พลังทีมเวิร์กของ Illusion ที่นำมาซึ่งการกวาดรางวัลถล่มทลายบนเวทีโฆษณาโลก

ยินดีต้อนรับคุณเข้าสู่ร้านอาหาร

แม้จะเห็นอยู่โต้งๆ ว่าบริษัท Illusion คือโปรดักชั่นเฮาส์ CGI ของวงการโฆษณาไทยที่ชื่อเสียงดังไกลไปทั่วโลก แต่เราไม่ได้ตั้งใจเขียนผิดแต่อย่างใด เพราะจากคำบอกเล่าของ สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator อันดับหนึ่งของโลกผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ การทำงานทุกอย่างของพวกเขาไม่ต่างจากคนครัว ผิดก็แต่สิ่งที่เสิร์ฟไม่ใช่อาหาร แต่เป็นภาพโฆษณาที่รังสรรค์ได้ราวกับว่าคนทำคือพ่อมด

เผื่อใครยังไม่รู้จักพวกเขา Illusion คือสตูดิโอสร้างสรรค์ภาพโดยใช้เทคนิค CGI (computer-generated imagery) ที่เริ่มมีชื่อในระดับโลกจากโฆษณาแบรนด์ Samsonite ชุด Heaven & Hell (ซึ่งทุกวันนี้ยังครองตำแหน่งโฆษณาสิ่งพิมพ์ที่ได้รางวัลมากที่สุดในรอบ 14 ปีจาก The Gunn Report) หลังจากนั้นเป็นต้นมา เวทีโฆษณาระดับโลกไม่เคยขาดชื่อพวกเขา โดยเฉพาะในปี 2018 ที่พวกเขาคว้ารางวัลจาก D&AD เวทีโฆษณาที่หินที่สุด เรื่อยมาจน Cannes Lions ที่พวกเขาทำลายสถิติตัวเองด้วยจำนวน 16 รางวัล และเป็น Gold ถึง 5 รางวัล

มองกันในระดับ illustrator ผู้ผลิตโฆษณาสิ่งพิมพ์จนเชี่ยวชาญ พวกเขาคืออันดับหนึ่งของโลก

Samsonite – Heaven & Hell

ใครๆ ก็รู้ว่าบรรยากาศการแข่งขันและการทำงานในวงการโฆษณาทั่วโลกนั้นแสนกดดัน ลองจินตนาการว่าหลังครัวของร้านอาหารดุเดือดแค่ไหน การทำงานของพวกเขาก็ไม่ต่างกัน ทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลาน้อยนิดภายใต้ความกดดัน เพื่อเสิร์ฟสิ่งที่จะทำให้ลูกค้าผู้เต็มไปด้วยความคาดหวังพึงพอใจที่สุด อาหารจานที่อร่อยจนตราตรึงเป็นยังไง ภาพของพวกเขาต้องตรึงตาผู้ชมได้เฉกเช่นนั้น

แล้วอะไรกันทำให้พวกเขาได้รางวัลซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำลายสถิติตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยืนระยะในตำแหน่งนี้ได้อย่างไม่สั่นคลอน

เราก้าวเท้าเข้าหลังครัวเพื่อหาคำตอบ

เปิดร้าน

เป็นที่รู้กันว่าผู้ก่อตั้งอย่างสุรชัยเป็นคนรักความท้าทาย แต่ความกระหายรางวัลไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อสนองอารมณ์นั้น ถามว่าทำไมต้องกวาดรางวัลท้าทายสถิติตัวเอง คำตอบคือมันเป็นวิธีการสร้างแบรนด์ที่แข็งแรงที่สุด ยั่งยืนที่สุด

“สิ่งที่จะทำให้ลูกค้ามาหาเรา ไม่ใช่แค่จาก advertising เพราะเขารู้ว่า advertising คืออะไร ผมคิดว่าวิธีที่เวิร์กที่สุดคือพูดถึงคุณภาพ ตอนนั้นเราคิดว่าต้องมีสโลแกนพูดกับครีเอทีฟว่า ‘ทำไอเดียของคุณให้เป็นมาสเตอร์พีซ’ จากนั้นเราก็พยายามพิสูจน์สโลแกนนี้ให้เป็นจริงด้วยการกระทำ เราต้องทำให้ครีเอทีฟทั้งโลกรู้สึกว่า ‘โห มึงได้อีกแล้วเหรอวะ’ มีคนถามว่าได้รางวัลไม่เบื่อเหรอ มันจะเบื่อได้ไงในเมื่อมันเป็นภารกิจ ถ้าไม่ถึงตรงนั้นก็ไม่มีความหมาย ใครจะจำชื่อเราจากอะไร”

