จาก ‘The Style Council’ ถึง ‘Blur’ และ ‘Pulp’ ประวัติศาสตร์ของบทเพลง ชนชั้น และการฟาดฟันของแรงงาน

ไม่ว่าจะเป็นสมัยที่เพลงบลูส์ถือกำเนิดมาจากความเศร้าสร้อยของคนดำที่ถูกเกณฑ์มาเป็นทาสทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาในยุคปลายศตวรรษที่ 19 หรือเมื่อครั้งที่เพลงฮิปฮอประเบิดเอาความข้นแค้นของชาวแอฟริกัน-อเมริกันในย่านแออัดออกมา ตัวอย่างเหล่านี้คือข้อพิสูจน์โดยตัวมันเองว่า ดนตรีไม่ได้แยกขาดจากเรื่องสังคมและชนชั้น ตรงกันข้าม หลายครั้งที่บทเพลงกลายมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบอกเล่า หรือกระทั่งการต่อสู้ทางชนชั้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

Shout To The Top ของวงสัญชาติอังกฤษ The Style Council ปล่อยออกมาในปี 1984 ในยุคสมัยที่สหราชอาณาจักรอยู่ภายใต้การปกครองของมาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีฝั่งอนุรักษนิยม ก่อนหน้านี้อังกฤษเองกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาแรงงานมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหลังจากที่แทตเชอร์ได้รับเลือกตั้ง การเมืองและสังคมอังกฤษก็ได้เกิดความขัดแย้งแตกขั้วกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากมาตรการจำกัดบทบาทของสหภาพแรงงานอย่างเข้มงวด ลดการให้ความช่วยเหลือแรงงานและสวัสดิการรัฐต่างๆ จนจำนวนคนตกงานพุ่งขึ้นมหาศาล เกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ตามหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะทางตอนเหนือ และถึงที่สุด มันก็ได้ก่อให้เกิดมวลความรู้สึกหนึ่งฝังแน่นอยู่ในชนชั้นแรงงานอังกฤษ นั่นคือความรู้สึกข้นแค้นต่อการถูกรัฐทอดทิ้ง ไม่แยแส จนพวกเขาตั้งฉายาให้แทตเชอร์ว่า ‘the witch’ หรือนังแม่มด

“When you’re down on the bottom there’s nothing else 
But to shout to the top
Well, we’re gonna shout to the top.”

Shout To The Top คือเพลงที่พูดถึงภาวะหลังชนฝาของชนชั้นแรงงานที่รัฐบาลไม่เหลียวแล โดยเฉพาะในปี 1981 ที่เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในอังกฤษ สืบเนื่องมาจากอัตราการว่างงานของชนชั้นแรงงานและชายขอบที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากนโยบายสุดเฮี้ยบของแทตเชอร์ โดยเฉพาะความตึงเครียดจากย่านแรงงานอย่างบริกซ์ตันในลอนดอน, ท็อกซ์เทธในลิเวอร์พูล และชาเปลทาวน์ในลีดส์ ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ทำให้มีแรงงานอาศัยอยู่เยอะมาก และเป็นแหล่งที่ผู้อพยพหลากเชื้อชาติจากเครือจักรภพตั้งแต่ช่วง 50s-60s ปักหลักอาศัยอยู่ มันจึงเป็นพื้นที่ชายขอบจากการดูแลของแทตเชอร์โดยสมบูรณ์ ยิ่งเหตุการณ์เด็กวัยรุ่นผิวดำ 13 รายเสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้ในลอนดอนเมื่อเดือนมกราคม 1981 และเจ้าหน้าที่ตำรวจรีบปฏิเสธว่า ‘(เหตุการณ์ครั้งนี้) ไม่น่าเกี่ยวข้องใดๆ กับชาติพันธุ์ของผู้ตาย’ ทำให้เหล่าคนดำและคนในพื้นที่เปราะบางนั้นแค้นเคืองยิ่งขึ้น บวกกับความตึงเครียดที่มีคนว่างงานกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับที่เคยเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ปี 1930 ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะชนชั้นแรงงานแค้นเคืองแทตเชอร์ จนเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในบริกซ์ตันเดือนเมษายนปีเดียวกัน ก่อนขยายตัวจากบริกซ์ตันไปยังลิเวอร์พูลและลอนดอน 

