เบื้องหลังปกอัลบั้ม FATE ของ COCKTAIL โดย Illusion CGI Studio ผลงานชิ้นสำคัญของวงการความคิดสร้างสรรค์ไทย

หลายปีมาแล้ว กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการโฆษณาทั่วโลก มักจะเปลี่ยนชื่อหรือคำที่ใช้โปรโมตจาก Advertising เป็น Creativity

เหตุผลที่เปลี่ยนนั้นมีทั้งในเชิงเนื้อหาและการตลาด ไม่ว่าอย่างไรสิ่งนี้ก็สะท้อนว่าวงการโฆษณาไม่ต้องการจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่อยากเชื่อมโยงกับคนที่ทำงานกับความคิดสร้างสรรค์ในหลายแวดวง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ  หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นคนจากวงการดนตรี ศิลปะ บันเทิง เพื่อสังคมและอีกหลายวงการทำงานคอลแลบกันสนุกสนาน มีแคมเปญที่น่าสนใจเกิดขึ้นโดยไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นโฆษณาอีกต่อไป

น่าเสียดายที่สิ่งนี้ไม่ค่อยเกิดในบ้านเรา การขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือข้ามสายในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยยากกว่าที่คิด ไม่ใช่เพราะเราไม่เก่ง แต่เหมือนมีกำแพงบางอย่างที่ยากจะก้าวข้ามไป

2021 เป็นปีที่น่าจับตาสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย เราได้เห็นผลงานชิ้นสำคัญที่พยายามเชื่อมโยงกับสองศิลปินต่างสายยอดฝีมือ นั่นคือปกอัลบั้ม FATE ของ COCKTAIL วงดนตรีลายเซ็นชัดที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 20 ปี ภาพปกนี้สร้างสรรค์โดย Illusion CGI Studio บริษัทสร้างสรรค์ภาพประกอบงานโฆษณาอันดับ 1 ของโลก

draft till done ตอนนี้ชวนทีมงานอิลลูชั่น ได้แก่ สุรชัย พุฒิกุลางกูร Founder & CEO ศุภชัย อุไรรัตน์ CGI Director และสมศักดิ์ ไปเร็ว Production Director เสริมด้วยครีเอทีฟอย่าง อัศวิน พานิชวัฒนา เราไม่ได้ชวนพวกเขามาเล่าแค่วิธีการทำภาพ แต่ยังเล่าเบื้องหลังการข้ามกำแพง ชวนศิลปินนักสร้างสรรค์จากสองวงการมาร่วมงานกันเป็นครั้งแรก ด้วยความหวังว่าจะมีงานแบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต 

อิลลูชั่นไม่ใช่ Illustrator แต่เป็น Conceptual artist 

อัศวิน: FATE เป็นอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของค็อกเทล แบ่งเป็นสองอัลบั้มต่อกัน ระหว่างที่คุณโอมพัฒนาคอนเซปต์อยู่ ภาพของงานอาจารย์สุรชัยขึ้นมาในหัวของเขา คุณโอมบอกว่าด้วยคอนเซปต์นี้ ถ้าไม่ใช่อิลลูชั่นเขาก็ไม่ทำ คิดว่าไม่มีคนบนโลกนี้แล้วที่จะทำได้ คุณโอมพูดกับผมแบบนี้

ผมก็คิดว่า ยังไงดีนะ เพราะผมก็รู้ว่าอาจารย์สุรชัยและ Illusion ไม่ใช่ Illustrator แต่เป็น Conceptual artist ที่เล่าไอเดียได้เก่ง ถ้าถามว่าอาจารย์สุรชัยเก่งโฆษณามั้ย เก่งอยู่แล้ว แต่ผมว่าวิธีการของเขาไม่ใช่วิธีการทำงานโฆษณา เหมือนคนที่ฟังคอนเซปต์แล้วรู้สึกว่า ฉันสามารถเล่าเรื่องได้ดี นี่คือสิ่งที่อิลลูชั่นเป็น ตอนแรกผมโทรไปหาอาจารย์ คิดว่าคงมีคนติดต่อไปแล้วและคงไม่สำเร็จ ผมก็เลยลอง เผื่อจะอธิบายให้อาจารย์สุรชัยและทางอิลลูชั่นเข้าใจว่าทำไมต้องเป็นคนคนนี้ พอคุยกับอาจารย์ ยังไงก็ไม่รับทำ เหมือนไปหาขงเบ้ง (หัวเราะ) คุยอยู่สามรอบ