Sunlight – Clingy Animals

มองจากมุมคนไม่ชอบแข่งขัน เราอดถามไม่ได้ แค่ทำงานให้ดียังไม่พอเหรอ

“สำหรับคนที่ไม่ชอบแข่งขันแค่ทำงานให้ดีพอไหม ถ้าถามผมวันนี้ ผมว่าแค่ดีไม่พอ มันต้องดีขึ้นทุกๆ วัน ถ้าคุณไม่อยากแข่งกับคนอื่น คุณก็ต้องรู้จักแข่งกับตัวเอง แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างในโลกมันถูกเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่เราจะยอมรับมันหรือเปล่า ถ้าสมมติผมบอกว่าผมเป็นนักกีฬาที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกแต่ไม่เคยได้เหรียญโอลิมปิก จะพูดว่าเราวิ่งเร็วที่สุดในโลกได้ไหม ถ้าพูดก็คือคนบ้านะ” เขาเว้นวรรคหัวเราะ

“มันต้องพิสูจน์ได้แบบต่อเนื่อง การเป็นระดับโลกแต่เป็นได้แค่ครั้งเดียวเขาเรียกว่าฟลุก ซึ่งนั่นไม่ใช่นิยามของเรา”

ฟอร์มทีมพ่อครัวแม่ครัว

การประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่องของ Illusion ไม่มีวันเป็นไปได้โดยปราศจากทีมเวิร์ก เมื่อออเดอร์ร้านอาหารถูกทยอยส่งเข้ามา พ่อครัวแบ่งสเตชั่นกันยังไง ที่นี่ก็มีเช่นกัน วันนี้เราก็ได้พูดคุยกับสมาชิกคนอื่นๆ อย่าง ศุภชัย อุไรรัตน์ (เด่น) CGI director คอยดูแลสไตล์และความงามของภาพ สมศักดิ์ ไปเร็ว (ตั้ง) production director คอยดูแลกระบวนการผลิต และ กิตติเดช รัตนสุวรรณศรี (โพสต์) overseas producer director ซึ่งเป็นหน้าด่านประสานงานกับลูกค้าต่างประเทศ

(จากซ้ายไปขวา) กิตติเดช รัตนสุวรรณศรี (Overseas Producer Director), สมศักดิ์ ไปเร็ว (Production Director), สุรชัย พุฒิกุลางกูร (Founder & CEO), ศุภชัย อุไรรัตน์ (CGI Director)

ทุกวันนี้สุรชัยหรือ ‘พี่ชัย’ ของเพื่อนร่วมทีม คอยดูภาพรวมและเป็นคนเคาะฟันธง แต่เนื้องานทั้งหลายแหล่จะถูกลำเลียงสู่มือของสมาชิกที่มีความถนัดต่างกันไป งานโฆษณาต้องว่องไว ที่นี่จึงมี ‘ทีมจ่ายงาน’ เพื่อดูแลจัดระเบียบงานที่จะรันไปในรายชั่วโมงอย่างชัดเจน

“ในเมื่อเราทำงานแต่ละชิ้นด้วยคนหลายกลุ่ม คุณภาพงานก็อาจจะขึ้นลงได้ อยู่ที่ว่าใครเก่งไม่เก่ง ฉะนั้นเราต้องทำให้เป็นระบบมาตรฐาน ผมใช้วิธีเกลี่ยให้หมด เอาลักษณะเด่นแต่ละคนออกมาใช้ ลักษณะด้อยตัดทิ้งไป ไม่ว่างานมีกี่ชิ้น ทุกคนจะต้องทำในส่วนที่ดีที่สุดของตัวเอง เหมือนนักฟุตบอลที่เราให้เขาไปยืนในตำแหน่งที่เขาถนัดที่สุด”

WWF – Stop One. Stop Them All

คนหนึ่งอาจปั้นโมเดล อีกคนลงสี อีกคนเรนเดอร์ แต่ในงานนั้นๆ ก็จะมีความสนใจแยกย่อยไปอีก เช่น คนปั้นที่สนใจโปรดักต์ดีไซน์ก็จะมีวิธีการทำงานต่างจากคนชอบปั้นรูปฟรีฟอร์ม ในฐานะที่ Illusion รับงานหลากหลายมาก สุรชัยจึงใช้วิธีเลือกงานเพื่อบาลานซ์ให้พอดีกับความสามารถของคนในทีม