ภายหลังการปราบปรามจลาจลในครั้งนั้น ชื่อของแทตเชอร์กลายเป็นชื่อที่ชาวแรงงานหลายคนในอังกฤษจงเกลียดจงชังทันที เพราะเธอไม่เพียงออกนโยบายอันเย็นชาและแข็งกระด้างเท่านั้น แต่มันยิ่งย้ำเตือนว่าพวกเขาซึ่งเป็นกำลังผลิตสำคัญของเมืองนั้นถูกทอดทิ้งมากแค่ไหน เหตุการณ์เหล่านี้เองที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้พอล เวลเลอร์ ฟรอนต์แมนแห่งวง The Style Council ที่เติบโตมาจากพ่อซึ่งเป็นคนขับแท็กซี่ กับแม่ที่เป็นพนักงานทำความสะอาด ทั้งยังผูกพันและแค้นเคืองแทตเชอร์ไม่ต่างจากแรงงานคนอื่นๆ ในสหราชอาณาจักร แต่งเพลง Shout To The Top ขึ้นเพื่อสะท้อนความอัดอั้นของชาวแรงงาน

Margaret Thatcher

“มันไม่ใช่เวลาจะมาวางตัวเป็นกลางอีกต่อไปแล้ว” เขาบอก “ตอนนั้นสถานการณ์มันย่ำแย่สุดขีด ผมอาจไม่ได้โบกธงแรงงานก็จริง แต่ธงแดงของสังคมนิยมนี่แน่นอนเลย ตอนอยู่วง The Jam ผมไม่ได้อยากเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งนั้น แต่นี่มันต่างไปแล้ว แทตเชอร์ครองอำนาจในปี 1979 แล้วเธอก็เถลิงอำนาจมาตั้งแต่สงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (สงครามชิงพื้นที่ระหว่างอาร์เจนตินาและสหราชอาณาจักร) เป็นต้นมา สหภาพแรงงานก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ คนงานประท้วงครั้งใหญ่ มีคนตกงานจำนวนมหาศาล เรื่องมันเยอะขนาดนี้คุณก็ต้องสนใจสิ จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นแล้วหนีความจริง หรือไม่สนคนอื่นแล้วเอาแต่ตัวเองได้ยังไงกัน มันไม่ใช่เวลามานั่งทำตัวเป็นกลางไม่เลือกข้างแล้วนะ สถานการณ์มันขาวกับดำมาก แทตเชอร์คือจอมวายร้าย คือเผด็จการเลยล่ะ”

เวลเลอร์ให้ความสนใจเรื่องการเคลื่อนไหวต่างๆ ในสังคมมาก ภายหลังเข้าร่วมกลุ่ม Red Wedge ซึ่งรวมศิลปินสัญชาติอังกฤษที่ออกมารวมตัวกันกระตุ้นให้เยาวชนออกไปเลือกตั้งพรรคแรงงานในปี 1987 เพื่อเอาแทตเชอร์ออกจากตำแหน่ง แม้ว่าที่สุดแล้วในการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคอนุรักษนิยมจะเป็นฝ่ายชนะอีกครั้งก็ตามที

กลุ่ม Red Wedge

ศิลปินอีกคนที่มองแทตเชอร์เป็นคู่กรณีคือบิลลี แบรกก์ นักดนตรีที่ครั้งหนึ่งถึงขั้นออกปากว่า “ก็แทตเชอร์นี่แหละที่ทำให้ผมกลายเป็นพวกสังคมนิยม” เขาคือผู้ก่อตั้งกลุ่ม Red Wedge ที่นักดนตรียุค 80s เข้าร่วมเพื่อเขี่ยเอาแทตเชอร์ออกจากตำแหน่ง เช่นเดียวกับนักดนตรีอีกหลายคนในรุ่นเดียวกัน แบรกก์เติบโตจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน และทันเห็นเหล่าแรงงานในอังกฤษรวมตัวกันเรียกร้องสวัสดิการเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพหรือการศึกษา ซึ่งทุกอย่างชะงักลงเมื่อแทตเชอร์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1979 แบรกก์อายุได้ 22 ปี และเป็นประจักษ์พยานนโยบายสุดเขี้ยวของนายกฯ หญิงเหล็กของอังกฤษที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงในประเทศหลายต่อหลายครั้ง ไม่เพียงแต่ในปี 1981 หากยังหมายถึงการประท้วงครั้งใหญ่ของชาวแรงงานในปี 1984 และเป็นที่มาของเพลง There Is Power In A Union จากอัลบั้ม Talking with the Taxman About Poetry ในปี 1986

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวการลุกขึ้นสู้ของเหล่าชนชั้นแรงงานในอังกฤษปี 1984 ผ่านภาพยนตร์อย่าง Billy Elliot (2000) และ Pride (2014) ที่มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ที่แทตเชอร์ออกนโยบายปิดเหมืองถ่านหินเพื่อลดอำนาจของสหภาพแรงงาน และเพื่อประหยัดงบประมาณต่างๆ ด้วย นโยบายนี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะทางภาคเหนือที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรม หลายครอบครัวเลี้ยงชีพได้ด้วยการรับจ้างเป็นคนงานในเหมือง ทำให้เกิดการประท้วงที่ระเบิดตัวขึ้นในเดือนมีนาคม 1984 ที่เหมืองถ่านหินคอร์ตันวูด, ยอร์กเชอร์ จนกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่กินเวลานานหลายเดือน ทั้งยังเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เป็นระยะ เช่นเหตุการณ์ Battle of Orgreave เดือนมิถุนายน ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บนับร้อยและถูกจับกุมไป 95 คน จนท้ายที่สุดเหตุการณ์ก็ขมวดปมแน่นเข้าจนกลายเป็นความรุนแรงในช่วงปลายปี จนมีผู้เสียชีวิต 6 รายและถูกจับกุมนับหมื่น เหตุการณ์นี้กลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์แรงงานที่สำคัญของอังกฤษในยุคที่แทตเชอร์ดำรงตำแหน่ง และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนยังจงเกลียดจงชังแม้ในวันที่เธอเสียชีวิตเมื่อปี 2013 (และมีผู้คนจำนวนมากออกมาร้องเพลง Ding Dong The Witch Is Dead หรือนังแม่มดตายแล้ว เพลงจากหนังเรื่อง The Wizard of Oz เพื่อแสดงความยินดีต่อการตายของแทตเชอร์ ผู้นำซึ่งครั้งหนึ่งออกนโยบายที่ทอดทิ้งพวกเขา)

“Now the lessons of the past
Were all learned with workers’ blood
The mistakes of the bosses we must pay for.”

There Is Power In A Union ของแบรกก์พูดถึงพลังและความสมัครสมานสามัคคีของชาวแรงงานในการลุกขึ้นสู้ต่อต้านการถูกกดขี่อันไม่เป็นธรรม เขาหยิบยืมชื่อเพลงมาจากเพลงชื่อเดียวกันในปี 1913 ของโจ ฮิลล์ นักเคลื่อนไหวชาวสวีเดน-อเมริกัน เป็นสมาชิกแรงงานอุตสาหกรรมแห่งโลกหรือ Industrial Workers of the World, IWW กลุ่มแรงงานที่มุ่งหมายต่อสู้ทำลายเส้นแบ่งทางชนชั้น เขาถูกประหารชีวิตในยูทาห์หลังจากต้องสงสัยว่าเป็นผู้สังหารพ่อค้าขายของชำรายหนึ่งในปี 1914 เนื้อเพลงเวอร์ชั่นของแบรกก์นั้นพูดถึงความข้นแค้นของแรงงาน รวมถึงเหตุการณ์ประท้วงในปี 1984 ด้วย จนในเวลาต่อมามันได้กลายเป็นเพลงที่ชนชั้นแรงงานในอังกฤษขับร้องเมื่อรวมตัวเรียกร้องสวัสดิการและผลประโยชน์จากภาครัฐอยู่เนืองๆ

ยังไงก็ดี ตัวอย่างการฟาดฟันชนชั้นผ่านบทเพลงนั้นไม่ได้มีแค่ตัวศิลปินกับรัฐหรือสังคม แต่มันยังเคยบอกเล่าผ่านวงดนตรีและบทเพลงด้วย อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคสมัยที่บริตป๊อปเรื่องอำนาจ นั่นคือศึกระหว่าง Parklife ของ Blur กับ Common People โดย Pulp สองวงยักษ์แห่งยุคบริตป๊อป ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาโลกอาจจะจดจำคู่กรณีของยุคนี้จาก Blur ปะทะวงพี่น้องจอมเกรียนอย่าง Oasis แต่หากพูดกันในเชิงการฟาดฟันกันทางวัฒนธรรมและชีวิตของคนต่างชนชั้น เพลง Common People ของวง Pulp ก็มักได้รับการพูดถึงอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเมื่อมันปล่อยตัวออกมาไล่เลี่ยกับ Parklife 

Blur เป็นวงจากลอนดอนที่เกิดจากการรวมตัวของเพื่อนๆ ในวิทยาลัย นำโดยฟรอนต์แมนอย่างดามอน อัลบาร์น เด็กหนุ่มจากย่านเอสเซกซ์ Parklife คืออัลบั้มลำดับที่ 3 ของวง กับซิงเกิลชื่อเดียวกันกับอัลบั้มมีเนื้อหาว่าด้วยชีวิตอันว่างวิเวกของชาวอังกฤษ งานการไม่มีทำกันเลยมาเดินแกร่วไปแกร่วมาในสวนสาธารณะ เอ้อระเหยลอยชายไปวันต่อวันอย่างไร้จุดหมาย พร้อมเสียงบรรยายชีวิตประจำวันอันเรื่อยเฉื่อยนี้ด้วยสำเนียงแสนจะค็อกนีย์โดยฟิล แดเนียลส์ นักแสดงที่มักรับบทเป็นชาวลอนดอนจ๋าในซีรีส์หลายๆ เรื่องทั้ง Quadrophenia และ Scum

วง Blur

เกรแฮม ค็อกซอน มือกีตาร์บอกว่ามันเป็นเพลงที่ตั้งใจเขียนมาเพื่อเสียดสีคนอังกฤษ “มันไม่ได้พูดถึงชนชั้นแรงงาน มันพูดถึงคนที่เราเจออยู่ตามสวนสาธารณะทุกวันอย่างคนเก็บขยะ นกพิราบ แล้วก็คนที่มาวิ่งออกกำลังกาย เพราะเราเดินผ่านพวกเขาทุกวันตอนต้องไปอัดเพลงที่สตูดิโอ (แถบฟูแลม)” ซึ่งมันดันกลายเป็นเพลงที่ชาวลอนดอนหลายคนรู้สึกว่าเหมือนเอาชีวิตประจำวันของพวกเขาไปเขียน 

เก้าเดือนต่อมาหลังจากนั้น Pulp วงที่มีฐานรากมาจากย่านแรงงานในเชฟฟีลด์ ปล่อยเพลง Common People ในปี 1995 กับเนื้อหาแสบคันเล่าถึงคนร่ำรวยที่โอดครวญอยากมีชีวิตแบบคนทั่วไป (common people) จนได้มาทดลองเป็นคนไม่รวยว่ามันสาหัสขนาดไหน ด้านหนึ่งมันสะท้อนความขุ่นเคืองที่คนจนต้องทนเห็นพวกชนชั้นกลางหรือคนรวย ‘ทำเป็น’ ลำบากลำบนโดยสวมรอยใช้ชีวิตแบบเดียวกันกับพวกเขา เบื่อหน่ายแล้วจะเลิกเล่นเมื่อไหร่ก็ได้ (Pretend you never went to school.) เพียงแต่พวกเขาหนีจากชีวิตแบบนี้ไม่ได้เลย กับบทลงท้ายเพลงที่เจ็บแสบเมื่อคนจนมองไปยังคนรวยที่ปรารถนาอยากจะมีชีวิตแบบคนทั่วไป แล้วได้แต่คำนึงในหัวใจว่า คนเหล่านี้จะไม่มีทางได้ ‘เป็นคนทั่วไป’ เหมือนคนอื่นๆ เพราะต่อให้พวกเขาล้มเหลว พวกเขาก็ยังล้มลงบนฟูกหนานุ่ม ชีวิตยังมีทางเลือกสำรองมากมายรอให้พวกเขาเลือกเดิน ขณะที่คนอีกจำนวนมากไร้หนทางเช่นนั้น 

“Never fail like common people
You’ll never watch your life slide out of view.”

ในเวลาต่อมา ซิงเกิลเหล่านี้ของทั้ง Blur และ Pulp จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนของสองชนชั้น ทั้งในแง่หนุ่มสาวคนเมืองที่ใช้ชีวิตเอ้อระเหย ไม่ทำงานทำการ ใช้ชีวิตไปวันๆ ในสวนสาธารณะ คนเก็บขยะ และเหล่าคนออกกำลังกายอย่างว่างเปล่า เช่นเดียวกันกับ Common People ที่เล่าผ่านแง่มุมคนจนที่มองดูคนรวยพยายามจะเป็นอย่างพวกเขา ทั้งสองเพลงเป็นเพลงเสียดสีสังคมเปี่ยมอารมณ์ขันและไหวพริบ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็สะท้อนสภาวะเชิงสังคมบางอย่างผ่านเรื่องเล่าในนั้น ไม่ว่าจะในมุมมองของชนชั้นกลางผู้ว่างงานหรือชาวแรงงานที่ต้องมองดูคนรวยละเล่นเป็นพวกเขาก็ตามที

AUTHOR