Illusion KFC
Illusion samsonite

Illusion team: อิลลูชั่นทำภาพนิ่งสำหรับงานโฆษณา เป้าหมายของเราคืองาน advertising แต่พอมาเป็นภาพสำหรับวงดนตรี ผมรู้สึกว่ามันยากเกินไปสำหรับเรา 

ถ้าโจทย์มันเป็นงานโฆษณา เรารู้วิธีว่าไอเดียแบบนี้ execution แบบนี้ เราคุ้นเคยกับส่วนผสมที่ว่า แต่พอมันเป็นภาพสำหรับ communication กับวงดนตรี ผมรู้สึกว่าไม่คุ้นเคย ไม่รู้จะคุมยังไง มันเป็นภาพประกอบเหมือนกัน แต่ใช้ approach คนละอย่าง โฆษณาต้องเร็ว อิมแพกต์ ไอเดียต้องชัด แต่พอมันเป็นงานปกหรืองานที่เกี่ยวกับวงดนตรี มันมี story เยอะ ทั้งสิ่งที่เขาจะพูด สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเพลงเบื้องหลัง ซึ่งมองไม่เห็นอีก มันเลยยากสำหรับผม เราเลยรู้สึกว่ามันยากมั้ยวะ มันจะใช้ภาพภาพนึงที่เชื่อมโยงไปถึงวงดนตรี ไปถึงเพลงของเขาอีก หลายชั้นน่ะ หนึ่ง (อัศวิน พานิชวัฒนา) ก็บอกว่าพยายามโน้มน้าวให้ผมอยากทำ แล้วสุดท้ายก็คุยกันแล้วก็คิดว่า ลองดู 

อัศวิน: เวลาอิลลูชั่นทำอะไรเขาก็อยากจะทำให้เต็มที่ เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่เข้าใจลึกซึ้ง เขาก็เป็นห่วงว่าเดี๋ยวจะทำออกมาได้ไม่ดี แล้วก็อาจารย์สุรชัยให้กฎมาสามข้อ หนึ่ง ถ้ามองว่าเขาเป็นนักวาดภาพประกอบ ไม่ใช่ เพราะอาจารย์เขารู้สึกว่าไอเดียที่ไม่มีคอนเซปต์ มันจะเป็นแค่ภาพประกอบ ไม่ได้เล่าเรื่องราวอะไร เพราะฉะนั้นไอเดียต้องชัด อิลลูชั่นถึงจะทำงานได้ ข้อที่สอง คือ งานอื่นที่นอกเหนือจากงานโฆษณาเขาไม่รับทำ เพราะรู้สึกไม่มั่นใจ อันนี้ผมว่าเกี่ยวกับการทำงานด้วย เวลาอาจารย์ทำงานเขาจะมองเห็นผลลัพธ์ก่อน ถ้า ผลลัพธ์เวิร์กหรือไม่เวิร์ก มันมีผลกับการตัดสินใจ ผมก็อธิบายว่าภาพนี้จะไม่ใช่เป็นแค่ภาพประกอบ จริงๆ เขาจะเอาไปโปรโมตด้วย เช่น เขาจะเอาไปทำในสื่ออื่นๆ อย่างบิลบอร์ดรถไฟฟ้าและอื่นๆ ไม่ใช่แค่ภาพประกอบภาพนึงแล้วจบไป มันเป็น core idea เลย 

ข้อที่สาม อิลลูชั่นจะมีระบบการทำงานที่ค่อนข้างชัดเจน มีความเป็นตัวของตัวเอง เวลาเขาทำ เขาทุ่ม รักษาเวลา มีความชัดเจน ไม่อยากให้งานเหมือนไหลไปเรื่อยๆ สามข้อนี้เป็นกฎเหล็กของอาจารย์สุรชัย เราก็ต้องเคลียร์กันก่อนว่าขั้นตอนการทำงานเป็นแบบนี้นะครับ ถ้าทุกคนเห็นด้วยก็เริ่มกัน 

เราต้องเห็นตรงกันว่าความหมายตรงนี้มันเท่ากับอะไร เล่าเรื่องอะไร นำเสนอในแง่มุมไหน

Illusion team: เราย้อนไปดูทุกคลิปของวงค็อกเทลเพื่อให้รู้ธรรมชาติของแต่ละคน มันมีคาแรกเตอร์บางอย่างที่เวลาเราทำงาน จะได้รู้ว่าคนคนนี้มีนิสัยแบบไหน มีบุคลิกแบบไหน เวลาทำภาพขึ้นมาก็จะพยายามสื่ออารมณ์ไปทางนั้น

sketch

อัศวิน: อัลบั้มนี้จะมีประมาณยี่สิบกว่าเพลง มีความคล้ายๆ Guns N’ Roses ที่มีสองปก (อัลบั้ม Use Your Illusion 1 และ 2) แต่งานนั้นเขาใช้รูปเดียวทำปกสีแดงกับน้ำเงิน ทางค่ายก็ค่อยๆ เจาะว่าแต่ละเพลงมีความหมายอย่างไร ไปๆ มาๆ จำนวนเพลงมันตรงกับจำนวนไพ่ยิปซีพอดีเลย ในแต่ละเพลงความหมายก็จะเชื่อมโยงกับความหมายในไพ่ เช่น ไพ่ Judgement ก็จะมีเพลงที่มีความหมายเกี่ยวกับความยุติธรรม แม้กระทั่งคาแรกเตอร์ของแต่ละคน อย่างคุณโอมเขาก็สามารถแทนด้วยไพ่ The Magician เพราะถ้าเรารู้ประวัติคุณโอม เขาเป็นคนแปลกในแง่ดี เก่ง เรียนทนายแต่ชอบศิลปะ และเขาไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นนักดนตรี เขามองตัวเองเป็นคนเล่าเรื่อง คือจังหวะหลายๆ อย่างมันลงตัวพอดี มันเป็นการรวบคอนเซปต์ให้อยู่ในภาพภาพเดียว

Magician Ohm
Hermit Chaw
Temperance Park
The Sun Philip

แต่ความยากที่ต้องส่งไปถึงอิลลูชั่นคือไม่ใช่อยู่ดีๆ บอกว่าอัลบั้มชื่อ FATE เราจะเป็นไพ่ยิปซี แล้วเราใช้ภาพไพ่เลย พอมันเป็นงานศิลปะ อาจารย์สุรชัยก็เป็นศิลปินคนหนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการจับศิลปินมาชนกับศิลปินก็เป็นเรื่องเหนื่อย (หัวเราะ) เราต้องเห็นตรงกันว่าความหมายตรงนี้มันเท่ากับอะไร เล่าเรื่องอะไร นำเสนอในแง่มุมไหน เช่น The Devil เราก็ไม่ได้ตีความเป็นเดวิลตรงๆ เรามีเรื่องราว มีคอนเซปต์ แต่สุดท้าย เราก็ทำได้แค่ position ว่าเรื่องราวจะเกิดที่ไหนอย่างไร

The Devil

ผมว่าเราใช้เวลากับการตีความค่อนข้างนาน สมมติว่าพอเราเล่าเรื่องเสร็จ อาจารย์สุรชัยก็แบบว่าเฮ้ย แต่หลังจากที่ฟังเพลงและคุยกันเรียบร้อยแล้วนะ เขามองการเล่าเรื่องเป็นแบบนี้ อย่างนี้ ผมก็เหมือนกึ่งๆ เขียนสตอรี่พร้อมกับทางวงและทางค่าย เสร็จปุ๊บอาจารย์สุรชัยรับไป อาจารย์ก็ไปตีความกับทางทีมว่าอาจารย์มองเป็นแบบนี้

Wheel of fortune

ยกตัวอย่างเช่น ภาพตรงกลางนี้คือไพ่ Wheel of Fortune อาจารย์ก็มองว่ามันเหมือนประตูมิติในหนังเรื่อง Stargate ทำให้ทุกคนมารวมกัน ตรงกลางเป็นโลโก้ ความรู้สึกคราฟต์ในภาพจะเป็นประมาณนี้ ทุกคนที่ยืนอยู่ข้างๆ เพื่อจะเล่าเรื่องนี้ มันเหมือนเราจบคอนเซปต์และเรื่องราว และต่างคนก็ต่างไปพัฒนาเรื่องราวนั้นต่อ 

ถ้าเราได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับโมนาลิซ่า ภาพจะมีคุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม

Illusion team: ผมว่าภาพปกมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ถูกตีความสองชั้นจากไพ่และเพลง เราอยากให้เรื่องราวเกิดขึ้นสักที่หนึ่งในจักรวาลซึ่งรวมคนเหล่านี้เข้าด้วยกัน แล้วแต่ละคนสัมพันธ์กันด้วยความหมายของไพ่ยิปซี เราตีความว่าแต่ละคาแรกเตอร์เหมาะกับไพ่ใบไหน จากนั้นก็เริ่มออกแบบว่าถ้าให้เรื่องราวนี้เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง แต่ละคนควรจะมีบุคลิกอย่างไร ไพ่ยิปซี ความจริงเราจะตีความไพ่ยิปซียังไงก็ได้ แต่เราอิงอยู่กับเพลงด้วย เวลาเจาะภาพเข้าไป เมื่อเขาเห็นคาแรกเตอร์นั้น นึกถึงความหมายของไพ่ จากนั้นต้องไปเชื่อมโยงกับเพลง เหมือนดูภาพแล้วต้องเห็นเพลงด้วย

อัศวิน: ถ้าเป็นหนัง มันเหมือนจะหนักไปที่บทและ production design ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราดีไซน์เป็นแบบนี้เลยเพราะว่าตอนแรกเราหา reference กันเยอะแยะมากมายว่าจุดลงตัวอยู่ตรงไหน แล้วทางอิลลูชั่นก็บอกว่า ผสมตรงนี้ แต่ละคนคาแรกเตอร์ควรจะเป็นแบบนี้ เขามีเรื่องราวอย่างไร

Sketch Design character
สเกตช์ดีไซน์คาแรกเตอร์
Compose

Illusion team: ภาพบนเป็นบรีฟมาครั้งแรกที่หนึ่งสเกตช์มา จากนั้นพอเราเริ่มตีความว่าคนทั้งหมดที่มีเราจะแทนค่าด้วยไพ่ยิปซียังไง แล้วก็แตกออกมา จากนั้นเราก็เริ่มจับตำแหน่ง ด้วยความที่มันจะมีสตอรี่บางอย่างที่ผสานกันอยู่ เมื่อซูมเข้าไปดูในแต่ละบุคคลนั้น ก็จะมีสตอรี่ของภาพพร้อมกับสตอรี่ที่เกี่ยวข้องกับเพลง

layout

Illusion team: คอนเซปต์ของภาพทั้งหมดที่ผมตั้งใจไว้คืออยากให้รู้สึกว่าถ้าเกิดว่ามันไปฉายอยู่บนโปรเจกเตอร์ใหญ่ๆ หรือแสงที่มันเป็นเวทีที่กว้างๆ ก็คือพวกดีเทลที่มีคนมอง ในทุกมุมมองจะเห็นดีเทลภาพทั้งหมด

Empress ลำไย
The Fool ติ๊ก ชีโร่

อัศวิน: ทางด้านซ้ายของน้องลำไยเราก็จะเห็นว่ามันเป็นเพลงที่ featuring กับทั้งฟักกลิ้ง ฮีโร่ กับพี่ติ๊ก ชิโร่ เราก็ต้องมานั่งคุยกันอีกว่าการที่พี่ติ๊ก ชิโร่ เข้ามา เสียงเขาเป็นยังไง อาจารย์เขามองว่าพี่ติ๊ก ชิโร่ ต้องย้อนกลับไปในวัย 20 แล้วก็การเล่าเรื่องความสนุกของเพลงนี้มันจะต้องผ่านการแร็ป เพราะฉะนั้นการที่มีพี่ติ๊ก ชิโร่ ซ้อนอยู่ข้างในคือมันเหมือนแบบว่าทุกอันถ้าเราไปฟังเพลงแล้วมาดูแต่ละเรื่องราว เราก็จะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร

Devil แจ๊ส
Devil แจ๊ส 2

แจ๊ส ชวนชื่น จริงๆ เขาซ่อนอยู่ในเพลง ค้างคา เราจะเห็นว่าตัวเดวิล เพลง ค้างคา ก็จะเป็นเพลงอีกคาแรกเตอร์หนึ่ง เพราะฉะนั้นพี่แจ๊สชวนชื่น ทำไมเขาต้องนั่งแอ็กชั่นท่านี้ ทำไมความกวนของเขาต้องประมาณนี้ แล้วเขาเดวิลยังไง ทำไมต้องมาวางข้างๆ กับตัว The Lover ซึ่งก็จะไปเข้ากับอีกเพลงนึง แล้วเพลงนี้มันก็จะสื่อความหมาย ถ้าเราดูเพลงไปด้วยแล้วกลับมานั่งดูคาแรกเตอร์เราก็จะเห็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น มันซับซ้อนมาก 

งานนี้มี big idea แต่มันจะเป็นคอนเซปต์ที่ต่างจากโฆษณา เป็น communication แต่แตะๆ ออกไปเป็นงานศิลปะ เป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่าการเล่าเรื่อง 

Illusion team: ผมเชื่อว่าถ้าเราไปฟังเพลงทั้งสองชุด แล้วกลับมาดูรูป มันจะสนุก งานโฆษณามันดูแค่รูป จบ แต่อันนี้ดูแค่รูปไม่จบ 

อัศวิน: ถ้าภาษาโฆษณาคือมัน interactive เช่น ทำไมภาพตรงนี้เป็นแบบนี้ พอฟังเพลงก็ อ๋อ เข้าใจแล้ว ความจริงมันเริ่มมาตั้งแต่คุณโอมและวงค็อกเทลแล้วล่ะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราคิดแล้วก็มาแบบนี้เลย สมาชิกวงทั้ง 4 คน และทีมงานจาก Gene Lab พี่คลัง (คูณคลัง เค้าภูไท) พี่อ๊อด (สุพิชาน โรจน์วณิชย์) เข้ามาอยู่ในขั้นตอนการทำงานตลอด เช่น ออกไอเดียว่าพี่เชาว์ (ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย มือกีตาร์) จะต้องเป็นคนมีอายุหน่อย เพราะเขาเป็นคนเงียบๆ พี่เชาว์กำลังแทนค่าไพ่ The Hermit อย่างพี่ฟิลิปส์ (ฟิลิปส์ เปรมสิริกรณ์ มือกลอง) ก็จะเป็นคนสดใสร่าเริง เขาเป็น The Sun แล้วเราต้องทำพี่ฟิลิปส์ให้เด็กลงไปอีก ถ้าเป็นแฟนเพลงจะยิ่งอิน จะยิ่งเข้าใจ

Design 4 characters
Magician ohm
Hermit Chaw
Temperance Park
The Sun Philip

ถ้ามองในมุมแบบการตลาด ถ้าคุณอยากจะเข้าใจภาพนี้ที่มากกว่าภาพเขียน คุณต้องไปฟังเพลง เหมือนเราไปดูภาพเขียนโมนาลิซ่า โอ้ คนไปดูเยอะจัง มองแค่นั้นก็ได้ แต่ถ้าเราไปฟังเรื่องราวเกี่ยวกับภาพของโมนาลิซ่า ภาพมันจะมีคุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม มันมีความหมายซ่อนอยู่เยอะมาก 

ยกตัวอย่างน้าค่อม ทำไมน้าแต่งตัวไม่เข้ากับคนอื่นเลย คือตอนแรกตามที่คุณโอมบอกไว้ เขาคิดว่าจะร่วมงานกับน้าค่อม แต่พอดีน้าจากไปก่อน วงก็ได้ไปคุยกับครอบครัวน้าค่อมว่าอยากจะให้น้าค่อมอยู่ในโปรเจกต์เพลงนี้ก็จะใช้เสียงที่เคยมีอยู่เข้ามา

น้าค่อม Illusion

Illusion team: น้าค่อมเราก็พยายามเล่าเส้นทางที่แกต้องเดินทางไป อย่างรองเท้าก็เป็นรองเท้าเทวดา (เปรียบเหมือนน้าค่อมเดินทางสู่สวรรค์-ผู้เขียน) มีกระเป๋าที่น้าค่อมพกตลอด สไตล์แกก็จะเป็นแบบสบายๆ ยังเอาบุคลิกบางอย่างเข้ามาใส่ในภาพ

Justice Illusion

อัศวิน: ในอัลบั้มมีเพลงเกี่ยวกับความยุติธรรม พูดถึงอภิสิทธิ์ชน จะตีความตรงๆ ว่าเป็น Justice ก็น่าเบื่อ แต่ความอภิสิทธิ์ชนมันมีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมและการเมือง ในมิวสิกวิดีโอก็จะพูดชัดเจนเลยว่า ทำไมคนเราต้องมีชนชั้น แต่ตัวเนื้อเพลงจะตีความว่าเป็นความรักก็ได้ เหมือนทำไมเขามีอภิสิทธิ์แต่ฉันไม่มี เราทำภาพเป็นตำรวจเพราะสามารถตัดสินได้ว่าใครมีอภิสิทธิ์หรือไม่มี แต่ก็ไม่อยากตีความเป็นตำรวจตรงๆ ก็เลยเป็นตำรวจอวกาศ อาจารย์สุรชัยก็จะกำหนดโทนว่าต้องประมาณนี้ 

ถ้ามีความคาดหวังมหาศาล เราก็ต้องตอบสนองความคาดหวังนั้นให้ได้เต็มที่

อัศวิน: Fate แบ่งเป็นสองอัลบั้มต่อกัน คือโอเมก้า และ อัลฟ่า เป็นจุดเริ่มต้นกับจุดจบ มันก็จะมีความเป็นนรกสวรรค์ คุณโอมเองเขาก็ลึก มองไปถึงเรื่องปรัชญาและศาสนา ผมว่ามันอาจจะเริ่มจากตัวคุณโอมด้วย เพราะเขาเป็นคนสองโลก เป็นศิลปะและทนาย เป็นเหมือนคนวิทยาศาสตร์และไม่วิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นอัลบั้มนี้เขาก็เลยมีเพลงสองแบบ ถ้ามองในแง่เพลง คุณจะเดาไม่ได้เลยว่าอารมณ์มันจะเป็นยังไง

Flower Illusion

เวลาอาจารย์ส่งงานมา เราจะดูไฟล์กัน 2 แบบ คือไฟล์เล็กที่ส่งทางไลน์ได้ กับไฟล์ใหญ่ที่ต้องดาวน์โหลดเอา ไฟล์เล็กเราดูสีและโครงโดยรวม ไฟล์ใหญ่เรามานั่งชื่นชมอาจารย์ว่า โห หินก้อนนี้แกยังเก็บเลยโว้ย ดอกไม้นี้มันซ้อนกลีบขนาดนี้เลยเหรอวะ ไฟล์ใหญ่เหมือนเอาไว้ appreciate (หัวเราะ)

Illusion team: อิลลูชั่นทำงานเป็นทีม พอเราได้โจทย์มา ก็จะมีผม (สุรชัย) เด่น (ศุภชัย) ตั้ง (สมศักดิ์) นั่งคุยกันว่าเราจะจัดการอย่างไร ใครจะรับผิดชอบส่วนไหน เด่นจะดูเรื่อง CGI ดูโครงสร้างของการสร้างเป็นภาพทั้งหมด ผมจะดูไดเรกชันว่าจะไปทางไหน ภาพสุดท้ายควรจะเป็นอย่างไร การทำงานเราก็ยังเป็นทีมเหมือนเดิม แค่โจทย์มันเปลี่ยนแค่นั้นเอง

Wheel of fortune Illusion
Lighting before after
Lighting final

อัศวิน: ผมรู้สึกว่าโปรเจกต์นี้เกิดจากความเคารพและเชื่อใจกัน มันเริ่มจากทางค็อกเทลและค่าย ทุ่มทุกอย่างมาให้อิลลูชั่น ถ้าไม่ใช่คนคนนี้ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม พอค่ายเคารพ อาจารย์ก็ทำให้มั่นใจว่าคอนเซปต์มันจบ จะได้ทำงานอย่างที่อิลลูชั่นเป็น 

Illusion team: พอเขาจิ้มมาที่อิลลูชั่น เรารู้สึกว่ามันเป็นภาระที่ใหญ่หลวง สิ่งที่เราเรียนรู้มาตลอดคือ ถ้ามีความคาดหวังมหาศาล เราก็ต้องตอบสนองความคาดหวังนั้นให้ได้เต็มที่ ถ้าเราสื่อสารกับครีเอทีฟได้ รู้เรื่อง แล้วครีเอทีฟไปคุยกับลูกค้าได้ ทั้งสามส่วนทำงานประสานกัน มันก็พิสูจน์อีกครั้งว่างานก็สำเร็จได้ 

เราต้องมั่นใจครีเอทีฟว่าเขาเชื่อในไอเดียของตัวเองมั้ย ผมมั่นใจหนึ่งว่าเขาเชื่อในไอเดียของตัวเอง เพราะฉะนั้นเขาปกป้องผมได้ แล้วก็ปกป้องลูกค้าได้ด้วย เมื่อเขามาคุยกับผม มันเป็นสามด้านที่ผมรู้สึกว่าใช่อย่างที่ผมคิดจริงๆ 

อาชีพที่เราทำ มันคือกระบวนการแก้ไขปัญหาแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันมีปัญหาตลอดทางอยู่แล้ว แต่ถ้าปัญหานั้นถูกแก้ด้วยความเข้าใจทั้งสามฝ่าย เราว่าปัญหามันก็จะแก้ได้

Cocktail fate by Illusion

https://www.illusion.co.th

https://www.youtube.com/c/GeneLab/videos

https://www.facebook.com/cheerscocktail/

AUTHOR