แต่ก่อนจะเริ่มงานได้ ไม่น่าเชื่อว่าผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัทอย่างเขาต้อง ‘ขาย’ งานชิ้นนั้นกับลูกน้องให้ผ่านก่อน

“ผมพิสูจน์มาแล้วตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า ถ้าผมอยากทำคนเดียว มันไม่มีทางรอด ถ้าเขาไม่อยากทำ เขาอาจจะไม่ใส่ใจมากพอ แต่ถ้ามันน่าสนุก เขาก็มีแรงที่จะใส่ลงไปเพิ่ม” พี่ใหญ่ของทีมเล่ายิ้มๆ

28 Too Many – It Happens Here

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือวิธีรับพนักงานของเขาที่ใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ สุรชัยยกตัวอย่างตอนโพสต์ซึ่งเป็นช่างภาพมาสมัครงานทั้งที่ไม่รู้ว่างานโปรดักชั่นเฮาส์คืออะไร แต่เขาก็รับ เพราะบรรยากาศที่คุยกันแล้วแสนสบายใจ ถัดมาคือสกิลภาษาอังกฤษของโพสต์ช่วยเติมเต็มทีมที่อยากเปิดตลาดต่างประเทศ และเกร็ดสุดท้ายคือโพสต์เคยเป็นผู้จัดการร้านอาหาร จึงมั่นใจได้ว่าเขาจะเข้าใจระบบการทำงานที่นี่แน่นอน

สำหรับตั้ง สุรชัยประทับใจที่เขารับแรงกดดันในการทำงานได้ดีมาก ส่วนเด่นซึ่งเป็นคู่หูของเขา สุรชัยบอกว่าไม่เคยเห็นพอร์ตงานใครดีเท่านี้ ดีในตอนนั้นไม่ใช่เรื่องฝีมือเฉียบขาด แต่เป็นความขยันที่เห็นได้ชัด

“คนทำงานที่วาดซ้ำๆ ได้ มันไม่ธรรมดาใช่ไหม ตอนนั้นเขาอาจยังทำได้ไม่ดีเท่าตอนนี้ แต่อะไรที่เป็นร่องรอยในชีวิตเหล่านั้นมันบอกอะไรหลายๆ อย่าง หลักการเดียวกับตอนเราเลือกไอเดียเลย เราอาจยังไม่เห็นมันเป็นตัวเป็นตน แต่เราเห็นว่ามันดีได้แน่ๆ ใช้ความรู้สึกก่อนแล้วจึงใช้ความรู้เข้ามาจับ”

อาหารจานพิเศษ

Illusion คือผู้รับไอเดียของครีเอทีฟมาสร้างภาพให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด โดยพื้นฐานแล้วทีมต้องเข้าใจไอเดียและอินไซต์ของครีเอทีฟคนนั้น บางคนหยอดมุกมาในไอเดียก็ต้องเกตให้ได้ แม้จะเป็นมุกที่คนไทยห่างไกลก็ตาม

ลึกลงไปอีกหน่อยคือควรศึกษาพอร์ตงานที่ผ่านมาของครีเอทีฟ ไล่ไปจนถึงงานที่ผ่านมาของแบรนด์นั้นๆ เพื่อให้จับทางถูก รู้ว่าอะไรเคยทำ อะไรยังไม่เคย เพราะอาหารที่พวกเขาจะเสิร์ฟนั้นต้องใหม่และแตกต่าง

“ถ้าเป็นพ่อครัวก็ไม่ใช่ว่าจะเลือกหมูชิ้นไหนก็ได้มาปรุง เขาต้องเลือกด้วยความรู้ เมื่อเราเห็นไอเดีย เราต้องรู้ว่ามันเป็นไอเดียที่ดีที่จะเอามาปรุงไหม วิธีง่ายสุดเลยคือไอเดียนั้นต้องไม่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ เราต้องเห็นไอเดียของ 20-30 ปีที่ผ่านมาเยอะมากถึงจะเปรียบเทียบได้ ถ้าเป็นกบในกะลา เห็น 3-4 ชิ้นแล้วคิดว่าใหม่ เราก็ไม่ประสบความสำเร็จ”

HBO – Into HBO

ต่อให้ใช้วัตถุดิบเดียวกัน วิธีปรุงของพวกเขาก็แตกต่าง ตั้งแต่สมัยก่อนที่เป็นผู้บุกเบิกงาน CGI ซึ่งยังไม่ค่อยมีใครทำ

“พอ CGI เป็นที่นิยม วันนึงกรรมการบอกว่าเบื่อแล้ว เราก็ต้องปรับปรุง กระบวนการของเรายังเป็นการปั้นโมเดลอยู่นะ แต่ภาพมันจะออกมาไม่เหมือนปั้นอีกต่อไป เราต้องแปลงไปอยู่ในร่างที่ทำให้รู้สึกว่า มันทำได้ยังไง ทำด้วยวิธีอะไร เรารู้ว่าคนวงการนี้เบื่อง่ายและสิ่งที่เคยทำมาแล้วจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ”

แต่เมื่อถามว่าต้องคอยสังเกตเทรนด์ความเป็นไปเพื่อให้ล้ำหน้าคนอื่นไหม สุรชัยกลับส่ายหัว

“เราไม่ดูเทรนด์เพราะเราเป็นคนสร้างเทรนด์เอง เทรนด์ในที่นี้คือเราจะทำยังไงให้แข่งกับงานเก่าของเราได้ ต้องกดดันตัวเอง ผมบอกเด่นมา 6-7 ปีแล้วว่า เราจะทำให้งาน Heaven and Hell ดูเด็กๆ ไปเลยในเชิงเทคนิคภายในเวลาไม่กี่ปี เรายังไปไม่ถึงแต่กำลังพยายาม

“งานประกวดมันมีครีเอทีฟระดับโลกตัวท็อปๆ ที่มองหาไอเดียใหม่ ความงามแบบใหม่ๆ ตลอด เราต้องมีสายตาแบบเดียวกับเขา ถ้าคิดแบบเดียวกับเขาแล้วเรามีกระบวนการเพื่อสนับสนุนสิ่งนั้น ผมว่ายังไงก็น่าจะเอารางวัลมาได้ ทุกปีพอทำงานเสร็จ เราจะเอางานมาติดผนังแล้วดูว่าอันไหนจะได้หรือไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็ทายถูกต้องตามนั้น ไม่งั้นเราก็เจ๊ง” ว่าแล้วเขาก็หัวเราะร่วน

JBL – Block Out The Chaos 1

หัวใจงานบริการ

สุรชัยเปรียบเทียบว่า ลูกค้าของเขาก็เหมือนคนเดินเข้าร้านอาหารพร้อมน้ำย่อย พ่อครัวมีหน้าที่ต้องบริการให้ดีที่สุด

“เราต้องอ่านจากเมลที่ลูกค้าตอบกลับเหมือนกันว่าความพอใจเขาอยู่ระดับไหน เราเป็นพวกซาดิสต์ คือถ้าพอใจแล้วงานต่อไปต้องสะใจขึ้นอีก ผู้บริโภคเป็นแบบนี้แหละ ถ้าพอใจบริการไหนแล้วก็จะอยากกลับมาใช้ ถ้ามี service mind เราก็พร้อมจะทำ แต่ถ้าคิดว่าเขาพอใจแล้วนี่ กูจะทำเหี้ยอะไรเยอะแยะ นั่นไม่ใช่”

จุดร่วมหมัดฮุกที่พวกเขาใส่ลงไปในงานทุกชิ้นคือความละเมียดกับรายละเอียด ความพิถีพิถันที่น่ามหัศจรรย์เมื่อเทียบกับเวลาทำงานที่มี การรับงานจากลูกค้าทั่วโลกมีข้อดีทำให้พวกเขาได้สำรวจรูปแบบงานที่หลากหลายกว่าคนอื่น แต่ในความหลากหลาย พวกเขาก็ถือคติไม่ทำงานซ้ำสไตล์ในลูกค้าแต่ละราย

“ความเป็น Illusion ไม่ใช่สไตล์ ถ้าเป็นสไตล์เมื่อไหร่ มันจะกลายเป็นเหมือนศิลปินที่เขียนรูปซ้ำๆ เดิมๆ” เด่นช่วยสรุป ก่อนสุรชัยจะเสริม “วางอยู่ในสนามต้องไม่รู้ว่าของใคร แต่ต้องให้เขารู้สึกว่ามันดีไปหมด แล้วมารู้ทีหลังว่าเป็นของเรา”

LEGO – Build The Future

หนึ่งในคำถามที่เราอยากรู้มากคือ ถ้าคำว่ายิ่งสูงยิ่งหนาวเป็นจริง พวกเขาผู้อยู่บนตำแหน่งยอดเขาทำอย่างไรให้จิตใจดำรงสภาวะเป็นบวกและพร้อมสู้งานตลอดเวลา

“ในกระบวนการทำงาน ผมว่าเราไม่ได้มองมาสเตอร์พีซทุกครั้ง เราแค่อยากทำให้ดีที่สุด เมื่อเรามีแนวคิดการทำงานที่ดี ทุกคนทุ่มเททำงานให้ดี มันก็ต้องดีสิ มันไม่ซับซ้อน” คำของหัวเรือใหญ่ทำให้เราย้อนถึงคำแรกที่เขาพูดออกมาว่า “จริงๆ แล้วเคล็ดลับการทำงานของพวกเราไม่มีอะไรเลย แค่เรารักในสิ่งที่เราทำ”

“น้องๆ อาจไม่ได้ทะเยอทะยานเท่าผม แต่ผมก็ต้องสนับสนุนเขา ช่วยเหลือในมุมที่ทำให้เขาทำงานได้ดีขึ้น ให้เขารักษาทัศนคติในการทำงานให้ดีที่สุด ถามว่าทำยังไงถึงจะอยู่กับความยากนี้ได้ ก็ถ้าไม่ทำงานนี้แล้วเราจะหนีไปทำอะไรล่ะ” เขาโยนคำถามกลับ ก่อนที่เด่นจะช่วยเสริมปิดท้าย

“ผมว่ามันไม่ใช่แค่เฉพาะงานที่เราทำหรอก น่าจะทุกสายอาชีพ อย่างแรกมันอยู่ที่ใจรักก่อน เราสนุกกับการได้ทำ อยู่ในทีมที่ทำงานร่วมกันแล้วเห็นพ้องต้องกันมันก็สนุก พอทำงานกลับไปให้ลูกค้าแล้วเขามีความสุข เกิดคำชม หนึ่งคำชมก็ส่งผลกับงานชิ้นต่อไป เหมือนเราทำอาหารแล้วมีคนบอกว่าอร่อย เราก็อยากทำจานต่อไป ถ้าเขาบอกว่ายังไม่ใช่ก็ต้องกลับมาสู้ มันต้องมีของยากกว่านี้ไปเรื่อยๆ ถ้าทำงานบนพื้นฐานความสบาย เราจะชินกับความสบายและไม่ได้ฝึกตัวเอง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเราจะไม่ได้เตรียมพร้อม เวลานี้ถ้าเราอยู่ในระดับโลกแล้ว ยังไงเราก็ต้องเก่งให้ได้”

ตอนนี้ถ้าพร้อมแล้วลองไปชิมอาหารของพวกเขากัน


Campaign Name : Hot & Spicy

Brand : KFC

Agency : Ogilvy Hong Kong

5 Gold Cannes Lions 2018

2 Sliver Cannes Lions 2018

สุรชัย: เราใช้เทคนิคอะไรก็ได้ให้งานดูแนบเนียนและอิมแพกต์ อย่างชิ้นนี้ใช้การถ่ายรูป โพสต์เป็นช่างภาพรับหน้าที่ถ่ายไก่ เด่นก็แนะว่าควรจัดแสงแบบไหนมันถึงจะดูเป็นระเบิด เอาภาพมาซ้อนทับกันได้ ความยากคือความรู้สึกมันเป็นไฟหรือยัง ทั้งจังหวะที่ลงตัว น้ำหนักแสงและเงา มีการดีไซน์ทดลองหลายอย่าง

โพสต์ : เราไปหา reference ก่อนว่าควันเวลาโดนไฟมันจะเป็นยังไง ฟอร์มเป็นยังไง ต้องมีระยะหน้า-กลาง-หลัง ให้ดูเป็นของใหญ่ เช่นชิ้นจรวด พี่เด่นก็ไกด์ว่าแสงมันพุ่งลงตรงกลาง ข้างหน้าไก่ต้องมืด รอบๆ ต้องมี rim light แทนความร้อนที่แผ่ออกมาจากตรงกลาง ทีนี้ไก่ KFC มันมีหลายส่วน ทั้งน่อง อก สะโพก ปีก เราก็จัดวางให้ดูเป็นควัน แต่พอดูๆ ไปแล้วจะเห็นว่า เอ๊ะ! น่องนี่หว่า ปีกนี่หว่า ขายสินค้าเขาไปด้วยโดยที่ยังดูเป็นธรรมชาติของควันไฟและระเบิด


Campaign Name : Drought

Brand : Greenpeace

Agency : Hakuhodo Malaysia

Bronze Cannes Lions 2018

2 Wood Pencil D&AD 2018

โพสต์ : ไอเดียคือภาวะโลกร้อนที่เรารู้อยู่แล้วว่าสาเหตุมันเกิดจากอะไร สิ่งที่ครีเอทีฟต้องการคือภาพความเลวร้ายของความแห้งแล้ง ดินแตกระแหงที่มองดูใกล้ๆ กลับกลายเป็นท่อนไม้จำนวนมาก สิ่งที่ยากในงานนี้คือท่อนไม้แต่ละท่อนต้องแตกออกในลักษณะเดียวกับดิน และต้องดูเป็นธรรมชาติมากที่สุดโดยที่ไม่ซ้ำกันเลย


Campaign Name : Block Out The Chaos 2

Brand : JBL

Agency : Cheil Worldwide Hong Kong

2 Bronze Cannes Lions 2018

เด่น : งานหูฟัง JBL เวอร์ชั่นแรกเรานำเสนอสีสันและความน่ารัก ดูเป็นการ์ตูน พอเป็นงานเวอร์ชั่น 2 เราก็อยากสร้างความแตกต่างให้ผิวดูจริงขึ้น รายละเอียดที่มากขึ้นทำให้ความรู้สีกของงานชิ้นนี้ดูหนักแน่นขึ้น ทะเลาะกันรุนแรงแต่ยังคงคอนเซปต์เดิม

สุรชัย : ที่เหลือก็เป็นดีเทลปกติที่เราใส่เข้าไป อย่างเช่นรายละเอียดเล็บและเหงื่อเพื่อให้รู้สึกว่าเขาเครียดจนกัดเล็บ เหงื่อซึม เราพยายามเติมในทางที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ เพราะนี่คือรสชาติของงานภาพนิ่ง ถ้ามีเวลา เราจะเห็นดีเทล มีสตอรี่ให้ดู นี่คือข้อดีของภาพนิ่งที่ภาพยนตร์ทำไม่ได้


Campaign Name : Imagine

Brand : LEGO

Agency : Ogilvy Group Thailand

Bronze Cannes Lions 2018

ตั้ง : ไอเดียคือเรื่องจินตนาการของเด็กที่สามารถเล่นกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ เช่น เห็นห้องโฮมเธียเตอร์ เด็กก็จินตนาการว่าลำโพงเป็นตึกเอ็ม ไพร์สเตต ที่มีคิงคองปีนยอดตึกตามอย่างในหนัง ชิ้นห้องครัวเด็กก็มองว่าหม้อต้มที่กำลังร้อนๆของแม่เกิดจากไฟของมังกรเขาเอง ชิ้นนี้เราช่วยดูเรื่องมุมยืนมังกร จากเดิมที่มังกรหันข้างตรงๆ เราหมุนให้เห็นความลึกและดูมีมิติมากขึ้น สุดท้ายคือชิ้นชั้นหนังสือ เป็นจินตนาการเด็กว่าปลาวาฬออกมาจากหนังสือ ครีเอทีฟกำหนดมาว่าเจ้าของห้องนิสัยเป็นยังไง อ่านหนังสือแนวไหน และทำอาร์ตเวิร์กมาให้เราใส่ดีเทลรายละเอียดความเหมือนจริงเข้าไป เช่น หนังสือหลากหลายประเภทในตู้สำหรับการใช้งานที่ต่างกัน

เราสร้างโมเดลเลโก้ที่มีหลายแบบตามสเกลของจริง ประกอบขึ้นทีละชิ้นเพื่อให้ดูเหมือนการต่อเลโก้จริง ทั้งซีนสร้างจาก CGI ทั้งหมดโดยทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด


Campaign name : Chop-Chop 2.0 Campaign

Brand : Ammeloo Chef’s Edition Knife Series

Agency : Amber China Shanghai

Bronze Cannes Lions 2018

Wood Pencil D&AD 2018

สุรชัย : ลูกค้าอยากให้ภาพสื่อสารว่ามีดคม หั่นได้ทุกส่วน ถ้าทุกส่วนเป็นทรงสี่เหลี่ยม ลักษณะสี่เหลี่ยมนี้จะอ้างอิงจากอะไร สุดท้ายเขาเจอว่ามันเหมือนของเล่นที่วางต่อกัน เราก็มีหน้าที่วางโมเดลทีละชิ้นให้ดูเป็นรูปสัตว์ เป็นขา เป็นเท้า ถ้าแก้จุดไหนจะกระทบหมด ต้องวางใหม่ แล้วยังมีเรื่องงานขนอีก งานชิ้นนี้ถือว่ายากมาก


Campaign name : Back

Brand : Getty Images 360 Degrees Imagery

Agency : Havas Shanghai, China

Bronze Cannes Lions 2018

โพสต์ : Getty Images อยากขายภาพ 360 องศา โดยนำภาพบุคคลสำคัญของโลกที่เราเคยเห็นแต่ด้านหน้ามาเป็นลูกเล่น ได้แก่ เชกสเปียร์, ไอน์สไตน์ และแวนโก๊ะ ความยากคือมีแค่ไอน์สไตน์เท่านั้นที่มีรูปถ่าย อีกสองคนไม่มี เราก็มาศึกษาว่า 3 คนนี้มีคาแร็กเตอร์ยังไง บุคลิกเป็นยังไง แต่งตัวยังไง เช่น ไอน์สไตน์จะใส่เสื้อไม่เนี้ยบเพราะเป็นตัวที่ใช้ทุกวัน วิธียืนและองศาไหล่แบบคนแก่ต้องทำยังไง ภาพแบ็กกราวนด์ในชีวิตเขาเป็นยังไง นอกจากนี้พี่ชัยยังเพิ่มสไตล์รูปด้วย เช่น ภาพไอน์สไตน์เป็นขาวดำ หรือเชกสเปียร์เป็นภาพเพนติ้ง


Campaign name : Scars of Misery

Brand : International Day of Peace Campaign

Agency : Hakuhodo Indonesia

Grand Prix Citra Pariwara Awards 2017

Wood Pencil D&AD 2018

สุรชัย : งานนี้เราอยากลองเซตเทรนด์ใหม่ อยากลองไม่ถ่ายรูปแต่ใช้วิธีปั้นโมเดลเอา เราพยายามจะเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ และสร้างงานบนเทคนิคนั้นๆ ไม่ใช่ว่าเราเก่งแล้วเราทำได้หมด เราเคยทำคนมาเยอะแต่ก็ยังไม่ได้ดี โจทย์นี้น่าจะพาเราไปอีกสเตปได้

เด่น : งานชิ้นนี้พี่ชัยคุยกับผมว่าภาพที่ออกมาต้องดูหดหู่ แสงต้องบอกเรื่องราวให้ไอเดียชัดขึ้น เราได้รับบรีฟว่าต้องเป็นเด็กผู้หญิงตะวันออกกลาง เด็กชายอินเดีย และผู้ชายเวียดนาม ที่มีรอยแผลเป็นเล่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของตัวเอง ในเวลานั้นเราคงหาเด็กตะวันออกกลางแถวนี้ไม่ได้แน่ๆ สิ่งที่เราคิดไว้คืองานชิ้นนี้เหมาะที่จะทำ CGI มากที่สุด เพื่อที่เราจะสามารถใส่ดีเทลในงานได้ง่ายขึ้น

เช่น รอยแผลแต่ละรอยก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเด็กผู้หญิงจะเป็นแผลเป็นคีลอยด์ เด็กผู้ชายเป็นแผลไฟลวก ชายแก่จะเป็นรอยแผลที่ลึกกว่าเพราะเขาเล่าอดีตสมัยเขายังเด็กๆ เราต้องใช้จินตนาการว่าคนที่เจอเรื่องแบบนี้มา แววตาเขาจะเป็นแบบไหน และถ้าเป็นเด็กตะวันออกกลางที่เจอระเบิด ผิวหนังเขาจะสกปรก มีดินติด ผมมีฝุ่น อะไรเหล่านี้ลูกค้าไม่ได้บอกแต่เราใส่เข้าไป ไม่งั้นความรู้สึกมันไม่ได้ แถมรูปก็จะมีเสน่ห์ขึ้นด้วย

ภาพ นิติพงษ์ การดี และ Illusion

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี