่มาของสิบกว่าชีวิตบนพื้นปูนในตอนนี้

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

จุดสนใจของวงสนทนานี้ประกอบไปด้วยวิทยากรทั้ง 3 ท่าน

คนแรก ผศ. ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของหนังสือ โลกของคนไร้บ้าน และ สายสตรีท มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา ผู้เคยใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านที่ประเทศไทยและฟิลิปปินส์เป็นเวลากว่า 16 เดือน

คนที่สอง ลุงดำ–สุทิน เอี่ยมอิน ชายที่ใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านมาเกือบ 20 ปี ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมคนไร้บ้านและทำงานเคลื่อนไหวด้านสิทธิให้กับพี่น้องคนไร้บ้านอยู่เป็นประจำ

คนสุดท้าย โด่ง–สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ผู้ที่ทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้านมาเป็นเวลากว่าสิบปี

เวลากว่า 2 ชั่วโมงของวงเสวนานี้เต็มไปด้วยคำบอกเล่าจากวิทยากรทั้ง 3 ท่านซึ่งตอบคำถามหลายเรื่องของคนไร้บ้านที่หลายคนสงสัย ถ้อยคำง่ายๆ ที่ออกมากลายความเป็นจริงที่กระตุกสมองให้เราได้ขบคิด ถึงแม้เราจะเปิดหัวการพูดคุยว่านี่คือการสนทนาเกี่ยวกับคนไร้บ้าน แต่สุดท้ายเรื่องราวไปไกลกว่านั้น เพราะมันกล่าวถึงสิทธิพื้นฐานในการเป็นมนุษย์และความเข้าใจที่เราทุกคนควรมีให้กัน

ไม่มีใครสูงกว่าใคร ทุกคนเท่าเทียม

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

คนไร้บ้านคือใคร

ลุงดำ : ผมใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จากการตกงาน ผมเป็นคนมีความรู้น้อย จบแค่ ป.4 ช่วงที่ตกงานก็อายุ 47 ปีแล้ว

ตอนที่ตกงานผมกลับบ้าน แต่บ้านผมตอนนั้นมีหลายคนอาศัยอยู่ ผมเข้าไปอยู่แต่ก็รู้สึกเป็นภาระคนอื่น ผมคิดว่าไม่ใช่แล้ว สู้เราไปข้างหน้าดีกว่าไหม ไปหางานทำ ผมเลยหนีออกจากบ้าน แต่ออกมาถึงจะพยายามหางานก็หาไม่ได้แล้ว เพราะอายุมาก ไม่มีใครอยากจะรับ ตอนนั้นกินนอนอยู่ที่สนามหลวงจนมีเพื่อนแนะนำว่าให้ลองเก็บของเก่าขาย ตอนแรกอายมากนะครับ เรากลัวคนรู้จักเห็น กลัวพี่น้องเห็น แต่ทีนี้ความอายแพ้ความอด เราทนหิวไม่ได้ และเราคิดว่ามันเป็นอาชีพสุจริตนี่ ไม่ได้ปล้นใคร จำได้ว่าวันแรกผมไปขายของเก่าได้เงิน 80 บาท ผมดีใจมาก ผมรอดแล้ว ดังนั้นผมเลยยึดอาชีพเก็บของเก่าจนถึงตอนนี้

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

อาจารย์บุญเลิศ : สมัยก่อนคนไทยเรียกคนไร้บ้านว่า คนเร่ร่อน จรจัด คนไร้ที่พึ่ง ดังนั้นเมื่อมาสนใจเรื่องนี้ นอกจากการลงพื้นที่ สิ่งที่ผมทำอย่างแรกเลยก็คือสร้างสรรค์คำว่าคนไร้บ้านขึ้นมาโดยแปลจากภาษาอังกฤษว่า homeless

สมัยก่อนภาพลักษณ์ของคนที่นอนข้างถนนคือคนที่ผมเผ้ายาวรุงรัง วิกลจริต โอเค อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคนที่อยู่ข้างถนนจริง แต่ผมว่าไอ้ภาพลักษณ์เหล่านี้มันผูกติดกับคนเหล่านี้มากไปหน่อย มันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของคนที่อยู่ข้างถนนอีกหลายๆ คนซึ่งเขาไม่มีที่อยู่อาศัย ดังนั้นเราเรียกเขาใหม่ดีกว่าว่าคนไร้บ้าน ผมพยายามเปลี่ยนความเข้าใจของคนว่ามีคนไร้บ้านอีกหลายคนที่ไม่ใช่คนวิกลจริต เขาก็พูดจาดีแบบพวกเราเนี่ยแหละ เพียงแต่เขาไม่มีบ้านเท่านั้นเอง

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

ในหนึ่งวันของคนไร้บ้าน

ลุงดำ : การใช้ชีวิตปกติของคนไร้บ้านเหมือนคนทั่วไป อาจจะแตกต่างกันนิดหน่อยในรายละเอียด การกินอยู่ของพวกเราแค่ขอข้าวกินวันละสองมื้อก็บุญแล้ว ไม่ต้องอาหาร 5 หมู่หรอก หมู่เดียวแต่ประทังชีวิตไปได้ก็พอ

ส่วนเรื่องการนอน ที่ลำบากที่สุดเลยคงเป็นหน้าฝน พี่น้องทุกคนจะเป็นอย่างนี้หมด รับรองได้ว่าเปียกแน่ นอกจากใครจะวิ่งเข้าตู้โทรศัพท์ได้ไวกว่ากัน ความทุกข์ทรมานอีกอย่างคือยุงเยอะ มันขึ้นมาจากท่อน้ำเสีย แต่ผมว่าสิ่งที่เราลำบากที่สุดคือการโดนขับไล่จากรัฐมากกว่า ผมเคยโดนรถดับเพลิงฉีดน้ำไล่พวกเราในลานของสนามหลวง หรือใช้เทศกิจวนรถจับพวกเราก็มี หนักสุดก็มีตำรวจมาจับเราไปรับใช้ชาติ คือไปติดคุกอยู่ 20-30 วันเพื่อโชว์เจ้านายเขาว่าพวกเขามีผลงาน ดังนั้นระบบคิดของพวกเราไม่ได้คิดอะไรไปข้างหน้าหรอก ไม่ได้คิดถึงอนาคต ไม่มีความฝันอะไรทั้งนั้น ขอให้รอดไปวันต่อวันก็พอ

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

อาจารย์บุญเลิศ : การใช้ชีวิตของคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะคล้ายกัน เมืองไทยกับฟิลิปปินส์ก็คล้ายกันมาก ยุงเยอะเหมือนกัน แต่อย่างเรื่องการนอน สนามหลวงก่อนที่จะปิดเป็นที่นอนอุดมคติของคนไร้บ้านเลย เพราะที่นอนที่คนไร้บ้านต้องการคือ หนึ่ง มีแสงสว่าง สอง เป็นที่โล่ง มีลมพัดเพราะจะไม่มียุง แสงสว่างก็เพื่อความปลอดภัย เราอาจจะคิดว่าคนไร้บ้านน่ากลัวใช่ไหม แต่คนไร้บ้านเขาก็รู้สึกว่าคนทั่วไปน่ากลัวเหมือนกัน ดังนั้นเขาเลยต้องนอนในที่แจ้ง แต่ภาพรวมของการใช้ชีวิต ผมว่าเมืองไทยดีกว่าฟิลิปปินส์นะ ถ้าคุณรูปลักษณ์ไม่แย่จนเกินไป ถ้าคุณไม่ได้ทำผิด พื้นที่สาธารณะเราเยอะกว่า บ้านเมืองเราเป็นเมืองพุทธเลยมีน้ำใจกว่าด้วย

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

มายาคติ – ปัญหาสำคัญที่คนไร้บ้านทุกคนเจอ

ลุงดำ : ผมคิดว่าปัญหาหลักที่เราเจอมันคือสายตาบางอย่างที่มองมา คำพูดบางคำ หรือกิริยาอย่างการดูพวกเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า การอุดจมูกเวลาเดินผ่าน หรือแม้แต้คำพูดว่าโอ๊ย พวกนี้ ไอ้พวกขี้เกียจสันหลังยาว สกปรก นี่คือคำพูดที่พวกเราเจอ

อาจารย์บุญเลิศ : ผมเขียนในวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เหมือนกัน มีคนไร้บ้านคนหนึ่งที่มีรอยสัก เขารู้สึกว่าเวลาเดินไปแล้วสวนกับผู้หญิง บางคนจะรวบคอปกเสื้อตัวเองเพราะกลัวว่าจะถูกกระตุกสร้อย คนไร้บ้านคนนี้บอกผมว่าเวลาเจอแบบนี้ จากที่ไม่เคยอยากกระตุกสร้อยคน เขารู้สึกอยากขึ้นมาทันที

ผมเจอคำถามที่ยากและไม่รู้จะจัดการยังไงในช่วงที่ลงไปคลุกคลีกับคนไร้บ้านเหมือนกัน หนึ่ง เวลาผมมาศึกษาคนไร้บ้าน ผมเริ่มจากความคิดในแง่บวกว่าคนไร้บ้านไม่ได้แย่อย่างที่พวกเรามีอคติกัน แต่ว่าพอผมมาลงลึกจริงๆ ผมเจอคนที่ร้าย ผมไม่พูดจาโรแมนติกหรอกนะว่าทุกคนเป็นคนดี ผมเจอคนที่ตบตี มือไวใจเร็ว แล้วผมจะทำยังไง คนมองพวกเขาในแง่ลบอยู่แล้ว ถ้าผมเขียนหนังสือในแง่ลบ มันยิ่งซ้ำเติมแน่ๆ

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

สุดท้ายผมเลยทำความเข้าใจ ใช่ มันมีคนที่ไม่ดี แต่สิ่งที่เราค้นพบคือการไม่เหมารวม ผมยอมรับว่ามีคนไม่ดี คนไร้บ้านเป็นคนบอกผมเองว่ามันมีผีจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผีที่ทำเสียแต่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ทำเสีย ดังนั้นงานของผมคือนำเสนออีกด้านหนึ่งให้เขาเห็นว่ามีคนที่มีวิถีชีวิตแบบนี้ ทำไมเขาต้องมาเป็นคนไร้บ้าน มันมีคนที่แย่ แต่การมองอย่างไม่เหมารวมคือสิ่งที่เราจะทำความเข้าใจพวกเขาได้ เพราะผมว่าความอคติที่มองคนในแง่ลบมันยิ่งผลักคนให้รู้สึกแย่กับการอยู่ในสังคม คนทั่วไปอาจจะบอกว่าให้ทำยังไงล่ะ ก็เขาน่ากลัวจริงๆ ผมรู้สึกว่าเราอยู่ในโลกแบบนี้มันก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่เป็นแบบนี้ อาจจะมีแหละที่ลักเล็กขโมยน้อยแต่ช่วยมองพวกเขาในแง่ดีบ้าง ไม่งั้นเราจะยิ่งผลักคนให้ไม่อยากอยู่กับเราแบบฉันมิตร

ลุงดำ : คนไร้บ้านไม่อยากสกปรกหรอกครับ (หัวเราะ) เราอยากอาบน้ำทุกวัน เราเองอยากจะมีน้ำหอมจากฝรั่งเศสฉีดเหมือนคุณ แต่เราไปไม่ถึงขั้นนั้น อาบน้ำก็อาบไม่ได้เพราะอาบทีก็ 10 บาท เราสามารถซื้อข้าวไข่เจียวสนามหลวงได้มื้อหนึ่งด้วยเงินขนาดนั้น

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

สิทธิ – อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไข

โด่ง : จริงๆ แล้วถ้ามีเลข 13 หลัก คนไร้บ้านก็มีสิทธิเหมือนคนทั่วไป ปัญหาสำคัญจริงๆ คือคนไร้บ้านไม่รู้ว่าจะเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ยังไงมากกว่า

อย่างสิทธิรักษาพยาบาล เวลาเขาป่วยและเข้าไปโรงพยาบาล เขาจะถูกถามเรื่องเอกสารหรือค่าใช้จ่าย คนไร้บ้านเองจะหนีแล้วเมื่อถูกถามแบบนี้ ลึกๆ แล้วพี่น้องคนไร้บ้านบางส่วนเขารู้สึกเหมือนถูกปฏิเสธอยู่แล้ว ดังนั้นเขาเลยจะรู้สึกว่าสิทธิหายไปทั้งๆ ที่มันเกิดจากความไม่เข้าใจ ยิ่งคนไร้บ้านบางคนที่ไม่มีเลข 13 หลัก ไม่มีบัตรประชาชน เขาจะเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรจะได้ทั้งหมดเลย ดังนั้นสำหรับผม พี่น้องคนไร้บ้านเลยเป็นคนที่เข้าถึงสิทธิที่ได้ยากที่สุด รัฐก็มองข้ามและมองกลุ่มคนพวกนี้เป็นแค่กลุ่มคนที่ไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง แต่เขาไม่เข้าใจเงื่อนไขว่าพี่น้องเหล่านี้ขาดหลายเรื่อง แม้แต่สิทธิการเป็นพลเมืองก็ขาด

ลุงดำ : ผมเคยมีเพื่อนคนหนึ่งที่ป่วย เราโทรให้โรงพยาบาลมารับตัวเขาไป แต่หนึ่งวันหลังจากนั้นรถพยาบาลก็เอามาส่งที่เดิมเพราะเขาไม่มีเอกสารที่รองรับการรักษา สุดท้ายวันรุ่งขึ้นเพื่อนผมก็เสียชีวิต ดังนั้นแน่นอนว่าการสนับสนุนจากรัฐคือสิ่งที่เราขาดแน่ๆ ทั้งๆ ที่เรามีสิทธิที่จะได้ เอาจริงๆ ก็เคยมีเหมือนกันที่รัฐช่วยเรา รัฐส่งคนมาฝึกอาชีพให้กับเรา แต่มาฝึกเสร็จก็ไป แต่พอเราจะนำทักษะนั้นไปใช้หรือไปขายของที่ไหน คุณก็จับเราอยู่ดี ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับเราคือเรื่องนี้มากกว่า นั่นคือสิ่งที่พวกเราเรียกร้องอยู่ทุกวันนี้

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

พวกเราทำอะไรได้บ้าง

อาจารย์บุญเลิศ : ผมว่าเราควรเปลี่ยนวิธีคิดที่จะช่วยเหลือคนไร้บ้านแบบที่เคยทำได้แล้ว การมาแจกอาหารอาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป แบบนี้มันเป็นการช่วยให้เขาอยู่รอดบนข้างถนนได้ต่อไปมากกว่า แต่ว่าไม่ได้ช่วยให้เขาพ้นไปจากข้างถนน

ดังนั้นสำหรับผม ผมคิดว่าถ้าเราอยากช่วยพวกเขาให้เป็นระบบ เราน่าจะช่วยผ่านองค์กรที่จัดการอย่างเป็นระบบ เราอาจรู้สึกว่าทำบุญเนี่ยทำง่าย ให้ข้าวคนไร้บ้านนี่ง่ายมากเลย แต่การจัดการกับคนไร้บ้านต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนอาชีพให้เขาได้ ดังนั้นผมแนะนำให้สนับสนุนผ่านองค์กรที่ทำงานตรงนี้ต่อเนื่องกับคนไร้บ้านดีกว่า

ลุงดำ : สำหรับผม เราไม่ได้รู้สึกว่าทุกคนต้องช่วยเราทุกเรื่องหรอก อย่างสื่อแค่เอาเรื่องดีๆ ของเราไปแชร์ต่อก็พอ จริงอยู่ที่ทุกองค์กรอาจจะมีขั้วบวก-ขั้วลบ เหรียญมี 2 ด้าน แต่ผมก็อยากให้คนสนับสนุนพวกเราที่เป็นขั้วบวก

โด่ง : หลายคนถามผมว่าที่ช่วยคนไร้บ้านอย่างนี้ ชีวิตเขาดีขึ้นยังไง ผมก็จะตอบแค่ว่าแค่เขายิ้มปากกว้าง เสื้อสะอาด แค่นี้ชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปแล้ว เขามีความสุข แต่ถ้าอยากให้ยืนกับสังคมอย่างเท่าเทียมจริงๆ ผมคิดว่าเรายังมีเรื่องต้องช่วยกันอีกหลายเรื่อง การที่จะให้คนคนหนึ่งดีขึ้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะคนไร้บ้านเขาขาดทุกอย่าง ดังนั้นผมคิดว่าการลงไปคลุกคลีและตั้งใจดูว่าเขาถนัดอะไร ขาดอะไรจะช่วยเขาได้มากกว่า เราต้องอาศัยการช่วยกันคิด ช่วยกันทำ รัฐก็ต้องเข้ามาช่วยกัน อันนี้คือสิ่งที่พวกเราทำได้และพยายามกันอยู่

WE NEED TO TALK ABOUT HOMELESSNESS

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด